'หัวใจ๋ข้า หัวใจ๋เจ้า ห้อยอยู่เก๊าเดียวกั๋น' *
*คลิกเพื่ออ่านคำแปลเจ้า :)

ย่างก้าวบนดอกบัว : Walking on Lotus Flowers






ย่างก้าวบนดอกบัว
ชีวิตและประสบการณ์ของนักบวชหญิงในพุทธศาสนา
[Walking on Lotus Flowers]
มาร์ทีน แบทเชอเรอร์ เขียน / อวยพร เขื่อนแก้ว แปล /
กรรณิการ์ พรมเสาร์ บรรณาธิการ
พิมพ์ครั้งที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔
โดยสนพ.มูลนิธิโกมลคีมทอง.






เป็นหนังสือที่รวบรวมประสบการณ์การปฏิบัติธรรมของสตรีในพุทธศาสนาในปัจจุบัน
โดยชี้ให้เห็นว่าสมาธิภาวนามีผลอย่างไรบ้างต่อวิถีชีวิตและกิจการงานต่าง ๆ
เป็นแง่มุมความคิดและการใช้ชีวิตที่หลากหลายของนักปฏิบัติธรรมในหลายประเทศ ทั้งที่เป็นนักบวชและฆราวาส
และยังเสนอมุมมองที่ต่างจากหนังสือเกี่ยวกับผู้หญิงกับศาสนาพุทธเล่มอื่น ตรงที่หนังสือเล่มนี้ให้มุมมองจากประสบการณ์การฝึกสมาธิภาวนากับชีวิตประจำวัน
ทั้งที่หลายท่านอาจเป็นแนวหน้าในการฝึกปฏิบัติและสอนธรรมะ หากแต่หนังสือเล่มนี้ได้แสดงให้เราเห็นและรู้จักชีวิตที่แท้จริงมากกว่าแค่ความคิดอ่าน
ว่าท่านเหล่านี้ใช้ชีวิตประจำวันในฐานะชาวพุทธอย่างไร
และได้รับคุณค่าความหมายเพียงใดจากการปฏิบัติธรรมนั้น







หนังสือจัดแบ่งออกเป็น ๔ ภาค ได้แก่

ภาคที่ ๑.วิถีแห่งสมาธิภาวนา - - บอกเล่าถึงวิถีแห่งการปฏิบัติของนักบวชหญิง ๖ ท่าน

ภาคที่ ๒. การฝึกจิต - - การเคี่ยวกรำตัวเองบนเส้นทางแห่งธรรมะเพื่อนำไปสู่ประตูแห่งการหลุดพ้นของนักบวชหญิงอีก ๔ ท่าน

ภาคที่ ๓. ชีวิตแห่งการสร้างสรรค์ - - การปฏิบัติธรรมผ่านเส้นสายแห่งศิลปะและการค้นพบอันน่ามหัศจรรย์ ของนักบวชหญิง ๓ ท่าน

ภาคที่ ๔. เยียวยาโลก - - สมาธิสามารถบำบัดและเยียวยาโลกอันปริร้าวได้ ความมุ่งมั่นของนักบวชหญิงและอุบาสิกาอีก ๕ ท่าน






โปรยปกหลัง :

พระพุทธเจ้าเป็นนักปฏิบัติ
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสว่า ทุกคนสามารถบรรลุธรรมได้เสมอกัน
หนังสือเล่มนี้พิสูจน์ให้เห็นว่า คำพูดของพระพุทธองค์เป็นจริง
โดยการแสดงให้เห็นถึงผู้หญิงที่ยึดมั่นในเส้นทางสายจิตวิญญาณ
และแสดงให้เราเห็นถึงความสำเร็จ อันเกิดแต่การทำสมาธิภาวนา
หลายแบบหลายวิธีต่าง ๆ กัน




หนังสือเล่มนี้น่าสนใจมาก ในฐานะที่ตัวเองเป็นผู้หญิงและสนใจในเรื่องของการปฏิบัติธรรม(พอสมควร)คนหนึ่ง ...
แต่ต้องออกตัวไว้ว่าส่วนตัวไม่ค่อยได้ศึกษาหรือปฏิบัติตามรูปแบบอะไรนัก
ส่วนใหญ่จะเน้นในเรื่องของการเจริญสติเพื่อปลุกปัญญามากกว่า
และไม่ได้คาดหวังผลเลิศถึงขั้นบรรลุหลุดพ้นอะไรนู่น...
เพียงแค่ให้ตัวเองมีความรู้สึกตัว รู้เท่ารู้ทัน รู้กันรู้แก้ ไปวัน ๆ จนกว่าชีวิตจะถึงที่สุดของมัน...เท่านั้นเอง

นำมาชวนอ่านชวนศึกษากันในวันพระใหญ่นี้ค่ะ




**เชิญเลือกอ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ ในบล็อกนี้ได้ที่... ~ สารบัญหนังสือในบล็อก ~ค่ะ






 

Create Date : 07 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 7 กรกฎาคม 2552 13:45:51 น.
Counter : 1412 Pageviews.  

