'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

ลักษณะพระแท้ - พระปลอม



ขออนุญาตเกริ่น(บ่น)ก่อน...
เมื่อช่วงปลาย ๆ สัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวหน้าหนึ่งนสพ.ยักษ์ใหญ่หลายฉบับ ที่ก่อให้เกิดความสลดและสังเวชใจกับชาวพุทธไทยโดยทั่วหน้า...
ปกติจขบ.จะไม่ค่อยอ่านข่าวประเภทนี้...
แต่ได้ดูรายการคุยข่าวรายการหนึ่ง ในวันหยุดสุดสัปดาห์
ผู้จัดรายการได้นำข่าวนี้มาอ่าน พร้อมทั้งโชว์ภาพในหน้าหนังสือพิมพ์
และแช่ภาพนั้น ๆ อยู่นานร่วม ๆ สองนาทีได้
ไม่รู้ว่าจะซ้ำเติมจิตใจกันไปถึงไหน...

ทำให้นึกถึงบทความ ๆ หนึ่งที่เคยเรียบเรียงไว้เมื่อนานมากแล้ว...
โดยเรียบเรียงจากบทความในหน้าผนวกของหนังสือคำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภอีกทีหนึ่ง

ขออนุญาตคัดมาลงไว้ที่บล็อกนี้ค่ะ...
(บทความอาจจะยาวมากไปหน่อย แต่ไม่อยากแบ่งเป็นหลายตอน
ขอนำลงเป็นเรื่องเดียวไปเลยค่ะ)





ลักษณะพระแท้ - พระปลอม


ในยุคข้อมูลข่าวสารเช่นปัจจุบันนี้ ผู้ที่นับถือศาสนาพุทธ และเรียกตัวเองว่า “ชาวพุทธ” นั้น จะมีสักกี่คนไหม ที่จะเข้าใจซาบซึ้งถึงแก่นของพระศาสนาที่องค์พระศาสดาทรงพร่ำสอน ชี้แนะ และคอยย้ำอยู่เสมอว่า “พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น การประพฤติปฏิบัติเป็นหน้าที่ของพวกเธอ” นั่นคือ พระองค์ทรงสอนให้พวกเราทำตนเป็นที่พึ่งของตน มรรคาที่จะนำไปสู่ความสิ้นทุกข์นั้น คือการเดินตาม “พระแท้” ที่มีอยู่ในตน เพียงค้นหาให้พบและเดินตาม อย่าได้ไปหาเอาจากที่อื่น อย่าได้ไปหาเอาจากบุคคลอื่นอยู่เลย เพราะนั่นไม่ใช่ทางที่องค์พระศาสดาทรงชี้

แต่อย่างไรก็ตาม โดยวิสัยของผู้ที่ยังไม่อาจค้นพบ “พระแท้” ที่มีอยู่ในตน ยังไม่อาจศรัทธาตนเอง เพราะผู้รู้ภายในยังไม่ปรากฏ ยังจำเป็นที่จะต้องหาหลักเกณฑ์จากผู้รู้ภายนอกเสียก่อนเป็นธรรมดา โดยอาศัยการดำเนินตามท่านผู้รู้ ทั้งนี้ด้วยหวังว่าจะไม่พลัดหลงออกไปนอกทาง แต่ปัญหาก็มีอยู่ว่า เราท่านผู้ปฏิบัติตามก็ไม่อาจทราบแน่ชัดว่าใครรู้จริง ใครไม่รู้จริง ในทางที่เรากำลังเดินอยู่ เพราะสภาวะธรรมเป็นเรื่องเฉพาะตน และข้อวัตรปฏิบัติภายนอกที่มองเห็นได้ด้วยตาก็อาจจะตรงหรืออาจจะไม่ตรงกับภายในก็ได้

ดังนั้นเพื่อเป็นการง่ายเข้า ในที่นี้ก็จะขอเสนอแนวคิดในการจำแนก “พระปลอม” ออกจาก “พระแท้” ให้ได้ทราบพอเป็นที่สังเกตุว่าบุคคลเช่นใดบ้างที่ “ชาวพุทธ” ควรหลีกเร้นให้ห่าง เพราะบุคคลเหล่านี้มักจะมีแอบแฝงอยู่ในแวดวงพระศาสนามาทุกยุคทุกสมัย แม้ในสมัยพุทธกาลเอง ซึ่งเขาเหล่านั้นมักจะกล่าวอ้างตนว่าเป็นผู้รู้ทาง หากเป็นทางสายอื่นมิใช่ทางพ้นทุกข์ตามธรรมะคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระองค์ก็ทรงกล่าวตำหนิบุคคลที่มีลักษณะเช่นนี้อยู่เสมอ





บุคคลเหล่านั้นมีลักษณะดังนี้: -

ภิกษุลามก สันดานนกกา หมาขี้เรื้อน งูเปื้อนคูถ ลูกนอกคอก ผู้อยู่นอกบัญชี ป่าช้าผีดิบ น้ำติดกะลาล้างเท้า ภิกษุแกลบ คนแหวกแนว และโมฆะบุรุษ.

ในที่นี้ จะได้นำมาขยายความเพียงสังเขป ท่านที่ประสงค์จะทราบความโดยละเอียด อาจศึกษาได้จากหนังสือ “ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์” ของท่านอาจารย์พุทธทาส หรือจากในพระไตรปิฎก

ภิกษุลามก หมายถึง ภิกษุที่ยินดีในการทำลายสงฆ์ให้แตกกัน เพราะเห็นแก่อำนาจประ-โยขน์ส่วนตัว จึงหวั่นวิตกไปว่าภิกษุอื่นจะรู้ว่าตนเป็นคนเช่นใดแล้วจะทำให้ตนขาดสิทธิ์ในความเป็นภิกษุ หรือฉิบหายได้

ซึ่งมีอยู่ ๔ ประเภทคือ (๑) คนทุศีล มีความเป็นอยู่ลามกไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญาณว่าเป็นสมณะ มีสัญชาติหมักหมมเหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย
(๒)คนมิจฉาทิฎฐิ ประกอบไปด้วยความเห็นที่แล่นดิ่งไปยึดถือเอาที่สุดโต่งข้างใดข้างหนึ่ง
(๓)คนเลี้ยงชีวิตผิดทาง เป็นมิจฉาอาชีพ
(๔) คนปรารถนาลาภ สักการะ และเสียงเยินยอ

