All Blog
AMERICAN GANGSTER : อเมริกันอันตราย
AMERICAN GANGSTER (โคตรคนตัดคมมาเฟีย) : อเมริกันอันตราย / 3 ดาวครึ่ง

ดารานำ : เดนเซล วอชิงตัน และ รัสเซลล์ โครว์
กำกับฯ : ริดลีย์ สก๊อตต์
ความยาว: 157 นาที
ประเภท : สำหรับผู้ใหญ่โดยเฉพาะ

หนังเรื่องนี้เปิดฉายในอเมริกาตั้งต้นเดือนพ.ย. และกลายเป็นหนังเรื่องแรกของโปรแกรมในช่วงฤดูใบไม้ร่วงในอเมริกาที่สามารถทำรายได้ผ่านหลัก 100 ล้านดอลลาร์ไปแล้วเรียบร้อย ในช่วงเวลาการฉายมาแค่ 3 สัปดาห์ และตัวหนังมีความยาวเกินกว่าความยาวหนังปกติไปตั้งกว่าครึ่งชั่วโมงด้วยซ้ำ

เห็นยี่ห้อของผู้กำกับฯ ริดลีย์ สก๊อตต์ มากับดาราคู่บุญอย่าง รัสเซลล์ โครว์ ดารานำชายรางวัล “ออสการ์” จาก “แกลดิเอเตอร์”) และ เดนเซล วอชิงตัน (ดาราชายเจ้าของ 2 รางวัล “ออสการ์” นำชาย จาก “เทรนนิ่ง เดย์” และประกอบชายจาก “กลอรี่” ที่อาจไม่เคยแสดงหนังที่ ริดลีย์ กำกับฯ แต่เขาก็ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับครอบครัว สก๊อตต์ เพราะ โทนี่ สก๊อตต์ น้องชายของ ริดลีย์ นั้นแทบจะเป็นผู้กำกับฯที่ใช้บริการ เดนเซล แสดงในหนังมาแล้วหลายต่อหลายเรื่อง ไม่แพ้ที่ รัสเซลล์ แสดงหนังของ ริดลีย์ เหมือนกัน) และหนังถูกวางโปรแกรมฉายเอาตอนปลายปี ไม่บอกก็จะคงจะคาดเดาได้ว่า งานชิ้นนี้เป็นงานที่หวัง “ลุ้น” รางวัล “ออสการ์” รอบใหม่ตอนต้นปีนี้ด้วยเช่นกัน และสำหรับนักดูหนังเมืองไทย งานชิ้นนี้อาจมีความน่าสนใจเพิ่มไปอีกเป็นพิเศษ ก็เพราะนี่เป็นหนังที่ยกกองมาถ่ายทำทางภาคเหนือของเรา ในช่วงรอยต่อราวปลายปี 2006-ต้นปี 2007 มาแล้ว

แต่ว่ากันว่า งานชิ้นนี้ทำท่าจะมีการสร้างมาแล้วตั้งแต่ปี 2004 โดยผู้กำกับฯที่มาจับโปรเจ็คท์นี้คนแรกไม่ใช่ ริดลีย์ แต่เมื่อมีการเลื่อนกำหนดถ่ายทำไปมาในที่สุดก็มาสรุปที่ตัว ริดลีย์ โดยใช้ตัวบทที่ สตีเวน เซลเลียน มือเขียนบทรางวัล “ออสการ์” (จาก “ชินด์เลอร์’ส ลีสต์) ได้เข้ามารื้อ และดัดแปลงแก้ไขจากบทร่างเดิมที่ทางผู้กำกับฯเจ้าของโปรเจ็คท์คนก่อน ๆ ทำไว้ แต่ต้นเรื่องที่เป็นที่มาของเรื่องนี้จริง ๆ มาจากบทความชื่อ “เดอะ รีเทิร์น ออฟ ซูเปอร์ ฟลาย” (ที่เคยใช้เป็นชื่อโปรเจ็คท์อยู่พักหนึ่ง) ซึ่งเขียนขึ้นโดย มาร์ค จาค็อบสัน

หนังเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษที่ ’70 ยุคสมัย ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาขณะนั้นประกาศก้องว่า ศัตรูที่สำคัญที่สุดของประเทศก็คือ ยาเสพติด แต่หนังก็นำคนดูไปพบกันเส้นสายโยงใยของเครือข่ายยาเสพติดที่เข้าไปสู่อเมริกาที่แม้จะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว แต่มันก็เป็นการเปิดโปงความจริงที่เกิดขึ้นอย่างทึ่งในอิสรภาพของคนทำหนัง และสื่อมวลชนอเมริกัน ชนิดที่ลองถามตัวเราเองว่า หลายเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นในบ้านเรา ซึ่งอาจจะเนิ่นนานกว่าเหตุการณ์นี้ด้วยซ้ำจนถึงทุกวันนี้คนไทยเองก็ยังไม่มีใครกล้าออกมาเปิดเผยให้คนทั่วไปได้รับรู้ความจริง

