Group Blog
 
All Blogs
 

เหตุเกิดเมื่อลูกป่วย

คนเป็นพ่อ เป็นแม่มักทุกข์...กังวลใจเมื่อเห็นลูกรักต้องล้มป่วย นอนซมอยู่กับเตียง ไม่ร่าเริง สดใส ซุกซน ดื้อ งอแงเหมือนเช่นก่อน

จำได้ว่า ครั้งแรกเมื่อลูกชายคนโตป่วยเป็นไข้หวัดตั้งแต่อายุไม่ครบขวบ ผมกับสาวข้างกายเครียดจนกินนอนไม่ได้ ห่วงกังวลสารพัดอย่าง พวกเราผลัดกันใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นคอยเช็ดตัวให้เจ้าตัวน้อยคลายร้อนจากพิษไข้

แต่นั่นยังไม่เท่าไหร่ครับ...ตอนลูกชายคนเล็กป่วยในช่วงวัย 3 เดือนเศษนี่สิ เรื่องใหญ่กว่าเยอะ เพราะต้องไปให้พยาบาลดูดเสมหะจากปอด ช่วงที่ต้องใช้ผ้าห่อมัดเจ้าตัวเล็กไม่ให้ดิ้นแล้วพยาบาลสอดสายยางเข้าไปในหลอดลมเพื่อสูดเสมหะออกมา ห้วงเวลานั้น ทรมานใจผมมาก เพราะต้องคอยกดตัวไม่ให้เจ้าตัวเล็กดิ้น เสียงแผดร้องของลูกดังก้องไปทั่ว

วินาทีนั้นน้ำตาของผมเอ่อคลอเบ้า สงสารลูกจับจิต อยากเจ็บแทนลูกเสียเหลือเกิน ส่วนคู่ชีวิตผมเธอหลบไปร้องโฮแต่แรกแล้ว

แต่อย่างว่าละครับ เด็กตัวน้อยกับอาการเจ็บไข้ได้ป่วย หรืออาการบาดเจ็บ หกล้ม เข่าแตก หัวแตก ดูเป็นเรื่องธรรมดา พ่อแม่ทุกคนต้องเจอกับสภาพเช่นนี้

ตอนสมัยผมยังเรียนปริญญาเอกอยู่ในออสเตรเลีย เวลาลูกป่วยผมจะคอยผลัดเปลี่ยนกับคู่ชีวิตดูแลเจ้าตัวเล็ก แต่พอเรียนจบ เดินทางกลับมาทำงานในเมืองไทย หน้าที่ดูแลอาการป่วยไข้ถูกมอบ หมายให้กับผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านแต่เพียงผู้เดียว...แหะ..แหะ...เธอคือหญิงข้างกายผมนั่นเอง เพราะผมต้องทำงานอยู่นอกบ้าน

เรื่องราวดำเนินไปเช่นนี้ตลอดมา จนกระทั่งเมื่อสัปดาห์ก่อน สตรีผู้ยิ่งใหญ่ในบ้านล้มป่วยด้วยโรคหวัดก่อนจะแพร่ระบาดไปสู่ลูกๆ เหตุเพราะลูกชายจอมซนทั้งคู่ไม่ยอมอยู่ห่างกายแม่ของเขาสักคืน ทำให้ทั้งบ้านเต็มไปด้วยเสียงไอ และคนป่วย

ผม...ในฐานะผู้ชายเข้มแข็ง รอดพ้นจากการเบียดเบียนของโรค จึงต้องโดดงาน ลาหยุด แวบจากที่ทำงานกลับบ้านก่อนเวลาเพื่อมาดูแลลูกเมียเป็นระยะๆ ต้องคอยป้อนข้าวป้อนยาเจ้าตัวเล็ก ซึ่งเฮี้ยวมากกว่าเดิม ต้องคอยตื่นกลางดึกมาเช็ดเนื้อเช็ดตัวให้ลูกเมียเพื่อลดไข้ ฯลฯ

ถึงตรงนี้ทำให้ผมฉุกคิดว่า ในครอบครัวยุคใหม่ ถ้าทั้งพ่อแม่ต่างต้องออกไปทำงานนอกบ้าน เพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เมื่อลูกตัวน้อยๆล้มป่วยฉุกเฉิน ใครต้องลาหยุด ทิ้งงานของตนเองมาดูแลลูก

แน่นอนครับว่า หลายคนอาจจะตอบทันทีว่า เรื่องนี้ต้องเป็นหน้าที่แม่ เนื่องจากเป็นบทบาทของฝ่ายหญิงในการดูแลลูกและครอบครัว

แต่ช้าก่อนครับ...นั่นใช่ความคิดของผู้คนในยุคสิทธิหญิงชายเท่าเทียมกันหรือ ?

นักสตรีศึกษา หรือเหล่าเฟมินิสต์อาจค้อนตาเขียว แล้วตั้งเป็นประเด็นศึกษาถึงความเท่าเทียมในการดูแลบุตรก็ได้

ลองมาดูงานวิจัยของประเทศสหรัฐอเมริกา สังคมซึ่งเชื่อกันว่า สิทธิหญิงชายเท่าเทียมกันมากที่สุดในโลกดูบ้างนะครับว่า ต่อประเด็นนี้เขาคิดเห็นกันอย่างไร

David Maume ศาสตราจารย์ประจำคณะสังคมวิทยา แห่ง University of Cincinnati ได้ศึกษา วิจัยแล้วพบว่า ถึงแม้ปัจจุบันบทบาทของฝ่ายชายเข้าไปเกี่ยวข้องกับกิจกรรมในครอบครัวมากขึ้น ขณะเดียวกันฝ่ายหญิงมีบทบาทออกไปทำงานนอกบ้านมากขึ้นกว่าคนยุคก่อน แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายชายยังมีทัศนคติเกี่ยวกับการรับผิดชอบต่องานประจำนอกบ้านมากกว่าภาระงานในครอบครัว

