Group Blog
 
All Blogs
 
หนอนหนังสือ

ผมยอมรับว่าเป็นคนขาดหนังสือไม่ได้ !

ไม่ว่าจะไปไหนมักจะมีหนังสือพกติดตัวอยู่เสมอ พอว่างเมื่อไหร่จะหยิบหนังสือขึ้นมาพลิกอ่านอย่างเพลิดเพลินใจ หลายครั้งถึงกับลืมเลือนเรื่องราวรอบข้าง ใจจดจ่ออยู่แต่ความเป็นไปของตัวอักษรในหนังสือ

โชคดีว่า สาวข้างกายผม เธอเป็นคนประเภทเดียวกัน ทำให้เราเดินเข้าออกร้านหนังสือมากกว่าแหล่งบันเทิงอื่นๆ ไม่แปลกที่แต่ละเดือน ค่าซื้อหนังสือของเราจะสูงกว่าค่าซื้อเสื้อผ้า เครื่องประดับตกแต่งกาย

ผมเคยคิดถามตัวเองว่า ทำไมถึงติดนิสัยรักการอ่านหนังสือ

ปมปัญหานี้กระตุ้นให้ภาพอดีตอันลางเลือน แจ่มชัดขึ้นอีกครั้ง

จำได้ว่า ตอนเรียนอยู่ประมาณชั้นประถมสอง มีนักศึกษาฝึกสอนสาวคนหนึ่งมาสอนแทนครูประจำชั้นที่ลาคลอดลูก พอพวกเราซน พูดคุยเสียงดัง ไม่ตั้งใจเรียน เธอจะงัดไม้เด็ดออกมา บอกว่า ถ้าตั้งใจเรียน ตอนท้ายชั่วโมงจะเล่านิทานให้ฟัง

พวกเราพร้อมใจกันเงียบกริบโดยฉับพลัน ตั้งอกตั้งใจเรียนอย่างน่าอัศจรรย์ พอท้ายชั่วโมง ครูฝึกสอนแสนสวยหยิบหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง เล่าถึงเรื่องราวอันน่าตื่นเต้น สนุกสนาน

ผมจำได้อย่างแม่นยำว่า เป็นเรื่อง “พระอภัยมณี”

ขณะฟังอย่างเพลิดเพลิน ไม่ทันไรเสียงสัญญาณหมดเวลาเรียนพลันดังขึ้น ครูฝึกสอนทิ้งท้ายการเล่านิทานว่า ถ้าอยากฟังต่อ วันต่อไปให้ตั้งใจเรียนเช่นนี้อีก

วิธีหลอกล่อของเธอได้ผลครับ พวกเราตั้งใจเรียนวิชาของครูฝึกสอนคนนี้เป็นพิเศษ ด้วยต้องการฟังตอนต่อไปของพระอภัยมณี

เรื่องราวดำเนินไปอย่างสนุกสนาน ภาพของพระอภัยมณี ผีเสื้อสมุทร นางเงือก สุดสาคร ม้านิลมังกร โลดแล่นเด่นชัดในจิตนาการของเด็กๆอย่างพวกเราในตอนนั้น แต่ภาพแห่งความฝันเหล่านี้กลับหยุดชะงักลงเมื่อครูฝึกสอนต้องกลับไปมหาวิทยาลัยของเธอ เนื่องจากจบคอร์สการฝึกสอน

ผมหงุดหงิดใจมาก เพราะเรื่องราวของพระอภัยมณีกำลังดำเนินเรื่องมาถึงตอนสนุก ผมตัดสินใจเข้าห้องสมุดโรงเรียนยืมหนังสือ “พระอภัยมณี” ฉบับร้อยแก้ว เล่มเดียวกับครูฝึกสอนใช้เล่าให้กับพวกเราฟังมาอ่าน ค่อยๆแกะตัวหนังสืออ่านไปอย่างช้าๆ พออ่านจบตอนก็จำเอามาเล่าให้เพื่อนๆในห้องฟัง เพื่อนตัวน้อยๆต่างล้อมหน้าล้อมหลังฟังอย่างตั้งอกตั้งใจ ผมมีความสุขยิ่ง

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมมักจะแวะเวียนไปห้องสมุด อ่านหนังสือสารพัดอย่าง เรื่องโปรดในวัยเด็ก อย่างพล นิกร กิมหงวน เรียกเสียงหัวเราะได้ทุกครั้งที่อ่าน นิทานเรื่องเจ้าชายน้อย จากดินแดนดวงดาวอันไกลโพ้น เรื่องราวของทาซาน หรือ เมาคลีลูกหมาป่า คดีอันซับซ้อนของเชอร์ล็อคโฮมม์ เหล่านี้ล้วนยังโดดเด่นในความทรงจำ

ผมคิดว่า มูลเหตุหลักที่ทำให้ติดนิสัยรักการอ่าน คงเป็นเพราะหนังสือทำให้ผมมีความสุข สามารถปล่อยจิตนาการให้โลดแล่นไปกับตัวละครและเรื่องราวในหนังสือ

นี่คงเหมือนกับสิ่งที่นักวิชาการด้านหนังสือเด็กคนหนึ่งของออสเตรเลียแนะพ่อแม่ชาวออสซี่ว่า การกระตุ้นให้เด็กรักการอ่านคือ การสร้างบรรยากาศให้เด็กรู้สึกว่า อ่านหนังสือแล้วสนุก มีความสุข

