สุขสรรค์ หรรษา กับคุณสามีฝรั่ง กับมิสซิสอาร์โนลด์

Happiness&Fun with my Farang Husband

Photo Sharing and Video Hosting at Photobucket

บินข้ามฟ้า...หอบโรคสะโพกเคลื่อนแต่กำเนิดมารักษาต่อที่ประเทศอเมริกา

หลังจากห่างหายไปจากหน้าบล็อกมานาน ก็คิดว่าถึงเวลาที่จะมานั่งเขียนเล่าประสบการณ์ผ่าน blog อีกครั้ง

ขอเกริ่นความเดิมก่อน ตั้งแต่สมัยน้องไซด้า หรือ ด.ญ.ซาอีดา พบว่ามีภาวะโรคสะโพกเคลื่อน หรือหลุดก่อนกำเนิดตั้งแต่อายุ 4 เดือนกว่าๆ ใครสนใจย้อนกลับไปอ่านได้ที่หน้านี้ค่ะ

หลังจากนั้นมาน้องก็รักษามาอย่างต่อเนื่องกับคุณหมอ พรชัย มูลพฤกษ์ ที่ โรงพยาบาล รามาธิบดี
เริ่มตั้งแต่ทดลองใส่กระดองเต่า...ผ่าตัดเล็ก ...เปลี่ยนเฝือก .จนกระทั่งมาถึง..ผ่าตัดใหญ่...
ซึ่งหลังผ่าตัดใหญ่น้องไซด้ามี แผ่นเหล็กและน๊อตที่ยึดอีก สี่ตัวอยูในสะโพก
แถมครอบครัวเรามีความจำเป็นต้องย้ายกลับมาอยูที่เมือง Athens, รัฐ Geogia USA ช่วงต้นปี 2013
จึงเป็นกังวล ปรึกษาคุณหมอว่าจะผ่าตัดเอาเหล็กและน๊อตออกก่อนย้ายมา

แต่เมื่อไปพบคุณหมอช่วงเดือน ธ.ค. 2012 ปรากฏว่ากระดูกสะโพกน้องยังพัฒนาได้ไม่ดีเต็มที่
ต้องรอเวลาอีกสักพัก...จะทำอย่างไรได้เนื่องจากวีซ่าถาวรของเรามีกำหนดสั้นๆ ไม่สามารถต่อเวลารอต่อไปได้ จึงปรึกษาคุณหมอพรชัย
คุณหมอจึงแนะนำว่า...จะไปรักษาต่อที่อเมรืกาก็ได้  หรือ จะกลับมาผ่าที่เมืองไทยก็ได้
ซึ่งคุณหมอท่านน่ารักมากให้อีเมลล์ไว้ เพื่อให้เราส่งภาพ x-rayที่ทำที่อเมริกาส่งให้คุณหมอได้พิจารณา

ซึ่งเมือเดือน เมษายน 2013 ที่ผ่านมา ได้ไปดำเนินเรื่องที่นี่ทำ x-ray และส่งให้คุณหมอท่านพิจารณา
ปรากฏว่า คุณหมอท่านพึงพอใจกับผลที่ออกมา แนะนำว่าให้กลับไปผ่าตัดได้เลย
แต่ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง ทีั่สำคัญน้องไซด้าเริ่มเข้าโรงเรียนชั้น Pre-K  ที่นี่แล้ว
และหยุดยาวๆ ต่อเนื่องไม่ได้ นอกจากเป็นช่วงปิดเทอม summer ซึ่งเป็นช่วงตั๋วเครื่องบินแพงมาก
ดิฉันและสามีเลยได้ค้นหาข้อมูลของหมอที่เชี่ยวชาญโรคของน้องที่นี่
และโชคดีได้พบคุณหมอท่านหนึ่ง ที่มาจากเมืองอื่น จะมาเมืองที่เราอยู่แค่เดือนละครั้ง

วันที่เราไปพบคุณหมอท่านนั้น ท่านดูใจดีและรู้เกี่ยวกับโรคที่น้องเป็นอย่างมาก
ที่สำคัญเมื่อท่านดูภาพ X-rayล่าสุดของน้องแล้ว ท่านเอ่ยปากชมคุณหมอพรชัยว่า
"หมอที่เมืองไทยรักษามาได้ดีมาก สภาพสะโพกน้องอยู่ในภาวะที่น่าพึงพอใจ" 


ภาพออกมาเป็นแบบนี้ค่ะ





ตอนนี้เราจึงได้นัดผ่าตัดเอาเหล็กออกในช่วงปิดเทอม Summer (วันที่ 22 พค 2014)
ซึ่งเราต้องขับรถไปที่อีกเมืองหนึ่งชื่อเมือง Augusta เพืิ่อไปทีั่โรงพยาบาลที่คุณหมอประจำอยู่
การผ่าตัดครั้งนี้คุณหมอบอกว่าเป็นการผ่าตัดเล็กๆ ใช้เวลาแค่1-2 ชั่วโมง และพักฟื้นในห้อง recovery room ไม่นานก็กลับบ้านได้
แต่หลังจากผ่าตัดแล้วต้องควบคุมพฤติกรรมของน้องไซด้า ไม่ให้เล่นผาดโผนมากค่ะ
เพราะเนื่องจากพอเอาน๊อตออกแล้ว กระดูกจะมีรู ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป รูเหล่านี้จะถูกเติมเต็มเป็นกระดูกปกติค่ะ...แต่ช่วงที่ยังมีรูอยู่ในกระดูก ถ้าลูกตกจากที่สูงอย่างรุนแรง บริเวณนั้นก็จะรับแรงกระแทกมากกว่าบริเวณอื่น จะทำให้เสี่ยงต่อการร้าว หรือแตกหักได้ค่ะ

ซึ่งมาถึงตอนนี้...ดิฉันและสามีพึงพอใจกับผลการรักษาของโรคนี้ของลูกสาวมาก
ถ้าคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก๋อน ก็ไม่รู้เลยว่าลูกเรามีอาการของโรคนี้เลยค่ะ เพราะน้องไซด้าเดิน วิ่งได้เหมือนเด็กปกติ เพียงแต่ว่ามีอาการล้มบ่อยเท่านั้นเอง...เอาไว้ประสบการณ์วันผ่าตัดเป็นอย่างไรแล้วจะเอามาเล่าสู่กันฟังอีกนะคะ

ตอนนี้เรากลุ่มคุณแม่ที่มีลูกเป็นโรคนี้ด้วยกัน ได้รวมกลุ่มพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์กันอยู่ในเฟสบุ๊คค่ะ ถ้าคุณแม่ท่านใดพบว่าลูกมีอาการเดียวกันนี้ก็ขอเข้ามาอยู่ในกลุ่มได้นะคะ เราแลกเปลี่ยนข้อมูลและเป็นกำลังใจให้กันและกันตลอดค่ะ
สุดท้ายนี้เอารูปลูกสาวที่เคยเป็ฯเจ้าตัวเล็ก ตอนนี้เติบโตเป็นเด็กวัยเรียนมาฝากให้ชมกันค่ะ





ขอให้ทุกท่านมีความสุข...ในพื้นที่ที่มิตรภาพเบ่งบานนะคะ




 

Create Date : 03 มีนาคม 2557    
Last Update : 3 มีนาคม 2557 4:49:01 น.
Counter : 2695 Pageviews.  

