MacroArt's Online Business Story by Apisilp Trunganont
Group Blog
 
All Blogs
 

20 Rules of Smart and Successful Web Development - กฎ 20 ข้อในการพัฒนาเว็บให้เป็นเลิศ

1. ให้ความนับถือผู้ชมเว็บของคุณ อย่าพยายามบังคับให้พวกเขาอ่านเนื้อหาในเว็บของคุณทั้งหมด ปล่อยให้พวกเขาเลือกและตัดสินใจเองว่าจะอ่านอะไร ให้ลองนึกว่าถ้าคุณเป็นผู้ชมเว็บ คุณจะทำอย่างไรกับหน้าต่างที่ป๊อบอัพขึ้นมาและกล่องโฆษณาที่เกลื่อนกลาดอยู่เต็มไปหมด

2. โฆษณาที่แย่ กล่องโฆษณาที่น่ารำคาญอาจช่วยเพิ่มรายได้ให้คุณเพียงชั่วขณะหนึ่ง แต่ในระยะยาวแล้ว มันไม่ทำให้เว็บไซต์ของคุณประสบความสำเร็จได้ อย่างไรก็ตาม การผนวกโฆษณาเข้ากับเนื้อหาของเว็บไซต์ และจัดโครงสร้างของเว็บให้ดีก็จะช่วยให้โฆษณานั้นไม่รบกวนผู้ชม มันจะช่วยให้เว็บของคุณเป็นที่รู้จักมากขึ้นและยังช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่คุณได้ด้วย

3. ให้ข้อมูลและสอนผู้ชมเว็บของคุณ แบ่งปันความคิด ไอเดีย ประสบการณ์ และความรู้ของคุณให้กับคนที่ต้องการหรืออาจจะต้องการคำแนะนำจากคุณ เมื่อคุณมีข้อมูลเหล่านี้ คุณก็มีเครื่องมือที่ทรงพลังที่จะดึงดูดความสนใจของมวลชนมาที่งาน ความสนใจ และบริการของคุณได้ นอกจากนี้แล้ว ถ้าคุณแบ่งปันความรู้ที่มีคุณค่ากับผู้ใช้คนอื่น คุณก็จะได้รับการเคารพนับถือว่าเป็นบุคคลที่รู้ว่าเขาหรือเธอกำลังพูดถึงอะไร

4. สร้างสรรค์สไตล์ของคุณ สร้างสรรค์จากไอเดียของคุณ ทำให้ตัวคุณเกิดแรงบันดาลใจ แต่อย่าลอกเลียนแบบ มันน่าสนใจกว่ามากที่จะได้รู้ว่าคุณมีความสามารถอะไรแทนที่จะไปสนใจว่าคนอื่นมีความสามารถอะไร ค้นหาจินตนาการและความอยากรู้อยากเห็นของคุณเอง ไอเดียใหม่ๆ หรือไอเดียเก่าที่ถูกพัฒนาขึ้น ย่อมดึงดูดผู้ใช้เว็บมากกว่าของลอกเลียนแบบ

5. ใส่ใจกับมาตรฐาน คิดถึงคนให้มาก การใช้มาตรฐานเว็บที่ดีจะช่วยลดงานของคุณในอนาคตลงได้มาก เมื่อคุณจะสร้างเว็บสำหรับคนทั่วไป มันจึงมีเหตุผลที่คุณจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่จะตรวจสอบโค้ดต่างๆ และทำให้มันเป็นมาตรฐาน เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานดีแล้ว คุณก็ไม่ต้องกังวลว่าในอนาคตจะมีเว็บบราวเซอร์เวอร์ชั่นใหม่เกิดขึ้นมาซึ่งจะทำให้เว็บของคุณมีปัญหา นอกจากนี้เว็บของคุณจะต้องสามารถอ่านได้ง่าย (readability) เข้าถึงได้ง่าย (accessibility) และใช้งานง่าย (usability) จำไว้ว่าคุณต้องนับถือผู้ชมเว็บของคุณ

6. ใช้ข้อความที่ชัดเจน อย่ากลัวที่จะบอกว่าคุณต้องการสื่ออะไร ความคลุมเครือทำให้เกิดระยะห่างระหว่างคุณกับผู้ชมเว็บของคุณอย่างไม่จำเป็น ให้ใช้ข้อความที่เด่นชัดต่อผู้ชมเว็บถ้าคุณต้องการนำเสนออะไรให้แก่พวกเขา ถ้าคุณระบุให้ชัดเจนว่าคุณกำลังพูดถึงอะไรอยู่ คุณก็จะได้รับผลตอบรับที่ดีหรือได้คำตอบของคำถามที่คุณสงสัย

