Group Blog
 
All Blogs
 

เชิญร่วมชมนิทรรศการ โอ้ว...Degree Project 17 เมษยน 2552 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นิทรรศการ โอ้ว..Degree Project


17 เมษยน 2552 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพก่อตั้งเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2532 ได้ก่อตั้งขึ้นเป็นคณะลำดับที่ 8 ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในปีการศึกษา พ.ศ. 2538 คณะฯได้ทำการปรับหลักสูตรของคณะให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในขณะนั้น รวมทั้งได้ขออนุมัติเปิดสอนอีก 1 สาขาวิชาคือ ภาควิชาทัศนศิลป์ ซึ่งมุ่งเน้นในการเรียนการสอนเพื่อให้นักศึกษาเข้าใจ และผลิตงานศิลปะได้อย่างมีคุณภาพอ และส่วนหนึ่งที่สำคัญของหลักสูตรในภาควิชานี้ก็คือ การจัดการนิทรรศการ เพื่อนำผลงานที่สร้างไว้นำออกเผยแพร่สู่สาธารณะได้อย่างมีระบบ และมีแบบแผน

โอ้ว… Art Exhibition Degree Project 2009 ของนักศึกษา ชั้นปีที่ 4 ภาควิชาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีชื่อเต็มว่า นิทรรศการ โอ้ว…(แง่ว งะ กึ๊บ เฮ้อ หือ ตี๊ด ฮึ๊ย ชุ่ม ลุ่ม อูยว์ ค๊า หฉี) ถึงอาจจะฟังดูแปลกประหลาดในความคิดของคนส่วนมาก แต่แนวคิดของการจัดตั้งชื่องานนิทรรศการครั้งนี้ กลับสอดคล้อง เชื่อมโยง กับผลงานของกลุ่มนักศึกษาทั้ง 14 คน การเลือกผลิตผลงานของกลุ่มนักศึกษาในโครงการนี้จึงมีการใช้สื่อหลากหลายรูปแบบ แต่สิ่งหนึ่งที่สามารถเชื่อมโยงความหมายของผลงานของนักศึกษาทั้ง 14 คนไว้ก็คือ ความรู้สึกภายในจากประสบการณ์ที่ต่างคนต่างได้รับ และได้เรียนรู้ นำมาแปรเปลี่ยนให้เป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมขึ้น จึงเห็นได้ว่าแม้จะมีแนวความคิดที่แตกต่างกัน ดั่งเช่น คำพูดที่เปล่งออกมาจากแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แต่นั่นมันก็เป็นสิ่งที่ถูกขับออกมาจากความคิด และความรู้สึกภายในของแต่ละคนออกมา ซึ่งสอดคล้อง และร้อยเรียงกันเป็นหนึ่งเดียวในโครงการของ นิทรรศการ โอ้ว… Art Exhibition Degree Project 2009





ผลงานของนักศึกษาทั้ง 14 ท่านในโครงการ


ชื่อศิลปิน นายอริยธัช พาสนยงภิญโญ
ชื่อผลงาน รถแห่งฝัน
สื่อที่ใช้ Mixed Media
แนวคิด เป็นการสร้างสังคมด้วยรถที่ทำเป็นผลงาน Art Car และวิ่งออกสู่สังคม เพื่อทำกิจกรรมร่วมกับผู้ชมภายใต้คำว่า “ศิลปะ”





ชื่อศิลปิน นายนวพล จิรรัตนธรรม
ชื่อผลงาน เจ้าหญิงน้อยกับครอบครัวในอุดมคติ
สื่อที่ใช้ Photography
แนวคิด ในชีวิตความเป็นจริงของข้าพเจ้าไม่มีใครในครอบครัวที่ยอมรับความเป็นเพศที่สามของข้าพเจ้าได้ ด้วยเหตุนี้ทำให้ข้าพเจ้าต้องการหลีกหนีโลกความจริงไปสู่โลกแห่งความฝัน อันเป็นโลกแห่งเทพนิยายของข้าพเจ้าเองโดยข้าพเจ้าเลือกใช้มายาคติแบบเจ้าหญิงในเทพนิยายมาใช้กับความต้องการเป็นผู้หญิงในอุดมคติที่ข้าพเจ้าใฝ่ฝัน เพื่อเป็นการชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปในชีวิตข้าพเจ้า จึกเลือกใช้สื่อศิลปะภาพถ่ายบอกเล่าถึงความรู้สึกและจินตนาการ