“ในครอบครัวชาวอเมริกัน ซึ่งทั้งฝ่ายชายและหญิงต่างทำงานนอกบ้าน เมื่อลูกป่วยฉุกเฉิน หรือเกิดเหตุด่วน อาทิ โรงเรียนปิด ฯลฯ ทำให้ลูกตัวน้อยจำต้องอยู่บ้านนั้น จากการวิจัยพบว่า ผู้หญิงในกลุ่มตัวอย่าง 813 คน มีถึงร้อยละ 77.7 บอกว่า จะรีบลางานเพื่ออยู่ดูแลลูกที่บ้าน ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างฝ่ายชายจำนวน 599 คน มีเพียงร้อยละ 26.5 เท่านั้น บอกว่าจะลางานมาอยู่กับลูก”

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถึงแม้สังคมจะพัฒนาขึ้น ผู้ชายเข้ามาแชร์บทบาทของผู้หญิงในการเลี้ยงดูบุตร หรือทำงานบ้านมากขึ้น แต่เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินอย่างการเจ็บป่วยของลูก ฝ่ายชายส่วนใหญ่ยังคงมีทัศนคติแบบเดิมคือ งานนอกบ้านมีความสำคัญเหนือครอบครัว ในขณะที่ฝ่ายหญิงแม้ว่าจะทำงานนอกบ้าน แต่จะคำนึงถึงครอบครัวก่อน

อันนี้เป็นตัวเลขจากงานวิจัยของสหรัฐฯนะครับ เชื่อว่าถ้ามาทำวิจัยในประเทศไทย ผลคงไม่แตกต่างกัน มิหน่ำซ้ำตัวเลขฝ่ายชายซึ่งเห็นความสำคัญของครอบครัวเหนือกว่างานอาจจะน้อยกว่านี้ก็ได้ เพราะค่านิยมดั่งเดิมของไทยยังโยนภาระในครอบครัวทุกอย่างให้กับฝ่ายหญิงเพียงอย่างเดียว

แต่เรื่องนี้มันแฟร์แล้วหรือครับ...ผมอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้

ในครอบครัวที่ฝ่ายหญิงทำหน้าที่แม่บ้าน ฝ่ายชายทำงานนอกบ้านแต่เพียงฝ่ายเดียว การดูแลลูกน้อยยามเจ็บป่วย อาจจำต้องผลักภาระหลักให้ฝ่ายหญิง แต่ฝ่ายชายสามารถลดทอนความเหนื่อยล้าของภรรยาได้ ด้วยการรีบกลับบ้าน หรือปฏิเสธงานสังคมบางอย่าง บอกเล่าเรื่องราวปัญหาเจ็บป่วยของลูกกับเพื่อนร่วมงาน ขออนุญาตหัวหน้างานลากลับมาอยู่เป็นเพื่อนลูกเมีย ช่วยเหลือกันดูแลลูกให้หายเจ็บไข้

ส่วนครอบครัวที่ทำงานนอกบ้านกันทั้งคู่ อาจจะต้องผลัดกันลาหยุดเพื่อดูแลลูกน้อย อย่าปล่อยให้การดูแลลูกเป็นภาระของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ครับ...นี่คือบทเรียนส่วนตัว ที่ผมเก็บตกได้ในวันลูกป่วยเมียเจ็บ

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 48 เดือน ธันวาคม 2551





 

Create Date : 11 ธันวาคม 2551    
Last Update : 11 ธันวาคม 2551 18:21:14 น.
Counter : 721 Pageviews.  

อนุบาลแนวไหนดี

คำถามว่า “จะเลือกโรงเรียนอนุบาลแนวไหนให้ลูกดี” ไม่เคยอยู่ในหัวของผมมาก่อน ด้วยตอนแรกเข้าใจเอาเองว่า โรงเรียนอนุบาลที่ไหนๆคงเหมือนๆกัน

นั่นคือ เน้นให้เด็กได้เล่นสนุก หัดอ่าน หัดเขียน หัดนับตัวเลข เหมือนสมัยผมยังเป็นเด็กตัวน้อยๆ

แต่ปรากฏว่าผมคิดผิดครับ

เพราะทันทีที่ผมเตรียมหาโรงเรียนอนุบาลให้กับลูกชาย บรรดาเพื่อนฝูง ผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งมากประสบการณ์ในการเป็นพ่อแม่ได้ให้คำแนะนำหลากหลาย

“ให้เข้าโรงเรียนอนุบาลนี้สิ ของเขาเน้นวิชาการ เด็กๆทุกคนเรียนจบไปรับรองเข้าโรงเรียนดังๆได้แน่ๆ”

“ไปเข้าที่นี่สิ ลูกสาวเรียนอยู่อนุบาล3 อ่านหนังสือออก เขียนหนังสือคล่องเลยแหละ”

“เรียนแนวเตรียมความพร้อมดีกว่า ลูกจะได้ไม่เครียด โตขึ้นจะได้มีสุขภาพจิตดี”

คำแนะนำจากผู้หวังดีสารพัดรูปแบบ ทำให้ผมต้องมาพูดคุยกับหญิงสาวคู่ชีวิตว่า ลูกของเราเหมาะจะเริ่มต้นการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ด้วยปรัชญาการศึกษาแบบไหนกันแน่

เราทั้งคู่เรี่มจากการค้นคว้าองค์ความรู้เรื่องแนวการศึกษาจากหนังสือหลากหลายเล่ม ค้นหาอ่านจากข้อมูลในอินเทอร์เนต สอบถามพูดคุยกับผู้รู้ เหล่านักวิชาการด้านเด็กปฐมวัย ทำให้อดตกตะลึงไม่น้อยเมื่อรู้ว่า หากแบ่งจำแนกประเภทโรงเรียนอนุบาลตามปรัชญาการศึกษาแล้ว มีอยู่หลากหลายทีเดียว ทั้งแนววิชาการ แนวมอนเตสซอรี แนววอลดอร์ฟ แนวนีโอฮิวแมนนิส แนวพหุปัญญา แนวพุทธ ฯลฯ

แต่อาจจะพอแบ่งแบบคร่าวๆได้ 2 อย่าง คือ แนวกระแสหลัก เน้นการเรียนรู้เชิงวิชาการ กับแนวทางเลือก เน้นการเตรียมความพร้อม

ในโรงเรียนอนุบาลกระแสหลัก แนววิชาการนั้น เป็นรูปแบบจัดการเรียนการสอนแต่เดิม ด้วยเชื่อว่าเด็กมีศักยภาพในการเรียนรู้ได้เต็มที่ ดังนั้นควรเร่งสอนให้เด็กสามารถหัดอ่าน หัดเขียน หัดบวกลบเลขให้ได้โดยเร็ว เพื่อจะสามารถเรียนรู้เพิ่มขีดความสามารถของสมองให้กว้างขึ้น

