Group Blog
 
All blogs
 

..... ศาสนาอียิปต์โบราณ ตอนที่ 2 .....





* * * บทความทั้งหมดเรื่องศาสนาอียิปต์โบราณ ได้สรุปมาจาก บทที่ 2 ของ หนังสือ ศาสนาโบราณ ของศาสตราจารย์ เสฐียร พันธรังษี ซึ่งจัดพิมพ์โดย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี พศ.2534 (พิมพ์ครั้งที่2) และได้มีการปรับเปลี่ยนคำศัพท์บางคำ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น * * *



ตอนที่2 : การนับถือดวงวิญญาณ



การนับถือดวงวิญญาณเป็นเรื่องใหญ่มาก และสำคัญมากที่สุดของคนทุกชาติ ทุกภาษา บางพวกถือว่า คนเราตายไปแล้วไม่มีอะไรเหลืออยู่ แต่บางพวกถือว่ายังมีธรรมชาติชนิดหนึ่งเหลืออยู่ วนเวียนอยู่ในโลก ไม่หมดสูญไป สิ่งนั้นเรียกกันว่าดวงวิญญาณ

มนุษย์เรา ถ้าถือเสียว่า ตายไปแล้วสูญ ก็จะไม่มีอะไรยุ่งยากเกิดขึ้น แต่ความยุ่งยากเดี๋ยวนี้เกิดขึ้นเพราะมนุษย์ถือว่าตายไปแล้วไม่สูญ นอกจากจะถือว่าไม่สูญ แล้วยังถือว่าจะต้องเกิดใหม่ด้วย ซึ่งชาวอียิปต์โบราณก็เชื่ออย่างนั้นเช่นกัน

ความเชื่อที่มีอยู่อย่างนี้ ทำให้มนุษย์เกิดความห่วงใยเรื่องชีวิตในโลกหน้า เมื่อคนใดคนหนึ่งตายลง ต้องมีพิธีทำบุญ สวดมนต์อ้อนวอน และทำพิธีกรรมต่างๆเพื่อส่งให้ดวงวิญญาณ หรือเพื่อเรียกดวงวิญญาณเข้ามาอยู่ในที่ที่มีความสุข บางทีมีการขอร้อง ให้ดวงวิญญาณมาอยู่รักษาความปลอดภัยให้ด้วยก็มี

ความยุ่งยากแต่เพียงเท่านี้ยังไม่เป็นไร ที่ยุ่งยากไปกว่านี้คือ เรื่องเชื่อว่าดวงวิญญาณต้องเกิดใหม่ เป็นมูลเหตุให้เกิดนรก สวรรค์ขึ้น เพื่อเป็นที่อยู่ของคนทำความชั่วและความดี สวรรค์กลายเป็นรูป เป็นถิ่นที่อยู่ของคนทำความชั่ว และทำความดี สวรรค์กลายเป็นรูป เป็นถิ่นที่อยู่อันสำราญบริบูรณ์ด้วยทรัพย์ศฤงคาร และมีนางในมาคอยห้อมล้อมผู้ทำความดี นรกกลายเป็นที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมาน มีแต่ความน่าเกลียด น่ากลัว และทารุณกรรม เป็นที่ต้อนรับผู้ทำชั่ว เมื่อคนตายไป ยังมีบัญญัติทางศาสนา เช่นศาสนาของอียิปต์ ให้ดวงวิญญาณเดินทางไปสู่สถานที่ชำระบาป หรือสถานที่พิพากษาความผิดที่เคยกระทำ มาแล้วในชาติที่มีชีวิตอยู่ขึ้นอีก ถ้าผู้พิพากษาในโลกนี้ (ซึ่งโดยมากเป็นนักบวช) ตัดสินว่าทำความดีก็ขึ้นสวรรค์ไป ถ้าพระเกิดลำเอียง (เพราะไม่ได้ติดสินบน) ตัดสินว่าทำความชั่ว ก็ต้องลงนรก

คติศรัทธาดังกล่าว ที่จริงมีผลดีอยู่ เพราะเท่ากับบังคับให้คนพากันทำความดี ถ้าใครทำความชั่ว ลูกหลานญาติ พี่น้องจะพากันอัปยศอดสู ในเมื่อได้ฟังคำตัดสินของนักบวช ซึ่งเป็นผู้พิพากษา ขั้นแรกจะจัดการศพให้ใหญ่โตไม่ได้ เพราะนักบวชไม่ยอมให้ทำ บางทีนักบวชตัดสินเอาเอง ศพคนชั่วอย่างนั้นๆจะต้องทิ้งไว้ให้นก ให้กาจิกกิน ต่อจากนั้นดวงวิญญาณ ยังจะต้องไปรับการพิพากษาในโลกหน้าอีก

