"แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้"
Group Blog
 
All Blogs
 

=====วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระบวนท่าที่ 3 กำหนดลมหายใจให้แน่นอน=====

ปีที่ 1 เล่มที่ 3 ฉบับที่ 3 วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2548

หยุดพัก ยืดเส้นยืดสาย ก่อนขึ้นกระบวนท่าที่ 3 ไปร่วมสองเดือน วันนี้กลับมาเข้ากระบวนยุทธ์ ในกระบวนท่าที่ 3 กันต่อ

ตอนที่แล้ว “หมากเขียวเรโช” ที่มีทั้งระดับจุลภาค และมหภาค เป็นเรโชเพื่อใช้ตรวจสอบว่า หุ้นที่มีอยู่ หรือที่กำลังจะซื้อ เป็น “ของถูก” หรือไม่ ส่วนจะเป็น “ของดีราคาถูก” หรือ “ของห่วยราคาถูก” ต้องใช้ข้อมูลทางการเงินอื่นๆ มาตรวจสอบ อ่านได้ตามลิงค์นี้ครับ

//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3645748/I3645748.html

ตอนนี้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ “การกำหนดจุดขายแน่นอน” เป็นกลยุทธ์ง่ายๆ ที่ช่วยตัดความโลภได้ดีระดับหนึ่ง แต่ทำยากสำหรับคนไม่เคย เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่รู้เทคนิคเลย ลองอ่านกันดูครับ

=======วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระบวนท่าที่ 3 กำหนดลมหายใจให้แน่นอน=======

ในช่วงที่ตลาดหุ้นขึ้น...ขึ้น...แล้วก็ขึ้น...ซึ่ง ณ ขณะนี้เป็นที่รู้แล้วว่าตลาดยืนเหนือ 700 จุดได้จริง แบบมีนัยสำคัญ ก็จะมีคำพูดต่างๆ นานา ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น นักวิแคะปากกาหัก (เป็นใครไม่ต้องบอก) บอกให้ขาย แต่แล้วไปต่อ ไปต่อ แล้วก็ไปต่อ บางครั้งบอกให้ซื้อ พอซื้อปุ๊บ เจ้ามือกลับทิ้งของซะนี่ (ตัวไหน ใครเคยโดน คงจะรู้ๆ กัน ผมไม่บอก เพราะถือคติไม่ใบ้หุ้น ฮาฮาฮา)

นักเล่นหุ้น (ส่วนหนึ่ง) มักที่จะชอบคอยฟัง “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือ “เกจิอาจารย์” ในวงการหุ้นทั้งหลาย “ใบ้หุ้น” ว่าหุ้นตัวนั้น ตัวนี้ กลุ่มนั้น กลุ่มนี้ จะไปได้ถึงจุดไหน ถึงจะซื้อหรือขายดี? แล้วก็ตัดสินใจทำตามคำบอกใบ้เหล่านั้นเป็นประจำ และบ่อยครั้งที่ “ขายหมู” “ตกรถ” ก็เยอะ เสร็จแล้ว “แพะรับบาป” ก็คงไม่ใช่ใครอื่น “นักวิแคะ” ที่พวกท่านๆ เรียกนั้นเอง

ผมมักจะมองเป็นกลางเสมอ ไม่เข้าข้างทั้ง “รายย่อย” และ “นักวิเคราะห์” เพราะผมมองว่า หากนักวิเคราะห์ แม่นจริง เขาไม่มาเป็นลูกจ้างบริษัทแล้วครับ ไปนั่งเล่นหุ้นเป็นอาชีพจะดีกว่า การวิเคราะห์นั้น ใช้หลักพื้นฐานของการคาดเดา ความน่าจะเป็น การคำนวณ ประสบการณ์ ฯลฯ อีกมากมาย ซึ่งไม่การันตีว่า 10 ครั้ง จะต้องถูกทุกครั้ง และก็เป็นไปไม่ได้อีก ที่ 10 ครั้ง จะผิดไปทุกครั้ง

ดังนั้น ท่านที่ชอบติดตามนักวิเคราะห์ ควรใช้วิจารณญาณให้ดี ก่อนทำการซื้อขาย

การกำหนดจุดขายแน่นอน เป็นกลยุทธ์หนึ่ง ที่สามารถกำหนดได้ล่วงหน้า ในหุ้นตัวนั้นๆ ที่ท่านเข้าซื้อ คือ ให้กำหนดจุดขายแน่นอนไว้ก่อนว่า เมื่อท่านได้ถือหุ้นนั้นมาแล้ว ท่านจะขายออกไปในราคาเท่าใด ซึ่งมีสองกรณีคือ

เมื่อเกิดกรณีหุ้นตัวนั้นตกลง ท่านต้องกำหนดจุดขายนี้ไว้ตั้งแต่ตอนซื้อ หรือที่เรียกว่า “Stop Loss” บางท่านรู้ว่ามันคืออะไร แต่ใช้ไม่ได้ผลซะที เนื่องจาก “ความโลภ” นั่นเอง ท่านที่เข้าซื้อ แล้วผิดจังหวะ ต้องยอมรับในความผิดพลาดของตัวเอง ว่าท่านมองผิดไป เข้าผิดจังหวะไป หูเบาเกินไป และให้ขายในจุดที่ท่านกำหนดไว้ล่วงหน้า อย่าโลภ อย่าคิดทึกทักเอาเองว่า เดี๋ยวก็ขึ้น (คนที่ถือหุ้นที่เคยราคา 70 บาท แล้วมาอยู่แถวๆ 20 บาท ภายในเวลาไม่ถึงสองปี แต่ไม่ยอมขาย Cut Loss คงจะเข้าใจเป็นอย่างดีแล้วว่า เดี๋ยวก็ขึ้นนั้น มันจะเดี๋ยวถึงเมื่อไหร่กัน)

อีกกรณีหนึ่งคือเมื่อซื้อแล้วหุ้นตัวนั้นขึ้น กลยุทธ์อย่างง่ายคือ การกำหนดจุดขายนี้ไว้ตั้งแต่ตอนซื้อ หรือที่เรียกว่า “Take Profit” คือตั้งเกณฑ์ไว้ล่วงหน้าว่า ท่านต้องการผลตอบแทนกี่เปอร์เซ็นต์ เมื่อถึงราคาที่ตั้งเกณฑ์นั้นไว้ ก็ขายออกไป (ต้องมีวินัยในการใช้ มิเช่นนั้น ไม่มีทางทำได้) เปอร์เซ็นต์ที่ท่านต้องการนั้น ท่านต้องกำหนดเอง จากความเป็นไปได้ ไม่ใช่ “เพ้อฝัน” หรือ “คิดทึกทักเอาเอง” ว่าต้องได้กำไร 100% ถึงจะขาย อะไรประมาณนั้น

ข้อดีของกลยุทธ์การขายแบบนี้ คือ เราจะหลุดพ้นจากการที่ต้องมาหาจุดขาย “ที่เป็นจุดสูงสุดของหุ้นตัวนั้น” เปลี่ยนมาเป็น การหาจุดขาย “ที่ให้ความพึงพอใจ” ที่ได้ขายหุ้นตัวนั้น คือเมื่อท่านได้กำหนดจุดขายไว้ล่วงหน้าแล้วว่า ถ้าได้กำไร....% ท่านพอใจแล้ว ขายได้แล้ว อะไรประมาณนั้น และเมื่อขายออกไปแล้ว ถ้าหุ้นตัวนั้นมันขึ้นต่อ ความรู้สึกที่คิดว่า “ขาดทุนกำไร” จะน้อยลง เนื่องจากท่านได้ขายไปในราคาที่ท่านพึงพอใจแล้ว

ในการซื้อขายจริงๆ ไม่มีใครในโลกนี้ ที่สามารถขายได้ที่จุดสูงสุด และซื้อได้ที่จุดต่ำสุดของหุ้นตัวนั้น ทุกครั้งไป จึงเป็นการเสียเวลาเปล่า ที่ต้องมานั่งพะวง และมานั่งเสียดายว่า จะต้องซื้อที่ราคาต่ำสุด ขายที่ราคาสูงสุด ท่านเอาความทุกข์เหล่านั้น เปลี่ยนมาเป็น “ความพึงพอใจ” ที่ได้ขาย ในราคาที่ท่านกำหนดไว้แต่แรกแล้วจะดีกว่า

แล้วถ้าเกิดกรณีที่ ราคาขึ้นไปยังไม่ถึงจุดที่ท่าน “พึงพอใจจะขาย” แต่ราคามันดันล่วงลงมาเลยแต่ยังกำไรอยู่จะทำอย่างไร คำตอบ คือ การใช้กลยุทธ์ที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งกลยุทธ์การขายออก เมื่อมีกำไรนั้นยังมีอีกมากมาย อาทิ การตัดขายออกแบบพิระมิดหัวกลับ การตัดขายออกแบบเด็ดก้นกรอง ฯลฯ ซึ่งจะกล่าวถึงในกระบวนท่าอื่นๆ ต่อไป หรือแม้แต่ “คลายเครียดเรโช” ก็สามารถใช้ได้ดีเพื่อเป็นกลยุทธ์ในการขายออก

กลยุทธ์การกำหนดจุดขายแน่นอน กรณีที่มีกำไร มีการใช้มานานมากแล้ว และมีนักวิจัยทางการเงินชาวต่างประเทศได้ตั้งกฎการซื้อขายให้เป็นระบบขึ้น เรียกว่า “Filter Rule” คือการตั้งกฎเกณฑ์ว่า เมื่อหุ้นตกลงกี่เปอร์เซ็นต์ให้ซื้อ ขึ้นกี่เปอร์เซ็นต์ให้ขาย ซึ่งมีมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยเผยแพร่ครั้งแรกใน Journal of Finance แต่นักลงทุนไทยไม่ค่อยมีใครรู้จัก

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า DSM ที่นิยมทำกันในปัจจุบัน โดยเฉพาะในคลับเพื่ออิสรภาพทางการเงิน ก็คือ Filter Rule ประเภทหนึ่ง เพียงแต่มีกฎการซื้อขาย ที่มีหลายขั้นตอนมากขึ้น และให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว

ตอนนี้คงจะหยุดไว้เพียงเท่านี้ พบกันตอนหน้า กระบวนท่าที่ 4


“แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้”




***สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำการคัดลอก ดัดแปลง แก้ไข โดยไม่ได้อ้างอิงหรือขออนุญาตล่วงหน้า***




 

Create Date : 28 กันยายน 2548    
Last Update : 29 กันยายน 2548 12:05:17 น.
Counter : 9521 Pageviews.  

วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน มายืดเส้นยืดสาย ก่อนขึ้นกระบวนท่าที่ 3 ด้วย “หมากเขียวเรโช”

ปีที่ 1 เล่มที่ 3 ฉบับที่ 2 วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2548

มีเพื่อนๆ ทักผมว่า ไม่คิดที่จะตั้งชื่อกระบวนท่าทั้งสองที่ได้โพสไว้แล้วหรือ?