โรงเรียนแนวนี้มีตั้งแต่แนวติวเข้มประเภทวางเป้าให้เด็กสามารถสอบเข้าโรงเรียนชื่อดังต่างๆ ทั้งในเครือคาทอลิก หรือเครือสาธิตฯให้ได้ ครูจะเน้นสอนให้เด็กเขียน อ่าน วันละหลายหน้า ให้ทำโจทย์ข้อสอบ แบบฝึกหัด บ่อยๆ มีการบ้านให้เด็กทำ

หรือประเภทโรงเรียนเน้นวิชาการแบบอ่อน มีผสมผสานให้เด็กร้องรำทำเพลง มีการละเล่น เฮฮา สนุกสนาน เล่นเกมส์บ้าง แต่ยังมีการเน้นให้เด็กหัดเขียน อ่าน ผสมคำ ฝึกบวกลบเลข

ส่วนโรงเรียนอนุบาลทางเลือก แนวเตรียมความพร้อม จะเน้นพัฒนาศักยภาพของเด็ก โดยนำเอาความต้องการของเด็ก ความสุข ของเด็กเป็นศูนย์กลาง

โรงเรียนประเภทนี้ จะแยกย่อยไปอีกหลายรูปแบบตามปรัชญาการศึกษา แต่โดยทั่วๆไปจะเน้นให้เด็กได้ฝึกทักษะด้านต่างๆ ทั้งฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็ก มัดใหญ่ ผ่านการเล่นเกมส์ วาดรูป ปั้นดินน้ำมัน หัดร้องเพลง กระโดดโลดเต้น เล่านิทาน ฯลฯ กิจกรรมหลากหลายจะถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านความสนุก มากกว่าจะเน้นการหัดอ่าน หัดเขียนเพียงอย่างเดียว

หลังจากหาข้อมูลมาพอสมควร ผมและสาวข้างกายเห็นพ้องต้องกันว่า ลูกชายแสนซนของเราน่าจะเหมาะกับโรงเรียนแนวเตรียมความพร้อมมากกว่าแนววิชาการ เพราะเราอยากเห็นลูกมีความสุขในการเรียนรู้มากกว่าจะต้องเครียดกับการเรียนเหมือนสมัยเรายังเล็ก

อืม...อันที่จริงผมอยากหาโรงเรียนแบบ “โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง” หนังสือเยาวชนญี่ปุ่นเล่มโปรดของผม โรงเรียนของโต๊ะโตะจังมีคุณครูเข้าใจในธรรมชาติของเด็ก ให้เด็กได้เรียนรู้โลกกว้างโดยไม่จำกัดแค่ห้องเรียนสี่เหลี่ยมและในตำรา

จำได้ว่า เมื่อแรกอ่านหนังสือเล่มนี้ผมฝันอยากกลับเป็นเด็ก กลับไปใช้ชีวิตวัยเยาว์ในสภาพการเรียนการสอนแบบของโต๊ะโตะจัง

ดังนั้น เมื่อถึงคราวหาโรงเรียนให้ลูก ผมไม่รีรอจะหาโรงเรียนในรูปแบบใกล้เคียงกับโรงเรียนของโต๊ะโตะจังให้มากที่สุด

แน่นอนครับว่า การให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนแนวเตรียมความพร้อมในวันนี้ แม้จะมีคนเข้าใจการเรียนการสอนในแนวนี้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่กระแสสังคมส่วนใหญ่ของไทยยังตั้งข้อกังขา และเปรียบเทียบเด็กจากการเรียนรู้ 2 แนวทางอยู่ตลอดเวลา ประเภทที่ว่า

“อายุเท่ากันแท้ๆ เรียนอยู่อนุบาล 2 เหมือนกัน ทำไมเด็กคนนั้นเขียนหนังสือสวย อ่านหนังสือคล่องแล้ว ลูกของเธอถึงยังเขียนชื่อตัวเองไม่ได้เลย”

“โรงเรียนให้เล่นเกมส์ทั้งวัน ไม่ยอมสอนอะไรเลย อย่างนี้จะไปสอบเข้าโรงเรียนอื่นได้อย่างไร”
“ไปเข้าป.1 โรงเรียนเขาเน้นวิชาการกันจะเรียนทันเพื่อนหรือ คนอื่นเขาบวกลบเลขได้แล้วนะ”

ครับ...คนเป็นพ่อแม่ หากตัดสินใจส่งลูกไปเรียนโรงเรียนแนวเตรียมความพร้อม คงต้องมั่นคงในหลักปรัชญาการศึกษาแนวนี้หน่อยนะครับว่า การเตรียมให้ลูกมีความพร้อมในทักษะการเรียนรู้ด้านต่างๆ ฝึกการพัฒนาทักษะทั้งทางกาย ใจ ความคิด จินตนาการ ย่อมเป็นรากฐานอันดีในการเรียนรู้ขั้นสูงต่อไป

เสมือนปูฐานรากอันมั่นคงให้ความใฝ่เรียนรู้ของลูกได้เติบใหญ่ขึ้นไปอย่างมีความสุข

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 47 เดือน พฤศจิกายน 2551




 

Create Date : 08 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2551 21:30:33 น.
Counter : 2770 Pageviews.  

