'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

ใบไม้ใบสุดท้าย :โศกนาฎกรรมของคนลาวพลัดถิ่น





ใบไม้ใบสุดท้าย:โศกนาฎกรรมของคนลาวพลัดถิ่น
บุนเสิน แสงมะนี / เขียน
รศ.ดร.สุนทร โคตรบรรเทา / แปล
นานมีบุ้คส์ / จัดพิมพ์ (ครั้งที่ 4 มีนาคม 2550)


(หนังสือรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนของประเทศลาว ประจำปี 2005)





เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจากประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดของเรา เล่มแรกที่จขบ.ได้อ่าน ในเล่มประกอบด้วยเรื่องสั้นทั้งหมด ๒๔ เรื่อง อาทิเช่น...ประเพณีชีวิต...ใบไม้ใบสุดท้าย... คนไกลบ้าน...ชีวิตของฉันเหมือนนิยาย ลมทะเล สมุดบันทึกนิรนาม เพียงเพื่อความหวัง กระดานไม้ หิมะรัสเซีย แสงสว่างจากภูดอย ชีวิตและความตาย ฯลฯ

เรื่องราวส่วนใหญ่ผู้เขียนเขียนจากประสบการณ์ชีวิตของตนเองหรือเป็นเรื่องราวอันเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อของชาวลาวที่ยากจนในหมู่บ้านห่างไกลความเจริญ

เช่นเรื่อง 'ประเพณีและชีวิต' เป็นเรื่องราวของลีจู...เด็กหนุ่มที่เกิดในครอบครัวชาวเขาเผ่าหนึ่งที่ยังยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีที่เคยปฏิบัติมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ นั่นคือประเพณีที่พี่น้องในครอบครัวเดียวกันจะต้องรับช่วงภาระทางบ้านรวมถึงลูกเมียของพี่หรือน้องในครอบครัวหากอีกฝ่ายต้องตายจากไปก่อน...

"ตามประเพณีของเราแล้ว ถือว่าพี่ตายพี่ยัง ผัวตายผัวยัง สิ่งนั้นก็หมายความว่า พี่ตายก็ต้องเป็นน้องชายแทน เพื่อไม่ให้เสียเลือดเนื้อของผู้เป็นพี่...ลีจูเอย ลูกต้องแต่งงานกับพี่สะใภ้ และรับภาระเลี้ยงลูกเลี้ยงเมียเหมือนเลือดเนื้อเชื้อไขที่เกิดกับอกของตนเอง"

ลีจูจะตัดสินใจอย่างไร ? ในเมื่อเขานับถือพี่สะใภ้ดังเป็นพี่ของตัวเอง ตัวเขาเองก็ผ่านการศึกษามาแล้วในระดับหนึ่ง และยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะกลับไปเรียนต่อ...ประการสำคัญเขามีหญิงคนรักที่วาดหวังอนาคตร่วมกันอยู่แล้ว...

นั่นเป็นตัวอย่างของเรื่องสั้นที่บอกเล่าถึงวิถีชีวิตและความเชื่อ ของผู้คนในแถบชนบทของลาว...ยังมีอีกหลายเรื่องที่ผู้เขียนได้หยิบยกเอาประสบการณ์ของตัวเองเมื่อต้อง "พลัดถิ่น" ไปใช้ชีวิตในดินแดนห่างไกล ซึ่งต้องพบพานกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยว อ้างว้างท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่แปลกเปลี่ยนและไม่คุ้นเคย...ที่กัดกร่อนและกินใจที่สุดก็คือ...ความคิดถึงบ้านนั่นเอง

อย่างเรื่องเล่าถึงชีวิตในยามสงครามของคุณตาคนหนึ่งบนถนนกาเลนิน กรุงมอสโก ใน "ใบไม้ใบสุดท้าย"...ชายชราผู้เปรียบเสมือนใบไม้ใบสุดท้าย...รำพึงให้ผู้เขียนฟังว่า..

."ลูกชายเห็นต้นไม้นั่นไหม ใบมันร่วงโรย...ใบไม้ต้นนี้ยังร่วงไม่หมด มันยังเหลือไว้ใบหนึ่งที่เคลื่อนไหวปลิวสะบัดพัดต้านกับสายลมและฤดูกาล ด้วยความคึกคะนองของสิ่งมีชีวิต แต่มันก็เหลืองซีดเหมือนคนแก่ชรา... และก็จะร่วงหล่นทุกใบในที่สุด"

เรื่องเล่าของชายชรา...ทำให้เขาผ่านวันคืนเหงา ๆ ในต่างแดนได้อย่างตระหนักรู้และเข้าใจในชีวิต...