สันดานนกกา หมายถึงภิกษุที่ประกอบด้วยอสัทธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งหมด ๑๐ ประการต่อไปนี้ ซึ่งจัดเป็นความเลวสิบประการของกาด้วย พระพุทธองค์จึงทรงตำหนิโดยเปรียบกับกา

ได้แก่ (๑) คนทำลายความดี (๒) คนคะนอง (๓) คนทะเยอทะยาน (๔) คนกินจุ (๕) คนหยาบคาย (๖) คนไม่กรุณาปรานี (๗) คนทุรพล (๘) คนพูดเสียงอึง (๙) คนปล่อยสติ (๑๐) คนสะสมของกิน


หมาขี้เรื้อน หมายถึงภิกษุที่ถูกลาภสักการะ และเสียงเยินยอครอบงำ และมีจิตติดแน่นอยู่ในสิ่งนั้นๆ ซึ่งเปรียบเสมือนกับสุนัขจิ้งจอกที่เป็นโรคหูชัน(โรคเรื้อนสุนัข)นั่นเอง ย่อมจะไม่สบาย ได้รับทุกข์ทรมานไม่ว่าจะไปอยู่ที่ใด หรืออยู่ในอิริยาบถใดก็ตาม พระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลายโดยยกเอาสุนัขที่เป็นโรคหูชันตัวหนึ่ง ที่ภิกษุเหล่านั้นเห็นอยู่ในขณะนั้นขึ้นเป็นอุปมาสอน และทรงย้ำว่า “ลาภสักการะ และเสียงเยินยอเป็นอันตรายที่ทารุณแสบเผ็ด หยาบคายต่อการบรรลุพระนิพพานอันเป็นธรรมเกษมจากโยคะ ไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่า," จึงขอให้ภิกษุทั้งหลายสำเหนียกใจไว้ว่า จักไม่เยื่อใยในลาภสักการะและเสียงเยินยอที่เกิดขึ้น และถ้ามีเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องไม่มาหุ้มห่ออยู่ที่จิตใจ


งูเปื้อนคูถ หมายถึง ภิกษุที่เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่ลามกไม่สะอาดฯลฯ
(ดังมีข้อความที่ละเอียดที่กล่าวถึงลักษณะของบุคคลเช่นนี้ใน(๑)ภิกษุลามกข้างต้น)

นักบวชเช่นนี้พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ทุกคนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ เพราะว่าแม้ผู้ที่เข้าใกล้ชิดจะไม่ถือเอาคนทุศีลชนิดนี้เป็นตัวอย่างก็ตามแต่ว่าเสียงร่ำลืออันเสื่อมเสียจะระบือไปว่า “คน ๆ นี้ มีมิตรเลว มีเพื่อนทราม มีเกลอลามก” อุปมาเช่นเดียวกับงูที่ตกจมอยู่ในหลุมคูถ แม้กัดไม่ได้ก็จริง แต่มันอาจทำให้คนที่เข้าไปช่วยยกมันขึ้นจากหลุมให้เปื้อนคูถได้


ลูกนอกคอก หมายถึง ภิกษุผู้ไม่มีอินทรีย์สังวร หลงระเริงไปในกามคุณห้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือว่ามิใช่วิสัยอันควรของภิกษุ เพราะมารมักได้ช่องทางทำลายล้าง มารจักได้โอกาสกระทำตามอำเภอใจของมันแก่ภิกษุนั้น เปรียบดังนกมูลไถกับเหยี่ยว ซึ่งเที่ยวหากินในวิสัยอื่นต่างจากที่บิดาตนเคยพาทำมา จึงได้รับอันตราย กามคุณห้าได้แก่ รูปที่เห็นได้ด้วยตา เสียงที่ได้ยินด้วยหู กลิ่นที่รู้สึกด้วยจมูก รสที่รู้สึกด้วยลิ้น และโผฐฐัพพะที่รู้สึกด้วยการสัมผัสทางกาย ซึ่งเป็นที่ปรารถนาน่ารักใคร่ น่าชอบใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก ที่กามเข้าไปตั้งอาศัย ที่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ นี้แล เป็นวิสัยอื่นที่มิใช่วิสัยที่ควรเที่ยวไปของภิกษุ หากภิกษุใดเที่ยวไปย่อมได้ชื่อว่าเป็น ลูกนอกคอก


ผู้อยู่นอกบัญชี หมายถึงภิกษุที่เป็นคนหลอกลวง กระด้าง พูดพล่ามยกตัว จองหอง ใจฟุ้งเฟ้อ ซึ่งพระองค์ตรัสว่า “ภิกษุเหล่านั้นไม่ใช่คนของเรา ได้ออกไปนอกธรรมวินัยนี้เสียแล้ว เขาย่อมไม่ถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ในธรรมวินัยนี้ได้เลย”


ป่าช้าผีดิบ หมายถึงภิกษุผู้ประกอบด้วยการกระทำทางกาย ทางวาจา ทางใจอันไม่สะอาด จึงเปรียบด้วยป่าช้าผีดิบ เพราะเป็นโทษห้าอย่างเช่นเดียวกับโทษของป่าช้าผีดิบ กล่าวคือ
(๑) มีความไม่สะอาดดุจดังป่าช้าผีดิบ
(๒) เสียงเล่าลือชั่วช้าก็ระบือไปเป็นกลิ่นเหม็นดุจดังป่าช้าผีดิบเหม็น
(๓) ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันซึ่งรักศีลย่อมเว้นห่าง จึงเป็นภัยเฉพาะหน้า ดุจดังป่าช้าผีดิบซึ่งเป็นที่ที่มีภัยเฉพาะหน้า
(๔) คนชั่วช้าเหมือนกันก็จะมาอยู่ร่วมกัน จึงเป็นที่พักอาศัยของพวกเหล่าร้าย ดุจดังป่าช้าผีดิบซึ่งเป็นที่พักอาศัยของพวกอมนุษย์ที่ดุร้าย
(๕) ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ร่วมกันซึ่งรักศีล เห็นเข้าก็นึกตำหนิ อิดหนาระอาใจ ที่จำต้องอยู่ร่วมกับนักบวชชนิดนั้น เปรียบดังป่าช้าผีดิบซึ่งเป็นที่ร้องไห้พิไรร่ำของคนเป็นจำนวนมาก