เรื่องการนับถือดวงวิญญาณ และพิธีการจัดการศพของผู้ตาย เห็นจะไม่มีใครทำได้เทียบเท่าชาวอียิปต์โบราณ

คำสอนเกี่ยวกับดวงวิญญาณ เมื่อจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่น ซึ่งก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นโลกใด มีว่า เมื่อคนใกล้จะตาย มีร่างๆหนึ่ง ซึ่งไม่อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่าลอยออกจากร่างเดิม ร่างนี้เปนร่างแฝด หรือ ดวงวิญญาณ ภาษาอียิปต์ เรียกว่า “บา” (Ba) แล้วมีตัวจำลองวิญญาณ เรียกว่า “กา” (Ka) คล้ายเจตภูต และมี ธรรมชาติชนิดหนึ่ง เรียกว่า “ขุ” (Ku) คือ ธรรมชาติที่รู้จักดี รู้จักชั่ว ยังลอยวนเวียนอยู่ จนกว่าร่างเดิมจะเน่าเปื่อยทำลายไป

เมื่อคนตาย วิญญาณจะกลับมาอยู่กับร่างเดิม ลูกหลานที่มีชีวิตอยู่ จะต้องตระเตรียมการรับการกลับมาของดวงวิญญาณนั้น รักษาร่างนั้นไว้ไม่ให้เปื่อยเน่า โดยวิธีอาบน้ำยาไว้ เพื่อให้เป็นที่อาศัยอยู่ของดวงวิญญาณ

ชาวอียิปต์โบราณมีธรรมเนียมว่า ผู้ที่รู้ตัวว่าจะตาย ต้องเตรียมสถานที่เก็บศพของตัวไว้ให้อยู่ไปชั่วดินฟ้า เมื่อยังแข็งแรงอยู่ ต้องพยายามแต่งงานให้มีลูก เพื่อลูกจะได้ทำหน้าที่รักษาศพ ถ้าไม่มีลูก ก็ต้องหาลูกของคนอื่นมาเลี้ยงไว้ ต้องสั่งเสียญาติพี่น้องไว้ให้ปฏิบัติต่อศพอย่างไร ส่วนดวงวิญญาณของผู้ตาย ที่ลูกหลานไม่สามารถจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าผู้อยู่ข้างหลังจะต้องช่วยกันต้อนรับให้ดี เพราะดวงวิญญาณยังลอยวนเวียน อยู่กับร่างอยู่ใกล้ชิดญาติพี่น้อง ถ้าญาติพี่น้องทำอะไรบกพร่องไป ดวงวิญญาณจะโกรธเคืองเป็นที่เดือดร้อน ถ้าเคืองมากๆเข้า ถึงกับนำ อันตรายมาให้ ได้

วิธีที่ดีที่สุดในการต้อนรับดวงวิญญาณ ในเบื้องต้นจะต้องรักษาศพไว้ให้ดีก่อน วิธีรักษาศพไว้ให้ดี ต้องใช้วิธีอาบด้วยน้ำยาชนิดหนึ่ง ผสมกับเครื่องหอมชนิดดี คุณภาพของเครื่องหอมและน้ำยา ขึ้นกับฐานะของคน ผู้มีอาชีพอาบยาศพ(โดยมากจะเป็นนักบวช) จะเตรียมวัตถุเหล่านี้ไว้ มีแบบ มีสี และชนิดของน้ำยาไว้ให้เลือกได้ตามฐานะและความชอบ




 

Create Date : 25 กันยายน 2549    
Last Update : 15 สิงหาคม 2552 22:17:48 น.
Counter : 653 Pageviews.  

..... ศาสนาอียิปต์โบราณ ตอนที่ 1 .....





