*★.•*★*.•โรคและการดูแลสุขภาพ*★.•*★*.•


ผู้เลี้ยงแมวที่ดีควรสังเกตพฤติกรรมแมวอย่างเอาใจใส่ทุกวัน เช่น การหวีขนจะสังเกตได้หากมีสิ่งผิดปกติกับตัวแมว, การให้อาหาร สังเกตุการกินว่ามันกินไปเท่าไร, การทำความสะอาดกะบะขับถ่ายก็จะสามารถดูสิ่งขับถ่ายได้อย่างละเอียดว่าผิดปกติหรือไม่
อาการของการเจ็บป่วยได้แก่ การเบื่ออาหาร น้ำหนักลดอย่างรวดเร็ว เปลี่ยนนิสัยไปอย่างกะทันหัน เซื่องซึม ไม่ใส่ใจความสะอาด ขนด้าน+ร่วง เกาบ่อย ปัสสาวะ+อุจจาระบ่อย ตัวบวม อาเจียนตลอดเวลา ท้องร่วง เป็นต้น หากสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ควรพาไปหาสัตวแพทย์ทันที

การถ่ายพยาธิ

ในแมวที่โตแล้วจะติดพยาธิจากพื้นดินหรือการเลียขนตัวเอง ส่วนลูกแมวมักได้รับผ่านทางน้ำนมแม่ ตัวพยาธิจะไปลดความต้านทานโรคติดต่อของอวัยวะและอาจยับยั้งประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันโรค วิธีป้องกันคือ ควรให้แมวไปตรวจหาพยาธิเป็นประจำ และควรให้ถ่ายพยาธิอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อปี



การสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันโรคติดต่อ

มีโรคติดต่อมากมายที่เป็นอันตรายต่อชีวิตแมวและเราสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีนเฉพาะเท่านั้น

โรคหัด (Feline Panleucopenia)
อาการ : อาเจียน ท้องร่วง ดูเจ็บปวด(แสดงออกเช่นร้องเมื่อร่างกายโดนสัมผัส) เซื่องซึม มีไข้
การรักษา : สร้างภูมิคุ้มกัน(ฉีดวัคซีน) จะป้องกันการติดเชื้อได้

ไข้หวัดใหญ่แมว(Cat Flu)
อาการ : มีของเหลวไหลจากตาซึ่งอาจใสหรือสีเหลืองขุ่น รูจมูกอุดตัน จามและหายใจติดขัดบ่อยครั้ง เซื่องซึม
การรักษา : พาแมวไปหาสัตวแพทย์โดยด่วน และหากยังไม่เป็นป้องกันโดยการฉีดวัคซีน

โรคกลัวน้ำ
อาการ : มีพฤติกรรมผิดปกติไป น้ำลายไหล เป็นอัมพาต
การรักษา : หากสัตว์เป็นโรคนี้ไปแล้วไม่มีวิธีรักษา มักจะถึงความตายเสมอ ดังนั้นการฉีดวัคซีนป้องกันโรคกลัวน้ำเป็นสิ่งที่ต้องทำ

ลูคิเมียในแมว
อาการ : แมวที่เป็นลูคิเมียมักจะตรวจหาไม่พบเพราะมันมีรูปแบบที่ต่างกัน บางครั้งจะมีอาการซูบผอม ขาดภูมิคุ้มกัน ต่อมน้ำเหลืองบวม โลหิตจาง
การรักษา : ลูคิเมียรักษาไม่ได้ สัตว์ที่ติดเชื้อต้องแยกจากสัตว์ที่สุขภาพดี วิธีป้องกันที่ดีที่สุดคือฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้

โรคเยื่อบุช่องท้องอักเสบ
อาการ : ร่างกายบวมซึ่งเกิดจากการสะสมของๆเหลวในช่องท้องและทรวงอก นอกจากนี้ยังมีอาการเบื่ออาหาร ซูบผอม เซื่องซึม เป็นไข้ มีเนื้องอก หรือมีอาการที่ผิดไปจากนี้ซึ่งอาจตายโดยรวดเร็วโดยไม่มีอาการใดบ่งบอก
การรักษา : พาแมวไปหาสัตวแพทย์โดยด่วน และในแมวที่ปกติป้องกันได้โดยการสร้างภูมิคุ้มกัน

การเช็คสุขภาพแมว

ทวารหนัก : ควรสะอาด และไม่มีร่องรอยของอุจจาระติดอยู่รอบๆ
การหายใจ : เงียบ สม่ำเสมอ ไม่หอบถี่
ตา : สะอาด สดใส เปิดกว้าง
ขน : เป็นมัน สะอาด
ผิวหนัง : แห้งและเรียบ ไม่เป็นสะเก็ดหรือมีตุ่ม จุดแดงหรือผื่น
ต่อมน้ำเหลือง : ปกติเมื่อสัมผัส ไม่บวม
จมูก : แห้งและเย็น
หู : สะอาดหมดจด (หากมีของเหลวข้นสีคล้ำอาจเป็นหมัด หรือถ้าบวมแดงอาจเกิดการติดเชื้อ)
ชีพจร : สม่ำเสมอ ไม่ช้าหรือเร็วไป
ฟัน : ขาว ไม่มีขี้ฟันหรือหินปูนจับ
เหงือก : สีชมพู ไม่ซีดหรือแดงเกินไป และไม่มีกลิ่นเหม็น