โรคสะโพกหลุดแต่กำเนิด:เจ็ดเดือนผ่านไปหลังจากมีเหล็กและน๊อตอีกสองตัวอยู่ที่สะโพกซาอีดา

นับตั้งแต่วันที่ วันที่ 27 มิถุนายน 2554 ที่ผ่านมา จวบจนวันนี้
ซาอีดาถอดเฝือกได้ 7 เดือนแล้ว ในระหว่างนี้นัดพบคุณหมอพรชัย 2 ครั้ง
ประมาณ 2-3 เดือนครั้ง เพื่อตรวจสอบพัฒนาการของกระดูกสะโพก)
ครั้งล่าสุดพบคุฤณหมอมาเดือน มกราคม 2555
ได้พบคุณแม่อีกท่านหนึ่ง เข้ามาทักเราว่า "ใช่คุณแม่น้องซาอีดาหรือเปล่าคะ"
เพราะแกจำได้จากการอ่านบล็๋อกเรา จากนั้นคุณพ่อก็เข้ามาคุย และขอบคุณที่เราแชร์ประสบการณ์ในบล็อก

บอกตรงๆ เลยว่า "รู้สึกดีมากๆ" ที่สิ่งที่เราอยากให้เกิด ก็เกิดขึ้น
นั่นคือกำลังใจ...ความเข้าใจ...และแนวทางการเลี้ยงดูลูกที่เป็นโรคนี้
จำได้ตอนสมัยซาอีดาเป็นใหม่ๆ เราเข้ามา Search หาในเน็ต มีข้อมูลน้อยมากที่เป็นภาษาไทย
ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับโรคนี้ แต่ไม่มีเรื่องวิธีการดูแลลูกแบบแม่ดูแลจริงๆ
มีแต่คำแนะนำนักวิชาการ...สมัยเรา มีก็เพียงคุณแม่มุก ที่เราได้ข้อมูลมา
ต้องขอขอบคุณคุณแม่มุกอีกครั้งหนึ่งค่ะ

และก็ไม่นานมานี้อีกเช่นกัน ได้รับเฟสบุ๊กจากคุณแม่อ้อ ที่มีน้องเป็นโรคนี้เช่นกัน
ซึ่งกำลังจะเข้ารับการผ่าตัด เราเลยได้พูดคุยให้กำลังใจและข้อมูลต่างๆ ไป
พร้อมกับสร้างกลุ่มในเฟสบุ๊คของคุณแม่ ที่มีลูกเป็นลูกนี้ขึ้นมา
เพื่อให้ได้พูดคุยกัน...รู้สึกว่าหลังๆ มานี้จะพบเคสนี้บ่อยขึ้นๆ ค่ะ

(หากคุณเป็นอีกคนหนึ่งที่ลูกกำลังเผชิญโรคนี้อยู่ add มาได้เลยนะคะในเฟสบุ๊ค อีเมลล์ที่เราใช้อยู่คือ moeyeku@yahoo.com หรือจะทิ้อีเมลล์ไว้ก็ได้ค่ะ ที่อยู่ของกลุ่มคือ //www.facebook.com/groups/121746734571355/)

มาอัพเดทต่อถึงอาการของซาอีดา....หลังจากพบคุณหมอ และทำการ x-ray ทุกครั้ง ก่อนพบแพทย์
คุณหมอบอกว่ากระดูกเข้าที่ดีแล้ว แต่ที่เคยนัดผ่าเอาเหล็กออกตอนน้องอายุครบ 3 ขวบนั้น
คงต้องเลื่อนไปก่อน อีกสัก 6-8 เดือน เพราะกระดูกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่
ต้องรอดูเป็นระยะๆ ไป เพราะถ้านานเกินไปจนน้องโตขึ้น จะผ่าตัดยาก
เพราะจะมีเนื้อเยื่ออื่นๆ เข้ามาปกคลุมสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น

ตอนนี้ซาอีดา เดิน วิ่ง กระโดด ได้เหมือนเด็กปกติ
ไม่มีอะไรที่แสดงว่าน้องเคยผ่าตัดสะโพกครั้งใหญ่มา
นอกเสียจากรอยแผลเป็นบริเวณสะโพกเท่านั้น
ที่ซาอีดานั่งถ่ายทีไร จะเอามือจับๆ ลูบๆ และบอกว่า "อูยๆๆ"
(นั่นหมายถึงเจ็บ หรือแผล ในความหมายของเค้า)

แรกๆ หลังถอดเฝือก น้องใช้เวลาไมนาน ที่จะเรียนรู้การตั้งไข่ และมั่นใจที่จะก้าวเดินอีกครั้ง
ตอนนี้เราเองก็กังวลว่า ตอนผ่าเอาเหล็กออกจะหนักหนาเหมือนคราวก่อนไหม
จึงได้สอบถามคุณอาหมอพรชัย คุณหมอยิ้มและตอบว่า
ไม่หนักเหมือนคราวก่อนอีกแล้ว เราได้ยินละดีใจมากๆ เลยที่ได้ยินแบบนั้น
ตอนนี้ซาอีดามีพัฒนาการทั่วไปเหมือนเด็กวัยเดียวกันแล้ว
หลังจากที่พบคุณหมอคราวหน้าในเดือนมิถุนายน ผลเป็นอย่างไร
จะมาอัพเดทให้ฟังเป็นระยะ ๆ ค่ะ

หากว่าคุณมาแวะอ่าน และเป็นคุณแม่ที่มีลูกเป็นโรคนี้ อย่าลืมแวะมาคุยกันนะคะ
จะทำให้รู้สึกดีขึ้น และมีแนวทางการดำเนินชีวิตมากขึ้นค่ะ

สุดท้ายเอาภาพซาอีดามาฝาก ให้กำลังใจแม่ๆ ว่า หลังจากผ่าตัดแล้วน้องจะดีขึ้นค่ะ สู้ๆ นะคะ
ให้คิดเป็นกำลังใจตัวเองว่า ลำบากวันนี้ จะทำให้ลูกเรามีอนาคตที่ดีกว่า

สามารถเดิน และวิ่งเล่นได้ปกติแบบนี้



สามารถแสดงความน่ารักและทะเล้นจับจิตใจเราได้แบบนี้



เป็นกำลังใจให้คุณแม่ทุกคนค่ะ




 

Create Date : 10 กุมภาพันธ์ 2555    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2555 7:50:49 น.
Counter : 957 Pageviews.  

