4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 
แหกคุกบันลือโลก





เมื่อวันที่ 25 เมษายน ปี 2011 เกิดเหตุการณ์แหกคุกครั้งใหญ่ของโลกเลยก็ว่าได้ การแหกคุกครั้งนี้เป็นฝีมือของนักโทษจำนวนมากถึง 480 คน เลยทีเดียว และทั้งหมดไม่ใช่แค่นักโทษทั่วไป แต่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักรบตาลีบัน ซึ่งอันตรายอย่างยิ่ง (โดยเฉพาะกับชาติตะวันตก) ซึ่งถูกทหารอเมริกันจับในสงครามอัฟกานิสถานที่ต่อเนื่องมาแล้วหลายปี เหตุการณ์เกิดขึ้นเวลาราว ๆ ตีสี่ของวันที่ 25 เมษายน 2011 ที่เรือนจำซาโปซ่า ในเมืองกันดาหาร์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงสมัยตาลีบันปกครองอัฟกานิสถาน เมื่อผู้คุมจำนวนหนึ่งพบว่านักโทษจำนวนมากหลบหนีไป โดยใช้อุโมงค์ที่แอบขุดขึ้นมา จากการสอบสวนพบว่าพวกนักโทษน่าจะได้รับความช่วยเหลือจากผู้คุมบางคน


อุโมงค์หลบหนีที่คาดว่าใช้เวลาขุดกันนานกว่า 5 เดือนนั้นลึกลงไปจากผิวดิน 2 เมตร ยาวประมาณ 320 เมตร พวกนักโทษขุดอุโมงค์ลอดใต้ จุดตรวจของเจ้าหน้าที่เรือนจำ หอคอยและกำแพงเรือนจำกับเลเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวทั้งหมด ไปทะลุออกในบ้านหลังหนึ่งนอกเรือนจำ อุโมงค์นี้กว้างแค่พอคลานไปได้ทีละคน  มีการวางท่ออากาศเข้าไปในอุโมงค์ มีที่แขวนหลอดไฟ ซึ่งคาดว่าใช้ ในตอนที่แอบขุดอุโมงค์กัน 3 ปีก่อนหน้านี้ เรือนจำนี้ถูกโจมตีโดยนักรบตาลีบันเพื่อปล่อยนักโทษ มีนักโทษหนีออกไปได้ราว 1,200 คน ในจำนวนนั้นเป็นทหารตาลีบันราว 300 กว่าคน



เหตุการณ์ที่ว่านี้มีนักโทษหนีได้มากก็จริง แต่ย้อนไปในอดีต มีการแหกคุกที่ต้องจารึกไว้ว่าเป็นสุดยอดของการแหกคุก อัลคาทราซห่างจากเมืองซานฟรานซิสโกออกไปในทะเลบริเวณที่เป็นอ่าวชื่อเดียวกับตัวเมือง 2.4 กม. มีเกาะ ชื่อว่า อัลคาทราซ หรืออีกชื่อหนึ่งก็คือ The Rock เนื่องจากมันเป็นเกาะที่มีแต่หินเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง เดิมทีเดียวเกาะนี้ใช้เป็นที่ตั้งประภาคารสำหรับเรือที่แล่นผ่านเข้าออกในอ่าวซานฟรานซิสโก แต่ในราวกลางศตวรรษที่ 19 ในช่วงที่เกิดสงครามกลางเมืองขึ้นที่สหรัฐอเมริกา  ทางกองทัพใช้เกาะนี้เป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง จนกระทั่งปี ค.ศ. 1933 กองทัพจึงเลิกใช้ที่นั่นเป็นที่คุมขังนักโทษของกองทัพทั้งหมด แต่เนื่องจากอาคารเรือนจำต่าง ๆ ที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีทุกอย่าง ในปีต่อมาทางการจึงใช้มันเป็นเรือนจำสำหรับนักโทษทั่วไป


อัลคาทราซเป็นที่คุมขังนักโทษซึ่งก่อคดีอุกฉกรรจ์เป็นจำนวนมาก รวมทั้งมาเฟียชื่อดังก้องโลกอย่าง อัล คาโปน ด้วย อัลคาทราซได้ชื่อว่าเป็นคุกที่ไม่มีใครจะหลบหนีออกไปได้ ตลอดเวลาใช้งานเป็นเวลา 29 ปี ตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1934 มีความพยายามถึง 14 ครั้ง จากนักโทษ จำนวน 36 คน ที่พยายามหลบหนี มี 2 คนที่พยายาม ถึง 2 ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ 23 คนถูกจับได้ 6 คนถูกยิงตายระหว่างการหลบหนี  อีก 3 คนทางการรายงานว่าเสียชีวิตในทะเล แต่ก็ไม่เคยมีใครพบศพของพวกเขาแม้แต่คนเดียว