งานบำรุงใจ : บทความชวน(สังคม)คิด โดย พระไพศาล วิสาโล



งานบำรุงใจ
พระไพศาล วิสาโล






นอกจากอาชีพการงานหรือการทำมาหากินแล้ว เรายังมีงานด้านในที่ควรใส่ใจด้วย
หากอาชีพการงานเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิต งานด้านในก็เป็นสิ่งบำรุงใจ
ความสงบและความดีเป็นเสมือนอาหารใจ ที่ทำให้จิตใจเป็นสุขและเจริญงอกงาม
ร่างกายนั้นเมื่อถึงวันหนึ่งก็หยุดเจริญเติบโต
แต่ใจนั้นสามารถเจริญงอกงามไปได้เรื่อย ๆ ไม่เว้นแม้แต่ในยามเจ็บป่วย

อุปสรรคสำคัญที่กีดขวางความเจริญงอกงามของใจก็คืออัตตาหรือความเห็นแก่ตัว
อัตตาทำให้จิตถูกบีบคั้นด้วยความอยากและความคับแค้น
ความเห็นแก่ตัวทำให้จิตคับแคบและหมกมุ่นอยู่กับตัวอง
จึงไม่เคยว่างเว้นจากความทุกข์
งานด้านในคือการพาใจให้เป็นอิสระจากการครอบงำของอัตตาหรือมีความเห็นแก่ตัวน้อยลง
อัตตานั้นเราไม่จำเป็นต้องทำอะไรมันมากไปกว่าการรู้เท่าทันมัน
ทุกครั้งที่เราเผลอไผลหรือหลงลืม อัตตาหรือความสำคัญมั่นหมายในตัวตนก็ปรากฏ
แต่ก็เช่นเดียวกับความมืดที่หายไปทันทีเมื่อมีแสงสว่างสาดส่องเข้ามา
ความสำคัญมั่นหมายในตัวตนย่อมคลายไปจากจิตใจเมื่อแสงแห่งสติสาดส่องเข้ามา


Heart1


นอกจากการรู้เท่าทันมันด้วยพลังแห่งสติแล้ว การปลุกมโนธรรมขึ้นมายังทำให้อัตตาไม่มีที่ตั้ง
เหมือนกับการปล่อยน้ำดีเข้ามาในร่องสวน ย่อมทำให้น้ำเสียถูกขับไล่ไปเอง
โดยที่เจ้าของสวนไม่ต้องเหนื่อยกับการวิดน้ำเสียออกไป
มโนธรรมนั้นมีอยู่แล้วในจิตใจของเรา แต่มักจะอ่อนแรงหรือซุกอยู่ในหลืบลึกเกินไป
จนทำให้อัตตาขึ้นมาครองใจ และกลายเป็นเปลือกหนาที่ครอบใจให้อยู่ในความมืดมน
แต่เมื่อใดที่มโนธรรมได้รับการบำรุงหรือกระตุ้นเร้า ก็จะเติบใหญ่จนสามารถทำลายเปลือกแห่งอัตตา
เปิดทางให้แสงสว่างสาดส่องเข้ามาในจิตใจได้

งานด้านในเพื่อบำรุงใจนั้นไม่ได้หมายถึงการหลบหลีกปลีกตัวไปอยู่ป่า
หรือนั่งหลับตาภาวนาอยู่ผู้เดียวเสมอไป
หากยังสามารถทำได้ท่ามกลางผู้คน หรือทำควบคู่ไปกับอาชีพการงานได้
ความสงบในจิตใจนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับสถานที่ หากขึ้นอยู่กับการวางใจ
แม้อยู่ผู้เดียวในห้องก็อาจว้าวุ่นใจได้หากไม่รู้เท่าทันความคิดหรือปักจิตอยู่กับเสียงรบกวน
แต่หากมีสติรู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบและอารมณ์ที่ผุดขึ้น แม้ทำงานกับผู้คนก็ยังสามารถรักษาใจให้สงบได้


Heart2


การทำงานสามารถเป็นเครื่องฝึกฝนจิตใจได้เป็นอย่างดี
นอกจากการฝึกสติหรือดูใจของตนระหว่างทำงานได้
งานยังช่วยเสริมสร้างมโนธรรมให้เข้มแข็งได้ หากวางใจอย่างถูกต้อง
เช่น เมื่อทำงานก็นึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับส่วนรวม ไม่มัวคิดว่า “ทำแล้วฉันจะได้อะไร ?”
การคิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอทำให้อุปสรรคและความเหนื่อยยากที่เกิดขึ้นกับเรากลายเป็นเรื่องเล็กน้อย
ดังนั้นจึงทำให้เรามีความทุกข์น้อยลงจากการงานและทำให้เราทำงานได้อย่างต่อเนื่อง