อัพเดทซาอีดา หลังจากถอดเฝือก (ขอให้เป็นครั้งสุดท้ายแล้วนะ)

หลังจากผจญกับความปวดร้าว และโหดร้ายในเฝือกมานานแสนนาน
ในที่สุดก็ถึงวันที่เจ้าหญิงตัวน้อยของดิฉันจะได้เป็นอิสระอีกครั้ง
ถึงแม้ตอนนี้ในร่างกายของเจ้าหญิงตัวน้อย จะยังมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายใน
แต่ก็ถือว่า...เป็นอะไรที่ดีที่สุดแล้ว ที่เธอจะกลับมาเดิน และวิ่งได้อีกครั้ง

หลายคนเคยเตือนดิฉันว่า ให้ระวังตอนถอดเฝือกครั้งแรก
ว่าลูกจะล้มพับไป อย่าปล่อยให้ยืนตัวคนเดียว
ถึงแม้ว่าตอนก่อนใส่ เธอจะเคยเดินได้แล้วก็ตาม
แต่ระยะเวลาใส่เฝือกที่นานแสนนาน นับได้เกือบ 3 เดือนนั้น
ทำให้เ้จ้าหญิงน้อยลืมว่าจะทรงตัวด้วยตนเองได้อย่างไร

วันที่ 27 มิถุนายน 2554 เป็นวันที่คุณอาหมอนัดเจอที่โรงพยาบาล
เป็นวันที่เราเฝ้ารออย่างใจจดจ่อ มาตลอด 3 เดือนเต็ม
วันนั้น บรรยากาศการเฝ้ารอดีขึ้นกว่าเดิม
เนื่องจากโรงพยาบาลมีการปรับปรุง เปิดตึกใหม่
มีที่จอดรถสะดวกสบาย ไม่แออัดเหมือนเคย
ทำให้ความเครียดของเราทุกคนเบาลงได้

ก่อนถอดเฝือก ต้องพาเจ้าหญิงน้อยของแม่ไปดื่มยาสีแดงให้ง่วงก่อน
เพื่อที่จะช่วยเพลาความกลัว เสียงดังจากการตัดเฝือกได้
เพราะไม่อย่างนั้นเธออาจจะดิ้น ทำให้การดำเนินการเป็นไปอย่างลำบาก
เพราะเฝือกที่รัดเธอไว้นั้น ยาวตั้งแต่ราวนมมาจรดปลายเท้า

ซาอีดา เป็นเด็กที่ต่อต้านการถูกบังคับอย่างรุนแรง
ที่เป็นอย่างนี้เพราะเธอจดจำภาพโหดร้ายที่เธอเผชิญมาได้ดี
ตั้งแต่การจับแขนน้อยๆ ของเธอเจาะเลือดตั้งแต่ เธออายุได้ 4-5 เดือน
จวบจนอายุได้ขวบกว่า
จับตัวเธอขึงเหยียดตรง และท่ากบ เพื่อทำการ x-Ray ดูกระดูกขา
ทุกครั้งก่อนเปลี่ยนเฝือกหรือผ่าตัด
ที่ร้ายที่สุด คือการให้เธอดมยาสลบในห้องผ่านตัด
ภาพต่างๆ เหล่านั้น ยังคงวนเวียน ในสมองน้อยๆ ของเธอ
แทนที่จะเป็นภาพจินตนาการต่างๆ ที่แสนจะสดใสบริสุทธิ์เหมือนกับเด็กวัยเดียวกันกับเธอ


เธอแสดงออก เมื่อพยาบาลพยายามป้อนยาสีแดงในแก้วเล็กๆ นั้นให้กับเธอ
ซาอีดา ร้องและดิ้นอย่างทุรนทุราย พร้อมกับอาเจียนยาที่เพิ่งรับประทานไปนั้นออกมาจนหมดสิ้น
กลิ่นอาเจียนผสมยาที่ออกมานั้น mommy ยังจดจำได้ดีมาจวบจนวันนี้
ไม่ต่างอะไรกับภาพที่ต้องช่วยอุ้มพยุงเธอไว้ ให้หมอวางยาสลบ
จนเธอแขนตก สลบไปอย่างไม่สมประดี

พวกเราช่วยกันจับเธอเปลี่ยนเสื้อผ้า เพื่อกำจัดกลิ่้นไม่พึงประสงค์เหล่านั้น
mommy อุ้มเจ้าหญิงตัวน้อยอย่างปลอบประโลม ในท่าที่เธอโปรดปราน
ไม่นานหลังจากเธอแน่ใจว่าไม่มีใครมาทำร้ายเธออีก
เจ้าหญิงตัวน้อยของดิฉันจึงหลับไปด้วยฤทธิ์ยาเท่าที่เหลืออยู่ในตัวเธอ

หลังจากที่เธอหลับ เราได้พาเธอไปห้องตัดเฝือก
ใช้เวลาไม่ถึง 15 นาที เจ้าหญิงน้อย ก็ได้หลุดออกจากเฝือก
อิสระได้กลับคืนมาหาเธออีกครั้ง ขณะเธอยังนอนหลับฝันดี
น้ำหนักที่ mommy เคยรู้สึกเวลาอุ้มเธอนั้น
ตอนนี้หายไปอย่างน่าแปลกใจ เธอตัวเบาอย่างกับปุยนุ่น
mommy โอบอุ้มเธอขึ้นมาไว้กับอก ให้ Daddy จัดการเรื่องค่าใช้จ่าย
ระหว่างรอ ก็พิจารณาขาข้างที่เคยอยู่ในเฝือกมาตลอด 3 เดือน
พบว่าเล็กกว่าขาอีกข้างหนึ่ง แถมยังมีผิวหนังลอกล่อนเต็มไปหมด
เห็นแล้วสงสารเจ้าหญิงของ mommy จับใจ



