บอ อา นอ บาน บาน ไม้โท บ้าน
Group Blog
 
All Blogs
 

งานทำพื้นที่สวนกลางบ้าน

งานทำพื้นที่สวนกลางบ้าน


หลังจากงานตัวอาคารเกือบจะแล้วเสร็จ ต่อไปก็เริ่มงานเตรียมพื้นที่สวนกลางบ้าน ซึ่งแต่เดิม ตามแบบของ ผรม.จะเขียนไว้เป็นแค่พื้นที่โล่งๆ ที่เว้นไว้เผื่อทำการปลูกต้นไม้ดอกไม้ไว้กลางบ้าน ซึ่งพื้นก็จะเป็นแบบพื้นดิน ซึ่งรายการนี้ไม่ได้รวมอยู่ในราคางานก่อสร้างบ้าน แต่ผมมานึกดูแล้ว ถ้าพื้นเป็นดินอยู่กลางบ้าน โอกาสที่ งู หรือตัวอะไรที่มุดดินได้ ก็จะเข้ามาในบ้านได้ ดังนั้นจึงแจ้งผู้รับเหมาให้เทปูนพื้นที่ส่วนโล่งตรงกลางบ้านนี้ ซึ่งขนาดเท่ากับ 4x4.5 ม. ซึ่งพื้นที่ส่วนนี้ก็จะโล่งขึ้นไปจนถึงส่วนที่เป็นกระจกแสงสว่างกลางบ้าน และจะมีหลังคาแบบใสมุงทับช่องกระจกอีกครั้ง

ภาพนี้จะเห็นช่องว่างของคานที่อยู่ระดับพื้นบน(ที่ระดับ+1.40 ม.) กับระดับพื้นล่าง (+0.00 ม.) จึงต้องก่ออิฐปิดโดยรอบ



ส่วนภาพนี้เมื่อก่ออิฐปิดด้านข้างเสร็จแล้วก็ฉาบปูน และก็จะเห็นว่ามีการวางท่อน้ำทิ้งของพื้นที่กลางสวนเอาไว้ ซึ่งท่อน้ำทิ้งก็จะมี 3 จุด ซึ่งจะต่อไปยังบ่อพักน้ำกลางบ้าน และบ่อพักนี้ก็จะต่อท่อไปยังบ่อพักด้านหลังบ้านอีกทีหนึ่ง






ภาพบ่อพักน้ำกลางบ้าน จริงๆแล้วการมีบ่อพักน้ำกลางบ้าน มีข้อเสียคือ ถ้าทำฝาปิดบ่อไม่ดีก็จะมีโอกาสที่กลิ่นจากท่อน้ำด้านหลังบ้านอาจย้อนกลับเข้ามาในบ้านได้ และ ยุงก็ขึ้นมาได้ถ้าปิดฝาไม่ดี ซึ่งผมเองใช้วิธีนำมุ้งลวดมาปิดครอบตัวท่อที่รับน้ำจากบ่อพักเพื่อที่จะออกไปยังหลังบ้านซึ่งปัจจุบันก็ได้ผลดี ไม่มียุงเล็ดลอดเข้ามาได้ ส่วนเรื่องกลิ่นก็ไม่มีเหมือนกัน เนื่องจากฝาบ่อพักปิดสนิทดีและอยู่ห่างจากบ่อพักน้ำด้านหลังบ้านพอสมควร 



ภาพนี้ใส่ทรายถมที่พื้นเพื่อปรับระดับก่อนวางตะแกรงเหล็ก เพื่อเทปูนอีกครั้งหนึ่ง




ภาพมองจากชั้นสอง จะเห็นเป็นช่องโล่งลงไปถึงพื้นที่ทำสวนกลางบ้าน








ภาพนี้หลังจากที่เทพื้นปูนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตอนแรกก็ปรึกษากับผู้รับเหมาว่าจะทำสวนกลางบ้านและมีเป็นน้ำตกด้วย ลักษณะเป็นแบบมีน้ำไหลออกจากกำแพงลงไปสู่ด้านล่าง ซึ่งผู้รับเหมาซึ่งเป็นสถาปนิกด้วย ก็เลยออกแบบให้เป็นลักษณะเป็นสวนปลูกต้นไม้ในกระถาง แล้วก็มีน้ำไหลล้นออกจากผนัง และมีโอ่งน้ำล้นอยู่ด้านล่าง 2 ข้าง ที่บ่อน้ำ ซึ่งก็เห็นด้วยเลย ซึ่งภาพนี้ก็กำลังทำบ่อรับน้ำที่ล้นออกมาจากโอ่ง 2 ข้าง และรับน้ำที่ไหลลงมาจากผนังด้านบนด้วย








เนื่องจาก hard disk ที่เก็บรูปภาพเสียหาย จึงไม่มีรูปขั้นตอนอื่นที่ทำสวนมาให้ดู คงมีเพียงภาพสวนที่ทำเสร็จแล้ว ซึ่งจะเห็นแท่งปูนสีดำ 3 แท่ง ก็จะมีน้ำไหลล้นออกมาจากผนัง ไหลลงสู่ด้านล่าง และมีโอ่งน้ำล้น 2 ใบ ซึ่งทั้งหมดนี้ใช้ปั๊มน้ำเพียงตัวเดียวในการควบคุม









 

Create Date : 29 ตุลาคม 2558    
Last Update : 29 ตุลาคม 2558 16:14:19 น.
Counter : 2620 Pageviews.  

