All Blog
THE BUDDHA (พระพุทธเจ้า) : พุทธประวัติฉบับสังเขป
THE BUDDHA (พระพุทธเจ้า) : พุทธประวัติฉบับสังเขป / 3 ดาว

ดารานำ : (หนังการ์ตูน)
กำกับฯ : กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์
ความยาว: 95 นาที
ประเภท : ดูได้ทั่วไป

นี่เป็นงานอีกชิ้นที่น่าให้การสนับสนุน และยกย่องชมเชย เพราะถึงแม้ว่า ปีที่แล้วเราจะมีหนังการ์ตูน “ก้านกล้วย” ออกมา และพอมาถึงปีนี้ก็มีหนังเรื่องนี้ แต่เมื่อเทียบสัดส่วนแล้ว ในแง่ของการผลิตหนังการ์ตูนเรื่องยาวสำหรับฉายตามโรงหนังก็ยังไม่ได้เติบโตมากนัก ถ้าจะเทียบสัดส่วนการทำหนังไทยแนวอื่น ไม่เพียงแต่เท่านั้นหนังเรื่องนี้ (ซึ่งยังเป็นแค่หนังการ์ตูน 2 D หรือ 2 มิติ ไม่ใช่ 3 D อย่าง “แอนิเมชั่น” ฮอลลีวู้ด) ก็ยังแสดงให้เห็นถึงเจตนาดีในการหยิบเอาเรื่องราวแห่งพุทธศาสนา มาเล่าสู่คนดูอีก และถ้าถือว่า งานหนังการ์ตูนสามารถสื่อในกว้างไปจนถึงเด็ก ๆ ด้วยแล้ว งานนี้ก็น่าสนับสนุนที่เป็นการนำเรื่องเรื่องราวแห่งพุทธศาสนาที่มีสาระอันสลับซับซ้อนสำหรับเด็ก ๆ (หรือแม้แต่ผู้ใหญ่ด้วยซ้ำ) มาเล่าสู่กันว่า ให้ “เข้าถึง” และ “รับรู้” กันได้มากขึ้น

จากชื่อหนังภาษาอังกฤษที่เคยใช้ชื่อว่า “เดอะ ไลฟ์ ออฟ บุดด้า” หรือในชื่อไทยว่า “ประวัติพระพุทธเจ้า” กลายมาเป็นชื่ออังกฤษว่า “เดอะ บุดด้า” และชื่อไทยที่เหลือแค่ “พระพุทธเจ้า” หนังเรื่องนี้ก็ยังคงทำหน้าที่เดิมไม่เปลี่ยนแปลงที่มีเนื้อหาหลักเป็นการเล่าถึงประวัติของพระพุทธเจ้า องค์ศาสดาแห่งพุทธศาสนา
หนังเริ่มต้นเมื่อพระนางสิริมหามายา พระมารดามีประสูติกาล และได้รับการตั้งชื่อว่า สิทธัตถะ พร้อมคำทำนายจากพราหมณ์ และคณะโหรที่ต่างลงความเห็นว่า หากพระองค์เติบโตขึ้นและยึดเพศฆราวาสก็จะเป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แต่หากเสด็จออกผนวชก็จะเป็นพระพุทธเจ้า หลังจากนั้นพระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดาจึงพยายามที่จะเหนี่ยวรั้งให้ เจ้าชายสิทธัตถะ ยึดทางโลก และสืบทอดราชบังลังก์ แม้ เจ้าชายสิทธัตถะ จะทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงยโสธราพิมพา และให้การประสูติ ราหุล พระโอรส แต่เจ้าชายสิทธัตถะในพระชนมายุ 29 พรรษา ก็ตัดสินพระทัยเด็ดขาดเสด็จออกจากวัง ละทิ้งทางโลก และเดินสู่เส้นทางธรรม จนตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอีก 6 ปีต่อมา และเริ่มเผยแพร่หลักธรรมมะที่พระองค์ค้นพบ แต่มวลมนุษย์ทั้งหลาย เริ่มคนใกล้ชิดอย่างคณะพราหมณ์ทั้ง 5 ที่เคยมารับใช้พระองค์ในช่วงบำเพ็ญทุกรกิริยา ก่อนตรัสรู้ที่เรียกว่า “ปัญจวัคคีย์” มีการอุปสมบท พระภิกษุในพุทธศาสนาขึ้น และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ภิกษุหลายองค์ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์ ร่วมกันเผยแพร่หลักธรรมมะ จนถึงห้วงเวลาละสังขารเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในพรรษาที่ 45 ของพระองค์

