All Blog
INDIANA JONES AND THE KINGDOM OF THE CRYSTAL SKULL : ครอบครัวผจญภัย
INDIANA JONES AND THE KINGDOM OF THE CRYSTAL SKULL (ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า 4 อาณาจักรกะโหลกแก้ว) : ครอบครัวผจญภัย / 3 ดาวครึ่ง

ดารานำ : แฮร์ริสัน ฟอร์ด และ เคท บลันเช็ทท์
กำกับฯ : สตีเว่น สปีลเบิร์ก
ความยาว: 120 นาที
ประเภท : ดูได้ทั่วไป

ถึงจะไม่ใช่ มอส-ปฏิภาณ แต่แฟน ๆ ของ “ฮีโร่” นักโบราณคดี และนักผจญภัยนาม “อินเดียน่า โจนส์” หรือในชื่อที่เป็นทางการว่า ดร.เฮ็นรี่ โจนส์ ก็คงอยากจะร้องบอกว่า “มาช้า ยังดีกว่าไม่มา” เพราะนี่เป็นหนังภาคที่ 4 ในชุด “อินเดียน่า โจนส์” ที่ถูกสร้างตามออกมาหลังจากหนังภาคที่ 3 ฉายผ่านไปนานถึง 19 ปี เรียกว่า ติด ๆ อันดับต้น ๆ ของหนัง “ภาคต่อ” ที่ถูกทิ้งช่วงกว่าจะถูกสร้างตามมาอีกเรื่องหนึ่ง ทั้ง ๆ ที่ “อินเดียน่า โจนส์ แอนด์ เดอะ ลาสท์ ครูเสด” ภาคล่าสุดก่อนหน้า ซึ่งออกฉายในปี 1984 ซึ่งใช้ทุนสร้างในยุคนั้น 48 ล้านดอลลาร์ ก็ทำรายได้ในอเมริกาไป 191 ล้านดอลลาร์ และทำรายได้ทั่วโลกได้ถึง 494 ล้านดอลลาร์ ส่วนหนึ่งนอกจากคนทำจะทำท่าจะหมด “กึ๋น” ที่จะหาพล๊อตเจ๋ง ๆ มาสร้างแรงบันดาลใจ (แต่ก็ยังมีการสร้างซีรี่ส์ “เดอะ ยังก์ อินเดียน่า โจนส์ ครอนิเคิ่ลส์” อยู่ในช่วงระหว่างปี 1992-1996 รวม 3 ซีซั่น) ทั้ง จอร์จ ลูคัส โปรดิวเซอร์ฝ่ายบริหาร และ สตีเว่น สปีลเบิร์ก ผู้กำกับฯก็คงคิดอยากจะก้าวไปทำงานอะไรใหม่ ๆ ไม่ใช่วนเวียนอยู่แค่การปั้นหนังแค่โปรเจ็คท์เดียวตลอดชีพ

แต่ดูเหมือนว่า สิ่งหนึ่งที่เป็นพันธะยึดเหนี่ยวให้มีหนัง “อินเดียน่า โจนส์” ภาค 4 เห็นจะเป็นคำมั่นสัญญาที่ ลูคัส และ สปีลเบิร์ก ให้ไว้กับ แฮริสัน ฟอร์ด ผู้รับบท ดร.โจนส์ ว่า จะมีการสร้างหนัง “ภาตค่อ” ให้เขากลับมารับบทนี้อีกครั้ง ซึ่ง ฟอร์ด ก็รอคอยพิสูจน์สัญญานี้มาจนตอนที่แสดง “เรดเดอร์ส ออฟ เดอะ ลอสท์ อาร์ค” ภาคแรก หลังจากเพิ่งเสร็จสิ้นภารกิจการรับบท ฮัน โซโล ใน “สตาร์ วอร์ส-ดิ เอ็มไพร์ สไตร็คส์ แบ็ค” ไปหมาด ๆ โดยตอนนั้นเพิ่งมีอายุแค่ 38 ปี แต่พอกลับมาแสดงภาคล่าสุดนี้ ฟอร์ด ก็มีอายุปาเข้าไป 65 ปีแล้ว เรียกว่า เวลาผ่านไปไวเหมือนโกหกจริง ๆ แต่ก็เป็นอายุอานามที่อ้างอิงได้ตรงเผงจากครั้งที่ ฟอร์ด ไปเป็นดารารับเชิญในซีรี่ส์ “เดอะ ยังก์ อินเดียน่า โจนส์ ครอนิเคิ่ลส์” เมื่อปี 1993 ซึ่งแสดงเป็น ดร.โจนส์ ในวัย 50 ปี นับถึงปีนี้อีก 15 ปีต่อมา ก็เท่ากับ 65 ปี พอดิบพอดี

