Group Blog
 
All Blogs
 
วาทกรรมประชาธิปไตย (1)

ขณะเขียนต้นฉบับ...เมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากประเทศผ่านการยึดอำนาจรัฐประหารไปเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549

ตอนนี้ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน เห็นจะหนีไม่พ้นป้ายหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองใหญ่น้อย เมื่อเปิดสื่อกระแสหลัก (Mainstream media) ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ล้วนแล้วแต่มีข่าวเลือกตั้ง

หนังสือพิมพ์ทุกฉบับจัดสรรพื้นที่พิเศษให้กับการนำเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นการเฉพาะ สถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่างส่งทีมนักข่าวประกบพรรคการเมือง และนักการเมืองชื่อดัง เพื่อหวังนำเสนอเป็นข่าวทุกต้นชั่วโมง

ยิ่งใกล้วันเลือกตั้ง...ปริมาณข่าวสารเกี่ยวกับนักการเมืองยิ่งท่วมทะลัก โพลสำรวจประชามติสารพัดสำนักแย่งกันเปิดเผยตัวเลขอวดโอ่ความแม่นยำในการพยากรณ์ผลลัพธ์ของการเลือกตั้ง

แน่นอนครับว่าในวันเลือกตั้ง...สื่อทุกค่ายทุกสำนักต้องนำเสนอข่าวการเลือกตั้งประหนึ่งรายการบันเทิงโชว์ประเภทเรียลลิตี้ ถ่ายทอดสดการนับคะแนนเสียง วิเคราะห์ผลคะแนน แทบจะนาทีต่อนาที

เมื่อพ้นวันเลือกตั้ง...มั่นใจได้เลยว่าสื่อกระแสหลักเหล่านี้คงยังเกาะติดกระแสการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลอย่างใกล้ชิด สูตรคณิตศาสตร์การเมืองบวกตัวเลขจำนวนส.ส.ของแต่ละพรรคจะถูกนำเสนอประหนึ่งเลขเด็ดในวันหวยออก

ปรากฏการณ์ของการให้ความสำคัญกับกระบวนการเลือกตั้ง รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลเช่นนี้ กล่าวได้ว่า เป็นการตอกย้ำ...ผลิตซ้ำชุดความคิดหนึ่งที่เรียกกันว่า

“วาทกรรมประชาธิปไตยแบบตัวแทน”

แล้วเจ้าคำว่า “วาทกรรม” นี่มันคืออะไรละครับ

วาทกรรม (Discourse) ในที่นี้มีความหมายแตกต่างและกว้างไกลกว่าการตีความถ้อยคำตัวอักษร หรือคำพูดในทางภาษาศาสตร์ (Linguistic)

ในหนังสือ “วาทกรรมการการพัฒนา” รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร ได้ถอดความหมายของวาทกรรมจากแนวคิดของมิเชล ฟูโก (Michel Foucault) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสชื่อดัง ว่าหมายถึง

“...ระบบ และกระบวนการในการสร้าง/ผลิต (constitute) เอกลักษณ์ (identity) และความหมาย (significance) ให้กับสรรพสิ่งต่างๆในสังคมที่ห่อหุ้มเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ความจริง อำนาจ หรือตัวตนของเราเอง นอกจากนี้วาทกรรมยังทำหน้าที่ตรึงสิ่งที่สร้างขึ้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอดรับของสังคมในวงกว้าง (valorize) กลายสภาพเป็น...”วาทกรรมหลัก” (dominant discourse)...”

กล่าวอีกนัยหนึ่งวาทกรรมคือ ชุดรูปแบบความคิดเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีการสร้างขึ้น สั่งสม และถ่ายทอดจนกลายเป็น “พลังอำนาจ” ชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้คนในสังคมจำนวนมากคิดและเชื่อว่าสิ่งนั้นๆคือ “ความจริง”

ดังนั้น วาทกรรมในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงมีระบบความคิด มีองค์ความรู้ในการอธิบายความอย่างมีเหตุมีผล ทำให้คนในสังคมส่วนใหญ่เชื่อว่าเรื่องนั้นๆคือ “ความจริง”

มิเชล ฟูโก ได้พิสูจน์แนวคิดเรื่อง “วาทกรรม” ของเขาผ่านการอธิบายเรื่อง “ความบ้า”

ฟูโกบอกว่า ความจริงเกี่ยวกับความบ้าในแต่ละยุคสมัยนั้นไม่เหมือนกัน ในสมัยยุโรปยุคกลาง “ความบ้า” ถูกมองว่าเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เป็นเรื่องน่ากลัว ด้วยเหตุนี้คนบ้าในยุคนั้นจึงถูกกีดกันให้ออกจากสังคมโดยจับใส่เรือลอยออกไปในทะเลกว้าง

ต่อมาเมื่อองค์ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ จิตแพทย์ แพทย์ศาสตร์แตกแขนงเป็นวิชาเฉพาะชัดเจนและแพร่หลายมากขึ้น วาทกรรมเกี่ยวกับความบ้าเดิมจึงถูกท้าทายและถูกลบล้างในที่สุด ทำให้คนบ้ากลายเป็นปัญหาทางจิตแพทย์ที่สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ แต่ต้องถูกจำกัดบริเวณอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลเพื่อควบคุมและบำบัดให้เป็นคนปกติ

เพราะฉะนั้น ความจริงที่เราเห็นกันอยู่ในยุคสมัยหนึ่ง เมื่อเวลาเปลี่ยน เงื่อนไขทางสังคม วัฒนธรรมเปลี่ยน ความจริงนั้นๆอาจจะปรับเปลี่ยนไปก็ได้