ความเจ็บป่วยที่ไม่ร้ายแรง

อาเจียน
อาการ : ขับอาหารออกมาพร้อมสำรอกอย่างรุนแรง มีการหดเกร็งของกล้ามเนื้อท้อง และส่งเสียงเหมือนกันไอ
สาเหตุที่เป็นไปได้ : แมวเปอร์เซียจะกำจัดขนที่มันกินเข้าไปจากการเสริมสวยตัวเองโดยการไอเอาก้อนขนออกมา แต่ถ้ามันสำรอกเอาอาหารออกมาทุกมื้อสิ่งนี้บ่งบอกถึงโรคร้ายแรง
การรักษา : ถ้าอาเจียนไม่หยุดให้พบสัตวแพทย์

ท้องผูก
อาการ : แมวที่ท้องผูกจะไปที่กะบะหลายๆครั้งตลอดวันเพื่อเบ่งอุจจาระด้วยความเจ็บปวด ถ้าท้องผูกเรื้อรัง ท้องน้อยจะบวมและแมวไม่อยากอาหาร
สาเหตุที่เป็นไปได้ : มักจะมีแนวโน้มท้องผูกในแมวอายุมากและขาดการออกกำลังกาย
การรักษา : ให้นมหรือมิเนอรัลออย 1 ข้อนชากินทุกวันสัก 2-3 วัน หรือ การนวดเบาๆที่ท้องน้อยและทวารหนักก็ช่วยได้ ส่วนการป้องกันปัญหาที่เกิดจากก้อนขนควรให้แมวเปอร์เซียกินเนยหรือมาการีนเล็กน้อย ถ้าอาการไม่บรรเทาภายใน 24 ชม.ควรไปหาสัตวแพทย์ และการกินมิเนอรัลออยบ่อยอาจมีผลต่อการดูดซึมวิตามิน ควรให้อาหารเสริมที่มีวิตามินชดเชยแก่แมวด้วย

ท้องร่วง
อาการ : อุจจาระเหลว ขนบริเวณรอบทวารหนักสกปรก
การรักษา : งดอาหารทันที หลังผ่านไป 1 วันอาจให้เนื้อหรือตับปรุงสุกเล็กน้อย เมื่อลักษณะอุจจาระปกติจึงให้อาหารตามปกติแต่อย่าให้ตับดิบๆหรือนม ถ้าอาการท้องร่วงกลับมาอีกต้องปรึกษาสัตวแพทย์

บาดแผลปิด
อาการ : บริเวณผิวหนังบวม ร้อน ปวด และเปลี่ยนสีเนื่องจากการฟกช้ำ
การรักษา : ประคบตรงบาดแผลปิดด้วยความเย็น โดยนำผ้าขนหนูเล็กๆมาวางเหนือบาดแผลด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้ผ้าประคบแผลแข็งตัวติดกับผิวหนัง จากนั้นนำน้ำแข็งวางทับไว้ 15 นาที ถ้าสงสัยว่าแมวอาจกระดูกหักให้ทำเฝือกชั่วคราวโดยใช้ผ้าขนหนูหนาๆม้วนเป็นเฝือก เพื่อช่วยให้ส่วนที่บาดเจ็บไม่ขยับเขยื้อน ค่อยๆพันแผลด้วยผ้าพันแผลหลายๆชั้นแล้วใช้เทปติดให้แน่น และรีบพาไปพบสัตวแพทย์

บาดแผลเปิด
อาการ : ผิวหนังมีรูทะลุ มีรอยเลือดหรือขนขึ้นบริเวณผิวหนัง และแมวเลียหรือให้ความสนใจบริเวณนั้นมากผิดปกติ
การรักษา : ถ้าบาดแผลเปิดไม่ใหญ่มาก ให้ดึงสิ่งสกปรกต่างๆเช่น กรวด เสี้ยน ด้วยมือหรือปากคีบ แล้วล้างแผลด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำเกลืออ่อนๆ กรณีขนแมวเข้าไปอยู่ในบาดแผลให้ใช้สารหล่อลื่นที่ละลายน้ำหล่อลื่นที่กรรไกรก่อน (วิธีนี้ช่วยให้ขนติดที่กรรไกรโดยไม่ติดบาดแผล) และตัดขนรอบๆปากแผลให้เกลี้ยง
ข้อควรระวัง : อย่าดึงวัตถุชิ้นใหญ่เช่น ชิ้นไม้ ออกจากแผลเปิดควรรีบนำไปพบแพทย์/ อย่าใช้วาสลีนโปะแผล/ อย่าถูบาดแผลจะทำให้เลือดออกหรือแผลขาดมากขึ้น




