บอ อา นอ บาน บาน ไม้โท บ้าน
Group Blog
 
All Blogs
 
งานหล่อเคาน์เตอร์และท่อน้ำทิ้ง

  งานหล่อเคาน์เตอร์และงานท่อน้ำทิ้ง

มาถึงงานหล่อเคาน์เตอร์ในครัวและเคาน์เตอร์ในห้องน้ำ รวมถึงงานระบบน้ำทิ้งและน้ำประปา ตอนแรกคิดว่าจะทำเคาน์เตอร์ครัวปูน แล้วซื้อบานซิงค์สำเร็จรูปมาใส่ เพราะคิดว่ามั่นคงแข็งแรงดี จึงให้ ผรม. หล่อเคาน์เตอร์ครัว แต่ตอนหลังได้ให้ ผรม.ทุบทิ้งไป เดี๋ยวจะบอกเหตุผลให้ฟังอีกที ตอนนี้มาดูการหล่อเคาน์เตอร์กันก่อน

ก็เริ่มจากตั้งแบบ เสียบเหล็ก โดยการเจาะกำแพง แล้วก็เอาเหล็กเสียบเข้าไปธรรมดานี่แหละ ตอนแรกยังดูอยู่ว่ามันจะมั่นคงแข็งแรงดีหรือนี่ เพราะไหนจะต้องรับน้ำหนักตัวมันเอง แล้วก็ต้องรับน้ำหนักบรรทุก คือสิ่งของที่วางด้านบนอีก ซึ่งถ้าจะให้ถูกวิธีกว่านี้มันต้องหล่อเหมือนเอ็นทับหลังในแนวระดับเคาน์เตอร์ ซึ่งเราก็รู้อยู่แล้วว่าจะให้เคาน์เตอร์สูงเท่าไหร่ ซึ่งปกติก็ประมาณ 80 ซม.จากพื้น แล้วก็เสียบเหล็กโผล่ไว้ตอนเททับหลัง แต่ส่วนใหญ่ ผรม. ก็มักจะหาวิธีที่ง่ายและสะดวกกว่า และก็คิดว่ามันไม่พังง่ายๆหรอก เพราะคิดว่ามันใช้แผงอิฐด้านหน้าใช้เป็นตัวรับน้ำหนักช่วย เราก็เลยได้แต่ดู แต่ถ้าอย่างนี้เกิดเป็นผนังแบบอิฐมวลเบาล่ะ คงไม่แข็งแรงเป็นแน่

 

 

 

 

 

 

ช่องว่างตรงกลางบล็อกไว้สำหรับหลุมซิงค์ล้างจาน

 

ส่วนที่บล็อกไว้สำหรับเตาแก๊ส ซึ่งตอนแรกจะใช้เป็นเตาไฟฟ้า ซึ่งอ่านข้อดีข้อเสียจากในเว็บต่างๆดูแล้ว ก็ปลอดภัยดี แต่สรุปสุดท้ายคือ แม่บ้านไม่ถนัด กลัวใช้ไม่เป็น แล้วถ้ายิ่งเป็นแบบเตาแม่เหล็กไฟฟ้า Induction ด้วยแล้วละก็ ต้องเปลี่ยนชุดหม้อ กระทะกันใหม่หมดเลย เพราะมันต้องนำไฟฟ้า และก้นหม้อต้องเรียบแบน ก็เลยต้องลงเอยแบบเตาแก๊ส เบสิคสุดๆแล้ว

 

