ไปเที่ยวกันดีกว่าค่ะ .. ^^
Group Blog
 
All Blogs
 

เรียนวิทยาศาสตร์ทั้งครอบครัวจากไอศครีม

เข้าสู่ห้องปฏิบัติการไอศครีม

ไอศครีมเย็น ๆ ลื่น ๆ หวานมัน ไม่ว่าเด็กหรือผู้ก็คงไม่อยากปฏิเสธความอร่อยของมัน แม้แต่คนที่กำลังลดความอ้วน ก็ยังมีไอศครีมเพื่อสุขภาพมาชวนชิม

กิจกรรมวิทยาศาสตร์ครอบครัวขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มีกิจกรรมใหม่ที่น่าสนใจ ก็คือ การทำแล็ปไอศครีม ที่ไม่ใช่สักแต่ว่าสอนให้ทำไอศครีมเท่านั้น แต่สอดแทรกเกร็ดความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้าไปด้วย

วันนี้แล็ปไอศครีมมีเพื่อน ๆ พี่ ๆน้อง ๆ ผู้ปกครองมากันเต็มห้อง เต็มทุกโต๊ะเลย โดยนางสาว ราตรี มูลแจ้ (พี่ตรี) รับหน้าที่เป็นวิทยากร และนางสาวธนภรณ์ ก้องเสียง (พี่นุช) เป็นผู้ช่วย เมื่อเริ่มเข้าสู่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์

พี่ตรีให้ทุกคนสวมเสื้อกาวน์ แล้วก็ชี้แจงกฏ กติกา มารยาท สั้น ๆ 3 ข้อ คือ
“ห้ามชิมหรือดมก่อนได้รับอนุญาต ห้ามวิ่งเล่นภายในห้องนี้ และให้ทำตามขั้นตอนที่พี่ตรีบอกเท่านั้น...เข้าใจไหมจ๊ะ” พี่ตรีบอก

ส่วนผสมและอุปกรณ์สร้างความอร่อย

เมื่อทุกคนรับทราบกติการ่วมกันแล้ว ก็มาดูถาดส่วนผสม และกาละมังใส่ที่เตรียมไว้ให้ที่โต๊ะเสร็จสรรพ

ส่วนผสมของไอศครีมล้วนแต่หาซื้อได้ง่าย ๆ ทั้งนั้น บางอย่างซื้อได้จากร้านค้าใกล้บ้าน ส่วนบางอย่างต้องซื้อจากร้านขายอุปกรณ์ทำขนม ประกอบด้วย แป้งข้าวโพด อิมัลซิไฟเออร์ น้ำสะอาด นมเปรี้ยว ฟรุตสลัด และนมข้นหวาน
อุปกรณ์ที่ใช้ก็มีแก้วสแตนเลส เอาไว้ใส่ส่วนผสมทั้งหมด ไม้พายเอาไว้คนส่วนผสมทั้งหมด ทัพพีเอาไว้คนเกลือกับน้ำแข็ง ช้อนตวง

พี่ตรีบอกว่าถ้าอยากรู้ว่าเป็นช้อนตวงขนาดเท่าไหร่ให้ดูที่ด้ามช้อน ถ้วยตวง ที่ตีไข่ และช้อนเล็ก ๆ ไว้ตักไอศครีมชิม แล้วก็มีเตาไฟฟ้าประจำโต๊ะ 1 ชุด

ช่วยกันทำไอศครีม

วิธีทำไอศครีมนั้นง่ายแสนง่าย ไอศครีมที่ทำเป็นสูตรรสนมเปรี้ยวฟรุ๊ตสลัด พี่ตรีเริ่มต้นจาก
•ให้เด็ก ๆ เทนมเปรี้ยวลงในแก้วแสตนเลส อุ่นเตาไฟฟ้าไว้ที่เบอร์ 3
•เทน้ำลงไปในถ้วยตวง จำนวน 1 ออนซ์ แล้วเทน้ำลงไปในแก้วแสตนเลสใบเดิม
•หยิบช้อนตวงขนาด 2 ช้อนโต๊ะ แล้วเทนมข้นหวานลงไป จากนั้นเทใส่ลงไปในแก้วแสตนเลส
•หยิบช้อนตวงขนาดครึ่งช้อนชา ตวงแป้งข้าวโพด ใช้ไม้พายปาดให้เรียบแล้วใส่ส่วนผสมลงไปในแก้วใบเดิม
•ใช้ช้อนตวงขนาด 1/3 ช้อนชา ตักอิมัลซิไฟเออร์ แล้วใช้ไม้พายปาดให้เรียบ ใส่ลงไปคนให้เข้ากัน
•นำส่วนผสมทั้งหมดตั้งบนเตาไฟฟ้า หมุนสวิตช์ไปที่เลข 4 แล้วใช้ไม้พายคนให้เข้ากัน

ในระหว่างนี้ พี่ตรีถามว่า “ทำไมเราต้องนำส่วนผสมทุกอย่างวางบนเตาไฟฟ้า ?”
“ไม่ทำไม” เกาลัดตอบเบา ๆ ให้พ่อกับแม่ได้ยิน

เมื่อพี่ตรีเดินผ่านมาถาม เกาลัดได้แต่โบกมือหยอย ๆ ให้ผ่านไป ประมาณว่าผมไม่ตอบคร้าบ
จริง ๆ แล้วเกาลัดไม่ได้หยิ่ง แต่ตอบไม่ได้ และเขินอายสุดขีด

เด็ก ๆ หลายคน ช่วยกันตอบหลากหลาย จนพี่ตรีช่วยเฉลยว่า “เป็นเพราะความร้อนจากเตาทำให้ส่วนผสมละลาย นอกจากนั้นยังช่วยฆ่าเชื้อโรคที่อยู่ในแก้วให้ตายไปด้วย”

พี่ตรีบอกว่าถ้ามีไอขึ้นมาจากแก้วแสตนเลสให้ปรับสวิตช์ไว้ที่เลข 0

จากนั้นก็ลงมือทำไอศครีมต่อ โดย

• นำกาละมังไปใส่น้ำแข็งกับเกลือ จากนั้นก็คนให้เข้ากัน

คราวนี้ เด็ก ๆ แต่ละโต๊ะ คว้ากาละมังไปเข้าแถวรับน้ำแข็งกับเกลือ โดยมีเกาลัดต่อแถวท้ายสุดด้วยความเขินอายสุดขีด

• พอทุกคนเข้าประจำโต๊ะแล้ว ก็ใช้ทัพพีคน ๆ ผสมนำแข็งกับเกลือกันใหญ่ จากนั้นก็ทำให้เป็นหลุมตรงกลาง แล้วนำแก้วแสตนเลสที่มีส่วนผสมทั้งหมด ใส่ลงไปในหลุมกลางกาละมัง

