Group Blog
 
All Blogs
 

ทัวร์ท้องไร่ ปลายนา

ส่วนใหญ่วันหยุดตามเทศกาลต่างๆ คุณๆผู้อ่านพาลูกหลานไปเที่ยวที่ไหนกันครับ บางครอบครัวอาจพาไปห้างสรรพสินค้า บางครอบครัวอาจไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่ หรืออาจไปพักผ่อนตากอากาศตามแหล่งท่องเที่ยวทั่วไป

ไม่ว่าคุณๆจะพาไปเที่ยวที่ไหน สิ่งสำคัญนอกเหนือจากการพักผ่อนและการได้อยู่ใกล้ชิดกันในครอบครัว คือการให้เจ้าตัวน้อยได้เรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆใช่ไหมครับ

วันนี้ผมขอแนะนำให้พาเจ้าตัวเล็กไปเรียนรู้จักโลกกับชีวิตในท้องไร่ ท้องนา

ที่จริงแนวคิดเรื่องนี้ ผมเก็บตกมาจากสมัยยังเรียนอยู่ในประเทศออสเตรเลีย เมื่อปิดเทอมครั้งหนึ่งผมมีโอกาสติดสอยห้อยตามครอบครัวออสซี่ข้างบ้านไปเที่ยว อันเป็นผลให้ได้เรียนรู้แนวคิด ทัศนคติในการเลี้ยงดูเด็กที่น่าสนใจ จึงขอนำมาขยาย...

ครอบครัว “เจนนี่” กับ “ปีเตอร์” มีลูกชายวัยห้าขวบเศษชื่อ “ทอม”

ทุกครั้งที่โรงเรียนปิด ไม่ว่าจะเป็นการปิดเทอม หรือปิดเทศกาลสำคัญๆยาวต่อเนื่อง 3-4 วัน พวกเขาจะถือโอกาสลาหยุดจากงานประจำพาบุตรชายหัวแก้วหัวแหวนไปเที่ยว

วันหยุดปิดเทอมในคราวนั้นก็เช่นกัน เจนนี่กับปีเตอร์พาลูกไปเที่ยวฟาร์ม

ถูกต้องแล้วครับ เป็นฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืชผลทางการเกษตรธรรมดาๆนี่แหละครับ

ครั้งแรกที่ปีเตอร์มาชวนผมไปเที่ยวกับครอบครัวของเขา ผมงงระคนแปลกใจว่าจะไปทำไมฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช

คงด้วยท่าทางฉงน สงสัยของผมกระมัง ปีเตอร์จึงขยายความว่า เขาต้องการให้ลูกซึ่งเกิดและเติบโตในเมืองใหญ่ได้เรียนรู้จักชีวิตและธรรมชาติในชนบท

“เด็กในเมืองอย่างทอมไม่เคยรู้ว่า นมที่เขาดื่มทุกวันนี้มาจากไหน อาหารที่กินทุกมื้อมีความป็นมาอย่างไร เขารู้เพียงว่าไปซุปเปอร์มาเก็ตซื้อ เดี๋ยวก็ได้มาแล้ว เขาไม่รู้คุณค่าของมัน ไม่รู้คุณค่าของเกษตรกร คนเลี้ยงสัตว์ ปลูกพืช...

...ผมอยากให้เขารู้ว่าพืชผลแต่ละอย่างกว่าจะได้มานั้น และมาด้วยความยากลำบาก และเต็มเปี่ยมด้วยความหวัง ความฝันของเกษตรกร ผมไม่อยากให้ทอมโตขึ้นมาเห็นแต่คุณค่าของวัตถุ เงินทอง โดยไม่เห็นถึงคุณค่าของธรรมชาติ...”

ปีเตอร์ยังเล่าต่อไปอีกว่า ขณะนี้ฟาร์มจำนวนไม่น้อยในออสเตรเลียเปิดบริการให้คนภายนอก หรือนักท่องเที่ยวไปพักผ่อนหย่อนใจ เรียกขานกันว่า Farm stay

นอกจากจะมีที่พักแล้ว ฟาร์มหลายแห่งยังมีกิจกรรมกลางแจ้ง รวมถึงจัดกิจกรรมสำหรับเด็กๆให้เรียนรู้จักชีวิตชนบทอีกด้วย

ครับ ในที่สุดผมตัดสินใจติดตามครอบครัวของปีเตอร์ไปฟาร์ม ด้วยอยากรู้ว่าบ้านไร่ปลายนาของออสเตรเลียมันมีอะไร แล้วมันจะสอนเด็กเล็กอย่างทอมให้รู้จักธรรมชาติได้อย่างไร

ฟาร์มที่ผมไปในครั้งนี้ ไม่ห่างจากเมืองใหญ่ที่เราอาศัยอยู่กัน ชั่วเพียงขับรถประมาณ 4-5 ชั่วโมงก็ถึง ระหว่างทางเด็กน้อยอย่างทอมดูจะตื่นเต้นกับการท่องเที่ยวครั้งนี้มาก ยิ่งเมื่อพ่อบอกว่าจะได้เห็นไก่ เห็นแกะ ได้ขี่ม้า ได้นั่งเรือตกปลา ทอมยิ่งกรี๊ดกร๊าดดีใจใหญ่

ตลอดเวลาบนรถ พ่อแม่ของทอมพยายามจะเล่าอธิบายถึงเรื่องราวของสัตว์น้อยใหญ่ที่ต้องเจอะเจอในฟาร์ม โดยมีหนังสือภาพเด็กซึ่งซื้อหามาล่วงหน้าเป็นเครื่องมือช่วยขยายความเข้าใจของเจ้าตัวน้อย ถือว่าเป็นการทำการบ้านก่อนเจอของจริง

เมื่อถึงที่หมาย หนุ่มใหญ่เจ้าของฟาร์มเดินตรงเข้ามาทักทายด้วยความเป็นกันเอง พร้อมพาพวกเราไปยังที่พัก ซึ่งเป็นกระต๊อบเล็กๆ ธรรมดา เรียบง่ายแต่สะอาดสะอ้าน ถึงตอนนี้เราพบว่าฟาร์มแห่งนี้ยังมีอีก 2-3 ครอบครัวมาพักอาศัยในช่วงวันหยุดปิดเทอมด้วยเช่นกัน

เจ้าตัวเล็กอย่างทอมดูจะดีใจเป็นพิเศษที่พบเพื่อนใหม่ เพียงชั่วครู่ก็สนิทสนม เฮฮากับกลุ่มเด็กวัยไล่เลี่ยกัน

