All Blog
THE BOURNE ULTIMATUM บทอวสาน “เกมล่าหนู”
THE BOURNE ULTIMATUM (ปิดเกมล่าจารชน คนอันตราย): การเดินทางสู่จุดเริ่มต้น / 3 ดาวครึ่ง

ดารานำ : แมตต์ เดมอน และ จูเลีย สไตล์ส
กำกับฯ : พอล กรีนแกรสส์
ความยาว: 111 นาที
ประเภท : ไม่เหมาะสำหรับผู้เยาว์ดูโดยลำพัง

พอล กรีนแกรสส์ เป็นผู้กำกับฯอังกฤษดาวรุ่งพุ่งแรงที่ไปประสบความสำเร็จในฮอลลีวู้ดในช่วงเกือบกึ่งทศวรรษที่ผ่านมา เริ่มจากหนัง “ภาคต่อ” ที่ประสบความสำเร็จโด่งดัง “เดอะ บอร์น ซูพรีแมซี่” ในปี 2004 และ “ยูไนเตด 93” ในปี 2006 หนังที่นำคนดูกลับสู่ช่วงนาทีอันหาญกล้าของผู้โดยสารเครื่องบินพาณิชย์ ยูไนเตด แอร์ไลน์ ที่เป็น 1 ใน 4 ของเครื่องบินที่ถูกจี้โดยผู้ก่อการร้ายในเหตุการณ์ 9/11 ได้อย่างสุดระทึกชนิดแทบนั่งไม่ติดเก้าอี้ส่งให้ กรีนแกรสส์ เป็นผู้กำกับฯหนังแอ็คชั่นที่ได้เข้าชิง “ออสการ์” ปีล่าสุดในสาขาผู้กำกับฯยอดเยี่ยมมาแล้ว นอกเหนือจากหนัง “ยูไนเตด 93” ถูกยกย่องเป็นหนังยอดเยี่ยมแห่งปี 2006 จากการจัดอันดับของนักวิจารณ์หลายสำนัก การกลับมาสานต่อหนัง “ภาคต่อ” ในชุดของ “เจสัน บอร์น” จากนวนิยาย “เบสท์เซลเลอร์” ของ โรเบิร์ท ลัดลั่ม เล่มสุดท้าย “เดอะ บอร์น อัลติเมตั่ม” จึงถือว่า เป็นงานที่ท้าทาย และเดิมพันฝีมือของ กรีนแกรสส์ อีกครั้ง เพราะว่าไปแล้ว กรีนแกรสส์ ก็อยู่ในสภาพที่ต่างจากตอนมาจับหนังชุดนี้ที่เป็นภาค 2 เพราะตอนนั้น กรีนแกรสส์ เป็นแค่ผู้กำกับฯดาวเด่นจากอังกฤษที่ได้โอกาสมาทำหนังใหญ่ของฮอลลีวู้ด แต่พอมาถึง “เดอะ บอร์น อัลติเมตั่ม” เขาเติบโต และสั่งสมชื่อเสียงไปไกลกว่านั้นเยอะแล้ว ท้าทายยิ่งกว่านั้นก็คือ การทำหนังที่สร่งมาจนถึงภาค 3 ให้คงคุณภาพความดีเด่นอย่างน้อยก็ต้องไม่ด้อยกว่า งานภาค 2 ของตนเองที่ได้รับคำชมเชยมาแล้ว
นวนิยายในชุด “เจสัน บอร์น” นี้ ลัดลั่ม เขียนไว้นานแล้ว แม้ตอนที่ถูกหยิบมาสร้างภาคแรก “เดอะ บอร์น ไอเดนติตี้” ในปี 2002 นวนิยายชุดนี้ก็มีอายุผ่านมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อมาถึง “เดอะ บอร์น อัลติเมตั่ม” กรีนแกรสส์ ก็ยังทำให้เรื่องราวในภาคนี้ออกมาดูทันสมัย “ไฮเทค” เหมือนกับเป็นเรื่องราวในยุคสมัยปัจจุบันยังไงยังงั้น ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไม้เครื่องมือที่ฝ่ายรัฐใช้ในการตามแกะรอยเล่นงาน เจสัน บอร์น (แมตต์ เดมอน) หรือระบบเครือข่ายโยงใยล้วงลูกขององค์กรลับของประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาที่เขาไปลุยจัดการในดินแดนประเทศต่าง ๆ ของชาวบ้านได้เป็นว่าเล่นซะงั้น
แม้พูดถึงโครงเรื่องหลักของ “เดอะ บอร์น อัลติเมตั่ม” ภาคนี้แล้วจะมีสั้น ๆ แค่นิดเดียวคือ ในขณะขณะที่ บอร์น พยายามแกะรอยย้อนกลับเข้ามาในองค์กรเพื่อค้นหาความจริงเกี่ยวกับตัวเขาว่าคือใคร? ผู้คนในองค์กรนั้นก็ต้องการปิดฉากชีวิตของเขาซะก่อนที่จะเข้าถึงองค์กรได้สำเร็จ หนังในภาคนี้จึงกลายเป็น “เกมล่าหนู” ของฝ่ายองค์กรลับที่คิดว่า ตนเองเป็นแมวที่เต็มไปกงเล็บเป็นต่อทุกด้านทั้งเครือข่าย ระบบเครื่องไม้เครื่องมือ และกำลังคนด้าน ต่าง ๆ แต่ บอร์น แค่ บอร์น แค่ตัวคนเดียวก็พิสูจน์ศักยภาพตนเองที่ได้ผ่านการ “เทรน” มาอย่างดีจากทางองค์กรนั้นเองให้เห็นว่า นอกจากเขาจะไม่ได้เป็นหนูตัวกระจ้อยร่อยแล้ว ในบางจังหวะสถานการณ์ก็พลิกให้ บอร์น กลายเป็นราชสีห์มาเขมือบแมวไปเสียนี่