• นำที่ตีไข่มาจุ่มลงไปในแก้ว แล้วใช้มือปั่นๆๆๆ ส่วนผสมให้แข็งตัว ถึงจะปวดมือก็อย่าหยุด จนกว่าไอศครีมจะแข็งตัว

• คนที่ปั่นไอศครีมในแก้วก็ปั่นไป ส่วนคนที่เหลือในโต๊ะก็ช่วยกันเขย่ากาละมังกันใหญ่เหมือนที่เคยเห็นตอนเขาทำไอศครีมหลอดขายตามงานวัด จะได้ช่วยให้ส่วนผสมไอศครีมแข็งตัวเร็วขึ้น

พี่ตรีมีคำถามอีกแล้ว ถามว่า “เราใส่เกลือลงไปในน้ำแข็งทำไม ?”มีน้อง ๆ คนเก่งตอบได้ว่า “เพื่อให้อุณหภูมิลดลง”
เอ๊ะ ! ..ว่าแต่ อุณหภูมิอะไรลดลงนะ

ว่าแล้วพี่นุชก็ช่วยพิสูจน์ โดยทำการทดลอง “คุณสมบัติของเกลือเมื่อใส่ในน้ำแข็ง” เพื่อหาคำตอบนี้ โดยนำน้ำแข็งใส่กาละมัง ใส่เกลือ แล้วผสมให้เข้ากัน นำเทอร์โมมิเตอร์วัดอุณหภูมิของน้ำแข็งให้ดู จะเห็นว่าอุณภูมิปกติของน้ำแข็งซึ่งอยู่ที่ 0 องศาเซลเซียสนั้น ติดลบลงเรื่อย ๆ

พี่ตรีอธิบายว่าเมื่อน้ำแข็งละลาย เกลือจะไปจับกับน้ำ ทำให้อุณภูมิลดลงเรื่อย ๆ นั่นเอง

• ให้น้อง ๆ ดูที่แก้วแสตนเลส จะพบว่าเนื้อไอศครีมด้านข้างแก้วเริ่มแข็งตัวเกาะกับแก้วแล้ว ให้ใช้ไม้พายขูดส่วนที่แข็งตัวลงมาผสมให้เข้ากับส่วนผสมที่เหลือ ความเย็นจะได้เสมอกัน

พี่ตรีอธิบายให้เด็ก ๆ ฟังอีกว่า อิมัลซิไฟเออร์ ใส่ไว้เพื่อให้ส่วนผสมเข้ากัน คือ ให้น้ำกับไขมันที่มีอยู่ในส่วนผสมของไอศครีมเข้ากัน

อิมัลซิไฟเออร์ เป็นเนื้อครีมข้น ๆ หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ทำขนม

ว่าแล้ว พี่ตรีก็ให้เด็ก ๆ มาช่วยทำการทดลอง “คุณสมบัติของอิมัลซิไฟเออร์ในน้ำยาล้างจาน” เริ่มโดยนำขวดใส ๆ มาใส่น้ำ แล้วเทน้ำมันใส่ลงไป พบว่าน้ำกับน้ำมันแยกชั้นกัน ไม่ยอมรวมตัวกัน เขย่าอย่างไรก็ไม่เข้ากัน

แต่พอใส่น้ำยาล้างจานลงไป แล้วเขย่า พบว่า น้ำกับน้ำมันสามารถผสมกันได้แล้ว

• เอาล่ะ ในที่สุดความเพียรของเด็ก ๆ ทุกโต๊ะก็เกิดผล เมื่อช่วยกันปั่น ช่วยกันเขย่านาน ๆ ไอศครีมก็เริ่มแข็งตัว ก็ใส่ฟรุตสลัดเข้าไป ใช้มือจับเครื่องตีไข่หมุนๆ ปั่น ๆ ให้เข้ากันอีกครั้ง เมื่อเนื้อไอศครีมแข็งและเหนียวหนืดได้ที่ ก็ตักใส่ถ้วยแบ่งกันชิม

........อื้มมม อร่อยจัง

ขณะที่เด็ก ๆ กำลังกินไอศครีมแสนอร่อย พี่ตรีก็มีคำถามอีกแล้วว่า “เมื่อก่อนประเทศไทยเรายังไม่มีเครื่องจักรผลิตน้ำแข็ง แล้วคนไทยเอาอะไรมาทำไอศครีม ? ”
หลายคนตอบว่า “ลูกเห็บ” ซึ่งยังไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนัก

พี่ตรีเล่าต่อว่าไอศครีมนั้นเกิดขึ้นครั้งแรกที่ทวีปยุโรปโดยใช้หิมะทำ คนแรกที่ได้ลิ้มรสความอร่อยของไอศครีมก็คือจักรพรรดิ์ยุคโรมัน ให้ทหารที่แข็งแรงมากขี่ม้าขึ้นเขาไปนำหิมะบริสุทธิ์บนยอดเขามาทำไอศครีม ให้จักรพรรดิ์เสวย

พี่ตรีบอกว่า ไอศครีมเข้ามาถึงประเทศไทยเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ตอนที่ประเทศไทยยังไม่มีเครื่องทำน้ำแข็ง มีการนำเข้าน้ำแข็งมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศอะไรรู้ไหม ?
หลายคนตอบ “จีน สิงคโปร์ อินเดีย”
ซึ่งคำตอบที่ถูกต้องคือ “สิงคโปร์” นั่นเอง




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2550    
Last Update : 11 สิงหาคม 2554 15:43:31 น.
Counter : 2409 Pageviews.  