7. เกลียด Internet Explorer ได้ถ้าคุณอยาก แต่อย่าปฏิเสธผู้ใช้มัน อย่าออกแบบเว็บที่เหมาะสำหรับบางเว็บบราวเซอร์เป็นพิเศษ คุณควรออกแบบเว็บให้เหมาะสำหรับ Internet Explorer เหมือนกับที่ออกแบบให้กับบราวเซอร์อื่นๆ Internet Explorer อาจจะไม่ใช่บราวเซอร์ที่ดีที่สุด แต่ก็มีผู้ใช้เว็บถึง 85% ที่ใช้มันอยู่ ให้กลับไปดูกฎข้อที่ 1

8. เอาใจใส่เนื้อหาของเว็บ สำหรับเว็บที่กำลังพัฒนา คุณจะต้องทำให้มันมีข้อมูลที่น่าสนใจและมีรูปลักษณ์ที่ดูดี อย่าลืมว่าผู้ชมเว็บของคุณจะจดจำทุกสิ่ง เมื่อคุณแสดงลิงค์ไปยังเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมแก่พวกเขาโดยที่ไม่มีข้อความอธิบายว่ามีอะไรซ่อนอยู่ภายใต้ลิงค์นั้น คุณก็จะไม่ได้เห็นผู้ชมเว็บเหล่านี้อีกเลย ถ้าโค้ดของเว็บไซต์เป็นร้อยกรอง เนื้อหาของเว็บไซต์ก็เป็นร้อยแก้ว

9. อย่ากังวลมากกับ SEO อย่าไปมองในระดับคีย์เวิร์ด เพราะมีสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือเว็บไซต์ของคุณต้องการนำเสนออะไร การพยายามเพิ่มตำแหน่งใน search engine นั้นเสียเวลามากกว่าการเขียนบทความที่มีประโยชน์ลงในบล็อกของคุณ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญ SEO คุณจะทราบว่าคุณต้องปรับแต่งเว็บไซต์ตลอดเวลาเพื่อให้มีอันดับที่ดีขึ้น ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณเขียนบทความที่ดี มันจะอยู่กับเว็บไซต์ของคุณไปตลอด

9a. หลีกเลี่ยงการทำ SEO และ PageRank แบบผิดๆ การทำ Search Engine Optimization ที่ไม่ถูกต้อง (การแลกเปลี่ยนลิงค์กับทุกเว็บไซต์บนเน็ตเท่าที่เป็นไปได้ การโพสต์ลิงค์ของคุณในเว็บรวมลิงค์ ฯลฯ) จะทำให้เว็บของคุณถูกแบนจาก search engine สำคัญๆ ในที่สุด อัลกอริธึมของ search engine ถูกปรับปรุงตลอดเวลา ท้ายที่สุดแล้วความพยายามของคุณก็จะไม่เกิดประโยชน์ และยังเสี่ยงที่ PageRank จะกลายเป็น 0

10. ติดต่อ แต่อย่าสแปม ให้คนที่สนใจเนื้อหาของคุณได้รู้ว่าคุณมีเนื้อหานั้นๆ ต้องรู้ก่อนว่าใครคือกลุ่มเป้าหมายที่มีศักยภาพ จากนั้นให้เอาใจใส่กับคนที่อาจจะสนใจในบริการของเว็บคุณ นึกถึงเว็บไซต์ที่พวกเขาชอบเข้าไปชม แล้วติดต่อเจ้าของเว็บไซต์เหล่านี้เพื่ออธิบายถึงประโยชน์ของบริการของคุณ แต่จำไว้ว่าคุณไม่ได้เขียนถึงโปรแกรม แต่คุณกำลังเขียนถึงมนุษย์ ซึ่งจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะแบ่งปันบริการของคุณให้กับผู้ชมเว็บของเขาหรือไม่ จำไว้ว่าจะส่งลิงค์ แต่ให้ส่งคำเชิญชวนที่มีข้อความที่สุภาพที่อธิบายว่าเว็บของคุณมีอะไรที่แตกต่างจากเว็บอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน ต้องมั่นใจว่าคนที่คุณเขียนถึงตระหนักได้ว่ามันสำคัญต่อผู้ชมเว็บของพวกเขาอย่างไร จงจำไว้ว่าคุณไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่ทำเพื่อผู้ใช้ อย่าสแปม อย่าโฆษณา แต่ให้เผยแพร่สิ่งที่มีประโยชน์

อ่านต่ออีก 10 ข้อได้ที่ //blog.macroart.net/2007/04/20-rules-of-smart-and-successful-web.html




 

Create Date : 27 เมษายน 2550    
Last Update : 7 พฤษภาคม 2550 16:10:27 น.
Counter : 512 Pageviews.  