ที่ฟาร์มแห่งนี้ เขามีกิจกรรมสำหรับเด็ก โดยมีคนพาเด็กๆไปเลี้ยงแกะ เลี้ยงวัว เลี้ยงไก่ พร้อมพูดคุย เล่า อธิบายถึงวิถีธรรมชาติของสัตว์เหล่านี้อย่างรู้และเข้าใจถึงจิตวิทยาเด็ก ไม่แปลกใจเลยครับว่า ทำไมตอนขากลับเด็กพวกนี้ถึงได้ร้องห่มร้องไห้ อาลัยที่จากบ้านไร่เช่นนี้

เด็กๆ อย่างทอมดูจะตื่นเต้น ดีใจมากที่ได้ลูบไล้ สัมผัสสัตว์น้อยใหญ่ในฟาร์ม ยิ่งได้เห็นลูกเจี๊ยบฟักออกจากไข่ มันยิ่งเป็นสิ่งมหัศจรรย์สำหรับพวกเขาเลยทีเดียว

นอกจากกิจกรรมเลี้ยงสัตว์แล้ว เขายังมีกิจกรรมกลางแจ้งอีกหลายอย่างให้คนมาพักผ่อนได้ทดลองเรียนรู้กับวิถีชนบท อย่างเช่นการขี่ม้า เริ่มตั้งแต่ทำความรู้จักกับม้าที่จะขี่ แปรงทำความสะอาดก่อนจะเรียนรู้ถึงการนั่งควบขี่ออกตะลุยฟาร์ม หรือกิจกรรมพายเรือ ตกปลา กลางแม่น้ำใหญ่ซึ่งตัดผ่านฟาร์ม

พอถึงมื้ออาหาร พวกเราจะรวมตัวกันในห้องรับประทานอาหารรวม ลิ้มลองอาหารพื้นบ้าน ฝีมือภรรยาเจ้าของฟาร์ม อาหารเรียบง่าย แต่สด สะอาด ท่ามกลางบรรยากาศเป็นกันเอง ทำให้รสชาติอาหารโดดเด่นขึ้นอย่างน่าประหลาด

การไปเที่ยวฟาร์มในครั้งนั้น ทำให้ผมอดคิดถึงเมืองไทยไม่ได้ว่า เด็กไทยในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะเด็กที่เติบใหญ่ ในเมืองกรุงก็คงไม่ต่างจากทอม เด็กน้อยจากดาวน์อันเดอร์ ไม่มีโอกาสจะเรียนรู้ถึงคุณค่าของเมล็ดข้าว ต้นไม้ ใบหญ้า ไม่รู้ถึงความเหนื่อยยากของชาวไร่ ชาวนา

สิ่งที่เด็กเมืองเรียนรู้คือห้างสรรพสินค้า อาหารฟาสต์ฟู้ด ของเล่นราคาแพงระยับ เครื่องกล่อมเกลาเด็กยุคใหม่คือทีวี หรือเกมคอมพิวเตอร์

วันหยุดคราวหน้า หากคุณๆผู้อ่านมีรากเหง้า หรือมีเพื่อนฝูงอยู่ในชนบท ถือเป็นโอกาสดีนะครับที่จะพาเจ้าตัวเล็กออกไปวิ่งเล่น เรียนรู้ธรรมชาติโลกกว้าง หรือหากคุณๆที่มีเรือกสวนไร่นาอยู่แล้วในชนบท อยากจะจัดทำเป็นที่พักผ่อน เรียนรู้ของเด็กเมือง เหมือนในออสเตรเลียบ้าง อันนี้ผมขอสนับสนุนเต็มกำลัง

วันหยุด... พาเจ้าตัวเล็กไปท้องไร่ ท้องนากันเถอะครับ

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 43 เดือน กรกฎาคม 2551ซึ่งเรียบเรียงใหม่จากงานที่เคยเขียนอยู่ในคอลัมน์สะดุดจิงโจ้ในเวบ //www.manager.co.th เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2547







 

Create Date : 08 กันยายน 2551    
Last Update : 8 กันยายน 2551 15:47:27 น.
Counter : 657 Pageviews.  

ตะลุยโลกการเรียนรู้

ผมติดตามข่าวการเปิดมิวเซียมสยาม...พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งแรกของเมืองไทยด้วยใจลุ้นระทึก เพราะเป็นเวลานานกว่า 3 ปีแล้วที่เรามีสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ สังกัดสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ ซึ่งเป็นองค์การมหาชน จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2547

เมื่อเขาประกาศว่า มิวเซียมสยาม ซึ่งตั้งอยู่ในกระทรวงพาณิชย์เก่า ใกล้วัดโพธิ์ ท่าเตียนเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ผมจึงตั้งใจว่าจะพาตัวตัวเล็กทั้งสองไปสนุกสนานกับโลกแห่งความรู้

อืม...แต่ผมไม่แน่ใจนะครับว่า พิพิธภัณฑ์ดีๆแบบนี้จะมีเด็กและเยาวชนเข้าเที่ยวชมมากน้อยแค่ไหน เพราะสมัยผมเรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย ผมพบว่า นักเรียนไทยในออสเตรเลียจำนวนไม่น้อยไม่เคยไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ หรือศูนย์แสดงศิลปะใดๆ ในดินแดนจิงโจ้

เอ...จะพูดว่าไม่เคยไปอย่างเดียวอาจไม่ถูกต้องนัก คงต้องพูดว่า สถานที่เหล่านี้ไม่เคยอยู่ในหัวของเด็กไทยด้วยซ้ำไป

ยิ่งไม่ต้องพูดถึงนักท่องเที่ยวจากแดนสยาม ประเภทมาทัวร์ชั่วครู่ ชั่วยาม ถ้าบอกว่าจะพาไปเที่ยวชม Museum หรือ Art Gallery มีหวังร้องยี้ หน้าตาบูดเบี้ยว.... แต่ถ้าบอกจะพาไปชอปปิ้ง เชื่อเถอะครับ หน้างี้บานระรื่น ร้องเฮรับคำทันทีทันใด

นั่นใช่หรือไม่ว่า เป็นเพราะคนไทยเราแปลกแยก ไม่คุ้นชินกับสถานที่เหล่านี้

มโนทัศน์เกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ของคนไทยคือ "ความเก่าเก็บ" ประเภทมีแต่พวกซากปรักหักพัง ก้อนอิฐ ก้อนกรวด

เป็นอดีตที่ไม่มีชีวิต จับต้องไม่ได้ !

ส่วนศูนย์แสดงศิลปะคือ "ความมึนงง" ประเภทรูปวาด รูปปั้น หุ่นแสดง สวย แปลกตา

แต่ดูไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ

เป็นจินตนาการที่ยากแก่การเข้าถึง !