ตะลุยโลกไดโนเสาร์ ในงาน “ไดโนเสาร์เอ็กซ์โป ที.เร็กซ์ "ซู" & ไดโนเสาร์ไทย"

ไดโนเสาร์ในความทรงจำของเด็ก

ไดโนเสาร์มีมากมายหลายชนิด ทั้งที่ตัวใหญ่ยักษ์ ตัวเล็กเท่าลูกไก่ ทั้งกินพืช กินเนื้อ

ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากที่สุด ก็คือ ไทรันโนซอรัส เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) หรือรู้จักกันดีในชื่อทีเร็กซ์ (T-REX) ซึ่งมีตัวขนาดใหญ่ ทีเร็กซ์ที่ขุดพบกระดูกครบถ้วนสมบูรณ์ที่สุดก็คือ กระดูกทีเร็กซ์ที่ชื่อ “ซู”

ซู ถูกค้นพบในรัฐเซาท์ดาโกตา สหรัฐอเมริกา ทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งชื่อตาม ซู เฮนดริกสัน (Sue Hendrickson) นักฟอสซิล (Fossil Hunter) ผู้ค้นพบโครงกระดูกนี้

เด็ก ๆ ส่วนใหญ่จะจดจำไดโนเสาร์ได้เป็นอย่างดีจากภาพยนตร์โดยเฉพาะเรื่องจูราสสิค พาร์ค การ์ตูน สารคดี หนังสือภาพ หนังสือธรรมชาติวิทยา ของเล่นจำลองต่าง ๆ

เด็กชายเกาลัด วัย 4 ขวบ ก็เป็นเหมือนเด็กคนอื่น ๆ ที่ชอบไดโนเสาร์ แต่ก็ยังไม่รู้จักไดโนเสาร์ไปมากกว่าเป็นสัตว์ขนาดใหญ่บ้าง เล็กบ้าง รูปร่างแปลกตา กินเนื้อบ้าง กินสัตว์บ้าง มิหนำซ้ำยังไม่รู้เลยว่าไดโนเสาร์น่ะสูญพันธ์ไปแล้ว

นิทรรศการไดโนเสาร์มาแล้ว

วันที่ 7 กรกฎาคม 2550 ครอบครัวเราฟังวิทยุรายการอุษาคเนย์ ของคุณธีรภาพ โลหิตกุล อสมท. FM 96.5 ซึ่งจัดรายการทุกวันอาทิตย์ 14.00-16.00 น. ท้ายรายการได้เปิดสปอตวิทยุโปรโมตงาน ๆ หนึ่ง ที่ฟังแล้วน่าสนใจ เลยตั้งใจฟังว่าเขาจะจัดงานกันที่ไหน

เมื่อฟังจบ ก็ร้องเฮ้..ไปตาม ๆ กัน เพราะถูกใจ ได้ไปแค่ใกล้ ๆ บ้าน เพราะองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เขาจัดนิทรรศการ "ไดโนเสาร์เอ็กซ์โป ที.เร็กซ์ "ซู" &ไดโนเสาร์ไทย"
เด็กชายเกาลัดยิ้มหวานสุดขีด
“วันหยุดหน้าเราจะพาเกาลัดไปดูไดโนเสาร์กันนะ” แม่บอก
“ไดโนเสาร์กินคนหรือเปล่า..ไดโนเสาร์จะกินเด็กหรือเปล่าแม่” เกาลัดถามแบบกล้า ๆ กลัว ๆ

งานนี้ ลูกชายคงวาดภาพถึงป่าแสนสวยแห่งหนึ่ง ที่มีไดโนเสาร์เดินว่อนไปมา หรือไม่ภาพก็ไดโนเสาร์ที่ถูกขังกรงเหมือนกับไปเที่ยวสวนสัตว์

แต่จริง ๆ แล้ว งานนี้น่ะไม่มีไดโนเสาร์ของจริงหรอกค่ะ มีเพียงโครงกระดูกจำลองของทีเร็กซ์ ซู และหุ่นไดโนเสาร์ที่น่าสนใจหลายชนิดให้ดู มีแสดงการขุดค้นและวิจัยฟอสซิลของซู เช่น ลักษณะหัวกะโหลกของซู การมองเห็น การดมกลิ่น และวิธีหาอาหารของ ที. เร็กซ์ เป็นต้น

และที่สำคัญในงานนี้ก็คือมีนิทรรศการประวัติการค้นพบและการวิจัยฟอสซิลไดโนเสาร์ในประเทศไทยโดยกรมทรัพยากรธรณี การแสดงหุ่นจำลองเรื่องราวของไดโนเสาร์หลากสายพันธุ์ กิจกรรมฝึกขุดสำรวจไดโนเสาร์ ฝึกการสกัดหินออกจากกระดูกไดโนเสาร์ และนิทรรศการท่องโลกล้านปีเจาะเวลาหากำเนิดปิโตรเลียม เป็นต้น

กิจกรรมแสนสนุกของเด็ก ๆ

แผ่นป้ายแสดงการทรงตัวของทีเร็กซ์ โดยมีการยืดหยุ่นของคอเป็นตัวและห่างช่วยถ่วงดุลย์
กล้ามเนื้อแข็งแรงที่ขากรรไกรของทีเร็กซ์ ทำให้มีแรงกัดมหาศาล

นักสำรวจน้อย ช่วยกันค้นหาซากดึกดำบรรพ์
ภาพที่เห็น ผ่านสายตาของไดโนเสาร์ นี่เป็นไดโนเสาร์ไตรเซราทอป (Triceratops)
จิ๊กซอว์โครงกระดูกไดโนเสาร์สายพันธุ์อีสานของไทย
เกมรู้จริงหรือเปล่า ประลองความรู้เรื่องไดโนเสาร์กันหน่อย
กิจกรรมพับกระดาษ

งานนี้ เด็ก ๆ หลายคน พร้อมทั้งเด็กวัยอนุบาลอย่างเกาลัด ดูท่าว่าจะอยากจะเป็นนักสำรวจ เอาแปรงมาปัด ๆ กะบะทราย หาฟอสซิสกระดูกไดโนเสาร์ กับต่อจิ๊กซอว์โครงกระดูกไดโนเสาร์สายพันธุ์อีสานของไทยเป็นพิเศษ นี่คงเป็นกิจกรรมที่เหมาะกับวัยของเขาที่สุดแล้ว

“เกาลัดชอบได้โนเสาร์อะไรมากที่สุด” แม่ถาม
“เกาลัดชอบเซร่า” ลูกตอบ
ไตรเซราทอปหรือ เซราที่ลูกพูดถึง เป็นไดโนเสาร์กินพืช ในความคิดของลูกเซร่านั้นใจดี ส่วนทีเร็กซ์กินเนื้อนั้นดุร้าย ได้จากความรู้เดิมในวีซีดีการ์ตูนที่เคยดู
ส่วนแม่เกาลัด ชอบไดโนเสาร์ซอโรพอดกินพืชคอยาว ๆ ดูน่ารักดีค่ะ

จากไดโนเสาร์ไทรันแห่งอีสาน สู่ทีเร็กซ์แห่งอเมริกา

ท่ามกลางเสียงคำรามของไดโนเสาร์ โครงกระดูก และหุ่นจำลองไดโนเสาร์ที่มีทั้งน่ารัก และน่ากลัว ยังมีความประทับใจให้น่าจดจำ
ไดโนเสาร์ เกิดในยุคเมโสโซอิค หรือ "ยุคไดโนเสาร์" ในยุคเมโสโซอิค แบ่งย่อย ๆ ได้ 3
ยุคไทรอาสสิค (Triassic) จูราสสิค (Jurassic) และครีเทเชียส (Cretaceous) เรียงลำดับตามความเก่าแก่

