'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

~สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ ~ The Name of the Rose (Umberto Eco)



สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ / The Name of the Rose
Umberto Eco / แต่ง
ภัควดี วีระภาสพงษ์ / แปล
โครงการจัดพิมพ์คบไฟ / พิมพ์




หนังสือเล่มนี้เมื่อออกมาใหม่ ๆ เป็นที่ฮือฮามาก ตามอ่านรีวิวจากหลาย ๆ ที่แล้วทำให้นึกอยากอ่านขึ้นมา สั่งซื้อผ่านเน็ต เมื่อได้หนังสือมาแล้ว เห็นขนาดของหนังสือ พลิกดูเนื้อหาด้านในอีกนิดหน่อย แล้วก็ดองเอาไว้ช่วงระยะหนึ่ง จนมาเจอกระทู้ในห้องสมุดพันทิบกระทู้หนึ่ง เขียนถึงหนังสือเล่มนี้ไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว (ต้องขออภัยจริง ๆ ที่จำเจ้าของกระทู้นั้นไม่ได้แล้ว ทั้ง ๆ ที่จำได้ว่าตัวเองได้เข้าไปแจมคุยด้วยเป็นดิบดี...) ก็เลยหยิบขึ้นมาอ่าน...

อ่านต้น ๆ ต้องทำใจค่ะ บทบรรยายยืดยาว…. แต่บอกตัวเองได้ว่าผู้แปลแปลได้ดีมากในเรื่องนี้ แม้จะยังใช้สำนวนที่ต้องแปลไทยเป็นไทยอีกเยอะ แต่ก็ไม่ถึงกับสะดุดและติดตัน

นวนิยายเรื่องนี้ดำเนินเรื่องในลักษณะเป็นบทบันทึกของบราเธอร์ผู้หนึ่ง -แอดโซ แห่งเมลค์ – ซึ่งบันทึกไว้หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วนานหลายปีทีเดียว แอดโซได้เดินทางติดตามอาจารย์ของเขา –วิลเลี่ยม แห่งบาสเกอร์วิลล์ – ไปยังอารามแห่งหนึ่งในอิตาลี อารามแห่งนี้มีชื่อเสียงว่ามีห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของคริสต์จักร มีหนังสือเก่าแก่หายากอยู่ในนั้นมากมาย...

เรื่องราวทั้งหมดในหนังสือเกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงเจ็ดวัน แต่ก็เป็นเจ็ดวันที่ยืดยาว ด้วยดูเหมือนมีเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเหลือเกิน...ในบทบันทึกได้จัดเรียงเรื่องราวออกเป็นช่วงเวลาในแต่ละวันโดยยึดตามชั่วโมงการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์ในเรื่อง เพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจถึงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

เริ่มต้นที่มีเหตุฆาตกรรม พระสงฆ์ที่ทำงานในหออาลักษณ์ถูกฆ่าตายไปรูปหนึ่ง เจ้าอาวาสจึงขอให้วิลเลี่ยม ทำการสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุแห่งฆาตกรรมนั้น ๆ ทำให้ต้องมีการย้อนเวลา มีการวางแผน ความน่าติดตามหรือเสน่ห์ของเรื่องอยู่ที่ความลึกลับซับซ้อนของห้องสมุดใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่ต้องห้ามในการสืบเสาะ...
วิลเลี่ยมสามารถสืบค้นข้อมูลเพื่อนำมาประกอบการพิจารณาได้ทุกที่ภายในอาราม ยกเว้นห้องสมุดลึกลับแห่งนั้น...

