All Blog
FIGHTING BEAT (อก 3 ศอก 2 กำปั้น ) : จังหวะการต่อสู้ที่กระท่อนกระแท่น
FIGHTING BEAT (อก 3 ศอก 2 กำปั้น ) : พล๊อตเข้าท่า แต่ล้มเหลวที่การเล่าเรื่อง / 2 ดาว

ดารานำ : ธันญ์ ธนากร และ สุระ ธีระกล
กำกับฯ : ปิติ จตุรภัทร์
ความยาว: 80 นาที
ประเภท : ไม่เหมาะสำหรับผู้เยาว์ดูโดยลำพัง

หนัง “คู่แฝด” ของ “ไชยา” ที่ฉายไปก่อนหน้า โดยแรกขึ้น “โปรเจ็คท์” งานชิ้นนี้ใช้ชื่อว่า “พาหุยุทธ์” ซึ่งต่างบอกว่า เป็นการพูดถึงมวยไทยโบราณ หรือมวยไชยา นั่นเอง แต่ต่อมาหนังก็มีการขยับเปลี่ยนชื่อใหม่จากชื่อที่ฟังดูขลัง ๆ กลายมาเป็น “อก 3 ศอก 2 กำปั้น” ที่ฟังดูกลายเป็นหนังแบบตลาด ๆ ในบรรยากาศสมัยใหม่ไป

ว่าโดยพล๊อตเรื่อง “อก 3 ศอก 2 กำปั้น” พยายามจะผูกเรื่องเพื่อชี้ให้เห็นสัจธรรมที่ว่า “ธรรมะย่อมชะอธรรม” และเรื่องราวของการรุกล้ำของต่างชาติเข้ามาสู่ประเทศไทยที่ไม่เว้นแม้แต่ศาสตร์แห่งศิลปการต่อสู้ดั้งเดิมคือ มวยไทย

เหตุการณ์ของเรื่องเกิดขึ้นที่เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติแห่งหนึ่งในทะเลอันดามัน เข้ม (ธันญ์ ธนากร)-ชัย (นิคกี้-สุระ ธีระกล) และกลุ่มเพื่อนมีงานกลางคืนในบาร์ชกมวยที่จัดพื้นที่เป็นสนามมวยให้นักท่องเที่ยวมาประลองฝีมือชกมวยกับนักชกของบาร์ที่มี เข้ม กับ ชัย เป็นตัวหลัก ท่ามกลางแขกนักท่องเที่ยวคนอื่นที่อาจมานั่งกินเหล้ากินเบียร์ดูการชกเป็นการแสดงที่เป็นสีสันของบาร์แทนที่จะมีการแสดงดนตรีหรือโชว์อะโกโก้เรียกแขกแบบบาร์อื่น ๆ ซึ่ง เข้ม กับ ชัย ที่เคยปรึกการชกมวยมาก่อนก็จะมีการ “ออมมือ” เพื่อให้แขกที่ขึ้นเวทีมาชกกับเขาเป็นผู้ชนะพกความภูมิใจกลับไป เรียกว่า ชกเอาสนุก ๆ แต่ต่อมาปรากฎว่า เกิดมีนายทุนต่างชาติที่มีลูกสมุนเป็นทั้งพวกมาเฟียต่างชาติ และนักเลงท้องถิ่นคนไทยเอง ออกใช้อิทธิพลกว้านซื้อที่ชาวบ้านเพื่อจะเปิดสอนมวยไทยขึ้น จนมาถึงการจะมาซื้ออันเป็นที่ตั้งของบาร์ชกมวยแห่งนี้ เข้ม-ชัย และเพื่อน ๆ ในบาร์แห่งนี้จึงรวมตัวกันเพื่อต่อสู้ปกป้องบาร์แห่งนี้ไว้จากพวกนักเลงหัวไม้ทั้งต่างชาติ และคนไทยที่มาคุกคาม