ไรหู
อาการ : แมวสะบัดหูหรือเกาหูมากผิดปกติ และในหูมีคราบสกปรกมาก
การรักษา : หยอดหูโดยใช้ยาหยอดหูชนิดที่กำจัดไรหูได้ หรือใช้ยา selamectin หยดบนหลังคอแมว และเช็ดหูทุกวันอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์จนกว่าจะหมดสิ้น

เยื่อตาอักเสบ
อาการ : มีการอักเสบของเนื้อเยื่อตาชั้นนอก บวมและมีขี้ตา สภาวะนี้สามารถเกิดในลูกแมวเกิดใหม่ที่ยังไม่ลืมตาด้วย มักมีการสะสมของขี้ตาใต้เปลือกตาที่ปิดอยู่
การรักษา : พบสัตวแพทย์ทันที โรคตาอักเสบส่วนใหญ่จะรักษาให้หายด้วย ophthalmic antiblotic ointment ร่วมกันยาที่ลดอาการบวม ไม่ควรละเลยโดยเฉพาะในลูกแมวแรกเกิด หากปล่อยไว้อาจตาบอดได้

หินปูน
อาการ : ฟันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนฟันด้านใน จะเคลือบด้วยสารสีขาวเหลืองจนถึงสีน้ำตาล
การรักษา : พบสัตวแพทย์ โดยสัตวแพทย์จะเอาหินปูนออกให้โดยการขูดหินปูน

มดลูกอักเสบ
อาการ : กระหายน้ำมากขึ้น หน้าท้องบวม เบื่ออาหาร มีของเหลวสีคล้ำไหลออกมาจากอวัยวะเพศ ต่อมาแมวจะเซื่องซึมและขนด้าน
สาเหตุ : เกิดจากเชื้อโรคหรือความไม่สมดุลของฮอร์โมน ซึ่งเกิดจากการที่แมวอยู่ในระยะสัดเป็นเวลานาน หรือความทรมานจากการเป็นสัดถาวรและไม่ได้ผสมพันธ์หรือตั้งท้องเลย
การรักษา : การเอามดลูกและรังไข่ออกเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด การพยายามจะรักษาการอักเสบมักใช้เวลานานและควรทำกรณีที่สัตว์จำเป็นมากสำหรับการขยายพันธ์เท่านั้น วิธีหนึ่งที่ป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นคือ การทำหมัน

นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
อาการ : แมวจะไปกะบะขับถ่ายบ่อยๆ และพยายามจะปัสสาวะ ขณะปล่อยปัสสาวะมันจะร้องด้วยความเจ็บปวด อาจมีเลือดในปัสสาวะ
สาเหตุ : อาหารไม่ดี ปัจจัยทางกรรมพันธ์ เชื้อโรค ถ้าทางเดินปัสสาวะอุดตัน แมวจะตายด้วยโรคไตวาย
การรักษา : พบสัตวแพทย์ด่วนเพื่อการตรวจอย่างละเอียดและรักษาได้ทัน









 

Create Date : 12 สิงหาคม 2550    
Last Update : 2 มกราคม 2551 21:10:55 น.
Counter : 2699 Pageviews.  

*★.•*★*.• การเพาะพันธ์และพฤติกรรม*★.•*★*.•



เกณฑ์ในการเพาะพันธ์


ชมรมผู้เลี้ยงแมวมักจะให้แนวทางที่ดี คือ
- ตัวเมียที่จะให้ผสมพันธ์ ควรมีอายุอย่างน้อย 1 ปีก่อน
- ไม่ควรให้มีลูกมากกว่า 2 ครอกต่อปี
- ไม่ควรให้ผสมพันธ์น้อยกว่า 3 เดือนหลังจากมีลูก
- ลูกแมวไม่ควรถูกยกให้เจ้าของใหม่หรือย้ายบ้านจนกว่าจะอายุได้ 3 เดือน
- เมื่อลูกแมวถูกแยกไปต้องมีสุขภาพที่ดี ร่าเริง และได้รับวัคซีนและถ่ายพยาธิแล้ว


พฤติกรรมในการผสมพันธ์ของแมว


แมวเปอร์เซียทั้งเพศผู้และเพศเมียจะเข้าสู่วัยเจริญพันธ์เมื่ออายุประมาณ 8-10 เดือน จากนั้นจะสามารถมีลูกได้ พฤติกรรมในการผสมพันธ์จะเด่นชัด ดังนี้


แมวเพศเมีย

ช่วงเวลาของแรงกระตุ้นทางเพศในแมวเพศเมียเรียกว่า "การเป็นสัด" คือ เมื่อแมวเข้าสู่วัยเจริญพันธ์มันจะเป็นสัดครั้งแรก มีอการคือ มีการแสดงความรักใคร่ทางร่างกาย เช่น นอนถูหลังไปมาบนพื้น ชอบคลอเคลียเป็นพิเศษ ถ้าเอามือลูบบั้นท้ายจะยกตัวขึ้นสูง โก้งโค้ง อาจร้องครางดังๆ
แมวที่ไม่ได้ทำหมันและไม่มีโอกาสผสมจะเป็นสัดเรื่อยๆครั้งนึงนานประมาณ 10 วันบางตัวนานถึง 2 อาทิตย์ แมวเพศเมียสามารถมีลูกได้ในระยะเป็นสัดเท่านั้น เวลาดีที่สุดคือ วันที่ 3 ของการเป็นสัด และหากแมวไม่ได้ผสมเป็นเวลานานหรือไม่ได้ผสมเลยอาจเพิ่มโอกาสในการทำงานที่ผิดปกติได้เช่น แมวอาจเป็นสัดถาวร หรือมีการอักเสบของมดลูก


