http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
All Blogs
 
Hedwig and the Angry Inch : กำแพงที่แบ่งกั้นตัวฉันอีกครึ่งหนึ่ง

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง



เมื่อต้นปี 2010 สำนักข่าว, นิตยสาร, เวบไซต์ พากันจัดอันดับหนังแห่งทศวรรษ 00 กันยกใหญ่ ตัวผมเองเลยตามกระแสทำกับเขา ผลปรากฏออกมาว่าในท็อปเท็นมีหนังเรื่อง Hedwig and the Angry Inch (2001) อยู่ด้วย แน่นอนว่าหนังเรื่องนี้ไม่เคยติดอยู่ในโพลหนังแห่งทศวรรษของสำนักใด อย่างเช่นหนังเรื่อง Mulholland Drive, Hidden หรือ No Country for Old Men ถึงกระนั้นนี่ก็เป็นหนังที่น่าสนใจในหลายแง่มุม

Hedwig and the Angry Inch เคยเข้าฉายในบ้านเราผ่านโครงการ Little Big Film Project ที่ฉายหนังนอกกระแสเวียนไปตามโรงต่างๆ (แต่ช่วงหลังจะฉายอยู่ที่เครือเอเพ็กซ์เป็นหลัก) ปัจจุบันสามารถหาซื้อแผ่นดีวีดีได้อย่างไม่ยากนัก หนังดัดแปลงจากละครเพลง Off-Broadway ชื่อเดียวกันในปี 1998 จากการสร้างสรรค์บทโดย จอห์น คาเมรอน มิทเชลล์ และการแต่งเพลงของ สตีเฟน แทรสก์ โดยในฉบับหนังทั้งคู่ยังรับหน้าที่เดิม และร่วมแสดงด้วย

หนังเล่าถึงกะเทยแต่งหญิงนาม เฮ็ดวิก (มิทเชลล์) เจ้าของวงร็อค ‘เฮ็ดวิกกับหนึ่งนิ้วเกรี้ยวกราด’ (ชื่อวงมาจากการผ่าตัดแปลงเพศที่ผิดพลาด ทำให้เฮ็ดวิกยังหลงเหลือ ‘ความเป็นชาย’ อยู่หนึ่งนิ้ว) ที่ออกแสดงตามร้านอาหาร โดยมีแฟนเดนตายติดตามเพียงจำนวนหยืบมือ อันที่จริงแล้วเฮ็ดวิกกับพรรคพวกตะลอนทัวร์ไปที่ต่างๆ เพื่อตามติดนักร้องหนุ่มชื่อดัง ทอมมี่ โนซิส (ไมเคิล พิตต์) โดยทอมมี่นั้นเป็นคู่ขาเก่าของเฮ็ดวิก และขโมยเพลงทั้งหมดของฝ่ายหลังไปเป็นเพลงของตัวเอง

โครงสร้างการเล่าเรื่องของ Hedwig มีความน่าสนใจตรงที่หนังตัดสลับเล่าเรื่องในปัจจุบัน (เฮ็ดวิกกับการตามราวีทอมมี่) และอดีต (ชีวิตในวัยเด็กของเฮ็ดวิก จนถึงช่วงที่พบรักกับทอมมี่) ไปพร้อมกัน นอกจากนั้นหนังยังมีลูกเล่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นฉากแอนิเมชั่น, ฉากแฟนตาซี หรือกระทั่งฟุตเทจเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ซึ่งโชคดีที่ผู้กำกับใช้เทคนิคเหล่านี้อย่างลงตัวและกลมกล่อม