เมื่อลูกถูกรังแก

เย็นวันหนึ่ง เมื่อผมกลับถึงบ้าน ยังไม่ทันได้วางกระเป๋าทำงาน หญิงสาวคู่ชีวิตวิ่งตรงมาหา พร้อมฉุดข้อมือขอคุยด้วย หน้าตาของเธอในยามนั้นเคร่งเครียดจริงจัง แววตาคลอฉ่ำด้วยหยดน้ำ เธอถามว่า “ลูกถูกรังแกที่โรงเรียน จะทำอย่างไรดี”

วูบแรกที่ได้ยิน ผมตกตะลึงเล็กน้อย เพราะลูกอายุเพียง 4 ขวบเศษ เรียนอยู่อนุบาล 2 เท่านั้น

หลังจากตั้งสติ ผมค่อยๆสอบถามเรื่องราวจึงรู้ว่า ลูกถูกเพื่อนร่วมห้องคนหนึ่งรังแก บางครั้งถูกชก ถูกตี ถูกหยิก ฯลฯ โดยเฉพาะเมื่อตอนครูให้นั่งด้วยกัน หรือตอนให้เดินจูงมือไปมา อย่างไรก็ตามเพื่อนจอมเกเรคนนี้ไม่ได้รังแกเฉพาะลูกของเราเท่านั้น แต่ยังทุบตีเด็กอื่นในห้องเป็นประจำ

สาวข้างกายผมบอกว่า “...เห็นรอยช้ำตรงท่อนแขนลูกเลยถามว่าไปชนอะไรมา ลูกอ้ำๆอึ้งๆซักไซ้ไปมาจนบอกว่าโดนเพื่อนที่โรงเรียนต่อย ได้ยินตอนแรกรู้สึกเจ็บแทนลูก จนอยากร้องไห้ อยากไปกระชากเด็กจอมเกเรคนนั้นมาลงโทษเอง เธอว่าฉันควรไปบอกครูประจำชั้นให้เขาจัดการดีไหม...”

หลังจากคิดทบทวนเรื่องราวอยู่ชั่วครู่ ผมนึกย้อนไปสมัยตัวเองยังเด็ก เรื่องชกต่อยถูกแกล้ง ถูกรังแก หรือไปแกล้งรังแกคนอื่นดูจะเป็นเรื่องปกติของเด็กผู้ชายซนๆ การเจ็บตัว หรือเขียวช้ำ ปูดแตกเลือดไหลเป็นเรื่องธรรมดา

นอกจากนั้นในช่วงชีวิตของเรา หรือของลูก อาจจะเจอกับคนแบบ “ไจแอ้นท์” จากการ์ตูนเรื่อง “โดราเอม่อน” หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่สมัยเรียนตอนเด็ก หรือต่อเนื่องไปถึงตอนทำงานก็ได้ แต่ปัญหาคือ เราจะยอมเป็น “โนบิตะ” ผู้ยอมให้ “ไจแอ้นท์” รังแกแต่อย่างเดียว หรือไม่ก็ร้องหาแต่ความช่วยเหลือของ“โดราเอม่อน” เท่านั้นหรือครับ

เมื่อคิดได้อย่างนั้น ผมจึงตอบคู่ชีวิตไปว่า “...เรื่องนี้ควรให้ลูกจัดการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองจะดีกว่านะ ถ้าเราในฐานะเป็นพ่อเป็นแม่คอยไปจัดการแก้ปัญหาให้ลูกหมด ต่อไปเมื่อลูกโตขึ้นเจอปัญหาแบบนี้เขาจะแก้ไขปัญหาเองไม่เป็น เราคงวิ่งไปช่วยเขาแก้ปัญหาทุกครั้งไม่ได้”

จากนั้น ผมเรียกลูกมานั่งคุยด้วย บอกว่าผมรู้เรื่องเขาถูกรังแกแล้ว ตอนสมัยเด็กผมเองเคยเจอเรื่องราวทำนองนี้เหมือนกัน

“เคยโดนแกล้งเหมือนกันหรือครับ” เด็กน้อยตื่นเต้นที่ผมเคยมีประสบการณ์ร่วมกับเขา “แล้วทำไงดีละครับ”

ผมตอบว่า “ง่ายที่สุดคือไปบอกครู เล่าให้ครูฟังไงครับลูก ให้ครูเขาจัดการกับเด็กเกเร ไม่ให้มารังแกเราอีก”

ตอนแรกลูกชายตัวน้อยของผมไม่ยอมไปบอกครู ด้วยกลัวว่าเพื่อนคนนั้นจะมารังแกเขาอีก จนผมต้องหลอกล่อแจก “ดาวศักดิ์สิทธิ์” ให้เขา ด้วยการเขียนรูปดาวดวงใหญ่ๆลงบนหลังมือน้อยๆ บอกเขาว่า ดาวศักดิ์สิทธิ์จะช่วยเด็กดีไม่ให้ถูกเพื่อนรังแก

วันรุ่งขึ้นเจ้าตัวน้อยถึงยอมไปบอกครูเรื่องถูกเพื่อนรังแกด้วยตนเอง เขาบอกครูด้วยว่าไม่อยากนั่งหรือเดินคู่กับเพื่อนคนนี้อีกแล้ว เพราะจะถูกแกล้งเป็นประจำ เมื่อคุณครูประจำชั้นทราบปัญหาก็เร่งแก้ไขจนจอมเกเรน้อยมีพฤติกรรมดีขึ้น ไม่เที่ยวไปกลั่นแกล้งรังแกคนอื่น

ผมเอาเรื่องนี้เล่าให้เพื่อนร่วมงานฟัง เพื่อนผมคนหนึ่งบอกว่า กรณีของลูกผมยังถือว่าโชคดี เพราะคุณครูช่วยแก้ปัญหา แต่ของลูกเขา ซึ่งเรียนอยู่อนุบาล 2 ก็เจอปัญหาว่าถูกเพื่อนรังแกเช่นกัน แต่ครูไม่สนใจใยดีในการแก้ปัญหา

“...โมเดลถูกเพื่อนชกแล้วแย่งนมกล่องในกระเป๋าไปกินทุกวัน แต่เขาไม่เคยมาเล่าหรือมาฟ้องพ่อแม่ วันหนึ่งหลังจากส่งโมเดลเข้าเรียน ระหว่างที่ลูกกำลังก้มลงไปถอดรองเท้าเพื่อเข้าห้อง เพื่อนจอมเกเรซึ่งตัวใหญ่กว่าโมเดลวิ่งมาชก แล้วโยนเข่าเข้าท้องโมเดล ก่อนจะขโมยล้วงนมกล่องจากระเป๋าโมเดลไปกินอย่างหน้าตาเฉย...

