Group Blog
 
All Blogs
 
สอนลูกหลานให้ทันสื่อ

เมื่อตอนที่แล้ว ผมเขียนเล่าว่าขณะนี้ประเทศทางซีกโลกตะวันตกกำลังตื่นตัวที่จะศึกษา หาองค์ความรู้เพื่อให้ประชากรของเขารู้เท่าทันสื่อ ถึงขนาดมีหลักสูตรวิชา“รู้ทันสื่อ” (Media literacy) ในการศึกษาแทบทุกระดับ

คราวนี้ ผมขอเล่าเรื่องที่เพิ่งไปเยี่ยมชม การเรียนการสอนวิชานี้ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

ห้องเรียนที่ผมไปนั่งสังเกตการณ์ เป็นนักเรียนระดับชั้นประถม มีเด็กประมาณ 30 คน ครูผู้สอนจัดโต๊ะแยกเด็กนั่งออกเป็นกลุ่ม 4 กลุ่มด้วยกัน โดยครูเริ่มต้นการเรียนการสอนด้วยการฉายหนังโฆษณาทางโทรทัศน์หลายเรื่องให้เด็กๆดูประมาณเกือบ 10 นาที

หนังโฆษณาที่ครูนำมาให้ดูทุกชิ้นต่างเป็นโฆษณาที่ฉายจริง และผ่านตาเด็กนักเรียนมาแล้วทั้งสิ้น โฆษณาเหล่านี้ ล้วนเป็นภาพเรื่องราวกระตุ้นให้เด็กอยากทานขนมลูกอมสีลูกกวาด อยากเป็นเจ้าของตุ๊กตา ผมทองยาวสลวยในชุดเจ้าหญิงงามแสนสง่า หรืออยากเล่นเกมส์สนุกๆ ประเภทเตะต่อย ยิงกันเลือดสาด

เมื่อดูเสร็จ ครูจะให้เด็กๆแต่ละกลุ่มพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันว่า เมื่อพวกเขาชมโฆษณาเหล่านี้แล้ว เขาอยากได้สินค้าใดในโฆษณาที่เพิ่งดูไปเมื่อครู่บ้าง และสินค้าอะไรที่เขาไม่อยากได้ โดยให้เหตุผลด้วยว่า ทำไมถึงอยากได้ และทำไมถึงไม่อยากได้

หลังจากปล่อยให้เด็กนักเรียนตัวน้อย แสดงความคิดเห็นกันในกลุ่ม ครูให้เด็กแต่ละกลุ่มออกมาเล่าว่า เพื่อนๆในกลุ่มมีความคิดเห็นอย่างไร

เด็กหญิงตัวเล็กๆคนหนึ่ง เดินออกมาหน้าห้องเรียน บอกว่า “โทนี่อยากซื้อลูกอม เขาบอกว่ามันหวานอร่อยมากเลย แต่หนูว่าไม่ควรซื้อ เพราะมันทำให้ฟันผุ ปวดฟัน กินแล้วฟันจะหลอ”

แค่เปิดประเด็นแรก เด็กๆในห้องต่างยกมือขอแสดงความคิดเห็นกันอย่างสนุกสนาน บางคนเห็นด้วย บางคนเห็นแย้ง

มีเด็กนักเรียนชายคนหนึ่งยกมือขึ้น แล้วพูดถามครูว่า “ครูครับ ทำไมหนังโฆษณาเมื่อครู่ถึงไม่บอกละว่า กินลูกอมแล้วฟันจะผุ”

ครูอมยิ้ม ถามเด็กชายตัวน้อยๆกลับว่า “อืม...เป็นคำถามที่ดีมาก แต่ครูจะยังไม่ตอบคำถามนี้หรอกนะ ครูคิดว่าเธอน่าจะมีคำตอบดีๆอยู่เหมือนกันใช่ไหม”

เด็กชายยิ้มหน้าบาน ยืดร่างขึ้นเล็กน้อยก่อนจะตอบว่า “ครับ ผมคิดว่า เขาคงกลัวขายลูกอมไม่ได้ เขาเลยไม่บอกในโฆษณาว่า กินลูกอมแล้วฟันจะผุ”

“เก่งมากเลย แสดงว่าหนังโฆษณาที่เราดูๆกัน มันไม่ได้บอกความจริงเราทุกอย่างสินะ” ครูเปิดประเด็นถามทุกคนในห้องเรียน

หลังจากนั้นไม่นาน ประเด็นการพูดคุยของเด็กๆได้เปลี่ยนไปจากหัวข้อการอยากซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าอะไรในหนังโฆษณา เป็นประเด็นว่า โฆษณาที่เพิ่งผ่านตาไปไม่ได้บอกความจริงอะไรบ้าง

ครับ...นั่นเป็นเพียงบางส่วนของการเรียน การสอนวิชา“รู้ทันสื่อ” ของเด็กระดับประถมต้น อายุเพียง 7-8 ขวบเท่านั้น !