ดังนั้น ผมจึงขอตั้งชื่อกระบวนท่าทั้งสองดังนี้ครับ

กระบวนท่าที่ 1 ฝึกจิตดั่งภูผา
กระบวนท่าที่ 2 กระบวนท่าสัมพันธ์กับใจ

ตอนที่แล้ว วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระบวนท่าที่ 2 กระบวนท่าสัมพันธ์กับใจ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ การแนะนำให้นักลงทุนหน้าใหม่ อย่าเข้าตลาดหุ้น หรือ “ยุทธภพ” ด้วยการเล่นหุ้นแบบเก็งกำไรระยะสั้น (Speculator) แต่ให้เล่นหุ้น แบบ VI หรือ VSOP ก็ได้แล้วแต่ความถนัด จากนั้นถ้าอยากจะลองแบบ VS ดูก็ได้ ตามลิงค์นี้ครับ

//www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I3617424/I3617424.html

ก่อนจะขึ้นกระบวนท่าที่ 3 วันนี้ ผมพาพวก “จอมยุทธ์” ทั้งหลาย มายืดเส้นยืดสายด้วย “หมากเขียวเรโช” ที่ผมได้ลองจับอัตราส่วนทางการเงินยอดฮิตของชาว VI นั่นคือ P/E ratio (อัตราส่วนราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น) กับ P/BV ratio (อัตราส่วนราคาปิดต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี) มาผสมผสานกัน ให้เกิด ratio ใหม่ เพื่อใช้ดูว่าหุ้นใดราคา “ถูก” หุ้นใดราคา “แพง” ลองอ่านกันดูครับ

วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน มายืดเส้นยืดสาย ก่อนขึ้นกระบวนท่าที่ 3 ด้วย “หมากเขียวเรโช”

ปฏิเสธกันไม่ได้ว่า อัตราส่วนทางการเงินที่ชาว VI หรือแม้แต่กระทั่งชาว VSOP มักจะดูกันเป็นอันดับต้นๆ คือ P/E และ P/BV

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ก็น่าจะมาจาก หาข้อมูลได้ง่าย (ตามหน้า น.ส.พ. หุ้น หรือ น.ส.พ. เศรษฐกิจ มีรายงานทุกวัน) อีกทั้งยังสามารถทำความเข้าใจได้ง่ายอีกด้วย

P/E นั่น หลักการดูง่าย คือ ยิ่งน้อยๆ ยิ่งดี (แต่ต้องไม่ติดลบนะ) ซึ่ง ดร.นิเวศน์ เคยบอกว่า หุ้นจะถูกจะแพง อย่าไปดูที่ “ราคาหุ้น” ให้ดูที่ P/E ซึ่งท่าน ให้หลักนิยามสไตล์ VI ว่า ตัวเลข P/E นั่นสื่อถึงว่า “เงินที่เราลงทุนไปกับหุ้นตัวนั้น จะได้คืนทุนมาภายในกี่ปี” กล่าวคือ ถ้าคำนวณ P/E ได้เท่ากับ 7.5 แปลความหมายว่า “จะใช้เวลาลงทุน 7 ปีครึ่ง ถึงจะได้ทุนคืนทั้งหมด” เป็นการแปลความอัตราส่วนทางการเงินให้เป็นภาษาชาวบ้านเข้าใจง่ายๆ นั่นเอง

ส่วน P/BV นั่น เป็นการดูเทียบระหว่างราคาปิดของหุ้น ณ วันนั้น ต่อส่วนของผู้ถือหุ้นของบริษัท ซึ่งส่วนของผู้ถือหุ้นนี้ ถูกบันทึกอยู่ในงบดุลของบริษัทหลังจากที่ได้ทำการกระจายหุ้นออกสู่ตลาด (จึงเรียกว่า Book Value) ดังนั้น P/BV ยิ่งต่ำๆ ยิ่งดี (แต่ต้องไม่ติดลบนะ) เพราะสื่อถึงว่า ราคาหุ้น ณ วันนั้นๆ มีค่าใกล้เคียงหรือต่ำกว่ามูลค่าของตัวมันเองที่บันทึกอยู่ในงบดุล

ทีนี้ก็เกิดคำถามว่า แล้ว P/E และ P/BV ต่ำๆ ยิ่งดีนี้ ต่ำขนาดไหนล่ะ ใช้อะไรวัด?

ตามความคิดของผม การจะดูว่า P/E และ P/BV จะมีค่าต่ำหรือสูงนั่น ผมใช้ P/E และ P/BV รายหมวดธุรกิจ หรือ ราย Sector เป็นตัววัด

กล่าวคือ ถ้า P/E และ P/BV ของหุ้นรายตัว มีค่า “น้อยกว่า” รายหมวดธุรกิจ P/E และ P/BV นั่นมีค่า “ต่ำ”

แต่ถ้า P/E และ P/BV ของหุ้นรายตัว มีค่า “มากกว่า” รายหมวดธุรกิจ P/E และ P/BV นั่นมีค่า “สูง”

การพิจารณาว่า หุ้นใดราคา “แพง” หุ้นใดราคา “ถูก” หากดูที่ P/E เพียงอย่างเดียว ในความคิดของผม เห็นว่ายังไม่ครอบคลุมพอ เพราะ P/E นั่น ตัว E หรือ Earning per Share ที่ใช้ เป็นเพียงระยะสั้นคือภายในระยะ 12 เดือน การมองเพียงตัวเดียวอาจจะเป็นการมองที่สั้นเกินไป

หากพิจารณา P/BV ซึ่งเป็นมองในระยะยาวกว่า เนื่องจาก BV หรือ Book Value เป็นค่าที่บันทึกอยู่ในงบดุล จะเปลี่ยนแปลงก็ต่อเมื่อมีการออกหุ้นเพิ่มทุน หรือการซื้อหุ้นคืน หรือการจ่ายปันผลเป็นหุ้น

ดังนั้น หากนำอัตราส่วนทั้งสองมาใช้ผสมผสานกันและใช้สร้างอัตราส่วนขึ้นมาใหม่ เพื่อใช้พิจารณาว่า หุ้นใดราคา “ถูก” หุ้นใดราคา “แพง” จึงน่าจะเหมาะสมกว่า

คุณ “แพะโง่” (ผมไม่ได้ไปว่าเขานา...เขาตั้งของเขาแบบนี้เอง) ได้เคยนำเสนอ “แพะเรโช” ให้ได้รู้จักกันไปแล้ว คือ การนำเอา PE คูณ PBV หากน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 จะน่าลงทุน

ท่านที่สนใจ “แพะเรโช” หรือเรโชของท่านอื่นๆ สามารถอ่านได้ที่ลิงค์นี้ครับ

//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I2423323/I2423323.html

อัตราส่วนที่ผมสร้างขึ้นนั้น แตกต่างกันกับของคุณแพะโง่ โดยผมนำแนวคิดพื้นฐานของ Finance ดังที่อธิบายไปแล้วข้างต้นมาสร้างอัตราส่วน ได้สองอัตราส่วน คือ ระดับจุลภาค และระดับมหภาค ดังนี้ครับ

หมากเขียวเรโช ระดับจุลภาค เวอร์ชั่น 1.0



โดยที่
PE (i) และ PBV (i) เป็น ค่า P/E และ P/BV ของหุ้นรายตัว
ส่วน PE (sec) และ PBV (sec) เป็นค่า P/E และ P/BV ของรายหมวดธุรกิจ

แนวคิดก็คือ

ถ้า P/E และ P/BV ของหุ้นรายตัว มีค่า “น้อยกว่า” รายหมวดธุรกิจ P/E และ P/BV นั่นมีค่า “ต่ำ”

ดังนั้น ค่า PE (i) หาร PE(sec) ของหุ้นที่มีราคา “ถูก” ควรจะต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับหนึ่ง

และค่า PBV (i) หาร PBV (sec) ของหุ้นที่มีราคา “ถูก” ควรจะต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับหนึ่งเช่นเดียวกัน

เมื่อต้องการสร้างข้อจำกัดขึ้น ในการพิจารณาว่า

“หุ้นที่มีราคาถูก P/E และ P/BV ของหุ้นนั้นควรจะต้องมีค่าที่ต่ำเมื่อเทียบกับรายหมวดธุรกิจ”

ดังนั้น จึงนำ ค่า PE (i) หาร PE(sec) และPBV (i) หาร PBV (sec) มา “คูณ” กัน เพื่อสร้างอัตราส่วน โดยอาศัยกฎพื้นฐานของคณิตศาสตร์เรื่องการคูณทศนิยม

จากกฎพื้นฐานของคณิตศาสตร์ว่าด้วยเลขทศนิยม

“เลขทศนิยมที่น้อยกว่าหรือเท่ากับหนึ่ง สองจำนวนคูณกัน ต้องได้ผลลัพธ์ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับหนึ่งด้วย”

และจากเงื่อนไขการคำนวณ P/E กับ P/BV ของรายหมวดธุรกิจ ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่กำหนดว่า “จะเลือกเฉพาะหลักทรัพย์ที่มีค่า E กับค่า BV ที่มากกว่า 0 เท่านั้นมาใช้คำนวณ P/E กับ P/BV รายหมวดธุรกิจ”

จากแนวคิด และเงื่อนไขการคำนวณของตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงได้ออกมาเป็น

“หมากเขียวเรโช ระดับจุลภาค เวอร์ชั่น 1.0” หากค่าที่คำนวณได้ออกมาแล้วได้ “น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1” ถือว่าเป็นหุ้นที่มีราคา “ถูก”

ประโยชน์

ไว้ช่วยตรวจสอบหุ้นรายตัวว่า หากคำนวณ “หมากเขียวเรโช ระดับจุลภาค” แล้วได้ค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับหนึ่ง หุ้นนั้นมีราคา “ถูก” (ส่วนจะเป็นของดีราคาถูก หรือของห่วยราคาถูก ต้องดูปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ประกอบ)

ตัวอย่าง (เป็นการสมมติเท่านั้น มิใช่ข้อมูลจริง)

หุ้น A เป็นหุ้นในกลุ่ม bank มี P/E เท่ากับ 9.31, P/BV เท่ากับ 1.54
P/E กลุ่ม bank เท่ากับ 14.47, P/BV กลุ่ม bank เท่ากับ 1.17

หมากเขียวเรโช ระดับจุลภาค = (9.31/14.47) x (1.54/1.17) = 0.85

ผลการคำนวณสรุปว่า หุ้น A มีราคา “ถูก”

จาก “หมากเขียวเรโช ระดับจุลภาค” ซึ่งใช้ดู “หุ้นรายตัว” สามารถ ขยายการมองภาพที่ใหญ่ขึ้นอีก ด้วยการสร้าง “หมากเขียวเรโช ระดับมหภาค เวอร์ชั่น 1.0” เพื่อใช้ดู “พอร์ทการลงทุน”

