กลไกการทำงานในการออกแบบป้อมและกำแพงเมืองของเมืองกำแพงเพชร



ข้อมูลในบล็อกตอนนี้ได้ทำการอ่านและนำรูปประกอบมาจาก https://writer.dek-d.com/som_him/story/view.php?id=1308839 เนื่องจากผู้เขียนเพิ่งเดินทางไปเมืองศรีสัชนาลัยและสนใจการวางผังของการจัดการป้องกันเมืองของเมืองศรีสัชนาลัยอย่างมากจึงได้ทำการหาข้อมูลเพื่อทำความเข้าใจมาเจอเอารายงานของน้องนักเรียนกลุ่มหนึ่งซึ่งได้ข้อมูลการป้องกันเมืองมาจากนักโบราณคดีผู้เขียนจึงนำข้อมูลดังกล่าวพร้อมภาพประกอบบางส่วนมาเรียบเรียงใหม่เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์เมืองศรีสัชนาลัยต่อ

เมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองที่ทางอาณาจักรอยุธยาสร้างขึ้นใหม่โดยสร้างฝั่งตรงข้ามกับเมืองเก่าของแคว้นสุโขทัยคือเมืองนครชุมเมืองกำแพงเพชรเป็นเมืองที่มีการออกแบบเป็นป้อมปราการที่ทันสมัยและมีบทบาทในสงครามหลายครั้งเช่นครั้งที่พระไชยราชาจะยกทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ปรากฏว่าพระยานารายเจ้าเมืองกำแพงเพชรคิดเป็นกบฏพระองค์จึงต้องจับประหารเสียก่อนเนื่องจากเมืองกำแพงเพชรต้องเป็นเมืองที่ส่งกำลังบำรุงยามที่เปิดศึกไปยังหัวเมืองล้านนาหรือก่อนที่จะเกิดสงครามนันทบุเรงพระมหาอุปราชแห่งหงษาก็ต้องมาทำนาอยู่ที่กำแพงเพชรเพื่อส่งกำลังมาตีกรุงศรี

เมืองกำแพงเพชรมีความสำคัญเป็นอย่างมากเกิดจากหลายปัจจัยเช่นเป็นเมืองที่ควบคุมแม่น้ำปิง เป็นเมืองที่เหมาะกับการทำนาเป็นต้น ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งคือยุทธศาสตร์การป้องกันเมืองของกำแพงเพชรอันเป็นเมืองป้อมที่เข้มแข็งมากแห่งหนึ่ง
สภาพทางภูมิศาสตร์

กำแพงเพชรนั้นตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิงโดยตั้งตรงกันข้ามกับเมืองนครชุมอันเป็นเมืองเดิมของแคว้นสุโขทัยมีแม่น้ำปิงที่กว้างขวางวางตัวเป็นคูเมืองได้ในระดับหนึ่งแต่ในสภาพที่เป็นทีราบไม่มีภูเขาช่วยล้อมหรือปิดกั้นย่อมทำให้ขาดปราการธรรมชาติในการป้องกันตัวดังนั้นหากวิเคราะห์ทางชัยภูมิกล่าวได้ว่าธรรมชาติไม่ได้ช่วยให้กำแพงเพชรมีกำแพงอันแข็งแกร่งเท่าใดนักแต่ความโชคดีของกำแพงเพชรคือการมีสินทรัพย์ใต้ดินนั่นคือศิลาแลงชาวกำแพงเพชรในยุคนั้นจึงได้นำศิลาแลงเหล่านั้นมาสร้างกำแพงเมืองอันเข้มแข็งที่เรียกว่ากำแพงเพชรขึ้นมา 


ฟังก์ชั่นและการทำงานของกำแพงเมือง

กำแพงเมืองของกำแพงเพชรนั้นออกแบบมาสำหรับรับสงครามป้อมค่ายประชิดโดยเฉพาะโดยกำแพงเมืองออกแบบมาให้มีเชิงเทินที่กว้างขวางสำหรัยให้ทหารยืนและตั้งปืนใหญ่ได้ปืนใหญ่ในสมัยนั่นเมื่อยิงแล้วจะเลื่อนถอยหลังระยะความกว้างของเชิงเทิงจึงกลายเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของปืนใหญ่ที่ยกมาตั้งยิงหากระยะเชิงเทินยิ่งยาวยิ่งใช้ปืนใหญ่อานุภาพสูงได้