เหตุการณ์ “อินเดียน่า โจนส์ แอนด์ เดอะ คิงดอม ออฟ เดอะ คริสตัล สคัลล์” ภาคนี้ ก็ทำออกมาแบบยอมรับสภาพจริง ๆ ของ ฟอร์ด ในระดับหนึ่งคือ ในวัยที่ดูเขามีอายุมากขึ้นแล้ว และตัดสินไม่ได้เอาหนังไป “รีทัช” ลบหน้าย่นแต่อย่างใด โดยเหตุการณ์ในภาคนี้ก็ระบุว่าเกิดขึ้นในช่วงปี 1957 หรือเมื่อ 50 กว่าปีก่อนที่ผ่านช่วงเวลาในยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งหนัง “อินเดียน่า โจนส์” ทั้ง 3 ภาคก่อนหน้าจะอยู่ในช่วงนั้น แต่ถ้าเทียบเล่น ๆ ว่า “เรดเดอร์ส ออฟ เดอะ ลอสท์ อาร์ค” ภาคแรก จะเปิดฉากขึ้นที่อเมริกาใต้ ปี 1936 “อินเดียน่า โจนส์ แอนด์ เดอะ เทมเปิ้ล ออฟ ดูม” ภาค 2 มาเปิดฉากขึ้นที่เซี่ยงไฮ้ก่อนหน้า 1 ปี คือ ปี 1935 ขณะที่ “อินเดียน่า โจนส์ แอนด์ เดอะ ลาสท์ ครูเสด” ภาค 3 ก็เปิดฉากแนะนำให้รู้จักที่มาของหมวก และแส้พร้อมชีวิตวัยเยาว์ของ “อินเดียน่า โจนส์” ครั้งยังเป็นเด็กนักเรียน (ลูกเสือ) อยู่ที่ยูท่าห์ในปี 1912 (แสดงโดย ริเวอร์ ฟีนิกซ์) ก่อนจะมาถึงบท ฟอร์ด แสดง ซึ่งเป็นเหตุการณ์เริ่มต้นที่ชายฝั่งโปรตุเกส ในปี 1938 คิดคร่าว ๆ เอาจากช่วงยังเป็นนักเรียนเรียนวิชาลูกเสือในปี 1912 นั้นว่า น่ามีอายุราว ๆ สัก 14 ปี อายุของ ดร. โจนส์ ในภาคล่าสุด ปี 1957 ก็น่าจะมีอายุแค่ 45 ปี เองแต่ ใบหน้า ฟอร์ด ที่เห็นก็ดูจะยังแซงอายุไขของตัวละครไปไกลอยู่เหมือนกัน

เหตุการณ์เด่นของโลกในช่วงปี 1957 นั้นก็คือ ยุคสมัยแห่งสงครามเย็น การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ 2 ขั้ว คือ อเมริกาในฐานะเป็นผู้นำแถวหน้าของโลกฝ่ายเสรีนิยม หรือประชาธิปไตย กับรัสเซียที่เป็นผู้นำแถวหน้าของโลกคอมมิวนิสต์ หนังเปิดเรื่องขึ้นเมื่อฝ่ายรัสเซียบุกเข้ามาช่วงชิงสมบัติล้ำค่า (และสุดแสนลึกลับ) ไปจากฐานทัพของอเมริกาในแถบนิวเม็กซิโก ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา (ซึ่งสภาพพื้นที่แถบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทะเลทรายอันกว้างใหญ่) และแน่นอนว่า ดร.โจนส์ ก็เข้ามามีส่วนพัวพันในส่วนปะทะกำลังกันในฐานะตัวแทนของอเมริกันกับฝ่ายรัสเซียที่นำโดยผู้นำทหารหญิง อิริน่า สปัลโก้ (เคท บลันเช็ทท์) ซึ่งมีผลงานโดดเด่นจนได้ชื่อว่า เป็นลูกคนโปรดคนหนึ่งของ สตาลิน ทีเดียว แต่เมื่อ ดร.โจนส์ หนีรอดกลับไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยมาร์แชลล์ อย่างเคยได้ เขากลับถูก “อำนาจมืด” บีบให้ไปกลับไปนั่งกินเงินเดือนอยู่ที่บ้าน โดยไม่ต้องมาสอนหนังสืออีก