แต่แน่นอนว่าความโดดเด่นที่สุดของ Hedwig อยู่ที่ ‘บทเพลง’ ทั้งหลายในหนัง ด้วยความที่เพลงเหล่านี้ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบฉากคอนเสิร์ต จึงทำให้องค์ประกอบความเป็นมิวสิคัลของหนังเรื่องนี้สามารถเชื่อถือได้อย่างง่าย (ต่างจากหนังเพลงทั่วไปที่อยู่ดีๆ ตัวละครลุกขึ้นมาร้องเพลง ซึ่งผู้ชมหลายราย โดยเฉพาะผู้ชายอาจรู้สึกถอยห่างจากตัวหนัง) ที่สำคัญเนื้อหาในแต่ละเพลงนั่นเองที่เป็นพล็อตขับเคลื่อนตัวหนังไปได้อย่างสวยงามและคมคาย

อย่างเช่นเพลงเปิดของหนังที่ชื่อ Tear Me Down เฮ็ดวิกร้องท้าทายคนดูว่า “พวกเธอรู้จักฉันมั้ย เมืองแคนซัส / ฉันคือกำแพงเบอร์ลินอันใหม่ไง / ลองทำลายฉันดูสิ!” โดยเฮ็ดวิกนำอัตชีวประวัติของตนเองมาดัดแปลงเป็นเพลง หนังย้อนเล่าไปว่าเขาเกิดที่ประเทศเยอรมันตะวันออก และมีชื่อเดิมว่า ฮันเซล เขาถูกพ่อที่เป็นทหารจีไอล่วงละเมิดทางเพศ จนแม่ไล่ตะเพิดพ่อออกจากบ้านไป

หลังจบสงครามโลกครั้งที่สอง กำแพงเบอร์ลินถูกสร้างตั้งตระหง่านระหว่างเยอรมันฝั่งตะวันออกและตะวันตก ฮันเซลก็เป็นเหมือนกับกำแพงที่ว่า นอกจากอยู่ระหว่างความเป็นชายและหญิงแล้ว ฮันเซลยังชอบฟังเพลงและเสพวัฒนธรรมจากอเมริกาซึ่งเป็นโลกเสรี ในขณะที่แม่ของเขาฝักใฝ่ในแนวคิดแบบสังคมนิยม และตัดสินใจให้ตัวเธอและลูกใช้ชีวิตในฝั่งตะวันออก (ขณะที่คนอื่นพยายามดิ้นรนไปฝั่งตะวันตก) ครั้งหนึ่งที่ฮันเซลชื่นชมพระเยซู แม่ก็บ้องหัวลูกเข้าให้ แล้วบอกให้นับถือฮิตเลอร์แทน

ชีวิตของฮันเซลมาถึงจุดพลิกผันเมื่อได้พบกับทหารจีไอนาม ลูเธอร์ ทั้งคู่ตกหลุมรักกันและฮันเซลก็ตัดสินใจขอแม่ย้ายไปอยู่กับลูเธอร์ที่อเมริกา แม่จึงมอบชื่อของเธอ ‘เฮ็ดวิก’ ให้กับลูกชาย ก่อนที่จะส่งลูกไปผ่าตัดแปลงเพศอย่างลวกๆ นับตั้งแต่นั้น ฮันเซล จึงกลายเป็น เฮ็ดวิก (ในจุดนี้เราจะเห็นว่าหนังเล่นกับปม Electra complex -อันว่าด้วยลูกสาวที่หลงรักพ่อตนเอง- อย่างท้าทาย เพราะสุดท้ายเฮ็ดวิกก็แต่งงานทหารจีไอ ซึ่งเป็นอาชีพเดียวกับพ่อของตน)

แต่หลังจากมาอยู่อเมริกาได้ไม่นาน ลูเธอร์ก็ทิ้งเฮ็ดวิกไป โชคชะตายังเล่นตลกว่าเขาทิ้งเธอไปในวันที่ข่าวออกว่ากำแพงเบอร์ลินได้ถูกทลายลงแล้ว เมื่อความรักก็สิ้นสลาย ส่วนโลกเสรีที่ใฝ่หา บัดนี้บ้านเกิดของเธอก็เปิดรับมันแล้ว เฮ็ดวิกจึงได้แต่นั่งอึ้งด้วยความงุนงงว่าเธอมาทำอะไรที่นี่ เหมือนกับที่เนื้อเพลง Tear Me Down บอกว่า “เมื่อกำแพงทลายลง / เราก็ไม่รู้อีกต่อไปว่าเราเป็นใคร”

