http://twitter.com/merveillesxx และ http://www.facebook.com/merpage
Group Blog
 
All Blogs
 
Crime and Punishment บนจอภาพยนตร์

โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง



(ตีพิมพ์ครั้งแรก: นิตยสาร "ละครยามเช้า" ฉบับที่ 3 ธันวาคม 2552-มกราคม 2553)


ไม่ว่าผู้อ่านจะเป็นคอวรรณกรรมตัวยงหรือไม่ แต่อย่างน้อยที่สุดเชื่อว่าทุกท่านต้องคงได้ยินชื่อของนักเขียนนามอุโฆษชาวรัสเซียอย่าง ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ (Fyodor Dostoyevsky, 1821-1881) เป็นแน่ ผลงานของเขามักโดดเด่นด้านการสำรวจจิตใจมนุษย์ผู้มีความขัดแย้งทางด้านการเมือง สังคม หรือจิตวิญญาณ ประกอบด้วยบริบททางสังคมของรัสเซียในศตวรรษที่ 19 งานของดอสโตเยฟสกี้ยังถูกพิจารณาว่ามีอิทธิพลอย่างมากกับแนวคิดอัตถิภาวะนิยม (Existentialism)

ดอสโตเยฟสกี้มีผลงานทั้งขนาดสั้น ยาว และยาวมาก หลายเรื่องมีฉบับภาษาไทย งานมาสเตอร์พีซของเขาหนีไม่พ้น Crime and Punishment (อาชญากรรมและการลงทัณฑ์) และ The Brothers Karamazov (พี่น้องคารามาซอฟ) ที่เลื่องลือในระดับความหนาที่ปาเข้าไป 600-900 หน้า จนบางคนตั้งชื่อให้เรื่องหลังเล่นๆ ว่า ‘พี่น้องคาราคาซัง’ เพราะอ่านเท่าไรก็ไม่จบเสียที

เช่นเดียวกับนักเขียนดังคนอื่นๆ งานของดอสโตเยฟสกี้หนีไม่พ้นที่จะถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ในฉบับนี้เราขอพูดถึง Crime and Punishment โดยเนื้อหาของหนังสือว่าด้วย ราสโคลนิคอฟ นักศึกษาหนุ่มผู้ถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเพราะความยากจน เขาตัดสินใจวางแผนฆาตกรรมหญิงชราคนปล่อยกู้ผู้ละโมบ ต่อมาความรู้สึกผิดก็เกาะกินในใจ จนทำให้ราสโคลนิคอฟแทบเป็นบ้า

Crime and Punishment เป็นนิยายที่ถ่ายทอดออกมาในรูปแบบกระแสสำนึก (Stream of consciousness) ที่เน้นการบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร ว่ากันว่าผลเช่นนี้ยากแก่การดัดแปลงเป็นภาพยนตร์อย่างยิ่ง แต่มันก็ถูกทำเป็นหนังไม่ต่ำกว่า 25 ฉบับ โดยสองเวอร์ชั่นที่โด่งดังคือ หนังเรื่อง Pickpocket (1959) ของ โรแบรต์ เบรสซง (Robert Bresson, 1901-1999) และ Crime and Punishment (1983) ของ อากิ คอริสมากิ (Aki Kaurismaki, 1957-)

สำหรับ Pickpocket ผู้กำกับ โรแบรต์ เบรสซง ไม่ได้ดัดแปลงมาจากฉบับนิยายโดยตรง เพียงแต่ได้แรงบันดาลใจมากกว่า เบรสซงเปลี่ยนเนื้อเรื่องใหม่ โดยตัวละครเอกไม่ได้ไปฆ่าแกงใคร แต่เป็นชายหนุ่มชื่อ มิเชล ผู้หาเลี้ยงตัวเองด้วยการล้วงกระเป๋า มิเชลพยายามจะหยุดการกระทำดังกล่าว แต่เขาไม่อาจห้ามใจตัวเองได้


ก่อนจะลงลึกถึงหนังขอเล่าถึงผู้กำกับเล็กน้อย เบรสซง เป็นผู้กำกับชาวฝรั่งเศสที่ทำหนังตั้งแต่ทศวรรษ 40 ตลอดอาชีพการทำงานเขามีหนังเพียง 13 เรื่องเท่านั้น หนังของเบรสซงมักมองโลกในแง่ร้าย ให้ความรู้สึกที่หดหู่ เรื่องที่เป็นตำนานของเบรสซงคือ เขาเน้นการแสดงที่เป็นธรรมชาติมาก หรือแทบจะเรียกได้ว่าเน้นการ ‘ไม่แสดง’ เขามักใช้นักแสดงหน้าใหม่กับหนังทุกเรื่อง บางครั้งเบรสซงถึงกับให้พวกเขาพูดประโยคธรรมดาสามัญซ้ำๆ กันถึง 36 เทค