น้ำติดกะลาล้างเท้า หมายถึงนักบวชที่ไม่มีความละอายในการแกล้งกล่าวเท็จ ทั้งที่รู้อยู่ว่าเป็นเท็จ, พระพุทธเจ้าตรัสแก่พระราหุลว่า บุคคลชนิดนี้มีความเป็นสมณะนิดเดียว เหมือนน้ำที่ติดเหลืออยู่ที่ก้นภาชนะที่เขาสาดเทน้ำออกแล้ว,หรือหมดสิ้นความเป็นสมณะ เหมือนความว่างเปล่าของน้ำ ในภาชนะที่เขาคว่ำเอาไว้จนสะเด็ดน้ำแล้วหงายขึ้น, และว่า “กรรมอันลามกแม้หน่อยหนึ่ง ซึ่งนักบวชชนิดนี้ทำมิได้หามีไม่”
พระองค์จึงทรงย้ำให้สำเหนียกใจไว้ว่า “ เราทั้งหลายจักไม่กล่าวมุสา แม้แต่เพื่อหัวเราะกันเล่น” และว่า “บุคคลควรสอดส่องพิจารณาดูแล้วดูเล่าเสียก่อนแต่จะกระทำกรรมทั้งหลายลงไป ทั้งทางกาย ทางวาจา ทางใจ เปรียบเหมือนกับกระจกเงามีไว้ส่องดู ฉันนั้น”


ภิกษุแกลบ ที่มาของเรื่องนี้มาจากพุทธภาษิต ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายที่ริมฝั่งสระโบกขรณี-คัคครา เนื่องจากมีภิกษุรูปหนึ่งถูกเพื่อนโจทก์ด้วยอาบัติแล้ว แกล้งปิดเรื่องของตนไว้ หรือชวนไถลออกนอกเรื่องไปเสีย และแสดงท่าโกรธไม่พอใจออกมาให้เห็นชัด พระองค์จึงตรัสให้ขับออกไปเสีย ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย, พวกเธอทั้งหลายจงขับบุคคลนี้ออกไปเสีย ภิกษุทั้งหลาย, พวกเธอทั้งหลายจงขับบุคคลนี้ออกไปเสีย, จงนำบุคคลนี้ออกไปให้พ้น ลูกนอกคอกช่างทำให้ลำบากใจเสียจริง”
“ภิกษุทั้งหลาย นักบวชบางคนมีการเดิน การถอยกลับ การแลดู การเหลียวดู การคู้แขนคู้ขา การเหยียดมือเหยียดเท้า การทรงสังฆาฏิ การถือบาตร การครองจีวร เหมือน ๆ พวกภิกษุที่ดีรูปอื่น ๆ ทั้งหลาย ชั่วเวลาที่ภิกษุทั้งหลายยังไม่เห็นอาบัติของเธอ เมื่อใดที่ภิกษุทั้งหลายเห็นอาบัติของเธอเข้า เมื่อนั้นเขาทั้งหลายก็รู้จักเธอได้ว่า ”นี่เป็นสมณะอันตราย เป็นสมณะแกลบ เป็นสมณะขยะมูลฝอย”
ดังนี้.

ครั้นคนทั้งหลายรู้จักเธอว่าเป็นคนเช่นนั้นแล้ว เขาก็เนรเทศเธอออกไปนอกหมู่ ข้อนั้นเพราะอะไร ? เพราะคนทั้งหลายเขามีความประสงค์ว่า “อย่าให้คนชั่วทำลายพวกภิกษุที่ดีทั้งหลายเลย” ดังนี้.

และตรัสเปรียบเทียบโดยอุปมา ๓ เรื่องดังนี้

“ภิกษุ ท. เปรียบเหมือนต้นข้าวผีซึ่งออกรวงมีแต่แกลบ ไม่มีเนื้อในที่บริโภคได้ เกิดขึ้นในนาข้าวเต็มไปหมดในฤดูทำนา รากของมัน ลำต้นของมัน ใบของมัน ก็ดูเหมือน ๆ กับต้นข้าวยวะทั้งหลาย ชั่วเวลาที่รวงยังไม่ออก เมื่อใดมันออกรวง เมื่อนั้นจึงทราบได้ว่า “นี่เป็นต้นข้าวผี ซึ่งมีแต่แกลบ ไม่มีเนื้อในที่บริโภคได้” ดังนี้ ครั้นคนทั้งหลายทราบเช่นนี้แล้ว เขาก็ช่วยกันทึ้งถอนพร้อมทั้งรากทิ้งไปให้พ้นนาข้าว ข้อนั้นเพราะอะไร ? เพราะคนทั้งหลายมีความประสงค์ว่า “อย่าให้ต้นข้าวผีทำลายต้นข้าวยวะที่ดีอื่น ๆ ทั้งหลายเลย” ดังนี้ ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนกองข้าวเปลือกกองใหญ่ที่คนทั้งหลายกำลังโรยกันอยู่กลางลม ในข้าวเปลือกเหล่านั้น ข้าวที่เป็นเมล็ดแท้ แข็งแกร่งก็ตกไปรวมกันอยู่กองหนึ่ง, ส่วนข้าวลีบที่เป็นแกลบ ลมก็พัดปลิวพาไป รวมเข้าเป็นอีกกองหนึ่ง เจ้าของจึงเอาไม้กวาด ๆ ข้าวที่ลีบนั่นทิ้งไปเสีย ข้อนั้นเพราะเหตูไร? เพราะเจ้าของมีความประสงค์ว่า “อย่าให้ข้าวลีบที่เป็นแกลบมาปนกับข้าวอื่น ๆ เลย” ดังนี้ ฯลฯ

ภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง เปรียบเหมือนบุรุษที่ต้องการถังไม้สำหรับใส่น้ำ ถือขวานที่คมเข้าไปในป่า เขาเคาะต้นไม้ต่าง ๆ ด้วยขวาน บรรดาต้นไม้ต่าง ๆ เหล่านั้น ต้นไหนเป็นไม้เนื้อแข็ง มีแก่นตัน ถูกเคาะด้วยขวานย่อมส่งเสียงหนัก ๆ, ส่วนต้นไม้ที่ผุใน น้ำซึมเข้าไปแช่อยู่ได้ จนเกิดเปื่อยผุขึ้นในตัวเอง ถูกเคาะด้วยขวานเข้าก็ส่งเสียงดังก้อง, บุรุษผู้นั้นจึงตัดต้นไม้เนื้อผุนั้นที่โคน แล้วตัดปลายออก คว้านใน ทำให้เกลี้ยงเกลาอย่างดี ครั้นแล้วก็ใช้เป็นถังสำหรับใส่น้ำได้สำเร็จ ดังนี้ ฯลฯ

จากนั้นได้ตรัสเป็นพุทธภาษิต ความว่า
“เพราะอยู่ร่วมกันจึงรู้จักกันได้ว่า คนนี้มีความปรารถนาอันลามก มักโกรธ มักลบหลู่คุณท่าน หัวดื้อ ตีตนเสมอท่าน มีความริษยา มีความตระหนี่ และโอ้อวด,

ในท่ามกลางคนเขาเป็นผู้มีวาจาหวาน ปานสมณะที่ดีพูด แต่ในที่ลับคน ย่อมทำสิ่งที่คนชั่วซึ่งมีความเห็นต่ำทราม ไม่เอื้อเฟื้อระเบียบ พูดจาปลิ้นปล้อน โป้ปดเขาทำกันทุกอย่าง,

ทุกคนพึงร่วมกันกำจัดเขาออกไปเสีย ทุกคนพึงช่วยกันทึ้งถอนบุคคลผู้ที่เป็นดุจต้นข้าวผีนั้นทิ้ง พึงช่วยกันขับคนกลวงเป็นโพรงนั้นออกไปให้พ้น พึงช่วยกันคัดเอาคนที่มิใช่สมณะ แต่ยังอวดอ้างว่าตนเป็นสมณะออกทิ้งเสียดุจชาวนาโรยข้าวเปลือกกลางลม เพื่อคัดเอาข้าวลีบออกทิ้งเสีย ฉะนั้น,

อนึ่ง คนเราเมื่อมีการอยู่ร่วมกันกับคนที่สะอาด หรือคนที่ไม่สะอาดก็ตาม ต้องมีสติกำกับอยู่ด้วยเสมอ, แต่นั้นพึงสามัคคีต่อกัน มีปัญญาทำที่สุดทุกข์แห่งตนเถิด,”



คนแหวกแนว หมายถึง ภิกษุผู้เป็นที่เชื่อถือของมหาชนทั่วไป แล้วไปกระทำการชักชวนมหาชนในกายกรรม วจีกรรม หรือการบำเพ็ญทางจิต อันผิดแนวแห่งการทำที่สุดทุกข์ในพระศาสนา ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ทำมหาชนให้เสื่อมเสีย ให้หมดบุญ เป็นไปเพื่อความฉิบหายแห่งมหาชน ไม่เป็นประโยชน์เกื้อกูล แต่เป็นไปเพื่อความทุกข์แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย.


โมฆะบุรุษ หมายถึงบุคคลทุกประเภทที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และยังมีลักษณะอื่น ๆ อีกมาก ที่ทรงตรัสไว้ในที่ต่าง ๆ เช่น ที่บางแห่งตรัสเรียกผู้ที่ไม่ประกอบด้วยศีล – สมาธิ – ปัญญาวิมุตติ อันเป็นเครื่องไปจากข้าศึกว่าเป็น “คนหล่นจากธรรมวินัยนี้” บ้าง,

ในที่บางแห่งตรัสเปรียบโมฆะบุรุษว่า เหมือนลาที่เดินตามฝูงโค เพราะถึงแม้มันจะร้องอยู่ว่า “กูก็เป็นโค กูก็เป็นโค” แต่สีของมัน เสียงของมัน เท้าของมัน ก็หาเป็นโคไปได้ไม่ มันก็ได้แต่เดินตามฝูงโคไปข้างหลัง ร้องเอาเองว่า “กูก็เป็นโค กูก็เป็นโค “ ภิกษุบางรูปก็เช่นเดียวกับลานั้น

โมฆะบุรุษ ที่ควรได้รับความสนใจ สังเกตอีกลักษณะหนึ่ง ได้แก่ “ผู้ไม่รู้จักตามที่เป็นจริงซึ่งทุกข์ , เหตุให้เกิดทุกข์, ความดับสนิทแห่งทุกข์, ข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงซึ่งความดับสนิทแห่งทุกข์ ว่าเป็นเช่นนี้ ๆ “ หรือที่เรียกว่า “ไม่รู้จัก ไม่รู้จำ ไม่รู้แจ้ง ไม่รู้จริง ตามสภาพสภาวะแห่งความเป็นจริง" นั้น ๆ ย่อมจะยังไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็น “พระแท้” จะเป็นได้ก็เพียง “พระปลอม” หรือพระโดยสมมติเท่านั้น

ดังที่มีพุทธภาษิตเกี่ยวกับคนเหล่านี้ว่า
“สมณะ หรือพราหมณ์พวกนั้น ทั้งที่ถูกสมมติว่าเป็นสมณะในสมณะทั้งหลายก็ตาม, ทั้งที่ถูกสมมติว่าเป็นพราหมณ์ในพราหมณ์ทั้งหลายก็ตาม, ก็หาเป็นสมณะหรือพราหมณ์ไปได้ไม่ , หาได้ทำให้แจ้งซึ่งประโยชน์แห่งความเป็นสมณะ หรือประโยชน์แห่งความเป็นพราหมณ์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในทิฎฐธรรมนี้ เข้าถึงแล้วแลอยู่ไม่ “


ท้ายที่สุดนี้ ใคร่ขอย้ำอุดมการณ์ของการเรียบเรียงบทขยายความเรื่องพระแท้ – พระปลอมนี้ว่า มีเจตนารมณ์ที่จะให้เป็นเครื่องช่วย ในการสังเกตุลักษณะของ ”พระ”ที่มีอยู่ในตน ของนักปฏิบัติแต่ละท่านเป็นสำคัญ.


