Group Blog
 
All Blogs
 
สอนลูก “แพ้” ให้เป็น

หลายวันก่อน กองแนะแนวฯ มหาวิทยาลัยที่ผมสังกัดเขาจัดอบรมอาจารย์เรื่องการให้คำปรึกษา แก่นักศึกษาผู้มีปัญหาเสี่ยงทางจิต ตอนหนึ่งของการบรรยาย คุณหมอผู้ชำนาญการทางด้านจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นบอกว่า...

“...เดี๋ยวนี้คนรุ่นใหม่เป็นโรคแพ้ไม่เป็นกันเยอะขึ้น พวกนี้มีภูมิต้านทานความพ่ายแพ้ต่ำ ถ้าผิดหวังอะไรมากๆขึ้นมา อย่างเช่นอกหัก รักคุด แฟนไปมีคนรักใหม่ สอบแล้วเกรดตกลง ไม่ได้เกรดอย่างที่หวัง ฯลฯ มักทนรับไม่ได้ บางคนเป็นหนักถึงขั้นฆ่าตัวตาย ...”

คุณหมอให้ความเห็นว่า ส่วนหนึ่งที่เป็นเช่นนี้เพราะการเลี้ยงดูของพ่อแม่ในปัจจุบัน มุ่งเน้นลูกให้เก่ง ให้ชนะ กอปรกับระบบการศึกษาของไทยยังตอกย้ำเรื่องการแข่งขัน ภาพการแย่งชิงกันสอบเข้าโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยประเภทดีเด่นดังกลายเป็นเรื่องปกติของเด็กไทย

เด็กรุ่นใหม่จึงเติบโตและถูกบ่มเพาะมาด้วยแนวคิดว่า

“ต้องชนะจึงประสบความสำเร็จ”

“ต้องรวยจึงเป็นคนเก่ง”

“ต้องเป็นที่หนึ่งถึงได้รับการยกย่อง”

คำพูดของคุณหมอวิทยากร กระตุกให้ผมนึกย้อนถึงภาพเหตุการณ์การประกวดเล่นเปียโนชิงแชมป์ระดับนักเรียนประถมแห่งหนึ่ง ซึ่งผมมีโอกาสเข้าชมการแข่งขันตามคำชวนของเพื่อนผู้จัดงาน วันนั้นผู้เข้าร่วมแข่งขันแต่ละคนต่างแสดงฝีไม้ลายมือกันอย่างน่าทึ่ง แทบไม่น่าเชื่อว่าเป็นการเล่นเปียโนของเด็กวัย 7-9 ขวบ แสดงให้เห็นว่าเด็กเหล่านี้ล้วนผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างหนัก เชื่อว่าคงพรมนิ้วบนคีย์เปียโนเล่นเพลงประกวดซ้ำๆมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

หลังประกวดครบทุกคน ระหว่างรอผลการตัดสินจากคณะกรรมการ เด็กๆผู้เข้าประกวดทุกคนต่างทยอยเดินออกจากหลังเวทีมานั่งรวมกับพ่อแม่และผู้ชมอยู่ด้านหน้า ผู้เข้าประกวดวัย 7 ขวบเศษคนหนึ่งเดินตรงมานั่งข้างพ่อแม่ ซึ่งบังเอิญนั่งติดกับผมอยู่ก่อนแล้ว

ช่วงรอลุ้นผลการประกวด ผมเห็นเด็กน้อยคนนี้ผุดลุกผุดนั่ง แสดงอาการตื่นเต้นจนไม่สามารถปิดเร้น ผู้เป็นพ่อแม่ต้องคอยบอกให้เขานั่งนิ่งๆ พลางสอนลูกว่า

“...ไม่ต้องตื่นเต้น เดี๋ยวลูกก็ชนะ ได้รางวัลที่ 1 อยู่แล้วละ ลูกเล่นดีขนาดนี้ ได้ชัวย์ เสร็จแล้วเราไปกินเลี้ยงฉลองกันนะ..” เด็กชายยิ้มแฉ่ง หน้าบานตอบรับคำพ่อแม่

ทันทีที่พิธีกรบนเวทีประกาศรายชื่อผู้ได้รับรางวัลชนะการประกวด โดยไล่จากรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ขึ้นมา เด็กชายคนนั้นยกมือขึ้นพนมไหว้ภาวนา “สาธุ ขอให้ได้ที่ 1 ด้วยเถิด”

แล้วเมื่อถึงรายชื่อของผู้ได้รางวัลชนะเลิศ ยังไม่ทันที่พิธีกรจะประกาศชื่อ เด็กน้อยรีบเหยียดตัวลุกขึ้นเดินไปบนเวทีด้วยความมั่นใจว่าต้องเป็นชื่อของตน

แต่ชื่อที่ประกาศออกจากปากพิธีกรเป็นชื่อของผู้ประกวดคนอื่น เด็กน้อยถึงกับชะงักขา ยืนอึ้งไปชั่วครู่ เขามองพิธีกรแบบไม่เชื่อหูตัวเอง ก่อนปล่อยโฮ วิ่งหาพ่อแม่ทันที พลางร้องว่า

“ไม่เอาแล้ว ไม่เล่นแล้ว ไม่เล่นเปียโนอีกแล้ว ฮือ...อือ...”

