Group Blog
 
All Blogs
 
เคล็ดลับขจัดโรคอ้วน จำเป็นแค่ไหนกับการใช้ยาลดน้ำหนัก


เมื่อความอ้วนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บตามมานับไม่ถ้วน ผนวกกับการที่องค์การอนามัยโลก (ฮู) ออกมาเตือนว่าพบประชากรน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนมากกว่า 1,000 ล้านคนทั่วโลก จากประชากรทั้งหมด 6,500 ล้านคน และผู้เป็นโรคอ้วนอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ล้านคนภายในปี 2558 จึงสร้างความวิตกถึงปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพชาวโลกอย่างมาก


ที่ผ่านมา ประเทศซึ่งร่ำรวยมักพบปัญหาดังกล่าว แต่ข้อมูลล่าสุดพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในชาติกำลังพัฒนา ผลจากแนวโน้มการรับประทานอาหารที่เน้นอาหารประกอบด้วยไขมัน เกลือ และน้ำตาล อีกทั้งการเคลื่อนไหวของร่างกายมนุษย์ลดลง ผลจากการทำงานที่มีเครื่องอำนวยความสะดวกมากขึ้น ประกอบกับการพึ่งพายวดยานในการเดินทาง


ด้วยปัญหาของโรคอ้วนดังกล่าว บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด จึงได้จัดกิจกรรมลดน้ำหนัก ขจัดความเสี่ยง "10-20-30 รีดิวซ์ อิท ฟอร์ ไลฟ์" (10-20-30 Reduce it For Life) ซึ่งจัดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและให้ความรู้โดยแพทย์และเภสัชกรผู้ทรงคุณวุฒิ ต่อด้วยการร่วมเล่นเกม และออกกำลังกายด้วยฟิตบอล พร้อมกิจกรรมแนะนำเมนูอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ที่โรงแรมปทุมวัน ปริ้นเซส


อ.ศัลยา คงสมบูรณ์เวช ที่ปรึกษาด้านโภชนาการ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กล่าวว่า การเลือกรับประทานอาหารในแต่ละมื้อขึ้นอยู่กับปริมาณแคลอรีที่เราควรจะได้ ถ้าหากเราสามารถควบคุมแคลอรีได้ เราก็จะสามารถตัดบางอย่าง แล้วเพิ่มในส่วนที่เราอยากรับประทานเข้าไปเพื่อชดเชยกัน แต่ทั้งนี้ต้องระวัง และต้องเลือกคุณภาพของอาหาร เช่น ไขมัน ควรเลือกไขมันที่ดี แต่ไขมันที่ไม่ดีส่วนใหญ่จะมาปนกับเนื้อสัตว์ ซึ่งคนจะชอบ จะบอกว่าอร่อย แต่เราควรเลือกรับประทานให้น้อยลง


"สำหรับเรื่องรสชาติของอาหาร คนไทยมักติดหวาน ซึ่งก็ต้องเติมน้ำตาล น้ำตาลก็เป็นคาร์โบไฮเดรต หากเรารับประทานในปริมาณที่มากเกิน ร่างกายจะเปลี่ยนส่วนเกินนี้ไปเป็นไขมันประเภทไตรกลีเซอไรด์ ให้ลองจินตนาการหมูสามชั้นตรงขาวๆ เวลาที่กินแล้ว กินเข้าไปเยอะๆ แล้วออกกำลังกายไปไม่หมด ก็จะสะสมเป็นไขมันไตรกลีเซอไรด์อยู่ในร่างกาย มักจะอยู่ที่พุงมากที่สุด แล้วค่อยตามมาตรงสะโพก หรือส่วนอื่นๆ แต่อ้วนลงพุงนี่ถือว่าอันตรายที่สุด" อ.ศัลยา กล่าว พร้อมแจงถึงโรคอ้วนที่เกิดขึ้นว่า สามารถแบ่งได้เป็นสองชนิด คืออ้วนบริเวณสะโพกและอ้วนลงพุง อ้วนบริเวณสะโพกส่วนใหญ่พบในผู้หญิง ในขณะที่อ้วนลงพุงมักจะพบในผู้ชาย


ทั้งนี้ไขมันบริเวณสะโพก และแขนขาก่อให้เกิดโทษต่อร่างกายได้น้อยกว่าไขมันที่สะสมในช่องท้องหรือพุง เหตุผลที่ไขมันบริเวณพุงก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าไขมันบริเวณสะโพกเนื่องจากไขมันบริเวณพุงมีการสลายตัวเป็นกรดไขมันอิสระได้ง่ายในขณะที่ไขมันบริเวณสะโพกจะมีการสลายตัวได้น้อยกว่า นอกจากนี้กรดไขมันอิสระที่สลายจากไขมันในช่องท้องจะเข้าสู่ตับโดยตรงทำให้เกิดผลเสียตามมาได้มากกว่ากรดไขมันอิสระที่สลายจากไขมันที่สะโพกและแขนขาซึ่งจะเข้าสู่กระแสเลือดตามแขนขาก่อนที่จะเข้าสู่อวัยวะภายในร่างกาย