ยังมีอีกหลากหลายเรื่องราวที่...เมื่ออ่านแล้ว...ได้ฉุกคิด ถึงชีวิตและความเป็นไปในสังคมรอบตัว ด้วยสำนวนภาษาที่เรียบง่าย มีน้ำเนื้อแห่งความซื่อใสบริสุทธิ์
ปราศจากวี่แววแห่งการเสียดเย้ยหรือประชดประเทียดเสียดสีอย่างที่เคยคาดคิด(นึกเดาเอาเอง)ว่า...วรรณกรรมจากดินแดนที่มีคำนำหน้าประเทศว่า...สาธารณรัฐฯน่าจะเป็นเช่นนั้น

ในแง่ของความบันเทิงและรสวรรณศิลป์ ในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ก็มีอยู่อย่าง...เต็มเปี่ยม สมคุณค่าวรรณกรรมรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนเลยทีเดียว

จากคำนำผู้แปล :

"...บุนเสิน แสงมะนี เขียนแต่ละเรื่องชวนให้อ่าน ชวนให้ติดตาม ตั้งแต่ชื่อเรื่อง การผูกเรื่อง การเดินเรื่อง ตัวละคร ถ้อยคำ วลี ประโยค และคำพูดที่สรรมาใช้ แต่ละเรื่องมีคติให้ข้อคิดเกี่ยวกับชีวิต การต่อสู้ การแก้ปัญหา การดิ้นรนเอาตัวรอด เพื่อการดำรงชีวิตและการอยู่ในสังคมที่ท้าทาย แข่งขัน และยึดมั่นในค่านิยมจารีตประเพณีของบ้านเกิดเมืองนอน ..."


เกี่ยวกับผู้เขียน :

ท่านบุนเสิน แสงมะนี เกิดที่เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ จบปริญญาตรีจากเวียงจันทน์ และจบปริญญาด้านการทูตจากมหาวิทยาลัยนานาชาติ กรุงมอสโก สหภาพโซเวียต
ในอดีตเขาเป็นผู้นำนักศึกษาหนุ่ม-สาวลาวที่ศึกษาอยู่ในสหภาพโซเวียต ขณะเขียนหนังสือได้เป็นผู้ก่อตั้งวารสารนักศึกษาลาว
บทประพันธ์ของเขาปรากฏอยู่ในที่ต่างๆ มากมาย เช่นเรื่องสั้นกลับคืนสู่บ้านแม่ คนคืนคน ยิ้มไม่ยอมเป็นอดีต แผ่นดินแม่
และใบไม้ใบสุดท้าย ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสั้นที่เขาเขียนขึ้นเมื่อปี ๑๙๘๙ และรวมอยู่ในหนังสือรวมเรื่องสั้นชุดใบไม้ใบสุดท้าย ปี ๑๙๘๐
เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้นของวารสารวรรณศิลป์ ปี ๑๙๙๔
เป็นผู้ชนะเลิศการประกวดเรื่องสั้นของกองทัพประชาชนลาว ปี ๒๐๐๕
เป็นนักเขียนรางวัลซีไรท์ประเภทเรื่องสั้นจากประเทศลาว
ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมการบริหารกระทรวง กระทรวงศึกษาธิการ

เกี่ยวกับผู้แปล :

รศ.ดร.สุนทร โคตรบรรเทา สำเร็จการศึกษาครุศาสตร์บัณฑิตและครุศาสตร์มหาบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และปริญญาเอกทางปรัชญาในสาขาการบริหารการศึกษา การศึกษาผู้ใหญ่และการศึกษาชุมชน จากมหาวิทยาลัยโอเรกอน สหรัฐอเมริกา
และเรียนภาษาเยอรมันเป็นภาษาที่สองในการทำปริญญาเอก
เคยผ่านงานองค์การความช่วยเหลือระหว่างประเทศ ของสหรัฐอเมริกา(ยูเสด) องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนอยู่ในระดับปริญญาตรี โท และเอก อยู่ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เป็นนักเขียน นักแปลหนังสือวิชาการและวรรณคดี และนักภาษา สำหรับงานเขียนด้านภาษา มีหนังสือหลักภาษาอังกฤษขั้นสูง การอ่านและความเข้าใจ ตำราเรียนภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศ ตำราเรียนภาษาเยอรมัน และภาษาญี่ปุ่น


..หนังสือดี ๆ อีกหนึ่งเล่ม นำมาชวนกันอ่านค่ะ









 

Create Date : 27 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 2 ตุลาคม 2551 14:26:48 น.
Counter : 5958 Pageviews.  

บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน ~ ไต้ซื่อเจี๋ย (โตมร ศุขปรีชา : แปล)





บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน
ไต้ซื่อเจี๋ย / เขียน
โตมร ศุขปรีชา / แปล
สำนักพิมพ์บลิส / พิมพ์ ตุลาคม 2547



เรื่องย่อ : (จากปกหลัง)


ในยุคปฏิวัติวัฒนธรรมจีน หนุ่มชาวเมืองเคราะห์ร้ายสองคน คนหนึ่งเป็นลูกชายของหมอฟัน อีกคนเป็นลูกชายหมอ ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่อง
ทั้งสองถูกส่งไปชนบทจีน เพื่อล้างความคิดแบบตะวันตก โดยต้องทำงานหนัก ทำตัวประหนึ่งกรรมกรไร้การศึกษา
ต้องปฏิเสธความคิดและความรู้ทั้งหมดที่เคย เรียนรู้มา มีเพียงความสามารถโดดเด่นในการเล่าเรื่องที่ช่วยให้ทั้งคู่อยู่รอดได้
คือต้องรับหน้าที่ไปดูหนังในอีกหมู่บ้านหนึ่งแล้วกลับ มาเล่าเรื่องให้คนในหมู่บ้านฟัง

