http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
All Blogs
 
เรื่องเราเล่าย๊าวยาว : หนังมหากาพย์ว่าด้วยคนตัวเล็กๆ

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง


(ตีพิมพ์ครั้งแรก นิตยสาร CMYK ฉบับที่ 10, ตุลาคม 2550)


ถ้าพูดคำว่า “หนังยาว” ขึ้นมา คนทั่วไปคงเข้าใจถึงหนังที่มีความยาวเกิน 2 ชั่วโมง นึกถึงหนังเมโล-ดราม่าทุนสร้างมหาศาลอย่าง Titanic หรือหนังแฟนตาซีผจญภัยอย่าง The Lord of the Rings แต่แท้จริงแล้วในโลกภาพยนตร์ยังมีหนังยาวๆ ที่เล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย ไม่มีเอฟเฟกต์อลังการ แต่สามารถกินความชีวิตคนทั้งคน ความสัมพันธ์อันยาวนาน ประวัติศาสตร์ประเทศชาติ รวมถึงการตั้งคำถามระดับอภิปรัชญา




L’Avventura (1960, Michelangelo Antonioni, อิตาลี, 143 นาที)

ดูจากความยาวข้างท้าย คุณอาจแปลกใจว่ามันก็ไม่ได้ยาวผิดปกติอะไร แต่ลองหยิบหนังเรื่องนี้มาดูสิ คุณจะรู้สึกว่ามันยาวประหนึ่ง 4 ชั่วโมง! นี่คือหนังเรื่องแรกๆ ที่ทำลายขนบการเล่าเรื่อง และดำเนินเรื่องอย่างอ้อยอิ่งแถมยังสะเปะสะปะ เช่น หนังเล่าถึงสามหนุ่มสาวลูกคนรวยไปล่องเรือด้วยกัน หนึ่งในนั้นหายตัวไป อีกสองคนก็ช่วยกันตามหา แต่พวกเขาก็ตกหลุมรักกัน จากนั้นหนังก็ทิ้งพล็อตส่วนที่ตามหาเพื่อนไปเลย! (แล้วหนังก็เป็นแบบนี้ไปทั้งเรื่อง) หนังยังตั้งคำถามสำคัญว่า แม้ตัวละครเหล่านี้จะร่ำรวย แต่ทำไมเขาถึงไม่มีความสุข หรือโลกเรามีเทคโนโลยีล้ำสมัยมากมาย แต่เหตุใดเรากลับสื่อสารถึงกันได้ย่ำแย่กว่าเก่า นั่นทำให้ L’Avventura เป็นดั่งคำพยากรณ์จากยุค 60 เพราะสิ่งเหล่านี้คือยุคทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่พวกเราเผชิญอยู่ชัดๆ






A City of Sadness (1989, Hou Hsiao-Hsien, ไต้หวัน, 159 นาที)

ไต้หวันถูกเรียกอยู่เสมอว่าเป็นดินแดนที่ไม่มีตัวตน หรือถ้ามีมันก็ช่างเลือนลางเหลือเกิน เพราะประวัติศาตร์ของประเทศนี้อยู่ท่างกลางการยื้อยุดชุดกระชากระหว่างญี่ปุ่นกับจีนแผ่นดินใหญ่ไปเสียครึ่งค่อนศตวรรษ หนังจับช่วงเหตุการณ์ที่ไต้หวันพ้นจากการปกครองของญี่ปุ่น และเจียงไคเช็กนำพรรคก๊กมินตั๋งเข้าปกครองประเทศ แต่พวกเขาก็ไม่ได้มีความสุขเลย ยังคงมีการกดขี่ประชาชน การเดินขบวนประท้วง และการสังหารหมู่ แต่หนังไม่ได้ให้เราเห็นภาพเหล่าโดยตรง แต่กลับสะท้อนความเจ็บปวดผ่านครอบครัวตระกูลหลิน กิจการพี่ชายคนโตล่มสหาย พี่ชายคนรองตายในสงคราม น้องคนที่สามก็กลายเป็นบ้าเพราะถูกซ้อมในคุก หรือแม้กระทั่งน้องชายคนเล็ก (เหลียงเฉาเหว่ย) ที่หูหนวกและเป็นใบ้ ก็ยังต้องมารับรู้ความโศกาอาดูรของเมืองแห่งนี้ด้วย






Scene from the Marriage (1973, Ingmar Bergman, สวีเดน, 168 นาที)