หมากเขียวเรโช ระดับมหภาค เวอร์ชั่น 1.0



โดยที่
w(i) คือ Weight หรือน้ำหนักการลงทุนของหุ้นแต่ละตัวในพอร์ท มีหน่วยเป็น %
summation ของ w(i) โดยที่ i เท่ากับหนึ่ง ถึง j คือ ผลรวมของน้ำหนักการลงทุนของหุ้นตัวที่ 1 จนถึงตัวที่ j (พอร์ทมีหุ้น j ตัว)

ซึ่งตามกฎผลรวมของ Weight

น้ำหนักการลงทุนของหุ้นตัวที่ i จนถึงตัวที่ j (พอร์ทมีหุ้น j ตัว) ต้องเท่ากับ “หนึ่ง” หรือ 100%

ดังนั้น เมื่อนำ “หมากเขียวเรโช ระดับจุลภาค” มาพิจารณาร่วมกัน

ผล summation ของทั้งสมการ ต้องน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1

แนวคิด

เมื่อหุ้นแต่ละตัว ถูกคัดสรรมาโดยการดู “หมากเขียวเรโช ระดับจุลภาค” ซึ่งถ้าค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับหนึ่ง จะถือว่าหุ้นตัวนั้นๆ มีราคา “ถูก”

เมื่อนำหุ้นแต่ละตัว มารวมเป็น “พอร์ทการลงทุน” พอร์ทการลงทุนนั้น ก็ควรจะเป็นพอร์ทการลงทุน ที่ถือว่าเป็น “กลุ่มของหลักทรัพย์ที่มีราคาถูก” เช่นเดียวกัน

ประโยชน์

ไว้ใช้ช่วยตรวจสอบพอร์ทการลงทุนของท่านว่า หากคำนวณ “หมากเขียวเรโช ระดับมหภาค” แล้วได้ค่าน้อยกว่าหรือเท่ากับหนึ่ง บ่งบอกว่า พอร์ทการลงทุนของท่านประกอบด้วยกลุ่มหลักทรัพย์ที่มีราคา “ถูก” (ส่วนจะเป็นของดีราคาถูก หรือของห่วยราคาถูก ต้องดูปัจจัยพื้นฐานอื่นๆ ประกอบ)

ตัวอย่าง (เป็นการสมมติเท่านั้น มิใช่ข้อมูลจริง)

ในพอร์ทการลงทุน มีหุ้น A อยู่ 60% และหุ้น B 40%
หุ้น A เป็นหุ้นในกลุ่ม bank มี P/E เท่ากับ 9.31, P/BV เท่ากับ 1.54
P/E กลุ่ม bank เท่ากับ 14.47, P/BV กลุ่ม bank เท่ากับ 1.17

หุ้น B เป็นหุ้นในกลุ่ม สื่อสาร มี P/E เท่ากับ 12.49, P/BV เท่ากับ 3.06
P/E กลุ่ม สื่อสาร เท่ากับ 15.44, P/BV กลุ่ม สื่อสาร เท่ากับ 2.36

หมากเขียวเรโช ระดับมหภาค = 0.6 x (9.31/14.47) x (1.54/1.17) + 0.4 x (12.49/15.44) x (3.06/2.36) = 0.93

ผลการคำนวณสรุปว่า พอร์ทการลงทุน ประกอบด้วยกลุ่มหลักทรัพย์ ที่มีราคา “ถูก”

จะหาข้อมูลมาคำนวณได้อย่างไร?

ค่า P/E และ P/BV ของหุ้นรายตัวนั้น หาได้ง่าย ทั้งในเวบไซด์หุ้น และ น.ส.พ.หุ้น แต่แต่ละสำนัก บางครั้งค่าจะไม่ค่อยตรงกัน เหตุผลเนื่องมาจาก การเลือกส่วนประกอบที่ใช้ในการคำนวณอาจจะไม่เหมือนกัน

เนื่องจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดค่าสถิติเบื้องต้น และวิธีการคำนวณเบื้องต้น ออกมาใหม่ เมื่อวันที่ 2 ก.ค. 2547 โดยระบุใน “คู่มือ Set Smart ฉบับปรับปรุง ม.ค. 48” ดังนี้









ซึ่งบางสำนักอาจจะไม่ยึดหลักการคำนวณตามตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือการคำนวณหาค่า E และ ค่า BV ที่แตกต่างกันตามนิยามของแต่ละสำนัก

ยกตัวอย่างเช่น
ของ Set Smart ถ้าจะคำนวณหาค่า EPS ณ ไตรมาส 2 ให้คำนวณมาจาก EPS ทั้งปี 47 ลบด้วย EPS ไตรมาส 1,2 ของปี 47 บวกกลับด้วย EPS ไตรมาส 1,2 ของปี 48

ส่วนค่า P/E และ P/BV ของรายหมวดธุรกิจนั้น ไม่ค่อยมีเผยแพร่เท่าไหร่ เท่าที่ผมหาเจอ ก็มี Set Smart หนึ่งที่ ที่มีบริการให้ค้นหา

หลักการคำนวณ P/E และ P/BV ของรายหมวดธุรกิจตามเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีดังนี้



ผมได้ลองคำนวณ หา P/E และ P/BV ของรายหมวดธุรกิจ โดยการนำ P/E ของหุ้นรายตัวมา Weight ด้วย Mk Cap และนำ P/BV ของหุ้นรายตัวมา Weight ด้วย Mk Cap เช่นเดียวกัน

วิธีการหา Mk cap ที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนดขึ้น มีดังนี้ครับ (Mk Cap ก็เป็นข้อมูลหนึ่งที่สามารถหาได้ง่าย)



แต่ผลปรากฏว่าค่า P/E และ P/BV ของรายหมวดธุรกิจ ที่ผมคำนวณได้ค่อนข้างต่างกันพอสมควรกับทาง Set Smart

ทาง Set Smart ยังให้คำตอบผมไม่ได้ว่า คำนวณ P/E และ P/BV ของรายหมวดธุรกิจมาได้อย่างไร

ค่าที่ผมคำนวณได้จากวิธี Weight average ให้ค่าที่ใกล้เคียงกับวิธี Arithmetic mean (เอาค่ามาบวกกันแล้วหารด้วยจำนวนข้อมูล) ดังนั้น ผมคิดว่าค่าที่ผมคำนวณ น่าจะเป็นค่าที่ใกล้เคียงกับความจริงมากกว่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อ Set Smart ขึ้นตรงกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ข้อมูลที่ให้บริการ น่าจะตรงตามหลักเกณฑ์ และได้มาตรฐานที่ตลาดหลักทรัพย์กำหนด ผมจึงใช้ข้อมูลอื่นๆ จากที่นี่ครับ (มิได้มีเจตนาโฆษณาให้ Set Smart แต่อย่างใด) แต่ P/E และ P/BV ของรายหมวดธุรกิจ ผมใช้วิธีคำนวณเอง

ตอนนี้คงขอจบแต่เพียงเท่านี้ หวังว่า “หมากเขียวเรโช ระดับจุลภาค และมหภาค” คงจะเป็นประโยชน์ ต่อนักลงทุนได้ ไม่มากก็น้อย

ยืดเส้นยืดสายกันพอสมควร ไว้พบกันตอนหน้า กระบวนท่าที่ 3 (ยังนึกชื่อท่าไม่ออกแฮะ)

“แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้”



***สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำการคัดลอก ดัดแปลง แก้ไข โดยไม่ได้อ้างอิงหรือขออนุญาตล่วงหน้า***




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2548    
Last Update : 11 สิงหาคม 2548 11:40:34 น.
Counter : 2234 Pageviews.  

วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระบวนท่าที่ 2 กระบวนท่าสัมพันธ์กับใจ

ปีที่ 1 เล่มที่ 3 ฉบับที่ 1 วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

ตอนที่แล้ว วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระบวนท่าที่ 1 เป็นการพูดถึงการเตียมพร้อมทางจิตใจเพื่อรับสถานการณ์ที่เลวร้าย ผู้ลงทุนจะต้องฝึกความพร้อมทางจิตใจ ให้มีสติ อย่าหวั่นไหว ตื่นตระหนก กับอารมณ์ของตลาดที่แปรปรวน ซึ่งการฝึกเพื่อให้จิตใจพร้อมสำหรับรับสภาวะกดดันนั้นก็คือ “การนั่งสมาธิ” นั่นเอง ตามลิงค์นี้ครับ

//www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I3589236/I3589236.html

ผมลืมไปว่า ก่อนจะขึ้นกระบวนท่าที่ 1 ผู้ลงทุนควรจะต้องสำรวจตัวเองก่อนว่า มีองค์ประกอบสำหรับนักลงทุน หรือ “จอมยุทธ์” ที่จะเข้ามาในตลาดหุ้น หรือ “ยุทธภพ” ครบองค์ประกอบทั้ง 5 แล้วหรือยัง ท่านที่ลืม หรือยังไม่ทราบ ดูองค์ประกอบทั้ง 5 ได้ ที่ วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน 2 ตามลิงค์นี้ครับ

//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3256937/I3256937.html

ก่อนจะขึ้นกระบวนท่าที่ 2 ผมขอเพิ่มเติม เนื้อหาในส่วน “คัมภีร์ยุทธ์” ซึ่งเป็นองค์ประกอบข้อที่หนึ่ง องค์ความรู้ที่นักลงทุนควรมีที่ผมมองว่ามีประโยชน์มาก นั่นคือ “การวิเคราะห์จิตวิทยามวลชน”

จากประสบการณ์ที่ผมได้พบ นักลงทุนที่เก่งๆ อาจจะเรียกว่าถึงขั้น “เซียน” ที่มักจะแฝงตัวอยู่ตามห้องค้า นั่งเงียบๆ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร (เซียนตัวจริง รวยจริง มักจะเก็บตัว ไม่ค่อยเปิดเผยตัวตนให้ใครรับรู้ เหมือนกับปรมาจารย์ที่มีวิทยายุทธ์สูงส่ง มักจะพักอาศัยอยู่ตามป่าเขา ให้ผู้มีบุญได้ฝากฝังตัวเป็นลูกศิษย์) นักลงทุนพวกนี้ นอกจากจะวิเคราะห์ทางด้านพื้นฐาน และวิเคราะห์ทางเทคนิค ได้แล้ว ยังสามารถวิเคราะห์จิตวิทยามวลชน เพื่อให้รับรู้ และทันกับอารมณ์ของตลาดได้อีกด้วย

ผมไม่ได้จบทางด้านจิตวิทยามา จึงไม่ทราบว่า มีตำราให้ได้เรียนหลักการวิเคราะห์จิตวิทยามวลชนหรือไม่ แต่คิดว่าน่าจะมีนะ หากผมเจอ จะลองซื้อมาอ่านดู ก็ดีเหมือนกัน ส่วนมากนักลงทุนที่ผมเจอ จะอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์ และการลองผิดลองถูกมากกว่า

นักลงทุนผู้นี้ เมื่อผมพบทีไร จะเข้าไปเสวนาด้วยทุกครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน ใจจริง ผมหวังเอาไว้ลึกๆ ว่า นักลงทุนผู้นี้อาจจะหลุดปาก บอกเทคนิคดีๆ อะไรให้กับผมบ้าง เพราะเขามองตลาดได้เนี๊ยบเลยทีเดียว แต่ความหวัง ก็คงเป็นแค่ความหวัง “เซียน” มักจะค่อนข้างหวงวิชา เหมือนกับปรมาจารย์ที่มักจะคัดกรองลูกศิษย์ ก่อนจะถ่ายทอดวิชายุทธ์ให้

จริงๆ ในโต๊ะสินธรนี้ ผมพบ นักลงทุนผู้หนึ่งที่อาศัยเครื่องมือทางเทคนิค มาช่วยดูทางด้านจิตวิทยามวลชน นักลงทุนผู้นี้ ผมเคารพเสมือนเป็นอาจารย์ของผมคนหนึ่ง เพราะผมเข้าไปอ่านเวปของเขาแทบจะทุกวัน และได้เรียนรู้อะไรๆ อีกมากมาย จากสิ่งที่เขาพยายามถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือ

คนที่เป็นขาประจำในสินธร คงจะรู้แล้วว่าผมหมายถึงใคร…..