ช่างก่ออิฐสามคนทำงานอยู่ใกล้กัน คนแรกทำอย่างเนือยนาย ก่ออิฐได้ไม่กี่ก้อนก็พักแล้ว ปล่อยเวลาผ่านไปนานถึงเริ่มก่ออิฐใหม่
คนที่สองท่าทางขยันกว่าคนแรก แต่ทำไปก็ดูนาฬิกาไป หน้าตาไม่ค่อยสดใส
ส่วนคนที่สามนั้นทำงานอย่างกระฉับกระเฉง แม้เหงื่อจะท่วมตัว แต่ก็มีสีหน้าแช่มชื่น

เมื่อไปถามทั้งสามคนเขากำลังทำอะไรอยู่ คนแรกตอบว่า “ผมกำลังก่ออิฐ ”
คนที่สองตอบว่า “ผมกำลังก่อกำแพง”
ส่วนคนที่สามตอบว่า “ผมกำลังสร้างวัดครับ”

ทั้งสามคนทำงานอย่างเดียวกัน แต่อากัปกิริยาและความรู้สึกแตกต่างกัน
สองคนแรกนั้นนอกจากเห็นว่างานของตนไม่ได้มีคุณค่ามากไปกว่าการก่ออิฐก่อกำแพงแล้ว
ลึก ๆ ก็คิดว่างานที่กำลังทำอยู่เป็นแค่อาชีพที่เลี้ยงปากเลี้ยงท้องของตนเท่านั้น
ตรงข้ามกับคนที่สามซึ่งเห็นว่าตนกำลังสิ่งที่มีคุณค่าต่อศาสนา
เขาไม่ได้คิดว่าตนกำลังประกอบอาชีพเท่านั้น แต่เป็นการทำประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม
มีส่วนในการทำบุญมหากุศล เขาจึงทำด้วยความกระตือรือร้น ไม่รู้จักเหนื่อย
ทั้ง ๆ ที่อาจทำมากกว่าอีกสองคนด้วยซ้ำ


Heart3



การคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่น ทำให้ไม่มีที่ว่างให้อัตตาเข้ามาครอบงำใจเราได้
ความอ่อนน้อมถ่อมตัว ไม่ถือตัวถือตน จึงเกิดขึ้นได้ง่าย
มีเรื่องเล่าว่ามีคนพบเด็กหญิงอายุ ๑๒ ขวบนอนซมอยู่ริมถนน จึงพามาส่งโรงพยาบาล
เด็กเป็นไข้สูงมาก หมอหนุ่มจึงเอายาน้ำป้อนใส่ปากเด็ก แต่เด็กกลับปัดมือหมอจนช้อนหลุดมือ
หมอพยายามอีกครั้ง เด็กก็ยังปัดอีก หมอหนุ่มโมโหมาก เดินออกจากห้องไปเลยเพราะไม่เคยเจอใครทำเช่นนี้กับตัวมาก่อน

เมื่อหมอใหญ่รู้ก็มาหาเด็กที่ห้อง หมอใหญ่ลงมือป้อนยาด้วยตัวเอง
แต่เด็กก็ยังขัดขืน ปัดมือหมอจนช้อนหลุด ยาเปรอะพื้น หมอป้อนยาอีกครั้ง
คราวนี้พูดปลอบว่า “กินยาหน่อย ไม่ขมหรอก”
แต่เด็กก็ยังไม่ยอมให้ยาเข้าปาก ปัดอีกครั้งจนยากระเซ็นเลอะเสื้อของหมอ
แต่หมอก็ไม่โกรธ พยายามเป็นครั้งที่สาม
คราวนี้นอกจากพูดเชิญชวนแล้ว ก็ยังยิ้มให้ด้วย เด็กปัดมือหมออีกครั้งแต่คราวนี้เบาลง

