4 | | | ตำนานอาถรรพ์ อาชญากรโลกไม่ลืม ฆาตกรรมบันลือโลก ประวัติศาสตร์ทั่วมุมโลก | | |

Group Blog
 
All blogs
 
8 ที่อยู่ของคนตาย ที่กลายมาเป็นที่เที่ยวของคนเป็น (ตอนที่ 2)

 อันดับที่ 5 สุสานนายพลต้วน ดอยแม่สลอง 

เหนือระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลขึ้นไป ประมาณ 1,300 ม. ของยอดดอยแม่สลอง ที่นี่ในอดีตเคยเป็นแหล่งรวมพลของกองกำลังทหารจีนกองพล 93 ประมาณ 15,000 คน สังกัดพรรคก๊กมินตั๋งของนายพลเจียงไคเช็ค ภายใต้การนำของนายพลต้วนซีเหวิน ในยุคนั้นเส้นทางบนดอยแม่สลองเปรียบเหมือนเส้นทางร้าง ไม่มีผู้คนกล้าสัญจรไปมา เต็มไปด้วยฝิ่น ยาเสพติด และกองกำลังติดอาวุธของกองโจรคอมมิวนิสต์ ในปี 2512 อดีตทหารจีนคณะชาติกลุ่มนี้ได้อาสาเข้าร่วมกับทหารไทยสู้รบกับคอมมิวนิสต์และผู้มีความคิดทางการเมืองที่แตกต่าง ณ บริเวณดอยหลวง ดอยยาว ดอยผาหม่น จนได้รับชัยชนะ และหลังเหตุการณ์สงบ รัฐบาลไทยจึงมีมติรับทหารจีนคณะชาติให้อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2515


นายพลต้วนซีเหวิน หรือ นายพลต้วน เป็นผู้นำทัพที่ 5 กองพล 93 ถือเป็นบุคคลสำคัญของชาวจีนที่นี่ ท่านเป็นผู้ก่อตั้งชุมชนชาวจีนแม่สลอง พัฒนาพื้นที่ให้ชาวบ้านมีความกินดีอยู่ดี จนกลายมาเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของเชียงราย ต่อมาในปี 2523 เมื่อนายพลได้เสียชีวิตลง จึงได้มีการจัดทำ “สุสานนายพล ต้วน ซี เหวิน” ขึ้นมาเพื่อให้ท่านได้พักผ่อนนิรันดร์ ณ สถานที่แห่งนี้ ซึ่งชาวจีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จำนวนมากที่เคารพรักในคุณงามความดีของนายพลต้วน ได้เดินทางมาสักการะสุสานท่านนายพลกันตลอดทั้งปี

ปัจจุบัน สุสาน นายพล ต้วน ซี เหวิน แห่งนี้ ได้กลายเป็น Land Mark ที่สำคัญอีกแห่งของดอยแม่สลอง เพราะนอกจากจะได้มาเยี่ยมชมร่องรอยหมู่บ้านเก่า สมัยสงครามกองโจรคอมมิวนิสต์ พร้อม สักการะสุสานท่านนายพลแล้ว ที่นี่จัดเป็นจุดชมวิวทัศนียภาพของหมู่บ้าน สันติคีรีที่อยู่ในหุบเขาด้านล่างที่สวยงามที่สุด ทั้งยังเป็นอีก 1 จุดท่องเที่ยวที่สามารถชม “ดอกนางพญาเสือโคร่ง” หรือ “ซากุระเมืองไทย” ที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง ของดอยแม่สลองอีกด้วย


 อันดับที่ 6 พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ คุ้มเจ้าหลวง 

 

พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ “คุ้มเจ้าหลวง” สร้างขึ้นก่อนสมัยเงี้ยวปล้นเมืองแพร่ประมาณ 100 ปี ราว พ.ศ. 2435 เดิมเคยเป็นบ้านของเจ้าผู้ครองเมืองแพร่องค์สุดท้าย (เจ้าพิริยเทพวงศ์อุดรฯ หรือพระยาพิริยวิไชย) ตัวบ้านเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 5 ยุคต้น คือ ไทยผสมยุโรป หรือทรงขนมปังขิง ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น หลังคามุงด้วยไม้เรียกว่า “ไม้แป้นเกล็ด” ไม่มีหน้าจั่ว เป็นแบบหลังคาเรือนปั้นหยา มีมุขสี่เหลี่ยมยื่นออกมาด้านหน้าของตัวอาคาร หลังคามุขมีรูปทรงสามเหลี่ยม ทั้งปั้นลมและชายคาน้ำรอบตัวอาคารประดับด้วยไม้แกะฉลุสลักลวดลายอย่างสวยงามซึ่งเป็นฝีมือช่างชาวจีนที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น