* * * บทความทั้งหมดเรื่องศาสนาอียิปต์โบราณ ได้สรุปมาจาก บทที่ 2 ของ หนังสือ ศาสนาโบราณ ของศาสตราจารย์ เสฐียร พันธรังษี ซึ่งจัดพิมพ์โดย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เมื่อปี พศ.2534 (พิมพ์ครั้งที่2) และได้มีการปรับเปลี่ยนคำศัพท์บางคำ เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น * * *



ศาสนาอียิปต์โบราณ

ศาสนาอียิปต์โบราณถือกำเนิดขึ้นในแผ่นดินที่เรียกว่าอียิปต์ หรือ ไอยคุปต์ สมัยโบราณ ซึ่งตั้งอยู่บนทวีปอาฟริกาตะวันออกเฉียงเหนือ มีเนื้อที่ทั้งหมดเมื่อ 7,000ปี ไม่กว้างใหญ่มากนัก ยาวไปตามลำน้ำไนล์ ในปัจุบันอียิปต์มีเนื้อที่ 383,000 ตารางไมล์ ทิศเหนือติดทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ทิศตะวันออก ติดทะเลแดง ทิศตะวันตกและทิศใต้มีทะเลทรายเป็นขอบเขต มีทางติดต่อกับทวีปเอเชียโดยอาศัยคลองสุเอซเป็นแนวสะพาน
จากชนกลุ่มต่างๆที่มารวมตัวกันตามลุ่มน้ำไนล์ ซึ่งแต่เดิมนั้นชนกลุ่มต่างๆนี้ไม่มีความรู้ในเรื่องภูมิศาสตร์ ไม่มีใครรู้ว่าลำน้ำสายนี้เกิดมาได้อย่างไร ไหลมาจากที่ไหน เพราะอะไรจึงให้ผลแก่ชาวไร่ เพราะอะไรจึงไหลบ่า ท่วมท้น จนเกิดความเสียหายล้มตาย ความไม่รู้เหล่านี้เอง จึงกลายเป็นบ่อเกิดแห่งศาสนาและศรัทธา

คติแห่งศรัทธา

M.Marittite นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส อ้างผลการสำรวจของ Herodotus ผู้เป็นปราชญ์ในสมัยกรีกโบราณ ไว้ในบันทึกของตนว่า...การนับถือศาสนาของอียิปต์โบราณนั้นสามารถแบ่งประเภทแห่งศรัทธาให้ศึกษาได้ดังนี้...
1. การนับถือสัตว์เป็นพระเจ้า
2. การนับถือดวงวิญญาณ
3. ศพอาบยา และ มรณะคัมภีร์
4. พิธีกรรมและนักบวช
5. หมวดหมู่ ของเทพเจ้า
6. อิทธิพลของศาสนา

ซึ่ง ในตอนที่ 1 นี้จะกล่าวถึง
การนับถือ สัตว์เป็นพระเจ้า

จะเห็นได้ว่าตามหัวเมืองใหญ่ๆ จะมีรูปปั้นสัตว์นานาชนิด ประดิษฐานอยู่ตามเทวสถานและประตูเมือง เป็นรูปเคารพอย่างหนึ่ง นับเป็นหนึ่งในจำนวนเทพประจำหัวเมือง ทั้งนี้เนื่องจากว่าสัตว์แต่ละประเภทมีความสำคัญในตัวของมันเอง สามารถทำประโยชน์แก่มนุษย์

ความสัมพันธ์ระหว่างสัตว์กับมนุษย์ ซึ่งเป็นเหตุให้สัตว์มีฐานะเป็นเทพเจ้า มีปรากฏดังนี้

- นับถือโดยคุณลักษณะ เช่น สุนัขมีความซื่อสัตย์ต่อมนุษย์ผู้เป็นเจ้าของ, นกเหยี่ยวที่บินอยู่ในอากาศ มีความอาจหาญในการโฉบเฉี่ยวอาหาร, แม่โค มีหน้าที่รับใช้ในเวลาปลูกพืชและให้นมแก่ผู้เยาว์วัยจึงเป็นตัวแทนของความอดทนและความกรุณาปรานี, แมลงทับซึ่งมีอยู่มากตามต้นปาปิรุสที่ขึ้นริมฝั่งแม่น้ำไนล์มีความขยันหมั่นเพียรในการสร้างที่อยู่ จึงเป็นตัวแทนของความเจริญ