ครับ นั่นอาจจะเป็นจริงสำหรับพิพิธภัณฑ์ และศูนย์แสดงศิลปะบางแห่งในเมืองไทย แต่ในสังคมพัฒนาในโลกตะวันตก พิพิธภัณฑ์ และศูนย์แสดงศิลปะคือ แหล่งบ่มเพาะเยาวชนให้รู้จักอดีต เรียนรู้อนาคต และเพลิดเพลินกับโลกแห่งจินตนาการ

อย่างในดินแดนดาวน์อันเดอร์...ออสเตรเลีย แทบทุกเมืองจะมีพิพิธภัณฑ์ อย่างน้อยหนึ่งแห่ง

ยิ่งในเมืองใหญ่อย่าง Sydney, Melbourne, Brisbane, Canberra, Perth, Adelaide ฯลฯ จะมีพิพิธภัณฑ์ให้เที่ยวชมได้หลากหลากยิ่ง

มีทั้งประเภทพิพิธภัณฑ์บอกเล่าประวัติความเป็นมาของเมือง บอกเล่าถึงรากเหง้าคนท้องถิ่น เรื่อยไปจนถึงบอกเล่าโศกนาฏกรรม ภัยพิบัติของมนุษย์จากภัยสงคราม หรือแม้กระทั่งโศกนาฏกกรรมจากจากคุกตะราง

นอกจากนั้นยังมีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อันทันสมัย บอกเล่า อธิบายถึงนวัตกรรม การออกแบบแปลกใหม่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

พิพิธภัณฑ์แต่ละแห่งมีชีวิต...จับต้องได้ โดยเฉพาะเด็กๆ

เนื่องเพราะเด็กคือกลุ่มเป้าหมายสำคัญของพิพิธภัณฑ์ ทำให้นักออกแบบพิพิธภัณฑ์พยายามจัดสร้าง รังสรรค์ให้ผู้เยี่ยมชมสนุกสนาน เพลิดเพลิน กับการเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์

พยายามให้คนมาพิพิธภัณฑ์สามารถหยิบจับ สัมผัส หรือมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ให้มากที่สุด

ยกตัวอย่างเช่น Melbourne Museum, Melbourne นอกจากจะมีโครงกระดูกไดโนเสาร์, มนุษย์ถ้ำ, ประวัติความเป็นมาของโลกทั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ไล่มาจนถึงประวัติคนท้องถิ่น Aboriginal ความเป็นมาของคนออสซี่แล้ว ยังมีส่วนของพิพิธภัณฑ์เด็ก ให้เจ้าตัวเล็กได้เรียนรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก เรียนรู้ถึงธรรมชาติสิ่งรอบตัว รวมถึงชิ้นส่วนอวัยวะต่างๆภายในร่างกายของเขาอย่างเป็นรูปธรรม เข้าใจง่าย

หรือที่ Powerhouse Museum, Sydney พิพิธภัณฑ์แห่งนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ของมนุษยชาติ

นอกจากผู้มาเที่ยวชมจะสามารถชมและสัมผัสเครื่องจักรไอน้ำ รถไฟโบราณ เครื่องบินรบ ยานอวกาศนาซา อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว แทบทุกภาคส่วนของพิพิธภัณฑ์ จะจัดกิจกรรมให้คนมาเที่ยวชมได้เล่น ได้ลองทำอย่างสนุกสนานไม่น่าเบื่อ

ส่วน “Questacon” The National Science and Technology Centre, Canberra ศูนย์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เมืองหลวงออสเตรเลีย เมือง Canberra ที่นี่เน้นสโลแกนชัดเจนมากว่า "Science behind the fun"

เกมทางวิทยาศาสตร์มากมาย ยั่วให้ผู้มาเที่ยวชมได้เรียนรู้ท่ามกลางความสนุกสนาน จัดว่าเป็นการผนวก "Entertainment" กับ "Education" ได้อย่างยอดเยี่ยมยิ่ง

สำหรับผู้ปกครอง หรือครูบาอาจารย์ถ้าพาเด็กๆ เยาวชนวัยเรียนรู้ไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ แล้วไม่รู้ว่าควรเริ่มต้นอย่างไรดี เขามักเริ่มจากโต๊ะประชาสัมพันธ์ของพิพิธภัณฑ์แต่ละแห่ง เพราะที่นี่จะมีเอกสาร แผ่นพับ อธิบายอย่างละเอียดลออ

และที่สำคัญมีแผ่นเกมแบบฝึกหัดแบบง่ายๆ ให้เด็กๆได้ศึกษา ค้นคว้าตามรายทาง ระหว่างเดินเที่ยวชมในพิพิธภัณฑ์

หรือหากต้องการไกด์ อธิบายรายละเอียดในแต่ละจุด พิพิธภัณฑ์แทบทุกแห่งจัดเตรียมเจ้าหน้าที่ไว้คอยบริการอธิบาย ตอบข้อซักถามอยู่อย่างเต็มใจ

ทีนี้มาว่ากันถึงเรื่องศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมกันบ้าง ตามเมืองใหญ่ๆ นอกจากจะมีศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมประจำเมืองแล้ว ยังมีศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมแบบทันสมัย Contemporary Art หรือแนวชนเผ่าพื้นเมืองแบบ Aboriginal Art อีกด้วย

ถ้าเข้าไปเที่ยวชม ไม่ต้องกลัวจะดูไม่รู้เรื่องนะครับ ถ้าสนใจจริง เขามีไกด์คอยอธิบายบอกเล่าเรื่องราวศิลปะต่างๆอย่างชัดเจน

นอกจากนั้น ศูนย์แสดงศิลปวัฒนธรรมบางแห่งยังมีหูฟังให้เช่า เมื่อสวมใส่หูฟังแล้วต้องการคำอธิบายในงานศิลปะชิ้นใดๆ คุณสามารถกดหมายเลขของงานศิลปะชิ้นนั้นๆซึ่งปรากฏอยู่แถวชิ้นงานลงไปบนเครื่อง เทปเสียงอัตโนมัติจะเดินเครื่องอธิบายความเป็นมา ความหมายของชิ้นงานนั้นๆทันที

ครั้งหนึ่งใน Art Gallery นี่ละครับ ผมเห็นคุณครูพาเด็กนักเรียนอนุบาลตัวกระเปี๊ยกมาเป็นกลุ่มๆ เรียนรู้ ชื่นชมงานศิลปะ โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ศิลปวัฒนธรรมเป็นผู้นำพาเจ้าตัวเล็กๆ เดินไปตามชิ้นงานศิลปะ พร้อมพูดคุยซักถามเด็กอย่างมีศิลปะและชั้นเชิง

อาทิ “เป็ดในรูปนี้มีกี่ตัวจ๊ะเด็กๆ...”

“คนในรูปวาดนี้เขากำลังทำอะไรอยู่...”

“หนูคิดว่าผู้หญิงในภาพวาดนี้ จะพูดอะไรกับเทวดาบนฟ้าจ๊ะ...”