แมวเพศผู้

ไม่มีอาการแบบแมวเพศเมีย แมวเพศผู้ที่สุขภาพดีจะพร้อมในการผสมตลอดเวลา แมวตัวผู้จะบอกความพร้อมด้วยการ spraying คือฉี่รดวัตถุบางอย่างพร้อมแกว่งหางด้วย ซึ่งถ้าแมวเพศเมียอยู่ในระยะเป็นสัด ตัวผู้จะรู้และงับคอตัวเมีย เพื่อขึ้นคร่อมและผสม หลังการจับคู่เสร็จตัวเมียมักร้องเสียงแหลมและพยายามข่วนตัวผู้




การตั้งท้อง

สังเกตได้เมื่อผ่านไป 3 สัปดาห์ว่าแมวตั้งท้องหรือไม่ แมวตั้งท้องหัวนมจะสีชมพูเข้มและตั้งขึ้น มีความอยากอาหารมากขึ้น หลัง 30 วันหน้าท้องจะนูนกลมชัดเจน
ในระยะตั้งท้องเฉลี่ยที่ 60-66 วันคือ นับจากวันแรกของการผสมไปอีก 63 วันอาจเร็วหรือช้ากว่านี้2-3 วัน


การคลอดลูกแมว

แม่แมวก่อนคลอดจะอยู่ไม่สุข เดินหาที่คลอดและตะกุยตะกายรอบๆ เดินวนไปมาอย่างกระวนกระวาย แมวบางตัวอาจไม่เต็มใจคลอดในที่ๆจัดไว้ให้ นอกจากมีคนที่มันไว้ใจอยู่ด้วย เจ้าของแมวที่รอบคอบควรเฝ้าดูขณะแมวออกลูก เตรียมอุปกรณ์และเบอร์โทรสัตว์แพทย์ไว้เผื่อกรณีฉุกเฉินเช่น หากแมวเบ่งเป็นเวลานานเกิน 2-3ชม. อาจคลอดเองไม่ได้ สิ่งนี้สัตว์แพทย์จะช่วยได้ หรือหากแม่แมวคลอดเสร็จแล้วนอนนิ่ง ไม่สนใจลูกแมวก้อต้องโทรหาสัตว์แพทย์ด่วนเช่นกัน

การเลี้ยงดูลูกแมวและพัฒนาการ

ลูกแมวเกิดใหม่ตาจะปิดและไม่ได้ยิน แต่ประสาทสัมผัสกลิ่นมีแล้วและจะหาเต้านมแม่ได้แล้ว
ระหว่าง 8-12 วันเปลือกตาลูกแมวจะเริ่มเปิดและมีฟันน้ำนมขึ้น เมื่อผ่านไป 4 สัปดาห์ลูกแมวจะเริ่มพยายามเล่นและพัฒนาความเร็วขึ้น
อายุตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป เจ้าของสามารถหัดให้ลูกแมวคุ้นเคยในการกินอาหารเหลวและกึ่งแข็งได้แล้ว













 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 31 ธันวาคม 2550 0:18:57 น.
Counter : 12484 Pageviews.  

*★.•*★*.• การดูแลแมว(ต่อ)*★.•*★*.•





การให้อาหารแมว



ประเภทอาหารแมว

อาหารปรุงเอง
การปรุงเองค่อนข้างยุ่งยาก เพราะต้องคำนึงถึงปริมาณสารอาหารให้ครบตามแมวต้องการ ไม่ควรให้แต่ข้าวคลุกปลา ควรเสริมอาหารอื่นเพิ่มด้วยเช่น เนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่ นม ไข่ ด้วย


อาหารเปียกหรืออาหารกระป๋อง
ข้อดีของการให้อาหารกระป๋องคือ แมวชอบ แต่ข้อเสียคือไม่สามารถตั้งทิ้งไว้ได้นานๆเพราะเน่าเสียง่ายและปัญหาเรื่องแมลงก็ตามมา อาหารแบบนี้ควรให้กินเป็นมื้อไป พอกินเสร็จก็เก็บเลย

อาหารเม็ด
ข้อดีของอาหารเม็ดคือ คุณค่าสารอาหารครบถ้วนกว่าอาหารกระป๋อง เพราะอาหารกระป๋องมีองค์ประกอบของน้ำเยอะทำให้แมวอิ่มเร็ว อาหารเม็ดตั้งให้กินได้ทั้งวัน และยังช่วยให้แมวได้บริหารเหงือกและขัดฟันให้สะอาดอีกด้วย ส่วนข้อเสียคือ กลิ่นอาจไม่หอมเท่าอาหารกระป๋อง