ผมเห็นภาพนั้นแล้วอดสงสารเด็กน้อยไม่ได้ แต่สิ่งที่ทำให้ผมรู้สึกจุกในอารมณ์คือคำพูดปลอบลูกของพ่อแม่คู่นี้

“...ไม่เป็นไรลูก กรรมการมันห่วย สงสัยรับเงินคนชนะมา ลูกเล่นดีกว่าตั้งเยอะดันไม่ให้รางวัล...” จากนั้นคำสบถ คำหยาบอีกหลายคำปลิวหลุดออกมาจากปากแม่เด็กด้วยอารมณ์ฉุนเฉียว ส่วนผู้เป็นพ่อรีบกระชากแขนลูกชายเดินออกจากห้องประกวดทันที

การพูดแบบนี้ แม้เป็นเพียงแค่การปลอบโยนให้เด็กหายงอแง แต่ผมคิดว่า มันเท่ากับการสอนให้ลูก “แพ้”ไม่เป็นไปโดยปริยาย เมื่อเด็กเติบใหญ่ขึ้น เวลาทำผิด ทำพลาด หรือพ่ายแพ้ในเกมส์กีฬา...เกมส์ชีวิตเขาอาจกลายเป็นคนไม่ยอมรับความจริงและไม่เรียนรู้จากการพ่ายแพ้ หรือกลายเป็นคนชอบโยนความผิดหรือโทษคนอื่นมากกว่ามองเห็นข้อบกพร่อง ผิดพลาดของตนเอง

แล้วเราจะสอนลูก “แพ้”ให้เป็นได้อย่างไรครับ

ก่อนอื่นพ่อแม่ ผู้ปกครองคงต้องเป็นแบบอย่างให้กับลูก หลาน เวลาทำผิดพลาด หรือแม้แต่เล่นเกมส์แพ้ แข่งกีฬาแพ้ หรือเชียร์กีฬาทีมโปรดแล้วปรากฏว่าทีมนั้นพ่ายแพ้ คงต้องหัดควบคุมอารมณ์โกรธ ผิดหวัง เสียใจของตนเอง ไม่ใช่ไประบายอารมณ์แบบฉุนเฉียว โทษนั่น เหวี่ยงนี่ ด่าทอด้วยคำหยาบคาย

ผู้เป็นพ่อแม่คงต้องช่วยเตือนกันเองว่า ลูกเฝ้าดูและคอยเลียนแบบพฤติกรรมของพ่อแม่อยู่ พวกเราพึงระลึกไว้เสมอว่า

“ถ้าไม่อยากให้ลูกทำอย่างไร จงอย่าทำอย่างนั้นให้ลูกเห็น”

ขณะเดียวกันต้องสอนลูกหลานว่า การได้ชัยชนะเป็นสิ่งที่ดี เวลาทำอะไร จะแข่งขันอะไร ต้องทุ่มเทให้เต็มความสามารถ ต้องพยายามทำให้เต็มที่ แต่คงต้องสอนด้วยว่า ชัยชนะ” ไม่ใช่เป้าหมายที่สุดของชีวิต และ“ชัยชนะ” ไม่เท่ากับ “ความรัก” ของพ่อแม่ เพราะไม่ว่าลูกจะแข่งขันได้ชัยชนะ หรือพ่ายแพ้ ผู้เป็นพ่อแม่ยังคงรักลูกเหมือนเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

นอกจากนั้น พ่อแม่ควรแนะนำลูกด้วยว่า หากเวลาพ่ายแพ้ ลูกควรรู้จักระบายอารมณ์หรือแสดงความรู้สึกของตนเองออกมาอย่างเหมาะสม ไม่ใช่เก็บอารมณ์ ไม่พูดจากับใคร อันนั้นสุดโต่งไปครับ

การระบายความรู้สึก อาจผ่านภาษาพูดให้คนรอบข้าง หรือคนใกล้ชิดอย่างพ่อแม่ได้รู้ว่า “กำลังโมโห” “เสียใจมาก” “ต้องการกำลังใจ กำลังท้อ” ฯลฯ หรืออาจแสดงออกผ่านน้ำตา การร้องไห้

ในวัยอนุบาล เด็กเล็กอาจขาดทักษะด้านการแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง พ่อแม่ผู้ปกครองคงต้องสอนให้เด็กเข้าใจและสื่อคำพูดสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกของเขาเองออกมา

เมื่ออารมณ์ของลูกสงบลง ผู้เป็นพ่อแม่ควรเข้าไปนั่งพูดคุยกับลูกเพื่อเรียนรู้ เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึกลูก ขณะเดียวกันยังเป็นการหัดให้เด็กกล้าปรึกษาหารือในเรื่องละเอียดอ่อนของชีวิตกับพ่อแม่อีกด้วย

จากนั้นพ่อแม่ควรสอนให้ลูกเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ของตนเอง ด้วยการถามลูกว่า ถ้ากลับไปเปลี่ยนแปลง แก้ไขการแข่งขันใหม่ คิดว่าต้องปรับปรุง พัฒนาตรงไหนถึงได้ผลลัพธ์ไม่เหมือนเดิม

เหล่านี้คงเป็นเพียงแค่ตัวอย่างกว้างๆ เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองนำไปประยุกต์ใช้กับลูกหลาน

ครับ ที่ผ่านมาเราสอนให้เด็ก”เอาชนะ”กันมาเยอะแล้ว คงถึงเวลาต้องสอนให้พวกเขารู้และเตรียมรับมือกับ “ความพ่ายแพ้” อันเป็นภาคส่วนหนึ่งของชีวิตด้วยเช่นกัน

.......................................................................................................................................................................
บทความนี้ผมเขียนลง ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร Mother & Care ฉบับที่ 78 เดือน มิถุนายน 2554



Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2555 21:11:00 น. 0 comments
Counter : 1189 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สายน้ำกับสายเมฆ
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Locations of visitors to this page

Tracked by Histats.com
Friends' blogs
[Add สายน้ำกับสายเมฆ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.