ดร.โจนส์ ได้พบกับเด็กหนุ่มชื่อ มัตต์ (ไชอา ลาบัฟฟ์) ที่มาขอความช่วยเหลือในการตามหาตัว ศาสตราจารย์อ๊อกซ์ลีย์ (จอห์น เฮิร์ท) ซึ่งเป็นเพื่อนเก่าเพื่อนแก่ของ ดร.โจนส์ เอง กับแม่ของเขาที่สูญหายไปในเปรู ซึ่งทำให้ ดร.โจนส์ เข้าสู่การผจญภัยครั้งใหม่ในการค้นหา และพิทักษ์ “กะโหลกแก้วแห่งอเคเตอร์” ในดินแดนโบราณของเปรู ซึ่งเคยเป็นแหล่งอารยธรรมของชนเผ่าอินคา ซึ่งฝ่ายรัสเซียภายใต้การนำของ สปัลโก้ ก็จ้องที่จะได้มันมาเป็นเจ้าของ โดยการผจญภัยเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายครั้งนี้นอกจากจะทำให้ ดร.โจนส์ ได้พบเพื่อนเก่าอย่าง อ๊อกซ์ลีย์ แล้ว ยังทำให้ ดร.โจนส์ ได้รู้ความลับในครอบครัวของเขาเองอีกด้วยว่าเด็กหนุ่มชื่อ มัตต์ นั้นเป็นลูกของ แมเรียน ราเวนวู้ด (คาเรน อัลเลน) และ ราเวนวู้ด ก็ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า มัตต์ คือ ลูกชายแท้ ๆ ของ ดร.โจนส์ อย่างไร้ข้อสงสัยใด ๆ ด้วย แต่ความลับที่สำคัญยิ่งกว่า และเป็นไคลแม็กซ์ของหนังภาคนี้นั่นก็คือ ปริศนาแห่ง “กะโหลกแก้วแห่งอคาธอร์” ว่า มันเป็นแค่มรดกทางวัฒนธรรมของชนเผ่าอินคาเพียงแค่นั้น หรือมีความลับอื่นที่เร้นลับยิ่งกว่าซุกซ่อนอยู่ในแถบนี้ อันเป็นปริศนาเดียวกับที่เคยมีคนตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งก่อสร้างโบราณบนภูเขาสูงแบบปิรามิดโบราณของชนเผ่าอินคาในแถบนั้น เป็นฝีมือของมนุษย์จริง ๆ ละหรือ?

บทของหนังที่แก้แล้วแก้อีกมาหลาย “เวอร์ชั่น” จนมาจบที่เครดิตซึ่งขึ้นในไตเติ้ลหนังว่าเป็นของ เดวิด โค้ปป์ นักเขียนบทแถวหน้าอีกคนของฮอลลีวู้ด ซึ่งเคยร่วมงานกับ สปีลเบิร์ก ในหนัง “จูราสสิค ปาร์ค”,“เดอะ ลอสท์ เวิลด์” และ “วอร์ ออฟ เดอะ เวิลด์ส” มาแล้ว พยายามจะยึดขนบของหนัง “อินเดียน่า โจนส์” ที่ผ่าน ๆ มา (แม้แต่ช่วงขึ้นไตเติ้ลโลโก้ พาราเมาท์ ที่ทุกภาคก็เอาภาพภูเขาในโลโก้นั้นมาเล่นเชื่อมต่อตอนเปิดหนัง มาภาคนี้ก็เช่นกัน) ขณะที่การเดินเรื่องก็จะมีการ “รีมายด์” ถึงบรรยากาศของหนัง “อินเดียน่า โจนส์” ภาคก่อน ๆ อีกเช่นกัน