ไดโนเสาร์เริ่มพัฒนาขึ้นในยุคไทรอาสสิค ประมาณ 225 ล้านปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทุกทวีปยังคงเชื่อมต่อกันเป็นทวีปขนาดยักษ์ทวีปเดียว แต่ระหว่างยุคจูราสสิคและครีเทเชียส แผ่นทวีปเริ่มแยกออกจากกัน และในช่วงปลายของยุคเมโสโซอิคทวีปต่างๆ ก็ได้แยกออกจากกันเช่นในปัจจุบัน

การค้นพบและแพร่กระจายของไดโนเสาร์สายพันธุ์อีสานนั้น แม่เกาลัดขอยกข้อมูลที่จัดแสดงในนิทรรศการนี้มาเล่าให้ฟังค่ะ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ช่วงใหญ่ ๆ ได้แก่

ช่วง 130 ล้านปีมาแล้ว ในยุคครีเทเชียสตอนต้น ยุคนั้นทวีปเอเซีย ยุโรป และอเมริกา ยังเชื่อมต่อเป็นทวีปเดียวกัน ช่วงนี้แหละค่ะที่ไดโนเสาร์ในวงศ์ไทรันโนซอริเด (Tyrannosauridae) ที่ชื่อสยามไมโทรันนัส อีสานเอนซิส (Siamotyrannus Isanensis) อายุประมาณ 130 ล้านปี วิวัฒนาการขึ้นที่ประเทศไทย ส่วนตี้หลงพาราดอกซัส (Dilong Paradoxus) อายุ 128 ล้านปี วิวัฒนาการขึ้นที่ประเทศจีน นอกจากนั้นยังพบอีโอไทรันนัส เลนกิ (Eotyrannus Lengi) อายุประมาณ 125-120 ล้านปี ที่ประเทศอังกฤษ

ต่อมาในช่วง 90-70 ล้านปีมาแล้ว ในช่วงปลายยุคครีเทเชียส ซึ่งทวีปเอเซีย ยุโรป และอเมริกา ยังไม่ได้แยกออกจากกันได้โนเสาร์ในวงศ์ไทรันโนซอริเดอีกหลายชนิดได้กระจายพันธุ์ไปยังมองโกเลียและสหรัฐอเมริกา

ช่วง 70-65 ล้านปีมาแล้ว ในช่วงปลายสุดของยุคครีเทเชียส ก่อนที่ทวีปยุโรป จะแยกออกจากอเมริกาเหนือ และก่อนที่ทวีปต่าง ๆ จะอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้เคียงกับยุคปัจจุบัน พบทีเร็กซ์ที่อเมริกาเหนือ ขณะที่ยังพบอลิโอรามัส รีโมตัส (Alioramus Remotus) ที่ประเทศมองโกเลียและจีน และทาร์โบซอรัส บาตาร์ (Tabosaurus Bataar) ที่ประเทศมองโกเลียและจีน

หลักฐานที่ผ่านมา ยืนยันว่าฟอสซิลไดโนเสาร์ที่ค้นพบเมื่อปี 2536 ที่ อ.ภูเวียง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นกระดูกเก่าแก่ของไดโนเสาร์พันธุ์กินเนื้อ ที่ชื่อว่าสยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส ที่มีอายุราว 130 ล้านปี โดยเริ่มมีวิวัฒนาการขึ้นครั้งแรกในเอเชีย และแพร่หลายออกไปทางเอเชียเหนือจนไปอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือก่อนจะสูญพันธุ์ เชื่อกันว่าไดโนเสาร์กินเนื้อสายพันธุ์อีสานดังกล่าวเป็นบรรพบุรุษของทีเร็กซ์

รู้จักไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทย

ไดโนเสาร์ที่พบในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ที่ภาคอีสานนั้น มีหลายชนิด ตัวอย่างที่นำมาจัดแสดงได้แก่

กินรีมิมัส (Ginnareemimus)เป็นไดโนเสาร์วงศ์ออนิโธมิโมซอเรีย (Ornithomimosauria) อายุประมาณ 130 ล้านปี เป็นไดโนเสาร์นกกระจอกเทศตัวแรกของไทย พบที่ อ. ภูเวียง จ. ขอนแก่น กินพืชและสัตว์เป็นอาหาร

สยามโมไทรันนัส อิสานเอนซิส (Siamosaurus Isanensis) คำว่า Siamosaurus หมายถึง ไดโนเสาร์ไทรันแห่งสยาม ส่วน Isanensis หมายถึงพบที่ภาคอีสาน อายุประมาณ 130 ล้านปี
กินสัตว์ขนาดใหญ่เป็นอาหาร เป็นไดโนเสาร์วงศ์ไทรันโนซอริเดที่เก่าแก่ที่สุดของโลก โดยพบที่ จ. ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา ทำให้สันนิษฐานได้ว่ากลุ่มของไดโนเสาร์วงศ์ไทรันโนซอร์ เริ่มวิวัฒนาการครั้งรแกในเอเซีย แล้วแพร่กระจายไปยังอเมริการเหนือ ก่อนที่จะสูญพันธ์ไปในที่สุด

คอมป์ซอกเนธัส (Compsognathus) ไดโนเสาร์กินเนื้อขนาดเล็กของไทย ยุคจูราสสิค อายุประมาณ 150 ล้านปี เดิน 2 ขา วิ่งได้เร็ว พบที่ภูเวียง จ.ขอนแก่น

ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus sirindhornae) เป็นไดโนเสาร์กินพืช ที่เรียกทั่วไปว่าไดโนเสาร์ซอโรพอด มีคอยาว หางยาว พบที่ขอนแก่น กาฬสินธุ์ สกลนคร อุดรธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ หนองบัวลำภู ซากที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่ภูกุ้มข้าว จ. กาฬสินธุ์

สำหรับผู้ไม่ได้เข้าชมงาน

งาน"ไดโนเสาร์เอ็กซ์โป ที.เร็กซ์ "ซู" &ไดโนเสาร์ไทย" นี้ เขาจัดแค่ช่วงวันที่ 7 ก.ค. – 30 ก.ย. 50 เท่านั้น แต่หากสนใจยังมีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับไดโนเสาร์มากมายให้ไปเข้าชม เช่น