แต่แล้วทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เมื่อ ทั้งคู่พบและร่วมกันขโมยขุมทรัพย์ที่ซุกซ่อนอยู่
ซึ่งทางการถือว่าเป็นตัวบ่อนทำลายประเทศจีน นั่นคือวรรณกรรมชั้นเยี่ยมของโลกของนักเขียนนามบัลซัค
และเมื่อทั้งคู่นำไปอ่านให้ลูกสาวของช่างเย็บผ้าในหมู่บ้านฟัง
ระหว่างนั้นเองเด็กหนุ่มสองคนตกหลุมรักสาวน้อย

หนังสือของบัลซัคและสาวน้อยช่างเย็บผ้าได้ปลุกหลายสิ่งซึ่งเคยหลับไหลในตัวสองหนุ่มให้ตื่นขึ้น...





"บัลซัคกับสาวน้อยช่างเย็บผ้าชาวจีน" แปลจาก Balzac et la Petite Tailleuse Chinoise นวนิยายเรื่องแรกของนักเขียนชาวจีน ไต้ซื่อเจี๋ย ซึ่งเขาเขียนโดยอาศัยข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของตนเอง จากการที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกส่งตัวไปยังแถบชนบทของจีนเพื่อ..."ดัดแปลงตัวเอง" ก่อนที่จะลี้ภัยไปอยู่ประเทศฝรั่งเศส จนได้เป็นผู้กำกับภาพยนต์มีชื่อ...

(จากคำนำสนพ.) ... เขาเขียนนิยายจากความทรงจำ ในฐานะเหยื่อคนหนึ่งของการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่สิ่งที่เสนอกลับละมุนละไม กินใจด้วยอารมณ์แห่งรักและความหอมหวานของเสรีภาพในวัยแรกรุ่น ซึ่งทำให้ผลงานของเขาข้ามพรมแดนแห่งเชื้อชาติได้อย่างสง่างาม...กวาดรางวัลในฝรั่งเศสไปถึง 5 รางวัล ...อีกทั้งกลายเป็นนิยายแพร่หลายแปลไปถึง 26 ภาษาทั่วโลก"


(ส่วนตัว) อ่านได้เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ ค่ะ ไม่ถึงกับประทับใจมาก มันมีข้อติง ๆ อยู่นิดหนึ่งว่า คนเล่าเขาเล่าบางเรื่องเสียละเอียดลออ (คนเขียนคงจำฝังใจกับเหตุการณ์นั้น ๆ ) แต่บางจุดที่น่าจะเป็นแก่นของเรื่องเขากลับข้ามในรายละเอียดไปเฉย ๆ ซะงั้น เลยทำให้อ่านจบไปแบบงง ๆ

จึงทำให้รีวิวได้แบบสั้น ๆ งง ๆ แบบนี้...














 

Create Date : 21 เมษายน 2551    
Last Update : 21 เมษายน 2551 16:21:25 น.
Counter : 1576 Pageviews.  

~ เหมาโหลถูกกว่า ~ เนื่องน้อย ศรัทธา แปลและเรียบเรียง






"เหมาโหลถูกกว่า"

แปลจาก 'Cheaper by the Dozen' และ 'Belles on Their Toes'
By : Frank B. Gilbreth,Jr. and Ernestine Gilbreth Carey
แปลโดย : เนื่องน้อย ศรัทธา
พิมพ์โดย บ.สร้างสรรค์บุ๊คส์ จำกัด
(เล่มนี้พิมพ์ครั้งที่ 12 เมื่อ พฤศจิกายน 2545)



สนุกสนานกับการจัดระบบทุ่นแรง ทุ่นเวลาท่ามกลางความยุ่งเหยิงวุ่นวาย
ชุลมุนชุลเก แต่เต็มไปด้วย 'ประสิทธิภาพ' ของพ่อแม่ที่มีลูกๆ เพียงแค่ 'สิบสอง' คน






มาปรับ เปลี่ยนโหมดอารมณ์ อันรันทดหดหู่จากเดอะไคท์รันเนอร์ มาเป็นเริงร่าขบขันต้อนรับฃ่วงวันแห่งครอบครัวนี้นะคะ

หนังสือเล่มหนาปึกเล่มนี้...(ฉบับที่ที่บ้านเคยมีอยู่เป็นปกแข็ง หนามาก...เป็นหนังสือที่ ในวัยเด็กจนโตเข้าสู่วัยรุ่น และวัยทำงานต้น ๆ เราไม่เคยคิดจะอ่าน...
จนเมื่อหนังสือเล่มนั้นได้อันตรธานไปจากชั้นแล้วนั่นแหละ และไปเจอคำวิพากษ์วิจารณ์ที่นั่นที่นี่...ถึงจะนึกอยากอ่านขึ้นมา ต้องไปขวนขวายหาซื้อมาครอบครอง )

อ่านแล้วก็วางไม่ลง ด้วยความสนุกสนานในเรื่องราวของครอบครัวใหญ่ ที่บอกเล่าด้วยสำนวนที่บ่งบอกถึงอารมณ์ขัน แต่ซาบซึ้งและอบอุ่นล้นเหลือ...เราสามารถรับรู้ได้ถึงความสัมพันธ์ ความผูกพันอันแน่นเหนียวระหว่างคนในครอบครัวใหญ่ ๆ ...