Photobucket



(คัดจากบทความ"พระแท้ - พระปลอม" หนังสือชื่อ "เล่าสู่ฟัง : คำสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ" หน้า ๑๗๒ - ๑๘๒ )













 

Create Date : 04 มิถุนายน 2551    
Last Update : 5 มิถุนายน 2552 13:46:46 น.
Counter : 1320 Pageviews.  

รู้สึกนึกคิด ~ ศ.ดร. ระวี ภาวิไล





รู้สึกนึกคิด
โดย : ระวี ภาวิไล
สนพ.ผีเสื้อ จัดพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๓


เพื่อรู้จักตัวตนและสิ่งซึ่งซ่อนอยู่ภายใน





จากสำนักพิมพ์ :

ถ้าเราสามารถทำใจให้สงบ ผ่องใส แน่วแน่
ไม่กระสับกระส่าย กังวล
ไม่ฟุ้งซ่านไปตามสิ่งเย้ายวนต่างๆ
แล้วเอาใจที่สงบนั้นเพ่งพินิจปรากฎการณ์ชีวิตแต่ละขณะ
ด้วยความอดทนพากเพียรเพียงพอ ในไม่ช้าเราจะเริ่มรู้จัก
สิ่งที่เรียกว่า ตัวเรา ในแง่มุมใหม่ที่ไม่เคยล่วงรู้มาก่อน



โปรยปกหลัง :

องค์ประกอบสำคัญของชีวิต คือความรู้สึกนึกคิด
หากผู้ใดประสงค์จะเรียนรู้ว่าชีวิตเป็นอย่างไร
ก็พึงฝึกสติ ตามเพ่งพินิจความรู้สึกนึกคิดของตนเอง
ในสถานการณ์ต่าง ๆ ของชีวิตประจำวัน - -
ทำตนเป็นผู้ดู ไม่เป็นผู้แสดง ไม่เป็นผู้กำกับเวที
ปล่อยให้ความคิดแสดงบทบาท
จะร้ายหรือดีงามก็เฉยไว้ จะฟุ้งซ่านหรือสงบก็ดูไป
เฝ้าดูให้รู้จักว่า ความรู้สึกนึกคิดแผลงฤทธิ์ได้เพียงไร
ว่างเมื่อใด ทำให้บ่อย ทำเสมอ
เพื่อคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่าจิต หรือความรู้สึกนึกคิดนี้
เพราะเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของชีวิต...

เป็นการเรียนรู้จักตนเอง
เมื่อคุ้นเคยแล้วไม่ต้องเที่ยวหาตำราดู...ว่าจิตคืออะไร?







บางบทบางตอน

"เพื่อสันติภาพ"


ทุกผู้คนย่อมปรารถนาความสุข และชิงชังหลีกหนีความทุกข์
เพียงแต่ยั้งคิด โดยไม่ต้องใช้สติปัญญาสูงส่ง
บุคคลก็ควรจะรู้ได้ว่าคนอื่นก็เป็นเช่นตน คือ รักสุข เกลียดทุกข์
เรารักตัวเอง คนอื่นเขาก็รักตนเอง

เมื่อเราน้อมใจดิ่งให้รู้เช่นนั้น ย่อมสามารถเผื่อแผ่ความรักให้ผู้อื่นได้
อุปสรรคก็คือ เราไม่เพียงรักตัวเอง ยังเห็นแก่ตัวเองมากจนเกินไปด้วย
จนไม่เห็นแก่ผู้อื่นเพียงพอที่จะรักเขาได้อย่างที่รักตนเองนั้น

อาจมีข้อโต้แย้งว่า เมื่อรักตนแล้ว จะไม่ให้เห็นแก่ตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ ผิดธรรมชาติ และเป็นการเสแสร้ง
คำตอบก็คือ ความรักตน เห็นแก่ตน ไม่ใช่สิ่งเสียหาย
ถ้าหากว่าไม่ขัดขวางการรักผู้อื่น เห็นแก่ผู้อื่นด้วยตามสมควร
การที่ทำไม่ได้ก็เพราะใจหรือความคิดคับแคบ
ไม่ทันได้มองให้กว้างออกไปว่าตนไม่ได้เกิดมาเองตามลำพัง
ทุกคนต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน

เมื่อเพิ่งเกิดมาเป็นเด็กอ่อนนอนเบาะนั้น
ถ้าไม่ได้รับความรักความกรุณาเกื้อกูลจากพ่อแม่เป็นต้นแล้ว
ก็ไม่มีชีวิตรอดมาได้ ในการเติบโตขึ้นมาก็ต้องอาศัยผู้อื่นอีกมากมาย
ถ้าเขาต่างก็รักตน เห็นแก่ตัวเท่านั้น
เราจะเจริญวัย มีความสุขตามสมควรได้อย่างไร

ดังนั้นคำสอนที่ให้รักผุ้อื่น เห็นแก่ความสุขของผู้อื่น
จึงมิใช่การตั้งอุดมคติสูงส่งจนเกินไปแต่ประการใด
เพียงแต่เป็นการชี้แนะให้ประพฤติสมควรแก่การเป็นมนุษย์ผู้รู้จักใช้สติปัญญา ครุ่นคำนึงตามเหตุผลสามัญเท่านั้น





นอกจากบทความให้ข้อคิดดังที่ยกมาพอสังเขปข้างต้นแล้ว ในหนังสือเล่มนี้ยังมีเนื้อหาสาระในแง่ศาสนาและปรัชญา อันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควรอีกมากมาย...
อันเป็นสาระธรรมที่กลั่นมาจาก"ความรู้สึกนึกคิด" ของ"ผู้ใหญ่" ท่านหนึ่งของสังคมไทยที่น่ายกย่อง เชิดชูให้เป็น "ปราชญ์เมธี"

หนังสือธรรมะดี ๆ อีกหนึ่งเล่มที่อยากบอกเล่าค่ะ










 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 6 มิถุนายน 2552 15:40:21 น.
Counter : 2081 Pageviews.  