หลักการในการให้อาหารแมว

อาหารแต่ละมื้อควรประกอบด้วยสารอาหารที่ครบตามความต้องการแมวในแต่ละช่วงอาย แต่ละพันธ์รวมถึงกิจกรรมของแมวด้วย
การให้อาหารควรให้ครั้งละน้อยๆแต่เพียงพอ ไม่น้อยไปจนแมวต้องจับหนูกิน หรือมากไปจนเป็นโรคอ้วน
อย่าให้อาหารลักษณะดังต่อไปนี้ อาหารที่ร้อนหรือเย็นเกินไป, มีรสจัด, อาหารที่มีก้างหรือกระดูก, เนื้อหรือปลาดิบเพราะอาจมีพยาธิ


การให้อาหารลูกแมว

ลูกแมวก่อนหย่านม
อาหารที่มีคุณค่าที่สุดสำหรับลูกแมวแรกเกิดคือ น้ำนมแม่ ซึ่งให้นมดังนี้
ตั้งแต่เกิด-7วัน ให้นมทุก 2 ชม. ปริมาณ 3-6 มิลลิลิตร
อายุ 7-14 วัน ให้นมทุกๆ 2 ชม.ตอนกลางวันและทุกๆ 4 ชม.ตอนกลางคืน ปริมาณนม 6-8 มิลลิลิตร
อายุ 14-21 วัน ให้นมทุกๆ 2 ชม.ตอนกลางวันและ 1 ครั้งช่วง 5ทุ่มถึง 8โมงเช้า ปริมาณนม 8-10 มิลลิลิตร

ลูกแมวหย่านม
คืออายุ 4 สัปดาห์และฟันก็ขึ้นพร้อมจะเล็มอาหารได้ เริ่มให้ลูกแมวเลียนมในจาน จากนั้นก็เพิ่มอาหารเหลวไปคลุกกับนมทีละน้อย และเพิ่มเนื้ออาหารเหลวขึ้นและลดปริมาณนมลง จนเริ่มผสมอาหารเม็ดลงในนม ลูกแมวจะค่อยๆขบเคี้ยวเป็นในที่สุด


ลูกแมวกำพร้า
นมที่สามารถใช้เลี้ยงแมวกำพร้าเช่น นมผงเลี้ยงทารก, นมสำเร็จรูปที่ผลิตเพื่อลูกแมวโดยตรง เช่น kmr เพียงเติมน้ำอุ่นตามสัดส่วนที่ระบุ ชงให้กินได้เลยและได้คุณค่าครบถ้วน

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในการให้นม
คือการรักษาความสะอาดของอุปกรณ์ให้นมโดยลวกน้ำร้อนและเก็บในที่สะอาด และจัดหาไว้ใช้สลับกัน 2 ชุด ผู้เลี้ยงควรล้างมือให้สะอาดก่อนและหลังให้นม และต้องไม่ใช้นมที่เหลือมาชงให้ลูกแมวกินต่อกับมื้อต่อไป เพราะอาจทำให้ลูกแมวเป็นอันตรายถึงชีวิต หลังให้นมควรเช็ดปาก+คราบนม และกระตุ้นการขับถ่ายทุกครั้งหลังกินนมเสร็จ โดยใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดกระตุ้นเบาๆตรงฝีเย็บ และใช้นิ้วคลึงเบาๆที่หน้าท้อง



การให้น้ำแมว

ควรจัดเตรียมน้ำสะอาดให้แมวอยู่เสมอ ภาชนะใส่น้ำต้องปากกว้างแต่ไม่ต้องลึกมาก และควรเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกๆวัน และ ระวังอย่าให้มีสารพิษ เช่นยาฆ่าแมลง ยาฆ่าเชื้อ ปะปนไปกับน้ำ

การฝึกแมว

การฝึกให้แมวรู้จักชื่อตัวเอง
ควรเรียกชื่อแมวเป็นคำสั้นๆกะทัดรัด ไม่ควรเกิน 2 พยางค์ และไม่ควรเปลี่ยนชื่อบ่อยๆเพราะจะทำให้แมวสับสน เจ้าของต้องหมั่นเรียกบ่อยๆ สั้นๆ ยิ่งเรียกบ่อยเท่าไหร่แมวจะจำได้เร็วมากขึ้น และควรฝึกตั้งแต่ยังเป็นลูกแมว


ขอเพิ่มเติม

จากประสบการณ์ตัวเองด้วยนะคะ คือ เวลาเรียกๆเค้าด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน ไม่เร็วหรือดังเกินไป และเชื่อมโยงกับสิ่งที่เจ้าเหมียวชอบค่ะ เช่น เรียกชื่อเค้าแล้วให้อาหาร, ลูบหัว, ให้ของเล่นที่เหมียวชอบ เป็นต้นค่ะ