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เรื่องเล่าถึงคนเป็นพ่อ...แด้ด ผู้มีระบบระเบียบในการบริหารจัดการลูก ๆ และงานของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ





"เหมาโหลถูกกว่า" เป็นเรื่องราวของครอบครัวกิลเบร็ธ ที่มี แฟรงค์ บังเกอร์ กิลเบร็ธ บิดาผู้เป็นวิศวกรและนักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน ผู้เปี่ยมไปด้วยความสามารถ
กับลิเลียน มอลเลอร์ กิลเบร็ธ มารดา...ผู้เป็นบัณฑิตทางจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย...ยอดหญิงผู้เปี่ยมไปด้วยความทรหดอดทน
เธอมีลูกถึง 12 คน เพราะสามีของเธอเป็นคนรักเด็ก และอยากมีลูกเยอะ ๆ ...

"แม้แต่จำนวนหนึ่งโหลที่มีอยู่แล้วก็ยังไม่เป็นที่พอใจของแด้ดนัก บางครั้งท่านพิจารณาดูพวกเรา แล้วหันไปพูดกับแม่...
'ไม่เป็นไรหรอกนะลิลลี่ เธอได้ทำอย่างดีที่สุดของเธอแล้ว'..."






จากโปรยปกหลัง...(บางส่วนจากบทที่ 8)

"พวกเราลูก ๆ รักแด้ดทุกคน "

วันที่สหรัฐอเมริกา เข้าสู่สงครามโลกครั้งแรกแด้ดส่งโทรเลขไปถึงประธานาธิบดีวิลสัน ใจความว่า..."จะถึงวอชิงตันโดยรถไฟขบวน 7.30 น. ถ้าท่านไม่ทราบจะใช้ผมอย่างไร ผมจะบอกท่านเอง "

นี่คือการเสนอความสามารถแบบเปิดอกของแด้ด โดยที่ประธานาธิบดีวิลสันไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน และไม่รู้ด้วยว่าแด้ดจะแบ่งเบาแอกที่ท่านประธานาธิบดีแบกอยู่ได้หรือไม่...แต่กมีคนไปรับท่านที่สถานีรถไฟ...

กว่าจะพบแด้ดอีกครั้ง ท่านก็แต่งเครื่องแบบไปเสียแล้ว มีหน้าที่ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการทุ่นแรงทุ่นเวลาในโรงงานผลิตปืนกล

ท่านอาจจะเป็นจี.ไอ. ที่ตัดผมสั้นที่สุดในกองทัพ แล้วเมื่อไรที่ท่านเดินเข้ามาในห้องโถง แล้วร้อง "แถวตร๊ง" พวกเราต้องกระทบส้นรองเท้าให้ท่านได้ยิน !


แค่นี้ก็คงมองเห็นอารมณ์ขันของผู้เล่า และความเป็นนักบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพของ"แด้ด"

หนังสือแบ่งออกเป็นสองภาค คือภาคที่หนึ่งเล่าเรื่องราวของแด้ดกับลูก ๆ ในขณะที่แด้ดยังมีชีวิตอยู่ ส่วนภาคที่สองนั้นเป็นเรื่องราวหลังจากแด้ดสิ้นชีวิตแล้ว ซึ่งตอนนั้น แอนน์ลูกสาวคนโตของครอบครัวมีอายุเพียง 18 ปี และเจน น้องนุชสุดท้องเพิ่งจะสองขวบ
แม่...ลิเลียน กิลเบร็ธต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ครอบครัวยังคงเป็นครอบครัวที่มีระบบระเบียบเช่นเดียวกับเมื่อแด้ดยังมีชีวิตอยู่...

คำนำของผู้แปลและเรียบเรียง

ดิฉันได้อ่านเรื่องนี้ครั้งแรกในหนังสือ The Reader’s Digest ฉบับนักเรียน แม้จะเป็นเพียงตัดตอนย่อออกมาสั้นๆ ก็ยังรู้สึกติดใจมาก ยิ่งได้ทราบว่าเป็นเรื่องจริงก็ยิ่งทำให้อยากติดตามมากขึ้น

ดิฉันได้พบหนังสือชุดนี้ที่ร้าน “รวมสาส์น” มีอยู่สองเล่ม เล่มหนึ่งคือ Cheaper by the Dozen อีกเล่มหนึ่งคือ Belles on Their Toes เล่มแรกเป็นเหตุการณ์ณ์ตอนที่พ่อหรือ “แด้ด” ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนเล่มหลังเป็นตอนที่ “แด้ด” สิ้นชีวิตแล้ว มิสซิสกิลเบร็ธผู้เป็นแม่ต้องดูแลเลี้ยงดูบุตรทั้งสิบสองของเธอต่อมาตามลำพัง ผู้ประพันธ์ทั้งสองก็คือสองในจำนวนสิบสองนั่นเอง