ชื่อศิลปิน นายโกสินทร์ ถนัดค้า
ชื่อผลงาน Shower
สื่อที่ใช้ Drawing
แนวคิด ลักษณะทางกายภาพของวัตถุ และสิ่งมีชีวิต สังขารที่เปราะบาง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ถูกกระทำจากการดำเนินไปของเวลา





ชื่อศิลปิน นายพงศกร ธนวงษ์ชัย
ชื่อผลงาน The Richman Toy
สื่อที่ใช้ installation art
แนวคิด ข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่าเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ มันเป็นแค่เกมส์ของนักการเมืองเท่านั้น





ชื่อศิลปิน นายพร้อมบุญ ชุณห์ช่วงโชติ
ชื่อผลงาน Question 2009
สื่อที่ใช้ Video art
แนวคิด มาจากสภาวะตึงเครียด การบีบคั้น และการกดดันอยู่บ่อยครั้ง จึงใช้สภาวะเหล่านี้มาทำเป็นงาน Video Performance และมองย้อนกลับไปเป็นเรื่องขำขัน





ชื่อศิลปิน นายธีรวัต กอบกิจวัฒนา
ชื่อผลงาน I will be a super hero no.6
สื่อที่ใช้ Drawing
แนวคิด ปมที่อยู่ภายในเกี่ยวกับความไม่พอใจในรูปร่างของตนเอง และต้องการจะเปลี่ยนรูปร่างของตนเองไปสู่สิ่งที่ดีกว่า





ชื่อศิลปิน นายพีระพัฒน์ หิรัณยเลขา
ชื่อผลงาน Untitled
สื่อที่ใช้ Mixed Media
แนวคิด ต้องการสร้างสรรค์งานจิตรกรรม ที่เปิดกว้างมากขึ้นจากแบบประเพณีนิยม โดยได้รับแรงบันดาลใจ มาจากสีของรถยนต์ที่ดูเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีราคาในเชิงของวัสดุ รวมถึงความชอบส่วนตัวของกระบวนการทำสีรถยนต์ จึงใช้กระบวนการเทคนิคของการทำสีรถยนต์บางส่วนมาใช้เป็นการสร้างพื้นผิว และสี ซึ่งแสดงออกถึงความรู้สึกภายใน และจิตใต้สำนึก พยามถ่ายทอดบุคลิกภาพ พฤติกรรม และความรู้สึกของตนเอง โดยใช้ทั้งสี และเทคนิคเพื่อให้ผู้ชมรับรู้ถึงความงาม





ชื่อศิลปิน นายอเนก เพิ่มแสงสุวรรณ
ชื่อผลงาน Back to my memoried
สื่อที่ใช้ Drawing
แนวคิด เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นที่โรงงานผลิตรองเท้าของข้าพเจ้า มันเป็นประสบการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในชีวิต หลังเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้บิดาของข้พเจ้าได้ให้ข้าพเจ้าไปถ่ายภาพเพื่อเป็นหลักฐานให้กับทางบริษัทประกันภัย ขณะที่ถ่ายภาพข้าพเจ้ารู้สึกถึงความเสียหายไม่ใช่แค่ตัวโรงงานเท่านั้น แต่มันยังทำให้ชีวิตครอบครัวของข้าพเจ้าเปลี่ยนไป ข้าพเจ้าจึงใช้งานศิลปะแบบ “วาดเส้น” เพื่อสื่อถึงความรู้สึกเหล่านี้ และใช้ผลงานเป็นตัวแทนแสดงอารมณ์และความรู้สึกที่มี





ชื่อศิลปิน นายอณากร พงษ์ประยูร
ชื่อผลงาน รองเท้าบูทของพ่อ
สื่อที่ใช้ Drawing
แนวคิด อยู่บนพื้นฐานของเรื่องราวในประสบการณ์ ความทรงจำในห้วงเวลาหนึ่งที่ประทับใจ แนวคิดดังกล่าวถูกนำเสนอผ่านการวาดเส้น โดยใช้วัตถุ เป็นการแทนหรือชี้นำความคิด ความทรงจำ ที่ต้องการนำเสนอ





