http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
All Blogs
 
แผ่นดินอื่น / The Other Land 2012 : กลับมาอีกครั้ง ผียังคงอยู่

by merveillesxx



แผ่นดินอื่น / The Other Land 2012 (2012, ธีระวัฒน์ มุลวิไล, A+)

เข้าประเด็นหลักก่อนเลย ‘แผ่นดินอื่น’ เป็นละครเวทีที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งของปีนี้ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการงานศิลปะที่ขับเคลื่อนคุณมากๆ หรืองานใดๆ ที่ทำให้ความคิดของคุณได้กระเจิงกระจาย เหลืออีกเพียงสามรอบการแสดงเท่านั้น ในช่วง 12-14 ตุลาคม ที่นั่งยังว่าง ดูที่นี่นะจ๊ะ //www.facebook.com/events/413283055395709/

ต่อมา ขอย้อนอดีตเล็กน้อย ...อันที่จริงผมดูละครเวทีได้ไม่นานนัก ประมาณสี่ปี ปีที่เริ่มดูคือปี 2008 และจำได้ว่าในปีนั้นมีงานสองชิ้นที่มีอิมแพ็คผมมากๆ นั่นคือ ‘ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์’ และ ‘แผ่นดินอื่น’ ซึ่งเป็นโปรดักชั่นจากคณะ B-Floor ทั้งคู่ คงเป็นเพราะตอนนั้นประสบการณ์ต่องานศิลปะการแสดงของผมยังบริสุทธิ์มากๆ ราวกับชีวิตนี้ไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน พอเจองานสองชิ้นนี้เข้าไป มันเหมือนถูกสึนามิถล่มใส่ (อนึ่ง จริงๆ ผมอยากให้ B-Floor รีสเตจ ‘ห้องตกกระแทกหมายเลขศูนย์’ เหมือนกัน เหตุผลไม่มีอะไรมากครับ ผมชอบดูผู้หญิงตบกัน จบครับ 555)

พอวันนี้ ‘แผ่นดินอื่น’ กลับมาเล่นอีกครั้ง ผมก็พยายามทำตัวให้บริสุทธิ์อีกครั้งเหมือนสี่ปีที่แล้ว พยายามลืมว่าเคยดูมันแล้ว แต่แน่นอนว่าทำไม่ได้หรอก เพราะการแสดงชุดนี้มันมีฉากน่าจดจำเยอะทีเดียว ระหว่างดูไปก็เลยอดเปรียบเทียบความรู้สึกระหว่างฉบับปี 2008 กับปี 2012 ไม่ได้ ...ถ้าสรุปแบบหยาบๆ ก็คงต้องบอกว่าชอบฉบับปี 2008 มากกว่า โดยคงเป็นปัจจัยเรื่อง first impression เป็นหลัก อย่างเช่น ฉากยอดมนุษย์ พอดูวันนี้ก็ค่อนข้างเฉยๆ แต่จำได้ว่าตอนดูเมื่อสี่ปีที่แล้ว ผมช็อคมาก แบบ เฮ้ย อะไรวะเนี่ย มาได้ไงวะ ~!@##@$%$% ฯลฯ

แต่ก็มีบางฉากที่รู้สึกได้ว่าฉบับใหม่นี้พลังลดทอนไปจากฉบับเดิม เช่น ฉากถ่ายหนังเรื่อง ‘หนักแผ่นดิน’ ที่เป็นไฮไลท์ของเรื่อง รู้สึกว่าในการแสดงคราวที่แล้ว ช่วงที่นักแสดงลิปซิงค์ไดอะล็อกจากหนังมีความแม่นยำกว่า มีจังหวะที่คมกว่านี้ แต่ขณะเดียวกันในฉบับ 2012 ก็เหมือนจะเพิ่มเติมลูกเล่นบางอย่างเข้าไป เช่น ตัวละครที่เล่นเป็นตากล้อง มีการหมุนควงกล้องด้วย เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าสังเกตเห็นแล้วฮาระเบิด (ที่จริงฉบับที่แล้ว อาจจะมี gimmick พวกนี้ แต่ผมสังเกตไม่ทันเอง) สรุปแล้วฉากถ่ายหนังก็ยังคงทำให้ผมหัวเราะแทบเป็นแทบตายได้เหมือนเคย