*** แมลงทับ....มีปีกเป็นสีเหลือบทอง และมักเกาะกินตามต้นปาปิรุส ซึ่งชาวอียิปต์เอามาใช้เป็นกระดาษเขียนหนังสือ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของโลก ในสมัยอียิปต์โบราณแมลงทับ เป็นสัตว์ประหลาด เนื่องจากสีเหลือบทองของปีกแมลงทับ ทำให้เวลาดูจากมุมมองต่างๆกันจะเห็นเป็นแมลงทับมีสีที่ต่างกัน บางทีก็สีทอง บ้างก็สีเขียว และจากความไม่รู้มูลเหตุที่มาของสีที่ต่างกันของแมลงทับ ชาวอียิปต์จึงอาศัยความไม่รู้นั้นกำหนดว่าแมลงทับเป็นสัตว์วิเศษและเป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
ความวิเศษของแมลงทับที่สำคัญที่สุดคือ เป็นสัตว์ที่สร้างที่อยู่อาศัยโดยการใช้ปีกขนเอาดินมาทีละน้อย จนเป็นรังใหญ่ ชาวอียิปต์โบราณจึงถือว่าแมลงทับเป็นสัตว์น่าเคารพ เพราะเป็นตัวแทนของพระเจ้าที่สร้างโลก คติเรื่องการสร้างโลกจึงกำเนิดขึ้นโดยอาศัยแมลงทับ....

***ว่ากันเรื่องการสร้างโลก ความคิดของชาวอียิปต์เองก็ไม่สามารถหาข้อยุติได้ แต่ที่เชื่อกันเป็นส่วนมากคือ เชื่อว่า เดิมนั้นจักรวาลเป็นที่มืด เป็นมหาสมุทร มีแต่น้ำ ต่อมาก็มีดอกบัวหลวงดอกหนึ่งโผล่ขึ้นมาจากน้ำ ดวงอาทิตย์ลอยขึ้นจากบัวหลวงดอกนั้น แล้วลอยขึ้นไปอยู่บนท้องฟ้า และดอกบัวดอกนั้นกลายเป็นโลก

- สัตว์ประเภทต่างๆสมัยอียิปต์โบราณ ทำประโยชน์ให้มนุษย์มาก ทั้งในยามสงบ และยามสงคราม เมื่อกษัตริย์เสด็จออกศึก ก็จะทรงเลือกเอาสัตว์ที่เป็นกำลังในสงครามไปด้วย เช่น ม้า สิงโต เมื่อชนะศึกกลับมาก็จะทำพิธีบูชา...สุดแต่สัตว์นั้นไปทำความดีอะไรให้ มนุษย์ก็ยอกกราบไหว้สัตว์นั้น ข้อนี้แสดงให้เห็นว่า ชาวอียิปต์โบราณเป็นชาติที่รู้จักบุญคุณของสัตว์ และเป็นเครื่องแสดงใด้ว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างเทพเจ้า มิใช่เทพเจ้าเป็นผู้สร้างมนุษย์

จากการขุดค้นของนักโบราณคดี ที่ห้องเก็บศพของกษัตริย์ พบภาพต่างๆที่อยู่ตามผนังปีรามิด ซึ่งสลักบนแผ่นหิน มี่รูปสัตว์ต่างๆ เช่น นกเหยี่ยว, สุนัข แม่โค สัตว์เหล่านี้มีนิยายที่เกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องดวงวิญญาณ ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไป...

- เทพเจ้าต่างๆเป็นเพียงปรากฏการณ์ซึ่งสมมุติในความคิด ที่จริงปราศจากรูปร่าง แต่ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่า หากเทพเจ้าไม่ได้อวตารลงมาในร่างใดร่างหนึ่งแล้ว ก็ไม่มีสิ่งใดซึ่งเป็นรูปให้ยึดถือกราบไหว้ได้ แต่รูปอะไรก็ไม่ดีเท่ารูปที่เห็นกันอยู่ ดังนั้น ชาวอียิปต์จึงตั้งสัตว์ที่มีคุณแก่มนุษย์ก็ดี สัตว์ที่มีความสามารถหรืออำนาจในตัวมันเองก็ดี เป็นรูปแห่งการอวตารของเทพเจ้า

**ข้อนี้ ชวนให้ระลึกถึงหลักจิตวิทยาที่ว่า...มนุษย์จะได้ความรู้สึกครั้งแรกจากสายตา และมีความพอใจเมื่อมีรูปมาสัมผัสทางกาย ยิ่งกว่าการสัมผัสทางใจ

การนับถือสัตว์เป็นร่างอวตาร ได้ก้าวหน้ามาเป็นลำดับจนกระทั่งเมื่อกษัตริย์ Menes ได้รวมอียิปต์บนและ อียิปต์ล่างเป็นดินแดนเดียวกัน และตั้งเมือง Memphis เป็นเมืองหลวง และยกมหาเทพ.... Ptah หรือ Amenra (เทพแห่งดวงอาทิตย์) เป็นมหาเทพแห่งอียิปต์