งานครัวไทยหลังบ้าน

งานครัวไทยหลังบ้าน

หลังจากไม่ได้ update blog มาเป็นเวลานาน จนบ้านสร้างเสร็จเรียบร้อยและเข้ามาอยู่อาศัย ได้หลายเดือนแล้ว แต่ก็จะนำรูปงานที่เหลือต่างๆ พร้อมรูปที่มีอยู่มาลงในบล็อกให้ชมกัน เนื่องจากเกิดเหตุ hard disk ที่ใช้เก็บรูปเกิดเสีย เลยไม่มีรูปภาพที่เหลือจนงานแล้วเสร็จมาลงในบล็อกอีก คงมีบางภาพบางงานเท่านั้นที่ยังมีอยู่


เริ่มจากความคิดที่ว่า กลัวว่าทำครัวในบ้านแล้วจะมีกลิ่นเหม็น และมีควันคลุ้งเต็มบ้าน ผนังครัวจะเป็นคราบน้ำมัน สรุปก็เลยต้องทำเคาน์เตอร์ครัวนอกบ้าน แต่ขอบอกเข้ามาอยู่หลายเดือนแล้วยังไม่เคยทำครัวนอกบ้านเลยสักครั้ง ทำแต่ในบ้านนั่นแหละ เพราะขี้เกียจเดินขิ้น-เดินลง บันไดเข้าไปในบ้านนั่นเอง มีแม่บ้านก็ได้แต่เช็ดถูทำความสะอาดบ้าน เลยไม่ค่อยมีเวลาทำครัว ประกอบกับลูกๆก็เปิดเรียนกันแยกย้ายกันอยู่ เมืองนอกบ้าง กรุงเทพฯบ้าง คงเหลือคนเล็กที่ยังอยู่ที่บ้านด้วยกัน 3 คน พ่อ-แม่-ลูก ก็เลยไม่ค่อยได้ทำกับข้าวเท่าไหร่ ใช้สั่งซื้อกินอาหารตามสั่งร้านค้าแถวบ้าน แต่ถ้าลูกๆปิดเทอมกลับมาบ้านหรือญาติๆมาเยี่ยมก็คงได้ทำอาหารกินกันบ้างล่ะ ก็มาเริ่มกันที่ครัวนอกบ้านกันต่อ ก็โดยการเจาะผนังปูนด้านข้างบ้านเพื่อเสียบเหล็กไว้สำหรับรองรับเคาน์เตอร์ปูนที่หล่อขึ้นมาแต่ก็จะมีด้านหนึ่งทำเป็นขารองรับ ส่วนอีกด้านก่ออิฐขึ้นมารองรับ 



ตรงกลางเคาน์เตอร์ทำเป็นระดับสูง-ต่ำ คือ ด้านซ้ายไว้วางเตาแก๊สแบบหัวเดียว ส่วนด้านขวาเป็นที่วางซิงค์ล้างจานแบบ 1 หลุม มีที่พักจานด้านข้าง ส่วนที่ต้องทำระดับเคาน์เตอร์ให้สูง-ต่ำ ต่างกันเนื่องจาก เตาแก๊สมีความสูงขึ้นมาเล็กน้อยจากพื้นที่่ที่วาง เมือวางเตาแก๊สแล้วก็จะมีระดับความสูงที่ใกล้เคียงกับระดับของฝั่งด้านซิงค์ล้างจาน




ด้านล่างของเคาน์เตอร์ ก็เตรียมท่อน้ำทิ้งและท่อน้ำดี ซึ่งบางคนอาจไม่ต้องกรีดผนังปูนเพื่อฝังท่อก็ได้ แต่ที่กรีดผนังฝังท่อเพื่อให้เวลาปูกระเบื้องทับไปแล้วก็จะไม่เห็นท่อ จะเห็นแต่กระเบื้องที่โชว์ไว้ใต้เคาน์เตอร์



ส่วนนี้เป็นหลังคามุงครัวนอกบ้าน ซึ่งใช้ เป็นโครงเหล็ก กับ แผ่น metal sheet ส่วนด้านล่างก็ติดตั้งฝ้าเพดานอีกทีหนึ่งเพื่อความเรียบร้อย สวยงาม