วิธีการเช่นนี้ของเบรสซงมีอิทธิพลต่อคนทำหนังร่วมสมัยหลายคน รวมถึงผู้กำกับชาวฟินแลนด์อย่าง อากิ คอริสมากิ การแสดงในหนังของเขามีเอกลักษณ์อย่างมาก กล่าวคือนักแสดงจะเล่นกันสีหน้าตายซากไร้ความรู้สึก (ซึ่งไปกันได้ดีกับบุคลิกของคนประเทศนี้) อย่างไรก็ตาม หนังของคอริสมากิมักมีมุขตลกสอดแทรกเป็นระยะ ส่วนใหญ่มักมีฉากหลังเป็นเมืองเฮลซิงกิ (เมืองหลวงของฟินแลนด์) และว่าด้วยผู้คนที่อยากจะหนีไปให้พ้นจากเมืองดังกล่าว

คอริสมากิ ดัดแปลงผลงานของดอสโตเยฟสกี้ในชื่อเดียวกับนิยายว่า Crime and Punishment (หรือชื่อภาษาถิ่นคือ Rikos ja rangaistus) เนื้อเรื่องค่อนข้างคล้ายกับต้นฉบับ แต่มีการเปลี่ยนให้ร่วมสมัยขึ้น โดยหนังเล่าถึง ราฮิไคเนน ชายหนุ่มผู้ยิงปืนสังหารเศรษฐีผู้ขับรถชนคู่หมั้นของเขา หญิงสาวที่ชื่อ อีวา ดันมาเห็นเหตุการณ์เข้า แต่เธอกลับไม่แจ้งจับเขากับตำรวจ หลังจากนั้นความสัมพันธ์อันแปลกประหลาดของทั้งคู่ก็เริ่มต้นขึ้น

แม้จะถูกสร้างและดัดแปลงที่ต่างสถานที่และยุคสมัย แต่เอาเข้าจริงแล้ว Crime and Punishment ทั้งสามฉบับ (นิยายและหนังอีกสองเวอร์ชั่น) ก็ยังมีลักษณะร่วมบางอย่างกันอย่างชัดเจน อาจเป็นเพราะนี่คือเรื่องที่พูดถึงมนุษย์ และมนุษย์เราก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก ทั้งนี้ก็ขอพูดถึงลักษณะร่วมของทั้งสามฉบับไปทีละประเด็น

เริ่มจากเรื่องของฉากหลังของเรื่องก่อน โดยทุกเวอร์ชั่นนั้นเลือกให้เหตุการณ์เกิดขึ้นในเมืองหลวงของประเทศ (เซนต์ปีเตอร์เบิร์กส์ในนิยาย, ปารีสใน Pickpocket และเฮลซิงกิใน Crime and Punishment) แน่นอนว่านี่คือการวิพากษ์ระบะบทุนนิยม-ความขัดแย้งระหว่างชนชั้นคนจนและคนรวย อย่างในฉบับนิยายราสโคลนิคอฟต้องหยุดเรียนเพราะความจน เขามีความขัดแย้งกับหญิงคนปล่อยกู้ผู้ร่ำรวย



ด้านฉบับหนัง ใน Pickpocket มิเชล ต้องล้วงกระเป๋าเพราะไม่มีงานทำ ทั้งยังมีแม่ที่ป่วยหนัก และหนังยังแสดงให้เห็นว่าเขาขโมยเงินจากคนชั้นสูงเท่านั้น ส่วนใน Crime and Punishment ราฮิไคเนนกำลังจะถูกไล่จากห้องเพราะค้างจ่ายค่าเช่า เขาก็มีความขัดแย้งกับทั้งตัวละครเศรษฐีที่เขาสังหารในต้นเรื่อง และเจ้านายผู้ร่ำรวยของอีวาในช่วงท้ายเรื่อง (มีข้อสังเกตว่าคอริสมากิยังจงใจถ่ายให้เห็นป้ายของ NOKIA อย่างชัดเจนไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งด้วย)

ในเรื่องตัวละครเอกนั้น ทุกเวอร์ชั่นไม่ต่างกันคือ พวกเขาล้วนเป็นผู้แปลกแยกจากสังคม ทั้งด้วยสถานะอาชีพ เช่นว่า ราสโคลนิคอฟกลายเป็นโรคประสาทและเก็บตัวอยู่ในห้อง มิเชลมีอาชีพเป็นคนล้วงกระเป๋าซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมอยู่แล้ว ซึ่งถูกเล่าผ่านตัวละครเพื่อนสนิทของเขาที่แสดงอาการเกลียดชังพวกโจรอย่างชัดแจ้ง ส่วนราฮิไคเนน เป็นอดีตนักศึกษากฎหมายที่ผันตัวมาทำงานในโรงงานฆ่าสัตว์ การที่หนังเปิดฉากด้วยภาพการชำแหละเนื้อสดๆ ยิ่งทำให้คนดูรู้สึกแปลกแยกกับตัวละครนี้มากขึ้น