Google Convergence ยิ่งรวมกัน ชีวิตยิ่งดีขึ้น โดยไม่ต้องมีปาติหาน

ผมสมัครสมาชิกของ Blogger ไว้ตั้งแต่ปี 2004 ด้วยความที่ตอนนั้นอยากรู้ว่าบล็อกมันต่างจากไดอารี่ยังไง และบล็อกต่างประเทศสามารถทำอะไรได้บ้าง แต่ก็ได้แค่ลองเล่นเฉยๆ ไม่ได้ลงมือเขียนบล็อกจริงจัง เพราะผมเขียนไดอารี่อยู่ที่ DiaryIS อยู่แล้ว

เมื่อไม่นานมานี้ ผมอยากเขียนบล็อกด้านธุรกิจออนไลน์โดยเฉพาะ ก็เลยเปิดบล็อกใหม่แยกออกมาจาก DiaryIS โดยไปสร้างบล็อกไว้กับ Exteen ซึ่งมีโปรแกรมสำหรับเขียนบล็อกที่ใช้งานได้ง่ายมาก เว็บไซต์ก็โหลดได้รวดเร็ว แต่ก็มีข้อเสียตรงที่เว็บไซต์ไม่อนุญาตให้โฆษณาขายของ และไม่สามารถนำโปรแกรมวิเคราะห์คนเข้าบล็อกมาติดได้

ผมลองกลับมาเล่น Blogger ดูอีกครั้ง เนื่องจากเห็นหลายๆ บล็อกที่ใช้บริการ Blogger อยู่ สามารถติดโฆษณาของ Google AdSense ได้ และพอได้ลองเล่นมากขึ้นก็พบว่ามันยอดเยี่ยมมากครับ เลยตัดสินใจย้ายข้อมูลจาก Exteen มาอยู่ที่ Blogger และเริ่มเขียนบทความนี้เป็นบทความแรก

ผมเชื่อว่าทุกคนคงเคยเห็นโฆษณาของ True Convergence ที่เด็กชายมีเงิน 80 บาท ขอซื้อปาติหานเพื่อช่วยให้น้องสาวของตัวเองหายจากโรคที่เป็นอยู่ คำว่า Convergence ในที่นี้เป็นคำศัพท์ทางธุรกิจและถูกใช้อย่างมากในโลกยุคดิจิตอล ซึ่งคำนี้มีความหมายใกล้เคียงกับคำว่า Synergy อย่างมาก โดยคำว่า Synergy หมายถึงการที่สองธุรกิจซึ่งอาจจะเหมือนหรือแตกต่างกันก็ได้ มาผนึกกำลังกันเพื่อสร้างผลประโยชน์บางอย่าง โดยที่ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะมากกว่าที่ต่างคนต่างทำกันเอง แต่คำว่า Convergence มีความหมายที่แคบกว่า โดยเน้นไปที่การรวมกันของสิ่งที่มีความสามารถแตกต่างกัน เช่น โทรศัพท์มือถือสมัยนี้คือการรวมกันของโทรศัพท์ กล้องดิจิตอล และคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก

การเขียนบล็อกที่ Blogger ทำให้ผมเห็นภาพของ Google Convergence ที่ชัดเจนมาก และผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนที่อยากเขียนบล็อกให้เป็นธุรกิจของตัวเองครับ

Convergence อย่างแรกเลยก็คือ Blogger เป็นบริการของ Google ที่ถูกซื้อเข้ามาในปี 2003 นั่นแปลว่าคนที่เขียนบล็อกกับ Blogger ก็จะได้รับประโยชน์จากการใช้เครือข่ายบริการของ Google ไปด้วย เช่น มั่นใจได้ว่าข้อมูลจะไม่สูญหายเหมือนที่ใช้บริการกับผู้ให้บริการบล็อกในไทยหลายๆ ราย เซิร์ฟเวอร์ก็มีความเสถียร เนื่องจากได้รับการดูแลจากวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญของ Google พื้นที่การเขียนบล็อกก็เยอะมากจนอาจเรียกได้ว่าไม่จำกัด (อารมณ์เดียวกับ Gmail) นอกจากนี้ Google Search ก็จะทำดัชนีบล็อกของคุณได้อย่างรวดเร็ว บทความใหม่ของบล็อกคุณจะไปปรากฎบน Google Search ได้ในเวลาไม่นาน (ตอนที่ผมลองทดสอบ Blogger ดูโดยยังไม่ได้เอาบล็อกไปโปรโมทที่ไหน ปรากฎว่าบล็อกของผมก็ติดอยู่ใน Google Search ไปแล้วครับ) และที่สำคัญคือทุกอย่างนี้ฟรีหมดครับ