ด้านข้างของผนังบ้านกับแนวกำแพงรั้วไม่ตรงกัน เนื่องจากเรื่องแนวเขตที่ดิน เลยต้องก่ออิฐเสริมเพื่อให้ปิดช่องว่างดังกล่าว



รูปมองจากบนบ้านจะเห็นหลังคาครัวนอกบ้าน และจะเห็นแนวคานของพื้นที่โรงรถ



ส่วนด้านหลังบ้านสุดจะเป็นแนวรั้วบ้าน ซึ่งตอนที่ยังไม่ได้ทำพื้นที่โรงรถและรั้วหลังบ้าน จะมีความรู้สึกว่า บ้านมีความลึกมาก แต่พอได้ทำพื้นที่โรงรถ และแนวรั้วแล้ว กลับรู้สึกว่า บ้านก็เหมือนไม่ได้ลึกเท่าไหร่จากตัวอาคารถึงแนวรั้ว ซึ่งระยะก็ประมาณ 20 กว่าเมตร





 

Create Date : 29 ตุลาคม 2558    
Last Update : 29 ตุลาคม 2558 15:09:51 น.
Counter : 5306 Pageviews.  

งานฝ้าเพดาน

งานฝ้าเพดาน

ก่อนเริ่มงานฝ้าเพดาน ผรม.จะหล่อครีบใต้คานเพื่อเป็นตัวยึดโครงฝ้า เนื่องจากฝ้าจะต่ำจากใต้ท้องคานลงมาอีกเล็กน้อย

โดยการเจาะปูนคานแล้วเสียบเหล็ก แล้วดัดเหล็กโค้งลงมาเป็นตัวยึดกับเหล็กที่เป็นลักษณะแบบเอ็นทับหลัง แล้วก็กรอกปูนลงไปในแบบ

เมื่อปูนแห้งก็แกะแบบออก ก็จะเป็นลักษณะดังรูป แล้วก็จะก่ออิฐปิดช่องว่างของครีบปูนนี้อีกที ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดปัญหาปูนร้าวบริเวณเหล็กที่เสียบห้อยตัวลงมานี่แหละ ก็คงเนื่องมาจากเหล็กมันยืดตัวออก

และเมื่องานติดตั้งท่อร้อยสายไฟเสร็จเรียบร้อย ก็เตรียมยึดโครงฝ้า ซึ่งใช้เป็นแบบฝ้าฉาบเรียบ

 

 

 

บางส่วนก็มีทำเป็นลักษณะฝ้าหลุม เพื่อจะทำไฟซ่อนไว้ในหลืบฝ้าเพดาน

 

ตรงนี้เป็นส่วนตู้คอนโทรล ซึ่งตอนหลังก็มีปัญหามากมาย เมื่อปิดฝ้าไปแล้ว เพราะช่างไฟชุดเดิมถูกผู้รับเหมาหลักไล่ออกไปเนื่องจากพอเร่งงานแล้วไม่เข้ามา ก็เลยยุ่งกันใหญ่เพราะเอาคนใหม่มาทำก็ไม่รู้ชุดเดิมมันจั๊มสายไว้ยังไง พอลองใส่หลอดเปิดสวิทซ์ไฟก็ติดแบบมั่วไปหมด คือเปิดจากโถงกลางบ้านแต่ไฟไปติดในครัวบ้าง ติดระเบียงหลังบ้านบ้าง แล้วก็ไม่สามารถขึ้นไปตรวจเช็คได้ว่าช่างชุดเดิมจั๊มสายไว้อย่างไรเนื่องจากปิดฝ้าไปแล้ว และช่องว่างด้านบนฝ้าไม่สามารถขึ้นไปได้ ก็เลยต้องมาเจาะฝ้าเป็นจุดๆ ตามจุดที่คิดว่าเป็นจุดบล๊อกจั๊มไฟ ผู้รับเหมาต้องมาขอโทษขอโพย เราก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร ไม่ทำก็ไม่ได้ เพราะกลัวปัญหาเรื่องไฟมาก เนื่องจากตลาดที่นี่เคยเกิดปัญหาเรื่องไฟฟ้าลัดวงจรแล้วไฟไหม้หมดไป 30 กว่าหลัง เมื่อ 2 ปีก่อน

 

 แผ่นฝ้าเป็นแบบติดฉนวนกันความร้อน

 

ตรงนี้เป็นส่วนของฝ้าเพดานหน้าร้าน ซึ่งผู้รับเหมาออกแบบให้เป็นแบบลักษณะโค้งๆและเป็นหลุม

 

 

ส่วนนี้เป็นฝ้าเพดานบริเวณห้องทำงาน ก็เป็นแบบเป็นร่องๆแถวๆ

 

และเมื่อปิดแผ่นฝ้าแล้ว บริเวณหน้าร้าน จะเห็นเสากลางหน้าร้านอยู่หนึ่งต้น เดี๋ยวภายหลังก็จะทำเป็นสแตนเลสหุ้มเสาเป็นแบบกลม

 