...ตอนแรกยืนดูอยู่นึกว่าเด็กเล่นกัน แต่พอเห็นว่าไม่ใช่เล่น เลยรีบวิ่งเข้าไปคว้าตัวแสบคู่กรณีไปหาครู เล่าให้ครูประจำชั้นฟัง แต่เชื่อไหมว่า ครูประจำชั้นไม่ทำอะไร บอกว่าพ่อแม่ของเด็กคนนี้ไม่ให้แตะต้องตัวลูกเขา ก็เลยปล่อยให้มาทำร้ายเด็กคนอื่นหรือไง เลยบอกให้ครูเรียกพ่อแม่เด็กมาคุยให้เขารู้ถึงพฤติกรรมของลูกเขา ตอนนี้เลยสอนลูกว่าถ้าโดนรังแกแบบนี้อีกให้ชกกลับไปเลย นี่ถ้าครูยังปล่อยให้เขารังแกลูกเราอีก บางทีปีหน้าต้องหาโรงเรียนใหม่ให้ลูกจะดีกว่า...”

นี่เป็นเพียงกรณีตัวอย่างเล็กน้อยเท่านั้นนะครับ เมื่อผมเข้าไปค้นในอินเทอร์เน็ตพบว่า การใช้ความรุนแรงในโรงเรียนระหว่างเด็กด้วยกันนั้นเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นแต่เป็นปรากฏการณ์ทั่วโลก !?!

เด็กซึ่งชอบใช้ความรุนแรงกับเพื่อนร่วมห้องหรือร่วมโรงเรียนมักจะเป็นเด็กมีปัญหาครอบครัว บางคนมาจากครอบครัวแตกแยก พ่อไปทาง แม่ไปทาง หรือมาจากครอบครัวที่พ่อแม่ใช้ความรุนแรงในบ้าน หรือเป็นเด็กก้าวร้าว อารมณ์ร้อนเป็นพื้นนิสัยอยู่แล้ว

จากการค้นคว้าข้อมูลพบข้อเสนอแนะจากเหล่านักวิชาการทั้งในและต่างประเทศว่า เมื่อพ่อแม่รับทราบว่าลูกถูกแกล้ง จะต้องพยายามควบคุมอารมณ์ของตนเองให้ได้ก่อน อย่าโวยวายด่าทอลูกว่าอ่อนแอ หงอจนถูกเพื่อนแกล้ง หรืออย่าทำให้ลูกต้องวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้น หรือเข้าข้างลูกเป็นเดือดเป็นแค้นจนเกินเหตุ

พ่อแม่ควรคุมสติให้มั่น ฟังลูกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นอย่างเห็นอกเห็นใจ ต้องพยายามถามถึงรายละเอียดอย่างชื่อคนมารังแก เวลา สถานที่ เหตุการณ์แวดล้อมต่างๆเพื่อค้นหาสาเหตุว่าการถูกรังแกนั้นมาจากลูกของเราหรือมาจากเด็กที่มารังแกลูก จากนั้นร่วมกันกับลูกในการแก้ไขปัญหา

แน่นอนครับว่า ทางออกมีอยู่หลากหลาย ตั้งแต่การไปบอกคุณครูให้จัดการปัญหา หรือการหลบเลี่ยงเด็กเกเร ทำเป็นไม่สนใจ หรือพยายามให้ลูกไปไหนมาไหนเป็นกลุ่ม ฯลฯ

นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นหลายคน เสนอความเห็นว่า สิ่งที่พึงระวังคือการแนะให้ลูกตอบโต้ด้วยความรุนแรงเมื่อถูกรังแก เพราะถ้าลูกของเราไม่มีทักษะเพียงพอในการจัดการปัญหา ดีไม่ดีอาจจะเจ็บตัวหรือได้รับอันตรายมากขึ้นก็ได้

อึม...เอาเป็นว่า ถ้าลูกไม่ชัวย์ว่าจะตอบโต้รุนแรงกลับ แล้วยังได้เปรียบก็อย่าไปทำเลยครับ เจ็บตัวเปล่า มิหน่ำซ้ำยังเป็นการบ่มเพาะทัศนคติเรื่องการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาอีกด้วย

อีกหนทางหนึ่งที่นักจิตวิทยาแนะนำคือ ให้สร้างสัมพันธ์อันดีกับจอมเกเรคนนั้นเสียเลย เรียกว่า แทนที่จะใช้ไม้แข็งตีกลับก็ใช้ไม้อ่อนซะ เช่น อาจจะชวนทานขนม บางทีอาจทำให้สถานการณ์ต่างๆดีขึ้นได้เหมือนกันนะครับ

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 46 เดือน ตุลาคม 2551




 

Create Date : 11 ตุลาคม 2551    
Last Update : 11 ตุลาคม 2551 16:28:37 น.
Counter : 1049 Pageviews.  

ฟ.ฟัน...Fun Fun

ตอนเด็กผมเป็นโรคกลัวหมอฟันมากครับ...แหะ...แหะ...อาจจะเป็นโรคเดียวกับคุณผู้อ่านอีกหลายๆท่าน เพราะพลันได้ยินเสียงเครื่องกรอฟันดังกรอดๆๆๆความเสียวฟันก็จี๊ดขึ้นสมองทันที

จำได้ว่า ผมไม่อยากไปหาหมอฟัน ถึงขนาดทนปวดปล่อยให้ฟันน้ำนมผุกร่อน โยกคลอนไปมา เมื่อทนปวดไม่ไหว ผมมักตัดสินใจถอนฟันด้วยตนเอง !?!

ผมยืนอยู่หน้ากระจก ใช้ด้ายเส้นเล็กๆผูกมัดฟันซี่ผุ หายใจเข้าออกลึกๆอยู่ชั่วครู่ ก่อนตัดสินใจกระตุกด้ายกระชากฟันอันโยกเยกไปมาให้มันหลุด บางครั้งโชคดีฟันหลุดง่าย แต่บางคราวกระตุกเท่าไหร่ก็ไม่ยอมหลุด ต้องใช้ช้อนใช้ซ้อมช่วยแซะช่วยงัดเป็นที่อเนจอนาถยิ่ง

อย่างไรก็ตามแม้เลือดจะกลบปาก...ฟันจะหลุดไปแล้วแต่พิธีกรรมการถอนฟังด้วยตนเองยังไม่เสร็จสิ้น สมัยเด็กผมยังถือเคล็ด ซึ่งไม่รู้ว่าได้รับการถ่ายทอดบอกต่อมาจากใครว่า “เมื่อฟันหลุด ฟันหัก เป็นฟันล่างให้โยนขึ้นไปข้างบนหลังคา แต่ถ้าเป็นฟันบนให้โยนลงมาข้างล่าง”