แฟรงค์ มอร์รีส นักโทษหมายเลข 1441 ผู้มีประวัติในการถูกจับมาตั้งแต่วัยเด็กและขึ้น ชื่อในเรื่องของความฉลาด จอห์น แองกลิน และ แคลเรนซ์ แองกลิน 2 พี่น้องผู้ถูกจับในข้อหาปล้นธนาคาร คือนักโทษ 3 คน ที่แหกคุกอัลคาทราซแล้วหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย แผนการหลบหนีของทั้ง 3 ทำไว้อย่างแยบยล กับอุปกรณ์ที่ดัดแปลงขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ คือพวกเขาพบว่าผนังคอนกรีตที่อยู่ขอบๆช่องลม ขนาด 6×9 นิ้ว ใต้อ่างล้างหน้าในห้องขังนั้นจะเปื่อยยุ่ยกว่าผนังส่วนอื่น พวกเขาจึงหาอุปกรณ์เท่าที่จะหาได้ในนั้น เช่น ช้อนโลหะ เหรียญ สว่านไฟฟ้าที่ทำจากมอเตอร์เครื่องดูดฝุ่น   เป็นเครื่องมือในการ เจาะผนังปูน พวกเขาทำฉากที่ลงสีให้คล้ายกับผนังจริงปิดบังไว้ เพื่อไม่ให้ผู้คุมเห็นร่องรอยของการเจาะ และแสงทึม ๆ ในห้องยังช่วยอำพรางไว้อีกชั้นหนึ่ง



เส้นทางการหลบหนีจะไปเจอช่องระบายอากาศที่เคยมีพัดลมขนาดใหญ่ขวางอยู่ แต่ภายหลังพัดลมถูกถอดออกแล้วใช้ตะแกรงเหล็กใส่ไว้แทน  พวกเขาแอบซ่อนหินเจียจากห้องช่างในชั่วโมงฝึกงาน เพื่อไปฝนให้หมุดโลหะที่ยึดตะแกรงเหล็กนั้นหลุดออกจากช่องคอนกรีต แล้วก็ใช้สบู่อุดรูให้ดูเหมือนกับหมุดยังอยู่ตามปกติ เสื้อกันฝนจำนวนมากถูกแอบขโมยไปเพื่อใช้ทำเป็นแพสำหรับข้ามทะเลไปหาฝั่ง และพวกเขายังทำหุ่นจากกระดาษมีรูปร่างเหมือนคนไว้หลอกผู้คุม โดยติดเส้นผมจริงที่แอบฉกมาจากห้องตัดผมในเรือนจำ หุ่นนั้นจะนอนห่มผ้าโผล่ออกมาให้เห็นแต่ศีรษะด้านหลังที่มีผมปลอมคลุมอยู่

แผนการหลบหนีได้รับการเปิดเผยต่อ FBI โดยอลัน เวสต์ นักโทษอีกคนที่พยายามหลบหนีไปพร้อมกัน แต่ไม่สำเร็จ เจ้าหน้าที่พบไม้อัดและเสื้อกันฝนที่ใช้ทำเป็นแพลอยไปติดอยู่ที่เกาะแองเจิล ซึ่งเป็นเกาะอีกเกาะหนึ่งในอ่าว  แต่ก็ไม่พบตัวนักโทษที่นั่นหรือที่ฝั่งของเมืองซานฟรานซิสโก แม้แต่คนเดียว ทางการจึงสรุปว่า ทั้ง 3 เสียชีวิตจากการจมน้ำที่เย็นจัดขณะพยายามหลบหนีไปขึ้นฝั่ง แต่ผู้ที่สนใจติดตามข่าวนี้จำนวนมากเชื่อว่าทั้ง 3 รอดชีวิตไปได้อย่างแน่นอน

เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการจัดการเรือนจำแห่งนี้สูงมาก ทำให้รัฐบาลตัดสินใจเลิกใช้เป็นเรือนจำใน ค.ศ. 1963 และเปิดเป็นศูนย์ฝึกอบรมอาชีพให้กับคนพื้นเมืองอเมริกัน ใน ค.ศ. 1969 จนถึง 1971 ศูนย์นั้นก็ปิดไป ปีต่อมาเกาะอัลคาทราซถูกยกโอนเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์



# การหลบหนีครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Escape)

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารพันธมิตรจำนวนมากถูกจับเป็นเชลยโดยฝ่ายเยอรมัน เชลยจำนวนหนึ่งถูกจับไปรวมกันไว้ที่ค่ายกักกันชื่อ Stalag Luft III ซึ่งเป็นค่ายที่มีการคุ้มกันที่แน่นหนามากที่สุดค่ายหนึ่ง ระหว่างเดือนมีนาคม ค.ศ. 1843 ถึงเดือนเมษายนปีถัดไป เชลยจำนวนกว่า 600 ชีวิตร่วมมือกันวางแผนเพื่อหลบหนีจากค่ายดังกล่าว ตามแผนนั้น พวกเขาต้องขุดอุโมงค์ถึง 3 อุโมงค์ เพื่อเป็นเส้นทางหลบหนี

ความคิดในการหลบหนีเริ่มต้นที่นาวาอากาศตรี โรเจอร์ บูเชล นายทหารจากกองทัพอากาศของสหราชอาณาจักร ผู้ที่ถูกจับได้หลายครั้งแล้วจากการพยายามหลบหนีจากค่ายกักกันอื่นๆก่อนหน้านี้ เขานำความคิดดังกล่าวไปหารือกับเพื่อนเชลยด้วยกัน ตอนแรกไม่มีใครเห็นด้วย แต่ต่อมาทุกคนก็ร่วมแรงร่วมใจกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้แผนการนั้นเดินหน้าไปจนถึงที่สุด และจัดตั้งคณะทำงานเพื่อการหลบหนีขึ้นมา



แผนการที่ว่านั้นประกอบไปด้วยการขุดอุโมงค์ 3 อุโมงค์ นอกจากนั้นก็แบ่งคณะทำงานอีกกลุ่มหนึ่ง มีหน้าที่ทำเอกสารปลอม กับตัดเสื้อผ้าแบบพลเรือนที่จะใส่เวลาหลบหนีออกจากค่ายไปได้ ในส่วนของอุโมงค์นั้น เดิมตั้งเป้าไว้ว่าจะให้เชลยจำนวนสิบกว่าถึงยี่สิบคนเท่านั้นหลบหนีออกไปได้ แต่ตัวบูเชลเองต้องการมากถึง 200 อุโมงค์ ทั้ง 3 มีรหัสว่า ทอม, ดิ๊ก, แฮรี่ (Tom, Dick, Harry) แต่ทั้งหมดนั้น มีเพียงแฮรี่ที่ขุดไว้ใต้เตาไฟเท่านั้นที่ขุดสำเร็จ ปัญหาใหญ่ที่ต้องจัดการมี 2 ข้อคือ จะเอาดินจากการขุดไปทิ้งที่ไหน อย่างไร กับจะป้องกันไม่ให้อุโมงค์ถล่มลงมาได้อย่างไร



อุโมงค์นั้นลึกถึง 9 เมตร กว้างแค่ 60×60 ซม. เท่านั้น ดินและทรายที่เกิดจากการขุดจะถูกนำไปทิ้งโดยหลายวิธี เช่น การทิ้งแบบ เพนกวิน คือเอาดินใส่ในถุงเท้าเก่าแล้วผูกไว้ข้างขาที่สวมกางเกงขายาวทับอยู่บ้าง เอาซ่อนไว้ในเสื้อโดยห้อยไว้ที่คอบ้าง เมื่อคนนั้นเดินไปกลางลานในค่ายก็จะดึงเชือกที่ผูกปากถุงเท้านั้นให้ดินไหลออกไปบนลานแล้วใช้เท้าเกลี่ยให้กลืนไปกับดินที่ลาน อีกวิธีเรียกว่า กาชาด คือการเอาดินใส่ในกระป๋องนมเปล่าที่มีเครื่องหมายกาชาด ผู้ที่ีถือกระป๋องนี้จะเดินเข้าไปในกลุ่มเชลยด้วยกันที่ทำหน้าที่บังสายตาพวกเยอรมัน เมื่อได้โอกาสก็จะเทดินทิ้ง อีกวิธีหนึ่งคือ ในเวลาทำสวนก็แอบเอาดินไปทิ้งตามแปลงดอกไม้ในค่าย ปริมาณดินที่พวกเขาขุดออกมานั้น มีน้ำหนักรวมแล้วไม่น้อยกว่า 100 ตันเลยทีเดียว