ภายในตัวบ้านประกอบไปด้วยห้องต่าง ๆ และบริเวณใต้ถุนอาคารเป็นห้องสำหรับคุมขังทาสบริวารที่กระทำความผิด ตัวห้องขังแบ่งเป็น 3 ห้อง คือ ห้องจำโทษเบา 2 ห้อง แยกหญิงและชาย และห้องจำโทษหนัก อยู่ตรงกลางไม่มีแสงสว่างเล็ดลอดเข้าไป ใช้เป็นที่คุมขังผู้ที่มีโทษร้ายแรง นักโทษที่โดนจองจำจะโดนล่ามด้วยโซ่ตรวน พร้อมโดนลงโทษด้วยวิธีโบราณ บางคนทนไม่ได้เสียชีวิตไปในที่คุมขังก็มี ทำให้ที่นี่มีเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับวิญญาณที่สิงสถิตมาจนถึงปัจจุบัน

ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์เมืองแพร่ “คุ้มเจ้าหลวง” ได้กลายเป็นสถานที่ศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ และได้รับประกาศจากจังหวัดแพร่ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของจังหวัดแพร่ โดย เปิดให้เข้าชมฟรีทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 -16.30 น. แม้อายุของตัวบ้านจะมีอายุเก่าแก่กว่า 100 ปี แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ได้เข้ามาปรับปรุงทั้งภายในและภายนอกจนมีความแข็งแรง และสามารถจัดแสดงเรื่องราวความเป็นไปของชาวแพร่ในอดีตได้ โดยเฉพาะไฮไลท์ในส่วนของ “คุก” ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวไม่น้อยไปกว่าการมาชื่นชมสถาปัตยกรรมของบ้านโบราณเลย ทำให้ที่นี่เป็นอีก 1 ที่ ที่คนเป็นและคนตายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว




 อันดับที่ 7 สวนรมณีนาถ 

 

ก่อนที่จะเป็น “สวนรมณีนาถ” สวนสาธารณะที่คนละแวกวังบูรพา คลองถม ปากคลองตลาด ได้ใช้ประโยชน์เป็นสถานที่พักผ่อน ออกกำลังกายและหย่อนใจในช่วงเวลาว่างนั้น สถานที่แห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของ “คุกเก่า” หรือ “เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” มาก่อน โดยคุกแห่งนี้ได้ก่อสร้างขึ้นเมื่อ ร.ศ. 108 (พ.ศ. 2433) ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่ทรงเห็นว่า ที่ต้องขังจองจำผู้กระทำความผิดต้องควบคู่ไปกับศาลสถิตยุติธรรม จึงพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้จัดซื้อที่ดินมาทำการก่อสร้าง โดยทรงส่งพระยาไชยวิชิตสิทธิศาสตรา (นาค ณ ป้อมเพชร) ซึ่งเคยไปรับราชการสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ไปดูรูปแบบคุกที่สิงคโปร์ แล้วนำมาเป็นต้นแบบ ทำให้คุกแห่งนี้เป็นแบบเรือนจำ Brixton อันเป็นเรือนจำระดับความมั่นคงสูงสุด และเมื่อสร้างเสร็จได้ดำเนินการย้ายนักโทษเข้าไปอยู่ เมื่อเดือน กุมภาพันธ์ ร.ศ. 109 (พ.ศ. 2434) และได้รับการขนานนามใหม่ว่า “คุกกองมหันต์โทษ” หรือเรียกกันว่า “คุกใหม่” ( ณ ขณะนั้น) และได้ใช้เป็นสถานที่คุมขังนักโทษเรื่อยมา มีการเปลี่ยนชื่อหลายครั้ง จนสุดท้ายใช้ชื่อว่า “เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร” (แต่คนส่วนมากรู้จักและเรียกว่าคุกคลองเปรม) ภายใต้บรรยากาศทึบ กำแพงสูง ประตูเหล็กแน่นหนา ดินแดนแห่งนี้เคยพันธนาการนักโทษหลายร้อยหลายพันชีวิต พวกเขาเหล่านั้นบ้างถูกจองจำขาดซึ่งอิสรภาพ บ้างนำลมหายใจมาทิ้งที่นี่ ทั้งจากการทรมาน และประหารชีวิต ไม่มีใครรู้ว่าปัจจุบันวิญญาณอดีตนักโทษเหล่านั้นสุขหรือทุกข์อยู่แห่งใด แต่ที่นี่ก็ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่รวมเอา ความเศร้า ความตาย และวิญญาณมาอยู่รวมกัน