ผมเคยเอาเรื่องนี้มาเล่าให้สาวข้างกายผมฟัง เธอบอกว่า ตอนเด็กเธอทำคล้ายกัน แต่ของเธอ “ฟันล่างโยนขึ้นหลังคา ฟันบนโยนลงโถส้วม”

อืม...ผมว่า โถส้วมบ้านเธอคงจะตันบ่อยนะครับ

อย่างที่บอกแหละครับว่า ด้วยประสบการณ์วัยเด็กไม่ค่อยแฮปปี้กับคลินิกทันตกรรมสักเท่าไหร่ เมื่อเติบใหญ่เป็นคุณพ่อลูกสอง ผมจึงดูแลห่วงใยอนามัยในช่องปากของเจ้าแสบตัวน้อยๆเป็นพิเศษ เพราะไม่อยากให้พวกเขาต้องกลายเป็นเด็กฟันผุ ฟันหลอก่อนวัยอันควร

โชคดีว่า...ทั้งคู่ถูกเลี้ยงดูด้วยนมแม่ ไม่ได้เติบโตด้วยนมขวด นมชง เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องห่วงว่าจะหลับไปทั้งที่มีขวดนมคาปาก ซึ่งนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้ฟันน้ำนมของเด็กเล็กผุ

ขณะเดียวกัน เมื่อเจ้าหนูโตขึ้นก็พยายามหัดให้พวกเขาดื่มน้ำ หรือนมจากแก้วหัดดื่มของเด็ก พยายามไม่ให้พวกเขาต้องใช้ขวดนม

ส่วนเรื่องขนมหวาน น้ำอัดลม หรือแม้แต่นมกล่องประเภทหวาน กลายเป็นของต้องห้ามสำหรับเด็กๆในบ้าน นานๆครั้งพวกเขาถึงได้ลิ้มลองสักที

แล้วเรื่องแปรงฟันของเจ้าตัวเล็กหรือครับ...เรื่องนี้ต้องใช้กลยุทธ์หลอกล่อให้เจ้าตัวน้อยสนุก สนานกับการแปรงฟันกันหน่อย

ก่อนอื่น ผู้รู้เขาบอกว่า ต้องให้เจ้าตัวเล็กคุ้นกับการมีแปรงสีฟันอยู่ในปาก

เทคนิคนี้ผมได้มาจากพยาบาลสาวชาวออสเตรเลีย ตั้งแต่เจ้าลูกชายคนโตของผมอายุได้ 3-4 เดือน ฟันยังไม่ทันได้ขึ้น เธอแนะนำให้ผมหาแปรงสีฟันของเบบี๊ ซึ่งมีลักษณะคล้ายแปรงสีฟันธรรมดาแต่ไม่มีขนแปรง หากแต่มีตุ่มยางเล็กๆหลายปุ่มแทน

แปรงเล็กๆอันนี้ใช้นวดเหงือก นวดปาก กวาดลิ้นทารก บางครั้งเข้าตัวเล็กเอาไปแทะเล่น เป็นที่สนุกสนาน

เมื่อเจ้าตัวน้อยเริ่มมีฟันทะลุเหงือกขึ้นมา ก็เปลี่ยนมาใช้แปรงตามขนาดของวัย แต่ข้อสำคัญ ซึ่งถือว่าเป็นเคล็ดลับคือ

“ทุกครั้งที่แปรงฟันจะต้องสนุกสนาน”

บางครั้งขณะผมและสาวข้าวกายแปรงฟัน พวกเราจะให้เจ้าตัวเล็กเข้ามาแปรงฟันพร้อมกัน ให้พวกเขาได้ลองจับแปรงสีฟันของผู้ใหญ่ ช่วยแปรง ช่วยถูฟันผมเล่นกันอย่างสนุกสนาน พอเห็นฟองยาสีฟันฟอดๆผมก็ทำท่าทำทางเล่นสนุกกับเขา

บางเวลาเราจะแต่งเพลงเกี่ยวกับการแปรงฟันร้องเล่นกับเจ้าทโมนน้อย

“แปรงฟัน แปรงฟัน แปรงทุกวันฟันแข็งแรง ตื่นเช้าเราต้องแปรงฟัน ตกกลางวันก็แปรงฟันอีก ก่อนนอนก็ต้องแปรงฟัน เอ๊า...ก่อนนอนก็ต้องแปรงฟัน แปรงทุกวันฟันแข็งแรง” เย...เย...

บางวัน ผมต้องเล่านิทานสด เรื่องแมงปุ๊งปุงกินฟันให้เขาฟัง บอกให้รู้ว่า ถ้าไม่แปรงฟันแมงปุ๊ง ปุงจะมากัดฟัน ต้องใช้แปรงวิเศษเข้าไปสู้ในปากของเขา เด็กๆจะหัวเราะชอบใจทุกครั้งที่เราต่อสู้งัดแมงปุ๊งปุงออกจากปากของเขา

หรือเมื่อเจอหนังสือเด็ก เกี่ยวกับการแปรงฟัน ผมมักใช้หนังสือเหล่านั้นเป็นอุปกรณ์ช่วยสอนให้ตัวแสบของบ้านอยากแปรงฟัน

นักจิตวิทยาด้านเด็กหลายคนเห็นด้วยกับวิธีการเช่นนี้ เนื่องเพราะโดยธรรมชาติเด็กมักจะชอบลอกเลียนแบบพฤติกรรมของผู้ใหญ่ เมื่อเจ้าตัวเล็กเห็นว่าผู้ใหญ่สนุกสนานกับการแปรงฟัน เขาย่อมอยากจะสนุกสนานเช่นนั้นด้วย

แล้วเมื่อเขาได้ลองแปรงฟัน มันสนุกจริงๆด้วยสิ... นั่นย่อมทำให้เขาเกิดทัศนคติด้านบวกต่อการแปรงฟัน

เอาละครับ...เมื่อมาถึงเวลาต้องพาเจ้าตัวเล็กไปหาหมอฟันเพื่อตรวจสุขภาพฟัน ผมค่อนข้างเครียด ผมเที่ยวตระเวนเสาะหาคลินิกทำฟัน จนมั่นใจว่าที่นั่นมีทัตนแพทย์ด้านเด็กอยู่ ทั้งนี้เพราะผมไม่อยากให้เจ้าตัวเล็กเป็นโรคกลัวหมอฟันแบบพ่อของเขานั่นเอง