หมอป้อนยาเป็นครั้งที่สี่ นอกจากสบตาเด็กแล้วยังอ้าปากเชิญชวนให้เด็กทำตาม
ไม่ต่างจากแม่ที่พยายามป้อนข้าวใส่ปากลูกน้อย เมื่อช้อนสัมผัสปาก เธอทำท่าจะปัดมือหมอ แต่แล้วก็ชะงักและยอมเปิดปาก
เมื่อกินยาเสร็จเด็กก็หันตัวไปซุกกับหมอน ราวกับเสียใจในสิ่งที่ได้ทำลงไป
หมอใหญ่ชนะใจเด็กสาวได้ก็เพราะเขาอดทนที่จะทำดีกับเธอ โดยไม่โกรธเคืองเธอเลย
หมอใหญ่มีประสบการณ์มากพอที่จะรู้ว่าเด็กสาวมีปัญหา
เธออาจถูกข่มเหงรังแกจนไม่ยอมไว้ใจใคร และไม่ยอมที่จะรับความช่วยเหลือจากใคร
แต่หากหมอใหญ่คิดถึงแต่ตัวเอง ก็คงยอมไม่ได้ที่จะให้เด็กทำกิริยาอาการอย่างนั้นกับเขา
เขาคงนึกในใจไม่ต่างจากหมอคนแรกว่า “ ถือดียังไงถึงทำกับฉันแบบนี้ ฉันอุตส่าห์ปรารถนาดีกับแก”
แต่ความคิดเช่นนั้นหาได้อยู่ในจิตใจของเขาไม่ เพราะในใจของเขาคิดแต่เพียงว่า “ทำอย่างไรเด็กถึงจะยอมกินยาได้ ?”
หมอไม่ได้คิดถึงตัวเองเลย สิ่งที่หมอใส่ใจคือตัวเด็กมากกว่า หมอสนใจว่าจะช่วยเด็กให้หายป่วยได้อย่างไร





ถ้าเราคิดถึงประโยชน์ของผู้อื่นเป็นสำคัญ ก็จะมีเรื่องมากระทบอัตตาได้ยาก เพราะเมตตากรุณาเข้ามาแทนที่อัตตา
เราจะทุกข์เพราะถ้อยคำหรือการกระทำของผู้อื่นน้อยลง เมื่อถูกตำหนิ แทนที่จะตกอยู่ในร่องความคิดว่า “ทำไมถึงมาว่าฉัน ?“
หรือ “ถือดีอย่างไรถึงมาพูดกับฉันอย่างนี้?” เรากลับสนใจว่า “ทำไมเขาถึงพูดอย่างนั้น?”
สำหรับคนที่ใฝ่รู้ใฝ่ความจริง สิ่งที่เขาสนใจก็คือ “ที่เขาพูดนั้นจริงไหม?”
คนเราถ้าเอาเมตตากรุณาหรือปัญญานำหน้า ไม่ว่ามีอะไรมากระทบ ก็ไม่กระเทือนถึงใจ
แต่ถ้าเอาอัตตานำหน้า อัตตาก็จะถูกกระทบไม่หยุดหย่อน เพราะไม่ว่าคิด พูด ฟัง หรือทำ ก็มีแต่ “ตัวฉัน”โดดเด่นเป็นประธานอยู่เสมอ

ชาวบ้านคนหนึ่งเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง มารักษาที่โรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง
วันหนึ่งหมอที่ตรวจร่างกายประจำไม่อยู่ มีหมอด้านสูตินรีเวชมาตรวจแทน เมื่อตรวจเสร็จ หมอก็เขียนใบสั่งยา โดยเพิ่มจากเดิม ๑ เม็ดเป็น ๒ เม็ด
คนไข้สงสัยจึงถามหมอว่า “หมอ แล้วมันจะดื้อยาไหม ?”
ทันทีที่ได้ยิน หมอก็ทำเสียงแข็งใส่คนไข้ว่า “แล้วลุงเป็นหมอหรือเปล่า ถ้าอย่างนั้นลุงมาเป็นหมอเองไหม? ”
ว่าแล้วก็ไล่คนไข้ออกจากห้องตรวจ

เมื่อได้ยินคนไข้ทัก อะไรทำให้หมอโกรธหากไม่ใช่เพราะฤทธิ์เดชของอัตตาที่รู้สึกถูกกระทบจากคำทักท้วง
แต่หากหมอผู้นั้นมีสติเท่าทันอัตตา ก็จะไม่ฉุนเฉียวอย่างนั้น แทนที่จะเคืองในใจว่า “พูดกับฉันอย่างนี้ได้อย่างไร ? ดูถูกฉันหรือไง?”
ก็จะมองอีกมุมหนึ่งว่า “อะไรทำให้เขาพูดอย่างนั้น?” และหากหมอคิดถึงประโยชน์ของคนไข้ ก็จะรู้ได้ไม่ยากว่าคนไข้กำลังวิตกกังวล
แทนที่จะโกรธ ก็จะอธิบายให้คนไข้หายวิตกกังวล หาไม่ก็อาจลดยาลงหากรู้ว่าตัวเองผิดพลาดไป