ชื่อศิลปิน นายประกาศิต ณ จรัสวงษ์
ชื่อผลงาน จับปูใส่กระด้ง
สื่อที่ใช้ sculpture
แนวคิด วัตถุศิลปะ (object) ที่มีกลไลขยับและเคลื่อนไหวได้ มาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ชอบนำของเล่นประเภทเครื่องยนต์กลไกต่างๆ มาดัดแปลงประกอบสร้างขึ้นมาใหม่ ข้าพเจ้าต้องการนำเสนอเรื่องราวที่สะท้อนความเสื่อมโทรมของสังคม ผ่านการอุปลักษณ์ การแสดงออกผ่านบุคลิกภาพของวัตถุ และการสร้างเรื่องราวประกอบตัวผลงาน





ชื่อศิลปิน นายต้นข้าว ขวัญนาค
ชื่อผลงาน เก้าอี้, ตู้ลิ้นชัก
สื่อที่ใช้ sculpture
แนวคิด “ของที่หายไป” เป็นการสร้างสรรค์เพื่อนำเสนอมุมมองของความงามที่แตกต่างกัน ในเวลาเดียวกันของโลก 2 โลก คือโลกของความเป็นจริง และโลกแห่งแบบจำลองความเป็นจริง ข้าพเจ้าแต่งเติมโลกของความเป็นจริง (ความลึก) ให้กับภาพวาดโครงสร้างแบบ 2 มิติ จนเกิดเป็นผลงานประติมากรรม ที่ผู้ชมสามารถรับรู้ถึงความงามของโลกทั้ง 2 ใบได้





ชื่อศิลปิน นางสาวอาภาภร เกิดโภคทรัพย์
ชื่อผลงาน ของฉัน, ของเธอ
สื่อที่ใช้ sculpture
แนวคิด “ความรัก ความทรงจำ กับสิ่งที่ยังอยู่” สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่า และความสำคัญของความรัก ตุ๊กตาปันปัน และยาว อาจเป็นตัวแทน เป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ สิ่งที่งดงามของความรัก ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในความทรงจำของข้าพเจ้า





ชื่อศิลปิน นายอุเทน แวววับ
ชื่อผลงาน The Shadows
สื่อที่ใช้ Video art
แนวคิด ข้าพเจ้าชื่นชอบการฟังเพลง การแต่งตัว การเล่นดนตรี จึงคิดอยากลอกเลียนแบบศิลปินที่ชื่นชอบ การสร้างมายาภาพเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการสร้างฝันของตัวข้าพเจ้า ในการก้าวไปสู่จุดเดียวกันกับ idol ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจของตัวข้าพเจ้าเอง ด้วยเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ข้าพเจ้าก้าวไปสู่จุดที่ต้องการได้รวดเร็วขึ้น และสามารถก้าวไปสู่การพัฒนาในขั้นต่อไป





ชื่อศิลปิน นายทรรศน หาญเรืองเกียรติ
ชื่อผลงาน Strength / Behaviour / Subconscious
สื่อที่ใช้ Video Art
แนวคิด แรงขับดันทางเพศ จะสะท้อนให้เห็นความรู้สึกนึกคิดของคนๆ นั้น ในเรื่องจินตนาการทางเพศ (Sexual fantasies) และการแสดงพฤติกรรม เมื่อสังคมมีการติดต่อสื่อสารกันหลายรูปแบบ ทั้งสิ่งพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต มักมีการนำเสนอเรื่องทางเพศร่วมด้วยเสมอ ผลงานในโครงการนี้จึงนำเสนอมุมมองในเรื่อง พลังที่เกิดจากแรงขับดันทางเพศที่อยู่ในจิตใต้สำนึกของเพศชาย โดยนำเสนอความสวยงามของผลงานทางด้านภาพที่ถ่ายทอดเรื่องราว พฤติกรรมทางด้านเพศ ผ่านมุมมองในเชิงสัญลักษณ์ และการแสดงออกในรูปแบบของงาน Video Performance เพื่อสื่อสารต่อผู้ชมผลงานว่า สิ่งเหล่านี้แท้จริงแล้วให้ความรู้สึกที่ยากในการยอมรับ และกระทบกระเทือนต่อทัศนคติต่อผู้ชมงานได้มากน้อยเพียงใด