เมื่อเทเคาน์เตอร์กันเสร็จ ก็เป็นที่วางกระเป๋าของคนงานไปก่อน แต่มองดูดีๆเหมือนมันแอ่นๆ ยังไงไม่รู้ แต่ไม่ใช่เหตุผลที่บอกแต่แรกว่าให้ ผรม. ทุบทิ้ง เหตุผลจริงๆคือ ไปเดินดูชุดครัวตามที่ต่างๆ เพื่อจะหาบานซิงค์ที่สวยถูกใจ ทั้ง Homepro , Index , บุญถาวร กรุงเทพฯ ปรากฏ โอ้โฮไอ้ชุดครัวที่มันโชว์อยู่กันสวยๆทั้งนั้น แต่ก็ราคาเป็นแสน โดยเฉพาะถ้าบอกขนาดของห้องครัวไปด้วยยิ่งแพงไปใหญ่ แล้วก็สรุปไปถูกใจชุดบานแบบ High-gross ซึ่งก็ถามเค้าว่าจะสั่งเฉพาะบานมาใส่กับเคาน์เตอร์ที่เราเทไว้แล้วได้ไหม เขาบอกว่าไม่ได้ต้องสั่งทำกับเขาทั้งชุด ซึ่งลองเช็คดูแล้วน่าจะตกประมาณ 4 แสนเห็นจะได้ ก็กลับมาคิดอยู่หลายตลบ เลยลองไปเช็คราคากับร้านเฟอร์นิเจอร์ในตัวจังหวัดที่เขารับสั่งทำ เขาบอกรับทำได้แบบ High-gross แต่โครงสร้างต้องเป็นแบบไม้ปาติเคิล ก็เลยตกลงปลงใจ ทุบเคาน์เตอร์ที่หล่อไว้ทิ้ง เพื่อความสวยและความชอบ ความทนก็พอได้ถ้าไม่โดนน้ำ ราคาก็เหลือ 2 แสนกว่าๆๆๆ

 

ทีนี้ก็มาถึงเคาน์เตอร์ในห้องน้ำ ตรงกลางเค้าจะเอาอิฐมอญเป็นตัวกั้นปูนและเป็นตัวไว้รับก้นอ่างล้างหน้าด้วย ซึ่ง ผรม.ซึ่งเป็นสถาปนิกด้วย ได้ออกแบบไว้จะให้ใช้อ่างล้างหน้าแบบวางบนเคาน์เตอร์ลักษณะเป็นรูปวงรีๆ ซึ่งเราก็เห็นโอ ด้วย ทุกห้องก็จะใช้เหมือนกันหมด

 

ตั้งแบบผูกเหล็กเสร็จ ก็เทปูน

 

 

 

ภาพนี้จะเห็นรูที่พื้นที่เจาะไว้เป็นรูท่อส้วมที่ต่อกับชักโครก กับรูท่อน้ำประปาที่ขึ้นมาจากพื้นชั้นล่าง ซึ่งถ้าเป็นงานก่อสร้างแบบที่มีมาตรฐานเขาจะวางบล็อกรูท่อไว้ที่พื้น ตั้งแต่ตอนเทปูนพื้นห้องน้ำกันเลย แล้วก็จะใส่เหล็กเสริมกันร้าวรอบๆท่อด้วย ซึ่งระยะก็ต้องรู้แน่นอนว่าศูนย์กลางรูท่อส้วมอยู่ห่างจากผนังเท่าไหร่ เรียกว่าระยะและแนวต่างๆต้องแน่นอน ตั้งแต่ก่อนที่จะเทพื้น เขาจะตีเส้นแนว และวาดแบบกันลงพื้นไม้แบบกันเลย แต่ทำแบบนี้ก็พอรับได้ จะให้เขาทำแบบที่เรารู้มา ก็คงจะยากกันหน่อย

 

 

 

รูท่อน้ำทิ้งกับท่อส้วมที่เจาะไว้

 

ภาพนี้จะเห็นท่อน้ำทิ้งและท่อส้วม รวมทั้งท่อประปาจะอยู่ในบริเวณเดียวกันที่มุมห้อง ซึ่งจะต้องก่ออิฐทำเป็นช่อง shaft ปิดล้อมรอบท่ออีกทีหนึ่ง

 