แม้รอบที่ผมดูเหมือนจะมีการผิดจังหวะเล็กๆ น้อยๆ บ้าง แต่โดยรวม ‘แผ่นดินอื่น’ เป็นการแสดงที่ทรงพลังและระเบิดความเข้มข้นทางอารมณ์ออกมาได้ตลอดเรื่อง องค์ประกอบหลักอย่างน้อยสามอย่างที่แข็งแรงมากของ ‘แผ่นดินอื่น’ คือ 1. การจัดแสง: ที่ให้ความรู้สึกกดดันมากๆ ในหลายฉาก โดยเฉพาะการเล่นกับความมืด หรือการใช้โทนสีแดงจัดๆ ย้อมทั้งห้อง 2. ดนตรีประกอบ: งานของ B-Floor หลายเรื่อง มักใช้เสียงแบบนอยซ์หรืออินดัสเทรียล ส่วนตัวแล้วผมคิดว่า ‘แผ่นดินอื่น’ คืองานที่ B-Floor เลือกเพลงประกอบได้ฮาร์ดคอร์ที่สุด ไม่ว่าจะเพลงโลกแตกของ Merzbow (ศิลปินทดลองชาวญี่ปุ่นที่ออกอัลบั้มมากว่า 300 ชุด) หรือเพลงเย็นเยียบสยองขวัญของวง Deathprod (ศิลปินแอมเบียนต์นอยซ์ จากนอร์เวย์) ในฉากจบของเรื่อง และ 3. การเคลื่อนไหวของนักแสดง: เพราะไม่ว่าจะฉากที่ต้องเคลื่อนไหวอย่างบ้าคลั่ง หรือแบบสงบนิ่งในเรื่องนี้ ก็ดูจะใช้กำลังกายอย่างมาก แถมการแสดงก็ยาวร่วม 90 นาที ในสูจิบัตรที่เขียนว่าการฝึกซ้อมของนักแสดงเหมือนการเข้าค่ายทหาร คงไม่ใช่เรื่องเกินจริง

ในส่วนเนื้อหาสาระของ ‘แผ่นดินอื่น’ เป็นการดัดแปลงมาจากหนังสือชื่อเดียวกับของ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ซึ่งน่าเสียดายว่าผมยังไม่ได้อ่าน (ซื้อมาดองจากงานหนังสือหลายปีแล้ว) ดังนั้นในส่วนนี้ ขอแนะนำให้อ่านบทวิจารณ์ของน้อง Non-Touch ตามนี้ครับ //www.facebook.com/photo.php?fbid=10151459303901632

อย่างไรก็ดี สำหรับเชิง content ของ แผ่นดินอื่น ฉบับ 2012 มีสองประเด็นที่ผมอยากพูดถึงเป็นพิเศษ

หนึ่ง-การที่มีนักแสดงชาวต่างชาติ ร่วมแสดงด้วย สร้างความหมายใหม่ๆ ให้กับละครฉบับนี้มากทีเดียว นอกจากเชิงการสื่อสารที่มีทั้งไดอะล็อกภาษาไทยและภาษาอังกฤษแล้ว ความหมายของ ‘ชาติ(ไทย)’ ยังถูกพร่าเลือนไปอีก เมื่อนักแสดงต่างชาติพูดภาษาไทย หรือเล่นเป็นตัวละครที่ชื่อ นายไทย รักถิ่น แถมยังมีฉากที่ตัวละครโทรศัพท์คุยกับแม่ว่า “แม่ ผมอยู่เมืองไทย เล่นเป็นคนไทย เนี่ย ต้องพูดภาษาไทยด้วย” (ฉากนี้ตลกมาก)