“รูปนี้ หนูคิดว่าเหมือนรูปอะไรเอ่ย”

จินตนาการของเด็กถูกกระตุ้นให้บรรเจิด เสียงเจ้าตัวน้อยตะโกนให้คำตอบกันวุ่นวาย

ช่างเป็นการบ่มเพาะหน่ออ่อนแห่งศิลปะ การเรียนรู้ที่ดียิ่ง

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 42 เดือน มิถุนายน 2551ซึ่งเรียบเรียงใหม่จากงานที่เคยเขียนอยู่ในคอลัมน์สะดุดจิงโจ้ในเวบ //www.manager.co.th เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547




 

Create Date : 17 สิงหาคม 2551    
Last Update : 17 สิงหาคม 2551 0:44:41 น.
Counter : 664 Pageviews.  

ครู...อย่าทำร้ายหนู

หลายวันก่อน ขณะที่ผมกำลังนั่งทานอาหารอยู่ในศูนย์อาหารแห่งหนึ่ง ซึ่งแออัดไปด้วยลูกค้ายามพักเที่ยง มีสาววัยสามสิบเศษสองคนกับหญิงชราคนหนึ่งยืนมองซ้ายมองขวาหาที่นั่งทานอาหารอยู่ใกล้ๆ ผมจึงเชิญชวนให้มาร่วมโต๊ะ เพราะวันนั้นผมนั่งทานอาหารคนเดียว ยังมีเก้าอี้ว่างพอนั่งได้อีกสามที่

หลังจากกล่าวขอบคุณผมแล้ว ทั้งสามก็นั่งลงทานอาหารที่ยกมาพร้อมพูดคุยกันอย่างเคร่ง เครียด ตอนแรกผมไม่สนใจอะไรกับสิ่งที่พวกเธอคุยกันหรอกครับ แต่เนื่องด้วยนั่งร่วมโต๊ะทำให้ได้ยินเรื่องราวต่างๆอย่างชัดเจน

ต่อไปนี้คือเรื่องราวที่พวกเธอคุยกันครับ...

“ไหน...เมื่อกี้ฟังไม่ถนัด ป้าลองเล่าอีกทีสิ ว่าครูกุ้งทำอย่างไรกับน้องศีล” สาวร่างท้วมถามหญิงชราวัยเกษียณซึ่งนั่งอยู่ข้างผม

หญิงชราเล่าว่า “คือ...น้องศีล แกเป็นเด็กเงียบๆ ไม่ค่อยชอบพูด ยิ่งกับคนแปลกหน้า ไม่ใช่คุณตาคุณยาย ไม่ใช่พ่อแม่แล้วแกยิ่งไม่พูดด้วย ทำอะไรเองก็ยังไม่ค่อยเป็น ใส่เสื้อผ้าก็ยังไม่ได้ คุณตาของน้องศีลยังเป็นห่วงเลยว่า อายุสามขวบเศษแล้วต้องเข้าเรียนอนุบาล ไม่รู้จะทำอย่างไร พวกเราเลยพยายามหาโรงเรียนอนุบาลดีๆให้น้องศีล...

...เราเลือกโรงเรียนนี้แม้จะอยู่ไกลบ้านไปหน่อย เพราะเชื่อในชื่อเสียงของโรงเรียนว่ามีการเรียนการสอนแบบมุ่งพัฒนาการเด็ก ไม่เน้นวิชาการ เพราะเรารู้ว่าน้องศีลคงเรียนแบบเน้นขีดเขียน เน้นอ่านหนังสือไม่ได้แน่...

...เรียนไปได้เดือนสองเดือน ครูกุ้งก็มาบอกฉันว่า น้องศีลท่าทางเป็นเด็กออทิสติก ทุกคนในบ้านเครียดกันใหญ่ แม่น้องศีลร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวร พาไปหาหมอพัฒนาการหลายโรงพยาบาล เขาก็บอกว่า ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นหรือไม่ ต้องรอโตกว่านี้ แต่เท่าที่ตรวจดูก็ปกติดี เพียงแต่น้องศีลเป็นเด็กขี้อาย ขี้กลัว ไปหน่อย…

…แต่เรื่องนี้ฉันก็ไม่โทษครูกุ้งแกที่ด่วนสรุปนะคะ ยังนึกขอบใจแกที่ดูแล ห่วงใยหลานฉัน แต่มารู้ทีหลังว่าแกเที่ยวบอกแม่ของเด็กๆในห้อง ที่ซนๆ ดื้อๆหน่อย หรือพวกซึมๆอย่างน้องศีล ว่าอาจเป็นออทิสติก ทำให้ทุกคนเครียดไปหมด...

...เรื่องนี้ก็เอาเหอะ...แต่ที่ฉันทนไม่ได้คือเรื่องทำร้ายน้องศีล อย่างเมื่ออาทิตย์ก่อนตอนมารับน้องศีล เห็นน้องเขาเงียบซึมมากผิดปกติ หูแดงจัดไปด้านหนึ่ง จึงน้องศีลว่าเป็นอะไร บอกยายสิ ตอนแรกน้องศีลเขาไม่ยอมบอก จนมาถึงบ้าน คุณตาแกตะล่อมถามถึงรู้ว่า วันนั้น น้องศีลดื้อ ครูพูดแล้วไม่ได้สนใจฟัง หรือทำอะไรไม่ถูกสักอย่าง ครูกุ้งเลยดึงหูน้องศีล บอกว่า หูมีไว้ฟัง วันหลังพูดแล้วต้องฟัง คุณตารู้เรื่องโกรธมากจะเอาเรื่องครูกุ้ง ดีว่าฉันบอกว่าขอคุยกับครูก่อน พอเช้าขึ้นมาถามครูกุ้งกับครูพี่เลี้ยง พวกแกก็พูดแบบตลกๆว่า น้องศีลเรื่องแค่นี้ไปฟ้องคุณยายด้วยหรือ...

...ฉันคุยเรื่องนี้กับผู้ปกครองคนอื่นในห้อง เขาก็บอกว่าลูกเขาก็ถูกครูกุ้งทำโทษแบบแปลกๆ ขีดปากกาแดงกากะบาดตรงขา ตรงแขน เหมือนประจานเด็ก บางทีก็จับขังในห้องส้วม บางทีก็แอบหยิกเด็ก ตอนแรกที่พวกลูกๆหลานๆเล่า พวกพ่อแม่ก็เข้าใจว่าเด็กคิดไปเองว่าถูกครูหยิก ครูดึงหู จนเจ็บ หรือคิดว่าเป็นวิธีสอนเด็ก แต่พอมาคุยกันถึงรู้ว่าเด็กโดนครูกุ้งทำโทษแบบนี้กันหลายคน...”