บริเวณในบ้าน ส่วนพื้นที่นั่งเล่น เป็นแบบฝ้าหลุม มีไฟซ่อนในหลืบ

 

ฝ้าห้องทำงานหลังจากปิดแผ่นเสร็จ

 

ฝ้าบริเวณหลังบ้าน ที่จะใช้เป็นบริเวณรับประทานอาหาร ซึ่งอยู่ติดกับห้องครัวด้านขวามือ

 

ส่วนของโครงฝ้าชั้น 2

 

 

 

 

 

 

 

ซึ่งส่วนของฝ้าชั้น 2 จะใส่แผ่น stay cool กันความร้อนไว้ด้วย ซึ่งตอนแรกกะว่าจะเลือกแบบความหนา 150 มม. แต่ผู้รับเหมาทักท้วงว่า แค่นี้ก็พอแล้ว ก็เลยตกลงเป็นตามนั้น ซึ่งส่วนนี้เราออกค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต่างหาก เนื่องจากไม่ได้กำหนดไว้ในแบบแต่แรกก็เพิ่มเงินไปอีกประมาณ 45,000 บาท ซึ่งตอนหลังมีปัญหาตามมาว่าผู้รับเหมากลัวปัญหาเรื่องไฟไหม้ เนื่องจากต้องปูทับโคมดาวน์ไลท์ ซึ่งจะทำให้เกิดความร้อนสะสมขึ้นสูง แล้วทำให้สายไฟละลายและช็อตได้ เลยบอกจะรื้อออกให้ ผมเลยรู้สึกไม่ดีว่าไม่งั้นเค้าจะทำออกมาขายได้อย่างไร ซึ่งก็ลองหาความรู็ในเน็ตดู ก็ปูกันเยอะแยะ แต่ต้องผ่าฟอยล์ออกรอบๆ โคมดาวน์ไลท์เว้นระยะห่างประมาณ 3 นิ้วโดยรอบ และบางที่ก็ใช้วิธีขึงตาข่ายให้สูงกว่าโคมดาวน์ไลท์ แล้วค่อยนำแผ่น stay cool ปูลงบนตาข่ายอีกทีหนึ่ง ซึ่งก็ดูจะปลอดภัยดี ก็คิดว่าจะใช้วิธีนี้ ต้องรอให้ ผรม.แก้ไขให้อีกที

 

 

 

ภาพการปูฟอยล์ ซึ่งผรม.ให้ช่างฝ้าเป็นคนปูให้ ก็ปูแบบงั้นๆ มันจะชิดไม่ชิด หัวท้ายยังไม่ปิดก็ไม่สนใจ

 

 

 

ส่วนนี้เดิม ผรม.ออกแบบให้เป็นห้องนอนใหญ่ คือใหญ่จริงๆ ขนาด 4.0 ม.x 9.0 ม. แบบว่าจะให้มีส่วนนั่งเล่นในห้องนอน ตอนหลังเลยขอกั้นเป็นผนังเบา เพื่อให้มันไม่ใหญ่จนเกินไปและก็ให้ลูกคนเล็กใช้เป็นห้องนอนไปด้วย คืออยู่ในห้องใหญ่ด้วยกันแต่มีประตูเลื่อนกั้นระหว่างผนังเบา

 

 

เมื่อปิดแผ่นฝ้าเพดานเสร็จก็เริ่มฉาบปิดรอยต่อของแผ่นฝ้าและรอยหัวน๊อต ที่ช่างฝ้ายิงไว้

 

 

ภาพนี้เป็นส่วนของช่องแสงกลางบ้าน ซึ่งทำเป็นโครงกระจก ซึ่งตอนแรกในแบบของ ผรม.เค้าออกแบบไว้เป็นช่องแสงโล่ง คือมีแต่โครงกระจก แต่ส่วนบนของโครงกระจกไม่มีหลังคาปิด ผมเลยขอเปลี่ยนแบบ เพราะแถวนี้ นกพิราบเยอะมาก เพราะคิดว่า ได้เป็นที่อยู่อาศัยของนกแน่นอน ไหนจะรังนก ขี้นก แล้วก็ทำให้ท่อน้ำทิ้งที่ลงมาจากด้านบนพื้นช่องแสงนี้อุดตันอีก เลยขอให้ใส่แผ่นหลังคาแบบใสคลุมช่องโล่งบริเวณนี้อีกที

 

 

กระจกที่จะใช้ใส่บริเวณช่องแสง

 

และเมื่อใส่กระจกเสร็จ

 

หลังคาแบบใสที่เตรียมมาใส่คลุมช่องแสงกลางบ้าน

 

เมื่อใส่หลังคาแผ่นใสคลุมช่องแสงเสร็จ แสงที่ส่องลงมาก็นุ่มขึ้นอีกนิด

 

 

 

 




 

Create Date : 15 ธันวาคม 2557    
Last Update : 17 ธันวาคม 2557 12:23:27 น.
Counter : 20810 Pageviews.  