ดังนั้น Hedwig จึงมีความคล้ายคลึงกับหนังสวิตเซอร์แลนด์เรื่อง Stealth ที่ผมเคยเขียนถึง (อ่านที่ //www.bloggang.com/viewdiary.php?id=merveillesxx&month=12-2009&date=01&group=1&gblog=206) ในแง่ที่ตัวละครมีความขัดแย้งกับเพศสภาพและชาติพันธุ์ของตน แต่ในกรณีของเฮ็ดวิกยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าสองเรื่องในข้างต้น นั่นคือการที่เธอพยายามตามหาใครสักคนที่เป็น ‘อีกครึ่งหนึ่ง’ (The Other Half) ของตัวเอง

เรื่องราวตรงนี้ถูกเล่าผ่านฉากเพลง The Origin of Love ซึ่งเนื้อเพลงอ้างอิงจากหนังสือ Symposium* ของเพลโต ในบทที่อริสโตฟาเนสกล่าวว่า แต่เดิมนั้นมนุษย์ในมี 3 จำพวก มีลักษณะเป็นมนุษย์สองตนติดกัน กล่าวคือ บุตรของพระอาทิตย์ (ผู้ชาย/ผู้ชาย), บุตรของโลก (ผู้หญิง/ผู้หญิง) และบุตรของดวงจันทร์ (ผู้ชาย/ผู้หญิง) ต่อมามนุษย์คิดจะท้าทายพระเจ้า เบื้องบนจึงทำการลงโทษแบ่งแยกร่างของมนุษย์ออกเป็นสองส่วน พวกเขาขึงถูกสาปให้ตามหาอีกครึ่งหนึ่งของตัวเองให้เจอ

เฮ็ดวิกเชื่อในแนวคิดอย่างมาก ในฉากหนึ่งเธอพูดกับตัวเองว่า “มันชัดเจนว่าฉันต้องตามหาอีกครึ่งหนึ่งของตัวเองให้เจอ ว่าแต่เขาจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงนะ แล้วคนสองคนจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียวอีกครั้งได้มั้ย” เธอเคยเชื่อว่า ทอมมี่ คือคนๆ นั้น แต่ท้ายสุดชายหนุ่มก็ทิ้งเธอไป

อันที่จริงแล้วความดั้นด้นที่จะตามหาอีกครึ่งหนึ่งของตนนี่เองที่เป็นเหมือน ‘กำแพง’ กั้นไม่ให้ชีวิตของเฮ็ดวิกก้าวไปไหนสักที นอกจากความฝังใจในตัวทอมมี่แล้ว เธอยังแปรสภาพ ยิทซัค มือกีต้าร์ของวงมาเป็นคู่ขาของเธอ ซึ่งแท้จริงแล้วทั้งสองพบกันที่บาร์ในโครเอเชีย และยิทซัคก็เป็นกะเทยแต่งหญิงมาก่อน (เนื้อหาส่วนนี้อยู่ใน deleted scene) แต่เฮ็ดวิกก็บังคับให้อีกฝ่ายแต่งตัวมาดแมน ไว้หนวดเครา หนังบอกกับเราว่ายิทซัคไม่ได้อยากเป็นมือกีต้าร์วงร็อค แต่อยากได้บทของ Angel กะเทยในละครเวทีเรื่อง RENT ต่างหาก

