welcome to my Blog
Group Blog
 
All blogs
 
นักข่าวเจ้าแง่

ในฐานะ ปุถุชน คนทำข่าว ที่คอยบอกกล่าวเรื่องราว
ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นมาเกือบ 5 ปี
ที่ต้องการพัฒนาการนำเสนอ ข่าวสาร ความเคลื่อนไหว
นักข่าวเจ้าแง่ ขอใช้พื้นที่นี้ รายงานความเป็นไปในดินแดนไข่มุกอันดามัน
พร้อมกับการนำเสนอความหลากหลายในแง่มุมต่างๆ จากข่าวสารที่เกิดขึ้น
เพื่อสวนกระแสเสียงวิพากวิจารย์การทำงานของสื่อมวลชน
ที่เสนอแง่มุมข่าวสารเพียงด้านใดด้านหนึ่ง
ซึ่งมีอิทธิพลส่งผลกระทบต่อการรับรูข้อมูลข่าวสารของประชาชน


....................................................................................................
test 1..2..3 test

เจ้าของที่ดินกว่า 300 ราย ที่อยู่บนที่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 80 เมตรได้เฮแล้ว เมื่อประกาศกระทรวงทรัพยฯที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมภูเก็ตฉบับต่อไปที่จะประกาศใช้ในปีหน้า ผ่อนปรนให้สามารถสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยได้ แต่ห้ามจัดสรรเปลี่ยนมือโดยเด็ดขาด หวังบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ชาวบ้านที่เรียกร้องมา 5-6 ปี


ผู้จัดการ ...วันนี้ (5 พ.ย.) สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ บริษัท โมดัส คอนซัลแทนส์ จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อการปรับปรุงประกาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. 2546 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมประมาณ 200 คน ที่โรงแรมเมโทรโพล จ.ภูเก็ต โดยมีนายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธาน


ทั้งนี้เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรต่างๆ ในการปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมฉบับปัจจุบันที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2546 และประกาศดังกล่าวกำลังจะหมดอายุ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงใหม่ประกาศฉบับใหม่ให้เป็นไปตามความต้องการและสภาพพื้นที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อที่จะประกาศใช้ในปี 2551 ต่อไป


สาระสำคัญของการขอปรับปรุงประกาศดังกล่าว คือ การเพิ่มมาตรการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในทะเลและการกำหนดมาตรการการดูแลทรัพยากรธรรมชาติบนที่สูงและที่ลาดชัน เป็นสำคัญ เพราะในปัจจุบันในพื้นที่ภูเก็ตมีการเข้ามาลงทุนในเรื่องของมารีน่าเป็นจำนวนมาก จำเป็นที่จะต้องมีมาตรการออกมาคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่อาจจะกระทบจากการลงทุนในลักษณะดังกล่าวได้


โดยเฉพาะมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่ 7 ที่ห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใดๆ ที่เป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกิน 80 เมตรขึ้นไป เป็นมาตรการที่มีการเรียกร้องให้แก้ไขให้สามารถสร้างที่อยู่อาศัยได้ โดยมองว่าข้อห้ามดังกล่าวเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของประชาชน ที่มีเอกสารสิทธิที่ดินบนที่สูงเกิน 80 เมตรกว่า 300 ราย ที่ไม่สามารถดำเนินการอะไรได้เลย ประกาศฉบับใหม่ น่าที่จะปรับปรุงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน โดยไม่ให้กระทบต่อทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม


นายเปี่ยน กี่สิ้น นายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง กล่าวในที่ประชุมว่า การประกาศห้ามไม่ให้ก่อสร้างอะไรเลยในที่ดินที่อยู่สูงเกิน 80 เมตรทั้งๆที่เป็นที่ดินที่ประชาชนมีเอกสารสิทธิ์ไม่ว่าจะเป็นส.ค. 1 หรือนส.3 เป็นต้น ได้สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนมาก เพราะมีประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการที่จะก่อสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยบนที่ดินดังกล่าว และหากไม่ให้ประชาชนทำอะไรบนที่ดินดังกล่าวได้ รัฐน่าที่จะมีมาตรการให้การเยี่ยวยาให้กับความช่วยเหลือ และน่าที่จะมีความชัดเจนว่าจะเยียวยาอย่างไร จะซื้อที่ดินคืนจากประชาชน หรือจะเวนคืน รวมทั้งจะแบ่งบ้างส่วนให้ประชาชนสร้างบ้านได้ก็น่าที่จะมีความชัดเจนออกมา