ผู้ที่นึกถึงคนอื่นอยู่เสมอ เมื่อเกิดความผิดพลาดขึ้น เขาจะคิดถึงคนที่เดือดร้อนก่อนที่จะนึกถึงตัวเอง
อะไรที่จะช่วยคลายความเดือดร้อนของผู้นั้นได้ เขาก็พร้อมที่จะทำ รวมทั้งเอ่ยปากขอโทษโดยไม่สนใจว่าจะเกิดผลต่อตนเองอย่างไร
อย่างน้อยคำขอโทษก็ช่วยเยียวยาจิตใจของผู้นั้นได้บ้าง
หมอผ่าตัดคณะหนึ่งทำงานผิดพลาดทำให้เด็กเสียชีวิต หมอผู้หนึ่งในคณะนั้นเสียใจมาก
เมื่อออกจากห้องผ่าตัดเขาเดินไปหาแม่เด็กและขอโทษเธอ
ในเวลาต่อมาแม่ของเด็กได้ฟ้องหมอทั้งคณะ ยกเว้นคนเดียวคือหมอผู้นั้น
หมอผู้นั้นไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อทนายของหมอถามแม่เด็ก ก็ได้คำตอบว่า “เพราะเขาเป็นคนเดียวที่ใส่ใจ”





ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าขอโทษเมื่อทำผิดพลาดเพราะกลัวว่าจะก่อผลเสียหายแก่ตนตามมา
เช่น เป็นหลักฐานให้แก่ฝ่ายโจทย์ในการฟ้องเรียกค่าเสียหาย
แต่การทำด้วยเจตนาที่เห็นแก่ตัวเช่นนี้บ่อยครั้งกลับกระตุ้นให้อีกฝ่ายเกิดโทสะและทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะหรือแก้แค้น
ใช่หรือไม่ว่าอัตตาของฝ่ายหนึ่งย่อมปลุกเร้าอัตตาของอีกฝ่ายเสมอ
ในทางตรงข้ามการกระทำด้วยเจตนาที่ปรารถนาดีย่อมบันดาลใจให้อีกฝ่ายอยากทำดีด้วย
มโนธรรมของฝ่ายหนึ่งย่อมดึงดูดมโนธรรมของอีกฝ่ายให้แสดงตัวออกมาเสมอ

ท่านอาจารย์พุทธทาสย้ำเสมอว่า “การทำงานคือการปฏิบัติธรรม”
ไม่ว่าจะทำอาชีพการงาน หรือทำกิจวัตรประจำวัน ก็สามารถเป็นโอกาสปฏิบัติธรรมหรือฝึกฝนจิตใจได้เสมอ
เช่น ฝึกให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ หรือลดละความเห็นแก่ตัว บ่มเพาะเมตตากรุณา รวมทั้งเสริมสร้างมโนธรรมให้เข้มแข็ง
อันจะนำไปสู่การปล่อยวางจากความยึดติดถือมั่นในตัวตน
หากปล่อยวางสิ่งติดยึดได้มากและลึกเท่าใด
โพธิจิตซึ่งอยู่แกนกลางของใจก็จะงอกงามและเปล่งประกายสุกสว่างมากเท่านั้น
ทำให้ชีวิตปลอดโปร่งสงบเย็นอย่างยิ่ง


Heart5


ที่มา : //www.visalo.org/

(ขอบคุณภาพประกอบสวย ๆ จากฟอเวิดเมล์ค่ะ )






 

Create Date : 03 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2552 12:22:20 น.
Counter : 1550 Pageviews.  

วิปัสสนาแห่งเซ็น (แปลและเรียบเรียงโดย ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ )







วิปัสสนาแห่งเซ็น
เมโห



การนั่งวิปัสสนาของเซ็นเป็นหนทางแห่งความสงบสันติอันสมบูรณ์
โดยภายในแล้ว มิใช่เป็นเพียงเงาของความรู้สึกนึกคิด
โดยภายนอกแล้ว ก็มิใช่เป็นเพียงเงาของความแตกต่างระหว่างสรรพสิ่ง
อย่าได้คิดถึงการบรรลุ การตรัสรู้
อย่าได้คิดถึงการละทิ้งสิ่งอันเป็นมายา

เธอเปรียบเหมือนนกที่กำลังบิน ซึ่งไม่มีจิตจะคิดถึงการส่งเสียงร้อง
เหมือนกับภูเขาที่ไม่รับรู้ต่อภูเขาลูกอื่นที่อยู่รอบข้าง
การนั่งวิปัสสนาของเซ็นไม่มีอะไรที่จะต้องทำเกี่ยวกับการรักษาศีล
การปฏิบัติสมาธิ การเข้าถึงปัญญา
เธอก็เหมือนกับปลาที่ไม่ได้มีความมุ่งหมายอันเฉพาะเจาะจงใด ๆ
ในการอยู่ในท้องทะเล