แม้โดยภาพรวมของหนังจะทำได้ไม่ถึง “เรดเดอร์ส ออฟ เดอะ ลอสท์ อาร์ค” ภาคแรก อันเป็น “เวอร์ชั่น” ที่เป็น “ออริจินัล” แต่หนังก็ยังทำได้สนุกกว่า บางภาคของหนังชุดนี้ที่ผ่านมา บทหนังมีการแทรกลูกเล่น ปล่อย “แก๊ก” ให้แฟนประจำของหนังชุดนี้ได้ดูไปหัวเราะไปได้อยู่เป็นระยะตั้งแต่ต้นจนจบ แม้ในอเมริกาหนังเรื่องนี้จะได้เรท พีจี-13 ก็เถอะ แต่โดยส่วนตัวหนังออกมาแบบดูได้ทั่วไปทีเดียว เพราะครั้งนี้ สปีลเบิร์ก ก็กลับมาความสนุกระดับครอบครัว มีการเล่นกับสิงสาราสัตว์ ไม่ว่าเจ้าตุ่นทะเลทราย หรือเจ้าจ๋อที่สร้างแรงบันดาลใจให้ มัตต์ กลายมาเป็นทาร์ซานไปชั่วขณะ (แม้ภาพฉากมดกินคนจะดูรุนแรงไปบ้าง แต่จะดูเป็น “แฟนตาซี” ก็ได้)

ดู ๆ ไปการผจญภัยของหนังภาคนี้ของ ดร.โจนส์ ก็กลายเป็นการผจญภัยในหมู่คนในครอบครัว และคนคุ้นเคยของเขามากกว่า การต่อสู้ครั้งนี้เขาจึงต้องห่วงใยในการช่วยชีวิตคนเหล่านั้นด้วย

นอกจาก ฟอร์ด “เด็กปั้น”ของ ลูคัส จะกลับมาแล้ว หนังยังดึง อัลเลน นางเอกภาคแรกกลับมาด้วย ขณะที่ ไชอา ลาบัฟฟ์ ดาราหนุ่มดาวรุ่ง “เด็กปั้น” ของ สปีลเบิร์ก ซึ่งเมื่อ “ซัมเมอร์” ที่แล้วพาหนังอย่าง “ทรานส์ฟอร์เมอร์ส” ไปประสบความสำเร็จติดอันดับรายได้ในระดับต้น ๆ ของ “บ๊อกซ์ออฟฟิศ” มารับบท เฮ็นรี่ โจนส์,จูเนียร์ ที่หนังบอกว่า เป็น “เจนเนอเรชั่น” ที่ 3 ชื่อของก็ถูกขึ้นไว้ในเครดิตไตเติ้ลในตำแหน่งเดียวกับตอน ฌอน คอนเนอรี่ ใน “อินเดียน่า โจนส์ แอนด์ เดอะ ลาสท์ ครูเสด” ทีเดียว และอารมณ์ลูกกับพ่อในภาคนั้นระหว่าง คอนเนอรี่ กับ ฟอร์ด ก็ได้รับการมาสานต่อระหว่าง ฟอร์ด กับ ลาบัฟฟ์ ในภาคนี้ และเรียกว่า ตอนนี้ถ้าจะสร้าง “อินเดียน่า โจนส์” ภาค 5 ตามมา งานนี้ก็แทบจะเป็นการโยนไม้ให้ ลาบัฟฟ์ สืบทอดต่อแล้ว เพียงแต่ว่า บารมีของ ลาบัฟฟ์ จะทำได้ถึงแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

แต่ “หน้าใหม่” สำหรับหนังชุดนี้อีกคน แต่ไม่ใช่ “หน้าใหม่” ในวงการคือ บลันเช็ทท์ ก็เล่นเรื่องได้ร้ายอย่างน่ารักน่าชัง และโดดเด่นชนิดตอนเอา ลาบัฟฟ์ ไปประกบเธอ ก็เล่นเบียดรัศมี ลาบัฟฟ์ ให้ด้อยลงไปแว่บหนึ่งอย่างทันตาเห็นเชียวแหละ ก็ถือเป็นโชคดีของ ลาบัฟฟ์ ที่เป็น “คัท” ซึ่งไม่ยาวนานมากนัก.




Create Date : 23 พฤษภาคม 2551
Last Update : 25 พฤษภาคม 2551 23:13:59 น.
Counter : 1558 Pageviews.

3 comments
  
อยากดูจัง
โดย: radiohea IP: 125.26.52.138 วันที่: 23 พฤษภาคม 2551 เวลา:1:28:47 น.
  
เรื่องนี้สนุกมากเลยอ่ะ ไปดุมาแล้ว คุ้มๆ ไม่เสียดายตังค์ค่ะ
โดย: butbbj วันที่: 23 พฤษภาคม 2551 เวลา:7:34:52 น.
  
เอ๊ แล้วไม่มีเรื่องเมมโมรี่ รักหลอนเหรอคะ
โดย: butbbj วันที่: 23 พฤษภาคม 2551 เวลา:7:55:54 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

alexkh
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]