หนังอิงเรื่องจริงที่ตัวละครหลายตัวมีตัวตนจริง ๆ เปิดฉากด้วยวิธีการก้าวขึ้นมาสู่อำนาจของ แฟรงค์ ลูคัส (เดนเซล วอชิงตัน) เจ้าพ่อค้ายาเสพติดรายใหม่ในนิวยอร์ค ซึ่งเลือกที่โค่นเจ้าพ่อคนเก่าลงไป และ ลูคัส เป็นนักค้ายาเสพติดที่มีวิธีการดำเนินการค้าขายที่อาจจะพลิกรูปแบบของพ่อค้ายาเสพติดรายเดิมที่เคยมีมา นอกจาการเดินทางมายังดินแดนสามเหลี่ยมทองคำเพื่อติดต่อกับแหล่งวัตถุดิบโดยตรง แล้วส่งเข้าอเมริกาโดยการแปรรูปในสูตรที่เข้มข้นกว่าสินค้าเก่า ๆ ในตลาดแล้ว ลูคัส ก็ยังเปิดฉากทำสงครามราคากับพ่อค้ายาเสพติดรายอื่นด้วย ซึ่งทำให้ ลูคัส กลายเป็นเจ้าพ่อค้ายาเสพติดที่ร่ำรวยมั่งคังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ด้วยบุคลิกที่ลุ่มลึกชาญฉลาด และเด็ดขาดใจถึงกว่าเจ้าพ่อยาเสพติดหลาย ๆ คนจะเคยมี ขณะที่ทางการก็พยายามจะแกะรอยหาหลักฐานแบบจับให้มั่นคั้นให้ตายให้ถึงตัวต้นตอเจ้าพ่อค้ายาเสพติดดาวรุ่งรายนี้ แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้านัก จนกระทั่งได้ ริชชี่ โรเบิร์ทส์ (รัสเซลล์ โครว์) ตำรวจหนุ่มนักสืบเลือดดีไฟแรงเจ้าของอุดมการ “กัดไม่ปล่อย” เข้ามาร่วมทีมปฏิบัติการด้วย

บทหนังใช้วิธีเล่าเรื่องของ ลูคัส และ โรเบิร์ทส์ แบบแยกส่วนของใครของมัน เป็นปบบคู่ขนานกันไป ทำให้คนดูได้เห็นคาแรคเตอร์เฉพาะตัวของตัวละครทั้งคู่ รวมทั้งแนวคิด วิธีเลือกดำเนินการจัดการกับปัญหา ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงการสะท้อนภาพด้านเดียว แต่ก็ทำให้แม้หนังจะมี เดนเซล วอชิงตัน กับ รัสเซลล์ โครว์ แสดงนำร่วมกัน แต่คนดูจะไมได้เห็นทั้งคู่เข้าฉากเจอกันเลยจนกระทั่งถึง 2-3 ฉากสุดท้ายของหนัง

นอกจากภาพตำรวจตงฉินของ โรเบิร์ทส์ แล้วหนังแสดงให้เห็นตำรวจที่ทุจริต และใช้อำนาจหน้าที่สมคบร่วมคิด และเรียกร้องหาผลประโยชน์จากเจ้าพ่อนักค้ายาเสพติดด้วย รวมไปถึงความจริงที่เคยมีการพูดถึงมานักต่อนักแล้ว แต่เหมือนได้รับการมาขีดเส้นใต้ หรือทำ “ไฮไลท์” เน้นให้ชัดเจนกันอีกที นั่นคือ สงครามเวียดนามของอเมริกาในสมัยนั้น กลายเป็นแหล่งลำเลียงยาเสพติดจากเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หรือพูดให้ชัดคือ สามเหลี่ยมทองคำออกไปสู่อเมริกาสู่โลกด้วย โดยนายทหารอเมริกันที่ไปปฏิบัติการรบประจำฐานทัพอเมริกันที่อยู่ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ (ที่หนังพูดชัดเจนเลยว่าระบุถึงกรุงเทพฯ ถึงประเทศไทยเลย) ได้กลายเป็นอเมริกันอันตรายในฐานะทั้งเป็นผู้จัดการประสานงานให้ ลูคัส ได้พบกับพ่อค้าฝิ่นที่ปลูกในเขตสามเหลี่ยมทองคำ และรับส่งของถึงมือ ลูคัส ในอเมริกา หรือเมื่อ ลูคัส อยู่ที่อเมริกาก็ยังต่อโทรศัพท์สายตรงเช็คของได้อย่างสะดวกสบาย

แต่หนังก็ยัง “เพลย์เซฟ” ในตัวเล็ก ๆ เหมือนจะสอดแทรกข้อคิดเตือนใจคนอยู่บ้าง อย่างที่ พ่อค้าฝิ่นพยายามจะเตือน ลูคัส ให้เลิกการทำธุรกิจนี้แต่ครั้งที่เขายังประสบความสำเร็จอยู่ ดีกว่าที่จะเลิกเมื่อตกต่ำไปแล้ว หรือแม่ของ ลูคัส ที่พยายามบอก ลูคัส ว่า เธอไม่เคยถามลูกชายเลยว่าร่ำรวยขึ้นอย่างไร แต่ให้จำไว้ว่า พี่ ๆ น้อง ๆ ที่เห็นความสำเร็จของ ลูคัส ทุกคนต่างก็คิดจะยึดเขาต้นแบบที่อยากเจริญรอยตาม อยากจะเป็นอย่างเขา

ในแง่ของบทบาทนักแสดง และโปรดักชั่น ยี่ห้อของ 2 ดารานำกับผู้กำกับฯอย่าง ริดลีย์ สก๊อตต์ การันตีคุณภาของตัวงานอยู่แล้ว ขณะที่ในความเป็นหนังที่พูดถึงขบวนการค้ายาเสพติด “อเมริกัน แก๊งค์สเตอร์” ก็ยังมีความแตกต่างที่รายละเอียดของตัวหนังเองด้วย

ที่สำคัญนี่คือ งานที่เปิดโปงเครือข่ายยาเสพติดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โลกเคยมีให้โลกได้รับรู้อีกครั้ง.



Create Date : 27 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 27 พฤศจิกายน 2550 0:45:26 น.
Counter : 2014 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

alexkh
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]