จงเฝ้าดูตัวของเธอเองจากความนึกคิดอันเคยชินว่า “สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นเลว”
สิ่งที่เธอควรจะใส่ใจแต่เพียงประการเดียวก็คือการถามตัวเองอยู่เสมอว่า
“อะไรคือสิ่งที่อยู่เหนือความเป็นคู่ทั้งสอง”
ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะอันสมบูรณ์ดุจพระจันทร์เต็มดวง
อยู่ในขณะแห่งการวิปัสสนาแบบเซ็นของเธอแล้ว

วิถีชีวิตแห่งความหมดจดงดงามของพระพุทธเจ้านั้นมิใช่หนึ่งหรือหลากหลาย
มิใช่สิ่งนี้หรืองสิ่งนั้น มิใช่ภาวะหรืออภาวะ
อย่าได้ยึดมั่นถือมั่นในการตรัสรู้หรือความลวงหลอก
จงทำใจให้เป็นอิสระจากความชอบหรือความไม่ชอบ
อย่าได้ยึดติดในความคิดอันฟุ้งซ่านที่เกิดขึ้นในจิตของเธอ
และมันจะผ่านออกไปโดยปราศจากร่องรอยดุจเงาในกระจกฉะนั้น





ศีลห้า ศีลแปด ศีลสองร้อยห้าสิบ
วินัยแห่งสงฆ์สามพันข้อ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะ
ความเป็นโพธิสัตว์ และวงล้อแห่งธรรม
ทั้งหมดนี้มีอยู่ในการนั่งวิปัสสนาแห่งเซ็นและปรากฏออกมาจากสิ่งนี้ทั้งสิ้น
ในการประพฤติปฏิบัติทั้งหมดนั้น “ซาเซ็น” จะต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง
เพราะว่าอานิสงส์ของบุคคลที่ได้ปฏิบัติซาเซ็น
อยู่เหนือการสร้างโบสถ์วิหารอันวิจิตรพิสดารมากนัก


ไม่ว่าเธอจะเป็นนักศึกษาที่เพิ่งเริ่มต้นหรือที่ได้ปฏิบัติมานานแล้ว
ไม่ว่าเธอจะเป็นผู้คงแก่เรียนหรือผู้ที่ไม่มีความรู้
หากเธอปฏิบัติซาเซ็น
สิ่งที่เธอทำ สิ่งที่เธอรู้สึก และสิ่งที่เธอคิดทั้งหมด
ก็จะเป็นส่วนหนึ่งแห่ง “ความเป็นเช่นนั้น” อันมหัศจรรย์และยิ่งใหญ่


คัดจาก "บทเพลงแห่งเซ็น" แปลและเรียบเรียงโดย ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์ หน้า ๒๘-๓๑)




(ขอบคุณภาพประกอบบล็อกทั้งหมดจากฟอร์เวิดเมล์ค่ะ)







 

Create Date : 07 พฤษภาคม 2552    
Last Update : 4 มิถุนายน 2552 20:39:44 น.
Counter : 1471 Pageviews.  

บทเพลงแห่งเซ็น ~ บทเพลงแห่งวิปัสสนา




*ภาพจาก Internet


บทเพลงแห่งวิปัสสนา
ฮาคูอิน เซ็นจิ

ทุกชีวิต โดยธรรมชาติพื้นฐานแล้ว คือ 'พุทธะ'
เหมือนน้ำแข็ง ซึ่งโดยธรรมชาติแล้ว ก็คือน้ำ
นอกไปจากน้ำแล้ว จะไม่มีน้ำแข็ง
นอกไปจากสิ่งที่มีชีวิตแล้ว จะไม่มีพระพุทธเจ้า

ช่างน่าเศร้าใจเสียจริงที่บุคคลมองข้ามสิ่งที่อยู่ใกล้
และเสาะแสวงหาความจริงจากสิ่งที่อยู่ไกล!
เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่กลางน้ำ
ตะโกนหาน้ำด้วยความหิวกระหาย
เหมือนกับเด็กจากบ้านที่มั่งคั่ง
ออกเที่ยวหาทรัพย์ในถิ่นอันยากจน

กรรมแห่งการเวียนเกิดและเวียนตาย
คือหนทางอันมืดมิดแห่งอวิชชา
เราได้ท่องเที่ยวไป จากหนทางมืดหนึ่ง สู่หนทางมืดอีกอันหนึ่ง
แล้วเมื่อไหร่ เราจึงจะพ้นจากความเกิดและความตาย

โอ้ ! “เซ็นโจ” * แห่งมหายาน
ขอได้รับการสรรเสริญอันสูงสุดเถิด!
“เนมบุตซู” * การสารภาพความผิด - ระเบียบวินัยแห่งธรรม
คุณธรรมอันหลากหลายล้วนเกิดขึ้นภายใน “เซ็นโจ” ทั้งสิ้น