หลังจาก เ้จ้าหญิงน้อยตื่นจากภวังค์
เธอดูท่าจะแปลกใจกับร่างกายใหม่ของเธอ
ที่ไม่มีเฝือกมาห่อหุ้มอีกต่อไป
เธอพยายามจะลงเดินด้วยตัวเอง แต่เรายังไม่ปล่อยเธอ
เพราะยังไม่แน่ใจว่าเธอจะทรงตัวเองได้หรือไม่
จากนั้น mommy กับ daddy จึงพาเธอกลับบ้าน

หลังจากที่ yai-yai จับอาบน้ำอาบท่า ก็พบว่า
เริ่มสำรวจตรวจตราขาข้างนั้นอีกครั้ง พบว่าผิวหนังที่ลอก
หลุดออกไปหมด เหลือแต่ขนที่ดกดำและเด่นชัดกว่าอีกข้างเป็นอย่างมาก
แถมยังทิ้งรอยแผลเป็นไว้เป็นเครื่องเตือนใจ



ซาอีดา ยังทรงตัวด้วยตัวเองไม่ได้ในช่วงแรก
จริงอย่างคำเตือนที่เคยมีคนบอกไว้
เธอร้องเจ็บ ในครั้งแรกที่พยายามพยุงตัวขึ้นยืน
ล้มบ้าง ลุกบ้าง เราก็ไม่ท้อ
หัดให้เค้าเริ่มยืน และเดินเหมือนช่วงตอนตั้งไข่ใหม่ๆ

กิจกรรมที่พอทำได้ คือการนั่งเล่นบนรถสุดโปรด
และก็นอนวาดภาพด้วย สีที่ mommy ชอบใช้สร้างงานศิลปะ






ตัวดิฉันเอง พยายามคิดในทางที่ดีว่า
ยังไงก็ถือว่ายังดี ตอนนี้ลูกเราเริ่มเดินได้
เราได้หัดให้เค้าตั้งไข่ หัดให้เค้าเดิน ถึง สองครั้ง สองครา
และไม่นาน ความพยายามของพวกเราทุกคนในบ้านก็เป็นผล

อาการซาอีดา ดีขึ้นๆ จากที่เคยทรงตัวไม่ได้ ก็ทำได้
จากที่เคยเดินกระเพลกๆ ก็เดินได้ตรงเหมือนปกติ
ล่าสุดคุณอาหมอนัดไปตรวจเช็คอาการ
พบว่า อาการดีขึ้นแล้ว กระดูกเข้าที่ดี เหลือแต่ต้องรออีก 6เดือน-1 ปี
ถึงจะผ่าตัดเอาเหล็กออกอีกครั้ง

ภาวนาว่า ตอนผ่าออกนี้ คงไม่ต้องกลับไปหาเฝือกอันอุดอู้อีกต่อไปแล้ว
อาการที่เหลือผยู่ตอนนี้ก็คือ ยังคงหวาดกลัวทุกครั้งที่ต้องเข้าไปพบคุณหมอ
แม้แต่แค่พาไปฉีดวัคซีน ตรวจฟัน ก็ตาม
หรือแม้แต่พาไปถ่ายรูปในสตูดิโอที่มีแสงช่วยหลายๆ ตัว
ก็ยังคงร้องไห้จ้า คงจะคิดว่าตัวเองกำลังถูกพาไป x-Ray หรือผ่าตัด

ตอนนี้เห็นลูกยิ้มได้ วิ่งได้ เหมือนเด็กคนอื่น
หัวอกคนเป็นแม่พองโตยิ่งกว่าอะไร เป็นรางวัลให้กับคนเป็นแม่อย่างเรา



ขอบพระคุณ คุณอาหมอ และพยาบาลทุกท่านที่ช่วยเหลือมาตลอด
ขอบพระคุณ พ่อ แม่ พี่น้อง และสามี ที่ช่วยดูแลเจ้าหญิงของฉัน
ขอบพระคุณ เพื่อนๆ และกำลังใจจากผู้อ่าน และคุณแม่ที่หัวอกเดียวกัน




 

Create Date : 04 ตุลาคม 2554    
Last Update : 4 ตุลาคม 2554 15:42:04 น.
Counter : 2706 Pageviews.  

ลูกคุณมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่...โรคข้อสะโพกเคลื่อนหรือหลุด

Smiley
โรคข้อสะโพกหลุด

(Developmental Dysplasia of the Hip: DDH) 


ลองสังเกตดูว่า...ลูกคุณมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่??



เวลาเปลี่ยนผ้าอ้อม

… ดิ้นด้วยขาข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าอีกข้างหนึ่ง …
… แก้มก้นสองข้างมีขนาดไม่เท่ากัน …
… ลักษณะกล้ามเนื้อของต้นขาทั้งสองข้างแตกต่างกัน ดังตัวอย่าง …

ลักษณะกล้ามเนื้อต้นขาที่ผิดปกติโดยมีชั้นรอยพับผิวหนัง (fold) ไม่เท่ากัน

ที่มาของภาพ: //www.steps-charity.org.uk/images/DDH_uneven_leg_creases.jpg

… ความยาวของขาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน…
… ช่องว่างระหว่างขาทั้งสองข้างกว้างกว่าปกติ…

เวลาคลาน

...คลานด้วยการลากขาข้างใดข้างหนึ่ง...

เวลายืนหรือเดิน

... ขาข้างใดข้างหนึ่งหรือสองข้างหมุนได้มากผิดปกติ…
… มีท่าทางการเดินผิดปกติ กระโพลกกระเพลก…
… ยืนหรือเดิน โดยเท้าข้างใดข้างหนึ่งยืนหรือเดินบนปลายเท้า ยกส้นเท้าสูง...

ถ้ามี คุณควรพาลูกไปพบแพทย์เพื่อปรึกษาและตรวจสอบว่า
มีอาการของโรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิดหรือไม่

...ถ้าลูกคุณเป็นโรคนี้.ยิ่งพบแพทย์เร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อลูกคุณเท่านั้น...

...คุณแม่ที่สนใจ มาทำความรู้จักโรคนี้เพิ่มขึ้นกันดีกว่าค่ะ เป็นความรู้ที่เราได้สืบหามาเนื่องจากลูกสาวเป็นโรคนี้ และขณะนี้อยู่ในการรักษาและดูแลโดยแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่น่ารักมากๆ ค่ะ....