ดั่งสายน้ำไหล ~ เขมานันทะ




ดั่งสายน้ำไหล
วิถีแห่งการชำแรก สู่กระแสธรรมชาติบริสุทธิ์
โดย : เขมานันทะ

พิมพ์คำสำนักพิมพ์ จัดพิมพ์ ม.ค. ๒๕๔๕






หนังสือ "ดั่งสายน้ำไหล" นี้ รวบรวมจากคำบรรยายของท่านเขมานันทะ (อ.โกวิท เอนกชัย)ที่ให้ไว้ต่อกลุ่มธรรมจาริณี ในการอบรมภาวนาประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ณ อาศรมศานติ-ไมตรี นิคมพึ่งตนเองขุนทะเล จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยเน้นกิจภาวนาเป็นหลัก ส่วนของคำบรรยายนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการอบรม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมต้อง"เก็บตัว" หรือ "เก็บอารมณ์" อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลาห้าวัน ...

"ดั่งสายน้ำไหล" เป็นถ้อยคำที่หลวงพ่อเทียนใช้อยู่เป็นประจำในการแนะนำกิจภาวนาว่า ให้ทำอยู่เช่นนั้น จนกระแสชีวิตหันเหสู่ทางใหม่ ทางที่เนื้อเลือดเหือดหดเข้าไปในชีวิตเอง และการที่ท่านมาจากพวกเราไป ก็เป็นดั่งสายน้ำที่ไหลไปแล้วไม่คืนมาอีกเช่นกัน คงมีแต่สิ่งที่ท่านพร่ำชี้แนะเท่านั้นที่จะอยู่กับผู้รู้สึกได้...





...บางบทบางตอน...

เมื่อเรารู้จักตัวชีวิต เราก็จะรู้จักชีวิตอื่นด้วย
พอเข้าไปเป็นชีวิตอันนั้น ก็จะรู้ว่าชีวิตทั้งหมดเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ธาตุฐานของชีวิตเหมือนกัน ไม่ว่าเขาจะเป็นนิโกร อเมริกัน ไทย...
เป็นคนรวยหรือเป็นคนจน ชีวิตนั้นเป็นอันหนึ่งอันเดียว
เหมือนปลาทุกตัวในทะเล มีหุ้นส่วนของน้ำด้วยกัน
เราหายใจด้วยปอดเฉพาะตัวก็จริง แต่หายใจในบรรยากาศเดียวกัน
วัตถุธาตุที่ออกจากร่างกายคนคนหนึ่งล้วนวนเวียนกันอยู่

นอกเหนือจากชีวิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว
ชีวิตยังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับสิ่งไม่มีชีวิตด้วย เช่น หิน ดิน ทราย
สิ่งมีชีวิตกับสิ่งไร้ชีวิตมีพรมแดนซึ่งบางมาก พรมแดนซึ่งไม่เด่นชัด
เราอาจไม่มีชีวิตได้ถ้าไม่มีต้นไม้
ขาดน้ำเพียงไม่กี่วันเราจะต้องตาย
ดังนั้นถ้ามองในสเกลที่กว้างขวาง

ชีวิตเป็นสิ่งเดียวกับจักรวาล





ที่จริงสติ สมาธิ และปัญญานั้นเป็นอันเดียวกัน
คือเมื่อสติต่อเนื่องกันเข้ามันจะแปรกิจไปทำหน้าที่ของสมาธิ
ตอนที่มันแปรเป็นสตินั้นคือมันทำลายความไม่รู้สึกตัว
พอรู้ตัวนี่ความไม่รู้สึกตัวก็หายไป นั่นคือกิจของสติ
ทีนี้เมื่อความรู้สึกตัวสด ๆ นี่ต่อเนื่องกันเข้า
เหมือนสายน้ำสะสมน้ำเข้ามันก็เกิดเป็นวังน้ำมีกำลัง

เมื่อสติต่อเนื่องเข้ามันจะแปรสภาพเป็นสมาธิ
เมื่อมันได้ชื่อว่าเป็นสมาธินั้นมันทำหน้าที่ตัดความฟุ้งซ่านทางจิต
กระแสไหลในจิตนี่จะถูกตัดออก
จิตเริ่มเป็นหนึ่งแน่วในตัวมันเอง ที่จริงสืบเนื่องจากสตินั่นเอง
เหมือนเม็ดทรายเม็ดหนึ่งรวมเข้ามันกลายเป็นผืนแผ่นดินขึ้นมา
เมื่อสติต่อกันเข้ามันก็เกิดเป็นสมาธิขึ้นและมันจะทำกิจของสมาธิ
สมาธิที่เกิดโดยไม่มีสตินั้นอันตราย
คนที่เป็นบ้าไปหรือวิปลาสไปเพราะไปทำสมาธิก่อนสติ
เหมือนเด็กคลอดก่อนกำหนดออกมาตายหรือเลี้ยงไม่โต
ไปนั่งเห็นสีเห็นแสงอะไรขึ้นมาก็บ้าไปเลย
แต่ถ้าคนมีสติจะไม่เป็นอย่างนั้น
เมื่อสติต่อเนื่องกันขึ้นเมื่อสมาธิเกิดมันจะรู้ตัวชัดเจน
เพราะฉะนั้นมีอารมณ์เข้ามากระทบมันจะแปรไปสู่ปัญญาเลย
คือมันเข้าใจขบวนการของชีวิต
ขบวนการกระทบ ขบวนการสืบต่อ ผลของการกระทบ
เช่นเมื่อมีการกระทบจะส่งผลเป็นกิเลสอย่างไร

จะรู้, เห็น, และเข้าใจ ...













 

Create Date : 17 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 5 มิถุนายน 2552 14:03:22 น.
Counter : 3173 Pageviews.  