งานกรีดผนังวางท่อร้อยสายไฟ

 

มาถึงงานกรีดผนังวางท่อร้อยสายไฟกันต่อ ก็หลังจากที่ ทำการฉาบผนังและสกิมโค้ทกันเสร็จ งานไฟฟ้าก็เริ่มดำเนินการโดยการ มาร์คจุดหาตำแหน่งปลั๊กไฟ สวิซท์ไฟ แล้วจึงกรีดผนังเพื่อเป็นตำแหน่งของบล็อกปลั๊กไฟ แล้วจึงกรีดผนังในแนวดิ่งเพื่อเป็นแนวท่อร้อยสายไฟลงมาจากด้านบน ความจริงแล้วถ้างานโครงการเช่นตึกสูง หรือคอนโดต่างๆ เขาจะไม่ทำการกรีดผนังกันแบบนี้ เขาจะเดินงานระบบไฟฟ้า ประปา ซึ่งก็จะเป็นระบบท่อเหล็ก พร้อมยึดตำแหน่งไว้เรียบร้อยแล้วจึงทำการก่ออิฐ ฉาบปูน ปิดทับ ซึ่งเขาจะรู้ตำแหน่งของท่อต่างๆแบบแน่นอน แต่งานก่อสร้างบ้านโดยทั่วไปก็มักจะทำลักษณะนี้คือ ฉาบปูนแล้วค่อยมากรีดผนัง เพราะอ้างว่าเดี๋ยวเดินท่อไว้แล้วพอฉาบปูน ช่างปูนจะทำให้ท่อหรือบล็อกคลาดเคลื่อน หรือเสียหายบ้าง ซึ่งจริงๆแล้วถ้าใช้แคลมป์ยึดท่อไว้กับผนังก่ออิฐ ตำแหน่งมันก็ไม่คลาดเคลื่อนหรอก แต่คงเป็นเพราะประหยัดค่าแคลมป์และต้องการความเร็วมากกว่า พอกรีดผนังกันทีก็ฝุ่นตลบไปหมด แล้วพอตอนฉาบปูนทับท่อ บางครั้งช่างไฟกรีดผนังไม่ลึกพอ ฉาบปูนเสร็จก็จะเห็นรอยปริแตก เพราะเนื้อปูนที่ปิดทับท่อมันมีอยู่นิดเดียว บางทีก็เจาะบล็อกซะจนทะลุผนังด้านข้างออกไป ทำให้ต้องมาแก้ปัญหาน้ำซึมเข้าจากข้างบ้านเวลาฝนสาดใส่ แต่บางที่ก็เดินท่อยึดผนังไว้ตอนก่ออิฐเสร็จแล้วจึงฉาบปูนทับ แบบนี้ผมว่าโอเคกว่าเยอะ แต่ก็แก้ไขไม่ทันแล้วหล่ะเพราะมาคิดได้เอาทีหลัง หลังจากที่เห็นพวกช่างไฟมันทำกันไปแล้วนัั่นแหละ

 

 

 

 

 

เห็นมั้ยครับ เล่นเจาะซะจนทะลุกันไปเลย

 

เจาะกันเสร็จก็เอาบล็อกมาใส่แล้วก็ร้อยท่อ แล้วก็เอาปูนมาอุดเพื่อให้บล็อกมันอยู่ในตำแหน่ง

 

พออุดไปอุดมา บล็อกมันไม่ค่อยจะอยู่ให้ก็เอาปูนอัดในบล็อกมันซะเลย ค่อยแก้ปัญหาทีหลังเอา เอี้ยจริงๆ ก็พี่แกเล่นเจาะผนังซะบานเบอะขนาดนั้น จริงๆไม่ใช่พี่หรอก ช่างไฟที่รับงานจากผู้รับเหมาหลักมา ก็ไปจ้างเด็กวัยรุ่น 4-5 คน มากรีดๆเจาะๆ แล้วตัวเองก็แทบไม่เคยมาดูงานเลย ผู้รับเหมาหลักก็วางใจช่างไฟปล่อยมันทำกันไป เราเองก็เรียนมา แต่ภาคปฏิบัติก็เคยคุมแต่งานสร้างคอนโด กับงานสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แล้วทิ้งร้างกันไปนานเป็น 15-16 ปีแล้ว ก็เลยไม่ค่อยได้สังเกต พวกงานเล็กๆ ซึ่งมาเจอก็บ้านตัวเองนี่แหละ

 

ท่อสายไฟที่ยึดติดกับคานด้านบน ก็จะใส่บล็อกเพื่อเป็นจุดจั็มพ์ไฟที่ลงมาด้านล่างแต่ละจุด

 

จะเห็นว่าตามแนวท่อร้อยสายไฟในแนวดิ่ง ช่างไฟจะยึดท่อไว้ด้วยตะปูตอกพับท่อไว้ก่อน ก่อนที่จะฉาบปูนทับ