ครับ...นั่นคือเรื่องราวที่ผมพอจะปะติดปะต่อจากการฟังเพื่อนร่วมโต๊ะอาหารพูดคุยกัน ผมไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงจะเป็นเหมือนกับคุณยายคนนี้เล่าหรือไม่ แต่มีประเด็นให้ขบคิดกันต่อว่า จริงๆในสังคมเรา มีคุณครูอนุบาลแบบนี้จริงหรือไม่ ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นกับลูกหลานของเรา เราควรทำอย่างไร

ทุกวันนี้ อาชีพคุณครูต้องยอมรับว่าเป็นอาชีพที่รับบทหนักมาก ยิ่งเป็นคุณครูโรงเรียนอนุบาลนี่ ผมยังต้องยกนิ้วให้เรื่องของความฮึด ความอดทน และใจรัก เนื่องเพราะต้องผจญกับวายร้ายตัวน้อยๆหลายสิบคน

ประเภทว่า...เดี๋ยวคนนี้จะร้องไห้ เดี๋ยวคนนี้จะนอน คนนั้นจะฉี่ คนโน้นกำลังทะเลาะแย่งของเล่นกัน

ครูอนุบาลนอกจากจะมีหน้าที่สอนและดูแลเด็กตัวน้อยๆแล้ว ยังต้องสวมบทบาทอีกหลายอย่าง บางคนมีเวรต้องมาถึงโรงเรียนแต่เช้ามืด เพื่อมารอรับเด็กตัวน้อยๆอยู่หน้าโรงเรียน ครูบางคนต้องช่วยโรงเรียนจัดกิจกรรม ฯลฯ

ภาระรับผิดชอบอันหนักหน่วง ความเครียดสูง แลกกับผลตอบแทนที่ไม่มากนัก ทำให้อาชีพของครูโรงเรียนอนุบาลมีการลาออกกันมาก

ครูจบใหม่จากรั้วสถาบันอุดมศึกษาหลายคน เลือกไปประกอบอาชีพที่สร้างรายได้ สร้างความมั่นคงในชีวิตมากกว่า ส่วนครูอนุบาลที่มีประสบการณ์การสอนเด็กมานานๆก็อาจถูกซื้อตัวไปประจำโรงเรียนใหม่

ทำให้โรงเรียนอนุบาลหลายแห่งเกิดภาวะขาดแคลนครูอนุบาลที่มีความรู้ ความสามารถและใจรักเด็กอย่างแท้จริง

แน่นอนครับว่า ทำให้โรงเรียนอนุบาลบางแห่งจำต้องรับครูอนุบาลที่ด้อยทักษะ ขาดประสบ การณ์และปราศจากคุณธรรม จริยธรรมในการดูแล สั่งสอนเด็กปฐมวัย

ดังนั้น สิ่งที่เราๆท่านๆ ซึ่งเป็นผู้ปกครองควรทำ เพื่อช่วยเหลือไม่ให้ลูกหลายเราจะต้องเจอกับการกระทำที่ขาดการยั้งคิดของคุณครูเหล่านี้คือการหมั่นพูดคุยกับคุณครู สอบถามถึงพฤติกรรมของลูกหลานเรากับคุณครู ลองพูดคุยซักถามดูว่าเมื่อเด็กประพฤติตัวไม่เหมาะสม ดื้อ ซน ไม่ยอมกินข้าว ไม่ยอมนอนตอนกลางวัน คุณครูใช้วิธีไหนในการแก้ปัญหา

ขณะเดียวกัน ต้องหมั่นพูดคุยกับลูกหลานว่า คุณครูลงโทษลูกหลานหรือเพื่อนๆเวลาดื้อ หรือซนอย่างไร แล้วอย่าลืมสังเกตร่างกายของเด็กด้วยนะครับ ว่าพบบาดแผล รอยพกช้ำ หรือรอยขีดข่วนอย่างไร ถ้ามีก็สอบถามกับเจ้าตัวเล็กว่ารอยแผลเหล่านี้เกิดจากอะไร ใครทำ

รวมทั้งสังเกตดูพฤติกรรมของลูกหลานว่า เซื่องซึม งอแง หวาดกลัวครูหรือเกลียดโรงเรียนอย่างผิดปกติหรือไม่

นอกจากนั้นควรมีการพูดคุยกันระหว่างผู้ปกครองในห้องเรียนเดียวกันกับลูกหลาน เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนการสอนของคุณครู และเมื่อมีเหตุผิดปกติอันเกิดจากการทำโทษของคุณครูก็ลองปรึกษาหารือกันในหมู่ผู้ปกครอง ก่อนขอเข้าพบผู้บริหารของโรงเรียนเพื่อเล่าให้ฟังถึงข้อเท็จจริงที่ประสบ

ผมเชื่อแน่ว่า ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาลที่ดีๆมีชื่อเสียงล้วนเป็นบุคคลที่มีพื้นฐานรักเด็ก มองนักเรียนตัวน้อยๆที่ร่ำเรียนอยู่ในโรงเรียนเหมือนลูกหลานของตนเอง หากผู้บริหารเหล่านี้ทราบข้อมูลข้อเท็จจริงย่อมตระหนักถึงปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

ครับ มาช่วยกัน อย่าให้เจ้าตัวเล็กต้องนอนฝันร้ายหวาดผวาคุณครูแต่เด็กเลย

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 41 เดือน พฤษภาคม 2551






 

Create Date : 11 สิงหาคม 2551    
Last Update : 11 สิงหาคม 2551 23:30:17 น.
Counter : 649 Pageviews.  

ปิดทีวีกันเถอะ

เชื่อว่า ตอนนี้แทบทุกครัวเรือนในสังคมไทยมีโทรทัศน์เป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นสำคัญของบ้าน บางบ้านอาจมีทีวีมากกว่าจำนวนสมาชิกในครอบครัวเสียอีก

อิทธิพลของเจ้าตู้สี่เหลี่ยมนี้แหละ เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตผู้คนในสังคมหลากหลายรูปแบบ เนื้อหา เรื่องราวในรายการโทรทัศน์ทำให้คนดูหัวเราะ ร้องไห้ ทุกข์ สุข โมโหโกรธาร่วมกับตัวละครที่โลดแล่นในจอตู้ มันสะกดจิตทำให้คนดูคิดเชื่อ คล้อยตามภาพและเสียงที่สื่อผ่านออกมา

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทีวีย่อมเป็นสื่อชิ้นสำคัญที่นักการเมือง นักการตลาดใช้เพื่อการโน้มน้าว จูงใจ ให้ผู้คนหลงเชื่อและคล้อยตามวัตถุประสงค์ของตนเอง

บ้างใช้เพื่ออวดอ้างว่าตนดีเด่นกว่าคู่แข่ง หรือใช้โจมตีใส่ร้ายป้ายสีคนคิดแตกต่าง

บ้างใช้เพื่อโฆษณาชวนเชื่อให้ซื้อหาสินค้าของตน

พลังของสื่อประเภทนี้ทำให้นักวิชาการจำนวนมาก สนใจศึกษา ค้นคว้าจนได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่า

ทีวีเป็นสื่ออันตราย โดยเฉพาะกับเด็กน้อยที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ !?!