ด้านนายธวัช ดวงตะวัน กล่าวว่า ตนได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขประกาศข้อที่ 7 นี้มาเป็นเวลา 5-6 ปีแล้ว เพราะประชาชนเดือดร้อนกับการริดรอนสิทธิ์จากมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมดังกล่าว และรัฐก็น่าที่จะมีความชัดเจนว่าจะมีทางออกให้กับประชาชนอย่างไร และหากไม่มีการแก้ไขปรับปรุงในประกาศฉบับต่อไป ชาวบ้านก็คงจะต้องต่อสู้ในทางกฎหมาย และที่ผ่านมาชาวบ้านประมาณ 300 กว่าคนที่มีที่ดินอยุ่บนที่สูงเคยร่วมตัวกันประท้วงที่ศาลากลางมาแล้วเพื่อเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไขประกาศในข้อที่ 7 นี้ เพราะชาวบ้านเดือดร้อนจริงๆ


อย่างไรก็ตาม ในการปรับปรุงประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดข้อเสนอแนะและแนวทางในการเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่ 7 ที่เป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกินกว่า 80 เมตรขึ้นไป


โดยกำหนดมาตรการเยียวยาไว้ ดังนี้ พื้นที่ค่อนข้างราบจนบรรจบพื้นที่เชิงเขาที่มีความลาดชันตั้งแต่ 1-15% หรือมีความลาดชัน 0.5-8 องศา กำหนดก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว มีระดับความเข้มข้นในการใช้ที่ดินสูงสุด 1,000 ตารางวาของแปลงที่ดินต่อหลัง พื้นที่อาคารรวมสูงสุด 150 ตารางเมตร ความสูงอาคารไม่เกิน 8 เมตร


พื้นที่เชิงเขาหรือภูเขาที่มีความลาดชันตั้งแต่ 15-25% หรือ 8.5-17 องศา สร้างอาคารที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว ได้ 1,000 ตารางวา อาคารสูงไม่เกิน 8 เมตร,พื้นที่เชิงเขาหรือภูเขาที่มีความลาดชันเกินกว่า 25% กำหนดให้เป็นพื้นที่เกษตรห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงใดๆ รวมทั้งห้ามนำที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรโดยเด็ดขาด และในการอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารบนที่สูงเกิน 80 เมตรนั้น จะอนุญาตให้เฉพาะประชาชนที่มีรายชื่อ 300 กว่ารายที่เป็นเจ้าของที่ดินเดิมเท่านั้น


………………………………………………….
นักข่าวเจ้าแง่ รายงานถึงการเรียกร้องให้มีการแก้ไขประกาศกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต ฉบับใหม่ ที่จะมีกำหนดเวลาบังคับใช้ระหว่างปี พ.ศ.2551-พ.ศ.2554 แทนประกาศฉบับเก่าที่มีกำหนดเวลาบังคับใช้ ระหว่างปี พ.ศ.2546-พ.ศ.2550 โดยประเด็นใหญ่
นอกจากการเพิ่มดูแลทรัพยากรธรรมชาติในทะเล อันเนื่องด้วยการพัฒนาพื้นที่ใช้เป็นท่าเทียบเรือสำราญ หรือ มารีน่า ที่ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศน์ริมชายฝั่ง และยังมี ขอผ่อนปรนประกาศข้อ 7 ว่าด้วยการห้ามก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารใดๆ ที่เป็นพื้นที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางเกิน 80 เมตรขึ้นไป

ไข่มุกอันดามัน คำขวัญประจำเมืองภูเก็ต ที่แสดงถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ที่ก่อเกิดคุณประโยชน์ แก่ท้องถิ่น และ ประเทศชาติ ในการดำเนินชีวิตประกอบสัมมาอาชีพ แหล่งรายได้ของประชาชน และภาษี ที่มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จาก การเกษตรกรรม ดั้งเดิม สู่การทำเหมืองแร่ดีบุก จนมาถึงการ การท่องเที่ยว ที่ทำให้ ภูเก็ต เป็นเมืองตากอากาศที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งทำให้พื้นที่ริมชายหาด ที่ดินที่มีทัศนียภาพที่สวยงาม ที่ใช้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว กลายเป็นทำเลทองทวีมูลค่ามหาศาล และด้วยเป็นท้องถิ่นที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จนทำให้ ที่อยู่อาศัย กลายเป็นธุรกิจที่กำลังแผ่ขยายแบบสวนกระแสเศรษฐกิจ ไปทั่วทุกพื้นที่ โดยปัจจุบันมีการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตั้งแต่รูปแบบ โครงการบ้านจัดสรร ราคาเริ่มต้นที่ 900,000 คอนโดมิเนียม จนไปถึงบ้านพักตากอากาศ ราคาตั้งแต่ 20 ล้าน ที่กำลังได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั่วโลก