ในปี พ.ศ. 2534 คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการปรับปรุงทัณฑสถานวัยหนุ่มบางเขน หรือ “เรือนจำกลางคลองเปรม” และได้ย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครมาควบคุมรวมกัน จึงได้มีการเปลี่ยนที่นี่ให้กลายเป็นสวนสาธารณะ โดยมีชื่อว่า “สวนรมณีนาถ” ภายในบริเวณ นอกจากจะมีการปรับปรุงพื้นที่เป็นสวนสาธารณะแล้ว พื้นที่บางส่วนของ “คุกเก่า” ก็ได้ดัดแปลงเป็น “พิพิธภัณฑ์ราชทัณฑ์” สำหรับจัดแสดงประวัติความเป็นมาของการราชทัณฑ์ในประเทศไทยให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษา ประกอบไปด้วย อาคาร 4 หลัง แต่ล่ะหลังก็มีความน่าสนใจแตกต่างกันไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาคารศาลอาญา ที่นี่ได้จัดแสดงเครื่องมือลงทัณฑ์ และวิธีประหารชีวิตตั้งแต่สมัยโบราณจวบจนปัจจุบัน มีการแสดงอุปกรณ์เกี่ยวกับเรือนจำและการหลบหนีของนักโทษ และมีการแสดงอาคารแดน 9 ซึ่งเป็นเรือนนอนผู้ต้องขังในอดีต แสดงสภาพการใช้ชีวิตประจำวันของนักโทษ อีกด้วย

ปัจจุบันสวนรมณีนาถ ได้บอกลาภาพความทรงจำเลวร้ายและความน่ากลัวในสมัยที่เป็นคุกเก่าไปจนหมดสิ้น บรรดาผู้คนในพื้นที่ใกล้เคียงได้อาศัยสถานที่แห่งนี้ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว พักผ่อน ออกกำลังกาย จนกลายเป็นอีก 1 ปอดกรุงเทพที่มีความสำคัญ แต่กระนั้นร่องรอยแห่งความตายและการทรมานในพิพิธภัณฑ์ก็ยังสามารถเตือนใจทุกผู้คนให้กอปรแต่กรรมดี เพื่อจะได้ไม่ต้องทรมานเช่นนักโทษในอดีต เป็นอีก 1 สถานที่ของคนตายในอดีตที่กลายเป็นของคนเป็นไปแล้วอย่างสมบูรณ์



 อันดับที่ 8 สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก 

 

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ทุกพื้นที่ที่เส้นทางแห่งสงครามพาดผ่านได้ทิ้งเศษซากความเสียหายไว้ให้จดจำความเลวร้ายของเหตุการณ์อยู่นับไม่ถ้วน ทั้งซากความเสียหายของเมือง ไปจนถึงการสูญเสียอย่างไม่มีวันกลับของเหล่าทหารกล้าของทั้ง 2 ฝ่าย และ สุสานทหารสัมพันธมิตรดอนรัก (สุสานดอนรัก หรือ สุสานสหประชาชาติ หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ป่าช้าฝรั่ง) ก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ ที่ยังคงจารึกร่องรอยความเลวร้ายและการสูญเสียในยุคสมัยสงครามได้เป็นอย่างดี 6,982 ชีวิตของทหารเชลยศึกเมื่อครั้งสร้างทางรถไฟสายมรณะ ได้ถูกบรรจุลง ณ หลุมฝังศพแห่งนี้ คงเหลือไว้แค่เพียงความความเศร้าสลดของทายาทที่เหลืออยู่พร้อมเรื่องราว ความยากแค้นในช่วงสงครามที่บอกเล่าสืบต่อกันมา จวบจนปัจจุบัน

บัดนี้นักท่องเที่ยวผู้รักการเดินทางทางรถไฟ และชอบใจในบรรยากาศของกาญจนบุรี คงไม่มีใครไม่รู้จักที่นี่ กับจุดแวะพักชมวิวที่สวยงามอีกแห่ง ของ จังหวัดกาญจนบุรี กินอาณาบริเวณกว้างถึง 17 ไร่ ตัวสุสานถูกโอบล้อมไปด้วยต้นหญ้าเขียวขจี บริเวณหลุมฝังศพทุกหลุม จะมีแผ่นป้ายทองเหลืองจารึก ชื่อ อายุ และประเทศของผู้เสียชีวิต และในบรรทัดสุดท้าย จะเป็นคำไว้อาลัยที่โศกเศร้า นอกจากนี้ทุกปี ที่นี่ยังได้มีการจัดงานวันที่รำลึกถึงผู้เสียชีวิตเฉพาะของคนชาติต่าง ๆ ขึ้นอีกด้วย




ขอบคุณที่มา: //www.painaidii.com/diary/diary-detail/001116/lang/th/








Create Date : 09 สิงหาคม 2557
Last Update : 9 สิงหาคม 2557 10:08:34 น. 0 comments
Counter : 2986 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

hathairat2011
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]










Google

ขอบคุณที่แวะมา
อย่าลืมคอมเม้นท์นะจ้ะ

Flag Counter

ส่งอีเมล์

Facebook ของ Hathairat



New Comments
Friends' blogs
[Add hathairat2011's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.