 

แล้วก็ฉาบปูนทับ

 

 

 

 

 

 

 

เมื่อฉาบปูนทับเสร็จ ก็สกิมโค้ทลงอีกรอบ

 

 

 

บางส่วนก็เริ่มร้อยสายไฟ ซึ่งสายไฟที่ใช้ ส่วนใหญ่ก็เป็นขนาด 2x2.5 sqmm. แต่แอร์กับเครื่องทำน้ำอุ่นจะใช้เป็นสายขนาด 2x4 sqmm. ซึ่งตอนแรกช่างเด็กวัยรุ่นที่มาเดินท่อร้อยสายไฟ ก็มาถามผมว่า ทำไมแอร์กับเครื่องทำน้ำอุ่นใช้ขนาด 2.5 ผมก็งงๆ เพราะไม่ได้ดูในรายละเอียด พอมาดูในแบบ ก็พบว่า สถาปนิกเขียนแบบไว้เป็น 2.5 ทั้งหมด แต่ดูที่รายการประกอบแบบกับส่วนที่คิดเป็น BOQ. กับมีรายการ สาย 4 ด้วย สรุปได้ว่า ช่างไฟที่รับงานมาก็ได้รับการบอกว่าให้ทำตามแบบ แต่ส่วนที่คิดเงินมันคนละส่วนกัน ก็เลยต้องบอกช่างไฟให้หยุดทำก่อน แล้วจึงแจ้งผู้รับเหมาหลักเพื่อให้เอาสาย 4 มาใช้ นึกว่าจะถูกโกง แต่จริงๆช่างไฟก็ทำตามแบบ สรุปคือแบบกับ spec. มันไม่ตรงกัน เราก็ไว้ใจเกินไป ทีนี้งานส่วนอื่นๆเลยต้องเช็คดูทั้งแบบและ spec. และ BOQ. ว่าตรงกันไหม

 

 

 

จุดนี้เป็นส่วนของตู้คอนโทรล ที่สายไฟจะมารวมกันที่นี่ แต่จะแยกชั้นกัน คือชั้น 1 กับชั้นสอง คนละตู้กัน ซึ่งจะใช้ไฟ 3 เฟส เพื่อลดโหลด เนื่องจากมีแอร์และเครื่องทำน้ำอุ่นหลายตัว

 

 

 




 

Create Date : 22 พฤศจิกายน 2557    
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2557 7:49:00 น.
Counter : 32283 Pageviews.  

งานหล่อเคาน์เตอร์และท่อน้ำทิ้ง

  งานหล่อเคาน์เตอร์และงานท่อน้ำทิ้ง

มาถึงงานหล่อเคาน์เตอร์ในครัวและเคาน์เตอร์ในห้องน้ำ รวมถึงงานระบบน้ำทิ้งและน้ำประปา ตอนแรกคิดว่าจะทำเคาน์เตอร์ครัวปูน แล้วซื้อบานซิงค์สำเร็จรูปมาใส่ เพราะคิดว่ามั่นคงแข็งแรงดี จึงให้ ผรม. หล่อเคาน์เตอร์ครัว แต่ตอนหลังได้ให้ ผรม.ทุบทิ้งไป เดี๋ยวจะบอกเหตุผลให้ฟังอีกที ตอนนี้มาดูการหล่อเคาน์เตอร์กันก่อน

ก็เริ่มจากตั้งแบบ เสียบเหล็ก โดยการเจาะกำแพง แล้วก็เอาเหล็กเสียบเข้าไปธรรมดานี่แหละ ตอนแรกยังดูอยู่ว่ามันจะมั่นคงแข็งแรงดีหรือนี่ เพราะไหนจะต้องรับน้ำหนักตัวมันเอง แล้วก็ต้องรับน้ำหนักบรรทุก คือสิ่งของที่วางด้านบนอีก ซึ่งถ้าจะให้ถูกวิธีกว่านี้มันต้องหล่อเหมือนเอ็นทับหลังในแนวระดับเคาน์เตอร์ ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าจะให้เคาน์เตอร์สูงเท่าไหร่ ซึ่งปกติก็ประมาณ 80 ซม.จากพื้น แล้วก็เสียบเหล็กโผล่ไว้ตอนเททับหลัง แต่ส่วนใหญ่ ผรม. ก็มักจะหาวิธีที่ง่ายและสะดวกกว่า และก็คิดว่ามันไม่พังง่ายๆหรอก เพราะคิดว่ามันใช้แผงอิฐด้านหน้าใช้เป็นตัวรับน้ำหนักช่วย เราก็เลยได้แต่ดู แต่ถ้าอย่างนี้เกิดเป็นผนังแบบอิฐมวลเบาล่ะ คงไม่แข็งแรงเป็นแน่

 

 

 

 

 

 

ช่องว่างตรงกลางบล็อกไว้สำหรับหลุมซิงค์ล้างจาน

 