มีหนังมากมายเหลือเกินที่พูดถึงความสัมพันธ์ ทั้งรัก ทั้งเลิก แต่ก็หลายเรื่องที่ถ่ายทอดออกมาอย่างผิวเผิน และขาดความลึกซึ้ง แต่ไม่ใช่สำหรับหนังเรื่องนี้ที่เล่าถึงความสัมพันธ์อันยาวนานของชายหญิงคู่หนึ่งตั้งแต่แต่งงานกัน เลิกกัน กลับมารัก หย่ากัน แล้วก็กลับมารักกันใหม่ หนังแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากของชีวิตแต่งงาน เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องของความรัก แต่มันคือความสัมพันธ์ ในขณะที่อย่างแรกคืออารมณ์ อย่างหลังนั้นเป็นทั้งวงจรรื่นรมย์ และวงจรอุบาทว์ไปพร้อมกัน หนังมีเวอร์ชั่นโทรทัศน์ความยาว 299 นาที และ 30 ปีต่อมา อิงมาร์ เบิร์กแมน ก็ทำภาคต่อที่ชื่อว่า Saraband (แต่ยาวแค่ 112 นาที) โดยเอาพระนางคู่เดิมมาเล่นอีกครั้ง (ลิฟฟ์ อุลล์มาน นางเอกของเรื่องยังเคยเป็นภรรยาของผู้กำกับด้วย)






Yi Yi (A One and a Two) (2000, Edward Yang, ไต้หวัน, 173 นาที)

วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ทำประเทศไทยวุ่นวายขนาดไหน ที่ไต้หวันก็หนักหน่วงไม่ต่างกัน หนังสะท้อนสถานการณ์ในเวลานั้นผ่านครอบครัวชนชั้นกลางขนาดใหญ่ คุณยายอยู่ในอาการโคม่า คุณพ่อเจอปัญหาธุรกิจ แถมแฟนเก่าก็ดันโผล่มาอีก คุณแม่เป็นโรคซึมเศร้า ลูกสาวกำลังเริ่มมีความรัก ส่วนลูกชายผู้ชอบถ่ายรูปก็ตั้งคำถามน่าคิดว่า “ทำไมโลกมันช่างต่างจากที่เราคิดเหลือเกิน” หนังดำเนินเรื่องอย่างตรงไปตรงมา แต่ให้รายละเอียดของทุกตัวละครได้อย่างมีมิติ จนเรารู้สึกผูกพันและเข้าอกเข้าใจกับครอบครัวนี้ไปโดยไม่รู้ตัว หนังมีข้อน่าสังเกตที่เปิดเรื่องด้วยฉากแต่งงาน แต่จบด้วยฉากงานศพ ราวกับบอกว่าชีวิตเราต้องพบพานกับทั้งการเกิดและการตาย แต่ชีวิตนั้นก็ต้องดำเนินต่อไป เหมือนนับหนึ่งแล้วก็ต้องนับสองต่อตามชื่อหนังในวงเล็บ






Celine and Julie Go Boating (1974, Jacques Rivette, ฝรั่งเศส, 192 นาที)

ฌาคส์ รีแว็ตต์ เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้กำกับคลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศส (French New Wave) แต่เขามักถูกลืมอยู่บ่อยๆ เพราะเขามักทำหนังที่มีความยาวเกินปกติอยู่เสมอ (เขาเคยทำหนังเรื่อง Out 1 (1971) ยาว 13 ชั่วโมง!)แต่หนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ดังที่สุดของเขา บอกเล่าเรื่องราวของสองสาวนาม เซลีน และ จูลี่ คนแรกเป็นสาวนักเต้น ส่วนคนหลังเป็นบรรณารักษ์ แต่สนใจในเรื่องเวทมนต์คาถา ทั้งคู่ทำความรู้จักกันด้วยการผลัดกันสะกดรอยตามอีกฝ่าย ก่อนจะย้ายมาอยู่ห้องพักเดียวกัน และนึกสนุกเข้าไปผจญภัยในคฤหาสน์ผีสิง จนได้เดินทางย้อนเวลาไป 30 ปีก่อนหน้า (นี่มันหนังอะไรกัน?) แต่หนังไม่ได้อาร์ตแตกอย่างที่คิด แต่กลับน่ารักกุ๊กกิ๊ก ดูเพลินเป็นที่สุด เรื่องน่ารู้ก็คือบทสนทนาฮาๆ ทั้งหลายในเรื่องนี้เป็นการด้นสดของสองนักแสดงสาว (ทั้งคู่เป็นเพื่อนซี้กัน)






Eureka (2000, Shinji Aoyama, ญี่ปุ่น, 217 นาที)