การเขียนนิยายประเภทนี้ นับว่าเป็นการท้าทายความสามารถของนักเขียนอย่างมากทีเดียว ถ้าไม่ผูกเรื่องให้น่าอ่าน น่าติดตามค้นหาราวกับให้ผู้อ่านได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการสืบเสาะ ค้นหาด้วยแล้ว ผู้อ่านอาจจะก้าวข้ามขั้นตอนแอบไปพลิกอ่านตอนจบของเรื่องเอาเสียง่าย ๆ (เหมือนที่จขบ.แอบทำกับนิยายสืบสวนสอบสวนหลายเรื่อง แหะ ๆ)...แต่อุมแบร์โต เอโก ก็สอบผ่านบทท้าทายนี้ได้ในระดับที่ดีมาก (ส่วนตัวยกเครดิตส่วนหนึ่งให้กับผู้แปลด้วยค่ะ)

หลังจากที่ทนอ่านบทบรรยายอันยืดยาว เพื่อทำความรู้จักกับตัวละครสำคัญกับฉากของเรื่องและทำความคุ้นเคยกับสำนวนภาษาของทั้งผู้เขียนและผู้แปล...
( ด้วยภาษาที่ใช้ในเรื่องนี้ค่อนข้างอลังการมมังการมาก คุณอาจจะต้องมีพจนานุกรมวางไว้ข้าง ๆ ตัวไปด้วยในขณะที่อ่าน เพื่อจะได้แปลไทยเป็นไทยไปพร้อมกัน
...ส่วนตัวชอบค่ะ ชอบการใช้ภาษาแบบนี้มาก ยกตัวอย่างพอเป็นกระสายนิดหนึ่งแล้วกัน..
อย่างตอนที่แอดโซบรรยายลักษณะของภราดาวิลเลี่ยม เขาบอกว่า... "เขาคงได้ยลมธุฤดูมาสักห้าสิบคำรบแล้ว และย่อมชราภาพมากทีเดียว..." อื้อหือ...

หรือตอนที่เขากำลังจะเริ่มเรื่องเล่าของเขา เขาได้บันทึกไว้ว่า..."....และเรื่องราวของข้าพเจ้าจักดำเนินความ เมื่อเราเดินแกล่ใกล้ถึงอารามนั้นตามเหตุอันเป็นไปในครั้งกระโน้น แลขอให้หัตถาของข้าพเจ้าจงคงมั่นมิหวั่นไหวขณะเมื่อเตรียมใจเล่าขานถึงการณ์ครั้งนั้น" ฯลฯ )

...อ่านไปได้ประมาณหนึ่งในสามของหนังสือความหนา 700 กว่าหน้า เริ่มรู้สึกสนุกล่ะ เริ่มเอาตัวเองเข้าไปในท้องเรื่อง...( พูดเหมือนยี่เกเชียว) ติดตามแอดโซกับภราดาวิลเลี่ยมอย่างตื่นเต้น ได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตหนังสือในสมัยโบราณ การคัดลอกหนังสือ การออกแบบสถาปัตยกรรม การไขรหัสจากตัวอักษร หรือการจัดเรียงหนังสือในห้องสมุด

ตลอดจนเรื่องราวของการใช้สมุนไพร ทั้งในแง่ที่ให้คุณประโยชน์และส่วนที่ให้โทษที่อาจจะเกี่ยวข้องกับความตายของหลาย ๆ คนในเรื่อง...

(โดยเฉพาะเรื่องของการใช้สมุนไพรนี้ ให้แรงบันดาลใจแก่จขบ.เป็นอย่างยิ่ง เกือบจะไปลงทะเบียนเรียนแพทย์แผนไทยกับกระทรวงสาธารณสุขอยู่แล้วเชียวในกาลครั้งนั้น ติดที่เงื่อนไขทางหน้าที่ความรับผิดชอบต่อบุพการีจึงทำให้ระงับความตั้งใจอันนั้นไป แต่ก็พยายามศึกษาด้วยตัวเองอยู่ตลอดมา...)