การฝึกให้แมวขับถ่ายเป็นที่เป็นทาง

เจ้าของควรเตรียมถาดทรายวางไว้มุมใดมุมหนึ่ง แล้วลองสังเกตอาการต้องการถ่ายของแมว คือแมวจะกระสับกระส่าย ตะกุยพื้นแล้วร้อง ถ้าเห็นเช่นนั้นต้องรีบพาแมวไปยังถาดทรายที่เตรียมไว้ทันที ทำเช่นนี้ 2-3 ครั้ง แมวจะรู้และจำได้ แต่เมื่อเห็นแมวจะถ่ายเรี่ยราด ควรดุว่า "ไม่"หรือ"อย่า"
แล้วรีบนำแมวไปยังที่ถ่าย เมื่อถ่ายเสร็จแล้วควรชมเชยหรือให้รางวัลด้วย เพื่อแมวจะรู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้อง

ขอเพิ่มเติมเอง(อีกแล้ว)

ถ้ามาพบตอนหลังว่าเจ้าเหมียวถ่ายเรี่ยราดไปแล้ว ไม่ควรดุหรือตีเค้า เพราะแมวจะไม่รู้ว่าเค้าทำผิดอะไร และยิ่งหวาดกลัวเรา ทำให้แมวเครียดและถ่ายเรี่ยราดอีก วิธีคือเช็ดอุจจาระหรือปัสสาวะที่เค้าถ่ายแล้วเอาไปวางในกะบะทราย เพราะแมวจะไปถ่ายในที่ๆตัวเองเคยถ่ายเสมอ และกำจัดกลิ่นบริเวณที่เค้าถ่ายเรี่ยราดนั้นให้หมด อย่าลืมดูด้วยนะคะว่ากะบะทรายสกปรกหรือมีกลิ่นที่แมวไม่ชอบรึป่าว เค้าถึงไม่ยอมเข้าไปถ่าย













 

Create Date : 01 มิถุนายน 2550    
Last Update : 14 มกราคม 2553 22:24:37 น.
Counter : 2927 Pageviews.  

*★.•*★*.• การดูแลแมว*★.•*★*.•


เนื้อหาได้คัดบางส่วนจากหนังสือ "รู้เรื่องแมวเมืองนอก","จิปาถะสาระแมว"

การสร้างภูมิคุ้มกันโรคและการถ่ายพยาธิ

แมวใหม่ที่นำมาเลี้ยง ควรได้รับการฉีดวัคซีนและถ่ายพยาธิให้ครบทันที

โปรแกรมวัคซีนแต่ละช่วงอายุลูกแมว

4-5 สัปดาห์ ตรวจอุจจาระ ถ่ายพยาธิครั้งแรก
7 สัปดาห์ ตรวจอุจจาระ ถ่ายพยาธิครั้งที่ 2
8 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หัดแมว โรคระบบหายใจ โรคช่องปากและลิ้นอักเสบ
10 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลูคิเมีย
12 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าและถ่ายพยาธิ
13 สัปดาห์ ฉีดซ้ำเช่นเดียวกับตอนอายุ 8 สัปดาห์
14 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลูคิเมียครั้งที่ 2
15 สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าครั้งที่ 2
5-6 เดือน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคลูคิเมียครั้งที่ 3
ทุกปี ฉีดวัคซีนซ้ำทุกอย่าง



การอาบน้ำแมว


การอาบน้ำแมวระยะเวลาที่เหมาะสมคือประมาณ 15 วัน ไม่ควรอาบน้ำให้แมวบ่อยเกินไปเพราะจะทำให้ขนแห้ง เป็นสะเก็ดและขนร่วงได้ สำหรับแชมพูที่ใช้อาบน้ำก็ควรเป็นของแมวโดยเฉพาะ และก่อนจะใช้อาบน้ำควรทดลองกับแมวก่อนว่าแมวแพ้แชมพูชนิดนั้นหรือเปล่า โดยลองใช้แชมพูนั้นฟอกเฉพาะบริเวณที่ผิวหนังอ่อนเช่น ซอกขาหนีบ หลังหู ส่วนท้ายของโคนหาง แล้วล้างน้ำออกให้หมด รอดูผล 2-5 วัน ถ้าแมวไม่มีอาการแพ้ เช่นคัน ขนร่วง มีผื่น อาเจียน ซึม ก็ใช้อาบน้ำได้ แต่ถ้าแสดงอาการก็ต้องเปลี่ยนยี่ห้อใหม่หรือขอคำปรึกษาจากแพทย์

ขั้นตอนการอาบน้ำ
ควรเริ่มอาบได้เมื่ออายุ 14 สัปดาห์ เลือกอาบวันที่อากาศแจ่มใส มีแสงแดด ไม่ควรอาบหลังจากที่แมวเพิ่งกินอิ่ม ก่อนลงน้ำใช้สำลีอุดหูแมวก่อนกันน้ำเข้าหู พูดปลอบใจพร้อมทั้งหย่อนแมวในกะละมังที่มีน้ำอุ่นเตรียมไว้ หย่อนแมวลงสักครึ่งขาในท่ายืน ถ้าแมวดิ้น ค่อยๆปลอบ ลูบตัวแมว โดยใช้มือวักน้ำลูบตัวแมวจนเปียก ถ้าอาบในช่วงแรกๆ ควรหลีกเลี่ยงการเปิดก๊อกหรือใช้สายยางฉีดที่แมวโดยตรง จะทำให้แมวตื่นกลัวมาก จากนั้นใช้แชมพูผสมกับน้ำคนให้เข้ากันแล้วจึงนำมาฟอกตัวแมว ระวังอย่าให้แชมพูเข้าบริเวณจมูกและใบหน้า ทิ้งไว้สักพักแล้วจึงล้างออก ตอนล้างอาจใช้น้ำก๊อกหรือสายยางได้ แต่ปล่อยน้ำไม่แรงมาก ล้างให้หมดอย่าให้ค้างที่ตัวเด็ดขาด จากนั้นเช็ดทำความสะอาดให้แห้งแล้วใช้ไดร์เป่าผมเป่าให้แห้งสนิท