ส่วนที่บล็อกไว้สำหรับเตาแก๊ส ซึ่งตอนแรกจะใช้เป็นเตาไฟฟ้า ซึ่งอ่านข้อดีข้อเสียจากในเว็บต่างๆดูแล้ว ก็ปลอดภัยดี แต่สรุปสุดท้ายคือ แม่บ้านไม่ถนัด กลัวใช้ไม่เป็น แล้วถ้ายิ่งเป็นแบบเตาแม่เหล็กไฟฟ้า Induction ด้วยแล้วละก็ ต้องเปลี่ยนชุดหม้อ กระทะกันใหม่หมดเลย เพราะมันต้องนำไฟฟ้า และก้นหม้อต้องเรียบแบน ก็เลยต้องลงเอยแบบเตาแก๊ส เบสิคสุดๆแล้ว

 

เมื่อเทเคาน์เตอร์กันเสร็จ ก็เป็นที่วางกระเป๋าของคนงานไปก่อน แต่มองดูดีๆเหมือนมันแอ่นๆ ยังไงไม่รู้ แต่ไม่ใช่เหตุผลที่บอกแต่แรกว่าให้ ผรม. ทุบทิ้ง เหตุผลจริงๆคือ ไปเดินดูชุดครัวตามที่ต่างๆ เพื่อจะหาบานซิงค์ที่สวยถูกใจ ทั้ง Homepro , Index , บุญถาวร กรุงเทพฯ ปรากฏ โอ้โฮไอ้ชุดครัวที่มันโชว์อยู่กันสวยๆทั้งนั้น แต่ก็ราคาเป็นแสน โดยเฉพาะถ้าบอกขนาดของห้องครัวไปด้วยยิ่งแพงไปใหญ่ แล้วก็สรุปไปถูกใจชุดบานแบบ High-gross ซึ่งก็ถามเค้าว่าจะสั่งเฉพาะบานมาใส่กับเคาน์เตอร์ที่เราเทไว้แล้วได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้ต้องสั่งทำกับเขาทั้งชุด ซึ่งลองเช็คดูแล้วน่าจะตกประมาณ 4 แสนเห็นจะได้ ก็กลับมาคิดอยู่หลายตลบ เลยลองไปเช็คราคากับร้านเฟอร์นิเจอร์ในตัวจังหวัดที่เขารับสั่งทำ เขาบอกรับทำได้แบบ High-gross แต่โครงสร้างต้องเป็นแบบไม้ปาติเคิล ก็เลยตกลงปลงใจ ทุบเคาน์เตอร์ที่หล่อไว้ทิ้ง เพื่อความสวยและความชอบ ความทนก็พอได้ถ้าไม่โดนน้ำ ราคาก็เหลือ 2 แสนกว่าๆๆๆ

 

ทีนี้ก็มาถึงเคาน์เตอร์ในห้องน้ำ ตรงกลางเค้าจะเอาอิฐมอญเป็นตัวกั้นปูนและเป็นตัวไว้รับก้นอ่างล้างหน้าด้วย ซึ่ง ผรม.ซึ่งเป็นสถาปนิกด้วย ได้ออกแบบไว้จะให้ใช้อ่างล้างหน้าแบบวางบนเคาน์เตอร์ลักษณะเป็นรูปวงรีๆ ซึ่งเราก็เห็นโอ ด้วย ทุกห้องก็จะใช้เหมือนกันหมด

 

ตั้งแบบผูกเหล็กเสร็จ ก็เทปูน

 

 

 

ภาพนี้จะเห็นรูที่พื้นที่เจาะไว้เป็นรูท่อส้วมที่ต่อกับชักโครก กับรูท่อน้ำประปาที่ขึ้นมาจากพื้นชั้นล่าง ซึ่งถ้าเป็นงานก่อสร้างแบบที่มีมาตรฐานเขาจะวางบล็อกรูท่อไว้ที่พื้น ตั้งแต่ตอนเทปูนพื้นห้องน้ำกันเลย แล้วก็จะใส่เหล็กเสริมกันร้าวรอบๆท่อด้วย ซึ่งระยะก็ต้องรู้แน่นอนว่าศูนย์กลางรูท่อส้วมอยู่ห่างจากผนังเท่าไหร่ เรียกว่าระยะและแนวต่างๆต้องแน่นอน ตั้งแต่ก่อนที่จะเทพื้น เขาจะตีเส้นแนว และวาดแบบกันลงพื้นไม้แบบกันเลย แต่ทำแบบนี้ก็พอรับได้ จะให้เขาทำแบบที่เรารู้มา ก็คงจะยากกันหน่อย

 

 

 

รูท่อน้ำทิ้งกับท่อส้วมที่เจาะไว้

 