การบังคับให้เด็กนั่งอ่านหนังสือ หรือขู่เด็กว่า ถ้าไม่อ่านหนังสือจะถูกลงโทษอย่างโน้นอย่างนี้ นอกจากจะไม่กระตุ้นให้เด็กรักการอ่านแล้ว ยังเป็นการผลักให้เด็กเกลียดหนังสือด้วยซ้ำไป

กระบวนการเล่านิทานให้ลูกน้อยฟัง การกระตุ้นและสร้างบรรยากาศให้เด็กมีความสุขและสนุกกับการอ่านหนังสือ ถือเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์

ตามห้องสมุดชุมชน หรือในร้านหนังสือใหญ่ๆของประเทศออสเตรเลีย มักจะจัดอบรมเกี่ยวกับการเล่านิทานให้ลูกฟัง ครั้งหนึ่งผมเข้าร่วมฟังการอบรม ปรากฏว่านอกจากจะมีพ่อแม่มือใหม่มาร่วมฟังการอบรมแล้ว ยังมีครูโรงเรียนอนุบาล และอาสาสมัครนักเล่านิทานมาร่วมฝึกอบรมด้วย

วิทยากรผู้ฝึกอบรม เป็นนักเขียนเรื่องเด็กที่โดดเด่นมากคนหนึ่งของออสเตรเลีย อายุร่วมแปดสิบปี...ใช่ครับ ผมพิมพ์ไม่ผิด อายุขนาดเป็นปู่ หรือปู่ทวดของเด็กๆที่อ่านหนังสือของเขาได้เลย แทบไม่น่าเชื่อว่า คนแก่ขนาดนี้ยังสามารถเขียนเรื่องราวสื่อสารกับเด็กตัวน้อยๆได้อย่างมีพลัง

เขาแนะนำว่า ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องหาหนังสือที่เหมาะสมกับวัยและความสนใจอยากรู้ของลูกมาให้อ่าน เด็กอ่อนวัยอ้อแอ้...หัดพูด ควรจะใช้หนังสือผ้า หรือหนังสือภาพ มากระตุ้นให้เด็กอยากรู้ อยากสัมผัส พอเด็กโตขึ้นมาถึงหาหนังสือเด็กที่มีรูปภาพและตัวหนังสือเรื่องราวมากขึ้น

นอกจากนั้น พ่อแม่อาจเลือกใช้หนังสือเด็กบางเล่มมาเป็นสื่อช่วยสอนให้ลูกน้อยได้เรียนรู้จักชีวิต และสังคม เช่นในช่วงที่แม่กำลังจะมีน้องคนใหม่ ควรจะหาหนังสือเด็ก หรือหนังสือภาพเกี่ยวกับการตั้งครรภ์มาให้ลูกดู เพื่อเตรียมสภาพจิตใจให้พร้อมต้อนรับน้องคนใหม่ของบ้าน

เวลาเล่าเรื่องราว หรือนิทานในหนังสือให้ลูกหรือเด็กตัวน้อยๆฟัง ไม่ควรอ่านแบบเนิบนาบ ยืดเยื้อ น่าเบื่อหน่าย แต่ควรเพิ่มน้ำเสียงและท่าทางให้เด็กรู้สึกสนุกสนานไปกับตัวละครของเรื่อง น้ำเสียง ลีลา บุคลิกในการเล่านิทานของแต่ละคนไม่จำเป็น ต้องเหมือนกัน

การเล่านิทานให้ลูกฟัง ไม่จำเป็นต้องผูกขาดการเล่าเรื่องไว้เพียงคนเดียว แต่อาจจะให้ลูกช่วยแสดงความคิดเห็น หรือสอบถามข้อเท็จจริงบางอย่างกับลูก อย่างเช่น “ลูกคิดว่าหมาป่าทำถูกต้องไหมที่ไปรังแกลูกแกะ” “ถ้าลูกถูกรังแกแบบลูกแกะ ลูกจะทำอย่างไร” “ลูกแกะในรูปมีกี่ตัว...ช่วยกันนับหน่อยสิ” ฯลฯ

หรืออาจจะให้ลูกเล่านิทานที่เพิ่งได้รับฟังไป ต่อมาอาจจะพัฒนาให้ลูกช่วยแต่งนิทานให้ใหม่ ตามจิตนาการของลูก เป็นต้น

เหล่านี้ ล้วนเป็นเกร็ดเล็กๆน้อยสำหรับการสร้างบรรยากาศให้ลูกรักการอ่าน

ตอนนี้ ผมคงต้องขอตัวไปเล่านิทานให้ลูกฟังก่อนนะครับ

........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 13 เดือน มกราคม 2549




Create Date : 25 ธันวาคม 2550
Last Update : 25 ธันวาคม 2550 10:03:50 น. 2 comments
Counter : 662 Pageviews.

 
แวะมาอ่านค่ะ


โดย: ice jasmine วันที่: 26 ธันวาคม 2550 เวลา:17:46:09 น.  

 
ดีจังคับ

ขอแอดไว้

เผื่อต้องเป็นพ่อมั่ง

แต่คงอีกนานคับ

ยังวัยรุ่นอยู่เลย


โดย: X RoBiN วันที่: 7 มกราคม 2551 เวลา:18:12:31 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.