ท่อน้ำทิ้ง ขนาด 2 นิ้ว จะต่อแบบมีข้อต่อดักกลิ่น ก่อนที่จะใส่ข้อต่อขยายเข้าท่อใหญ่ 3 นิ้ว ลงสู่ด้านล่าง แต่มีจุดที่รู้สึกไม่ค่อยถูกหลักอยู่นิดนึงตรงที่ ตัวรัดท่อน้ำทิ้งและท่อส้วม ผรม. เค้าใช้เหล็ก 9 มม. เจาะยึดกับพื้นไว้ แล้วเอาลวดมามัดติดกับท่ออีกทีหนึ่ง ผมถามหัวหน้าช่างว่า อ้าวอย่างนี้แล้วมันจะอยู่เหรอ หัวหน้าช่างบอกว่าก็ทำแบบนี้มาทุกหลัง ก็ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย เราก็เลยนึกไปว่า อืม เขาก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้นนะ แต่พอมาลองคิดดู นานๆไป ลวดเป็นสนิมแล้วขาด ท่อน้ำทิ้งก็จะไม่มีที่ยึด ถึงจะมีปูนที่ยึดบริเวณรอบปากท่อน้ำทิ้งหรือท่อส้วมอยู่ แต่แรงสั่นสะเทือนของน้ำที่ไหล โดยเฉพาะแรงจากน้ำชักโครก ก็มีโอกาสทำให้ปูนที่ยึดรอบท่อนั้นเกิดรอยแยกหรือไม่ชิดติดกับท่อ pvc. ทำให้เกิดน้ำรั่วซึมลงบนฝ้าได้ ซึ่งบ้านส่วนใหญ่ก็มักเจอปัญหานี้เมื่ออยู่อาศัยไปนานๆ ซึ่งจริงๆควรใช้ตัวรัดท่อแบบที่เขามีขายกัน ซึ่งจะมั่นคงแข็งแรงกว่านี้มาก ผมเองแอบเสียใจอยู่ ที่ไม่ได้บอกให้ ผรม.แก้ไขในส่วนนี้ มานึกเอาได้ทีหลังหลังจากดูรูป และเขาปิดฝ้าไปหมดแล้ว....บ้านไม่ใช่จะอยู่ไป 5 ปี 10 ปี

 

ไม้แบบชิ้นนี้ก็เป็นปัญหาในภายหลัง เพราะช่างที่ทำท่อน้ำทิ้งไม่เอาออก เราก็คิดว่าเดี๋ยวช่างฝ้า พอจะปิดแผ่น เดี๋ยวก็เอาออก แต่พอปิดแผ่นฝ้าไปแล้ว ถามช่างฝ้าดู ปรากฏบอกว่าไม่เห็นมีแล้วไม่เคยเอาไม้อะไรออก ผมก็เลยบอกให้ถอดแผ่นฝ้าออก แล้วให้เช็คดูใหม่ ปรากฏว่าเจอ สรุปได้ความว่า ช่างแต่ละคนแต่ละแผนกมันจะไม่สนใจถ้าไม่ใช่งานมัน เราต้องดูและสังเกตุเอาเอง ส่วน ผรม.หลัก ก็ไม่เคยมามองในส่วนรายละเอียดหรอก คิดแต่ว่า จะเอางานไหนเข้าก่อนหลัง ปัญหาแบบนี้เคยเจอมาแล้วกับบ้านโครงการ ที่พี่สาวซื้อที่กรุงเทพฯ คือมีปลวกขึ้นบ้าน ซึึ่งขึ้นอยู่บนฝ้า จ้างบริษัทกำจัดปลวกมาฉีด มาหาต้นตออยู่หลายครั้ง สรุป ช่างไม่เอาไม้แบบออกอยู่ 1 แผ่น  

 

 

 

 

 

ท่อส้วมที่ต่อเสร็จแล้ว และพับหัวไว้เพื่อป้องกันเศษปูนหล่นเข้าไปในท่อ

 

ท่อน้ำทิ้งที่พื้นในส่วนที่อาบน้ำ จะเห็นว่ามี 2 ท่อ ซึ่งเป็นเพราะจะมีกระจกกั้นเป็นส่วนที่อาบน้ำ กับส่วนนอกที่อาบน้ำ

 

ต่อท่อเข้าส่วนบ่อพัก ซึ่งอยู่ใต้พื้นบ้านที่ยกระดับไว้ สูงจากพื้นดินเดิม +1.4 ม.

 

 

 

 




Create Date : 06 พฤศจิกายน 2557
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2557 16:18:20 น. 2 comments
Counter : 22720 Pageviews.

 
ของผมหายี่ห้อชักโครกที่จะใช้ แล้วสั่งซื้อเลยครับ เอาแบบขยายท่อมาวัดระยะ คุยกับสถาปนิกเลยว่าจะวางท่อตรงไหนยังไง ทั้งน้ำดี น้ำเสีย ชักโครก เลยไม่ต้องมาเจาะรูภายหลัง


โดย: Agent Molder วันที่: 31 ธันวาคม 2557 เวลา:12:00:53 น.  

 
ดีครับ เตรียมการตั้งแต่เบื้องต้นก็ดีอย่างนี้


โดย: สมาชิกหมายเลข 884394 วันที่: 2 มกราคม 2558 เวลา:9:33:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เมี่ยง42
Location :
พิษณุโลก Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 9 คน [?]




ขอแชร์ บล็อก กับเขาบ้าง
New Comments
Friends' blogs
[Add เมี่ยง42's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.