สอง-ฉากสุดท้ายของละคร ดูร่วมสมัยเสมอ และตีความไปได้ตามบริบทของห้วงเวลานั้นๆ ฉบับปี 2008 เมื่อเทียบเคียงกับประวัติศาสตร์ขนาดใกล้แล้ว ฉากที่ตัวละครผู้ไม่ยอมยืนตรงตอนเพลงชาติ ชวนให้นึกถึงกรณีที่ไม่ยืนในโรงหนังอันโด่งดัง ส่วนฉากใกล้จบที่มีเอฟเฟกต์ smoke พวยพุ่งออกมา (ครั้งนั้นผมตกใจพอควร เพราะเครื่องเป่า smoke อยู่ใต้ที่นั่งผมพอดี!) ณ ตอนนั้นทำให้นึกถึงแก๊สน้ำตาในเหตุการณ์สลายม็อบ 7 ตุลา ...เมื่อมาดูฉากเหล่านี้อีกครั้งในปี 2012 มันก็ให้ความหมายที่กว้างขึ้น การที่ตัวละครไม่ยืนนิ่งตอนเพลงชาติ ไม่ใช่แค่เรื่องปัจเจกของใครคนหนึ่งอีกต่อไป แต่มันสะท้อนภาวะการรับไม่ได้ต่อความคิดเห็นอันแตกต่าง ซึ่งทุกวันนี้มันกลายเป็นปัญหาระดับมหภาคอันรุนแรง (โปรดักชั้นก่อนหน้านี้ของ B-Floor เรื่อง ‘บางละเมิด’ ก็พูดประเด็นนี้เช่นกัน) ส่วนเอฟเฟกต์ต่างๆ ไม่รู้ผมรู้สึกไปเองหรือเปล่า แต่เหมือนฉบับ 2012 นี้ smoke จะถูกใช้มากขึ้น และเสียงปืนก็ถูกย้ำมากขึ้นเช่นกัน ทำให้โยงใยไปถึงเหตุการณ์ช่วง เมษายน-พฤษภาคม ปี 2010

ทีนี้ความน่าสนใจในฉากสุดท้ายอยู่ที่การเชื่อมตัวเรื่องเข้ากับเรื่องสั้น ‘ผีอยู่ในบ้าน’ ของกนกพงศ์ ภาพตอนจบปรากฏว่ามีกลุ่มผีที่ล่อลวงให้ตัวละครยิงและฆ่าฟันกันเอง ตรงนี้เป็นเรื่องชวนคิดและออกจะน่าเศร้า แม้ละครเรื่องนี้จะพูดเรื่อง ความเป็นอื่น, ความแตกต่าง, การอยู่ร่วมกันไม่ได้ (ทหารไทย vs.ชาวมุสลิม, คอมมิวนิสต์ vs. กลุ่มคนที่อ้างว่ารักชาติ, ตัวแทนจากรัฐ vs. ประชาชน หรือแม้แต่ระดับนามธรรมอย่างการไม่ลงรอยกันของ อดีต vs. ปัจจุบัน ผ่านฉากโมโนล็อกของตัวละครหญิง) แต่สำหรับกลุ่มตัวละครผี แม้เรา/ประชาชนอยากจะ ‘เป็นอื่น’ กับมันขนาดไหน แต่มันก็อยู่ล้อมรอบตัวเรา มันไม่ได้อยู่ที่แผ่นดินอื่น แต่มันอยู่แผ่นดินเดียวกับเรา

"ชีวิตที่ผ่านไปนั้นเหมือนฝันร้าย” คือประโยคที่ถูกย้ำตลอดเรื่อง พวกเขา/เราฝันร้ายเพราะถูกผีหลอกหลอน-หรือเปล่า? ส่วนผีคือใคร หรืออะไร ก็คงแล้วแต่ผู้ชมจะคิด





Create Date : 09 ตุลาคม 2555
Last Update : 9 ตุลาคม 2555 16:12:47 น. 0 comments
Counter : 2514 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.