“เฮียร็อค” นั่นเอง เครื่องมือทางเทคนิค ที่ผมกล่าวว่า สามารถช่วยดู จิตวิทยามวลชนได้ระดับหนึ่ง ก็คือ “OBV” เป็นเครื่องมือที่ใช้พิจารณาการสะสมปริมาณหุ้น ซึ่งสามารถสื่อถึงจิตวิทยามวลชน หรืออารมณ์ของตลาด ณ เวลา นั้นๆ ได้ดีทีเดียว

ผู้ที่ร่วมงาน มีตติ้ง “เฮฮา แบบมีสาระหุ้น” เมื่อต้นปีที่ผ่านมา และได้รับหนังสือรวมบทความไป ลองกลับไปอ่านบทความของ “เฮียร๊อค” ชื่อบทความว่า “สุขภาพหุ้น สุขภาพพอร์ตและสุขภาพใจ” อธิบายและยกตัวอย่างการใช้ OBV ได้ดีทีเดียว ท่านที่ยังไม่มีหนังสือ ดาวน์โหลดมาอ่านได้ที่ลิงค์นี้ครับ

//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3371266/I3371266.html

และอ่านเพิ่มเติมได้ที่เวปของเขาได้ทุกวัน ซึ่งผมเห็นว่า มีประโยชน์มากตามลิงค์นี้ครับ

//www.setontherock.com

มาเข้าเรื่องกระบวนท่าที่ 2 กันต่อ ตอนนี้เหมาะสำหรับมือใหม่ที่เข้ามาในตลาดหุ้น หรือ “ยุทธภพ” ลองอ่านกันดูครับ

วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระบวนท่าที่ 2

ตลาดหุ้นนั้นเป็นตลาดที่ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน (แต่พวก ตลก มักจะจำกัดสิทธิบางประเภทแก่พวกเรา) ตราบใดที่คุณมีเงินในกระเป๋า ก็สามารถเข้าสู่ตลาด หรือ “ยุทธภพ” นี้ได้

แต่ถึงกระนั้น ก็ใช่ว่าทุกคนเหมาะที่จะเข้าไปเล่นหุ้น หรือ ลงทุนในหุ้น แล้วแต่ใครจะเรียก (ผมมักจะพูดติดตลก ในกระทู้อยู่หลายครั้งว่า ถ้าเล่นหุ้น ระวังจะโดนหุ้นเล่น แต่ถ้าลงทุนในหุ้น ก็จะได้หุ้นมาลงทุน)

นอกจากนั้น วิธีการเล่นว่าควรจะเล่นแบบไหน ก็มักจะขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่เป็นเรื่องเฉพาะเกี่ยวกับตัวผู้เล่นเอง ทั้งในด้านกำลังเงิน สภาพแวดล้อมของการดำเนินชีวิต และการทำงาน รวมไปถึงอุปนิสัยใจคอที่เป็นเรื่องส่วนตัวมากๆ ด้วย ผู้ที่มีความแตกต่างกันในปัจจัยเหล่านี้เวลาเล่นหุ้นก็ควรเล่นกันคนละแบบ ไม่ควรเอาอย่างกัน

โดยส่วนตัวของผม หากใครเคยอ่าน วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน 3 คงจะยังคงจำได้ว่า พอร์ทการลงทุนของผมเป็นแบบ 5-4-1 คือ 50% เป็น Value Investing (VI) 40% เป็นแบบลูกผสม โดยผมให้ชื่อว่า FTA (Fundamentally Technical Analysis) เฮียคลาย เคลียด บรรญัติศัพท์ของผู้ที่ลงทุนแบบลูกผสมว่า VSOP (Value Surfing by Openminded Pragmatic) และอีก 10% เป็นแบบ Value Speculating (VS) คำนี้ ถ้าจำไม่ผิด “คุณอยากเชือก” เป็นผู้บรรญัติไว้ อาจจะต่างความหมายจากผมนิดหน่อย

จากการลงทุนแบบ 5-4-1 สื่อให้เห็นว่า “ผมเป็นนักลงทุนแบบลูกผสม ทั้งลงทุนในหุ้น และเล่นหุ้นไปในเวลาเดียวกัน” ตามลิงค์นี้ครับ

//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3271246/I3271246.html

คิดว่านักลงทุนทุกคน คงจะมีแนวทางการลงทุนที่แตกต่างกันไป บางคนอาจจะค้นพบแล้วว่า ตัวเองเหมาะสม หรือถนัดทางด้านใด บางคนก็ยังไม่ทราบ

แต่น่าเสียดาย...ที่นักเล่นหุ้นหน้าใหม่ ส่วนใหญ่เมื่อก้าวเข้าสู่ตลาดหุ้น หรือ “ยุทธภพ” แล้ว จะพากันเล่นแบบเก็งกำไรระยะสั้น (Speculating) กันทันที การเข้าตลาดหุ้นแบบนี้นับว่าเสี่ยงมาก

Speculating กับ Value Speculating ในความคิดของผมนั้นแตกต่างกัน โดยผมเปรียบเทียบว่า Speculating ก็คือการเล่นไพ่ป๊อกเด้ง ไฮโล คืออาศัยดวงอย่างเดียว ต่างจาก Value Speculating ถ้าเปรียบเทียบคือการเล่นไพ่โป๊กเกอร์ ดัมมี่ เก้าเก ที่นอกจากอาศัยดวงแล้ว ยังอาศัยชั้นเชิง ฝีมือ ประสบการณ์ และการวิเคราะห์คู่แข่ง (นั่นคือจิตวิทยามวลชนนั่นเอง)

เฮียคลาย เครียด เคยเปิดประเด็นเกี่ยวกับการพนันกับการเล่นหุ้นไว้ น่าสนใจทีเดียว ผู้ที่ยังไม่เคยอ่าน ลองอ่านดูครับ ตามลิงค์นี้

//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3378974/I3378974.html

การเล่นหุ้นแบบเก็งกำไรระยะสั้น (Speculating) นั้นต้องเข้าไว ออกไว หูตาไว กระทั่งบางทีต้องมีข่าววงใน ถ้าไม่ช่ำชองจริงๆ แล้ว โอกาสได้กำไรมีน้อยมาก ดังนั้นในวงการนี้ หาผู้ที่ทำกำไรได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ จากการเล่นหุ้นแบบนี้ได้เพียงไม่กี่คน ซึ่งต้องถือว่าเป็นข้อยกเว้น

ต่างจาก Value Speculating ซึ่งนักลงทุนหน้าใหม่ ยังคงทำไม่ได้แน่นอน เพราะนอกจากจะต้องอาศัยดวง ดั่งที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องมีฝีมือ และหมั่นฝึกฝนด้วย คือต้องเก่งทางเทคนิคพอสมควร (เทคนิคในที่นี้ นอกจากการดูกราฟแล้ว ยังรวมไปถึงเทคนิคหรือทริคในการเทรดเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลด้วย) เพราะคนที่จะลงทุนหรือเล่นหุ้นแบบนี้ได้ จะไม่สนว่าหุ้นนั้นพื้นฐานจะดีแค่ไหนอย่างไร ขอให้มี Volume คือมีคนสนใจมาก ก็เล่นแบบ VS ได้ นอกจากจะต้อง “เก่ง” และ “เฮง” แล้ว ถ้าสามารถเข้าถึงแหล่งข่าวของพวกนักปั่น หรือนักเล่นหุ้นขาใหญ่ ที่มีอิทธิพลต่อตลาดได้ ยิ่งสามารถช่วยในการทำกำไรได้อีก ซึ่งนักลงทุนหน้าใหม่ไม่มีทางทำได้แน่นอน รวมทั้งนักลงทุนหน้าเก่าเช่นผมด้วย ที่ยังไม่มีความสามารถถึงขนาดเข้าถึงแหล่งข่าวได้เจาะลึกขนาดนั้น

Value Speculator ในสินธร ที่ผมคิดว่า ฝีมือดี และเห็นฝีมือกันจะๆ เวลาเขานำ กรณีศึกษามาให้ชมกัน ก็เห็นจะมี “คุณแอนดี้” นี่แหละ โดยเฉพาะการดู PDT (Power Down Tick) นี่ ยอมรับว่า ค่อนข้างแม่นยำเลยทีเดียว รวมทั้ง “เฮียร็อค” ที่ผมนับถืออีกด้วย อีกคนที่ผมคิดว่า ฝีมือดีเช่นเดียวกัน โดยเล่นหุ้นเป็นอาชีพ อาศัยความช่ำชองในตลาดมานานถึง 30 ปี นั่นคือ พี่ prettypetie

รวมทั้งอีกหลายๆ คน ที่ฝีมือดีไม่แพ้กัน ทั้ง “คุณหมอวีค” ที่เล่นหุ้นเป็นอาชีพ และยังเป็นวิทยากรรับเชิญในงานมีตติ้งครั้งที่ผ่านมา “เฮีย aeaw” บุรุษผู้ย่ำไปที่ไหน แผ่นดินต้องมีอันสะเทือน (555 ล้อเล่นนะครับเฮีย) เจ้าของ “เผ่น พันลี้” “เฮียคลาย เครียด” เจ้าของสำนักเทิมเปิ้ลบ๊อกซิ่ง กับหลักสมเกิน (จริงๆ ผมว่าน่าจะกึ่งๆ VSOP) ที่ผมเห็นว่ามันคือคำตอบของการวิเคราะห์จิตวิทยามวลชนเลยทีเดียว และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผม ในการเขียนบทความ “วางหมาก...กระดานหุ้น”