นอกจากท่านผู้อ่านจะได้รับความบันเทิงในแง่ความรัก ความอบอุ่น ความสัมพันธ์อันดีระหว่างบุคคลในครอบครัวขนาดใหญ่ครอบครัวหนึ่งแล้ว ท่านยังอาจจะได้ข้อคิดอันเป็นประโยชน์แก่ครอบครัวไทยๆ เราในสมัยพัฒนานี้อีกบ้างเช่นกัน ข้อคิดจากปัญหาอันเกิดจากแม่บ้านต้องออกทำงานนอกบ้านและต้องรับผิดชอบงานบ้าน รวมทั้งการติดตามการเจริญเติบโตของบุตรธิดาทุกคนอย่างใกล้ชิด ครอบครัวในเรื่องนี้ถือหลักการทำงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นงานนอกบ้านหรืองานบ้านว่าจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ทุ่นแรงทุ่นเวลาและประหยัดที่สุดด้วย มิสเตอร์กิลเบร็ธเป็นผู้ให้ระบบพิมพ์สัมผัสแก่บริษัทผู้สร้างพิมพ์ดีด “เรมิงตัน” เป็นที่ปรึกษาการบรรจุสบู่ผงของบริษัทลีเวอร์บราเธอร์ ฯลฯ

ในการถ่ายทอดออกเป็นภาษาไทย ดิฉันรักที่จะยังคงเรียกมิสเตอร์กิลเบร็ธว่า “แด้ด” ตามที่ผู้ประพันธ์ท่านเรียก แต่คำพูดแทนตัวของมิสเตอร์กิลเบร็ธกับลูกๆ ดิฉันขอใช้คำว่า “พ่อ” ตามความหมายบริสุทธิ์ดังเดิม

เมื่อเรื่องนี้ลงพิมพ์ใน “ศรีสัปดาห์” ท่านผู้อ่านหลายท่านกรุณาให้กำลังใจต่อการถ่ายทอดออกเป็นภาษาไทยของดิฉัน ดิฉันจึงขอถือโอกาสขอบพระคุณไว้ในที่นี้ด้วย /

เนื่องน้อย ศรัทธา
31 สิงหาคม 07

เรื่องจริงที่บอกเล่าด้วยอารมณ์ขัน แต่อบอุ่นน่ารัก น่าประทับใจ...
หยิบมาชวนกันอ่านในช่วงวันแห่งครอบครัวค่ะ...














 

Create Date : 14 เมษายน 2551    
Last Update : 14 ธันวาคม 2558 15:36:54 น.
Counter : 5408 Pageviews.  

The Kite Runner - เด็กเก็บว่าว ~ Khaled Hosseini





The Kite Runner
By Khaled Hosseini

~ There is a way to be good again ~



เพื่อนคนหนึ่ง ฝากหนังสือเล่มนี้มาให้เมื่อปีก่อนนู้น
กำกับมาด้วยว่า...อยากให้อ่าน เพราะเขาอ่านแล้วเห็นว่าเป็นนิยายที่...
ชั่วชีวิตหนึ่ง คน ๆ หนึ่งควรจะได้อ่านหนังสือดี ๆ แบบนี้สักเล่ม
ไอ้เราก็...ว้าว...ขนาดนั้นเชียวหรือ...ดูหน้าปก ชื่อเรื่อง ชื่อผู้แต่ง ตลอดจนคำโปรยบนหน้าปก...โห...เป็นหนึ่งใน unforgettable stories ทีเดียวนะ...แถมยัง powerful haunting อีกด้วย เข้าทาง ๆ
แต่มาสะดุดกะตรงที่บอกว่าเป็น portrait of modern Afghanistan นี่สิ เพราะ...ขอสารภาพว่า(เป็นไบแอสส่วนตัว) ไม่ชอบอ่านนิยายแนวเชื้อชาติ ชนชาติหรือกระทั่งศาสนาสักเท่าไหร่
(เว้นแต่จะเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่เรารู้ชัดถึงบทสรุปของมันอยู่ก่อนแล้ว)
จึงพลิกดูเนื้อในคร่าว ๆ เจอชื่อ... Rahim...Ali ...Hassan...แล้วก็ อือม์...เอ่อ...เดี๋ยวอ่านนะ...เดี๋ยวอ่าน
แล้วก็วางไว้บนกองหนังสือบนโต๊ะหัวเตียง ที่มีหนังสือกองอยู่บนนั้นแล้วนับสิบเล่ม...

บังเอิ๊ญ...ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ตัวเองต้องวุ่นวายอยู่กับความเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งของพ่อและของตัวเอง จนออกจะลืมเลือนหนังสือเล่มนี้ไป จวบจนเวลาล่วงเลยมา อะไร ๆ ในชีวิตส่วนตัวคลี่คลายไป จนค่อนข้างจะปลอดโปร่งพอที่จะมาริทำบล็อกเพื่อบอกเล่าถึงเรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
เน้นคุยเรื่องหนังสือเป็นพิเศษ เพราะถนัดอยู่เรื่องเดียว...

จึงได้เริ่มปฏิบัติการทลายกองดอง...ทั้งที่ดองอยู่ในหัว (ที่อ่านแล้วเมื่อชาติปางก่อน)...กับที่กองอยู่ในห้อง...(อีเหละเขละขละ บนชั้น บนโต๊ะ บนพื้น...)
พร้อมกันก็อ่านรีวิวหนังสือจากบรรดาบล็อกเกอร์หนอนหนังสือตรงนู้นตรงนี้
เห็นชื่อหนังสือเล่มนี้บ่อยครั้งเข้า อ๊ะ...ของเขาต้องดีจริงซีน่า บางคนเขาให้ถึงสิบดาวแน่ะ จึงหยิบมาอ่านอย่างตั้งอกตั้งใจอีกครั้ง...