ผู้ที่ได้ปฏิบัติ “ซาเซ็น” * แม้เพียงครั้งหนึ่ง
ขจัดกรรมชั่วในอดีตทั้งหมดออกไป
แล้วเจตนาร้ายจะมาแต่ไหน
แดนสุขาวดีอยู่ที่นี่แล้ว

ผู้ที่ได้ยินความจริงนี้แม้เพียงครั้งหนึ่ง
และฟังด้วยดวงใจอันเปี่ยมด้วยความรู้คุณ
ด้วยความเทิดทูน ด้วยความเคารพนับถือ
ได้รับความเบิกบานไม่สิ้นสุด

ยิ่งกว่านั้น ผู้ที่หันมาพิจารณาภายใน
และเห็นแจ้งธรรมชาติที่แท้จริงของตน
ธรรมชาติที่แท้จริงซึ่งเป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่า
อยู่เหนือความเฉลียวฉลาดธรรมดามากนัก

เขารู้ว่า ผลและเหตุเป็นหนึ่ง
ไม่ใช่สอง ไม่ใช่สาม หนทางนั้นพุ่งตรงไป
ด้วยรูปแบบที่ไม่ใช่รูปแบบ
การไปและการมา ไม่เคยหันเหออกนอกทาง
ด้วยความคิดที่ไม่ใช่ความคิด
บทเพลงและบทเริงรำของเขาคือถ้อยคำแห่งสัจจะ

ความกว้างใหญ่ของท้องฟ้าแห่งสมาธิอันได้เปิดออกแล้ว
แสงจันทร์แห่งปัญญาย่อมส่องสว่างไสว
และอะไรอีกเล่าที่เรายังจะแสวงหา
ที่นี่คือพระนิพพานอันได้เปิดเผยออก
ที่แห่งนี้คือดินแดนแห่งดอกบัว
กายนี้คือพระพุทธเจ้า

*********

* Zenjo หมายถึงผู้ปฏิบัติเซ็น
* Nembutsu เป็นคำแสดงความเคารพแด่พระพุทธเจ้า
* Zazen คือการนั่งวิปัสสนาของเซ็น






(คัดจาก “บทเพลงแห่งเซ็น” [Daily Zen Buddhist Sutras ~ Koko An Zendo] แปลและเรียบเรียงโดย ทวีวัฒน์ ปุณฑริกวิวัฒน์, จัดพิมพ์โดยมูลนิธิอริยาภา , สิงหาคม ๒๕๒๕)




บางส่วนจากคำนำผู้แปล : “บทเพลงแห่งเซ็น” ที่รวบรวมไว้ในหนังสือเล่มนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทเพลงและบทกวีที่กล่าวถึงธรรมชาติและความหลุดพ้นแบบเซ็นที่อาจารย์เซ็นผู้รู้แจ้งในอดีตได้ประพันธ์ไว้
บทเพลงและบทกวีเหล่านี้มีลีลาที่เรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยความหมายอันล้ำลึก
ทุกถ้อยคำได้กล่าวออกมาจากจิตใจที่รู้แจ้ง เปิดเผยถึงวิถีทางและธรรมชาติแต่ดั้งเดิมของมนุษย์
จึงเป็นทั้งคำอุทานต่อความปราโมทย์แห่งธรรม คำแนะนำตักเตือน คำสอน คำปลอบโยน
และคำเร่งเร้าให้ยินดีเฉพาะต่อความหลุดพ้น
การที่จะอ่านคำประพันธ์เหล่านี้ให้เข้าใจและได้รับรสแห่งธรรมรวมทั้งรสแห่งสุนทรียะนั้น
จำเป็นที่ผู้อ่านจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจและการปฏิบัติธรรมแบบเซ็นมาพอสมควร
บทนำนี้ได้พยายามทำความเข้าใจและอธิบายวิธีการแบบเซ็นมาพอสังเขป
หวังว่า “บทเพลงแห่งเซ็น” คงมีส่วนช่วยเกื้อกูลกำลังใจ
และการปฏิบัติธรรมของชาวพุทธในเมืองไทยบ้างไม่มากก็น้อย












 

Create Date : 03 เมษายน 2552    
Last Update : 4 มิถุนายน 2552 20:54:35 น.
Counter : 1315 Pageviews.  