คู่ปรับของ บอร์น ในเรื่องนี้ก็คือ โนอาห์ โวเซ่น (เดวิด สเตร็ทไธรน์) หัวหน้าองค์กรลับที่อหังการจะยืนซัดกับ บอร์น หลังจากเป็นไม้เบื่อไม้เมากันมานาน แต่ บอร์น ก็ยังมีมิตรเก่าที่เป็นผู้ช่วยคนสำคัญของเขาตั้งแต่ พาเมล่า แลนดี้ (โจน อัลเลน) เจ้าหน้าที่ระดับสูงของขบวนการสายลับที่เลือกยืนข้างความถูกต้อง และเข้าใจจิตใจของคนพวกเดียวกัน และการพบกันอีกครั้งของ นิคกี้ พาร์สันส์ (จูเลีย สไตล์ส) เจ้าหน้าที่สายลับสาวที่เคยให้ความช่วยเหลือ บอร์น มาก่อนแล้ว ซึ่งนี่เป็น “แบ็คกราวนด์” บางประการที่แฟนหนัง “ขาจร” ที่ไม่เคยดูภาค 1 และ 2 ต้องรู้ไว้เพื่อจะได้ดูหนังได้อรรถรสความเข้มข้นสะใจมากขึ้น
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ การเล่าเรื่องของ กรีนแกรสส์ ที่ทำให้เรื่องดูไม่มีอะไรมากมาย หรืออาจจะเล่าผ่าน ๆ ก็ได้ แต่กลับทำให้ดูมีอะไร และตรึงคนดูได้ตลอด กรีนแกรสส์ พาคนดูหนังของเขาให้อยู่ในฐานะผู้ร่วมสังเกตการณ์ความเป็นไปของเรื่องราวที่เกิดขึ้นเหมือนนั่งอยู่ที่เก้าอี้ชั้นริงไซด์ ขณะที่กล้องส่วนใหญ่แทบจะไม่ตั้งนิ่งอยู่บนขาตั้งกล้องเลย หากมีการเคลือ่นไหวแทบตลอด แม้แตฉากที่ บอร์น นั่งคุยอยู่กับ พาร์สันส์ แต่ 1 ในฉากโชว์ที่โดดเด่นของหนังก็คือ การไล่ล่าติดตาม บอร์น ที่นัดพบนักข่าวของ เดอะ การ์เดี้ยน ในอังกฤษ ซึ่งพาคนดูติดตามตั้งแต่การเริ่มต้นแกะรอยนัดแนะไปจนถึงตอนสุดท้ายของซีเควนซ์ที่ยังไง บอร์น ก็พลิกเกมเป็นต่อได้เสมอ
เดมอน อาจจะจงใจเพิ่มน้ำหนัก และทำตัวให้ดูแก่ไปกับบท แต่ต้องยอมรับว่า นับแต่หนังภาคแรกที่ยังไม่ค่อยจะยอมรับ เดมอน ในการเล่นหนังสายลับแอ็คชั่นแบบนี้มาถึงภาคนี้ เดมอน ก็ดูจะสอบผ่าน และยอมรับได้มากขึ้น (อาจจะรวมจากหนังเรื่องอื่น ๆ ที่เขาแสดงในช่วงเวลาต่อมาด้วย รวมทั้งหนังชุด “โอเชียน’ส” ทั้งหลาย ดาราคนอื่น ๆ ยังคงมาตรฐานการแสดงอย่างไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น 2 ดารารุ่นใหญ่อย่าง อัลเลน กับ สเตร็ทไธรน์ หรือการกลับมาของ สไตล์ส แม้มีเนื้อที่ให้แสดงไม่มาก แต่ก็ยังมีจังหวะโชว์ความสามารถต่างกับการนำเอาดาราหนุ่มดาวรุ่งของเยอรมันอย่าง แดเนียล บรูห์น (จาก “กู้ดบาย เลนิน!”) มาเล่นทั้งทีกับมีบทให้เล่นแค่กระจิ๊ดเดียวเท่านั้นเอง ทำเอาแฟน ๆ ขัดใจไปตาม ๆ กัน
มีข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ คิวบู๊การต่อสู้ของ บอร์น บางตอน ออกมาเป็นคิวบู๊แบบเอเซียมากขึ้น ฉากที่ บอร์น ขึ้นไปอยู่บนหลังคาตึกวิ่งไล่ตามดู พาร์สันส์ ที่จะถูกมือสังหารไล่เก็บนั้น แทบจะเป็นคิวบู๊แบบ “วิ่งสู้ฟัด” ของ เฉินหลง ทีเดียวเชียวแหละ.



Create Date : 10 สิงหาคม 2550
Last Update : 10 สิงหาคม 2550 15:23:16 น.
Counter : 2048 Pageviews.

1 comments
  
อ่านแล้วมึน เอาการเหมือนกันนะเนียะ
เยอะจัด

ชอบทั้ง สองภาค ที่แล้วเลย แต่ภาคนั้ยังไม่มีโอกาสได้
ไปดูเลบ 555 เเถมยังไม่มีเพื่อนดูอีกเรา เเย่นะเนี่ยะ
โดย: haro_haro วันที่: 17 สิงหาคม 2550 เวลา:13:56:13 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

alexkh
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]