เมื่อผ่านบทแรก ๆ ไปแล้ว...ช่วงหลัง ๆ อ่านได้อย่างค่อนข้างเร็ว...อ่านไปลุ้นไป...แต่มาอ้อยอิ่งลงในช่วงท้าย ๆ เพราะไม่อยากให้จบ...เป็นงั้นไป...( บางคนอาจจะบอกว่า อ่านซ้ำก็ได้นี่...แต่สำหรับจขบ.แล้วมีหนังสือหลายเล่มที่เมื่อหยิบมาอ่านซ้ำ คุณจะไม่เคยได้ความรู้สึกสด ใหม่ เหมือนตอนที่อ่านครั้งแรกเลย หนังสือเล่มนี้ก็เป็นหนึ่งในหลาย ๆ เล่มนั้น ไม่ใช่หนังสือน่าเบื่อ แต่อารมณ์อยากรู้อยากเห็นของเราต่างหากที่เปลี่ยนแปรไป)

ชวนอ่านอย่างแรงค่ะ !

สั้น ๆ เกี่ยวกับผู้แต่ง (จากปกหลัง) :

อุมแบร์โต เอโก เป็นศาสตราจารย์ในวิชาสัญญวิทยานามอุโฆษ เป็นนักประวัติศาสตร์ เป็นนักปรัชญา นักสุนทรียศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญวรรณกรรมของเจมส์ จอยซ์ เขาเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยโบโลนญ่า และพำนักอยู่ในมิลาน เป็นนักสะสมหนังสือตัวยง และมีหนังสือในครอบครองมากกว่า 30,000 เล่ม เป็นผู้มีความสนใจศึกษาค้นคว้าทางวิชาการอย่างหลากหลาย นับตั้งแต่งานของนักบุญโทมัส อะไควนัส ไปจนถึงซุปเปอร์แมน

สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ เป็นผลงานนวนิยายเรื่องแรกของเอโก และได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณกรรมคลาสสิคร่วมสมัยทันที โดยมิต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์













 

Create Date : 03 มกราคม 2551    
Last Update : 9 มกราคม 2551 17:12:10 น.
Counter : 3176 Pageviews.  

เกมลูกแก้ว – เกมแห่งชีวิต

"เกมลูกแก้ว" – เกมแห่งชีวิต
( Das Glasperlenspiel – The Glass Bead Game )
ผู้เขียน : เฮอร์มานน์ เฮสเส
ผู้แปล : สดใส



(ขออนุญาตเอาของเก่ามาเล่าใหม่ เคยรีวิวเล่มนี้ลงในกระทู้เมื่อนานมาแล้วววว...)

นิยายเรื่องนี้เป็นนวนิยายเชิงจิตวิเคราะห์ ความยืดยาวของเนื้อเรื่องทั้งหมดทั้งมวลล้วนแล้วแต่บอกเล่าถึงความซับซ้อนแห่งจิตใจมนุษย์ ผ่านประวัติชีวิต และพัฒนาการของตัวเอกของเรื่อง คือ โยเซฟ คเนชท์ ผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เข้ารับการฝึกฝนบ่มเพาะในสำนักชั้นนำแห่งคาสทาเลีย ดินแดนสมมติที่ผู้ประพันธ์ได้จำลองขึ้นให้เป็นดินแดนในอุดมคติ ซึ่งผู้คนในดินแดนแห่งนี้ล้วนแต่เป็นบุคคลระดับหัวกะทิ เป็นชนชั้นปัญญาชน ซึ่งฝักใฝ่ในการศึกษา คิดค้น เกมลูกแก้ว อันเป็นเกมที่รวบรวมศาสตร์และศิลป์แขนงต่าง ๆ ไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะคณิตศาสตร์และคีตศิลป์(ดนตรี)

โยเซฟ คเนชท์ได้รับคัดเลือกโดยนายแห่งดนตรี ให้เข้ารับการศึกษาในสำนักนี้ตั้งแต่วัยเยาว์ และเขาก็ได้ทุ่มเทให้กับการฝึกฝนเคี่ยวกรำตนเองภายใต้กรอบกฏแห่งสำนัก ผ่านความสับสนขัดแย้ง ผ่านวันและวัยจนเติบใหญ่ขึ้น เมื่อวันหนึ่ง “นายแห่งเกมลูกแก้ว” ได้เสียชีวิตลง คเนชท์ก็ ’ถูก’ เลือกให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง ซึ่งเขาได้อุทิศตนให้กับตำแหน่งและทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์เป็นเวลาร่วมสิบปี แล้ววันหนึ่งเขาก็ค้นพบว่านี่ไม่ใช่สัจจะแห่งชีวิตที่เขาปรารถนา เขาต้องการชีวิตที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง เขาจึงลาออกจากตำแหน่งและไปจากสิขมณฑล
ท้ายที่สุดไม่มีใครรู้ว่า เขาได้พบกับอิสรภาพที่แท้จริงที่เขาแสวงหาหรือไม่ เพราะเขาได้เสียชีวิตลงเสียก่อน โดยการจมน้ำตายในทะเลสาบแห่งหนึ่ง