แล้วผมก็เลือกคลีนิคแห่งหนึ่งแถวบ้านเป็นเป้าหมายสำคัญ หลังจากนัดจองคิวกับหมอฟันเรียบร้อยแล้ว ทุกคืนก่อนนอน ผมเล่าเรื่องสนุกสนานในห้องทำฟันให้เจ้าตัวน้อยได้เพลิดเพลินสนุกสนาน

เมื่อถึงวันดีเดย์ ผมอดลุ้นระทึกไม่ได้ว่า เจ้าแสบน้อยของผมจะให้ความร่วมมือกับหมอฟันมากน้อยแค่ไหน

แต่ทันทีที่พบหมอฟัน ด้วยความเป็นมืออาชีพของมีทัตนแพทย์ด้านเด็ก เธอมีลูกล่อลูกชน มีของเล่น มีลูกโป่งมาล่อหลอกให้ลูกชายตัวน้อยยอมอ้าปากกว้างให้ขบวนรถไฟเข้าไปสำรวจในปาก ฯลฯ

หลังจากตรวจสุขภาพฟัน พร้อมเคลือบฟลูออไรด์ เจ้าตัวเล็กของผมกลับบ้านพร้อมปืนลูกโป่งสีแดง กระบอกโต พร้อมกับผมว่า

“ป๊า...สายน้ำอยากมาหาหมอฟันอีก หมอชมว่าสายน้ำฟันสวยด้วยแหละ”

เฮ้อ...อย่างนี้ค่อยหายห่วงหน่อยครับ

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 45 เดือน กันยายน 2551






 

Create Date : 21 กันยายน 2551    
Last Update : 21 กันยายน 2551 14:47:40 น.
Counter : 737 Pageviews.  

เวบพ่อแม่ลูกยุค 2.0

เมื่อปลายเดือนก่อนบก.คนเก่ง คุณโน...สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน อีเมล์มาแจ้งว่า นิตยสาร Mother & Care ได้จัดทำเวบไซต์ //www.motherandcare.in.th เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว แถมยังกระโดดเกาะเทรนด์ Social network มี Hi 5 กับเขาด้วย นั่นคือ //motherandcare.hi5.com

เมื่อทราบดังนั้น ผมไม่รอช้า...รีบขยับเม้าท์คลิ๊กเข้าไปเยี่ยมชมทันที หลังจากอิ่มเอม เพลิดเพลินกับสาระประโยชน์หลากหลายจากเวบไซต์ ผมอดหวนระลึกถึงเหตุการณ์เมื่อห้าปีก่อนไม่ได้

ตอนนั้น ผมและสาวข้างกายยังเป็นว่าที่คุณพ่อ คุณแม่มือใหม่ในต่างแดน ห่างไกลจากครอบ ครัว เพื่อนสนิท จะปรึกษาหารือกับใครเรื่องการตั้งครรภ์ เรื่องการคลอดลูก เรื่องการเลี้ยงดูเด็กอ่อนก็ดูจะวุ่นวาย เหนื่อยยาก

หนทางช่วยลดทอนความกังวลของผมได้คือการค้นคว้าหาข้อมูลด้วยตนเอง ทั้งจากร้านหนังสือ ห้องสมุดและในเครือข่ายอินเทอร์เนต

จำได้อย่างแม่นยำว่า ในช่วงเวลานั้นเวบไซต์เกี่ยวกับเรื่องการดูแลหญิงตั้งครรภ์ การคลอดบุตร การเลี้ยงดูเด็กของไทยแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นอย่างครบถ้วน รอบด้าน

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงท่องโลกไซเบอร์ค้นคว้าหาความรู้จากเวบไซต์ต่างชาติเสียเป็นส่วนใหญ่ ทำให้เห็นว่า เจ้าของเวบไซต์เหล่านั้นใช้เวบไซต์ของเขาอย่างคุ้มค่า...สมกับการเป็นสื่อใหม่ (New Media)

ถึงตรงนี้ผมคงต้องขออนุญาตขยายความหน่อยว่า สื่อใหม่มีความโดดเด่นแตกต่างไปจากสื่อดั้งเดิม อย่างพวกสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ ตรงที่สื่อใหม่เป็นนวัตกรรมซึ่งสามารถข้ามข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่และกาลเวลา

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนอยู่ในประเทศไทย หรืออยู่ในสหรัฐอเมริกา หากคุณเชื่อมต่อกับโลกอินเทอร์เนตได้ คุณย่อมสามารถเสพข้อมูลข่าวสารนั้นๆได้พร้อมๆกัน ไม่ต้องรอข้ามวัน ข้ามคืนเช่นการเสพสื่อดั้งเดิม

นอกจากนั้น สื่อใหม่ยังเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการสามารถมีส่วนร่วมกับการผลิตในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การกำหนดหรือสร้างเนื้อหา การตอบโต้แบบ Interactive ฯลฯ

ถือเป็นปัจจัยสำคัญในยุคเวบ 2.0 ที่ผู้ใช้บริการเป็นผู้กำหนดเนื้อหาในเวบได้เอง (User Generated Content) ซึ่งแตกต่างจากเวบยุคแรกที่ผู้ให้บริการมีหน้าที่ป้อนข้อมูลให้แต่ฝ่ายเดียว

เหล่านี้ล้วนทำให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการเวบไซต์ หรือแม้แต่ระหว่างผู้ใช้บริการเวบไซต์ด้วยกันเองมีมากขึ้น อันก่อให้เกิดชุมชน (Community) ขึ้นในเครือข่ายไซเบอร์

ข้อเด่นอีกประการของสื่อใหม่ คือการหลอมรวมสื่อประเภทต่างๆเข้าด้วยกัน (Convergence) ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ล้วนสามารถหลอมรวมกันอยู่ในสื่อใหม่

แต่เท่าที่ผมสแกนดูเวบไซต์เกี่ยวกับการดูแลครรภ์ การเลี้ยงลูกของไทย พบว่า ส่วนใหญ่จะมีลักษณะจำลองหรือลอกสื่อสิ่งพิมพ์ใส่ลงมาในสื่ออินเทอร์เนตเสียมากกว่าใช้จุดเด่นของเวบ 2.0 ให้เป็นประโยชน์

