เหล็กละมุน มีเพียงเสียงเคยคุ้นที่เลือนลาง
Group Blog
 
All blogs
 
เศรษฐกิจพอเพียงในทางวิศวกรรม



เมื่อราวกลางปี 2549 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ร่วมประชุมวิชาการด้านเซลล์เชื้อเพลิงแบบโซลิดออกไซด์ (Solid Oxide Fuel Cells; SOFCs) ในยุโรป (the 7th European SOFC Forum) ณ เมืองลูเซิร์น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตลอดเส้นทางรถยนต์ที่เดินทางข้ามพรมแดนจากฝรั่งเศสสู่สวิส ผู้เขียนได้มีโอกาสชื่นชมทิวทัศน์และความสวยงามอย่างเรียบง่ายของประเทศเล็ก ๆ นี้ เมื่อรถยนต์แล่นผ่านเมืองโลซานน์ ผู้เขียนพลันเกิดคำถามขึ้นมาว่า เมื่อครั้งเจ้าชายน้อยแห่งสยามประเทศทรงพำนักอยู่ที่นี่เมื่อราวหกสิบถึงเจ็ดสิบกว่าปีก่อนนั้น พระองค์ทรงได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์และวิถีชีวิตของผู้คนที่นี่สักเพียงใด และสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นได้ส่งผลต่อกำเนิดแนวพระราชดำริว่าด้วยเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อพระองค์ทรงกลายเป็น “ในหลวง” ของพวกเราในกาลต่อมาหรือไม่ คำถามนี้ถูกขับเน้นยิ่งขึ้นเมื่อผู้เขียนรับฟังการบรรยายว่าด้วยการบริหารจัดการพลังงานของเขตลูเซิร์น [1]


(1)
แรกจินตนาการ ผู้เขียนคาดเดาว่าระบบผลิตพลังงานที่จะกล่าวถึงคงเป็นระบบล้ำสมัยที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง หากแต่วิธีคิดพื้นฐานของการบริหารจัดการพลังงานหาได้อยู่ที่การมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นมาเป็นประการแรกไม่ หากอยู่ที่ว่า ไม่ว่าเราจะได้พลังงานมาจากแหล่งใดหรือโดยวิธีใด สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือเราต้องมีสำนึกและรู้จักที่จะใช้มันอย่างประหยัดและคุ้มค่า การบริหารจัดการพลังงานของเขตลูเซิร์นในลำดับแรกคือการรณรงค์เพื่อให้เกิดใช้พลังงานในที่พักให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่พัฒนาขึ้นมาในเบื้องต้นที่สุดหาใช่เทคโนโลยีที่ยากเย็นสูงส่ง หากแต่คือเทคโนโลยีอย่างง่ายที่สามารถทำได้ทันทีในเวลาอันรวดเร็ว นั่นคือการปรับปรุง (renovate) ที่อยู่อาศัยที่มีอยู่แล้ว และการออกแบบที่อยู่อาศัยที่จะสร้างขึ้นใหม่ให้มีลักษณะประหยัดพลังงาน และบนพื้นฐานของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเบื้องต้นดังกล่าว ผู้บรรยายก็ได้กล่าวต่อถึงการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทางเลือกใหม่ ๆ ที่ต้องการการวิจัยในเชิงเทคนิคมากขึ้น เทคโนโลยีเหล่านี้มิได้แฝงความเกรี้ยวกราดหรือแปลกแยกกับสิ่งแวดล้อม คำขวัญสั้น ๆ ที่สะท้อนถึงวิธีคิดในการพัฒนาระบบผลิตพลังงานทางเลือกคือ “Working in close harmony with nature – new opportunities for rural areas” ผู้บรรยายได้กล่าวถึงการผลิตพลังงานจากไม้และสายลมซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมในเขตลูเซิร์น อีกทั้งได้ให้ภาพว่าในเขตลูเซิร์น ประชากรสุกรและวัวรวมกันแล้วมากกว่าประชากรมนุษย์เสียอีก นั่นจึงเป็นการสมเหตุสมผลที่จะพัฒนาพลังงานชีวภาพจากของเสียของสัตว์เหล่านั้น ในการพัฒนาพลังงานชีวภาพนั้น มีรายงานวิจัยที่น่าสนใจฉบับหนึ่งที่เพิ่งตีพิมพ์ไม่นานนี้ [2] ในงานดังกล่าว นักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐสวิส ณ เมืองโลซานน์ (EPFL)ได้เสนอความเป็นไปได้ในการสร้างระบบผลิตกำลังงานและความร้อนร่วมขนาดเล็กโดยใช้เซลล์เชื้อเพลิงแบบโซลิดออกไซด์ที่ใช้ก๊าซชีวภาพ (SOFC-biogas combined small heat and power system) จากฟาร์มเลี้ยงสัตว์เป็นเชื้อเพลิง งานดังกล่าวรายงานว่า ก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากคอกวัวที่ให้อัตราการผลิตก๊าซ 35 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในเซลล์เชื้อเพลิงแบบโซลิดออกไซด์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าและความร้อนได้อย่างพอเพียงสำหรับพื้นที่ทั้งหมดในอาณาบริเวณนั้น แม้งานดังกล่าวจะมิได้กล่าวอย่างสมบูรณ์ถึงต้นทุนการผลิตและอายุการใช้งานของวัสดุที่ใช้ทำเซลล์เชื้อเพลิง แต่งานวิจัยนี้ก็นับเป็นจุดตั้งต้นและกรณีสาธิตที่สวยงามยิ่งในการพัฒนาระบบผลิตพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยเฉพาะสำหรับชุมชนเกษตรกรรมเช่นประเทศไทย