นิทรรศการโลกล้านปี ที่ท้องฟ้าจำลองรังสิต คลอง 6 โทร. 0-2577-5455 -59
พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ที่ อพวช. รังสิต คลอง 5 โทร 02-577-9999
นิทรรศการธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ โทร. 0-2391-0544, 0-2392-0508
พิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กทม.โทร. 02-202-3669, 02-202-3670
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จ. ขอนแก่น โทร. (043) 438-204-6
พิพิธภัณธ์สิรินธร ภูกุ้มข้าว จ. กาฬสินธุ์ โทร. (043) 871-014
พิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ ในพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน จ. นครราชสีมา โทร. (044) 216-617-8
หรือหาความรู้เพิ่มเติมต่อยอดในหนังสือและอินเทอร์เน็ต แค่ปลายนิ้วคลิกก็มีแหล่งความรู้มหาศาลให้อ่านกันค่ะ

สิ่งที่สังเกตได้จากการที่พาลูกชายเข้าชมนิทรรศการในครั้งนี้ พบว่า เขายังไม่ได้ความรู้ตามที่ผู้จัดตั้งใจไว้เลย

แต่จากการได้วิ่งเล่น เล่นเกม พับกระดาษ ชมโครงกระดูกไดโนเสาร์ผ่านตาแล้ว แล้วค่อยให้ประสบการณ์ซ้ำอีกในบางโอกาสไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะโต เช่น ไปเที่ยวอีสานแล้วแวะชมรอยเท้าไดโนเสาร์ของจริง ดูหนัง อ่านหนังสือเด็ก ฯลฯ ก็คงจะเกิดความประทับใจ และซึมซับความรู้เข้าไปเอง เพราะอย่างน้อยตอนนี้เขาก็เริ่มรู้จัก ให้ความสนใจ และสนุกกับการชมไดโนเสาร์มากขึ้นเรื่อย ๆ แล้ว

เมื่อสองปีก่อน รู้จักหนูน้อยวัยก่อนอนุบาลคนหนึ่ง เป็นลูกชายของอาจารย์ภาควิชาคณิตศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ถึงจะยังพูดไม่เก่ง แต่ก็สามารถจำชื่อยาว ๆ ของไดโนเสาร์ได้ทุกตัวอย่างน่าประหลาดใจ




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2550    
Last Update : 11 สิงหาคม 2554 15:40:33 น.
Counter : 1957 Pageviews.  

สนุกกับวิทยาศาสตร์ทั้งครอบครัวจากช็อกโกแลต

ช็อกโกแลตจากหนังสือภาพสู่การต่อยอดความรู้

วันหยุดนี้เป็นเวลาที่แม่เกาลัดมีให้ครอบครัวแบบเต็ม ๆ ไปเลย กิจกรรมวันหยุดเรามีมากมายหลายอย่าง

บังเอิญว่า ในวันหยุดนั้นเจ้าเกาลัด ลูกชายวัย 3 ขวบ 9 เดือน เห็นรายการโทรทัศน์ “โลกมหัศจรรย์” ทางช่อง 9 ออกอากาศเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์กับช็อกโกแลต ขนมหวานของโปรดของเขา ซึ่งเป็นความรู้ที่ตรงกับที่แม่อ่านในหนังสือภาพให้ฟังบ่อย ๆ

ตอนที่ดูโทรทัศน์ แม่เกาลัดเลยบอกว่า “เดี๋ยวแม่จะพาไปเรียนช็อกโกแลตนะ สถานที่เรียนอยู่รังสิตคลอง 5 ใกล้บ้านเราเอง” พอบอกแล้ว ลูกชายก็หัวเราะยิ้มหวานดีใจใหญ่

พอดูโทรทัศน์จบ ลูกชายใส่รองเท้าทันที “เกาลัดจะขี่จักรยานไปเรียนช็อกโกแลต” วันนั้น ก็เลยต้องผลัดไปก่อน แต่ก็ไม่นิ่งนอนใจ
นับว่าเป็นการดีที่ลูกชายจะได้ต่อยอดความรู้จากการได้เห็นและลองทำด้วยตัวเอง

หาข้อมูลก่อนไป

ก่อนไปต้องหาข้อมูลเบื้องต้นล่วงหน้า โดยแม่เกาลัดเข้าไปที่เว็บไซต์องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) //www.nsm.or.th และก็โทรศัพท์ไปถามที่ฝ่ายการตลาดของ อพวช. ซึ่งได้ข้อมูลว่า อพวช. เปิดกิจกรรม “ครอบครัววิทยาศาสตร์” มีหลายกิจกรรมในห้องปฏิบัติการวันละหลายรอบ เช่น วิทยาศาสตร์กับช็อกโกแลต DNA กล้วย ๆ

ออกเดินทางไปเข้าเรียนกัน

วันเสาร์ถัดไป ปลุกเจ้าเกาลัดตอนเช้า อาบน้ำ กินข้าว พร้อมคำขู่
“กินเยอะ ๆ นะ เดี๋ยวไม่มีแรงเรียนช็อกโกแลตกัน” ซึ่งก็ได้ผล เกาลัดกินได้มากพอประมาณ เป็นที่พอใจของคนป้อน

จากนั้น ครอบครัวของเราก็ขับรถจากบ้านลำลูกกาคลอง 4 ไปที่ อพวช. ใช้เวลาแค่ 10 นาทีเท่านั้น เราไปซื้อบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พ่อ 50 บาท แม่ 50 บาท ส่วนเกาลัดเข้าฟรี รวม 100 บาท

พอผ่านประตูเข้าไปแล้ว ก็ไปลงชื่อเข้าร่วมกิจกรรมครอบครัววิทยาศาสตร์ ค่าใช้จ่ายเพียงครอบครัวละ 50 บาทเท่านั้น แต่เข้าได้ไม่เกินครอบครัวละ 4 คน โดยเราได้เข้ารอบ 10.30 น.