แด่เธอ...ผู้รู้สึกตัว ~ หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ





"แด่เธอ...ผู้รู้สึกตัว"
หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
จัดพิมพ์หลายครั้งโดย มูลนิธิหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ(พันธ์ อินทผิว)







"แด่เธอ...ผู้รู้สึกตัว" เล่มนี้แปลมาจาก "To One That Feels" อันเป็นธรรมเทศนาของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ซึ่งแสดงที่ประเทศสิงคโปร์ อันที่จริงท่านแสดงเป็นภาษาไทย ลูกศิษย์แปลเป็นภาษาอังกฤษสำหรับชาวต่างประเทศ แล้วก็มีลูกศิษย์แปลจากภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยอีกทีหนึ่ง สำนวนภาษาในเล่มนี้จึงอาจจะแตกต่างจากการฟังท่านเทศน์โดยตรง เพราะผ่านการถ่ายทอดสองต่อ ...เนื้อหาทั้งหมดอาจจะดูซ้ำ ๆ อยู่ในเรื่องเดิม ทั้ง ๆ ที่ในหนังสือได้แบ่งย่อยออกเป็น ๗ บทด้วยกัน...
ทั้งนี้แต่ละบทนั้นเป็นธรรมเทศนาที่แสดงแต่ละครั้ง โดยย้ำอยู่เรื่องเดิม...
คือเรื่องของการเจริญสตินั่นเอง

ในที่นี้จะขอคัดมาเพียงบางบทบางตอน






ธรรมะคือตัวเรานี่เอง ทุก ๆ คนคือธรรมะ
ไม่ว่าจะเป็นเพศชายหรือเพศหญิง คนไทย คนจีน หรือชาวตะวันตก
ทั้งหมดคือธรรมะ

การปฏิบัตินั้นอยู่ที่ตัวเรา และคำสอนของพระพุทธเจ้าสามารถนำเราไปสู่สภาพของการดับทุกข์อย่างแท้จริง

มนุษย์ก็คือธรรมะ ธรรมะก็คือมนุษย์ เมื่อเรารู้ธรรมะเราก็จะเข้าใจว่า ทุกๆสิ่งนั้นมิได้เป็นอย่างที่เราคิด ทุกๆสิ่งคือสมมติ (สิ่งที่ยอมรับตกลงกัน) นี่คือปัญญาที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะประจักษ์แจ้งในคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้า ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว
เมื่อเราเห็นสิ่งนี้อย่างแท้จริง เราจะอยู่เหนือความเชื่อที่งมงายทั้งหลาย เพราะเรารู้ว่า ธรรมะก็คือตัวเรา ตัวเราเท่านั้นที่จะนำชีวิตของเราเอง มิใช่ใดอื่น

นี้คือจุดเริ่มต้นของความสิ้นสุดแห่งทุกข์





ขั้นต่อไปเราพยายามเจริญสติ ในทุก ๆ อิริยาบถของการเคลื่อนไหวของเราในชีวิตประจำวัน...เมื่อเรามีความรู้สึกตัวอยู่ จะไม่มีความหลง เปรียบเหมือนการเทน้ำลงไปในถ้วยแก้ว ขณะที่เราเทน้ำลงไป น้ำจะเข้าไปแทนที่อากาศ และเมื่อเราเทน้ำจนเต็มแล้ว อากาศทั้งหมดในถ้วยแก้วก็จะหายไป แต่ถ้าเราเทน้ำออกอากาศก็จะเข้าไปในถ้วยแก้วทันที

ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อมีโมหะอยู่สติปัญญาก็ไม่สามารถเข้ามาได้ แต่เมื่อเราปฏิบัติเจริญสติ ทำความรู้สึกที่ตัวของเราเอง ความรู้สึกตัวนี้จะเข้ามาแทนที่โมหะ เมื่อมีสติอยู่โมหะก็ไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้

...หากเราเจริญความรู้สึกตัวทั่วพร้อมตลอดทั้งร่างกาย เมื่อความคิดเกิดขึ้น เราเห็นความคิดนั้น เรารู้และเราเข้าใจ...

เราจะไม่สามารถเห็นความคิด ถ้าเราเป็นส่วนหนึ่งของความคิด เราจะต้องออกจากความคิดเพื่อที่จะเห็นความคิดได้อย่างชัดเจน เมื่อเราเห็นความคิดก็จะหยุด...

การเห็นความคิดเป็นสิ่งหนึ่ง การรู้ความคิดเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เมื่อเราเห็นความคิด เราสามารถหลุดออกจากความคิดนั้นได้ เมื่อเรารู้ความคิด เราก็ยังคงติดอยู่กับความคิดนั้น ดังนั้นการรู้ความคิดจึงเป็นความรู้ของอวิชชาความรู้ของบุคคลผู้ซึ่งไม่มีปัญญา แต่ด้วยความรู้ของผู้มีปัญญา การรู้และการเห็นสามารถแยกออกจากกันได้ นั่นคือวิชชา(การรู้) หรือปัญญา ปัญญาและวิชชาจะแยกความคิดออกจากกัน และนั่นคือที่สุดของทุกข์





วิธีเจริญความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่สามารถสิ้นสุดทุกข์ได้ ตามที่ข้าพเจ้าเข้าใจและที่ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าทรงสอนนั้น คือการปฏิบัติในชีวิตประจำวันนี้เอง...

ทุก ๆ คนสามารถกระทำหน้าที่ของตนเองในขณะเจริญสติ กระทำได้อย่างไร เพราะเรามิได้นั่งหลับตา เราจึงสามารถทำหน้าที่ของเราไปตามปกติ และเห็นจิตใจของเราในขณะเดียวกัน





ทุกข์เปรียบเหมือนกับปลิงที่เกาะติดแน่นกับตัวเรา และดูดเลือดของเรา ถ้าเราพยายามดึงมันออก มันก็ยิ่งเกาะแน่นขึ้นและเราก็เจ็บปวดยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราฉลาด เราเพียงแต่ใช้น้ำผสมกับใบยาและปูนกินหมาก และบีบน้ำที่ผสมแล้วลงบนตัวปลิง ปลิงมันกลัวแล้วมันจะหลุดของมันไปเอง ดังนั้นเราไม่ต้องไปแกะมันออกหรือไปดึงมัน เพื่อที่จะกำจัดมัน
เช่นเดียวกับบุคคลที่ไม่รู้ พยายามจะหยุด โทสะ โมหะ โลภะ เขาเหล่านั้นพยายามต่อสู้และกดมันไว้ แต่สำหรับบุคคลผู้รู้ เพียงมีสติเข้าไปดูจิตและเห็นความคิด