(2)
ครับ บทความนี้มิได้หมายมุ่งอธิบายวิธีบริหารจัดการพลังงาน หากแต่ต้องการยกตัวอย่างดังกล่าวขึ้นเป็นกรณีศึกษาเพื่อเชื่อมโยงเข้าสู่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้สรุปแก่นความของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว [3] ไว้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย [4] ได้สรุปแก่นความคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไว้เป็นแผนภาพที่กระชับดังแสดงในรูปที่ 1



เราอาจเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่สำคัญของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี เมื่อย้อนกลับไปถึงวิธีคิดในการบริหารจัดการพลังงานของเขตลูเซิร์น เราอาจเห็นได้ว่าการเริ่มต้นแก้ปัญหาพลังงานจากการปรับปรุงที่อยู่อาศัยเดิมและการออกแบบที่อยู่อาศัยใหม่ให้ช่วยประหยัดพลังงานนั้นเป็นวิธีคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความพอประมาณและความมีเหตุผล ในเบื้องต้นที่สุด เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่ไกลตัว เราเริ่มเปลี่ยนแปลงจากตัวเรา เราเริ่มทำจากสิ่งที่ทำได้ทันทีหรือในเวลาอันรวดเร็ว จากนั้น เมื่อมองไปข้างหน้าและเห็นถึงภัยคุกคาม (threat) จากภายนอก ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับตัวเองทั้งนี้บนพื้นฐานของความมีเหตุผล ในกรณีนโยบายพลังงาน สำนักงานพลังงานนานาชาติ (International Energy Agent; IEA) ในองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Corporation and Development; OECD) ได้คาดการณ์ว่าการผลิตน้ำมันจากฟอสซิลแบบทั่วไปจะขึ้นถึงขีดสูงสุดในช่วงปี ค.ศ. 2010 ถึง 2020 [5] จากนั้นกำลังการผลิตดังกล่าวจะลดต่ำลงจนหมดยุคน้ำมันจากฟอสซิล ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันด้านความมั่นคงทางพลังงานให้แก่ชุมชนหรือประเทศจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด จากเหตุผลที่เขตลูเซิร์นมีชุมชนเกษตรกรรมอยู่มากและอุดมด้วยทรัพยากรธรรมชาติป่าและสายลม นโยบายพัฒนาและใช้พลังงานทางเลือกจึงมุ่งไปที่การพัฒนาพลังงานชีวภาพ พลังงานจากไม้ และจากลม