ในเมื่อเรื่องราวประวัติชีวิตของโยเซฟ คเนชท์ ได้ถูกถ่ายทอดโดยบุคคลที่สาม (พูดถึงตอนนี้ ด้วยความสามารถในการ ’สื่อ‘ สารของเฮอร์มานน์ เฮสเส ผู้อ่านจะรู้สึกคล้อยตามและเชื่ออย่างจริงจังว่า โยเซฟ คเนชท์ มีตัวตนจริง ตลอดจนถึงเชื่อว่าชุมชนแห่งเกมลูกแก้ว-คาสทาเลีย-นั้นมีอยู่จริง ) ผู้อ่านอาจจะไม่สามารถรับรู้ได้ถึงอารมณ์ ความรู้สึก รวมทั้งวิธีคิดของคเนชท์ได้อย่างลึกซึ้งเพียงพอ เฮสเสก็ได้นำเสนอออกมาในรูปแบบของบทกวี และเรื่องสั้น ว่าด้วยชีวิต (ในชาติต่าง ๆ ?) โดยอ้างว่าเป็นงานเขียนของโยเซฟ คเนชท์ (ในรูปแบบของเรื่องซ้อนเรื่อง)

ผู้อ่านที่เคยอ่านงานของเฮสเสจะพบว่า ”เกมลูกแก้ว” เป็นที่สุดของนิยายที่ว่าด้วยการแสวงหาชีวิตด้านในของมนุษย์ของเขา เรียกได้ว่า เป็นศูนย์รวมของหลากหลายชีวิตที่เขาเคยนำเสนอผ่านไป เราอาจจะพบเอมิล ซินแคลร์ (จาก “เดเมี่ยน”)ในบางบทบางตอน อาจจะพบกับสิทธารถะ ในบางจังหวะชีวิตของคเนชท์ หรืออาจจะพบแฮร์รี่ เฮอลเล่อร์ (จาก “สเต็ปเปนวูลฟ์”) และนาร์ซิสซัสกับโกลด์มุนด์ในบางแง่บางมุม ฯลฯ

หนังสือจะแบ่งออกเป็นสี่ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกจะบอกเล่าถึงความเป็นมาแห่ง"เกมลูกแก้ว" (ซึ่งส่วนนี้เป็นส่วนที่อ่านยากที่สุด ที่อ่านแล้ววาง ๆ ก็เนื่องด้วยส่วนนี้แหละค่ะ) ส่วนที่สองจะเป็นเรื่องราวประวัติชีวิตของตัวเอกของเรื่อง คือโยเซฟ คเนชท์ ส่วนที่สามเป็นบทกวีและเรื่องสั้น ผลงานเขียนของคเนชท์ (ส่วนตัวเลือกอ่านเรื่องสั้นก่อนแล้วถึงค่อยย้อนกลับมาอ่านประวัติชีวิตของเขา) ส่วนท้ายเล่มจะเป็นเรื่องราวชีวิตของผู้ประพันธ์ คือเฮอร์มานน์ เฮสเสเอง ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงโดย ทิโมธี เลียรี่ (Timothy Leary) ผู้นำขบวนการบุปผาชนแห่งทศวรรษ 1960