นักวิชาการในโลกตะวันตกถึงกับแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ขวบดูหรือเล่นอุปกรณ์จอสกรีนประเภทต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี ดีวีดี วีซีดี คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่วีดีโอเกมส์

เขาให้เหตุผลว่า เด็กในวัยนี้ เซลประสาทในสมองพัฒนาตัวอย่างรวดเร็ว พ่อแม่ ผู้ปกครองควรอยู่ใกล้ชิดสอนลูกหลานให้เติบโตทั้งเรื่องของกระบวนการรับรู้ กระบวนการคิด พัฒนาด้านการเคลื่อนไหวทางร่างกาย รวมถึงการพัฒนาด้านอารมณ์และสังคมมากกว่า

แต่เจ้าบรรดาอุปกรณ์จอสกรีนประเภทต่างๆนั้นสามารถดึงดูดเด็กให้ขาดการศึกษา ค้นคว้า เรียนรู้ หรือเล่นสนุกตามวัย เนื่องจากเด็กจะต้องถูกสะกดให้อยู่แต่หน้าจอสกรีนโดยไม่เคลื่อนไหวไปไหน

ผมเคยเห็นหลายๆครอบครัว และหลายๆโรงเรียนเลี้ยงลูก...เลี้ยงเด็กโดยการเปิดทีวีให้ดู เชื่อไหมครับว่า เด็กที่เคยวิ่งซนไปมาจะหยุดนิ่งนั่งจ้องจอทีวีอย่างใจจดใจจ่อ บางคนถึงกับอ้าปากหวอโดยไม่รู้ตัว

สีสัน...การเคลื่อนไหวของภาพเปลี่ยนแปลงไปมาอย่างรวดเร็ว เสียงเพลง...เสียงพูดอันเร้าใจเหล่านี้ล้วนดึงสะกดให้เด็กอยู่หน้าจออย่างน่าอัศจรรย์ใจ

พ่อแม่ ผู้ปกครอง หรือคุณครูบางคนเลือกใช้วิธีเปิดทีวี เพื่อขอเวลานอก...ขอเวลาพักให้กับตนเอง โดยคิดว่า การเปิดการ์ตูน หรือเปิดรายการเด็กให้เด็กดูก็ไม่น่าจะเป็นอะไร

แต่เชื่อไหมครับว่า การกระทำเช่นนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เด็กติดทีวี เพราะเมื่อเด็กเริ่มดูทีวีทีละเล็กละน้อย เขาจะคุ้นชินกับการดูทีวี ดีไม่ดีเด็กบางคนอาจเรียนรู้การเปิดปิดทีวีได้ด้วยตนเอง และเมื่อผู้ใหญ่เผลอเจ้าตัวน้อยก็จะเปิดทีวีดูเองอย่างสบายใจ

แล้วดูทีวีไม่ดีตรงไหนละครับ...ประเด็นนี้นักวิจัยทั่วโลกเขาศึกษาจนเห็นชัดแล้วว่า เนื้อหาและเรื่องราวในสื่อโทรทัศน์สามารถทำให้เด็กและเยาวชนบ่มเพาะนิสัยความก้าวร้าว อารมณ์รุนแรงรวมถึงการใช้กำลังตัดสินปัญหา

เอาง่ายๆ ผมคิดว่าพ่อแม่ ผู้ปกครองหลายคนที่เคยเปิดทีวีเลี้ยงลูก คงจะจำได้ว่าลูกติดคำพูด ติดท่าทางการแสดงออกจากตัวละครในทีวี ยิ่งละครน้ำเน่าประเภทตบ จูบ เด็กๆมักจดจำและเลียนแบบพฤติกรรมนั้นๆอย่างไม่รู้ตัว

ใช่ครับ...แม้ว่าจะมีการจัดเรทละครพวกนี้ว่าเป็นรายการประเภทใด แต่ถามหน่อยครับว่า มีพ่อแม่ผู้ปกครองสักกี่รายที่แคร์เรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง

ผมเห็นหลายๆบ้าน พ่อแม่ลูกหลานล้อมวงกันดูละครหลังข่าวอย่างเพลิดเพลิน ซ้ำบางครอบครัวยังเผลอวิจารณ์ เผลออินกับเรื่องราวด่านางอิจฉาต่อหน้าลูก

นอกจากเรื่องความรุนแรงแล้ว ภัยของทีวียังส่งผลต่อการพัฒนาด้านพฤติกรรมของเด็กและเยาวชน ที่สำคัญเด็กที่ติดทีวียังเสี่ยงต่อโรคอ้วนและโคเลสเตอรอลในเลือดสูง เพราะพวกเขานั่งดูทีวีอยู่กับที่นานๆ รวมทั้งกินขนมขบเคี้ยวไปด้วยระหว่างดูทีวี และที่สำคัญพวกเขายังต้องตกเป็นเหยื่อของโฆษณาที่ชี้ชวนให้ซื้อขนมขบเคี้ยว ไร้ประโยชน์ต่อร่างกาย

ด้วยเหตุนี้ นักรณรงค์ทางสังคมบางกลุ่มถึงกับเรียกร้องให้ “ปิดทีวี”

ใช่แล้วครับ เขามีแคมเปญรณรงค์ให้งดดูทีวีกัน โดยให้ครอบครัวหันมาหากิจกรรมอย่างอื่นทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ เล่นเกมส์ พูดคุยกันภายในครอบครัว

ในเมืองไทยก็มีกิจกรรมรณรงค์เช่นนี้เหมือนกันครับ ภายใต้ชื่อ “ปิดทีวีเปิดชีวิต” โดยปีนี้เขากำหนดจะปิดทีวีร่วมกันในวันที่ 21 – 27 เมษายน 2551

ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ในเวบไซด์ //www.wechange555.com/

แต่สำหรับบางครอบครัวที่คิดว่า ไม่ต้องการถึงการ “ปิดทีวี” เพราะเชื่อว่ารายการทีวีบางอย่างมีประโยชน์และเหมาะสมกับเด็กและเยาวชน จะทำอย่างไรดีครับ

1. ก่อนอื่นต้องเริ่มต้นจากการเป็นตัวอย่างที่ดีของลูกหลาน โดยกำหนดระยะเวลาในการดูทีวีของตนเอง ไม่ใช่นึกอยากดูเมื่อไหร่ก็ดูไปเรื่อยๆ

2. จำกัดชั่วโมงในการดูทีวีของเด็ก ด้วยการจัดวางทีวีไว้ในห้องที่มีอุปกรณ์ความบันเทิงอย่างอื่นในห้อง อย่างเช่นเกมส์ ของเล่นเด็ก หนังสือนิทาน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเจ้าตัวเล็กได้เล่นอย่างอื่นมากกว่าจะอยู่แต่หน้าจอทีวี นอกจากนั้นยังไม่ควรให้มีทีวีให้ห้องนอนของเด็ก ไม่เปิดทีวีระหว่างการทานอาหาร และไม่ควรให้เด็กดูทีวีไปในขณะทำการบ้าน