พี่เจ้าหน้าที่บอกว่าจะต้องไปยืนรอใต้ลูกโลกจำลองล่วงหน้าประมาณ 10 นาที
ไหน ๆ ก็มากันแล้ว แม่เกาลัดเลยขออาสาเก็บเรื่องราวมาเล่าให้ฟัง พร้อมกับภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือด้วย

ไชโย้...ได้เวลานัดแล้ว

พี่เสื้อแดงคนเดิมกับที่ขายบัตรครอบครัววิทยาศาสตร์ เดินยิ้มร่าเข้ามาเจอกันที่จุดนัดพบ รอบนี้มีครอบครัวของเราเพียง 1 ครอบครัว แต่ The show must go on กิจกรรมก็ดำเนินไปตามเวลานัดหมาย

เราเดินขึ้นบันไดเลื่อนจากชั้น 1 ไปที่ห้องปฏิบัติการ 1 ซึ่งอยู่ชั้น 2 ของอาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ซึ่งมีพี่เกด หรือพี่วชิรพร ดิษฐสมบูรณ์ เป็นวิทยากร พอจะเริ่มต้นกิจกรรม ก็มีอีก 1 ครอบครัวตามมาสมทบ นั่งครอบครัวละ 1 โต๊ะ แต่ละโต๊ะจะมีชุดอุปกรณ์ที่ใช้ทำการทดลองวางอยู่พร้อมแล้ว
เริ่มแรก พี่เกด ให้ทุกคนสวมเสื้อกาวน์กันก่อน

“เสื้อกาวน์เป็นยังไง” เกาลัดถาม
“เสื้อกาวน์เอาไว้ใส่กันเลอะสารเคมี เหมือนอย่างเวลาเข้าครัว หรือทาสีบ้าน ก็ต้องใส่ผ้ากันเปื้อนไงครับ” พี่เกดอธิบายให้เกาลัดฟัง

จากนั้นให้สมาชิกทุกคนแนะนำตัว ประกอบด้วย
ครอบครัวที่ 1 จำนวน 3 คน เป็นครอบครัวของเด็กชายเกาลัด ชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนอนุบาลเทพสนิท
และครอบครัวที่ 2 จำนวน 3 คนเท่ากัน เป็นครอบครัวของเด็กชายจีน ชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนอนุบาลวังทอง และเด็กชายเคนจัง ชั้น ป. 2 โรงเรียนสารสาสน์วิเทศรังสิต ซึ่งมากับคุณแม่

เรามาทำแล็ปกันเถอะ

พี่เกด ให้ทุกครอบครัวทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ห้องปฏิบัติการในเอกสารที่วางอยู่บนโต๊ะ โดยสรุปกฏเหล็กคร่าว ๆ ให้เด็ก ๆ ฟัง 3 อย่างก็คือ
“ห้ามดม ห้ามวิ่งเล่น และต้องทำตามขั้นตอน” นะจ๊ะเด็ก ๆ
“ช็อกโกแลตนั้นทำมาจากอะไร” พี่เกดถาม
“......................” เงียบ ไม่มีใครตอบ

พี่เกดบอกว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์ต้องรู้จักสังเกตจากสิ่งรอบ ๆ ตัว ซึ่งส่วนผสม
ทั้งหมดนั้นวางอยู่ในถาดบนโต๊ะแล้ว

น้ำตาล ได้มาจากต้นอ้อย
นมผง ได้มาจากนมวัว
ผงโกโก้ ได้มาจากเมล็ดโกโก้
ไขมันปาล์ม ได้มาจากต้นปาล์ม

พี่เกดบอกว่า อุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ แก้ว ไม้พาย ช้อนตวง ถ้วยตวง
ซึ่งเราต้องตวงให้พอดีกับสูตร
เวลาตักส่วนผสม จะต้องตักเยอะ ๆ พูน ๆ แล้วใช้ไม้พายปาดให้เรียบ 1 ครั้ง
ทุกโต๊ะจะได้ทำ 2 สูตร แต่ละสูตร ใส่ส่วนผสมเหมือนกันและเท่ากัน ได้แก่

นมผง 1 ช้อนโต๊ะ
ผงโกโก้ 1 ช้อนโต๊ะ
น้ำตาลไอซิ่ง 1 ช้อนชา
ยกเว้นไขมันปาล์มที่เติมไม่เท่ากัน สูตรที่ 1 เติมเพียง 10 กรัม ส่วนสูตรที่ 2 เติม 20 กรัม

เด็ก ๆ เดินไปตวงไขมันปาล์มมาละลายเอาไว้ก่อน
จากนั้น นำนมผง ผงโกโก้ และน้ำตาลไอซิ่ง ตวงตามสัดส่วนที่กำหนด ใส่ลงในแก้ว

แกะถ้วยกระดาษรอไว้ แล้วนำน้ำมันปาล์มมาเท รีบคนให้เข้ากัน กลายเป็นช็อกโกแลตเหลวแล้วรีบเทใส่ลงในถ้วย
“น้ำมันปาล์ม จะกลายเป็นของแข็งตามอุณหภูมิห้อง แต่จะเป็นของเหลวที่อุณหภูมิร้อนกว่า ฉะนั้นเมื่อผสมแล้วจะต้องรีบเทค่ะ” พี่เกดอธิบาย

เมื่อทุกโต๊ะเทช็อกโกแลตใส่ถ้วยแล้ว และเรียงใส่ถาดกันแล้ว พี่เกดก็นำถาดนั้นไปแช่เย็นสักพัก เพื่อให้ช็อกโกแลตแข็งตัว

ระหว่างที่รอช็อกโกแลตแสนอร่อย พี่เกดก็ถือลูกโลกจำลองมาให้เด็ก ๆ ทายถิ่นกำเนิดของช็อกโกแลตกัน ประเทศที่ผลิตโกโก้ได้มาก อยู่ทวีปแอฟริกา ใกล้เส้นศูนย์สูตร ประเทศที่ปลูกโกโก้ได้มากที่สุด คือ ประเทศไอเวอรี่โคสต์ รองลงมาก็คือประเทศกานา เพราะต้นโกโก้ชอบภูมิอากาศร้อนชื้นฝนตกชุก ที่ภาคใต้ของไทยก็ปลูกโกโก้ได้เหมือนกัน แต่ยังไม่แพร่หลาย เพราะยังไม่มีตลาดรองรับ

“ช็อกโกแลตมีสารเคมีหลายอย่าง เช่นอะไรบ้าง” พี่เกดถาม
“คาเฟอีนครับ” เคนจังตอบ

ในช็อกโกแลต มีทีโอโบรมีน ทำให้เราผ่อนคลายและมีความสุข แต่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า สารทีโอโบรมีนนี้เป็นโทษต่อสุนัข เมื่อสุนัขกินเข้าไป จะตัวชา และมีผลต่อระบบประสาท

อั้ม...อร่อย

ในที่สุด ช็อกโกแลตฝีมือของพวกเราก็เสร็จแล้ว พี่เกดให้ทุกกลุ่มหยิบช็อกโกแลตเข้าปาก และอมไว้ก่อน เมื่อนับ 1 ถึง 5 เสร็จแล้วถึงจะเคี้ยวได้ โดยให้สังเกตรสชาติและการละลายของช็อกโกแลต