หลังรอดชีวิตมาจากเหตุการณ์จี้รถเมล์ ชีวิตของคน 3 คนก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป มาโกโตะ ผู้เป็นคนขับรถในวันนั้นหนีหายออกจากบ้านโดยไม่บอกกล่าว ส่วนพี่น้องทามูระก็เลิกไปโรงเรียนและหมกตัวอยู่แต่ในบ้าน อยู่ดีๆ วันหนึ่งมาโกโตะก็กลับมาพร้อมกับรถบัส พร้อมกับชวนสองพี่น้องออกไปท่องเที่ยวกัน หนังตั้งคำถามว่าคนเราจะมีชีวิตหลังจากเหตุการณ์เลวร้ายอย่างไร โดยได้แรงบันดาลใจมาจากคดีวางแก๊ซพิษในรถไฟใต้ดินโดยลัทธิโอมชินริเกียวในปี 1995 หนังติดตามตัวละครอย่างค่อยเป็นค่อยไป ใช้ภาพระยะไกล แช่กล้อง และถ่ายภาพสีซีเปียตลอดเรื่อง แต่เมื่อดูหนังจนจบคุณจะค้นพบคำตอบที่สวยงามเหลือเกินว่าทำไมคนเราควรจะมีชีวิตอยู่ต่อไป (“ยูเรก้า” เป็นคำที่อาร์คิเมดีสร้องตะโกนออกมาเมื่อเขาค้นพบกฎความถ่วงจำเพาะ)






A Brighter Summer Day (1991, Edward Yang, ไต้หวัน, 237 นาที)

ไต้หวันในยุค 60 นอกจากประชาชนจะต้องต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว ในช่วงนั้นวัฒนธรรมตะวันตกจากอเมริกาก็บุรุกเข้ามาอย่างไม่ตั้งตัว (ขนาดชื่อหนังเรื่องนี้ยังเป็นเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของเอลวิส) หนังจับภาพชีวิตของเด็กหนุ่มที่ชื่อเสี่ยวซื่อ เขาก็เหมือนวัยรุ่นทั่วๆไปที่ไม่สนใจเรียน รวมกลุ่มเป็นแก๊งค์ แล้วก็ยกพวกตีกัน เหล่านี้คือที่ยึดเหนี่ยวในชีวิตของเขา จะมีอย่างอื่นก็เพียงหญิงสาวที่เขาตกหลุมรัก และความศิวิไลซ์แบบฝรั่งที่เขาเฝ้าฝันถึง หนังใช้ตัวละครเสี่ยวซื่อเป็นตัวแทนของประเทศไต้หวัน (และอาจแทนผู้กำกับเอ็ดเวิร์ด หยาง ในช่วงหนุ่มฉกรรจ์) ที่ถูกสั่นไหวไปมาท่ามกลางวัฒนธรรมเก่าและใหม่ จนต้องรีบคว้าหาอะไรมาจับไว้ หนังยังเป็นงานแจ้งเกิดของ จางเจิ้น นักแสดงหนุ่มที่โด่งดังต่อมากับ Crouching Tiger, Hidden Dragon






The Best of Youth (2003, Marco Tullio Giordana, อิตาลี, 350 นาที)

หนัง 6 ชั่วโมง ที่เล่าถึงประวัติศาสตร์ครอบครัวที่กินความยาวนานเกือบ 40 ปี หนังโฟกัสไปที่สองพี่น้อง แมทธีโอ และนิโคล่า ทั้งสองต่างกันอย่างคนละขั้ว ทั้งนิสัยใจคอ ทัศนคติ และแนวคิดทางการเมือง หนังเริ่มต้นด้วยวัยหนุ่มฉกรรจ์ในยุค 60 จากนั้นก็บอกเล่าเรื่องราวของสองหนุ่มพร้อมกับบันทึกเหตุการณ์สำคัญของอิตาลีไปด้วย ตัวละครเอกตั้งสองแยกจากกันในที่สุด ชีวิตของทั้งคู่กลายเป็นเส้นขนาน ต่างได้พบเจอกับคนสำคัญของชีวิต เผชิญหน้ากับความรัก การพรากจาก แต่ก็มีชะตากรรมเดียวกันจากสภาวะความแปรปรวนของบ้านเมือง หนังเล่าเลยผ่านยุค 70 80 90 จนมาถึงยุคหลังสหัสวรรษใหม่ เมื่อหนังดำเนินจนถึงบทสุดท้าย เราจึงรู้ได้ว่าพี่น้องคู่นี้ไม่เคยจากกันเลย แต่พวกเขาสัมผัสกันทางจิตวิญญาณเสมอมา






Satantango (1994, Bela Tarr, ฮังการี, 415 นาที)

