All Blog
ทำอย่างไร พ่อแม่ไม่กำพร้าลูกหลาน
คนไทยท่าน หนึ่ง(ขอเปลี่ยนชื่อเป็น "คุณจูน")ไปแต่งงานกับชาวสวิส ชวนสามีมาซื้อที่ดินที่เชียงใหม่ ท่านเล่าให้ฟังว่า ลูกอายุมากถึง 12 ปีแล้ว อีกไม่นานก็จะ "ไม่มีลูก" แล้ว

ผู้เขียนเรียนถามท่านว่า ทำไมอยู่ๆ มีลูกแล้วกลายเป็น "ไม่มีลูก" หรือกำพร้าลูกขึ้นมาได้ ท่านบอกว่า สังคมฝรั่งนี่... พออายุ 17 ปีทุกคนก็จะเป็นผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่เริ่มแยกบ้านออกไป และส่วนหนึ่งเริ่มหางานทำไปด้วยเรียนไปด้วย

...

คนพม่าท่าน หนึ่งเล่าให้พระฟังว่า สามีท่านเข้ามาทำงานในไทย กฎหมายไทยยอมให้ท่านมาอยู่ด้วยได้ แต่รุ่นลูกมาอยู่ด้วยไม่ได้ เลยส่งลูกไปเรียนที่อเมริกา พอลูกเริ่มโตขึ้นมาก็ไม่ยอมกลับพม่า เลยกลายเป็นคุณแม่กำพร้าลูก

ท่านอาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศแนะนำวิธีป้องกันโรค "กำพร้าลูก" ไว้ในหนังสือ 'Niche 04' ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง

...

อาจารย์จอห์น เออร์มิสช์ แห่งมหาวิทยาลัยเอสเซก สหราชอาณาจักร(หมู่เกาะอังกฤษ) ทำการศึกษาวิจัยพบว่า พ่อแม่ที่มีฐานะดีมีแนวโน้มจะส่งลูกเรียนจบปริญญา และให้เงินทองไปทำงานตั้งเนื้อตั้งตัว

ส่วนคุณลูกเมื่อมีงานทำ และพึ่งตัวเองได้กลับโทรศัพท์ถึงพ่อแม่น้อยกว่าคนที่ไม่มีปริญญา 20% แถมยังไปเยี่ยมพ่อแม่อย่างสม่ำเสมอน้อยลง 50%

...

เหตุผลง่ายๆ คือ คนที่ทำงานเลี้ยงตัวได้มีแนวโน้มจะต้องพึ่งพิงมรดกจากคุณแม่คุณพ่อน้อยลง มีทฤษฎีที่รับรองแนวคิดนี้คือ 'strategic bequest theory (ทฤษฎีการได้มรดก)

ทฤษฎีนี้บอกว่า คุณลูกจะดูแล เอาใจใส่คุณแม่คุณพ่อเพียงเพื่อให้แน่ใจว่า จะได้รับมรดก เพราะฉะนั้นคนที่มีลูกหลายคนจึงมักจะได้รับการเอาใจใส่จากลูกมากกว่า เพราะถ้ามีลูกหลายคน... ลูกๆ จะต้องแย่งกันเอาอกเอาใจ

...

ข่าวร้ายคือ ครอบครัวรวยๆ มักจะมีลูกหลานน้อย หรือดีไม่ดีไม่มีลูกเลยก็มี ทีนี้วิกฤตย่อมมากับโอกาส... ท่านอาจารย์เออร์มิสค์จึงแนะนำยุทธศาสตร์ป้องกันการ "กำพร้าลูก" ดังต่อไปนี้

1. สะสมออมทรัพย์ไว้ อย่าให้ยากจน > คนที่ยากจนมีความเสี่ยงที่จะถูกทอดทิ้งสูงกว่าคนที่มีสตางค์
2. เก็บเงินไว้กับตัว > อย่าให้เงินลูกหลานหมด จะได้มีอำนาจต่อรอง
3. มีลูกหลานหลายคนหน่อย > ลูกหลานจะได้แย่งกันเอาอกเอาใจ
4. แสดงให้ลูกหลานรู้ว่า ถ้าไม่สนใจดูแล เอาใจใส่ อาจพิจารณามอบมรดกให้องค์กรการกุศล สัตว์เลี้ยง(ฝรั่งบางท่านทำ) > เพื่อให้ลูกหลานเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงว่าจะได้มรดกแน่ และหันมาเอาอกเอาใจ
5. อย่าให้เงินสดลูกหลานตั้งแต่แรก > ให้มันรอกันบ้างจนใกล้ตาย

...

ผู้เขียนขอเรียนเสนอวิธีเพิ่มเติมอีก 2 ข้อ

(1). อย่าขี้บ่น...

* คนสูงอายุที่บ่นมาก ถึงมีอะไรดีก็อาจถูกทอดทิ้งได้ จึงควรหัดเอาอกเอาใจลูกหลานบ้าง อย่างน้อยก็ต้องหัดแสดงความชื่นชม (appreciate) หรือชมการกระทำดีของคนรอบข้าง โดยเฉพาะคนใกล้ตัวให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง และเพิ่มเป็นอย่างน้อยวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร

(2). อย่าทำตัวให้หมดสภาพ

* หมั่นใส่ใจสุขภาพ ออกแรง ออกกำลัง และสนใจศึกษาเล่าเรียนเรื่องต่างๆ อยู่เสมอตลอดชีวิต เพราะคนที่ทันสมัยมีโอกาสถูกทอดทิ้งมากกว่าคนเชยๆ และคนที่สุขภาพดีมีโอกาสถูกทอดทิ้งน้อยกว่าคนยอบๆ แยบๆ หรือคนป่วยเรื้อรัง

...

ถึงตรงนี้... ขอให้พวกเรามีสุขภาพดี และมีความสุขในการใส่ใจสุขภาพไปนานๆ ครับ

...

นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์



Create Date : 06 กรกฎาคม 2553
Last Update : 6 กรกฎาคม 2553 21:25:29 น.
Counter : 258 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

naizeezaa
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]