อุปมาแห่งชีวิต โดย : 'เขมานันทะ'




*ภาพจาก Internet

อุปมาแห่งชีวิต
โดย : 'เขมานันทะ' (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)


เชคสเปียร์ กล่าวว่า ชีวิตคือละคร
แต่ละคนก็เล่นไปตามบทบาทของตัว
ชีวิตเหมือนฉากละครที่ผ่านไปเป็นฉากๆ
เมื่อจบฉากแล้ว ก็จบสิ้นซึ่งหน้าที่และบทบาท
ต้องโบกมืออำลาโรง เข้าหลืบของชีวิตไป
และลงมาดูเวทีอันว่างเปล่า หรือผู้อื่นบนเวทีชีวิตนั้นต่อไป



ชีวิต อุปมาคือ หนังตะลุง
เมื่อหนังตะลุงเลิก ตัวหนังตะลุงทุกตัว
ทั้งตัวที่เล่นเป็นท้าวพระยามหากษัตริย์ เจ้าบ้านผ่านเมือง ยักษ์มาร
หรือเป็นเมียน้อยเมียหลวง
จะต้องกระโดดผลุงลงในแผง สงบนิ่งลงไปทุกตัวฉันใด

ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอธิบดี เป็นรัฐมนตรี
เป็นสามเณร เป็นคนงาน เป็นยามเป็นคนขับรถ
ในที่สุดก็ต้องกระโดดผลุงลงแผง
จบกันสำหรับชีวิตทางกายภาพ
นี่คือ หนังตะลุงที่มีแต่เงาของชีวิต



ชีวิตนี้เหมือนความฝัน ครั้นตื่นนอนแล้วฝันสลาย
ชีวิตนี้เป็นความคลุมเครือ โพล้เพล้เหมือนยามสนธยากาล



ชีวิต อุปมาดั่งการวิ่งไล่คว้าเงา
หลายครั้งที่เราวิ่งไล่เงาของตัวเอง
สร้างอนาคตไว้อย่างสวยงาม
และเราก็วิ่งไล่สิ่งที่เราสร้างอย่างเอาเป็นเอาตาย
เหน็ดเหนื่อยไปทั้งชีวิต
พอใกล้ๆจะจบ เราคว้าตะครุบมัน แต่ก็ได้เพียงลมว่างเปล่า
เป็นการวิ่งไล่คว้าเงา คือสิ่งที่ตัวเองสร้างขึ้นเองแท้ๆ
ทะเยอทะยานอย่างเหนื่อยหน่าย
เหงื่อแตกตั้งแต่เช้าตกเย็น...

“กลางคืนเป็นควัน กลางวันเป็นไฟ”

กลางคืนนอนวางแผน กลางวันก็ออกวิ่งไล่แผนของตัว
พอใกล้ๆ จะบรรลุผล กระโจนเข้าตะครุบ ปรากฏว่าพบแต่ลม

ชีวิตนี้มีตัณหาเป็นเครื่องล่อ
มีความเพลินเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง
มีอวิชชาเป็นเครื่องห่อหุ้ม
มีความประมาทเป็นฉาก
หรือเป็นเกล็ดฝ้าของดวงตา

จนกว่าเขาจะสะดุดขาของตัวเองล้มลงสักหนหนึ่ง
.................

(คัดจาก : "อุปมาแห่งชีวิต" ใน ชีวิตงาม เล่ม ๕ :
จัดพิมพ์โดย กองทุนสืบอายุพระพุทธศาสนาวัดชลประทานรังสฤษดิ์
กองทุนห้องสมุดศาลาจำปีรัตน์ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ฯ )











 

Create Date : 23 มีนาคม 2552    
Last Update : 4 มิถุนายน 2552 20:56:06 น.
Counter : 1500 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  

แม่ไก่
Location :
ลำปาง Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 184 คน [?]




**หลังไมค์เจ้า**





Cute Clock Click!



เออสิ,มาอยู่ใยในโลกกว้าง
เฉกชลคว้างมาเมื่อไรไม่นึกฝัน
ยามจากไปก็เหมือนลมรำพัน
โบกกระชั้นสู่หนไหนไม่รู้เลย


รุไบยาต ~ โอมาร์ คัยยัม
สุริยฉัตร ชัยมงคล : แปล




Latest Blogs

~ท่านหญิงในกระจก/แสงเพลิง ~

~เพชรรากษส/อลินา ~

~มนตร์ทศทิศ/ราตรี อธิษฐาน ~

~เมื่อหอยทากมีรัก 1-2/"ติงโม่"เขียน/พันมัย แปล ~

~ให้รักระบายใจ/"ณกันต์"เขียน ~

~ผมกลายเป็นแมว/Abandoned/Paul Gallico เขียน(ภูธนิน แปล) ~

~พ่อค้าซ่อนกลรัก & หมอปีศาจแสนรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~อาจารย์ยอดรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~

~จอมโจรพยศรัก/"หูเตี๋ย" เขียน(Wisnu แปล) ~


สารบัญหนังสือ: รวมลิงก์หนังสือที่รีวิวในบล็อก # ๑ + ๒



Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add แม่ไก่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.