และนี่คือบางส่วนจากคำนำ โดย สกุล บุณยทัต

...”เฮอร์มานน์ เฮสเส” ได้นำเสนอศรัทธาแห่งการมีชีวิตอยู่ ด้วยประสบการณ์แห่งการใช้ปัญญาผ่านปริศนาแห่ง"เกมลูกแก้ว” นวนิยายที่รังสรรค์ขึ้นจากโครงสร้างแห่งเจตนารมณ์ของโลกอันไร้ขอบเขต โลกอันเป็นประเพณีนิยม....โลกอันเป็นวัฒนธรรมที่สืบช่วงตอนกันมาเป็นเวลายาวนาน...เนื้อหาของ”เกมลูกแก้ว”ถูกจัดวางให้เป็นเสมือนภาวะแห่งการวิ่งสวนทางกับกฎเกณฑ์ที่อุบัติขึ้นท่ามกลางที่มาที่ไปที่ไม่รู้จบ ขณะที่โลกเคลื่อนไหวไปทั้งด้วยความรู้แท้ที่ถูกต้องเที่ยงตรง... ความรู้เทียมที่ถูกต้อง แต่ไม่เที่ยง และความรู้เท็จที่ทั้งไม่ถูกต้องและเที่ยงตรง...
..................
โดยภาพรวม “เกมลูกแก้ว” ให้ภาพด้านลึกที่มีมิติเกินกว่าจินตนาการจะกำหนดได้ จะเห็นได้จากการที่...ชีวิตของมนุษย์สามารถคาดหวังด้วยอำนาจแห่งการใส่ใจต่อสภาวะรอบข้าง ...ซึ่งเมื่อ”เกมลูกแก้ว” เริ่มดำเนิน บทบาทชีวิตของผู้เล่นเกมนี้ก็จะไม่ได้เป็นเยี่ยงกาฝากที่ไร้ค่า...ผู้เล่นเกมนี้ทุกคนจึงจำต้องมีสมาธิ...ถามคำถามกับหัวใจ...ใคร่ครวญถึงความเป็นไปแห่งศาสตร์แขนงต่าง ๆ ...ตลอดจนต้องพยายามหาข้อประจักษ์ให้ได้ว่า ระหว่างศรัทธา กับเหตุผลขณะหนึ่งแห่งการแสวงหาความไพบูลย์ของการดำรงอยู่...แท้จริงอะไรคือแรงดลใจของชีวิต...
คำถามทุก ๆ คำถาม ณ ที่นี้ล้วนนำไปสู่คำตอบที่สามารถสร้างชีวิตชีวาให้กับทุก ๆ คน โดยเฉพาะกับผู้ที่ท้อแท้สิ้นหวังและปราศจากความปรารถนาในการแสวงหา...เพราะนี่คือ..." หนทางอันถูกต้องสู่นำพุแห่งชีวิตที่แท้จริง”


เป็นหนังสือที่ตัวเองต้องบันทึกไว้ว่า…ใช้เวลาอ่านนานที่สุดเล่มหนึ่งในประวัติการณ์การอ่านหนังสือทีเดียว

ก็ชอบนะ เป็นการตีแผ่ถึงธรรมชาติ(อันซ้อนซับ)ของมนุษย์ได้อย่างแยบยล ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผู้อ่านในแต่ละระดับความนึกคิดจะตีความ”สาร” และ “สัญลักษณ์” ที่ผู้ประพันธ์ต้องการจะสื่อ

ส่วนตัวมีที่ประทับใจอยู่หลายบทหลายตอน แต่ที่ชอบมาก ๆ มีอยู่บทหนึ่งที่บอกว่า… มนุษย์ยอมจำนนต่อความทุกข์ หรือไม่ก็เพียงหาทางหลบหลีกจากความทุกข์อย่างฉาบฉวยมากกว่าที่จะยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์นั้น…ทั้งนี้เพราะความคิดเช่นนี้สอดคล้องกับความเชื่อส่วนตัวตัวของตัวเองกระมัง... ที่ว่า...'ชีวิตต้องเปลี่ยนแปลงจากภายใน’









 

Create Date : 28 กันยายน 2550    
Last Update : 10 กุมภาพันธ์ 2551 16:18:40 น.
Counter : 4339 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.