------------------------------------------------------------------------------

กลุ่มคำที่ใช้เรียกโรคสะโพกเคลื่อนหรือหลุด

เมื่อก่อนนิยมใช้คำว่า Congenital Dislocation of the Hip (CDH) เนื่องจาก คำว่า Congenital เป็นคำที่อธิบายถึงอาการที่เกิดขึ้นแต่กำเนิด (at birth) แต่ในปัจจุบันนิยมใช้คำว่า Developmental Dysplasia of Hip (DDH) มากขึ้น เนื่องจากครอบคลุมอาการของโรคมากกว่า เพราะบางอาการไม่ได้เกิดขึ้นแต่กำเนิดเลย แต่เกิดขึ้นในระหว่างที่ทารกพัฒนาการหลังคลอด

เกี่ยวกับโรค

บริเวณสะโพกของคนเราปกติ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระดูกสะโพก (pelvis bone) ซึ่งบริเวณด้านข้างมีส่วนที่มีลักษณะคล้ายด้านในของถ้วยเรียกว่า เบ้าสะโพก กับส่วนบนของกระดูกต้นขาที่มีลักษณะเป็นทรงกลม (a ball on the upper end of the femur) ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะอยู่ในตำแหน่งและขนาดที่เหมาะสมเพื่อทำงานร่วมกัน (เหมือนเราจับลูกเทนนิสยัดเข้าไปในถ้วย) แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่มีอาการผิดปกติ เราเรียกอาการผิดปกตินี้ว่าโรคข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด (Developmental Dysplasia of the Hip: DDH)



ลักษณะสะโพกปกติ A: Normal และผิดปกติต่างๆ B: Dysplasia. C: Subluxation. D: Luxation

ที่มาของภาพ: //upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/a/ac/Hip_dysplasia_-_schematic.jpg/400px-Hip_dysplasia_-_schematic.jpg

สาเหตุของโรค

ปกติโรคนี้จะพบในเด็กยุโรป มากกว่าเด็กเอเชีย พบประมาณ 1.5 - 20 คน ในจำนวนเด็กแรกเกิดที่มีชีวิต 1000 คน ยังไม่มีการรายงานว่าโรคนี้เกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งอย่างชัดเจน อาจเกิดได้จากพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อม แต่ทั้งนี้ พบว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลทำให้เกิดการของโรคได้ เช่น

1.ลูกผู้หญิง เนื่องจากการรายงานพบว่า เด็กที่เป็นโรคนี้พบว่าเป็นเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กชาย มีอัตราส่วน เด็กผู้หญิง: เด็กผู้ชาย อยู่ประมาณ 5-8 คน : 1 คน (อาจเนื่องมาจากฮอร์โมนเพศ)
2.เป็นลูกคนแรกของครอบครัว เนื่องจากบริเวณมดลูกและช่องคลอดของแม่ยังขยายตัวไม่มากนักอาจบีบรัดตัวลูกน้อย
3.พบในขาซ้ายมากกว่าขาขวา
4.ทารกเอาก้นลง ในไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ (Breech birth or breech position in the last three months of pregnancy )
5.ของเหลวในครรภ์น้อย น้ำคร่ำที่ล้อมรอบตัวเด็กอาจมีปริมาณน้อยเกินกว่าปกติ
6.ประวัติครอบครัว มีประวัติคนในครอบครัวมีอาการของโรคนี้มาก่อน
7.ทารกตัวใหญ่ ทารกแรกคลอดมีน้ำหนักตัวมากขณะที่มารดามีขนาดตัวที่เล็ก
8.ห่อตัวแน่นเกินไป การห่อตัวทารกแรกเกิดแน่นจนเกินไป
9.เท้าหรือคอผิดปกติ. เด็กที่มีอาการเท้าผิดปกติหรือคอเกร็ง (foot deformities or tightness in the neck)
10.ฮอร์โมนมารดา ฮอร์โมนของมารดาขณะตั้งครรภ์ส่งผลต่อการตอบสนองของทารก

การตรวจหาอาการของโรค

ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศ เช่นในแถบยุโรป มีข้อบังคับให้ทำการอัลตราซาวด์เด็กแรกเกิดทุกคนเพื่อตรวจหาอาการของโรค หรือตรวจหาอาการขั้นพื้นฐานกับเด็กทารกก่อนกลับบ้าน แต่ในประเทศไทยยังไม่มีข้อบังคับนี้

หากลูกของคุณมีอาการน่าสงสัยดังกล่าวข้างต้น หรือมีปัจจัยเสี่ยงแนะนำให้สังเกตลูกอย่างใกล้ชิดพร้อมกับปรึกษาแพทย์ประจำตัวลูกเพื่อตรวจหาอาการต่อไปค่ะ
- วิธีการตรวจขั้นพื้นฐานคือการสังเกตลักษณะอาการภายนอก (ตามอาการดังกล่าว) และแพทย์ใช้วิธีการตรวจโดยใช้มือขยับหมุนขา (มักใช้ตรวจหาในช่วงแรกหลังคลอด)
- อัลตราซาวด์ (มักใช้เมื่อทารกอายุ 6 – 8 สัปดาห์) หรือใช้เพื่อยืนยันผลจากการตรวจวิธีการพื้นฐาน
- เอ็กซเรย์ Computed Tomography Scan (CT or CAT SCAN) หรือMagnetic Resonance Imaging (MRI) มักใช้ประกอบการรักษาอาการของโรคเพื่อติดตามอาการ

ความรู้สึกของลูกที่มีอาการของโรค

แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนเมื่อรู้ว่าลูกมีอาการของโรคนี้ต้องกังวลถึงความเจ็บปวดของแก้วตาดวงใจ มีเอกสารเผยแพร่กล่าวว่า ลูกของคุณไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใดกับอาการของโรค จะมีแต่พ่อแม่เท่านั้นที่รู้สึกเจ็บปวดแทนลูก

วิธีการรักษาและผลการรักษา
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า
“ยิ่งพบแพทย์เร็วมากเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อลูกคุณเท่านั้น”
เนื่องจากเกี่ยวกับความยุ่งยากของการรักษาในระหว่างช่วงอายุต่างๆ ของทารก หรือ ตามลำดับขั้นของการรักษาอาการของโรค ดังนี้