3. พยายามจำกัดการดูทีวีของเด็ก ให้ดูได้เฉพาะวันหยุดเสาร์ อาทิตย์ หากวันอื่นมีรายการที่น่าสนใจ ก็อาจจะใช้วิธีการอัดรายการไว้ดูในวันหยุด

4. พ่อแม่ ผู้ปกครองควรเลือกสรร รายการทีวีที่เหมาะสมกับวัยของเด็ก เมื่อเลือกได้แล้วควรตรวจสอบด้วยการชมรายการนั้นๆด้วยตนเองก่อน อย่าไปเชื่อเรทรายการที่ปะบอกเอาไว้ เนื่องจากหลายๆครั้งที่รายการที่ซึ่งประกาศว่าเหมาะสมกับคนทุกประเภท กลับมีเนื้อหาและภาษาไม่เหมาะสมกับเด็ก

5. พยายามดูรายการทีวีร่วมกับเด็ก เมื่อเห็นว่าบางช่วงไม่เหมาะสมอาจจะปิดทีวี แล้วหันมาพูดคุยกับเด็ก เช่นถามว่า “ลูกคิดว่าผู้ชายคนนั้นทำถูกต้องไหมที่ไปทำลายข้าวของ” “ถ้าเป็นลูกจะทำอย่างไรหากมีคนมาพูดไม่ดีต่อหน้า” ฯลฯ

6. หากคุณไม่ได้อยู่กับลูกตลอดเวลา ก็ควรบอกกับคนเลี้ยงลูก พี่เลี้ยง คุณครูว่า คุณไม่ต้องการให้เปิดทีวีให้ลูกดูในขณะที่คุณไม่อยู่บ้าน

7. หากเป็นไปได้พยายามอย่าเปิดทีวี พยายามหาเกมส์ หรือสร้างสรรค์ของเล่น หรือกิจกรรมมาทำร่วมกับเด็ก

ครับ เรามาร่วมกัน “ปิดทีวี” แล้วมาเปิดโลกกว้าง เติมความสนุกสนานให้กับชีวิตเจ้าตัวน้อยๆด้วยกันเถอะ

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 40 เดือน เมษายน 2551




 

Create Date : 06 สิงหาคม 2551    
Last Update : 6 สิงหาคม 2551 11:46:33 น.
Counter : 815 Pageviews.  

เมื่อก้าวพลาด

ครั้งแรกที่ผมเหยียบเท้าเข้า “คุกเด็ก” เกิดขึ้นเมื่อนานมาแล้ว สมัยยังเป็นวัยรุ่นหัวเกรียน เรียนมัธยม

เปล่าครับ...ผมไม่ได้ทำความผิดอะไร แต่ผมเข้าไปเยี่ยมเพื่อนผู้ถูกโชคชะตากลั่นแกล้งให้ต้องสลัดชุดนักเรียน เปลี่ยนมาสวมชุดนักโทษเด็ก ใช้ชีวิตปีเศษในสถานพินิจบ้านเมตตา

เรื่องของเรื่องคือ...เพื่อนผู้โชคร้ายของผมดันนั่งซ้อนท้ายรถมอเตอร์ไซด์ของพี่ข้างบ้าน ตั้งใจจะไปลงหน้าปากซอยเพื่อต่อรถเมล์ แต่หารู้ไม่ว่าเพื่อนบ้านคนนี้กำลังจะไปส่งยาเสพติดให้ลูกค้า ซึ่งมารู้ในภายหลังว่าเป็นสายของตำรวจ เพื่อนของผมเลยติดร่างแหข้อหาค้ายาเสพติดไปด้วย

จำได้ว่า บรรยากาศในห้องเยี่ยมญาติของคุกเด็กดูน่าอึดอัดและหดหู่มาก เสียงร้องไห้ของคนเป็นแม่ เสียงบ่นด่าของผู้เป็นพ่อ แววตาร้าว ดูหดหู่ สิ้นหวัง ไร้กำลังใจของเหล่านักโทษเด็กรุ่นราวคราวเดียวกับผม มันชวนให้สลดใจพิกล

เพื่อนของผมคนนี้ หลังจากออกจากคุกเด็กไม่นานก็หนีออกจากบ้าน หายสาบสูญไป ทราบแต่เพียงข่าวคราวแว่วต่อๆกันมาว่า เขาเข้าไปอยู่ในโลกมืดของสังคม...โลกแห่งอาชญากรรม...เสียแล้ว

ในที่สุด”คุกเด็ก” ได้สร้างอาชญากรให้กับสังคมเพิ่มอีกหนึ่งคน !

เรื่องราวของเพื่อนและคุกเด็กเลือนหายจากความทรงจำของผมไปนาน จนกระทั่งเมื่อเดือนก่อน อาจารย์สุธาทิพย์ โมราลาย ชวนผมไป “บ้านกาญจนาภิเษก” ด้วยกัน เนื่องจากเธอจะพานักศึกษาที่เรียนการเขียนสารคดีไปลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติ

ก่อนไปถึงบ้านกาญจนาภิเษก ตำบลคลองโยง พุทธมณฑล ภาพและความทรงจำเดิมๆเกี่ยวกับคุกเด็กของผมฉายชัดขึ้นมาอีกครั้ง แต่ทันทีที่รถเลี้ยวเข้าสู่เขตของบ้านกาญจานาภิเษก ผมแทบไม่เชื่อว่านี่คือ “คุกเด็ก”

เนื่องเพราะไม่มีกำแพงรั้วลวดหนามสูง ซึ่งกั้นโลกเสรีกับโลกเรือนจำ ไม่มีตึกทึมทึบแกร่งกระด้าง ที่นี่เป็นเหมือนรีสอร์ทกว้างกลางท้องทุ่งข้าวเขียวเสียมากกว่า ประตูเปิดกว้าง ทั่วบริเวณร่มคลึ้มเย็นด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย มีบ่อบัว สระน้ำ สนามฟุตบอล และบ้านหลังย่อมกระจายทั่ว

เยาวชนในบ้านกาญจนาภิเษกแต่งกายตามสบาย เหมือนวัยรุ่นทั่วไปที่เราเห็นบนท้องถนน ไม่ได้สวมชุดเครื่องแบบนักโทษอย่างสถานพินิจอื่น

ทันทีที่พวกเราลงจากรถ เด็กหนุ่มสองสามคนเดินออกมาทักทาย ด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแล้วพาพวกเราเดินตรงเข้าในเขตบ้านกาญาจนาภิเษก