ความแปลกแยกของตัวละครเอกยังมีในมิติของเรื่องแนวคิด ถ้าหากให้พูดง่ายๆ ก็คงต้องกล่าวว่าทั้งสามหนุ่มเป็นพวก ‘คิดอะไรไม่เหมือนชาวบ้าน’ หรืออีกนัยคือการคิดต่างออกไปจากบรรทัดฐานทางสังคม ราสโคลนิคอฟมีทฤษฎีของตัวเองว่ามนุษย์มีสองประเภทคือ พวกมนุษย์ปกติที่อยู่เพื่อเพียงสืบเผ่าพันธุ์ และพวกมนุษย์พิเศษที่มีเพื่อทำลายสิ่งที่มีอยู่เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ โดยคนในกลุ่มหลังนั้นเขาใช้นโปเลียนเป็นภาพแทน

ราสโคลนิคอฟทึกทักเอาเองว่าตัวเองเป็นมนุษย์ในกลุ่มหลัง ส่วนหญิงชราที่เขาฆ่าตายนั้นเป็นพวกกลุ่มแรก เขาจึงมีสิทธิจะฆ่าหล่อน อย่างไรก็ดี ราสโคลนิคอฟก็มีความขัดแย้งในตนเอง ภายหลังเขากล่าวกับเพื่อนชายว่า “คนพวกนี้ (หมายถึงคนกลุ่มที่สอง) มีสิทธิอันชอบธรรมในการก่ออาชญากรรม ฆาตกรรม แต่ถ้าเขาหลีกรอดมาได้ เขาก็จะอยู่โดยมีความละอายแก่บาปติดตัวไป" ซึ่งก็เป็นภาพสะท้อนความรู้สึกผิดในใจของราสโคลนิคอฟ

ส่วนใน Pickpocket นั้นมีฉากที่มิเชลถกเถียงกับตำรวจที่พยายามจับกุมเขาว่า เขาชื่อว่ามีมนาย์จำพวกหนึ่งที่คนเหนือมนุษย์ (Supermen) ที่อยู่เหนือกฎเกณฑ์ใดๆ ของสังคม และไม่ต้องการพึ่งพิงใดๆ ทางสังคม (ในที่นี้เขากำลังพยายามอ้างอิงไปถึงพวกนักล้วงกระเป๋า) ส่วนใน Crime and Punishment ราฮิไคเนนสารภาพว่าเขาไม่ได้ฆ่าเศรษฐีเพราะความรักในคู่หมั้น อันแท้จริงเขากับเธอเลิกรากันไปนานแล้ว หากเขาต้องการให้พวกคนรวยรู้ว่า “เรื่องมันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น” และสิ่งที่เขาต้องการฆ่าไม่ใช่ผู้บุคคล แต่การหลักการ (Principle)



ทั้งนี้เราจึงเห็นได้ว่า Crime and Punishment นั้นไปไกลกว่าการพูดถึงเรื่องความรู้สึกผิดในใจ หรือเรื่องศีลธรรมจรรยา (Morality) หลายคนเห็นตรงกันว่าสิ่งที่ถูกนำเสนอในผลงานชิ้นนี้คือเรื่องของอภิปรัชญา (Metaphysics - การศึกษาสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการเห็นทั่วไปแต่สามารถรู้และเข้าใจด้วยเหตุผล) ซึ่งในที่นี้ก็คือ ความเป็นมนุษย์ หรือความซับซ้อนชวนฉงนของมนุษย์

จุดที่เหมือนกันของทั้งสามฉบับยังอยู่ที่ตัวละครนางเอก โดยทั้งสามฉบับอาจผูกเรื่องการพบเจอกับตัวเอกกับนางเอกแตกต่างกันไป แต่ที่สุดแล้วล้วนนำไปสู่สิ่งเดียวกัน นั่นคือ ทำให้ตัวเอกรู้สึกสำนึกผิดได้อย่างแท้จริง ว่ากันว่าหากตัวเอก (ราสโคลนิคอฟ / มิเชล / ราฮิไคเนน) คือตัวแทนของความผิดบาปหรือการต่อต้านพระเจ้าแล้ว ตัวนางเอกก็คือสัญลักษณ์ความรู้แจ้ง การชี้ทางสว่างของพระเจ้านั่นเอง (อย่างไรก็ดี ในฉบับหนังฟินแลนด์นั้นแทบไม่มีการอ้างอิงถึงพระเจ้าแต่อย่างใด นางเอกเพียงแค่ผลักดันให้พระเอกไปมอบตัว)