ภาพนี้จะเห็นท่อน้ำทิ้งและท่อส้วม รวมทั้งท่อประปาจะอยู่ในบริเวณเดียวกันที่มุมห้อง ซึ่งจะต้องก่ออิฐทำเป็นช่อง shaft ปิดล้อมรอบท่ออีกทีหนึ่ง

 

ท่อน้ำทิ้ง ขนาด 2 นิ้ว จะต่อแบบมีข้อต่อดักกลิ่น ก่อนที่จะใส่ข้อต่อขยายเข้าท่อใหญ่ 3 นิ้ว ลงสู่ด้านล่าง แต่มีจุดที่รู้สึกไม่ค่อยถูกหลักอยู่นิดนึงตรงที่ ตัวรัดท่อน้ำทิ้งและท่อส้วม ผรม. เค้าใช้เหล็ก 9 มม. เจาะยึดกับพื้นไว้ แล้วเอาลวดมามัดติดกับท่ออีกทีหนึ่ง ผมถามหัวหน้าช่างว่า อ้าวอย่างนี้แล้วมันจะอยู่เหรอ หัวหน้าช่างบอกว่าก็ทำแบบนี้มาทุกหลัง ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย เราก็เลยนึกไปว่า อืม เขาก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้นนะ แต่พอมาลองคิดดู นานๆไป ลวดเป็นสนิมแล้วขาด ท่อน้ำทิ้งก็จะไม่มีที่ยึด ถึงจะมีปูนที่ยึดบริเวณรอบปากท่อน้ำทิ้งหรือท่อส้วมอยู่ แต่แรงสั่นสะเทือนของน้ำที่ไหล โดยเฉพาะแรงจากน้ำชักโครก ก็มีโอกาสทำให้ปูนที่ยึดรอบท่อนั้นเกิดรอยแยกหรือไม่ชิดติดกับท่อ pvc. ทำให้เกิดน้ำรั่วซึมลงบนฝ้าได้ ซึ่งบ้านส่วนใหญ่ก็มักเจอปัญหานี้เมื่ออยู่อาศัยไปนานๆ ซึ่งจริงๆควรใช้ตัวรัดท่อแบบที่เขามีขายกัน ซึ่งจะมั่นคงแข็งแรงกว่านี้มาก ผมเองแอบเสียใจอยู่ ที่ไม่ได้บอกให้ ผรม.แก้ไขในส่วนนี้ มานึกเอาได้ทีหลังหลังจากดูรูป และเขาปิดฝ้าไปหมดแล้ว....บ้านไม่ใช่จะอยู่ไป 5 ปี 10 ปี

 

ไม้แบบชิ้นนี้ก็เป็นปัญหาในภายหลัง เพราะช่างที่ทำท่อน้ำทิ้งไม่เอาออก เราก็คิดว่าเดี๋ยวช่างฝ้า พอจะปิดแผ่น เดี๋ยวก็เอาออก แต่พอปิดแผ่นฝ้าไปแล้ว ถามช่างฝ้าดู ปรากฏบอกว่าไม่เห็นมีแล้วไม่เคยเอาไม้อะไรออก ผมก็เลยบอกให้ถอดแผ่นฝ้าออก แล้วให้เช็คดูใหม่ ปรากฏว่าเจอ สรุปได้ความว่า ช่างแต่ละคนแต่ละแผนกมันจะไม่สนใจถ้าไม่ใช่งานมัน เราต้องดูและสังเกตุเอาเอง ส่วน ผรม.หลัก ก็ไม่เคยมามองในส่วนรายละเอียดหรอก คิดแต่ว่า จะเอางานไหนเข้าก่อนหลัง ปัญหาแบบนี้เคยเจอมาแล้วกับบ้านโครงการ ที่พี่สาวซื้อที่กรุงเทพฯ คือมีปลวกขึ้นบ้าน ซึึ่งขึ้นอยู่บนฝ้า จ้างบริษัทกำจัดปลวกมาฉีด มาหาต้นตออยู่หลายครั้ง สรุป ช่างไม่เอาไม้แบบออกอยู่ 1 แผ่น  

 

 

 

 

 

ท่อส้วมที่ต่อเสร็จแล้ว และพับหัวไว้เพื่อป้องกันเศษปูนหล่นเข้าไปในท่อ

 

ท่อน้ำทิ้งที่พื้นในส่วนที่อาบน้ำ จะเห็นว่ามี 2 ท่อ ซึ่งเป็นเพราะจะมีกระจกกั้นเป็นส่วนที่อาบน้ำ กับส่วนนอกที่อาบน้ำ

 

ต่อท่อเข้าส่วนบ่อพัก ซึ่งอยู่ใต้พื้นบ้านที่ยกระดับไว้ สูงจากพื้นดินเดิม +1.4 ม.

 

 

 

 




 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2557    
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2557 16:18:20 น.
Counter : 22714 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

เมี่ยง42
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ขอแชร์ บล็อก กับเขาบ้าง
New Comments
Friends' blogs
[Add เมี่ยง42's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.