อย่างไรเรียกว่าสังฆทาน
อย่างไรเรียกว่าสังฆทาน
พระไพศาล วิสาโล

บทความนี้ตีพิมพ์ลงในหนังสือ ทำสังฆทานอย่างไรใ้ห้ได้บุญ
โดยสำนักพิมพ์ สบายะ
- - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - - -

คนไทยที่นับถือพุทธศาสนา ไม่ว่าอยู่ที่ใด มักหาโอกาสทำบุญอยู่เสมอ และการทำบุญที่นิยมกันมากก็คือการทำสังฆทาน ยิ่งชาวพุทธไทยที่อยู่ต่างประเทศด้วยแล้ว ชอบทำสังฆทานมากกว่าการทำบุญชนิดอื่น รวมถึงการใส่บาตร ส่วนหนึ่งก็เพราะสังฆทานนั้นสามารถทำได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังเชื่อว่าสังฆทานนั้นมีอานิสงส์มาก

อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับสังฆทานได้แพร่หลายไปมาก กล่าวคือเข้าใจว่าหมายถึงการถวายทานแก่พระภิกษุ ถ้าถวายแก่พระรูปใดก็ถือว่าเป็นสังฆทานทั้งนั้น แต่ความจริงแล้วการถวายทานแก่พระรูปใดรูปหนึ่งอย่างเจาะจง ไม่เรียกว่าสังฆทาน แต่เรียกว่า “ปาฏิบุคลิกทาน”

สังฆทานนั้นหมายถึงการการถวายทานแก่สงฆ์หรือพระทั้งคณะโดยไม่เจาะจงที่พระรูปใดรูปหนึ่ง เพราะคำว่า “สงฆ์”นั้นหมายถึงหมู่คณะ มิได้แปลว่า “พระภิกษุ”อย่างที่มักเข้าใจกัน การถวายแก่สงฆ์หรือพระทั้งคณะ เป็นบุญกิริยาที่พระพุทธองค์ตรัสว่ามีอานิสงส์มาก และมากยิ่งกว่าการถวายแก่บุคคลอย่างเจาะจง แม้ท่านนั้นจะเป็นถึงอริยบุคคลก็ตาม ดังมีพุทธพจน์ว่า “เราไม่เห็นว่าของที่ให้แก่บุคคล (ปาฏิบุคลิกทาน)มีผลมากกว่าของที่ให้แก่สงฆ์ โดยปริยายใด ๆ เลย”

ในขุททกนิกาย วิมานวัตถุ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก มีเรื่องเล่าถึงการพบปะระหว่างเทพธิดาคู่หนึ่งซึ่งเคยเป็นพี่น้องกันในชาติก่อน เทพธิดาผู้พี่หรือนางภัทรามีความสงสัยว่าเหตุใดตนจึงบังเกิดในสวรรค์ชั้นต่ำกว่าผู้น้อง ทั้ง ๆ ที่เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ตนถวายทานแก่พระภิกษุบ่อยครั้งกว่า เทพธิดาผู้น้องหรือสุภัทราตอบว่า นี้เป็นเพราะตนได้ถวายสังฆทานคือถวายทานแก่หมู่สงฆ์ ซึ่งมีผลมาก “จนไม่อาจประมาณได้ว่ามีอยู่เท่าไร” ส่วนผู้พี่นั้นถวายทานแก่ภิกษุ “ด้วยความเลื่อมใสเป็นรายบุคคล ดังนั้นจึงมีผลไม่มาก”

หลักการสำคัญประการหนึ่งของพุทธศาสนาคือ ให้ความสำคัญแก่หมู่คณะหรือส่วนรวมมากกว่าตัวบุคคล ส่วนหนึ่งก็เพราะพุทธศาสนาหรือพระธรรมคำสอนจะยั่งยืนสืบต่อไปได้ก็เพราะหมู่คณะ มิใช่เพราะบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แม้ผู้นั้นจะมีคุณวิเศษเพียงใดก็ตาม แต่ก็ต้องมีอันเป็นไปไม่วันใดก็วันหนึ่ง การฝากพระศาสนาไว้กับคนใดคนหนึ่งจึงเป็นเรื่องเสี่ยงอย่างยิ่ง ตรงกันข้ามกับหมู่คณะซึ่งมีการสืบต่อได้ยาวนานกว่า

การให้ความสำคัญแก่หมู่คณะมากกว่าตัวบุคคลนี้เอง ที่ทำให้พระพุทธองค์ทรงส่งเสริมสังฆทานมากกว่าปาฏิบุคลิกทาน ดังพระองค์ได้ทรงบำเพ็ญเป็นแบบอย่าง เช่น เมื่อพระนางมหาปชาบดีโคตมีนำผ้าไตรที่ทรงตัดเย็บเองมาถวายแด่พระพุทธเจ้า พระองค์ได้ปฏิเสธ และตรัสว่า “ดูกรพระนางโคตมี โปรดทรงถวายแก่สงฆ์เถิด เมื่อท่านถวายแก่สงฆั ทั้งเราทั้งสงฆ์จักเป็นอันได้รับการบูชา”

ถ้าเราเข้าใจความหมายที่แท้ของสังฆทาน เราจะไม่มุ่งทำบุญถวายทานแก่เจ้าอาวาส พระเกจิอาจารย์ หรือพระอริยบุคคลเพียงรูปใดรูปหนึ่งเท่านั้น แต่ยังจะให้ความสำคัญกับการอุปถัมภ์พระสงฆ์ในวัด ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างศาสนทายาทเพื่อสืบทอดภารกิจของเจ้าอาวาสหรือพระผู้เป็นสุปฏิปันโนหลังจากท่านได้ละสังขารไป อีกทั้งยังเป็นการอุปถัมภ์พระศาสนาให้มีความยั่งยืนในระยะยาวด้วย เพราะดังได้กล่าวแล้วว่าพระศาสนาจะยั่งยืนได้มิใช่เพราะความสามารถของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้นแต่เพราะมีคณะสงฆ์ที่เข้มแข็งช่วยกันสืบทอดพระธรรมคำสอน

ดังนั้นจะถวาย “ถังเหลือง” หรือไม่ก็ตาม หากถวายแก่สงฆ์ หรือมีพระรูปใดรูปหนึ่งรับในนามของสงฆ์ ก็ถือว่าเป็นสังฆทานทั้งสิ้น เมื่อถวายแล้วก็ขอให้เกิดความปีติอิ่มเอิบใจในบุญที่ได้ทำ



Create Date : 16 มีนาคม 2555
Last Update : 16 มีนาคม 2555 15:02:14 น.
Counter : 423 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

Namkhiang-Nitcha
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]