บทแรก ๆ ก็ยังไม่อะไรมาก ก็รู้สึกอยู่ว่า อือม์ เขาเล่าเรื่องได้ลื่นไหลดี เป็นวิธีเล่าเรื่องในแบบที่เราชอบอ่านด้วยแหละ...
เป็นลักษณะกระแสสำนึกของผู้เล่าคือ อามีร์ ซึ่งในเรื่องเป็นนักเขียนมีชื่อชาวอัฟกัน - อเมริกัน เล่าย้อนไปถึงวัยเด็กของเขากับเด็กชายชาวชนเผ่า Hazara คนหนึ่ง ซึ่งเป็นบุตรชายของอาลี คนรับใช้ของเขา และมีเรื่อราวเล่าขานว่า แม่ของฮัสซันนั้นเป็นโสเภณีที่ทิ้งฮัสซันไปหลังจากให้กำเนิดเด็กชายเพียงห้าวัน

อามีร์เป็นลูกชายของนักธุรกิจผู้ร่ำรวย ผู้ที่เขาเรียกว่า Baba - - ทั้งอามีร์และฮัสซันเติบโตมาคู่กัน ในเขตบ้านเดียวกัน และดูดนมจากแม่นมคนเดียวกัน - - หากสถานภาพของทั้งสองก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

And, under the same roof, we spoke our first words.
Mine was _Baba_.
His was _Amir_. My name.


ในความเป็นเด็ก อามีร์ไม่กล้าเรียกฮัสซันว่า "เพื่อน" ได้เต็มปากเต็มคำนัก เพราะในความรู้สึกของเขา ฮัสซันเป็นเพียง "ลูกชายคนรับใช้ " ที่มีหน้าที่ต้องบริการเขาเท่านั้น...

ถึงตอนนี้เราก็ยังไม่รู้สึกอะไรนะ เข้าใจและเห็นใจอามีร์ที่อาจจะมีความอิจฉา หรืออารมณ์หวงพ่ออย่างเด็ก ๆ บ้าง เป็นเรื่องธรรมดา...
กระทั่งพลอยเห็นขันไปกับทริกเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่อามีร์แกล้งฮัสซัน เวลาที่อ่านหนังสือให้ฮัสซันฟัง เพราะฮัสซันไม่ได้เรียนหนังสือ

(ในสมัยเด็ก ๆ ...ไม่เด็กล่ะ...โต ๆ แล้วนี่แหละ มีบ่อยครั้งไปที่เราหลอกเพื่อน ๆ คนกรุงเทพว่า...คำว่า "สลิดดก" แปลว่า ฉลาดมาก...หรือคำว่า "สึ่งตึง" แปลว่า สวย หรือรูปหล่อ...)

ความที่เที่ยวไปอ่านรีวิวมาเสียก่อนเยอะ ทำให้รู้ล่วงหน้าว่ามันต้องมีอะไรที่มากกว่านี้...พานทำให้ 'กลัว' ที่จะอ่านต่อ...เลยพักอยู่ตรงนี้นานพอสมควร


จนมาอ่านรีวิวจากบล็อกคุณทามะจัง กับ บล็อกคุณวิ ...ได้รับการันตีจากทั้งสองท่านว่า...เป็นนิยายที่ดีที่สุดเท่าที่เคยอ่านมาทีเดียว...จึงฮึดหยิบขึ้นมาอ่านต่อ...อีกครั้ง





สารภาพว่าแอบข้าม ๆ บทบรรยายบางตอนที่ผู้เล่าเล่าถึงเหตุการณ์ที่เขาได้พบเห็นฮัสซันถูกทำทารุณกรรมแล้วเขาไม่ได้เข้าไปช่วยเพราะความขี้ขลาดของเขาเอง...
หลังจากนั้น ทั้งสองก็ดูเหมือนจะเหินห่างกันไป...ความสัมพันธ์ของเด็กทั้งสองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว ฮัสซันเก็บตัว เงียบ ไม่พูด และอามีร์ก้ไม่ปริปากบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง...ถึงตอนนี้เราสงสารฮัสซันแต่ก็พยายามเข้าใจอามีร์
แต่เมื่ออ่านต่อไป ๆ ถึงตอนที่อามีร์หาวิธีเสือกไสฮัสซันกับพ่อให้ออกจากบ้าน...และวิธีที่เขาใช้นั้นเรียกได้ว่า...สกปรก...
บอกได้คำเดียวว่า...เกลียดสองพ่อลูก Baba กับ Amir จับใจ...

ตอนหลังอัฟกานิสถานเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในประเทศ อามีร์กับพ่ออพยพไปอยู่อเมริกา อามีร์แต่งงานกับหญิงสาวชาวอัฟกันคนหนึ่ง กลายเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียง ชีวิตมีความสุขดี...
แต่อยู่มาวันหนึ่งเขาก็ได้รับโทรศัพท์จากเพื่อนของพ่อ - - (ซึ่งเพื่อนพ่อเขาคนนี้เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญในชีวิตของอามีร์ทีเดียว เพราะตั้งแต่วัยเด็กมาแล้วที่เขาต้องเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ แม้กระทั่งในส่วนที่เกี่ยวกับพ่อของเขาเองจากเพื่อนของพ่อคนนี้...)
บอกเล่าถึงชะตากรรมอันรันทดของฮัสซัน และบอกว่านั่นคือผลพวงแห่งบาปกรรมที่เขากับพ่อได้ก่อให้เกิดขึ้น...
แต่อามีร์สามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้...
There is a way to be good again

(แอบรู้สึกสะใจนะที่รับรู้ได้ว่าอามีร์รู้สึกผิดและยังรำลึกถึงอดีตอันมืดหม่นในวัยเด็ก...)

และยิ่งอยากจะตอกย้ำซ้ำเติมเมื่ออามีร์ได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์อันแท้จริงของตัวเองกับฮัสซัน...หลังจากที่ฝ่ายนั้นไม่มีชีวิตอยู่เพื่อรอรับการแก้ตัวหรือแก้ไขใด ๆ จากเขาแล้ว...

แต่ก็อย่างที่ราฮิม คานบอกเขา...ว่า...มันมีอยู่นะ วิธีที่จะทำให้อะไร ๆ ดีขึ้นน่ะ เพราะอย่างน้อย ฮัสซันก็ยังทิ้งลูกน้อยอย่าง Sohrab ไว้ให้อามีร์ได้มีโอกาสแก้ตัว...แก้ไขความผิดบาปทั้งปวงที่ล่วงผ่านไป





โอ...แค่นี้ก็สปอยล์เสียจนน่าเกลียดแล้ว...ขออภัยนะคะถ้าใครจะคิดว่ารีวิวของเราจะทำให้เสียอรรถรสในการอ่าน...

แต่ขอยืนยันว่ายังมีเรื่องราวอีกมากมายที่เข้มข้นและหม่นทึม
ที่ต้องอ่านเองเท่านั้นถึงจะสัมผัสได้...
ด้วยถ้อยสำนวนที่เรียบลื่น สั้น ๆ ง่าย ๆ แต่ทรงพลัง
รับรู้ถึงความหมายหรือนัยแฝงเร้นที่มีอยู่แทบจะทุกประโยคทีเดียว

เราไม่อยากจะบอกว่านิยายเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดีที่สุดเท่าที่อ่านนิยายมาหรอกค่ะ เพราะส่วนตัวยังคิดว่า...ไม่ถึงขนาดนั้น

แต่ก็เป็นนิยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่ง...ซึ่งอาจจะจัดอันดับให้อยู่แถวต้น ๆ ...ในบรรดานิยายที่ดีที่สุดหลาย ๆ เรื่องของโลกวรรณกรรม


แต่...หากมองในแง่ที่ว่าหนังสือเล่มนี้เป็น debut ของผู้เขียนแล้ว...
หนังสือเล่มนี้ก็ประสบความสำเร็จสูงสุด...
ในอันที่จะเปิดเผยเรื่องราวของชีวิตและสังคมของผู้คนกลุ่มหนึ่งในโลกให้ได้รับรู้กันในวงกว้างอย่างตรงไปตรงมา
แต่กระแทก...กระทบใจ

อ่านเถอะค่ะ อย่ารีรอหรือหวั่นหวาดที่จะรับรู้ถึงบาปอันมืดดำของผู้อื่นด้วยเกรงว่า...มันจะเข้ามาก่อกวนมโนสำนึกของตัวคุณเอง (อย่างที่จขบ.หวั่นเกรงมาแต่ต้น) อยู่เลย...

แน่นอนว่า...หนังสือดี ๆ ต้องก่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือนในหัวใจคนอ่านไม่มากก็น้อย

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น...

...There is a way to be good again ค่ะ





**ชวนอ่าน เรื่องของ "พ่อ" ตอน "พ่อหมอ" ค่ะ











 

Create Date : 10 เมษายน 2551    
Last Update : 8 มิถุนายน 2552 13:48:38 น.
Counter : 2803 Pageviews.  

~ ด้วยรักจากอเวจี (Mother's Boys By Bernard Taylor) ~: "นิดา" (แปล)





ด้วยรักจากอเวจี
(Mother's Boys By Bernard Taylor)
"นิดา" / แปล
สนพ.หมึกจีน / พิมพ์ มกราคม 2541


...รักที่มาจากก้นบึ้งของหัวใจนั้น
ใคร ๆ ก็รู้ว่าซาบซึ้งโรแมนติคขนาดไหน
แต่หากรักนั้นมาจากอเวจีเล่า...?





ยังคงอยู่ในช่วงของนิยายแนวทริลเล่อร์หลอน ๆ แบบโรคจิต ๆ
แต่เล่มนี้เนื้อหาจะแตกต่างจากเล่มก่อนหน้านี้
เผอิญว่าพบหนังสือเล่มนี้อยู่ด้วยกันกับเล่มข้างบน แถมคนแปลคนเดียวกัน สนพ.เดียวกัน เลยนำมารีวิวไว้ใกล้ ๆ กันตรงนี้...
ในวันนี้ ...เอพริลฟูล

เรื่องย่อ :


โรเบิร์ตเป็นพ่อม่ายหนุ่มใหญ่ที่มีลูกติดถึงสี่คน...คนโตสุดอายุ 13 ปีครึ่ง - เคสเตอร์ ถัดมาคือไมเคิล - 12 ขวบ เบ็น - 10 ขวบและคนสุดท้องเป็นลูกสาวคนเดียว - เดซี่ 8 ขวบ...