พระเจ้า Menes ทรงจัดการปกครองใหม่ พร้อมกับจัดระเบียบการนับถือเทพเจ้าใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งเหยิงทางศาสนาเป็นเหตุให้เกิดความยุ่งเหยิงทางบ้านเมือง โดยการจัดระเบียบการนับถือเทพเจ้าใหม่นี้.... พระเจ้า Menes ว่าทรงบัญญัติใหม่ว่า...แต่เดิมบรรดาเทพเจ้าที่เคยอวตารสถิตย์ในร่างของสัตว์นั้น ..สมควรให้อวตารลงมาในรูปคนกันเสียที ตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา เทพเจ้าของอียิปต์จึงเป็นคนมากกว่าสัตว์ บ้างมีตัวเป็นคนหัวเป็นสัตว์ก็มี บ้างก็มีตัวเป็นสัตว์หัวเป็นคนก็มี

สัตว์ประเภทต่างๆที่ชาวอียิปต์นับถือเป็นเทพเจ้ามีอยู่เกือบ 100 ชนิด ส่วนมากเป็นสัตว์น้ำและสัตว์ป่า มีการออกกฎหมายห้ามชาวประมงและนักล่าสัตว์ฆ่าสัตว์หลายชนิด ถ้าใครฆ่าสัตว์ที่มีค่า ที่มีการขึ้นบัญชีว่าเป็นอวตารของเทพเจ้า ก็จะมีโทษถึงประหารชีวิต สัตว์ที่ได้รับการเคารพบูชามากที่สุดได้แก่ แม่โค ซึ่งได้รับความนับถือว่าเป็นอวตารของพระนาง Isis ส่วนพ่อโค เป็นอวตารของ Osiris

รูปของ Isis และ Osiris นั้นบนศีรษะจะเป็นรูปดวงอาทิตย์ ขึ้นในระหว่างภูเขา ซึ่งสมมติ เป็นรูปเขาโคทั้ง 2 ข้าง ที่หน้าผากมีจุดขาว ขนดำสนิทเรียกว่า Abis จากรูปซึ่งแสดงนี้ โคจึงเป็นเครื่องหมายของดวงอาทิตย์ด้วย

ต่อมา มีการนับถือพ่อโค แม่โค ว่าแทนดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ กล่าวคือ พ่อโค คือตัวแทนของ Osiris เสมือนดวงอาทิตย์ที่ให้ความสว่างในตอนกลางวัน ส่วนแม่โค คือตัวแทนของ Isis เปรียบเสมือนดวงจันทร์ที่ให้ความสว่างในเวลากลางคืน (ซึ่งถ้าดูจากเทพนิยายแล้ว Isis และ Osiris เป็นกษัตริย์ สามี-ภรรยาที่ต้องพลัดพรากจากกัน เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ )

จากการขุดค้นของนักโบราณคดี เมื่อ คศ.1852 พบซากเมืองเมมฟิส และได้พบรูปปั้นโคเป็นจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า โคได้รับการยกย่องเป็นเทพเจ้าชั้นสูง ประจำเมืองเมมฟิส ซึ่งนับเป็นเมืองที่สำคัญที่สุดในประวัติศาสตร์ของอียิปต์โบราณ

สัตว์ประเภทใด ถ้ามีผู้รับนับถือว่า ศักดิ์สิทธิ์ อยู่ในเมืองใด ก็จะมี อำนาจขอบเขตอยู่ในเมืองนั้น ไม่ปะปนกัน สัตว์ทุกประเภทที่ชาวอียิปต์เชื่อว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ ก็มีความศักดิ์สิทธิ์จริง เท่ากับเทพเจ้า หรือคนสำคัญคนหนึ่ง โดยหลักแห่งศรัทธาของชาวอียิปต์โบราณ เชื่อว่าสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ เหล่านี้มีวิญญาณที่ไม่ดับสูญเช่นเดียวกับคน ดังนั้นเมื่อสัตว์นั้นตายลง คนที่นับถือสัตว์ จึงทำมัมมี่สัตว์ไว้เช่นเดียวกับมัมมี่คน ถ้าไม่ทำเป็นมัมมี่ ก็มักทำเป็นรูปปั้นสัตว์นั้น ใส่ลงในหีบสลักหิน ฝังไว้ในอุโมงค์เช่นเดียวกับคน จากการขุดค้นของนักโบราณคดี ตามหัวเมืองต่างๆ มีการพบรูปปั้น สัตว์ในหีบสลักหิน และมัมมี่สัตว์ชนิดต่างๆ เช่น แพะ สุนัข นก จระเข้ แมว โค งู แมลงทับ ฯลฯ