อีกคนที่ลืมไม่ได้ เคยเขียนบทความ “แท่งเทียนวันนี้” อยู่ช่วงหนึ่ง คือ “คุณโฆษิต” วิเคราะห์แท่งเทียนได้อร่อยมาก อีกคนซึ่งหายไปหลายเดือนแล้ว คือ “คุณ chezip” จากการได้แลกเปลี่ยนทัศนะกันทางอีเมล หลายฉบับ ยอมรับว่าเป็นนักลงทุนที่ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ว่าแล้วจบการเขียนบทความนี้ คงต้องตามหาเขาดีกว่า เห็นหายไปนาน ไม่รู้ไปไหน

คนอื่นๆ ก็มีนะครับ แต่ผมไม่แน่ใจว่า เขาเป็น VS หรือเปล่า อาทิเช่น “คุณอยากเชือก” ที่ไม่ยอมมีอมยิ้มกับเขาเสียที (ผมเข้าใจว่า น่าจะเป็นคนดังนะ) อีกคนคือ “คุณ luck me” คนเก่าๆ ที่ตอนนี้หายไปก็มีครับ อาทิเช่น “คุณชอบอ่าน” “คุณ Invisible hand” นึกออกได้เพียงเท่านี้ ขออภัยจริงๆ กับ VS ท่านอื่นๆ ที่มีฝีมือไม่แพ้กัน รวมทั้งท่านที่เป็น VSOP หลายๆ ท่านที่ผมไม่ได้กล่าวถึง อาทิ คุณซีเค คุณคัดท้าย เฮียฟิชชี่ ฯลฯ)

โดยส่วนตัว ผมไม่ค่อยชอบ VS แบบ day trade (คุณแอนดี้ จะถนัดมาก คนที่สนใจลองคุยกับเขากันได้ที่หลังไมค์) เพราะในแต่ละวัน ต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ใจจดจ่ออยู่กับเบาะแส สัญญาณต่างๆ ซึ่งผมเห็นว่ามันทำให้เครียดหนัก ยิ่งกว่าการทำงานธรรมดาเสียอีก มีแรงบีบคั้นกดดันในจิตใจ และอารมณ์ที่ยากจะอธิบายได้ (คนที่ลองอยู่น่าจะรู้ดี) ส่วนใหญ่ VS ที่ผมเล่น ผมจะใช้กราฟระดับ 30 นาที เป็นหลัก โดยดู 5, 10, 15 และรวมไปถึงระดับ 60 นาที เป็นรอง เพื่อใช้ตัดสินใจในการทำการซื้อขาย การซื้อขายบางครั้ง 2-3 วัน บางครั้งเกือบอาทิตย์ก็มี ไม่ค่อยเป็น day trade เท่าไหร่

ออกไปเรื่อง Value Speculating เสียเยอะ กลับมาเรื่อง Speculating กันต่อดีกว่า...

นักลงทุนหน้าใหม่ ที่ชอบเข้ามาแล้วเก็งกำไรระยะสั้น (Speculating) และบางคนยังเข้าใจผิด คิดว่าตัวเองเป็น VS เสียด้วย ไม่มีทางที่จะทนทานภาวะกดดัน ของการลงทุนระยะสั้นได้แน่นอน จิตใจจะสับสน กระวนกระวาย การตัดสินใจจะไม่เด็ดขาด คิดกลับไปกลับมา ในที่สุดก็มักจะกลายเป็นว่า ตัดสินใจซื้อหุ้นในราคาสูงเกินไป หรือขายไปในราคาที่ต่ำกว่าควรจะเป็น แล้วก็มาโทษตลาด โทษเจ้ามือ โทษอะไรต่างๆ นาๆ แต่ไม่ได้มองดูว่า ตนเองเลือกทางเดินในการลงทุน หรือเล่นหุ้นที่ผิดมาตั้งแต่แรกแล้ว

อย่างไรก็ดี ถ้าคุณถลำตัวเข้าสู่วงจรของการเก็งกำไรระยะสั้น (Speculating) ไปแล้ว ก็ยังพอจะได้ประโยชน์ จากการเล่นตรงที่ว่า “ทำให้คุณได้บริหารหัวใจเป็นระยะๆ” ทำให้เลือดได้สูบฉีด!!! 555 ล้อเล่นครับ

คุณก็สำรวจดูว่า การเล่นแบบนี้ กระทบจิตใจตัวเองอย่างไร หากว่าตัวเองรู้สึกท้อแท้ อ่อนอกอ่อนใจกับความผิดพลาด (ซึ่งผมก็เจอกระทู้แบบนี้เยอะมาก ในช่วงที่ตลาดหมีแบบนี้) ก็อย่า เล่นเช่นนี้ต่อไป แต่หากว่าคุณรู้สึกว่า สนุกดีนะ มันส์ดีจริง ก็จัดได้ว่าคุณมีเงินถุงเงินถัง ก็ยังสามารถเล่นแบบนี้ได้ต่อ เพียงแต่ว่า จะต้องรีบสรุปหาบทเรียน ขจัดข้อบกพร่องและความไม่รู้ของตนเองออกไปให้รวดเร็ว

นักเก็งกำไรระยะสั้น (Speculator) ที่เห็นอยู่ในตลาดหุ้นมีมากเหลือเกิน เฉพาะที่อยู่ตามห้องค้า ผมว่าเกิน 90% ที่เหลืออีก 10% เป็น VS แบบ day trade

จากการที่ได้คุยกับเพื่อนที่เป็นมาร์หลายคน พบว่าส่วนใหญ่แล้วพวกนักเก็งกำไรระยะสั้น (Speculator) จะเสียมากกว่าได้ และมีอยู่ส่วนหนึ่งที่ไม่เหมาะมาเล่นหุ้นแบบนี้เลย นั่นก็คือพวกกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเห็นได้เยอะมาก ตามห้องค้า พวกเขาเหล่านั้น ไม่เข้าใจตลาด ไม่รู้จักเลือกหุ้น ตัดสินใจไม่เป็น ว่ากันมา ก็ตามเฮโลกันไป จังหวะที่พอจะได้กำไร กลับขาดทุน มักจะเข้าซื้อในตอนที่ราคาหุ้นเริ่มอ่อนตัวลง (หลังจากพุ่งแรงมาแล้ว) เป็นแมงเม่า บินเข้ากองไฟ หรือไม่ก็เทขายหุ้นที่ราคาตกไปจนถึงระยะที่ใกล้จะเงยหัวขึ้นมาอยู่แล้ว เรียกว่า “เข้าไม่ถูกจังหวะทั้งขึ้นทั้งล่อง”

ดังที่ได้บอกไปแล้วว่า “มีคนบางคนเท่านั้น ที่สามารถเล่นแบบเก็งกำไรระยะสั้น (Speculating) ได้” ไม่ใช่ว่า เขาเล่นได้ เราต้องเล่นได้ ดังนั้น อยากให้คนที่เล่นหุ้นแบบเก็งกำไรระยะสั้น (Speculating) ลองหันมา เล่นแบบ Value Speculating ดูบ้าง ศึกษาก่อนให้มากๆ และนำความรู้ที่ได้ ไปลองใช้จริง เพื่อให้เกิดประสบการณ์ และความช่ำชองในการใช้เครื่องมือ หรือไม่ก็ผันตัวเองเป็น Value Investor ไปเลยก็ได้ หากมีเงินเย็น และมุ่งหวังที่จะลงทุนยาวๆ เพื่อเงินปันผล หรือคนที่ชอบครึ่งๆ กลางๆ ก็หันมาใช้แบบ ลูกผสม FTA หรือ VSOP แล้วแต่ใครถนัด น่าจะเกิดประโยชน์มากกว่า Speculating

จริงๆ จากงานวิจัยทางการเงิน ผลสรุปออกมาว่า การ “ลงทุน” ในหุ้นระยะกลางและระยะยาว โดยอิงอยู่กับความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นที่เราจะซื้อขาย ทั้งอดีตและปัจจุบัน จะมีโอกาสทำกำไรได้มากกว่าการ “เล่น” หุ้นแบบเก็งกำไรระยะสั้น (Speculating) และไม่ต้องเคร่งเครียดจนเกินไปด้วย การ “ลงทุน” ในหุ้นแบบนี้ จึงจะรู้สึกสนุก เพลิดเพลิน อันเป็นกำไรที่แท้จริงของชีวิตมากกว่า

ดังนั้น หากรู้ตัวเองว่า ไม่อยู่ในประเภทนักเก็งกำไร (Speculator) แต่เป็นนักลงทุนที่ต้องการมีรายได้งอกเงยจากก้อนเงินที่ตนเองมีอยู่ นอกจากงานที่ทำอยู่ปกติ และยังพอมีเวลาได้ติดตามข่าวสารเหตุการณ์ รู้จักวิเคราะห์สถานการณ์ ทำความเข้าใจหุ้นในตลาดจนรู้จัก ก็ลองเปิดใจศึกษาทั้งการวิเคราะห์พื้นฐาน วิเคราะห์เทคนิค และวิเคราะห์จิตวิทยามวลชนดู และเข้าไปลงทุนแบบ VS ทั้งสั้น กลาง ยาว แล้วแต่ความชอบ หรือจะแบบลูกผสมแบบ FTA หรือ VSOP ก็ได้แล้วแค่ความถนัด

แต่หากเป็นคนที่มีเงินเย็น มุ่งหวังผลตอบแทนเป็นเงินปันผล มากกว่าส่วนต่างราคา อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ที่ตนเองชื่นชอบ ไม่สนใจการวิเคราะห์ทางเทคนิคเลย ก็ให้ลงทุนแบบ VI เน้นลงทุนที่คุณค่าของหุ้น หรือถ้าอยากใช้เทคนิคอยู่บ้าง FTA ก็เป็นทางเลือกที่ดี ที่จะทำให้คุณมีจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นได้ จากการใช้ Model Trade (ผู้ที่ยังไม่ทราบว่า FTA เป็นอย่างไร ลองอ่าน วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน เจาะลึกกลยุทธ์ FTA ดูครับ ตามลิงค์นี้

//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3299212/I3299212.html)

หรือคุณจะขยันหน่อย ใช้แบบ DSM ก็ได้ (รายละเอียด หาอ่านได้ที่ห้องอิสรภาพทางการเงิน)

ซึ่งพวก VS, VSOP หรือ VI โอกาสที่จะผิดพลาด จะน้อยกว่าพวก Speculator

เลือกทางเดินของการลงทุนที่คุณถนัด และใช้มันได้ดี จะส่งผลดีต่อการลงทุน และเงินในพอร์ทของคุณครับ

ขอให้ “จอมยุทธ์” ทุกท่านโชคดี ให้อยู่รอดปลอดภัยใน “ยุทธภพ” นี้ด้วยเทอญ

ตอนนี้คงขอหยุดไว้เพียงเท่านี้ ไว้พบกันตอนหน้า กระบวนท่าที่ 3

“แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้”

***สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำการคัดลอก ดัดแปลง แก้ไข โดยไม่ได้อ้างอิงหรือขออนุญาตล่วงหน้า***




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2548 10:57:38 น.
Counter : 1011 Pageviews.  

วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระบวนท่าที่ 1 ฝึกจิตดั่งภูผา

ปีที่ 1 เล่มที่ 2 ฉบับที่ 4 วันพุธที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2548

ตอนที่แล้ว วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระจกแห่งฝัน ผมได้ลองเปลี่ยนแนวเขียน โดยเขียนเป็นเรื่องสั้นที่เกี่ยวกับหุ้นดูบ้าง ไม่รู้ถูกใจผู้อ่านบ้างหรือเปล่า?

เป็นการเล่าเรื่องของตัวละครตัวหนึ่งซึ่งไปยึดติดกับความฝัน ไม่ยอมอยู่ในโลกแห่งความจริง แต่สุดท้ายเขาก็ค้นพบสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิต นั่นคือการทำปัจจุบัน ณ เวลานี้ ให้ดีที่สุดเต็มความสามารถ ลองอ่านได้ที่ลิงค์นี้ครับ

//www.pantip.com/cafe/sinthorn/topic/I3559830/I3559830.html

สำหรับ วางหมาก...กระดานหุ้น สัปดาห์นี้ จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับกระบวนท่าที่ใช้ในการเข้าถือ หรือซื้อ-ขายหุ้น โดยเริ่มต้นจากกระบวนท่าที่ 1 ลองอ่านกันดูครับ

วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระบวนท่าที่ 1

กระบวนท่าที่ 1 นี้ หากจะเข้ามาอยู่ในตลาดหุ้น การเตียมพร้อมทางจิตใจเพื่อรับสถานการณ์ที่เลวร้าย เป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นกระบวนท่าที่ 1 นี้ ผู้ลงทุนจะต้องฝึกความพร้อมทางจิตใจ ให้มีสติ อย่าหวั่นไหว ตื่นตระหนก กับอารมณ์ของตลาดที่แปรปรวน

ความพร้อมทางจิตใจนี้ นักเล่นหุ้น นักลงทุน ทุกคนควรจะต้องมีเป็นพื้นฐาน ก่อนการตัดสินใจก้าวเข้าสู่ตลาดหุ้น หรือ “เข้าสู่ยุทธภพ”

มีผู้เคยทำวิจัย พบว่า ในจำนวนนักลงทุนสิบคน จะมีคนขาดทุนอยู่เจ็ดคน ไม่กำไร ไม่ขาดทุนสองคน และได้กำไรเพียงคนเดียว ท่านคงจะแปลกใจและสงวัยว่า ในเมื่อมีคนที่กำไรเพียงคนเดียว แล้วทำไมพวกเรายังพากันไปเล่นหุ้นมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ล่ะ

เหตุผลนั้น ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย เพราะว่า คนเจ็ดคนไม่ยอมแพ้ คิดว่าจะต้องหาทางเอาคืนให้ได้ ไม่ยอมพละไปจากตลาดหุ้น อีกสองคนที่ไม่กำไร ไม่ขาดทุน ย่อมอยากสู้ต่อแน่นอน ส่วนที่ได้กำไรเพียงคนเดียวนั้น ก็ยิ่งต้องการทำกำไรเพิ่มขึ้น ตามกิเลศของมนุษย์ปุถุชน

แต่เหตุผลประการสำคัญที่สุดที่คอยดึงดูดให้พวกเราติดตลาดหุ้น น่าจะเป็นเพราะพวกเราล้วนแต่เคยได้ลิ้มรสชาติของกำไรจากการเล่นหุ้นมาแล้วในช่วงก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นรสชาติที่หอมหวานเสียเหลือเกิน ถึงแม้ว่าช่วงหลังจะพากันขาดทุน ก็ยังคงติดใจในรสชาติและความเย้ายวนของกำไรที่เคยได้นั้นมิรู้ลืม

การซื้อขายหุ้นนั้น มิใช่จะมีแต่กำไรอย่างเดียว และดูจะทำกำไรได้ยากเสียด้วย โอกาสที่จะขาดทุนมีมากกว่า หากใครคนใดจะเข้าไปทำการซื้อขายหุ้นในตลาด ก็จงเตรียมพร้อมทางจิตใจ อย่าคิดว่าจะสามารถทำกำไรได้เสมอไป เพราะภาวะตลาดบูมนั้นใช่ว่าจะมีอยู่เสมอ เมื่อถึงจุดที่มันพลิกกลับมุดลงต่ำ (ดั่งที่เป็นอยู่ในช่วงนี้) ดำดิ่งตลอด ก็จะรู้ทันทีว่าการเล่นหุ้นนั้น ใช่ว่าจะสนุกเสียทุกครั้งไป

สำหรับผู้ที่เล่นหุ้นโดยไม่ได้ยึดติดว่าจะต้องทำกำไรได้ตลอดเวลา มองว่ามันเป็นเพียงประสบการณ์ของชีวิตที่ดีอย่างหนึ่ง สิ่งที่เขาจะได้ก็เป็นไปในอีกรูปหนึ่ง แม้ว่าบางครั้งประสบกับความขาดทุน ก็ยังจะรู้สึกว่ามันมีค่าเป็นบทเรียนในด้านการ “ลงทุน” ที่แม้ในมหาวิทยาลัย ก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้

ด้วยทัศนะที่ว่า การเข้าไปเล่นหุ้น “จะต้องเตรียมพร้อมกับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด” จะทำให้คุณปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้อง คือ

ไม่นำเงินรายได้สำหรับเลี้ยงชีพ ไปเล่นหุ้น และไม่นำเงินที่ต้องใช้หมุนเวียนหรือหยิบยืมเงินของชาวบ้านไปเล่นหุ้น การปฏิบัติตัวเช่นนี้ แม้มีวิกฤติตลาดหุ้นตกต่ำ ก็จะไม่กระทบกระเทือนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของตน และครอบครัว หากว่าท่านทำในสิ่งตรงกันข้ามคือนำเงินเลี้ยงชีพ หรือเงินที่ยืมชาวบ้านมา ก็จะเกิดผลเสีย เพราะในระหว่างการซื้อขายหุ้น จิตใจของเราย่อมเอนเอียงไปไนด้านที่จะต้องเล่นหุ้นให้ได้กำไรสถานเดียว ซึ่งจะทำให้การวินิจฉัยหุ้น ประเมินสถานการณ์ไม่สอดคล้องกับสภาพเป็นจริง และตัดสินใจอย่างผิดพลาด ซึ่งจะนำไปสู่ความล้มเหลวและขาดทุน ดั่งจะเห็นได้บ่อยครั้งมาก ที่นักวิเคราะห์บางคน วิเคราะห์ได้แม่น แต่พอเอาเงินตัวเองไปลงทุนเอง กับเจ๊งไม่เป็นท่า

ถ้าหากว่ามีการเตรียมพร้อมทางจิตใจว่าถึงแม้ขาดทุนก็ไม่เป็นไร จิตใจของเราก็ผ่องแผ้ว คิดอะไรก็ชัดเจน เมื่อวิเคราะห์หุ้นและสถานการณ์ปัจจัยรอบด้าน ก็ทำได้ทุกแง่มุม ไม่ขาด ไม่พลาด หรือพลาดน้อย การตัดสินใจก็จะถูกต้อง การเลือกเวลาสำหรับการซื้อขายก็จะแม่นยำ ระหว่างการซื้อขายหรือตัดสินใจ แม้จะมีอะไรผิดพลาดนิดหน่อยก็จะไม่ถึงกับหงุดหงิด หรือกระทั่งหุ้นที่ซื้อเกิดติดสูงลงไม่ทัน ก็จะไม่รู้สึกวิกฤติ จะรอก็ได้ จะตัดขายแบบขาดทุนก็ไม่เจ็บปวดจนเกินไป และที่สำคัญคือไม่โทษโน่นโทษนี่ ยอมรับได้โดยดีว่า เป็นเพราะการวินิจฉัยหรือตัดสินใจผิดพลาดของตนเอง มองเห็นจุดอ่อนข้อบกพร่องของตนเอง ซึ่งจะทำให้ได้ข้อสรุปได้ตรงกับความเป็นจริงได้ไม่ยากนัก สะสมบทเรียนทำให้ตนเองสามารถทำได้ดีกว่าในครั้งต่อๆ ไป

ผู้ที่สามารถทำได้เช่นนี้ จะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองขึ้นเรื่อยๆ พร้อมที่จะทำการลงทุนต่อไป และมักจะประสบความสำเร็จมากขึ้น

โดยส่วนตัวของผมเอง ผมก็ยังคงฝึกฝนจิตใจของตนเองอยู่เสมอ วิธีที่ผมใช้คือ “การนั่งสมาธิ” นั่นเอง นั่งได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง หากขับรถอยู่คนเดียวช่วงรถติดไฟแดง ก็สามารถทำสมาธิได้โดยไม่ต้องหลับตา หากเดินทางโดยรถใต้ดิน ถ้าได้นั่งก็จะนั่งกำหนดลมหายใจ หลับตาธรรดา

หนึ่งในพระอาจารย์ของผม หลวงพ่อพุทธทาส เคยเทศน์ไว้ว่า “เมื่อยังมีลมหายใจอยู่ อย่าบอกว่าไม่มีเวลานั่งสมาธิ” ท่านนั่งสมาธิได้ทั้งๆ ที่เล่นอยู่กับไก่ที่ท่านเลี้ยง ไม่น่าเชื่อเลย!!! ผมเคยได้ทราบมาว่า ในหลวงของเราก็นั่งสมาธิเป็นประจำ โดยเฉพาะเวลาที่ท่านพระราชทานปริญญาบัตรนั้นเป็นเวลาที่ท่านกำหนดจิตเข้าสมาธิด้วย

ตอนนี้คงหยุดเพียงเท่านี้ครับ ไว้พบกันตอนหน้า กระบวนท่าที่ 2

"แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้"

***สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำการคัดลอก ดัดแปลง แก้ไข โดยไม่ได้อ้างอิงหรือขออนุญาตล่วงหน้า***




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2548 10:56:59 น.
Counter : 974 Pageviews.  

วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระจกแห่งฝัน

ปีที่ 1 เล่มที่ 2 ฉบับที่ 3 วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2548

ผมกลับมาแล้วครับ.....หลังจากหยุดงานเขียนไปร่วม 3 เดือน เนื่องจากติดภารกิจ ช่วงที่ผมหายหน้าหายตาไปจากโต๊ะสินธร มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้างไหมครับเนี่ย เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่ได้เคยร่วมสนทนากัน ยังอยู่กันครบถ้วนดีไหมครับ?

ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมานี้ คิดว่าน่าจะมีสามาชิกใหม่ๆ เพื่อนใหม่ๆ เข้ามามากมาย ยินดีที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่ทุกๆ ท่านครับ

ท่านที่ยังไม่เคยอ่านงานเขียนของผม เชิญเข้าไปอ่านได้ที่กระทู้เหล่านี้ครับ

ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน 1
//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3243022/I3243022.html
ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน2
//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3256937/I3256937.html
ตอน ปฐมบทแห่งการลงทุน 3
//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3271246/I3271246.html
ตอน เจาะลึกกลยุทธ์ FTA
//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3299212/I3299212.html
ตอน เปิดตัว T-EMA
//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3327147/I3327147.html
ตอน เปิดตัว T-EMA (ภาค 2)
//topicstock.pantip.com/sinthorn/topicstock/I3355520/I3355520.html

มีใครได้ลองนำ T-EMA ไปใช้แล้วบ้างไหมครับ? ผลเป็นอย่างไรบ้าง? หากจะอ้างอิงงานวิจัย T-EMA ขอให้อ้างถึง “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” นะครับ เพราะตอนนี้งานวิจัย T-EMA เป็นลิขสิทธิ์ของจุฬาฯ แล้ว

หากมีเวลา ผมว่าจะลองเขียน VB ดู เพื่อใช้ run หาส่วนผสมที่เหมาะสมที่จะใช้ ใน T-EMA ว่าจะเป็นจำนวนวันเท่าไหร่ดี ถ้าผลวิจัยเสร็จจะนำเสนอในอนาคต

วางหมาก...กระดานหุ้น สำหรับตอนล่าสุดนี้ ผมขอลองเปลี่ยนแนวเขียนดูบ้าง ขออนุญาตเลียนแบบคุณ The Rounder สักหนึ่งตอนแล้วกันครับ โดยตอนนี้ผมเขียนเป็น “เรื่องสั้น” ที่เกี่ยวกับหุ้น

เรื่องนี้ ต้นฉบับผมเขียนเมื่อตอนสมัยเรียน ม.ปลาย และได้ลงเผยแพร่ในวัฏจักรการศึกษา ประมาณ 10 กว่าปีมาได้แล้ว ถ้าเขียนได้ไม่ราบรื่นผมขออภัยด้วยครับ เพราะตอนนั้นยังเด็กอยู่ ผมได้ดัดแปลงเนื้อเรื่องบางส่วนให้มันทันยุค ทันสมัยขึ้น และเพิ่มเติมเนื้อหาการเงินให้แน่นขึ้นอีก ลองอ่านดูนะครับ

วางหมาก...กระดานหุ้น ตอน กระจกแห่งฝัน

“เฮ้อ...วันนี้ช่างเหนื่อยเสียเหลือเกิน” ตระการกำลังรำพึงกับตัวเองและงานที่กำลังทำอยู่ “ไม่ๆ เหนื่อย แต่ได้ทำงานที่เรารัก ก็มีความสุขแล้วนี่” ดูเหมือนจะเป็นความคิดที่ดี เขาก้มหน้าก้มตา ตรวจสอบ NAV ของกองทุนที่ลูกน้องคำนวณมาให้ เป็นหนึ่งในสิบกองทุนที่เขารับผิดชอบในฐานะกรรมการผู้จัดการฯ “กลับบ้านดีกว่า” เป็นสิ่งแรกที่เขาคิดในขณะนั้น

“กลับมาแล้วครับ” เขาพูดตามความเคยชินมาตั้งแต่เด็ก เพราะมารยาทของคนจีน การทักทายเป็นสิ่งที่สำคัญ แต่เงียบกริบ “อ้อ...ลืมไป ไปเที่ยวกันหมด” ตระการเดินผ่านห้องรับแขก ขึ้นบันไดไปห้องของเขา “สวัสดีเพื่อน...กลับมาแล้วนะ” สิ่งที่เขาทักนั้น มันไม่ใช่คน!!! แต่กลับเป็นกระจกบานเก่าๆ บานหนึ่ง ซึ่งอายุของมันอาจจะเท่ากับ 1 ชั่วอายุคนเลยทีเดียว มันเป็นสมบัติของเน้ (ภาษาจีนไหหลำแปลว่ายาย) เขาจำได้ แม่เคยเล่าให้ฟังว่า กระจกบานนี้กงกับเน้นำติดตัวมาจากเมืองจีน สมัยที่แม่ยังอยู่ในท้องเน้อยู่เลย จนบัดนี้เน้เสียไปได้ 20 กว่าปีแล้ว “ฉันมีวันนี้ได้เพราะนายนะ”

แล้วความทรงจำเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ก็หวนมาอีกครั้งหนึ่ง

“ไม่เอาไหนเลยเรานี่ ทำไมวิเคราะห์ได้ห่วยขนาดนี้” ตระการยอมรับสภาพความพ่ายแพ้ของตัวเอง ที่ไม่สามารถพาทีมแข่งขันการจัดการลงทุนในตราสารทุนระดับมหาวิทยาลัยให้ติดอันดับ 1 ใน 5 ได้ ต้องตกรอบไป ซึ่งเขาเป็นหัวหน้าทีม และเป็นนักวิเคราะห์ให้ในการลงทุน

“ถ้าเรารู้อนาคตได้นะ...ฮึ” เขาหงุดหงิดกับตัวเอง และกลับบ้านโดยไม่ยอมพูดไม่ยอมจากับใคร แต่เขาก็ไม่ลืมที่จะแวะเยี่ยมเน้ของเขาที่นอนอยู่โรงพยาบาล “ก๊อกๆ” เสียงเคาะประตูดังขึ้น “กลับมาแล้วครับ” ตระการทัก “เขาเล่งเป็งทีม...ม่ายช่ายความผิกของกังซะหน่อย” เป็นคำแรกที่เน้ทัก “เน้รู้ได้ไง!!!” เน้ได้แต่หลับตาแล้วอมยิ้ม “โลกแห่งควัมจิง นี้น่าอยู่นะกัง ทำมังให้ดี” เจ้าคารมจริงๆ เน้เรา เขาคิด แต่ตระการไม่ล่วงรู้มาก่อนเลยว่า คำพูดนั้นกลับเป็นคำพูดสั่งเสียและเป็นคำสอนครั้งสุดท้ายของเน้

เช้าวันรุ่งขึ้น “นี่พี่การ ตื่นเร็ว ไปโรงพยาบาลกัน” น้องสาวของเขาขึ้นมาปลุก “วันนี้พี่จะอ่านหนังสือ พรุ่งนี้พี่มีสอบ” “เน้ทรุดหนัก หมอจะพาเข้าห้องไอ.ซี.ยู.” สิ้นเสียง ตระการรีบลุกจากเตียงทันที

เมื่อถึงโรงพยาบาล ตระการเปิดประตูที่ห้อง ไอ.ซี.ยู. แล้วเดินไปที่เตียง เป็นครั้งแรกที่เขาลืมทักทายผู้ใหญ่ “เน้....” เขาทักใบหน้าที่เหี่ยวย่น และดวงตาจากที่เคยมีสีดำกลับเปลี่ยนเป็นสีเทามัวๆ ค่อยๆ เลื่อนมามองหน้าเขา สายตานั้นตระการยังจำติดตรึงมาจนทุกวันนี้ มันเหมือนย้ำให้รู้ว่า เวลาแห่งการลาจากใกล้เข้ามาแล้ว

ลมหายใจเฮือกสุดท้ายของเน้ ช่างทำให้เขาปวดใจเสียเหลือเกิน ไม่มีเน้ ให้พูดคุยปรึกษาอีกแล้ว เน้...ซึ่งเลี้ยงดูเขามาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากป๊ะกับแม่ทำงานกลับดึกทุกคืน เขาก้มลงกราบแทบเท้าอันเย็นเยือกของเหน้ น้ำตาลูกผู้ชายค่อยๆ ไหลซึมออกมา

“โลกแห่งควัมจิง นี้น่าอยู่นะกัง ทำมังให้ดี” คำสอนครั้งสุดท้ายของเน้ ก้องอยู่ในหัวของเขา

หลายเดือนผ่านไป ตระการเข้าไปในห้องของเน้ สิ่งที่ทำให้เขาสนใจมากที่สุด คือ กระจกบานเก่าๆ บานหนึ่ง สภาพของมันสามารถล่วงรู้ถึงอายุได้เลยว่ามากพอดู เขาเดินไปใกล้ๆ และก้มลงดู มันมีภาษาจีนพิมพ์ไว้อยู่ 4 ตัว ซึ่งแน่นอน เขาไม่สามารถอ่านออก มันเป็นศิลปะที่บ่งบอกถึงความพยายามของคนจีน เพราะว่าตัวพิมพ์นั้นไม่ได้อยู่บนผิวกระจกเหมือนการกัดกระจกทั่วไป แต่กลับเข้าไปอยู่ในตัวเนื้อกระจกอย่างน่าอัศจรรย์ว่า ศิลปะของจีนเมื่อ 80 กว่าปีที่ผ่านมานั้น ทำได้ขนาดนี้เชียวหรือ?

“น่าทึ่งจริงๆ” เขารึพึง “เน้...ผมของกระจกบานนี้นะ ผมชอบ” เขาพูดเหมือนกับว่าเน้อยู่ในห้องกับเขา ตระการนำกระจกมาตั้งไว้ที่ห้องและใช้มันทุกวัน โดยไม่ได้คิดถึงความเก่าแก่ และความลึกลับของกระจกบานนี้มาก่อน

3 ปี ผ่านไป ตระการเรียนจบโทการเงินแล้ว วันนั้นเป็นวันครบรอบวันตายของเหน้ “วิเคราะห์ผิดอีกแล้วนะ ไอ้โง่” เขาด่าตัวเองในฐานะนักวิเคราะห์หน้าใหม่ของบริษัท “สอบ CFA ไม่ผ่านเหรอเนี่ย” ช่างเหมาะเจาะเสียจริงที่โดนครบทั้งสองเรื่อง “เบื่อตัวเองจริงๆ โว้ย...ทำไมทำอะไรก็ไม่สำเร็จซักอย่าง อยากรู้อนาคตจริงๆ” เป็นอีกครั้งที่เขาเริ่มท้อแท้กับโลกของความจริง

ตระการกลับบ้าน ไม่ยอมพูดจากกับใคร รีบเดินเข้าไปในห้องของตัวเอง นั่งมองกระจก และรำพึงว่า “อยากรู้อนาคตจริงๆ” ตระการนั่งเหม่อลอย ความคิดเริ่มสับสน แต่ก็หยุดลงเพราะมีเสียงชายแก่คนหนึ่งร้องทักว่า “ลื้อนี่ม่ายไหวจิงๆ” เขาสะดุ้ง หันรีหันขวางไม่เห็นใครสักคน แต่แล้วเขาก็ขนลุกกับภาพที่เห็น เพราะกระจกที่อยู่หน้าเขา กลับมีแสงประหลาดส่องออกมา “คะ คะ คะ...ใคร!!!” เขาร้องด้วยความตกใจ แต่ระงับสติไว้ได้

“ลื้อจำอั๊วะม่ายได้รึ ส่องอยู่ทุกวัง” เสียงก้องออกมาจากกระจก ตระการเริ่มถอยออกมาด้วยความตกใจและสงสัยเป็นที่สุด “นะ...นายพูดได้” “ฮิ ฮิ ผิกหวังกะตัวเอ็งล่ะซิ ที่ทังอะไรก็ม่ายสำเร็ก” “ใช่” คราวนี้ดูเหมือนตระการจะเริ่มหายกลัวแล้ว เขาพูดต่ออย่างมั่นใจ “ใช่...ฉันผิดหวังกับตัวเองมาก ทำไม นายช่วยฉันได้รึ” “ถ้าอั๊วะจะช่วยลื้อ ลื้อคงหยักรู้อนาคกสินะ”