หนังระดับฮาร์ดคอร์ของผู้กำกับ เบล่า ทาร์ คนทำหนังที่เคยทำให้ผู้ชมเดินออกกันครึ่งโรงมาแล้วในเทศกาลหนังเมืองคานส์ หนังของเขามักถ่ายเป็นขาวดำ มีจังหวะที่ช้ามาก และแทบไม่มีการตัดภาพ (ฉากเปิดเรื่องนี้ถ่ายภาพฝูงวัวเดินยาว 8 นาทีเต็ม) Satantango คือหนังที่ยาวที่สุดของเขา ว่าด้วยหมู่บ้านแห่งหนึ่งในช่วงหลังยุคคอมมิวนิสต์ ทุกคนต่างเฝ้ารอวันที่จะได้ออกไปจากที่นี่ แต่แล้วการกลับมาของชายคนหนึ่งก็ทำให้ทุกอย่างผิดแผน หนังแบ่งเป็น 12 บท (ตามจังหวะการเต้นแทงโก้) โดยแต่ละบทก็เล่าผ่านมุมมองของตัวละครหนึ่ง แล้วก็เวียนผลัดไปยังอีกตัวละคร หนังฉายภาพความทุกข์ชั่วนิรันดร์ของชนชั้นล่าง ที่ไม่อาจบรรลุความฝันของตัวเองได้ หนังเรื่องนี้จึงเปรียบเสมือนการดูการเต้นรำของซาตาน (Satan’s Tango)






Heremias (Book One: The Legend of the Lizard Princess)
(2006, Lav Diaz, ฟิลิปปินส์, 540 นาที)

หนังฟิลิปปินส์ยาว 9 ชั่วโมง ที่เพิ่งมาฉายในเทศกาลหนังดิจิตอลเมื่อเดือนกันยายน (ทั้งโรงมีคนดูอยู่ 8 คน!) ชื่อหนังดูเหมือนหนังแฟนตาซี แต่ความจริงหนังเล่าถึงชายขายของเร่ร่อนคนหนึ่งที่ชื่อ เฮเรเมียส ตอนแรกเขาเดินขบวนเกวียนไปกับเพื่อนกลุ่มหนึ่ง แต่แล้วอยู่ดีๆ เขาก็ขอแยกตัวออกมาอยู่คนเดียว นับจากนั้นโชคชะตาก็เริ่มเล่นงาน เกวียนของเขาถูกขโมย พอไปแจ้งความก็ดันเจอตำรวจขี้ฉ้อ ไปๆมาๆ ก็ดันไปแอบได้ยินพวกเด็กวัยรุ่นจะวางแผนข่มขืนผู้หญิงอีก หนังเล่าเรื่องอย่างเชื่องช้า ใช้ภาพลองเทคอยู่หลายช่วง จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมขนาดยาวของคนตัวเล็กๆ ที่ไม่อาจทำอะไรได้เลย นั่นจึงเป็นหัวใจสำคัญว่าทำไมหนังเรื่องนี้ต้องมีความยาวถึง 9 ชั่วโมง เพราะความทุกข์ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่มีการตัดต่อฉึบฉับแบบหนังฮอลลีวู้ดหรอก!



หมายเหตุ

* หนังทุกเรื่อง (ยกเว้น Heremias) มีดีวีดีขายตามร้านหนังนอกกระแส

* Edward Yang, Ingmar Bergman และ Michelangelo Antonioni เป็นผู้กำกับ 3 คนที่เพิ่งเสียชีวิตในปี 2550 นี้ ซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการภาพยนตร์โลก จึงขอไว้อาลัยไว้ ณ ที่นี้



Create Date : 27 พฤษภาคม 2551
Last Update : 27 พฤษภาคม 2551 0:52:46 น. 3 comments
Counter : 3768 Pageviews.

 
+ โอ้ววว! อุแม่เจ้า มันจะยาวยืดดดด อะไรขนาดนี้เนี่ย แต่ละเรื่อง แต่รีวิวก็ยังอ่านเพลินดีอยู่นะครับ อุๆ
... พี่เคยได้ยินชื่อบางเรื่อง แต่ยังไม่เคยดูซักเรื่องเลยแฮะ


โดย: บลูยอชท์ วันที่: 28 พฤษภาคม 2551 เวลา:19:38:10 น.  

 
รบกวนช่วยแนะนำร้าน หรือสถานที่ซื้อหน่อยค่ะ

หาซื้อยากจริงๆค่ะ ปกติชอบดูหนังประเภทนี้ อยู่แล้วค่ะ

พอมีร้านประจำอยู่ แต่ถ้ามีทางเลือกอื่นอีก ก็จะดีมากเลยค่ะ

พอดีอยู่ต่างจังหวัด มากรุงเพพฯแต่ละครั้ง เวลาไม่ค่อยเยอะ

ถ้ามีชื่อร้าน ก็สามารถประหยัดเวลาได้อีกเยอะเลยค่ะ



โดย: iya IP: 117.47.223.75 วันที่: 1 มิถุนายน 2551 เวลา:14:03:00 น.  

 

ปกติผมซื้อร้านพี่แว่น จตุจักร อ่ะครับ


โดย: merveillesxx วันที่: 2 มิถุนายน 2551 เวลา:2:19:39 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.