ใบเสมาใช้เป็นที่หลบกำบังของทหารประจำป้อมโดยทหารจะยืนหลบกระสุนปืนของทหารฝ่ายข้าศึกของใบเสมารูใต้ใบเสมาจะใช้ในการส่องปืนออกมายิงข้าศึกบางครั้งทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมบางครั้งเป็นรูปกากบาท รูปร่างที่ทำให้การส่องข้าศึกทำได้ดีคือรูปกากบาทโดยทั่วไปด้านใดที่มีปราการธรรมชาติเช่นภูเขาหรือแม่น้ำอยู่แล้วมักสร้างกำแพงให้บางหน่อยส่วนด้านไหนไม่มีก็มักสร้างกำแพงเมืองหนาหน่อยในกำแพงด้านที่ต้องมีการยิงปืนใหญ่ใส่มากๆมักใช้กำแพงแกนดินเพื่อให้ดินใช้ส่งถ่ายแรงกระแทกของปืนใหญ่ไปแทนที่จะกระทบกำแพงโดยตรงเป็นเทคนิคการถ่ายเทแรงที่ประสิทธิภาพสูงมาก ตัวอย่างกำแพงแกนดินแบบนี้ใช้กันที่ศรีสัชนาลัยและเชียงแสนอีกด้วยป้อมปราการ

ป้อมปราการเมืองกำแพงเพชรถูกออกแบบมาเป็นรูปหัวลูกศรยื่นออกมาเป็นรูปหัวลูกศรทำให้มีมุมมองที่มองเห็นได้กว้างกว่านอกจากนั้นกรณีที่ข้าศึกกำลังปีนกำแพงเมืองทหารบนป้อมสามารถยิงที่ผู้ที่ปีนกำแพงเมืองได้สะดวกด้วย ป้อมมีความสูง 4-5 เมตรทำให้การปีนกำแพงทำให้ปีนกำแพงเมืองได้ยากต้องใช้บันไดช่วยโดยทั่วไปมักมีป้อมยื่นออกมาในบริเวณใกล้ๆประตูเมืองเนื่องจากเป็นจุดอ่อนที่โจมตีเมืองง่ายที่สุดป้อมนี้จึงมักใช้ยิงสกัดผู้ที่ต้องการทำลายประตูเมือง ที่กำแพงเพชรมีประตูเมือง 10 เมืองจึงมีป้อมเฝ้าประตูเมือง 10ป้อม 

คูน้ำและคันดิน

กำแพงเพชรมีคูน้ำและคันดินสลับการสามชั้นคูน้ำนี้กำหนดให้มีความกว้างประมาณ 30 เมตร เมือรวมระยะทั้ง 3 ชั้นจะมีระยะกว้างประมาณ120 เมตร อันนี้น่าจะแสดงถึงระยะที่ปืนใหญ่สมัยนั้นจะยิงไม่ถึงอย่างเต็มที่นักแต่อย่างไรก็ตามหากมีการถมเนินให้สูงขึ้นดังที่พม่าโจมตีอยุธยาระยะ set back ดังกล่าวอาจมีความสำคัญลดลงได้แต่นอกจากความกว้างคูน้ำที่ใช้เป็นระยะ set back เพื่อป้องกันปืนใหญ่แล้วการใช้คูเมืองในรูปแบบอื่นอีก เช่น การเทน้ำมันไว้ในคูหากข้าศึกลุยมาก็จุดไฟเผาเลยหรือการสร้างขวากวางในน้ำไว้ ทำให้ไม่สามารถใช้สัตว์ศึกต่างๆ เช่น ช้าง ม้าข้ามคูน้ำมาได้





Create Date : 10 พฤษภาคม 2560
Last Update : 18 พฤษภาคม 2560 18:29:41 น.
Counter : 2092 Pageviews.

1 comments
  
อธิบายได้ดี
โดย: Aonuma IP: 184.22.215.202 วันที่: 14 มิถุนายน 2565 เวลา:0:48:24 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 3850125
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed

 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]



สนใจประวัติศาสตร์ช่วงสมัยสุโขทัย-อยุธยา พยายามทำความเข้าใจตามหลักการความรู้ตามปัจจุบันเท่าที่พอหาได้