“สูตรที่ 2 ละลายตั้งแต่นับถึง 4 แล้ว” เคนจังบอก

ใช่แล้ว เพราะช็อกโกแลตสูตรที่ 2 นั้นมีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มมากกว่านั่นเอง
นอกจากนั้น เด็ก ๆ บอกว่าสูตรที่ 2 ยังอร่อยมากกว่าด้วย
ผลการทดลองสรุปได้ว่าน้ำมันปาล์มมีผลต่อการละลายของช็อกโกแลต ทำให้ช็อกโกแลตละลายไปทั่วลิ้น ที่ลิ้นของเรามีปุ่มรับรส เมื่อช็อกโกแลตละลายได้ทั่วถึงกว่าจะทำให้รู้สึกได้ถึงความอร่อยมากกว่านั่นเอง

ผมสนุกกับการทดลองครับ

เคนจัง หรือเด็กชายพรพรหม พวงเพียงงาน ซึ่งทำกิจกรรมอย่างตั้งใจ และตอบคำถามได้ถูกต้องเกือบทุกครั้ง บอกว่า มาแล็ปนี้เป็นครั้งที่ 3 แล้ว เคนจังชอบเรียนวิทยาศาสตร์ ที่เห็นตั้งใจจดสูตรยุกยิก ๆ อยู่นั้น เพราะจะนำสูตรไปทำช็อกโกแลตเองที่บ้าน สนุปครับ และได้ความรู้ด้วย

ส่วนน้องจีนนั่นบอกว่าชอบตรงที่ได้ชิมช็อกโกแลตนี่แหละ เพราะมันอร่อย
เด็ก ๆ ทั้งสองคนบ้านอยู่ที่รังสิตคลอง 3 ใกล้ อพวช. นี่เอง พอมีเวลาว่างเลยมาเรียนรู้กันที่นี่ได้สะดวก

ส่วนเด็กชายเกาลัดนั้น เอาแต่วิ่งซุกซน และเล่นสนุก ในส่วนของความรู้ที่ได้ คงเก็บเกี่ยวได้ไม่เต็มที่นัก เพราะยังเล็กอยู่มาก ดู ๆ แล้ว เหมือนจะชอบตอนที่ได้ลองชิมช็อกโกแลตมากที่สุด ....ชิมซะปากเลอะเทอะเลยเชียว

แล้วเกาลัดจะมาร่วมกิจกรรมครอบครัววิทยาศาสตร์อีกทีเมื่อ อพวช. เปิดแล็ปไอศครีม ซึ่งพี่เกดบอกว่าคงอีกไม่นานเกินรอแน่นอน
อย่างน้อย ๆ ประสบการณ์ที่ได้ก็คงจะยังพออยู่ในความทรงจำของเด็ก ๆ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองคงต้องทบทวนความรู้หรือต่อยอดเพิ่มให้ และอาจจะพาไปเข้าแล็ปซ้ำอีกเมื่อมีโอกาสในตอนที่เด็ก ๆ โตขึ้นกว่านี้

การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ต้องเกิดจากความสนใจ และประทับใจก่อน ถึงจะเรียนรู้ได้เข้าที
และควรเริ่มต้นตั้งแต่บุตรหลานยังเล็ก ๆ อยู่........นั่นแหละดี




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2550    
Last Update : 11 สิงหาคม 2554 15:40:15 น.
Counter : 1024 Pageviews.  

ชวนเที่ยวท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่ …ไปดูดาวใกล้กรุงเทพกัน

เมื่อพูดถึงท้องฟ้าจำลอง คนส่วนใหญ่ก็จะนึกถึงท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ ซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนสุขุมวิท ใกล้สถานีขนส่งเอกมัย เป็นแหล่งเรียนรู้เก่าแก่ที่คนรุ่นปู่ย่าตายายก็ได้ไปดูดาวกันตั้งแต่ครั้งยังหนุ่มยังสาว

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ ที่ว่านี้ อยู่ในสังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) กระทรวงศึกษาธิการ เริ่มก่อสร้างขึ้น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2505 และเปิดแสดงให้ประชาชนได้เข้าชมในปี พ.ศ.2507

นับไปเมื่อ 40 ปีก่อน เครื่องฉายดาวที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ ใช้อยู่เป็นเครื่องที่ทันสมัยและประเทศไทยได้ใช้ก่อนใครในเอเซียอาคเนย์ เลนส์ยี่ห้อคาร์ลไซซ์นี้ขึ้นชื่อที่สุดในโลก แต่เดี๋ยวนี้ที่อื่นเขาใช้ระบบใยแก้วนำแสง ทำให้จุดสว่างในโดมเป็นแสงสุกใสเหมือนดาวในท้องฟ้าจริงมาก แต่ในอนาคตท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ ก็ได้มีแผนที่จะปรับปรุงห้องฉายดาวและเครื่องฉายดาวให้ทันสมัยกว่านี้

ล่าสุด เด็ก ๆ มีเฮกับมีท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่ ที่ใหญ่และทันสมัยกว่าเดิม
วันหยุดนี้ครอบครัวเราพาลูกชายวัยสี่ขวบ ล่องลอยไปในดวงจันทร์ ที่ท้องฟ้าจำลองแห่งใหม่ อยู่ที่คลอง 6 อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี

ลูกชายชอบมากที่ได้ขึ้นยาน “เอา-ยา-กาด” (ลูกเรียกอย่างนั้น) ไปโผล่ที่ดวงจันทร์ จริง ๆ แล้วก็คือมุดยานอวกาศเข้าไป ก็จะเจอพื้นผิวดวงจันทร์จำลอง ขรุขระเป็นหลุมเป็นบ่อ และก็เต็มไปด้วยปากปล่องภูเขาไฟ และหลุมอุกกาบาต มีโลกสีน้ำเงินประกอบฉากอยู่ด้านหลัง สมจริงไม่เบา ทำเอาเด็กน้อยเคลิบเคลิ้ม คิดว่าได้ไปเหยียบดวงจันทร์จริง ๆ เพราะเจ้าลูกชาย ประทับใจเรื่องราวของยานอวกาศและดวงดาวเอามาก ๆ จากวีซีดีการ์ตูน และหนังสือภาพที่อ่าน เมื่อได้เข้าไปในแหล่งเรียนรู้ที่ตอบสนองจินตนาการตัวเองได้อย่างนั้นจึงติดใจมาก

ภายในอาคารมีพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ นิทรรศการถาวร นิทรรศการชั่วคราว ท้องฟ้าจำลอง ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ธรรมชาติวิทยาและสิ่งแวดล้อม ดาราศาสตร์ และอวกาศในรูปแบบต่างๆ ตลอดจนเป็นศูนย์กลางในการศึกษา ค้นคว้าวิจัย ทดลองทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ

“คุณแม่ ภูเขาไฟ” ลูกชี้ให้ดู
“ไหนดูซิลูก มีมังกรไฟด้วยหรือเปล่า” แม่ถาม ปล่อยมุกตามนิทานมังกรไฟไม่เรียนหนังสือ
“ฮือ ๆ แม่อย่าเดินไปตรงนั้น” ว่าแล้วลูกก็ปล่อยโฮออกมา

ก็ไดโนเสาร์นั่นสิคะ ตัวโต ตาสีแดง ๆ และผงกหัวได้ด้วย ลูกชายกลัวจนตัวสั่น ไม่กล้าเฉียดไปใกล้ ถึงจะบอกว่านี่ไม่ใช่ของจริงก็เถอะ

เดินชมนิทรรศการและร่วมสนุกกับกิจกรรมในส่วนที่จัดแสดงจนปวดขา วิ่งไล่ตามลูกที่สนุกตื่นเต้นเหลือเกิน จนหอบแฮ่ก ๆ ก็ยังได้ดูและได้ทดลองเล่นไม่หมด

เวลาไม่รอท่า เดี๋ยวจะหมดวันซะก่อน เราจึงได้คิวเข้าไปในส่วนจัดแสดงที่น่าสนใจที่สุดคือ “ท้องฟ้าจำลอง” ซึ่งวันนั้นเราได้คิวเข้าชมรอบบ่ายโมงค่ะ
คิวที่ได้นี้ถือว่าโชคดีที่สุดแล้ว เพราะรอแค่ชั่วโมงกว่าก็ได้ดู

ช่วงเปิดใหม่นี้ คนมาดูดาวกันเยอะบางคนมาซื้อตั๋วบ่ายสองโมง แต่ได้คิวดูดาวรอบห้าโมงเย็น เพราะรอบก่อนนี้ ตั๋วเต็มหมด น่าดีใจแทนเจ้าของสถานที่ที่ผู้คนให้ความสนใจเข้าชมอย่างล้นหลาม

ท้องฟ้าจำลองนี้มีลักษณะเป็นโดม บรรจุผู้ชมได้ 160 ที่นั่ง ซึ่งใช้เครื่องฉายดาวระบบใยแก้วนำแสง (Fiber-Optical Projectors) บรรยากาศคล้ายนั่งดูดาวอยู่บริเวณเชิงเขา และด้วยเทคโนโลยีของระบบฉายดาว ซึ่งมี 2ระบบคือ ระบบกลไกมอเตอร์และเลนส์ จึงทำให้บรรยากาศเสมือนดูดาวจริงในคืนเดือนมืดท้องฟ้าโปร่ง และระบบที่ 2 ระบบดิจิตอลสกาย ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนตัวเองล่องลอย อยู่ในเหตุการณ์จริง ซึ่งการพัฒนาให้เครื่องฉายดาวสองระบบทำงานคู่กัน จึงทำให้ท้องฟ้าจำลองแห่งนี้ มีความทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เข้าไปในห้องฉายดาว ลูกชายตื่นเต้นจนออกนอกหน้า จอกลม โค้ง ๆ เอียง ๆ ได้อารมณ์เหมือนกับได้นอนดูดาวจริง ๆ เครื่องฉาย สมจริงสมจัง ซะจนเด็ก ๆ เต็มห้อง สนุ๊ก..สนุก กรี๊ดกร๊าดลั่นห้องเมื่อคิดว่าดาว กับสถานีอากาศกำลังเคลื่อนที่จะมาชนตัวเองจัง ๆ

ท้องฟ้าจำลองรังสิตนี้อยู่ในสังกัดศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต มีเนื้อที่ 60 ไร่ ใช้งบประมาณก่อสร้างและตกแต่งกว่า 700 ล้านบาท เปิดให้บริการแก่นักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชนทั่วไปทุกวันยกเว้นวันจันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ค่าเข้าชมส่วนจัดแสดงท้องฟ้าจำลองคนละ 30บาท สนใจสอบถามที่ โทร. 0-2577-5455 -59 เว็บไซต์ //www.rscience.net

......เด็กดูได้ ผู้ใหญ่ดูดี รัฐบาลอุตส่าห์ลงทุนควักเงินสร้างแหล่งเรียนรู้ให้เด็กๆ และชาวบ้านอย่างเรา ๆ แล้ว ไปดูกันเยอะ ๆ เถอะค่ะ

แต่ถ้าหากสนใจจะไปดูดาวที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ ใกล้สถานีขนส่งเอกมัย โทรศัพท์ไปสอบถามที่หมายเลข 0-2391-0544, 0-2392-0508, 0-2392-1773 เว็บไซต์ //www.sci-educ.nfe.go.th

ส่วนผู้ชมที่ต่างจังหวัดก็เตรียมตัวรอได้...เพราะในอนาคตจะมีท้องฟ้าจำลองในทุกภูมิภาคต่าง ๆ ภาคเหนืออยู่ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจังหวัดเชียงใหม่ ภาคใต้ที่จังหวัดสงขลา ภาคอีสานที่จังหวัดร้อยเอ็ด และภาคกลางที่จังหวัดสระบุรี แต่ แว่ว ๆ ข่าวมาว่าเป็นท้องฟ้าจำลองขนาดกลาง เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 10-13 เมตร และมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ด้านต่าง ๆ ให้เข้าชมด้วย

ถึงตอนนี้ ลูกชายก็ยังรบเร้าอยากจะไปท้องฟ้าจำลองอยู่เรื่อย ๆ ค่ะ






 

Create Date : 14 ธันวาคม 2550    
Last Update : 11 สิงหาคม 2554 15:39:41 น.
Counter : 4407 Pageviews.  

เขาวัง-พระรามราชนิเวศน์

เขาวัง



รถราง เกาลัดได้เห็นของจริงแล้ว ตื่นตาตาตื่นใจ



เกาลัดกับคุณยายติ๋ว



ราวบันไดก้นหอย



ครุฑ



ดูแล้วรู้สึกสงบ และโรแมนติก



เงา



ลั่นทม ระทมตรมตรอม









เกาลัดถ่ายรูปตัวเอง


พระรามราชนิเวศน์


























ชุมชนประมงเขาตะเกียบ
















2 ธ.ค. 2550




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2550    
Last Update : 6 ธันวาคม 2550 11:00:23 น.
Counter : 1933 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  

ชมจันทร์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 32 คน [?]




เดินทางสู่โลกกว้าง เพื่อไปเรียนรู้โลก ผู้คน เพื่อประสบการณ์ชีวิต

Friends' blogs
[Add ชมจันทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.