จากที่กล่าวมาทั้งหมด เมื่อพิจารณาอย่างลึกซึ้งเราจะเห็นถึงความสอดประสานเป็นแนวเดียวกันของวิธีคิดในการบริหารจัดการพลังงานของเขตลูเซิร์นกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อถอยออกมามองภาพในชีวิตประจำวันที่ไม่ใช่นโยบายสาธารณะ ผู้เขียนมีความรู้สึกว่า วิธีคิดแบบพอเพียงนั้นซึมซาบเข้าไปเป็นธรรมชาติของผู้คนในทวีปยุโรปในหลาย ๆ แห่งเท่าที่เคยได้สัมผัส กรณีตัวอย่างแรก คือประสบการณ์เมื่อครั้งที่ผู้เขียนศึกษาอยู่ในเมืองเกรอนอบล์ ประเทศฝรั่งเศส เมืองดังกล่าวเป็นเมืองเล็ก ๆ ที่โอบล้อมด้วยภูเขาบริเวณรอยต่อฝรั่งเศส สวิส และอิตาลี ในครั้งนั้น ผู้เขียนชอบที่จะเดินไปยังห้องปฏิบัติการท่ามกลางไพรพฤกษ์อันมีฉากหลังเป็นภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ สายลมจากเทือกเขาแอลป์ยังคงบริสุทธิ์สะอาดปานนั้น อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางวิถีชีวิตที่พอเพียงและแนบชิดกับธรรมชาติของผู้คนเมืองเกรอนอบล์ ผู้เขียนกลับพบว่า นักวิจัยจำนวนมากในห้องปฏิบัติการต่างกำลังมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีไปอย่างก้าวหน้ายิ่ง กรณีใกล้ตัวของผู้เขียน อาจได้แก่ งานวิจัยในกลุ่มวิจัยเซลล์เชื้อเพลิง ณ สำนักงานพลังงานปรมาณู ศูนย์เมืองเกรอนอบล์ (Atomic Energy Commission, Centre of Grenoble) กลุ่มวิจัยดังกล่าวเพิ่งเสนอวิธีการผลิตกระแสไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิงแบบโซลิดออกไซด์ที่ใช้ก๊าซชีวภาพสะอาดเป็นเชื้อเพลิง โดยที่กระบวนการดังกล่าวสามารถให้สมรรถนะในการผลิตกำลังงานไฟฟ้าเทียบได้กับการใช้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์เป็นเชื้อเพลิง [6] แม้ในทางปฏิบัติ สารมลทินในก๊าซชีวภาพจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อสมรรถนะของวัสดุที่ใช้ทำเซลล์เชื้อเพลิง แต่งานดังกล่าวก็นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สวยงามยิ่งในการพยายามสร้างระบบผลิตพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่นเดียวกับงานวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธรัฐสวิส ณ เมืองโลซานน์ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว อีกกรณีตัวอย่างหนึ่ง คือประสบการณ์เมื่อครั้งผู้เขียนไปเยี่ยมเยือนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอาเค่น (RWTH Aachen) ประเทศเยอรมนี ผู้เขียนยังคงประทับใจว่า ในโรงปฏิบัติการที่ดูเหมือนจะอยู่ในป่า หากแต่ผู้คนในนั้นกลับกำลังคิดค้นพัฒนาวิธีขึ้นรูปวัสดุเพื่อใช้เป็นชิ้นส่วนของยานอวกาศ

ครับ หากย้อนกลับไปสู่คำถามต้นบทความ ผู้เขียนมิอาจตอบได้ว่า สิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์และวิถีชีวิตของผู้คน ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิส ได้ส่งผลต่อพระราชดำริของในหลวงของเรานับแต่ครั้งทรงประทับอยู่ ณ เมืองดังกล่าวเมื่อราวหกสิบถึงเจ็ดสิบกว่าปีก่อนหรือไม่ และผู้เขียนย่อมมิอาจตอบได้เช่นกันว่า สิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์และวิถีชีวิตของผู้คน ณ เมืองเกรอนอบล์ ประเทศฝรั่งเศส ได้ส่งผลต่อทัศนคติของเด็กหนุ่มนักเรียนไทยซึ่งเคยเรียนที่นั่นและปัจจุบันคือ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล หรือไม่ แต่อีกหลายสิบปีให้หลังเมื่อผู้เขียนได้มีโอกาสไปใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเล็ก ๆ ในภูมิภาคดังกล่าว ผู้เขียนรู้สึกได้ว่าวิถีชีวิตของผู้คนในยุโรปเท่าที่สัมผัสนั้นเรียบง่ายยิ่ง และสิ่งจริงแท้ที่ควรค่าแก่การบ่มเพาะแสวงหา หาใช่มายาภาพลักษณ์ภายนอก หากแต่คือปัญญาและคุณภาพชีวิตอันเกิดจากการอยู่ในธรรมชาติแวดล้อมที่ดี ผู้เขียนมีความรู้สึกเป็นส่วนตัวว่าทัศนคติดังกล่าวเป็นพื้นฐานสำคัญของการดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


(3)
จากที่กล่าวมานั้น เป็นการพยายามทำความเข้าใจเศรษฐกิจพอเพียงในทางวิศวกรรมในระดับ “ความคิด” หากแต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงจำต้องแปรความคิดเหล่านั้นสู่ “การปฏิบัติและขยายเครือข่าย” ซึ่งอาจเริ่มต้นจากตัวเราและเผยแพร่แลกเปลี่ยนความเข้าใจนั้นสู่คนรอบข้าง ท่ามกลางสายลมเบาบางจากเทือกเขาแอลป์ก่อนที่ผู้เขียนจะสำเร็จการศึกษาจากยุโรป ผู้เขียนได้หยิบกระดาษขึ้นมาขีดเขียนข้อความสั้น ๆ ก่อนกลับเมืองไทยไว้ว่า

“รายวิชา : สัมมนาเศรษฐกิจพอเพียงในวิชาชีพวิศวกรรมวัสดุ
คำอธิบายรายวิชา : การอภิปรายนิยามและคุณลักษณะของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. แนวความคิดพื้นฐานว่าด้วยหลักธรรมาภิบาลและการพัฒนาแบบยั่งยืน. กรณีศึกษาการวิจัยและพัฒนาวัสดุเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืน อาทิ การนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และ การวิจัยวัสดุเพื่อใช้ในระบบผลิตพลังงานทางเลือก.”