นี่เป็นงานอีกชิ้นจากการกำกับฯของ ปิติ จตุรภัทร์ ที่กลับมาใช้บรรยากาศแถบอันดามันหลังจาก “ตะลุมพุก” และก็เป็นการกลับมาร่วมงานอีกครั้งกับพระเอกหนุ่ม ธันญ์ ธนากร ที่แสดงมาหลายเรื่องแล้วก็ไม่มีเรื่องไปหนทำเงินเปรี้ยงปร้างสักที ซึ่งดูไปแล้วก็จะรวมถึงเรื่องนี้ด้วย ธันญ์ ในเรื่องนี้แม้จะดูมีหุ่นเฟิร์มใช้ได้ แต่ที่ตรงข้ามกับหุ่นคือหน้าตากลับดูคล้ำ ๆ โทรม ๆ ลดความใส ๆ อย่างที่เคยเห็นในหนังเรื่องก่อนหน้า เรียกว่า เรื่องที่ถ้าจะแสดงเป็นคนติดยาก็ดูจะได้เลย

ปัญหาของงานชิ้นคือ วิธีการเล่าเรื่อง และรายละเอียดประกอบต่าง ๆ ของหนังที่บางทีก็ดูจะใส่มากเกินไว้มากเกินไป (รวมถึงการมีตัวละครเยอะ) กลับกลายเป็นส่วนประกอบซึ่งแทนที่จะส่งเสริมหนังให้เด่นขึ้นกลับทำให้ลดความน่าสนใจ ขาดพลังความน่าติดตามไป หรือกลายเป็นเรื่องตลกทีเล่นทีจริงในเหตุการณ์คอขาดบาดตายเสียด้วยซ้ำ หลายซีนของหนังแสดงให้เห็นว่า มีการถ่ายเจาะการแสดงของนักแสดง และอีกหลายซีนมีการตัดต่อที่แทรกเหตุการณ์ต่าง ๆ ผ่าเข้ามาราวกับเรื่องผ่านเหตุการณ์ไปอีกวันหนึ่งแล้ว แต่พออีกฉากสองฉากก็กลับมาที่ฉากก่อนหน้านี้อีก โดยนักแสดงที่แสดงก็ยังใส่เสื้อผ้าชุดเดิม (บางซีนบทจะเล่าเรื่องย้อนก็เล่นย้อนกัน 3 ชั้น หรือเล่าไปถึงัยเด็กเลย) ขณะที่ฉากเล่าเรื่องตอนต้นที่พูดถึงก๊วนพระเอกไปทำงานกลางวันบนเรือนี่ ไม่ต้องมีก็ยังได้ ส่วนไอ้เกาะสถานที่เกิดเรื่องนี่ดูจะอยู่ไกลปืนเที่ยงจริง ๆ เพราะทั้งเรื่องไม่มีใครนึกถึงตำรวจ หรือมีตำรวจโผล่มาให้เห็นสักฉาก นอกจากจะมีเอ่ยถึงใน “ไดอะล็อก” ผู้ร้ายรายหนึ่งที่เพิ่งติดคุกออกมา (ไม่รู้แหกคุกมาหรือเปล่านะพี่)

ขณะที่การวางโครงเรื่องที่ตอนแรกให้ ธันญ์ กับ นิคกี้ เป็นตัวเด่นในโชว์ลีลาเพลงมวย แต่ทำไปทำมาก็ดูเหมือน นิคกี้ ก็เอาไม่อยู่ เลยมาตกที่นั่งที่ ธันญ์ แทบจะเป็น “วันแมนโชว์” แต่แล้วพอครึ่งหลังก็การเพิ่มความสำคัญตัวละครชื่อ พงศ์ เข้ารมาดื้อ ๆ ที่ดูจะ “แย่งซีน” ได้ฉากโชว์เพลมวยจากดารานำทั้งสองคนไปด้วยซ้ำ

น่าเสียดายที่อุตส่าห์มีหนังถึง 2 เรื่องที่หยิบเอาเรื่องของ “มวยไชยา” มาสร้างชนกันแล้ว แต่ทำไปทำมาหนังทั้ง 2 เรื่องกลับไม่ได้ทำให้คนดูได้เข้าใจถึงศาสตร์ “มวยไชยา” จริง ๆ จัง ๆ มากขึ้นสักเท่าไร.



Create Date : 02 พฤศจิกายน 2550
Last Update : 2 พฤศจิกายน 2550 2:11:50 น.
Counter : 4938 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

alexkh
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]