ความที่หนังต้องการเล่าเรื่องตลอด 80 พรรษาแห่งพระชนม์ชีพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมเก็บรายละเอียดเอ่ยถึงบุคคลสำคัญต่าง ๆ และเหตุการณ์สำคัญ ๆ ที่เกี่ยวข้องในพุทธประวัติ (ซึ่งบางส่วนก็เป็นการเสริมแต่งเอ่ยถึงในเชิงที่เป็นอิทธิฤทธิ์อภินิหารในเชิงเหนือจริง) เอาไว้ในช่วงเวลาจำกัดของหนังแค่ 90 นาทีเศษ ดังนั้นหนังจึงค่อนเดินเรื่องค่อนข้างฉับไว จนหลาย ๆ เหตุการณ์ หรือตัวบุคคลเป็นการเล่าถึงอย่างผ่าน ๆ แต่สำหรับผู้ที่มีพื้นความรู้ทางพุทธประวัติมาแล้วก็คงพอจับต้นชนปลายเรื่องราวได้อยู่ (อีกทั้งเรื่องราวที่เล่ามาก็อยู่ในกรอบที่ใครร่ำเรียนวิชาศีลธรรมที่เกี่ยวพุทธประวัติมาแล้ว ก็จะพบว่า ไม่มีอะไรใหม่ไปกว่าที่เคยได้รับรู้นัก) แต่ถ้าดูอย่างคนที่คิดว่าไม่มีพื้นทางพุทธประวัติ บางทีก็อาจจะตามไม่ทัน เพราะมีเหตุการณ์ และตัวละครต่าง ๆ เข้ามาได้รับการเอ่ยถึงค่อนข้างเยอะ จนบางรายก็กลายเป็นการเล่าแบบผ่านไปเท่านั้น ยังดีที่ทางผู้สร้างคิดวิธีแนะนำตัวละคร และระบุช่วงเวลาได้อย่างกระชับ โดยการขึ้นตัวหนังสือกำกับตัวละครนั้น ๆ หรือช่วงเวลาต่าง ๆ ของเหตุการณ์ขึ้นมาเลย ก็ช่วยย่นย่อเรื่องให้ได้เดินเรื่องได้เร็วขึ้น แต่บางทีก็เร็วจนสาระในหลักธรรมะที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เอ่ยถึงแด่สาธุศิษย์ทั้งหลายนั้นมันมีรายละเอียดมากเสียจนไม่อาจจดจำ หรือคิดตามไปได้ทัน (เพราะ “ไดอาล็อก” บางช่วงยาวมาก)

เส้นสาย และสีสันของหนังการ์ตูนเรื่องนี้ค่อนข้างจะออกมากระเดียดไปทางหนังการ์ตูน ดีสนีย์ โดยเฉพาะในหนังการ์ตูนอาหรับราตรีเรื่อง “อลาดิน” แต่เสน่ห์อย่างหนึ่งในความเป็นหนังการ์ตูนก็คือ ทำให้หนังมีภาพลักษณ์ที่ไม่เคร่งเครียดสำหรับการเรียกคนดูทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ ต่างกับการทำหนัง “พระพุทธเจ้า” ที่เป็นคนแสดง ซึ่งจะมีภาพที่ดูทั้งเครียดทั้งหนัก และอัดแน่นด้วยหลักปรัชญาคำสอนเกินไป

ไม่ขอ "คอมเมนท์" เรื่องงบสร้าง แต่ตัวงานก็ออกมาจัดว่าใช้ได้ พอตัว ไม่ถึงกับขี้ริ้ว และถือเป็นความพยายามสำหรับการนำผู้คนมาใกล้ชิดรู้จักกับ “พระพุทธเจ้า” และหลักธรรมะคำสั่งสอนของพระองค์ (โดยเฉพาะหัวใจที่สำคัญคือ “อริยสัจ 4”) ขึ้นอีกทางหนึ่ง เพียงแต่ว่าดูแล้ว ก็ต้องไปศึกษาค้นคว้าต่อ ก็จะทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้งเพิ่มมากขึ้น แล้วจะทึ่งว่า ทำไมคำสั่งสอนของ “พระพุทธเจ้า” จึงได้อยู่ยั้งยืนยงผ่านกาลเวลามาแล้วกว่า 2,500 ปี.



Create Date : 06 ธันวาคม 2550
Last Update : 6 ธันวาคม 2550 23:11:56 น.
Counter : 3011 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

alexkh
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]