สรุปแล้วการนับถือสัตว์เป็นเทพเจ้า เพราะชาวอียิปต์มีศรัทธาในคุณลักษณะความดี ความกล้าหาญของสัตว์ และมีความกตัญญู ต่อสัตว์ที่ทำประโยชน์ให้แก่ตนด้วย ชาวอียิปต์ก็คือคนที่มีความกลัวต่อความลึกลับที่ตนไม่สามารถหาต้นสายปลายเหตุได้ เช่นเดียวกับคนโบราณทั้งปวง


ปล. เอาข้อมูลมาลงก่อนนะคะ ไว้จะลงรูปตามให้ อัพรูปไม่ขึ้นอ่ะ




 

Create Date : 17 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 15 สิงหาคม 2552 22:18:20 น.
Counter : 2188 Pageviews.  

อาณาจักร ไอยคุปต์


อียิปต์ในยุคต้นๆ(~6,000ปีก่อน คศ.) เชื่อกันว่าผู้คนจากหลายชนชาติ ไม่ว่าจะเป็นเอเชีย แอฟริกากลาง รวมไปถึงผู้ที่รอดชีวิตจากการล่มสลายของแอตแลนติส ได้รวมตัวเป็นชุมชนที่เรียกว่า โมเนส รวมกันอยู่ตามจุดต่างๆกระจายไปตามลำน้ำไนล์ โดยแบ่งเป็นฝั่งบนและฝั่งล่าง เมื่อพูดถึงอียิปต์บน และ อียิปต์ล่าง ถ้าดูกันตามแผนที่แล้ว อาจเกิดความสับสน เนื่องจากอียิปต์ล่างประกอบด้วยพื้นที่ ตั้งแต่เมืองเมมฟิส ไปจนถึงทางออกทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ในขณะที่อียิปต์บน ประกอบด้วยพื้นที่ ตั้งแต่เมมฟิสไล่ลงมาจนถึงอัสวานและอาบูซิมเบล ซึ่งถ้าดูจากแผนที่ อียิปต์บนจะอยู่ตอนล่างของแผนที่ ในขณะที่ อียิปต์ล่างจะอยู่ตอนบนของแผนที่ ทั้งนี้เนื่องมาจาก แม่น้ำไนล์ เป็นแม่น้ำที่ไหลจากทิศใต้ขึ้นสู่ทิศเหนือจนออกไปยังทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และการจัดแบ่งในสมัยนั้น ได้แบ่งตามการไหลของแม่น้ำไนล์

ต่อมาได้มีหลักฐานว่าเมื่อประมาณ 4,000ปีก่อน คศ. ได้มีการพัฒนา และแสดงให้เห็นว่ามีการคิดค้นการส่งน้ำ การทำชลประทานตลอดแนวฝั่งน้ำ และมีการสื่อสารด้วยการใช้ภาษาเขียน ด้วยภาษา Hieroglyphic
ในยุคนี้เอง เป็นยุคที่อียิปต์มีความเจริญ ทั้งด้านการค้า ศาสนาและการเมืองการปกครอง แต่ยังคงมีการแบ่งเป็นอียิปต์บนและอียิปต์ล่างอยู่
โดยฟาร์โรห์ของอียิปต์บนจะทรงมงกุฎสีขาว และมีพญาแร้งและดอกปาปิรุสเป็นสัญลักษณ์
ส่วนฟาร์โรห์ของอียิปต์ล่างจะทรงมงกุฎสีแดงและมีพญางูเห่า และดอกบัวเป็นสัญลักษณ์

จะเห็นได้ว่าการพัฒนาในด้านต่างๆของอียิปต์บนเป็นไปช้ากว่าทางตอนล่าง และแน่นอน ทั้งอียิปต์เหนือ และ อียิปต์ล่าง มักทำการสู้รบกันเสมอๆ เพราะต่างต้องการแสดงความยิ่งใหญ่ของตน

จนเมื่อ 3,000 ปี ก่อนคศ. กษัตริย์ Menes แห่งอียิปต์บน ได้รวบรวมอียิปต์บนและล่างเข้าด้วยกัน เป็นอาณาจักรไอยคุปต์ ตั้งแต่นั้นมา โดยฟาร์โรห์จะสวมมงกุฎขาวแดง ซึ่งเป็นการแสดงถึงการรวมอียิปต์บนและล่าง...





 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2549    
Last Update : 15 สิงหาคม 2552 22:18:47 น.
Counter : 723 Pageviews.  

1  2  

นีออน
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add นีออน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.