เมื่อจูดิธหย่ากับโรเบิร์ตเมื่อสองปีก่อน ศาลสั่งให้เด็ก ๆ ทั้งสี่อยู่ในความดูแลของโรเบิร์ต โดยผู้เป็นแม่สามารถพบปะลูกได้อย่างน้อยเดือนละครั้ง...ซึ่งโรเบิร์ตก็ได้ปฎิบัติตามอย่างโอนอ่อนผ่อนปรน ด้วยเขาถือว่าการที่เขาได้ลูก ๆ ทั้งสี่ไว้กับตัวนั้นเป็นความโชคดีอย่างที่สุด...เขาจะเป็นคนพาเด็ก ๆ ไปเยี่ยมจูดิธและรับกลับเองทุกครั้ง...โรเบิร์ตตั้งข้อสังเกตในใจว่า...จูดิธมีความรักและใส่ใจให้แต่กับลูกชายคนโตสองคนของเธอ - - เคสเตอร์กับไมเคิล...แต่ส่วนที่เธอแสดงต่อเบ็นกับเดซี่นั้นดูห่างเหินและจืดเจื่อนเต็มที...

โรเบิร์ตมีคนรักใหม่ที่แสนดีคือ "เน็ตต้า" ซึ่งในระยะแรก ๆ ดูเหมือนว่าเธอจะเข้ากันได้ดีกับเด็ก ๆ ทั้งสี่ หากนานเข้าหลังจากที่เคสเตอร์กับไมเคิลได้ไปพักกับผู้เป็นแม่บ่อยครั้งขึ้น จูดิธได้ปลูกฝังความเกลียดชังเน็ตต้าลงในหัวใจของเด็กชายวัยรุ่นทั้งสองอย่าวลึกล้ำ...จากน้าเน็ตต้าผู้ใจดี เธอกลายเป็นนางมารร้ายผู้เข้ามาขวางกลางระหว่างพ่อกับแม่ไม่ให้มีโอกาสกลับมาคืนดีกันได้...

เด็กชายทั้งสองจึงต้องหาทางกำจัดนางมารร้ายนั้นให้ออกไปจากชีวิตของแม่ของพวกเขาให้ได้...

แล้วพวกเขาก็สบโอกาส...เมื่อวันหนึ่งพ่อของพวกเขาต้องเดินทางไปเยี่ยมมารดาที่ต่างเมือง...ทิ้งเน็ตต้าไว้ตามลำพังกับเด็ก ๆ ทั้งสี่...
พร้อมกับปิดประตูแห่งความหวัง ใส่หน้าเคสเตอร์ด้วย 'ข่าวดี' ที่ว่า...เมื่อกลับมาเขากับเน็ตต้าจะแต่งงานกัน...





อ่านแล้วหลอนมาก ๆ เป็นนิยายอีกเรื่องที่เปิดเปลือยและตีแผ่ซอกมุมอันมืดดำในจิตใจมนุษย์ได้อย่าง...น่าขนลุก!

จูดิธ หรือ "จูดี้"ตามที่เด็ก ๆ เรียก เป็นแม่ที่น่ากลัวที่สุด...โชคดีนักที่เธอไม่ได้รักใคร่ใยดีลูกเล็ก ๆ สองคนของเธอสักเท่าไหร ไม่เช่นนั้นเธอคงปลูกฝังความก้าวร้าวอันชั่วร้าย ลงในจิตใจที่บริสุทธิ์เช่นเดียวกับที่เธอทำกับลูกชายคนโตทั้งสองคนของเธอ...
เธอเรียกความรู้สึกที่เธอมีต่อลูกชายของเธอว่า "ความรัก"...แต่เธอไม่รู้ตัวหรอกว่า...ความรักของเธอนั้นมันมีที่มาจากอเวจี...

เน็ตต้าหญิงสาวที่แสนจะอ่อนหวานและมองโลกในแง่ดีจะสามารถเอาชนะความเกลียดชังที่ฝังลึกของเด็กชายทั้งสองได้หรือไม่ ? อย่างไร ?

และเธอกับโรเบิร์ตจะสามารถนำพาเด็ก ๆ ก้าวพ้นห้วงแห่ง...อเวจีนี้ได้อย่างไร...



หยิบมาชวนอ่านคั่นเวลา...
หนังสือเล่มนี้เหมาะสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่...หรือคนที่กำลังจะเป็นพ่อเป็นแม่...แต่ไม่แนะนำสำหรับเด็ก ๆ ค่ะ ด้วยมีซีนที่อาจจะสั่นสะเทือนศีลธรรมและจริยธรรมอันดีงามอยู่...เยอะทีเดียว !
















 

Create Date : 01 เมษายน 2551    
Last Update : 17 พฤษภาคม 2551 14:59:32 น.
Counter : 1548 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.