ตรวจพบระยะแรกเกิด-ประมาณ6เดือน

ใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า “Lightweight splint” เป็นสายรัดที่ดึงให้ขาทารกน้อยอยู่ในท่ากบ หรือไฟเบอร์กลาสที่มีลักษณะคล้ายกระดองเต่าเช่นเดียวกับน้องซาอีดาใส่ เพื่อสนับสนุนให้การเจริญเติบโตของกระดูกเบ้าสะโพกและหัวสะโพกพัฒนาอย่างเหมาะสม ซึ่งแพทย์จะใส่ไว้ตลอดเวลาใช้เวลาในการใส่ประมาณ หลายสัปดาห์ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของกระดูกทารกแต่ละราย


ภาพ Spint ที่ใส่ไว้ยกให้ขาอยู่ในท่ากบ

ที่มาของภาพ://www.steps-charity.org.uk/images/DDH-pavlik-harness.jpg


ตรวจพบระยะ 6 เดือนขึ้นไป

ส่วนใหญ่ในรายที่พบว่าการรักษาในระดับแรกไม่ประสบผลสำเร็จ หรือตรวจพบอาการหลังจากทารกมีอายุประมาณ 2 เดือนขึ้นไป มักต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล ใช้วิธีการเอ็กซเรย์ CT หรือ CAT SCAN หรือ MRI เพื่อสังเกตอาการ ควบคู่ไปกับการผ่าตัดเล็กก่อน ใช้มือจัดดันกระดูกให้เข้าที่ ตามด้วยการใส่เฝือกแข็งไว้ หากไม่ได้ผลหรือตรวจพบช้า

ตรวจพบระยะ 1 ปีขึ้นไป
ควรได้รับการผ่าตัดใหญ่เพื่อปรับแต่งและจัดให้กระดูกสะโพกเข้าเบ้าได้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม
อย่างเช่นซาอีดาทำมาหมดทุกขั้น แต่ไม่เป็นผล เนื่องจากกระดูกเบ้าสะโพกและกระดูกต้นขาผิดรูป คุณหมอต้องผ่าตัดใหญ่เข้าไปตกแต่งกระดูกเหล่านั้นพร้อมใส่แผ่นเหล็กดามไว้ซึ่ง หลังการผ่าตัดต้องใส่เฝือกแข็งไว้หลายสัปดาห์หรือหลายเดือนเช่นกัน อาจต้องมีการใส่กระดองเต่าหลังจากถอดเฝือกแข็งสักระยะหนึ่ง พร้อมติดตามการรักษากับแพทย์เชี่ยวชาญทางกระดูก


เฝือกแข็งใส่เอาไว้ยึดขาและสะโพกสองข้าง เจาะรูตรงกลางไว้ขับถ่าย

ที่มาของภาพ://www.steps-charity.org.uk/images/DDH-hip-spica.jpg

ผลการรักษา

จากการรายงานที่ผ่านมา พบว่า ผลการรักษาขึ้นอยู่กับอาการของโรคและการพัฒนาการของกระดูกเด็กเฉพาะแต่ละคน ไม่สามารถยืนยันผลการรักษา100 เปอร์เซ็นต์ได้กับเด็กทุกคน แต่หลังจากเด็กได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเติบโตขึ้นมีชีวิตที่สมบูรณ์ต่อไปได้

ศัพท์ทางการแพทย์เกี่ยวกับโรค

ถ้าลูกคุณมีอาการดังกล่าว ในระหว่างการรักษาอาจได้ยินศัพท์ทางการแพทย์ต่างๆ เหล่านี้จากคุณหมอได้ค่ะ(เผื่อเวลาคุยกับคุณหมอจะได้เข้าใจค่ะ เพราะดิฉันตอนแรกก็งงๆ โชคดีที่เรียนสายวิทาศาสตร์เลยพอเชื่อมโยงกับสิ่งที่เรียนมาได้ค่ะ)

- “Acetabular dysplasia” คือ ลักษณะที่กระดูกเบ้าสะโพก ตื้นเกินไป
- “Subluxated hip” คือ ลักษณะที่บริเวณรอยต่อกระดูกจับกันไม่มั่นคง ทำให้ส่วนบนของกระดูกต้นขาที่มีลักษณะคล้ายลูกบอลเคลื่อนไปมาได้ หรือหลุดออกบางส่วน
- “Luxation” คือ ลักษณะที่หัวกระดูกต้นขาหลุดออกจากเบ้าอย่างสมบูรณ์

เอกสารอ้างอิง

- Clinical Trails Feeds.org. 2010. Universal Ultrasound-screening for Developmental Dysplasia of the Hip in Newborn. Available: //clinicaltrialsfeeds.org/clinical-trials/show/NCT01053299

- Lucile Packard Children's Hospital. 2011. Developmental Dysplasia of the Hip (DDH). Available: //www.lpch.org/DiseaseHealthInfo/HealthLibrary/orthopaedics/ddh.html

- Royal Prince Private Hospital. 2011. Developmental Dysplasia of the Hip. RPA Newborn Care Guideline. Available: //www.sswahs.nsw.gov.au/rpa/neonatal/html/docs/DDHips.pdf

- Steps. 2011. Developmental Dysplasia of Hip-DDH. Available: //www.steps-charity.org.uk/links/1-0-home.php
Wikipedia. 2011. Hip Dysplasia (Human). Available: //en.wikipedia.org/wiki/Hip_dysplasia_(human)

-----------------------------------------------------------------------

ไม่อยากให้คุณแม่นิ่งนอนใจนะคะ มีคำกล่าวว่า...

"You have to be aware that nature can play dirty tricks"
"พึงระวังไว้เสมอว่า...ธรรมชาติมักจะเล่นตลกกับเราเสมอ..."

ดังนั้น หากมีข้อสงสัยอาการดังกล่าว


ที่มาของภาพ://www.pediatric-orthopedics.com/Treatments/Hips_n_Chairs/Prevent/XrHips.jpg

ขอให้โชคดีทุกคนค่ะ




 

Create Date : 20 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 21 พฤษภาคม 2554 7:36:26 น.
Counter : 14797 Pageviews.  

ซาอีดาเปลี่ยนเฝือกครั้งที่ 1 พร้อมภาพ x-ray @21 months

หลังจากการผ่าตัดใหญ๋ผ่านไปเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554
คุณลุงหมอพรชัยนัดเข้าไปเปลี่ยนเฝือกครั้งแรกประมาณ 3 สัปดาห์
ทุกอย่างเหมือนเดิม คือซาอีดาต้องงดน้ำ และอาหารตั้งแต่เวลา ตี 3 ของคืนวันที่ 10 พค 54
เพื่อจะดมยาสลบก่อนทำการเปลี่ยนเฝือกในวันที่ 11 พค 54 เวลา 9.00 น.