การแปรงขนแมว


เริ่มฝึกให้แมวชินกับแมวแปรงขนตั้งแต่อายุ 12 สัปดาห์ โดยใช้แปรงขนอ่อนแปรงตามร่างกายทุกส่วนทำให้ขนดูดี ไม่จับตัวเป็นก้อน ควรทำอย่างน้อยสุดอาทิตย์ละครั้ง และควรทำความสะอาดแปรงโดยล้างแอลกอฮอล์ 70%ทุกครั้ง


การตัดแต่งเล็บ


เราควรหัดตัดเล็บให้ลูกแมวตั้งแต่ 12 สัปดาห์เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย การตัดเล็บอย่าตัดให้สั้นมาถึงส่วนที่เป็นสีชมพูเพราะมีเลือดและเส้นประสาทของแมว ควรตัดเล็บหลังอาบน้ำเพราะเล็บจะนิ่มกว่าปกติ


การทำความสะอาดใบหู


ใช้สำลีพันด้ามไม้หรือcutton bud จุ่มน้ำยาเช็ดหูเช็ดเข้าไปในช่องหูลึกเท่าที่ตามองเห็น เช็ดออกให้สะอาด ควรตรวจหาเห็บและหมัดบริเวณซอกหูด้วย ดึงออกและทำลาย แมวที่มีหมัดหรือเห็บ สังเกตได้จากแมว มักเดินคอเอียง คันและชอบเกาใบหู







 

Create Date : 31 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 14 มกราคม 2553 22:28:39 น.
Counter : 652 Pageviews.  

*★.•*★*.• สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงค่ะ*★.•*★*.•


ข้อมูลน่ารู้สำหรับมือใหม่หัดเลี้ยงแมวคัดลอกมาจากหนังสือ "จิปาถะสาระแมว", "รู้เรื่องแมวเมืองนอก" แคทอ่านดู เห็นว่าน่าจะมีประโยชน์สำหรับคนเพิ่งเริ่มหัดเลี้ยงแมวน่ะค่ะ สรุปมาให้สั้นๆ 4 หัวข้อค่ะ


การพิจารณาเพื่อเลือกซื้อแมว


เมื่อเราตัดสินใจจะซื้อแมวมาเลี้ยง สิ่งสำคัญคือการเลือกซื้อแมวให้ตรงความต้องการ+เหมาะสมของผู้เลี้ยงให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นสายพันธ์ เพศ หรืออายุของแมว

1. สายพันธ์ ผู้เลี้ยงควรทำการศึกษาลักษณะของแมวในสายพันธ์ที่ต้องการจะเลี้ยง เพื่อให้ได้แมวที่มีลักษณะถูกต้อง และมีนิสัยตรงกับความต้องการของเรา รวมถึงศึกษาการดูแลรักษาสุขภาพของแมวแต่ละพันธ์ด้วย เช่น ถ้าจะเลี้ยงแมวขนยาว ก็ต้องแน่ใจว่าจะมีเวลาทำความสะอาด แปรงขนมากกว่าแมวขนสั้น เป็นต้น



2. แหล่งที่มาของแมว ในการซื้อผู้เลี้ยงต้องมีความรู้ในสายพันธ์อย่างดี เพราะคนขายมักบอกข้อมูลไม่ตรงกับความจริงโดยเฉพาะเรื่องพันธ์แท้หรือผสม ดังนั้นก่อนซื้อแมวจึงต้องศึกษาลักษณะสายพันธ์แท้มาให้ดี หรืออาจซื้อลูกแมวที่มีประวัติ และควรได้เห็นพ่อพันธ์ แม่พันธ์ด้วยว่ามีลักษณะอย่างไร และที่สำคัญควรซื้อจากแหล่งขายที่เชื่อถือได้


3. เพศ แมวตัวผู้จะเหมาะกับเจ้าของที่ไม่ค่อยมีเวลาเอาใจสัตว์เลี้ยงมากนัก ส่วนแมวเพศเมียจะไม่ค่อยออกไปเร่ร่อนเหมือนเพศผู้ เหมาะสำหรับผู้มีเวลาว่างส่วนใหญ่อยู่บ้าน