จากข้อเรียกร้องของผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินพื้นที่ 7 จำนวนกว่า 300 ราย ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่จะใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรกรรม ได้เสนอให้มีการผ่อนปรนอนุญาตให้ ดัดแปลง ก่อสร้างอาคาร ในพื้นที่ จนมีการรวมตัวกันมาประท้วงที่หน้าศาลากลาง โดยอ้างถึงความเดือนร้อนด้านที่อยู่อาศัย แม้ผู้ถือกรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่ นอกจากจะไม่ได้ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย แล้วยังมีผู้ประกอบการ นักธุรกิจ และนายทุน ที่หวังจะเพิ่มมูลค่าในที่ดินในครองครอง หรือ พัฒนาพื้นที่ เป็น แหล่งท่องเที่ยว อาคารบ้านพักตากอากาศ เพื่อรองรับความต้องการของ คนไทย และต่างชาติ

ซึ่งก่อนหน้านี้ มีแหล่งข่าวจากสำนักงานที่ดินจังหวัดฯ ได้กล่าวถึงการกว้านซื้อที่ดินบริเวณเชิงเขาในราคาสูง หลังจากมีข่าวการแก้ไขประกาศกระทรงทรัพยากรฯ และยังชี้ช่องทางของ เจ้าของกรรมสิทธิ์ จะสามารถตัดแบ่งย่อยที่ดินในกรรมสิทธิ์ออกเป็นแปลงเล็ก และ ใช้ก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ในพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะทำให้มีการทำลายป่าไม้ที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรธรรมชาติโดยรวม

ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.ภูเก็ต จึงเสนอให้แก้ไขผ่อนปรนประกาศกระทรวงทรัพยากรฉบับใหม่ ให้สามารถ ก่อสร้างอาคาร ในพื้นที่ที่มีความลดชันไม่เกิน 17 องศา ในความสูงไม่เกิน 8 เมตร เนื้อที่ 150 ตาราวา ต่อพื้นที่ 1,000 ตารางวา
และจะอนุญาตให้ก่อสร้างได้เฉพาะเจ้าของเดิม ซึ่งหมายถึงผู้ถือกรรมสิทธิ์สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จ ก่อนมีการซื้อขาย หรือ โอนกรรมสิทธิ์ให้บุคคลอื่นต่อไป

กรณี การผ่อนปรน ประกาศข้อที่ 7 ดังกล่าว ล่าสุด นาย นิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เปิดเผยถึง ผลการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวง โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่ายังจะไม่มีการแก้ไขประกาศข้อดังกล่าว จนกว่า จะผ่านการพิจารณาจาก คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และยังกล่าวถึงการเสนอให้มีการผ่อนปรนให้มีการอนุญาตให้ก่อสร้าง แก่หน่วยงานรัฐ ที่มีความต้องการใช้พื้นที่ดังกล่าว

แง่ดี ในการผ่อนปรน ทำให้มีการพัฒนาพื้นที่ 7 ให้สามารถก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย จะช่วยกระตุ้นธุรกิจการก่อสร้าง แรงงาน และ เพิ่มมูลค่า โดยสามารถใช้พื้นที่เกษตรกรรม มาพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และที่อยู่อาศัย เพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ให้เจ้าของที่ดิน

แง่ร้าย ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติถูกใช้ให้ล่อยหลอลงไป การทำลายป่าไม้บนภูเขา ก่อเกิดปัญญา น้ำท้วม ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถปรับปรุงให้มีการระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ

ก็ว่ากันไป


......................................................................................................

ผู้จัดการ : ชาวบ้านกู้กูเกือบ 50 คน รุกยื่นหนังสือผู้ว่าฯ ตรวจสอบเอกสารสิทธินายทุนอ้างออกทับที่ป่าชายเลน เผยเป็นพื้นที่ปลูกป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติ ที่ชาวบ้าน หน่วยงานภาครัฐร่วมกันปลูกมาหลายสิบปี

วันที่ (5 พ.ย.) ที่บริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดภูเก็ตมีชาวบ้านจากหมู่ที่ 3 บ้านกู้กู ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ประมาณ 50 คน เดินทางมารวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึงนายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ให้ตรวจสอบการเอกสารสิทธิทับที่ป่าชายเลนของเจ้าของที่ดินรายหนึ่งที่อ้างว่า มีเอกสารสิทธิในที่ดินบริเวณป่าชายเลนหมู่ที่ 3 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต

ชาวบ้านที่มายื่นหนังสืออ้างว่า เป็นชุมชนเก่าแก่ที่อาศัยใช้พื้นที่ป่าชายเลนในการประกอบอาชีพ แต่ปัจจุบันได้รับความเดือดร้อนจากสภาพป่าชายเลนที่ถูกทำลาย ซึ่งขณะนี้มีเจ้าของที่ดินอ้างเอกสารสิทธิที่ดินเข้าไปแผ้วถางทำลายป่าชายเลนที่ชาวบ้าน หน่วยงานราชการ ภาคเอกชนร่วมกันปลูกป่าชายเลน เพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกๆปีที่ผ่านมาโดยไม่มีเอกชนมาแสดงสิทธิแต่อย่างใด และเพิ่งมีการปักป้ายห้ามเข้าไปเมื่อปีที่ผ่านมาเอง ซึ่งเจ้าบ้านได้ยื่นหนังสือคัดค้านกันมาแล้วหลายครั้ง

สำหรับป่าชายเลนเฉลิมพระเกียรติผืนนี้ มีรถแบ็คโฮ เข้าไถปรับสภาพพื้นที่ป่าชายเลนบ้านกู้กู หมู่ 3 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต จากนั้นหน่วยคุ้มครองป่าชายเลนที่ 6 ได้เข้าตรวจสอบ พร้อมกับได้ออกมาระบุว่า จากการตรวจสอบค่าพิกัดในพื้นที่ป่าชายเลนที่ชาวบ้านได้มาร้องเรียนนั้น ทราบว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในแนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนคลองบางชีเหล้า-คลองท่าจีน ซึ่งป่าชายเลนผืนนี้ยังเป็นป่าชายเลนที่สมบูรณ์อยู่มาก และยังได้มีการออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งเป็นการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ

สำหรับการยื่นหนังสือในครั้งนี้ ต้องการให้จังหวัดภูเก็ต ยับยั้งและยุติการดำเนินการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ป่าชายเลนของนายทุนในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งขอให้จังหวัดนำป้ายประกาศห้ามบุกรุก ทำลายสภาพป่าชายเลน ในพื้นที่บริเวณดังกล่าวออก จนกว่าจะมีการตรวจสอบเอกสารแล้วเสร็จ และขอให้มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิโฉนดเลขที่ 35691 และเลขที่ 2980 ตำบลรัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต

นายนวล บุญเลิศ อายุ 76 ปี อยู่บ้านเลขที่ 55 /1 หมู่ 3 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ตนได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าชายเลนผืนนี้ ประกอบอาชีพหาเลี้ยงครอบครัวมานานกว่า 50 ปีแล้ว โดยจะเข้าไปหาหอยจุ๊บแจง หอยกัน และหาปูดำ มาขายให้กับแม่ค้าในจังหวัดภูเก็ต

หลังจากที่มีนายทุนมากว้านซื้อที่ดิน และออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบทับป่าชายเลนผืนนี้ นายทุนกลุ่มนี้ก็ห้ามไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปหากินในพื้นที่นี้อีก แต่ถึงอย่างไรตอนนี้ก็ไม่มีลูกกุ้ง ลูกปลาอาศัยอยู่แล้ว เพราะป่าชายเลนโดนไถทำลายปรับสภาพพื้นที่หมดแล้ว

จากนั้นนายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เข้ามารับหนังสือร้องเรียนจากชาวบ้าน พร้อมกับมอบหมายให้นายวิศิษฐ คูรัตนเวช นายอำเภอเมืองภูเก็ต ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ทันที เพื่อจะได้นำข้อมูลที่ชาวบ้านความเดือดร้อน หาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อไป


.......................................................................................................
นักข่าวเจ้าแง่ รายงานถึงการเข้าไปครอบครองใช้ประโยชน์ในพื้นที่สาธารณะ และ ผ่าฝืนประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปเกือบทุกพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ต

แนวเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเลนคลองบางชีเหล้า-คลองท่าจีน เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งประชาชนที่ได้รับความเดือนร้อน ได้ออกมาร้องเรียนให้มีการตรวจสอบและดำเนินการ


......................................................................................................

(เอ่อ เทส 1..2..3 เทส... ทดสอบ...ทดสอบ...)


Create Date : 06 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 6 พฤศจิกายน 2550 17:09:26 น. 0 comments
Counter : 497 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นายไวรัส
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




หนุ่มวายร้าย นายตู่ศักดิ์
Friends' blogs
[Add นายไวรัส's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.