ผลเสียของกรดไขมันอิสระที่สลายจากเซลล์ไขมันจะก่อให้เกิดภาวะตื้อต่ออินซูลินเป็นผลให้เกิดผลเสียต่างๆ ทางเมตะบอลิสมของร่างกายมากมายได้แก่ทำให้เกิดโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ระดับไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดสูง ระดับไขมันเอช-ดี-แอล คอเสลเตอรอลหรือไขมันดีมีค่าลดลง นอกจากนี้ยังเป็นผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตันและหลอดเลือดสมองตีบตันด้วย


ดังนั้น กลุ่มโรคอ้วนลงพุงหรือกลุ่มโรคเมตะบอลิก (metabolic syndrome ) จึงเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากการที่ไขมันในช่องท้องมีมากเกินไปและก่อให้เกิดระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงและไขมันในเลือดผิดปกติตามมา ซึ่งคนเอเชียมักประสบปัญหาอ้วนลงพุงกันมาก


อย่างไรก็ดี พ.ญ.รัตตินันท์ ตรีรัตน์ เจ้าของรัตตินันท์คลินิก ให้ความเห็นเรื่องโรคอ้วนว่า ปัจจุบันเราถือว่าความอ้วนเป็นโรค ไม่ใช่เป็นเรื่องของคนขี้เกียจไม่ออกกำลังกาย หรือคนรับประทานเก่ง เช่นเดียวกับคนเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ซึ่งการดูแลตัวเอง หรือปฏิบัติตัวธรรมดาอย่างเดียว ไม่ได้ทำให้เขากลับมาเป็นปกติได้ อย่างคนเป็นโรคอ้วน สำหรับคนไทยหรือคนเอเชีย หากคุณมีดัชนีมวลกายเกิน 25 (คำนวณได้จากการนำน้ำหนัก (กก.) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง) ก็เข้าข่ายเป็นโรคอ้วนแล้ว


"ถ้าผู้ป่วยอยู่ในระดับของโรคอ้วนแล้ว หมอก็จะให้คำแนะนำก่อนว่า สาเหตุที่เป็นอย่างนี้ เพราะอะไร รับประทานมื้อดึกบ่อยหรือเปล่า ถ้าเป็นเช่นนี้ ให้เพิ่มกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง เพิ่มการออกกำลังกายในแต่ละวัน ถ้าทำแล้วไม่ได้ผล น้ำหนักไม่ลง หรือไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ยาลดน้ำหนักก็จะเป็นทางเลือกหนึ่งที่ทำให้เขาควบคุมตัวเองได้ แต่ทั้งนี้หมอเองก็ต้องพิจารณาดูว่าเขารับประทานยานั้นได้ จึงจำเป็นต้องตรวจวัดร่างกายก่อน บางรายหมอจะแนะนำให้ตรวจเลือด ตรวจแล็บ ไปด้วย จะได้ดูว่าก่อนรับประทานยาตัวนี้ ผลเลือดเป็นยังไง ระดับคอเลสเตอรอล ระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่ที่เท่าไร" คุณหมอรัตตินันท์ กล่าวถึงการให้ยาลดความอ้วนแก่คนไข้ในกรณีที่จำเป็น


ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือการเลือกรับประทานอาหารอย่างถูกหลักโภชนาการ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้โรคอ้วนก็คงไม่ถามหาแล้ว


ข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์คมชัดลึก



Create Date : 01 ธันวาคม 2548
Last Update : 1 ธันวาคม 2548 14:01:00 น. 4 comments
Counter : 261 Pageviews.

 
ลดเองโดยไม่ใช้ยาดีที่สุดจะ


โดย: อินทรีทองคำ วันที่: 1 ธันวาคม 2548 เวลา:14:06:41 น.  

 
ถูกต้องนะครับ

เห็นด้วยกับความเห็นที่ 1


โดย: สวยจะสวย IP: 61.90.101.47 วันที่: 1 ธันวาคม 2548 เวลา:16:00:14 น.  

 

เคยทานยาลดความความแต่ก่อนตัวก็ไม่ได้อ้วนแต่อยากผอมแบบเพื่อน ๆ จึงไปกินยาปรากฎผลตรวจเป็นไทรอยดืและตับอักเสบและยังแถนโยโย่เพิมมาอีก จาก 48 เป็น 55 จริง ๆ นะไม่ได้โกหกลดยังไงก็"ไม่ลง


โดย: คนเคยกินยาลดความอ้วน IP: 124.120.2.37 วันที่: 17 มีนาคม 2552 เวลา:18:32:16 น.  

 

เคยทานยาลดความความแต่ก่อนตัวก็ไม่ได้อ้วนแต่อยากผอมแบบเพื่อน ๆ จึงไปกินยาปรากฎผลตรวจเป็นไทรอยดืและตับอักเสบและยังแถนโยโย่เพิมมาอีก จาก 48 เป็น 55 จริง ๆ นะไม่ได้โกหกลดยังไงก็"ไม่ลง


โดย: คนเคยกินยาลดความอ้วน IP: 124.120.2.37 วันที่: 17 มีนาคม 2552 เวลา:18:32:36 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

memory_lady
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add memory_lady's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.