หลังชั่วโมงเรียน ผมมีโอกาสพูดคุยกับ David…ครูผู้สอนวิชานี้ เขาบอกว่า ตั้งใจจะกระตุ้นให้เด็กคิด และเรียนรู้จักสื่อ รู้จักธรรมชาติของสื่อด้วยตนเอง มากกว่าจะสอนให้ท่อง ให้จดจำว่าสื่อเป็นอย่างไร

David บอกว่า “อย่างโฆษณาลูกอม ลูกกวาดที่เห็นในห้อง ถ้าเราบอกเด็กเองตรงๆว่า อย่าไปเชื่อโฆษณา ที่จริงแล้วกินลูกอมจะทำให้ฟันผุ แน่นอนว่าอาจจะมีเด็กเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง แล้วยังไงละ... เราจะต้องคอยไปบอก ไปเตือนเขา เกี่ยวกับโฆษณาทุกชิ้นที่ผ่านตา ผ่านหูเขา ตลอดชีวิตเลยหรือ ดังนั้นผมคิดว่า ทางที่ดีเราน่าจะสอนให้เขารู้จักคิด รู้จักธาตุแท้ของสื่อน่าจะดีกว่า เพราะพอโตขึ้น เขาน่าจะสามารถพินิจพิจารณา เลือกเชื่อ หรือไม่เชื่อสื่อได้ด้วยตัวเขาเอง”

ครูออสซี่ผู้นี้ เล่าให้ผมฟังว่า นอกจากการสอนเรื่อง สื่อโฆษณาแล้ว รายวิชานี้ยังสอนให้รู้จักธรรมชาติของสื่ออีกหลายชนิด อย่างเช่น สื่อคอมพิวเตอร์ สื่อออนไลน์ ภัยของเกมส์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ

เด็กแต่ละระดับชั้น การเรียนการสอนจะมุ่งเน้นความลุ่มลึกของเรื่องแตกต่างกันไป

อย่างเช่นเด็กโตระดับมัธยมของโรงเรียนแห่งนี้ การเรียนการสอนวิชา “รู้ทันสื่อ” จะมุ่งให้วิเคราะห์ ข้อเท็จจริงของข่าวสาร ทั้งข่าวหนังสือพิมพ์ ข่าวโทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ โดยให้เด็กนักเรียนรวบรวมข้อมูลข่าวสารในประเด็นข่าวที่เป็นข่าวฮือฮา ประเภท นาครสนนทนา หรือ Talk of the town ในสื่อแต่ละประเภทแล้วมาวิเคราะห์กันในกลุ่มว่า อะไรคือข้อเท็จจริง อะไรคือสิ่งที่ขาดหายไปในข่าว

หรือบางครั้งอาจจะหยิบยกเอาประเด็นข่าวใหญ่ๆมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความเห็นกัน อย่างเช่นคราวที่เกิดภัยสึนามิคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย เด็กนักเรียนทุกคนต่างรับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับภัยพิบัติครั้งนี้ การเรียนวิชา “รู้ทันสื่อ” ได้เปิดโอกาสให้เด็กได้ระบายความรู้สึกเมื่อเห็นข่าวโศกนาฏกรรมที่ฉายซ้ำๆทางสื่อโทรทัศน์ และถูกตอกย้ำผ่านทางสื่อวิทยุ หนังสือพิมพ์

เด็กหลายคนสะท้อนความคิดเห็นว่า รู้สึกกลัวและเครียด หดหู่กับภาพความสูญเสียที่เกิดขึ้น เสียงของเด็กเหล่านี้ทำให้ David ต้องรีบเชิญนักจิตวิทยาของช่วยพูดคุยให้คำปรึกษา แนะนำกับเด็กนักเรียนในโรงเรียน

ครูชาวออสซี่ที่ผมพูดคุยด้วยคนนี้ แสดงความคิดเห็นว่า ด้วยพัฒนาการทางเทคโนโลยี่ ทำให้เด็กยุคใหม่เสพสื่อมากกว่า และหลากหลายชนิดกว่าคนรุ่นก่อน เด็กวัยรุ่นจำนวนมากเสพติดสื่อพร้อมๆกันทีเดียวหลายๆสื่อ อย่างเช่นเปิดเพลงฟังทางวิทยุ ขณะเดียวกันก็โหลดเพลงใหม่ๆจากคอมพิวเตอร์ พร้อมๆกับพูดโทรศัพท์มือถือกับเพื่อน หรือแชทคุยกับเพื่อนทางเนท ขณะโหลดข้อมูลทำรายงานจากอินเตอร์เนท ฯลฯ

เพราะฉะนั้นคนรุ่นใหม่เหล่านี้ จำเป็นจะต้องมีภูมิวัคซีน “รู้ทันสื่อ” อยู่ในความนึกคิด มิเช่นนั้น จะถูกสื่อควบคุม จนกลายเป็น ทาสของสื่อ

........................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 18 เดือน มิถุนายน 2549




Create Date : 08 มกราคม 2551
Last Update : 8 มกราคม 2551 10:00:29 น. 0 comments
Counter : 667 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.