ข้อความนี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อเป็น “ร่างเริ่มต้น” ของคำอธิบายรายวิชา “สัมมนาเศรษฐกิจพอเพียงในวิชาชีพวิศวกรรมวัสดุ” ที่จะจัดให้เป็นรายวิชาบังคับในหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุทั้งในระดับปริญญาตรีและโทซึ่งกำลังดำเนินการปรับปรุงหลักสูตรในหน่วยงานต้นสังกัดของผู้เขียน รวมถึงในหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุระดับปริญญาเอกที่กำลังช่วยกันร่างขึ้นในกลุ่มผู้ร่วมงานของผู้เขียน แน่ล่ะ ถ้อยความหรือความตั้งใจนี้ย่อมมิได้ผุดขึ้นโดยฉับพลัน ย้อนกลับไปในวันวัยของการเป็นนิสิต จำได้ว่า ผู้เขียนเคยตั้งคำถามเหมือนกับรุ่นพี่รุ่นน้องร่วมคณะหลาย ๆ คนว่า ในฐานะวิศวกร เราถูกสอนให้เป็นผู้สร้าง แต่ในขณะที่เรากำลังสร้างอะไรบางอย่าง เราได้กำลังทำลายอะไรอีกบางอย่าง (หรือหลายอย่าง) หรือไม่ และในขณะที่เราเข้าไปเป็นฟันเฟืองในภาคการผลิต แท้จริงแล้ว เรากำลังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทางใด

คำถามเหล่านี้ บางทีอาจใหญ่เกินกว่าวิศวกรผู้ทำงานเชิงเทคนิคและเคร่งในตรรกะแบบวิทย์คณิตจะตอบได้ แต่อย่างน้อยมันก็ควรถูกจุดขึ้นมาให้ขบคิด และผู้เขียนเชื่อว่า เราอาจเข้าใจคำถามเหล่านี้และหาคำตอบที่ควรจะเป็นได้ชัดขึ้น หากเราเข้าใจความหมายในเบื้องลึกของคำว่า “พอเพียง”

คือ..........หลักปรัชญาไท้..................พระราชทาน
ความ......ยั่งยืนชั่วกาล......................เกิดได้
พอ..........คือพจน์เพื่อสาน.................ปฏิบัติ
เพียง.......พรักพร้อมน้อมไว้................ทั่วถ้วนทุกคน



รายการอ้างอิง
[1] R. B.-Hauser, “Sustainable Energy Solutions Implemented in the Lucerne Region”, Proceeding of the 7th European SOFC Forum, Lucerne, Switzerland, July 3-7, 2006.
[2] J. Van herle, et.al., “Energy balance model of a SOFC cogenerator operated with biogas”, Journal of Power Sources, 118, 2003, p.375-383.
[3] สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร, รายละเอียดดูได้ใน
//www.sufficiencyeconomy.org/detail.swf.
[4] สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, เศรษฐกิจพอเพียง ร่วมเรียนรู้ สานข่าย ขยายผล, อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2549.
[5] Jeremy Rifkin, The Hydrogen Economy: The Creation of the Worldwide Energy Web and the Redistribution of Power on Earth, Penguin Putman, 2002. (ฉบับแปลเป็นไทย โปรดดู เจเรมี ริฟกิน เขียน, กุลศิริ เจริญศุภกุล แปล, เศรษฐกิจไฮโดรเจน การปฏิวัติเครือข่ายและการจัดสรรพลังงานโลก, โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, ซีเอ็ดยูเคชัน, 2549.)
[6] K. Girona, et.al., “Solid Oxide Fuel Cell Operated under Bio-Gas: Simulation and Experimentation”, Proceeding of the 7th European SOFC Forum, Lucerne, Switzerland, July 3-7, 2006.


Create Date : 28 มกราคม 2550
Last Update : 19 ตุลาคม 2551 17:51:26 น. 2 comments
Counter : 4559 Pageviews.

 
อยากเที่ยวยุโรปให้ทั่วๆบ้างจัง

Happy Valentine day naka.


โดย: กิ่งไม้ไทย วันที่: 14 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา:9:18:12 น.  

 
ห่างหายไปนาน แวะเข้ามาเยี่ยมชมอีกครั้งคะ
แต่เข้าหลายๆ Blog ไม่ได้ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาต
อิอิ ถ้ามีโอกาส ก็ฝากระหัสอนุญาตหลังไมค์ก็ได้นะคะ จะได้ เข้ามาชมรูปที่ไปเที่ยวที่ต่างๆได้


โดย: กิ่งไม้ไทย วันที่: 1 ตุลาคม 2550 เวลา:11:33:38 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

mildsteel
Location :
Grenoble Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add mildsteel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.