เปรียบเหมือนการเปิดไฟฟ้า บุคคลที่ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับไฟฟ้า จะพยายามหมุนที่หลอดไฟ แทนที่จะไปแตะที่สวิตซ์ หลอดไฟจึงไม่ติด แต่สำหรับบุคคลผู้ซึ่งรู้เกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้า จะรู้จักวิธีใช้สวิตซ์ไฟและดวงไฟก็สว่างขึ้น

โทสะ โมหะ โลภะ เปรียบเหมือนกับหลอดไฟฟ้า ความคิดเปรียบเหมือนกับสวิตช์ ความคิดเป็นต้นเหตุของความผิดปกติเหล่านี้ ถ้าเราต้องการขจัดความยุ่งเหยิงผิดปกติเหล่านี้ ให้เรามาจัดการที่ความคิด
เมื่อเรามีสติเฝ้าดูความคิดอยู่ โทสะ โมหะ โลภะ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ แท้จริงแล้วไม่มีโทสะ ไม่มีโมหะ ไม่มีโลภะ เราแตะสวิสซ์ไฟที่นี่เพื่อให้เกิดความสว่างที่นั่น

เราเจริญสติที่นี่เพื่อยังความสิ้นสุดแห่งทุกข์ทั้งปวง


จิตดั้งเดิมของเรานั้นสะอาด สว่าง สงบ สิ่งซึ่งมิได้สะอาด สว่าง สงบนั้น มิใช่จิตเรา มันคือกิเลส (ยางเหนียว) เราพยายามที่จะเอาชนะกิเลสนี้ แต่แท้จริงแล้วกิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร
สิ่งที่เราต้องกระทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นจิตใจอย่างชัดเจนโมหะก็จะไม่มีอยู่





(เท่าที่ทราบ หนังสือเล่มนี้จัดพิมพ์ขึ้นเพื่อแจกเป็นธรรมทานเท่านั้นค่ะ ถ้าใครสนใจที่จะอ่านหรือศึกษาติดต่อขอรับได้ที่วัดสนามใน โทรศัพท์ ๐๒-๘๘๓๗๒๕๑ หรือที่สนง.มูลนิธิหลวงพ่อเทียนฯ ๐๒-๔๒๙๒๑๑๙)









 

Create Date : 16 พฤษภาคม 2551    
Last Update : 5 มิถุนายน 2552 14:05:20 น.
Counter : 1769 Pageviews.  

เธอคือโลก ( You Are The World) : กฤษณมูรติ






เธอคือโลก ( You Are The World) : กฤษณมูรติ
เนตรดาว แพทย์กุล
: แปล
สนพ.มูลนิธิโกมลคีมทอง: พิมพ์ (ครั้งที่ ๒ มิถุนายน๒๕๔๓


"ในตัวของเราเองมีโลกทั้งใบอยู่ และถ้าคุณรู้ว่าจะมองดูและเรียนรู้อย่างไรแล้ว ประตูก็อยู่ที่นั่นกุญแจก็อยู่ในมือคุณ ไม่มีใครในโลกสามารถมอบกุญแจ หรือช่วยเปิดประตูให้คุณ ยกเว้นตัวคุณเอง " - - กฤษณมูรติ





"เป็นเรื่องยากมากที่จะมีชีวิตอย่างสันติในโลกนี้ มีชีวิตอย่างสันติโดยไม่ต้องปลีกตนไปอยู่ในอาราม หรือไปพึงพิงอุดมการณ์ใด ๆ

โลกเต็มไปด้วยความปั่นป่วนสับสน จึงมีทฤษฎีและคำสอนมากมายที่ชี้แนะว่ามนุษย์ควรจะมีชีวิตอยู่อย่างไร มนุษย์ควรจะทำอย่างไร
นักปรัชญาได้นำเสนอความเชื่อของตนมาช้านาน พร่ำเพ้อถึงความเชื่อ ความคิดว่ามนุษย์คืออะไร และมนุษย์ควรทำอะไรบ้าง ...
เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองและเพื่อเปลี่ยนแปลงโลก..."






หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมบทบรรยายของกฤษณมูรติ ที่บรรยายในที่ต่าง ๆ และตีพิมพ์เผยแพร่ในปี ๒๕๑๕ เนื้อหาอาจจะดูพ้นสมัยไปบ้าง...

หากสาระสำคัญที่ท่านมุ่งเน้นไม่ได้เก่าหรือล้าสมัยเลยแม้แต่น้อย...ทั้งเรื่องความทุกข์รูปแบบต่าง ๆ ในชีวิตที่มนุษย์ทุกคนไม่อาจเลี่ยงพ้น การเข้าใจความทุกข์ และการจัดการกับความทุกข์ซ้ำซากเหล่านั้น พร้อมกับการแสวงหาคุณค่าจากการใช้ชีวิตในฐานะที่เป็นมนุษย์

ท่านได้ชี้ให้มนุษย์ได้แลเห็นถึงวิกฤติของโลก และหนทางแก้ไข
นั่นคือ...ต้องแก้ที่ปัจเจก...เพราะมนุษย์ทุกคนมีโลกของตัวเอง

และ...

การเปลี่ยนแปลงตัวเองก็เท่ากับการเปลี่ยนแปลงโลก...

"ในที่นี้ มิได้เป็นไปเพื่อแสวงหาหนทางหนีเฉพาะตน แต่กลับเป็นการเรียนรู้ที่จะรู้จักทั้งด้านมืดและด้านสว่างที่มีอยู่ในตนเอง
เพื่อที่จะค้นพบศักยภาพที่มีอยู่ในตนเอง และพัฒนาตนเองให้เชื่อมโยงกับสังคมโลกที่ตนเองเป็นส่วนหนึ่งได้อย่างถูกต้องเหมาะสมมากยิ่งขึ้น..."



๒๒ เมษายน...วันคุ้มครองโลก...หยิบหนังสือเล่มนี้มาบอกกล่าวเล่าขาน ชักชวนกันมาร่วม "คุ้มครองโลก" ค่ะ












 

Create Date : 22 เมษายน 2551    
Last Update : 2 ตุลาคม 2551 15:25:33 น.
Counter : 1663 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.