อาการของซาอีดาเริ่มดีขึ้นๆ คือ ไม่สะดุ้งตกใจกลัวเหมือนคราวแรกที่ออกจากโรงพยาบาล
เริ่มชินกับการนอนในเฝือก นั่งพิงเอนตัวเล็กน้อยบนรถเข็นหรือ car seat
ตอนนี้เริ่มจะยันตัวเองให้ลุกขึ้น อยากยืน อยากนั่งเหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ทำไม่ได้
ถ้าอยากเล่นอะไร จะชี้บอกให้ทุกคนหยิบของให้
daddy mommy และ yai-yai ต้องเดาใจเอา เพราะซาอีดายังพูด baby language อยู่

มีคำที่พูดได้ชัด และสื่อสารด้วย sign language คือ คำว่า
"eat" ซึ่งปกติจะหมายถึง เธออยากทาน snack cheese
"Poo-Poop" หมายถึง เธออยากไปเข้าห้องน้ำ
"Open" หมายถึง ให้เปิด แกะ หรือ make it work สำหรับทุกสิ่งอย่าง
เช่น เปิดกล่อง เปิดทีวี เป็นต้น

มีบางคำที่สื่อสารด้วยภาษาพูดอย่างเดียวได้ชัดเจนคือ
"Pa-Pa" "Ma-Ma" "ย๊าย-ยาย" "ตาจ๋า" "ice-cream"
"Thank-You" (พร้อมยกมือไหว้)

สำหรับท่าทางที่ทำได้ อย่างเช่น
"Yes!!" ที่ใช้เวลาดีใจตอนบอลชนะ
"Pig face" ทำปากหมู (สองอันนี้ได้จาก daddy สอน)
"princess" เธอจะยกมือข้างหนึ่งให้เราจุมพิต
"Bye..Bye" และ "Blow the kiss"(ที่เหลือได้จาก mommy และ yai-yai สอน)

ช่วงนี้ ซาีอีดาจะดู Baby Einstein หรือ DVD การ์ตูนมากขึ้น
จริงๆ เราเองไม่อยากให้ดู เพราะคุณหมอแนะนำว่า เด็กต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรดูทีวี
วาดเขียนก็แล้ว เล่นของเล่นก็แล้ว แต่ลูกก็ยังเบื่อที่ต้องนอนเฉยๆ วิ่งไปไหนมาไหนก็ไม่ได้
เลยอนุญาตให้เธอมีโอกาสดูทีวีบ้างบางเวลา

สำหรับการไปโรงพยาบาลคราวนี้ดีขึ้นกว่าคราวก่อน
อาจเป็นเพราะเราเริ่มชินกับกระบวนการต่างๆ ชินกับสถานที่ คุณหมอและพยาบาล
ที่ตึกออร์โธปิดิกส์นี่น่ารักมากๆ ตั้งแต่พยาบาลในห้องพักฟื้น ที่กลับไปทีไร
จำซาอีดาได้กันเกือบทุกคน วันที่กลับไปครั้งแรกยังทักเลยว่าน้องเป็นสาวแล้ว
ส่วนคุณพยาบาลหน้าห้องผ่าตัดก็น่ารัก เห็นซาอีดางอแง ก็เอาตุ๊กตาออกมาให้เล่นแก้เบื่ีอ

ส่วนคุณลุงหมอพรชัยไม่ต้องพูดถึงเลยค่ะ ....ดีขั้นเทพ....
ไม่เคยเจอคุณหมอคนไหนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนแล้วดีกับคนไข้ แสดงความห่วงใย
อธิบายอย่างละเอียดละออถึงอาการและการรักษา
ไม่เคยเบื่อกับการถามซอกแซกของทุกคนในครอบครัว
ตอนไปตรวจ คุณหมอจะคุยกับเราเกือบ 15-20 นาที
เพื่ออธิบายสิ่งต่างๆ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
ตอนไปผ่าตัดหรือเปลี่ยนเฝือก ทุกครั้งคุณหมอจะอธิบายก่อนว่าจะทำอะไร
หลังจากที่ทำเสร็จ คุณหมอจะเดินออกมาที่ญาตนั่งคอย
หรือให้พยาบาลเรียกเราเข้าไปคุยบริเวณหน้าห้องสังเกตอาการ ว่าคุณหมอได้ทำอะไรไปบ้าง
ซึ่งทำให้เรารู้สึกดีมากๆ ไม่คิดว่าในโรงพยาบาลรัฐฯ จะเจอคุณหมอและพยาบาลแบบนี้
(อาจเป็นเพราะประสบการณ์ที่เราผ่านมาจากโรงพยาบาลรัฐบาลอื่นๆ)
ซึ่งแบบนี้เราเรียกด้วยภาษาง่ายๆ ของเราเองว่า ....จิตบริการทางวิชาชีพ...อย่างแท้จริง

ในขั้นตอนของการดมยา mommy จะเข้าไปกับซาอีดาทุกครั้ง
ยกเว้นบางครั้งที่ mommy ติดงานจริงๆ จะสลับให้ daddy หยุดงานเข้าไปกับหนู
ครั้งนี้ดีกว่าครั้งก่อน เพราะเราอุ้มลูกไว้ให้คุณวิสัญญีเอาที่ครอบมาครอบให้ดมยาระหว่างเราอุ้มอยู่
ลูกจึงแค่ร้องไห้ แต่ไม่ดิ้นทุรนทุราย ส่วนเราเองก็มองไม่เห็นหน้าลูกที่ร้องทรมานตอนดมยา
เมื่อลูกเริ่มเงียบลง คุณวิสัญญีจึงให้เราค่อยๆ วางลูกลงภายใต้ความช่วยเหลือของทีมวิสัญญี
จากนั้นให้เราออกมารอข้างนอก หน้าห้องผ่าตัด
คุณหมอและพยาบาลใช้เวลาทำความสะอาดแผล และเปลี่ยนเฝือกประมาณ 40 นาที
จะเรียกเราเข้าไปอีกครั้ง เพื่ออุ้มและอยู่กับลูกในห้องสังเกตอาการ
พยาบาลและหมอในห้องนั้นก็น่ารัก วนเวียนมาสังเกตอาการ
ชักชวนซาอีดาเล่นอยู่ตลอดเวลา