ความเปิดกว้างของสื่อนานารูปแบบที่ศิลปินแบบฉบับ ม. กรุงเทพฯ เหล่านี้เลือกใช้เปิดความคิดสำหรับการสร้างสรรค์งานศิลปะ ได้สร้างอัตลักษณ์ที่โดดเด่นของพวกเขาให้เกิดขึ้น พร้อมๆ กันกับขยายเขตแดนของพื้นที่ศิลปะออกมาสู่จุดที่อาจเรียกว่าได้ศิลปะสามารถเป็นอะไรก็ได้ และประหนึ่งว่าได้เชื่อมโยง หรือมุ่งไปสู่การเข้าถึงผู้ชม ผู้คนในสังคมให้มากขึ้น แต่กระนั้นก็ตามการที่ศิลปะสามารถเป็นอะไรต่างๆ นานา สร้างจุดอ่อนให้กับผลงานศิลปะของพวกเขาเช่นกัน หลายๆ ครั้งที่สังเกตได้ว่าผลงานของนักเรียนศิลปะหรือศิลปินรุ่นใหม่ที่จบจากที่นี่ เหมือนจะขาดทักษะและความชำนาญต่อสื่อที่เลือกใช้ และเมื่อประกอบเข้ากับแนวคิดที่คลุมครือ ไม่ชัดเจน บางครั้งผู้ชมหรือผู้สอนก็เกิดอาการสับสน แยกไม่ออกว่าสิ่งที่เห็นตรงหน้านี้คือ ศิลปะหรืออะไร ในเมื่อมันก็ไม่ได้ต่างอะไรไปกับสิ่งของที่เห็นได้ทั่วไปตามท้องตลาดหรือกลับกลายเป็นเพียงว่าสิ่งที่สร้างขึ้นนั้นถูกเรียกว่าศิลปะ เพียงเพราะผู้สร้างเรียกตนเองว่านักเรียนศิลปะ ว่าที่ศิลปิน หรือศิลปินรุ่นใหม่ร่วมสมัยกับสื่อนานา...

เมื่อศิลปะเดินมาถึงจุดนี้ บนเส้นทางของเปลี่ยนแปลง ความเป็นไปได้อย่างไร้ขอบเขต ผู้ชมส่วนใหญ่จึงยังไม่เข้าใจ ตามไม่ทัน เพราะแม้แต่ศิลปะแบบเก่า(Conventional Art) ก็ยังไม่ทันได้เข้าใจหรือเรียนรู้ เมื่อต้องก้าวกระโดดมาถึงศิลปะร่วมสมัยจึงไม่ใช่ก้าวเล็กๆ ที่จะสอบผ่านไปได้ง่ายนัก ทำให้เราเห็นเพียงกลุ่มคนกลุ่มเดิมๆ ซึ่งไม่เป็นศิลปิน เพื่อนศิลปิน คนทำงานในวงการศิลปะ หาใช่ผู้ชมสาธารณะทั่วๆ เดินเข้ามาชมผลงานนิทรรศการต่างๆ ในหอศิลป์ตามพื้นที่กรุงเทพมหานคร สิ่งที่เกิดขึ้นนี้น่าจะเป็นคำถามย้อนกลับมาที่สถาบันการศึกษา หรือหอศิลป์ต่างๆ ที่จัดแสดงงาน ว่าจะทำอย่างไร? กอ. กลับไปเพิ่มทักษะให้นักเรียนศิลปะกันใหม่ก่อน ขอ.เลือกสร้างวิธีสื่อสารแบบใหม่กับคนดูให้เป็นไปได้มากขึ้น คอ.ทำทุกอย่างอย่างรวมกัน หรือ งอ. ก็ปล่อยให้เป็นไปแบบที่เป็นอยู่




 

Create Date : 15 เมษายน 2552    
Last Update : 15 เมษายน 2552 22:24:22 น.
Counter : 1331 Pageviews.  


Matt_Doraemon
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add Matt_Doraemon's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.