ในช่วงท้ายของหนัง เรื่องที่ทอมมี่ลอกเพลงของเฮ็ดวิกถูกเปิดโปง และเธอก็ได้เป็นซูเปอร์สตาร์ในชั่วข้ามคืน แต่ลึกๆ แล้วนั่นไม่ใช่สิ่งที่เฮ็ดวิกต้องการ เธอตามล่าหาทอมมี่ก็เพราะอยากได้เขากลับมาในฐานะคนรัก แต่เมื่อตระหนักได้ว่าไม่ว่าจะทอมมี่หรือยิทซัคก็ไม่อาจเป็นและไม่เคยเป็นครึ่งหนึ่งของเธอ ความเชื่อทั้งหมดทั้งมวลของเฮ็ดวิกจึงพังทลาย และนำไปสู่บทสรุปของหนัง

ทอมมี่ขอโทษและบอกลาเฮ็ดวิกกับในฉากเพลง Wicked Little Town และฉากสุดท้ายที่เป็นเพลง Midnight Radio เฮ็ดวิกก็สลัดภาพนักร้องแต่งหญิง เขาไม่ยอมสวมวิก แต่มอบมันให้กับยิทซัค นั่นคือการมอบทั้งเพศสภาพและอิสรภาพคืนให้กับอีกฝ่าย เฮ็ดวิกเดินออกจากเวทีไป เหลืออยู่ในสภาพที่เปลือยเปล่า ทั้งหมดล้วนเป็นการสื่อความว่าเฮ็ดวิกได้ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว ไม่ว่าจะความเป็นกะเทย, ความเป็นร็อคสตาร์, ชื่อเสียง, รวมถึงผู้คนที่เธอเคยพยายามเหนี่ยวรั้งไว้

ฉากของทั้งสองเพลงในข้างต้น ถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบฉากกึ่งแฟนตาซี เราไม่อาจแน่ใจได้ว่าอะไรคือความจริง อะไรคือจินตนาการ แต่มันก็น่าจะเป็นการใคร่ครวญในจิตใจของเฮ็ดวิกนั่นเอง หนังยังทิ้งท้ายปริศนาไว้ให้ผู้ชมขบคิดผ่านรอยสักรูปหน้าคนที่สะโพกของเฮ็ดวิก ช่วงต้นของหนังรูปใบหน้านี้จะถูกแบ่งป็นสองส่วน (สอดคล้องกับแนวคิดการตามหาอีกครึ่งหนึ่งของตน) แต่ในฉากจบเราจะเห็นว่าใบหน้านี้ได้ถูกรวมกันเป็นหนึ่งแล้ว

ไม่มีคำตอบแน่ชัดว่าสิ่งนี้แปลว่าอะไร มันอาจหมายความว่าเฮ็ดวิกไม่จำเป็นต้องตามหาอีกครึ่งหนึ่งของเธอ หรือเลิกคิดจะตามหามันแล้ว หรือเธออาจจะรวมเป็นหนึ่งกับตัวเองได้อีกครั้ง ไม่ว่าจะตีความอย่างไรก็ตาม ภาพสุดท้ายของหนังที่เฮ็ดวิกเดินอย่างเปล่าเปลี่ยวในตรอกมืดมิด ก็เป็นสิ่งยืนยันว่าจากนี้เขาต้องยืนหยัดด้วยตัวเองคนเดียว และเราเชื่อว่าเขาน่าจะทำได้


* Symposium หรือ ‘ปรัชญาวิวาทะว่าด้วยความรัก’ ของเพลโต มีฉบับแปลไทยแล้ว โดย อัคนี มูลเมฆ, สำนักพิมพ์หนึ่ง







Create Date : 26 เมษายน 2554
Last Update : 27 เมษายน 2554 11:29:49 น. 1 comments
Counter : 5045 Pageviews.

 
ทุกวันนี้ยังเหวอกับฉากจบอยู่เลย ไม่เข้าใจว่ามันจะเปลือยกายออกมาจากตรอกไดแอกอนทำไม?


โดย: แฟนผมฯ IP: 122.248.16.2 วันที่: 28 เมษายน 2554 เวลา:10:49:24 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.