ครั้งนี้ซาอีดาเปลี่ยนจากเฝือกสีชมพูคราวก่อน เป็นเฝือกสีฟ้า
คุณยายยังแซวว่า ไม่หวานแหววเหมือนคราวก่อน
เราเองก็คิดว่าดีเหมือนกัน เปลี่ยนสีบ้าง ใส่สีเดียวก็ต้องทำให้ต้องใส่เสื้อสีโทนชมพูตลอดเวลา
อย่างนี้เสื้อโทนสีอื่นจะได้เอามาเลือกใส่บ้างให้เข้ากับเฝือกสีฟ้า
แต่ตอนขาไปที่เฝือกสีชมพู คุณยายเลือกใส่กระโปรงลายดอกชมพูไป
พอขากลับสีเฝือกเลยตัดกับสีกระโปรงแบบนี้ แฟชั่นมากๆ



กลับมานั่งพักกันบนโซฟา โชว์เฝือกสีฟ้าให้ daddy ได้ดู(ครั้งนี้ daddy ไม่ได้ไปด้วย)



เราสำรวจหลังมือซาอีดา ตอนนี้มีรูพรุนหลายรูเลย เนื่องจากการเจาะเลือด
เจาะใส่สายน้ำเกลือจากการไปโรงพยาบาลครั้งที่ผ่านๆ มา



สงสารลูกจับใจ แต่ก็พยายามคิดว่า เจ็บวันนี้ดีกว่าลุกต้องมาทรมานในวันหน้า
คุณหมอบอกว่าถ้าไม่ทำวันนี้ โตไปลูกจะเป็นโรคสะโพกเสื่อมก่อนวัยอันควร
จากการพูดคุยกับคุณแม่มุกที่มีน้องชุณพี่เป็นโรคนี้ คุณมุกกล่าวถึงปัญหาเอ็นหย่อนของน้องชุณพี่
เราเลยถามคุณหมอพรชัยว่าซาอีดามีอาการด้วยไหม
คุณหมอก็บอกว่ามี เป็นแทบทุกคนที่เป็นโรคนี้ แต่อาการจะดีขึ้นเองเมื่อเด็กโตขึ้น
สำหรับอาการซาอีดาตอนนี้ คุณหมอใส่ทุกอย่างเข้าที่หมดแล้ว เหลือรอดูพัฒนาการของเด็กเอง
ถ้าดี...ก็ไม่ต้องผ่าตัดแก้อาการกันอีก...
แต่ถ้าไม่(ซึ่งภาวนาว่าจะไม่เกิด) ก็อาจต้องมีการทำอะไรอีกต่อไป

วันนี้มีโอกาสได้ไปขอฟิล์ม x-ray มา เห็นภาพชัดถึงกระบวนการที่คุณหมอเคยแจ้งว่า
1. มีการตัดกระดูกต้นขาบริเวณหัวกระดูกออกจากกระดูกต้นขาและหมุนหัวให้อยู่ในองศาที่เหมาะสม
2. ใช้แผ่นเหล็ก1 แผ่น พร้อมน๊อตยึดไว้ 4 ตัว
3. กระดูกเบ้าสะโพกได้ทำการตัดแต่ง และใช้เหล็กกับลวดยึดไว้

อย่างที่เห็นในรูปเลยค่ะ เป็นแบบนี้



ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นรอยตัดของกระดูกแบบนี้ค่ะ



แต่อย่างไรก็ตาม ตอนนี้ลูกเราโอเคปลอดภัยมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส
ต่อไปต้องเจอกับอะไรอีกก็คิดว่าเราจะผ่านไปด้วยกันได้ดีค่ะ


สำหรับคุณแม่ท่านใดที่มีลูกเป็นแบบนี้ ไม่ต้องห่วงนะคะ คุณหมอเก่ง รักษาได้
แต่ต้องใช้เวลาและอาศัยความแข้มแข็งของครอบครัว
พร้อมกับกำลังใจจากเพื่อนๆ หรือคุณแม่ที่หัวอกเดียวกันก็ช่วยได้ค่ะ
ที่สำคัญโรคนี้ คุณหมอบอกว่า ถ้าเจอตั้งแต่แรกเกิดเลยอาจจะไม่ต้องผ่าตัดใหญ่แบบนี้
ขึ้นอยู่กับอาการของเด็กด้วยค่ะ ดังนั้น คุณแม่ที่เพิ่งคลอดใหม่ๆ
ควรสังเกตอาการของเจ้าตัวเล็กนะคะ ถ้ามีอาการผิดปกติรีบพาไปให้แพทย์วินิจฉัยเลยค่ะ
อย่านิ่งนอนใจ เรื่องเล็กจะได้ไม่กลายเป็นเรื่องใหญ่...ให้กำลังใจคุณแม่ทุกคนค่ะ...




 

Create Date : 13 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 13 พฤษภาคม 2554 20:45:00 น.
Counter : 2600 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  

มิสซิสอาร์โนลด์
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




&dateผู้หญิงคนหนึ่ง..บนโลกกลมๆใบนี้..
ยังมีความฝันอีกหลายอย่างที่กำลังเดินหน้าตามล่าฝัน
โดยมีคุณสามีฝรั่งคอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ

©©©©©©©©©©©©©©©©©©©©©©©©
สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2539 ห้ามผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของข้อความในบล็อกนี้ไปใช้เผยแพร่ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด
©©©©©©©©©©©©©©©©©©©©©©©©










What's new!


บล็อกอัพเดทล่าสุด


ลูกคุณมีอาการเหล่านี้บ้างหรือไม่...โรคข้อสะโพกเคลื่อนหรือหลุด


คุณสามี MR.Speedy มีโอกาสได้เข้าวงการแสดงแล้วจ้า


ซาอีดาเปลี่ยนเฝือกครั้งที่ 1 พร้อมภาพ x-ray @21 months



วิธีทำให้ลูกมีความสุขมากขึ้น..ในเวลาที่ต้องทนทุกข์ๆ ในเฝือกเกือบ 2 เดือน



เข้าโรงพยาบาลอีกครั้งเมื่อครบ 1 ปี 8เดือน



ซาอีดา...บนปก mother and care เดือนมิถุนายนนี้ค่ะ



ประสบการณ์ผ่าตัดครั้งแรกของน้องซาอีดา



ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลอีกรอบ---กับข้อสะโพกหลุดแต่กำเนิด--



เสียงสะท้อนจากผู้อ่าน





Mrs. Arnold's Blog

จากบล็อกออกเป็น pocketbook

...วางแผงแล้ววันนี้..

ที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add มิสซิสอาร์โนลด์'s blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.