อย่างไรก็ตามวาทกรรมหลักชุดใดจะยืนอยู่คงทนในสังคมมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นกับว่า วาทกรรมชุดนั้นมีการใช้อำนาจ (power) ในการสร้างความรู้ (knowledge) อรรถาธิบายเกี่ยวกับความจริงในเรื่องนั้นๆ ได้มีประสิทธิภาพเพียงใด

นอกจากนั้นยังขึ้นอยู่ว่าวาทกรรมหลักชุดนั้นมีอำนาจในการกีดกัน ห้ามปรามขัดขวาง ควบคุมวาทกรรมอื่นๆอย่างมีประสิทธิผลเพียงใด

ทีนี้ลองมาดูเรื่อง “วาทกรรมประชาธิปไตย” กันบ้างนะครับ

เมื่อพูดถึงประชาธิปไตย...สังคมไทยถูกครอบงำโดยวาทกรรมหลักว่า

ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งตัวแทนไปบริหารสังคม บริหารประเทศเท่านั้น

วาทกรรมหลักนี้ถูกสร้าง และถ่ายทอด ด้วยการใช้อำนาจทั้งขู่และปลอบ...ทั้งตบหัวและลูบหลัง

หรือถ้าใช้ภาษาของนักวิชาการหลุยส์ อัลธูแซร์ (Louis Althusser) คงต้องบอกว่ารัฐมีการใช้ทั้ง “กลไกความรุนแรง” และ”กลไกอุดมการณ์” ในการสร้าง และตอกย้ำวาทกรรมหลักของสังคม

กลไกความรุนแรงของรัฐในการใช้อำนาจเชิงบังคับ ขู่เข็ญ ลงโทษให้ผู้คนในสังคมกลัวและเชื่อถือในเรื่องของการเลือกตั้ง ทำผ่านในรูปของกฎหมายรัฐธรรมนูญ กฎหมายเลือกตั้ง องค์กรของรัฐอย่างตำรวจ ศาล คณะกรรมการการเลือกตั้งจึงมีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุมและดำเนินการให้เป็นไปตามที่กฎหมายระบุ

อาทิ การระบุในกฎหมายให้คนไทยที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์จะต้องไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นจะเสียสิทธิทางการเมืองบางประการ

หรือการออกกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ระเบียบต่างๆเกี่ยวกับการเลือกตั้ง จนทำให้การเลือกตั้งกลายเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้คนไม่กล้าล่วงละเมิด เพราะหากทำผิดเช่นฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือใช้งบหาเสียงเกินกำหนดก็จะมีโทษทั้งจำและปรับ

ส่วนกลไกอุดมการณ์ ซึ่งเป็นการสร้างการยอมรับกับชุดความจริงเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบตัวแทนอย่างเนียนๆนั้น ทำผ่านสถาบันวัฒนธรรมหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการศึกษา สถาบันสื่อสารมวลชน ฯลฯ

เชื่อไหมครับว่า วาทกรรมหลักเกี่ยวกับประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งนั้น ถูกถ่ายทอดลงรากลึกไปจนถึงระดับเด็กอนุบาล เด็กประถม

เพราะเมื่อพูดว่าโรงเรียนนี้มีประชาธิปไตยหมายถึงโรงเรียนนี้มีการเลือกตั้งหัวหน้าห้อง มีการเลือกตั้งประธานนักเรียน กรรมการนักเรียนเท่านั้น

เมื่อถึงวาระการเลือกตั้งใหญ่ระดับชาติ เหล่านักเรียนตัวน้อยๆจะถูกบังคับกะเกณฑ์ให้ไปยืนถือป้าย เดินไปบนท้องถนนรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิใช้เสียง เชิญชวนให้ต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง

สำหรับองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งนั้น ถูกทำให้เป็น “ความจริง” ผ่านสื่อต่างๆ ยกตัวอย่างเช่นใน “คู่มือ คนไทยเลือกตั้งส.ส.” ของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.)ที่แจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วประเทศระบุไว้อย่างชัดเจนว่า...

“...การปกครองระบอบประชาธิปไตย คือ การปกครองที่ประชาชนมีอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ หรือเป็นการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน แต่การที่ประชาชนทั้ง 63 ล้านคน จะมาประชุมพิจารณาสร้างกฎกติกาของประเทศ หรือกำหนดว่าจะพัฒนาประเทศอย่างไร จะจัดสรรงบประมาณอย่างไร จะเก็บภาษีเท่าใด ฯลฯ นั้น เป็นไปได้ยาก จำเป็นต้องมีการเลือกตัวแทนให้ทำหน้าที่แทน

การเลือกตั้งจึงเป็นกระบวนการทางการเมืองในการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน หรือการใช้อำนาจอธิปไตยทางอ้อมโดยผ่านตัวแทนที่ตนเลือกเข้าไปทำหน้าที่แทนตน...”

สื่อมวลชนกระแสหลักก็เป็นเครื่องมือสำคัญในการเผยแพร่ ตอกย้ำวาทกรรมหลักนี้แก่ประชาชนไทย

แล้ววาทกรรมประชาธิปไตยแบบตัวแทน มันมีปัญหาตรงไหนละ

มีวาทกรรมประชาธิปไตยอื่นๆที่เป็นคู่แย้งสำคัญหรือไม่...อย่างไร ประเด็นนี้ผมขอยกไว้คุยกันต่อตอนหน้านะครับ

.....................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Thaicoon ฉบับที่เดือน มกราคม 2551



Create Date : 17 กุมภาพันธ์ 2551
Last Update : 17 กุมภาพันธ์ 2551 11:21:43 น. 0 comments
Counter : 810 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.