“ปรัชญาของที่นี่คือ บ้านกาญจนาภิเษกไม่ใช่คุก...เยาวชนไม่ใช่นักโทษ... เจ้าหน้าที่ไม่ใช่คนคุม...แต่บ้านกาญจนาภิเษกคือบ้านทดแทนชั่วคราวของวัยรุ่นที่ก้าวพลาด ก้าวผิดจังหวะ...” เสียงดัง ฟังชัดของ คุณทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก...หรือ “ป้ามล”ของเด็กๆ...สาวผิวคล้ำตัวเล็กร่างแกร่งกล่าวต้อนรับพวกเราด้วยแก่นแนวคิดการก่อตั้งบ้านกาญจนาภิเษกที่แตกต่างจากสถานพินิจแห่งอื่น

“...ที่นี่เราไม่มีประตู ใครอยากจะเดินไปไหนมาไหนก็ได้ อยากจะออกจากบ้านไปเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะเราไม่เชื่อว่ากำแพงรั้วไม่สามารถคุมคน หรือเปลี่ยนคนได้ ถ้าจะคุม ต้องคุมที่ใจของเราเอง...” ป้ามลบอก

จริงสินะ... ผมนึกย้อนไปว่าเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งอ่านเจอข่าวเด็กสถานพินิจบางแห่งพยายามทำลายประตูรั้วเพื่อหลบหนีสถานพินิจกลับบ้าน

“...ที่นี่ เราจะให้เด็กฝึกควบคุมตัวเอง เขาจะเป็นคนวางกฎกติกาบางอย่างเอง เขาจะช่วยกันดูแลบ้านหลังนี้ด้วยกัน ทุกคนต้องรับผิดชอบในตนเอง ที่นี่ประตูจะเปิดต้อนรับผู้มาเยือนตลอดเวลา ไม่มีปิด ไม่มีคนคุม มีแต่คนคอยดูแลแค่ 2-3 คนเท่านั้น เชื่อไหมว่า ตั้งแต่เปิดบ้านมายังไม่มีใครหนีออกจากที่นี่เลย...”

คุณทิชาเล่าว่า หากเด็กยังเรียนหนังสืออยู่จะมีสิทธิ์ออกจากบ้านไปเรียนหนังสือตามโรงเรียนแล้วกลับมาอยู่บ้านกาญจนาภิเษกวันเสาร์ อาทิตย์ ส่วนเด็กที่นี่จะมีการเรียน การสอนหลายอย่าง ทั้งวิชาการตามหลักสูตรการศึกษาในระบบ และการศึกษาด้านวิชาชีพ

“…แต่ที่นี่เราจะเน้นเรียนเรื่องชีวิต ทำอย่างไรให้เขาพอออกจากบ้านกาญจนาภิเษกแล้วสามารถใช้ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่เขาอยู่ได้...

...ป้าว่า คนเราทุกคนไม่มีใครอยากเป็นคนเลวหรอกนะ มันอยู่ที่สภาพแวดล้อมรอบข้างมากกว่า คุกจะเปลี่ยนคนได้อย่างไรถ้ามีแต่กำแพงกั้น มีกฎระเบียบที่เข้มงวด...

...เราต้องอาศัยความรักและความผูกพันต่างๆช่วยเยียวยา ป้าจะไม่ตอกย้ำความเป็นมนุษย์ที่ไร้ค่า เราจะให้ความสำคัญกับเด็กทุกคน...”

ความรักและความผูกพันที่ว่า คือการขุดความรู้สึกตระหนักถึงคุณค่าของความเป็นมนุษย์ขึ้นมา โดยสื่อผ่านกิจกรรมหลากหลาย

ตั้งแต่การให้เยาวชนผู้ก้าวพลาดเหล่านี้ไปช่วยเหลือคนผู้อ่อนด้อยกว่า อย่างไปช่วยสร้างบ้านให้ผู้ประสบภัยสึนามิ ไปช่วยดูแลตายายพิการผู้ไร้ญาติขาดมิตร การได้ช่วยเหลือผู้คนเหล่านี้ขุดเอาการตระหนักรู้ว่า ตัวเขาเองก็มีค่า ไม่ใช่เศษสวะของสังคมเหมือนที่หลายคนมอง

กิจกรรมหลากหลายถูกสรรสร้างขึ้น อาทิ การใช้ข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์มาปรับเปลี่ยนทัศนคติของเด็กและเยาวชนเพื่อดึงเอาความรู้สึกใฝ่ดี อยากทำดีของเยาวชนเหล่านี้ออกมา

ไม่แปลกเลยครับที่ตลอดอาคารหลักของบ้านกาญจนาภิเษกจะมีข่าวและข้อเขียนแสดงความคิดเห็นของเด็กๆอยู่เรียงรายไปหมด

มีอยู่ข่าวหนึ่งที่ผมหยุดอ่าน เป็นข่าวฆ่าข่มขืนทั่วๆไปที่เราเคยเห็นจากหน้าหนังสือพิมพ์หัวสีทั่วไป แต่ท้ายข่าวมีคำถามว่า ถ้าคุณเป็นพ่อหรือเป็นพี่ชายของเหยื่อสาว คุณจะรู้สึกอย่างไร ฯลฯ

เชื่อไหมครับว่า มีเยาวชนที่เขียนตอบแล้วทำให้ผมอึ้ง...เขาเขียนว่า ตัวเขาต้องโทษข่มขืน รุมโทรมสาว แต่ถึงวันนี้อยากจะขอโทษและไถ่บาปกับการกระทำที่ชั่วร้ายในครั้งนั้น เขาทำไปโดยไม่ยั้งคิด ด้วยฤทธิ์สุราและเสียงเชียร์ของผองเพื่อน ฉุดรั้งสติของเขา วันนี้ เขารู้แล้วว่าทำผิด และจะไม่ขอทำผิดเช่นนี้ซ้ำอีก

เย็นนั้น หลังจากพวกเราออกจากบ้านกาญจานาภิเษก ผมคิดถึงเพื่อนผู้สาบสูญอย่างจับใจ

นี่ถ้าเพื่อนผมได้มาพักฟื้นความบอบช้ำของชีวิตในบ้านกาญจนาภิเษก แทนที่จะไปอยู่ในคุกเด็ก ชีวิตของเขาคงไม่ก้าวย้ำสู่ความมืดเช่นทุกวันนี้

ถึงตอนนี้...ผมได้แต่ภาวนาให้แนวคิดของบ้านกาญจนาภิเษกเช่นนี้ แพร่กระจายออกไปสู่ สถานพินิจ...คุกเด็กอื่นๆ

เพราะผมไม่รู้ว่าวันข้างหน้าถ้าลูกหลานของเราเกิดก้าวพลาดขึ้นมาแล้วผลลงเอยจะเป็นอย่างไร


.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 39 เดือน มีนาคม 2551




 

Create Date : 29 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 29 กรกฎาคม 2551 2:05:08 น.
Counter : 695 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.