อย่างไรก็ดี ถึงสามฉบับก็เลือกการคลี่คลายในแนวทางที่ต่างกันไป โดยในฉบับนิยายนั้นราสโคลนิคอฟนั้นถูกตัดสินให้ไปใช้แรงงานหนักที่ไซบีเรีย (ซึ่งอ้างอิงจากชีวิตจริงของดอสโตเยฟสกี้) คนรักของเขานั้นตามไปด้วย ช่วงแรกนั้นราสโคลนิคอฟทำเป็นไปแยแสอีกฝ่าย แต่ภายหลังก็รู้ได้ว่าเธอมีความสำคัญกับเขาเหลือเกิน หนังสือบรรยายเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายว่า “ไม่มีใครเอ่ยคำพูดใดๆ มีเพียงหยาดน้ำตาคลอเบ้า แต่ทั้งคู่ก็เข้าใจตรงกันว่านี่คือสัญญาณแห่งการเริ่มต้นของชีวิตใหม่ มีความรักโอบล้อมพวกเขา รวมหัวใจเป็นหนึ่งเดียว ยังเหลือเวลาอีกเจ็ดปี (ที่พระเอกต้องอยู่ที่ไซบีเรีย) สำหรับความเจ็บปวดและการชดใช้ ถึงกระนั้นก็เต็มไปด้วยความสุข”

Pickpocket เลือกบทสรุปคล้ายกันกับนิยายต้นฉบับ มิเชลถูกลงโทษจำคุกสองปี เมื่อหญิงสาวมาเยี่ยมเขาที่คุก มิเชลพยายามรบเร้าให้อีกฝ่ายไปมีชีวิตใหม่ แต่ท้ายสุดพวกเขาก็จูบกันที่หน้าลูกกรงอย่างขมขื่น มิเชลพูดออกมาว่า “เหตุใดหนอ ฉันถึงใช้เวลาเดินทางยาวนานนักกว่าจะพบเธอ” ฉากนี้เป็นที่จดจำของผู้ชม เพราะนางเอกเลือกจะจูบที่ ‘มือ’ ของมิเชล มือที่เขาใช้ก่ออาชญากรรมล้วงกระเป๋ามาตลอดนั่นเอง

สำหรับ Crime and Punishment ฉบับฟินแลนด์มีตอนจบที่ค่อนข้างทำร้ายจิตใจกว่า เมื่อนางเอกไปเยี่ยมราฮิไคเนนที่คุก เขากลับไม่แยแสเธอ ราฮิไคเนนบอกว่าเขาเคยกล่าวเศรษฐีที่เขาฆ่านั้นเป็นเหมือน ‘เหา’ แต่เขาเพิ่งตระหนักว่าเมื่อเขาฆ่าชายผู้นั้น ตัวเขาเองก็กลายเป็นเหาไปเสียแล้ว ราฮิไคเนนว่ากล่าวคนรักว่าจะรอเขาไปเป็นเวลา 8 ปี (ที่ต้องจำคุก) ไปเพื่ออะไร “คิดว่าอะไรจะรอพวกเราอยู่หลังจากนี้ สวรรค์หรือ ไม่ใช่หรอก แมงมุมมากกว่า” จากนั้นราฮิไคเนนเดินกลับเข้าห้องขังไปอย่างไม่ไยดี และภาพสุดท้ายที่เราเห็นคือ ประตูห้องขังที่ปิดแน่นสนิท

ทั้งหมดทั้งมวลนี้เห็นได้ว่า แม้จะมีตอนจบที่ต่างกันไป แต่สุดท้ายแล้วตัวละครเอกของ Crime and Punishment ฉบับใดๆ ก็ต้องลงเอยด้วยการถูก ‘ลงทัณฑ์’ จาก ‘อาชญากรรม’ ที่ตนเองก่อไว้นั่นเอง



หมายเหตุภาพประกอบ
ภาพที่ 1, 3 : Crime and Punishment ฉบับ อากิ คอริสมากิ
ภาพที่ 2, 4 : Pickpocket ของ โรแบรต์ เบรสซง




Create Date : 09 กรกฎาคม 2553
Last Update : 9 กรกฎาคม 2553 2:35:28 น. 3 comments
Counter : 6125 Pageviews.

 


โดย: หาแฟนตัวเป็นเกลียว วันที่: 9 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:00:10 น.  

 
อธิบายสักน่าดูชมมากขึ้นเลยขอรับ


โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 11 กรกฎาคม 2553 เวลา:21:09:20 น.  

 
ต้องหามาดูบ้างแล้วทั้งสองเวอร์ชั่น ^^


โดย: Seam - C IP: 58.9.202.30 วันที่: 13 กรกฎาคม 2553 เวลา:16:43:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

merveillesxx
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 58 คน [?]




สำส่อนทางการดูหนัง ฟังเพลงและเสพวรรณกรรม
New Comments
Friends' blogs
[Add merveillesxx's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.