4. สุขภาพของแมว แมวที่มีสุขภาพแข็งแรงจะต้องร่าเริง อารมณ์ดี ไม่ตกใจง่าย ดวงตาเป็นประกายไม่มีขี้ตาเกรอะกรัง จมูกไม่มีน้ำมูกหรือคราบน้ำมูก ไม่ไอหรือหายใจหอบ ปากไม่มีกลิ่น ฟันขาวสะอาด หูสะอาด ไม่มีขี้หูเป็นคราบดำ ทวารหนักสะอาด ไม่มีอุจจาระเกรอะกรัง ลำตัวไม่มีแผล สะเก็ด หรือการอักเสบของผิวหนัง ท่าทางการยืนและเคลื่อนไหวเป็นปกติตามธรรมชาติ



5. อายุ หากผู้เลี้ยงมีความพร้อม, อดทน และมีเวลาดูแลเอาใจใส่ ก็ควรเลี้ยงตั้งแต่ยังเป็นลูกแมว เพื่อฝึกสอนได้ง่าย แต่ถ้าผู้เลี้ยงยังไม่พร้อม และไม่มีเวลามากนัก ก็ควรเลือกแมวที่โตแล้วมาเลี้ยงดีกว่า สำหรับลูกแมวที่นำมาเลี้ยงควรจะหย่านมแล้ว คืออายุตั้งแต่ 8-10 สัปดาห์ขึ้นไป เพราะฝึกสอนได้ง่าย และกินอาหารจากจานเองได้แล้ว







ข้อปฎิบัติเมื่อเริ่มนำแมวมาเลี้ยง


เมื่อนำแมวใหม่เข้ามาเลี้ยง ควรปล่อยให้แมวทำความคุ้นเคยกับสถานที่ก่อน ในวันแรก แมวอาจตื่นเต้นจนไม่กินอาหาร ผู้เลี้ยงควรเอาใจใส่ อย่าดุหรือเสียงดัง ไม่ควรให้เด็กอุ้มหรือเล่นแรงๆกับแมว เพราะเด็กอาจอุ้มลูกแมวไม่เป็นทำให้แมวเจ็บหรืออาจหลุดมือ ซึ่งในลูกแมวอาจถึงกับกระดูกหักได้ ถ้าผู้เลี้ยงไม่ค่อยอยู่บ้าน ควรเลี้ยงแมว 2 ตัวไว้เป็นเพื่อนกัน แมวจะได้ไม่เบื่อหรือเหงา และ สิ่งสำคัญมากที่ผู้เลี้ยงต้องทำเมื่อนำแมวใหม่มาเลี้ยงคือ การสร้างภูมิคุ้มกันโรค และการถ่ายพยาธิ


ของใช้ที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงแมว

1. ที่ใส่น้ำ
2. ที่ใส่อาหาร
3. ส้วมแมว หรือกะบะทราย ผู้เลี้ยงควรเลือกที่เป็นพลาสติก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 14 นิ้วลึก 4 นิ้ว และมีขอบสูงเพื่อกันทรายกระจายเวลาแมวกลบ
4. ทรายอนามัย
5. ที่นอนแมว
6. ที่ลับเล็บ
7. ของเล่น เช่น ลูกบอล หนูสปริง
8. กรงสำหรับเคลื่อนย้าย ในบางครั้งที่ผู้เลี้ยงต้องพาแมวเดินทาง กรงต้องมีหูหิ้วและช่องระบายอากาศ ผู้เลี้ยงหาซื้อได้ตามร้าน pet shop ทั่วไป
9. อ่างอาบน้ำ ซึ่งจะใช้เป็นกะละมัง หรืออ่างพลาสติกสำหรับอาบน้ำเด็กก็ได้
10. แปรงหรือหวี
11. กรรไกรตัดเล็บ
12. ปลอกคอและป้ายห้อยคอ เผื่อกรณีที่แมวหลงทางจะได้มีคนพากลับมาหาเจ้าของถูก




การจัดเตรียมที่อยู่สำหรับแมว


การเลี้ยงแมวในบ้านควรมีมุมที่อบอุ่นและอากาศถ่ายเทสำหรับจัดเป็นที่ให้แมวนอน และควรหาอุปกรณ์ลับเล็บให้แมว ที่สำคัญไม่ควรกักขังแมวไว้แต่ในบ้าน ควรพาออกไปเดินเล่นนอกบ้านบ้าง เพื่อให้แมวไม่กลัวและมีสังคมกับแมวตัวอื่นบ้าง










 

Create Date : 28 พฤษภาคม 2550    
Last Update : 23 ธันวาคม 2550 21:53:14 น.
Counter : 935 Pageviews.  


เหมียวตาแป๋ว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







~สวัสดีค่ะ ยินดีที่ได้รู้จักเพื่อนๆทุกคน เพื่อนๆสามารถสอบถามเรื่องการดูแลแมวเปอร์เซีย /ลูกแมวที่แคทจะขายเป็นระยะๆ ได้นะคะ แล้วอย่าลืม comment กันด้วยนะ ขอบคุณค่ะ~





























Cat&Kittenstory
My Space
Color Codes
รวมกรอบแบบต่างๆ
แมวเหมียวของพี่เล็ก
Google
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เหมียวตาแป๋ว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.