ในขณะที่เวบไซต์ของต่างประเทศ นอกจากจะให้ข้อมูลสาระประโยชน์เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การคลอด การเลี้ยงดูเด็กในรูปแบบของตัวอักษร หรือรูปภาพแล้ว ยังมีคลิปภาพเคลื่อนไหวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน อาทิ คลิปวิธีการอาบน้ำให้เด็กทารก คลิปการป้อนนมลูก ฯลฯ

หรือมีคลิปเสียงเพลงบรรเลง คลิปนิทานเพลงให้ผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดไปเปิดให้ทารกน้อยฟังก่อนนอน

นอกจากการให้สาระความรู้แล้ว เวบไซต์ชั้นนำเหล่านี้ยังใช้ข้อมูลที่ผู้ใช้บริการเข้าไปสมัครเป็นสมาชิกในการจัดการลูกค้าสัมพันธ์ (CRM) ไปด้วยในตัว

อย่างเช่น ถ้าเข้าเวบไซต์ไปสมัครสมาชิกเพื่อขอข้อมูล หรือขอเทปเพลงบรรเลงสำหรับทารกในครรภ์ เขาจะให้กรอกข้อมูลพื้นฐานบางอย่าง อาทิ ชื่อ-นามสกุล ที่อยู่ อีเมล์ และถามลึกถึงประจำเดือนครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ มีลูกมาแล้วกี่คน ฯลฯ

ทันทีที่กดสมัครสมาชิก อีเมล์ฉบับหนึ่งจะส่งตรงมาถึงผู้สมัครทันที แจ้งให้ทราบว่าขณะนี้คุณตั้งครรภ์มาแล้วกี่สัปดาห์ กำหนดคลอดเมื่อไหร่ ตัวอ่อนในครรภ์มีลักษณะอย่างไร ขนาดเท่าไหร่ มีรูปและรายละเอียดให้อย่างสมบูรณ์ พร้อมข้อแนะนำทางโภชนาการต่างๆ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้เขาคำนวณมาจากข้อมูลที่เรากรอกให้นั่นเอง

จากนั้นทุกสัปดาห์จะมีอีเมล์มาแจ้งให้ทราบรายละเอียดของเบบี๊ในครรภ์ พร้อมรูปและคลิปเคลื่อนไหว รวมถึงเกร็ดสำคัญๆ เช่นถ้าเป็นช่วงแพ้ท้องหนัก ก็จะมีข้อมูลว่าควรดูแลตนเองอย่างไร แนะนำว่าควรดื่มชาสมุนไพรอะไรบ้าง หรือถ้าเป็นช่วงลูกจะเข้าโรงเรียน จะมีเคล็ดวิธีทำให้ลูกไม่งอแงเวลาไปโรงเรียน เป็นต้น

อีเมล์บางฉบับยังแถมคูปองลดราคาสินค้าเกี่ยวกับเด็กอ่อน หรือมีรายละเอียดสินค้าที่ควรเตรียมซื้อหาเอาไว้ล่วงหน้า หรือมีลิงค์เชื่อมต่อสู่เวบขายสินค้าต่างๆ

แน่นอนครับว่า สินค้าเหล่านี้ล้วนเป็นสปอนเซอร์ของเวบไซต์นั้นๆ ซึ่งการส่งข้อมูลสินค้าประเภทนี้ ถือว่าเป็นการทำ E-mail Marketing นั่นเอง

จะว่าไปแล้วก็เป็นการทำการสื่อสารการตลาดที่ทุกฝ่ายแฮปปี้นะครับ

ฝ่ายผู้ใช้บริการเวบไซต์พึงพอใจที่ได้ซื้อสินค้าราคาถูกกว่าตามห้างร้านต่างๆ ฝ่ายเจ้าของสินค้ายินดีที่ขายของได้ ส่วนเจ้าของเวบไซต์ดีใจที่ได้รับเงินสปอนเซอร์จากเจ้าของสินค้า

ทีนี้ผมขอพูดเรื่องการสร้างชุมชนพ่อแม่ในเครือข่ายไซเบอร์หน่อยนะครับ

เวบไซต์มืออาชีพในต่างประเทศมักจะไม่ปล่อยให้เกิดชุมชนเสมือนตามธรรมชาติหรอกนะครับ เขามักจะมีการวางแผน ชักจูง ให้เกิดการเกาะกลุ่มของชุมชนอย่างมีทิศทาง โดยมีเจ้าหน้าที่บางคนมาทำหน้าที่ช่วยสนับสนุน ผลักดันให้ชุมชนเสมือนที่เกิดขึ้นมีกิจกรรมร่วมกัน

กิจกรรมที่ทำอาจจะหาสปอนเซอร์มาร่วมสนับสนุนก็ได้ อาทิ จัดกิจกรรมสอนพ่อแม่เรื่องการเตรียมตัวก่อนคลอด กิจกรรมสอนเด็กวาดรูป ร้องเพลง ฯลฯ

เพราะถ้าลำพังปล่อยให้ชุมชนเสมือนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ชุมชนนั้นๆมักจะเป็นแค่แหล่งปรับทุกข์แลกสุข หรือแลกรูปลูกเท่านั้นเอง กิจกรรมด้านการเสริมทักษะในการเป็นพ่อแม่คุณภาพจะเกิดขึ้นได้ยาก

นอกจากนั้น เวบไซต์เมืองนอกบางแห่งยังเชิญเหล่ากูรูผู้รู้รอบในเรื่องการตั้งครรภ์ การคลอด การเลี้ยงดูเด็กมาพูดคุย แนะนำ และตอบคำถามข้องใจกับผู้ใช้บริการผ่านเวบบอร์ด หรือบางแห่งก็มีการคุยกันสดๆผ่านกล้องเลยทีเดียว

ครับ นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กน้อยจากการเรียนรู้เวบพ่อแม่ลูกในยุค2.0

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 44 เดือน สิงหาคม 2551




 

Create Date : 14 กันยายน 2551    
Last Update : 14 กันยายน 2551 16:26:55 น.
Counter : 719 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.