อีกปัญหาหนึ่งที่ยากไม่แพ้กันคือ ทำอย่างไรไม่ให้อุโมงค์ถล่ม พวกเขาแก้ปัญหานี้โดยการหาแผ่นไม้มาค้ำ ซึ่งไม้ส่วนใหญ่ได้มาจากเตียงนอนของ พวกเขานั่นเอง  เตียงปกติจะมีแผ่นไม้จำนวน  20 แผ่นรองอยู่ แต่หลังจากอุโมงค์ขุดไปไกลขึ้นเรื่อยๆ แต่ละเตียงจะเหลือแผ่นไม้เพียงห้าหกแผ่นเท่านั้น  นอกจากนั้น เพื่อให้คนขุดมีอากาศหายใจ พวกเชลยก็สร้างปั๊มลมขึ้นมาจากกระป๋องนม ไม้จากเตียง ไม้ฮอกกี้ และกระสอบ เพื่อให้ การลำเลียงดินที่ขุดออกมานำไปทิ้งได้เร็ว พวกเชลยก็สร้างล้อเลื่อนเล็ก ๆ ไว้ในนั้นเพื่อขนถ่ายดินด้วย  ส่วนไฟฟ้านั้นแอบต่อเข้ากับสายเมนของค่ายที่พวกเยอรมันตรวจไม่พบ



อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าฝ่ายเยอรมันจะซื่อบื้อถึงขนาดไม่รู้อะไรเลย พวกเขาก็สงสัย แต่ตรวจไม่พบหลักฐานใดๆ เชลยซึ่งเป็นที่สงสัยจำนวน 19 คน ถูกย้าย ไปที่ค่ายอื่น ในจำนวนนั้นมี 6 คน ที่เป็นเรี่ยวแรงสำคัญของแผนการหลบหนี ต่อมาอุโมงค์ ดิ็ค (Dick) ต้องถูกยกเลิกการขุด เพราะฝ่ายเยอรมันขยายพื้นที่ของค่ายออกไปถึงจุดที่กะไว้ว่าจะเป็นปลายอุโมงค์ อุโมงค์นี้จึงใช้เป็นที่ทิ้งดินจากหลุมอื่นกับใช้เป็นที่ซ่อนเครื่องมือและข้าวของเครื่องใช้ที่เตรียมไว้ยามหลบหนีออกไป

ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1943 อุโมงค์ทอม (Tom) ก็ถูกเยอรมันตรวจพบ เนื่องจากพวกเขาแอบมองจากในป่านอกค่าย เห็นพวกเพนกวินนำดินออกจากเรือนพักหลังหนึ่งออกไปทิ้ง การพบอุโมงค์ครั้งนั้น ทำให้การขุดอุโมงค์แฮร์รี่ (Harry) ต้องหยุดไปด้วยเพื่อความปลอดภัย จนกระทั่งเดือนมกราคมปีต่อมาการขุดจึงเริ่มขึ้นอีกครั้งและไปแล้วเสร็จเอาในอีก 2 เดือนต่อมา



ตามแผนการหลบหนีที่วางกันไว้ พวกเชลยจะหนีออกจากค่ายเมื่อเข้าฤดูร้อน แต่กำหนดการก็เร่งขึ้นมา เมื่อเกสตาโปสั่งให้ผู้บัญชาการค่ายกักกันตรวจตราอย่างหนักเพื่อป้องกันการหลบหนีของเชลย นาวาอากาศตรีบูเชลในฐานะหัวหน้าจึงตัดสินใจว่าจะหลบหนีทันทีเมื่ออุโมงค์แฮร์รี่ (Harry) ขุดสำเร็จ ซึ่งในจำนวนเชลยที่ร่วมมือกันทั้งหมดราว 600 คนนั้น มีเพียง 200 คนที่จะได้หนีไปในครั้งนี้ พวกเขาแบ่งผู้จะหนีเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่มีโอกาสรอดสูง คือพูดภาษาเยอรมันได้ และมีที่ไปที่ชัดเจน กับอีกกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการถูกจับสูง เพราะพูดเยอรมันได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย

การหลบหนีเลือกเอาคืนวันศุกร์ที่ 24 มีนาคม เป็นคืนเดือนมืด ผู้ที่เตรียมตัวจะหนีก็ทยอยไปที่เรือนนอนหมายเลข 104 ซึ่งทางเข้าอุโมงค์อยู่ในนั้น แต่โชคก็ไม่เข้าข้างนัก เมื่อพบว่าปลายอุโมงค์โผล่ขึ้นท่ามกลางต้นไม้ในป่าก็จริง แต่ป่าบริเวณนั้นมีต้นไม้ค่อนข้างห่าง แถมยังห่างจากหอคอยของค่ายไปแค่สิบกว่าเมตร จึงทำให้ ถูกตรวจพบได้ง่ายมาก และปากทางออกอุโมงค์ซึ่งทำบานปิดเปิดไว้นั้น ถูกน้ำแข็งจับตัวแน่นจนเปิดไม่ได้ ต้องเสียเวลาไปอีกกว่าชั่วโมงครึ่ง พื้นดินที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ ทำให้เกิดร่องรอยชัดเจน ดังนั้น จากเดิมที่กะกันไว้ว่าเชลย 1 คน ใช้เวลา 1 นาที ในการออกจากอุโมงค์ กลายเป็นแค่สิบกว่าคนต่อชั่วโมง พวกเขาจึงบอกกันว่าคงไปกัน ได้ไม่เกิน 100 คน ก่อนพระอาทิตย์จะขึ้น พวกที่รู้ตัวว่าหมดโอกาสในคืนนั้นแน่นอนก็เปลี่ยนชุดกลับไปเป็นชุดเดิมแล้วกลับไปนอนตามที่ของตน เหตุการณ์แย่ลงไปอีกเมื่อสัญญาณเตือนภัยทางอากาศดังขึ้นเมื่อราวเที่ยงคืน ทำให้ค่ายต้องปิดไฟจนมืดสนิท ทหารยามก็ส่องไฟกันมากขึ้นในช่วงนั้น ทำให้ต้องหยุดการหลบหนีไว้ช่วงหนึ่ง แต่แล้วเมื่อเวลาตีหนึ่ง อุโมงค์เกิดถล่มลงมาจุดหนึ่ง ทำให้ต้องเสียเวลาซ่อมแซมกันอีก



ท้ายสุดเมื่อเวลาก่อนตีห้าเล็กน้อย เชลยจำนวน 76 คน หลบหนีออกไปได้ แต่คนที่ 77 ซึ่งเป็นนาย ทหารอากาศของนิวซีแลนด์ ถูกยามคนหนึ่งมองเห็น เขาจึงยกมือขึ้นเพื่อยอมให้จับ และเปิดโอกาสให้คนอื่นๆหนีเข้าป่าไป พวกทหารเยอรมันยังไม่ทราบว่าพวกเชลยออกมาทางไหน จึงไม่ได้พยายามจะหาทางออก แต่ส่งทหารเข้าไปตรวจตามเรือนนอนต่าง ๆ เรือนนอนหมายเลข 104 เป็นหลังท้ายๆที่ทหารเข้าไปตรวจพร้อมกับสุนัข ซึ่งอุโมงค์ก็ถูกพบในเวลานั้น การหลบหนีของเชลย แม้ว่าจะหลุดออกมาจากค่ายกักกันแล้ว แต่ปัญหาใหม่ที่แทบทุกคนเจอคือ หาทางไปสถานีรถไฟไม่ถูก ต้องรอจนกระทั่งฟ้าสาง ประจวบกับขณะนั้นเป็นฤดูหนาวที่หิมะตกหนัก และหนามาก

ในจำนวนที่หนีออกจากค่ายไปได้ 76 คน หนีรอดกลับไปอังกฤษได้เพียง 3 คน ถูกจับกลับไปถึง 73 คน แต่ในจำนวนนั้นมีเพียง 23 คนเท่านั้นที่มีชีวิตอยู่ อีก 50 คน (รวมทั้งนาวาอากาศตรีโรเจอร์ บูเชล) ถูกสั่งให้สังหารโดยฮิตเลอร์เอง ไม่เพียงแต่เชลยเท่านั้นที่ถูกฆ่า สถาปนิกผู้ออกแบบค่าย ทหารยามในคืนนั้น อีกทั้งคนงานเยอรมันที่ปล่อยให้เชลยแอบต่อไฟฟ้าใช้ก็ถูกประหารชีวิตด้วย


ทีมงานนิตยสารต่วย'ตูน








Create Date : 18 ตุลาคม 2557
Last Update : 18 ตุลาคม 2557 14:19:19 น. 0 comments
Counter : 604 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.