ตระการพยายามเพ่งมองที่กระจก แต่เขาไม่สามารถเห็นอะไรทั้งสิ้น นอกจากแสงที่พุ่งออกมา “ใจเย็งๆ จับตาดูดีๆ อั๊วะจะให้ลื้อเห็งทั้งหมก” มันเป็นภาพที่ทำให้เขาสนใจมาก เป็นภาพตั้งแต่เขาเกิด เรื่อยมาจนเน้เสีย แล้วหยุดตรงที่เขาพ่ายแพ้กลับมาในวันนี้ “เอาล่ะ ต่อไปอั๊วะจะให้ดูอนาคกของลื้อ” มันเป็นภาพที่เขาวิเคราะห์หุ้นผิดอีกแล้ว เขาพยายามจดจำวันที่ ที่เขาวิเคราะห์ ตารางรายงานการซื้อขายหลักทรัพย์ที่ติดอันดับกำไรสูงสุดในรอบวัน ฯลฯ เท่าที่เขาสามารถจะจำได้ “ฉันจำได้แล้ว ฉันจำได้แล้ว ฮ่า ฮ่า ฮ่า” เขาพูดกับตัวเองอย่างสะใจ

อีกภาพเป็นภาพที่เขาตก CISA ในเดือนถัดมา “อีกแล้วหรือเนี่ย” ตระการพูดกับตัวเอง ต่อมาเป็นภาพของสนามสอบแห่งหนึ่ง ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ เซนทรัลลาดพร้าวนั่นเอง สนามสอบ CFA รอบถัดไป เห็นตัวเองกำลังนั่งกดเครื่องคิดเลขมือเป็นระวิง เขาพยายามจดจำข้อสอบที่อยู่ในภาพให้ได้มากที่สุด “อ้อ...ออกเรื่องนี้อีกแล้วเหรอ คราวนี้หวานหมู”

“มีอีกไหม มีอีกไหม ขออีก” เขาเร่งให้กระจกนำภาพในอนาคตมาให้เขาเห็นไวๆ ความโลภ ความหลง เข้ามาครอบงำจิตใจหนุ่มน้อยคนนี้เสียแล้ว “ลื้อใจเย็งๆ แล้วดูต่อไป” มันเป็นภาพที่ทำให้เขาแทบช๊อก เพราะภาพที่เห็นเป็นภาพที่เขากำลังนั่งเอาปืนมาจ่ออยู่ที่ปลายคางตัวเอง เขากำลังจะฆ่าตัวตาย เพราะเครียดจัดจากการเล่นหุ้นแบบมาร์จิ้น

เนื่องด้วยตอนแรกเขาคิดว่า การใช้มาร์จิ้น มันสามารถทำให้เขารวยได้อย่างมหาศาลจากผลของอัตราการยกระดับ (Leverage factor) ที่จะเพิ่มขึ้นตามอัตรามาร์จิ้นที่เขากู้ได้ ซึ่งเขาสามารถกู้มาร์จิ้นได้ถึง 50% หากตลาดกระทิงเขาจะได้ผลตอบแทนมากกว่าคนที่ไม่ใช้มาร์จิ้นถึงสองเท่า (Leverage factor เท่ากับ 1/margin) แต่โชคร้ายเหลือเกิน ที่เขาวิเคราะห์พลาดอีกแล้ว ตลาดเปลี่ยนแนวโน้มจากภาวะกระทิงเป็นภาวะหมีตัวใหญ่เสียด้วย เขาขาดทุนมหาศาลจากผลของอัตราการยกระดับนั่นเอง ถูก Margin call ไปหลายครั้ง จนไม่สามารถมีเงินไปใส่ให้ถึงระดับ Initial margin อีกแล้ว เขาหมดตัว!!! จะทำ Short sell ก็ไม่ได้เพราะเขาถูกขึ้นบัญชีดำเสียแล้ว เนื่องด้วยเครดิตไม่ดี เขาจำเป็นต้องขายบ้าน ขายรถ ขายทรัพย์สินที่มีเพื่อมาใช้หนี้ เขายอมรับสภาพนั้นไม่ได้จึงหาทางออกโดยการฆ่าตัวตาย เขาตัดสินใจลั่นไก.....ปลิดชีวิตตัวเอง

“ไม่......ไม่จริง.....พอ.....พอได้แล้ว....ฉันไม่อยากรู้แล้ว พอเสียทีได้ไหม” ตระการตะโกนลั่นห้อง

“นี่แหละ...อนาคกของลื้อ”

“ฉันจะตายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหรือนี่ หมด หมดสิ้นทุกอย่างแล้ว” เขาเริ่มท้อแท้ และสิ้นหวังกับชีวิตหนักขึ้นไปอีก

“อนาคตของฉัน ทำไมมันถูกกำหนดมาเลวร้ายอย่างนี้”

“ลื้อเข้าใจผิกแล้ว อนาคกนั้น ม่ายได้ถูกกำหนกไว้”

“แต่นี่...ภาพที่เห็น มันคืออนาคตของฉันนะ ฉันจะตายในอีกไม่กี่ปี!!!”

“อนาคกม่ายได้ถูกกำหนกไว้ ถึงชะตาจะถูกกำหนกเอาไว้แล้ว เจ้าชีวิกก็สามากเปี่ยนแปงอนาคกของตัวเองได้ ถ้าสามากทำปักจุบังให้ดี อนาคกของตัวเองก็จะดีตัมไปด้วย อนาคกของลื้อสามากเปี่ยนแปงได้ด้วยตัวของลื้อเอง จงทัมมังให้ดี”

“แล้วฉันจะทำได้รึ”

“ทัมด้ายซิ ถ้าลื้อมีควัมพยายัม ลองถามใจลื้อเอ็งซิว่า ลื้อนี่เข้มแข้งพอรึเป่า

ตระการนั่งคิดทบทวนตัวเองพักใหญ่ ถอนหายใจ แล้วพูดว่า “เอาล่ะ ฉันเข้าใจแล้ว ขอบใจนายมากนะ ฉันขอเรียกนายว่า กระจกแห่งฝันนะ”

“ฮิ ฮิ ลื้อเรียกชื่ออั๊วะเกือบถูก ชื่ออั๊วะก็อยู่มุงล่างนี่ไง มันแปว่า กระจกแห่งควัมจิงตังหาก นี่...โลกแห่งควัมจิงนี้น่าอยู่นะอาตะกัง ทำมังให้ดี ฮ่า ฮ่า ฮ่า”

เสียงค่อยๆ จางหายไป ตระการสะดุ้งตื่นขึ้น เขาฝันไปหรือนี่ เขาหลับไปนี่เอง ช่างเป็นฝันที่ยาวนานเหลือเกิน และเขาจะไม่ลืมฝันนี้เลย “คำพูดสุดท้ายที่กระจกพูดนั้น มันเหมือนคำพูดของใครหว่า....ใช่...ใช่แล้ว...เหมือนของเน้เราไม่มีผิดเลย” และตระการเริ่มเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างที่เน้เคยเตือนเคยสอนไว้เป็นอย่างดี

ตระการนั่งอมยิ้มกับภาพเก่าๆ ในความคิดคำนึงของเขาเมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา “ในที่สุด...ฉันก็มีวันนี้ วันที่สมหวังกับทุกๆ สิ่งในชีวิต” ตระการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เขาเป็น CFA ระดับ 3 ได้ด้วยอายุเพียง 27 ปี และค่อยๆ ไต่เต้าขึ้นมาจาก นักวิเคราะห์ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน ผู้จัดการกองทุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุน และกรรมการผู้จัดการ ทางด้านครอบครัว เขามีครอบครัวที่อบอุ่น ภรรยาที่ดี และลูกที่น่ารัก

เขานั่งนึกสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเขา มันให้ข้อคิดหลายเรื่อง โดยเฉพาะการทำปัจจุบันให้ดีที่สุด “ขอบคุณนายมากนะ ถ้าไม่มีนายฉันคงไม่มีวันนี้” เขาพูดกับกระจก

แต่แล้วเหตุการณ์เมื่อ 20 กว่าปีที่ผ่านมา ก็ย้อนกลับมาอีก “ลื้อเก่งมักเลยอาตะกัง”

“นาย...นายจริงๆ ด้วย นายกลับมา ขอบคุณนายมากนะ ถ้าไม่มีนายฉันก็คงไม่มีวันนี้”

“อี๊...ลื้อผิกอีกแล้ว ที่ควรขอบคุง คือ ใจลื้อเอ็งต่างหัก ที่สามากควบคุมตนเอ็ง สามากทำปักจุบังให้ดีต่อเนื่องถึงอนาคกได้ อั๊วแค่แนะเป็งแนวทางให้เท่านั้ง ที่มีวันนี้ได้เพาะตัวลื้อเอง เรื่องอดีกและอนาคกนั้ง อย่าไปสนใจมังมัก สิ่งที่ควรจะทัมคือ ทัมตอนนี้ เวลานี้ ให้ดีที่สุกเป็งพอ อย่างที่ลื้อทัมมาแล้วไง ขอให้โชคดีนะอาตะกัง” กระจกพูดจบ เสียงก็จางหายไป

ตระการสะดุ้งตื่นขึ้นจากความฝันอีกแล้ว!!! เขารำพึงกับตัวเองว่า “จะมาจะไปช่างเหมือนเดิมจริงๆ ไม่ได้เปลี่ยนเล้ย....เพื่อนเรา....กระจกแห่งความจริง!!!!”

ขออุทิศเรื่องนี้ให้กับเน้ของผม ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องสั้น

“แมงเม่าของเมื่อวันวาน คือ เซียนหุ้นของพรุ่งนี้”

***สงวนลิขสิทธิ์ ห้ามทำการคัดลอก ดัดแปลง แก้ไข โดยไม่ได้อ้างอิงหรือขออนุญาตล่วงหน้า***




 

Create Date : 25 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 27 กรกฎาคม 2548 10:42:43 น.
Counter : 832 Pageviews.  

1  2  3  

หมากเขียว
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 42 คน [?]




สวัสดีครับทุกท่าน...ผมหมากเขียวแห่งสินธร...จาก Head of Prop Trade สู่ Private Trader อิสรภาพที่รอคอย



สงวนลิขสิทธิ์ © พ.ศ.2553 โดย หมากเขียว™ ห้ามลอกเลียน ทำซ้ำ หรือคัดลอกส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความที่เขียนโดยข้าพเจ้านอกจากจะได้รับอนุญาต

Copyright © 2010.All rights reserved. These articles and photos may not be copied, printed or reproduced in any way without prior written permission of Mhakkeaw™.
Friends' blogs
[Add หมากเขียว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.