Convergence อย่างที่สองคือคุณสามารถติดโฆษณา Google AdSense ในบล็อกของคุณได้ จะติดตรงส่วนไหนของบล็อกก็ได้ ติดกี่อันก็ได้ ทำให้คุณไม่ต้องเขียนบล็อกฟรีๆ อีกต่อไป อย่างน้อยก็มีค่าขนมนิดๆ หน่อยๆ จากการโฆษณา ซึ่งยังไม่มีผู้ให้บริการบล็อกในไทยที่ให้ทำแบบนี้ได้ (อาจจะมีแต่ผมยังไม่เคยเห็น) เนื่องจากผู้ให้บริการส่วนใหญ่ยังใช้โมเดลการขายโฆษณาแบบเดิมอยู่ คือต้องการพื้นที่บนบล็อกของคุณเพื่อติดแบนเนอร์โฆษณาที่ลูกค้าขอซื้อ ทั้งนี้เพื่อที่เว็บไซต์จะได้มีรายได้สำหรับการดูแลระบบรวมถึงการพัฒนาบริการใหม่ๆ

Convergence ที่สามคือคุณสามารถนำคลิปวิดีโอจาก YouTube หรือ Google Video ในหัวข้อที่คุณสนใจมาติดในทุกหน้าภายในบล็อกของคุณได้แบบง่ายๆ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ชมบล็อกของคุณสามารถดูวิดีโอได้ทันที



Convergence ที่สี่คือคุณสามารถนำตัวเก็บสถิติคนเข้าเว็บไซต์ของ Google Analytics มาติดไว้ในบล็อกของคุณได้ ซึ่งจะช่วยให้คุณทราบว่าคนเข้าเว็บไซต์คุณมาจากที่ไหนบ้าง มีจำนวนขาประจำมากน้อยแค่ไหน



ผมเชื่อว่ายังมี Convergence อื่นๆ อีกหลายอย่างที่คนเขียนบล็อกแต่ละคนสามารถสร้างสรรค์ขึ้นมาได้ และในอนาคตก็คงมีบริการใหม่ๆ อีกหลายอย่างที่ Google พัฒนาขึ้นมา หรือไปซื้อกิจการคนอื่นมา แล้วเอามา Convergence กับ Blogger ได้อีก อย่างเช่นพวกอัลบั้มรูป หรือ Social Network ที่จะช่วยเติมเต็มความต้องการของคนเขียนบล็อกได้มากขึ้นอีก




 

Create Date : 24 เมษายน 2550    
Last Update : 24 เมษายน 2550 3:02:49 น.
Counter : 582 Pageviews.  

Google ประกาศซื้อกิจการ Internet ทั้งโลก (พฤษภาคม 2017)

12 พฤษภาคม 2017 - Google Inc. ยักษ์ใหญ่ในธุรกิจค้นหาข้อมูล ได้ประกาศในวันนี้ว่าได้เข้าซื้อกิจการ Internet แล้วด้วยมูลค่าสูงถึง 2,455.5 พันล้านเหรียญ ดีลในครั้งนี้ตกเป็นข่าวลือตามเว็บบล็อกต่างๆ ตั้งแต่ช่วงต้นปี และได้รับคำยืนยันจาก CEO แล้ว "ดีลนี้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของเราที่จะช่วยให้ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตสามารถเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น" Eric Schmidt กล่าว "ด้วยการซื้อกิจการในครั้งนี้ เราสามารถเพิ่มความเร็วของการทำดัชนีข้อมูล เพราะทุกสิ่งทุกอย่างจะมาอยู่ในเซิร์ฟเวอร์ของเราทันทีที่มันถูกสร้างขึ้น"

จากการประชุมทางโทรศัพท์เมื่อเช้านี้ Larry Page อธิบายถึงกลยุทธ์ที่อยู่เบื้องหลังการซื้อกิจการครั้งนี้ว่า "เราพบว่ามันไม่คุ้มเอาเสียเลยถ้าเราจะซื้อ Internet เพียงส่วนเล็กๆ" ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา Google ได้เข้าซื้อ YouTube ในราคา 1.65 พันล้านเหรียญ DoubleClick 3.1 พันล้านเหรียญ AOL 12.5 พันล้านเหรียญ และเมื่อปีที่แล้วได้เข้าซื้อ Microsoft ด้วยตัวเลขสูงถึง 120 พันล้านเหรียญ

เมื่อถูกถามถึงก้าวแรกของการรวมเอา Internet เข้าสู่เซิร์ฟเวอร์ของ Google Eric Schmidt ประกาศว่ามีแผนที่จะโอนผู้ใช้ Yahoo.com มาที่ระบบค้นหาของ Google ทันที "จากมุมมองของผู้ใช้ การมีเว็บสำหรับค้นหาสองเว็บ เป็นเรื่องยุ่งยากต่อการใช้งานและสร้างความสับสนอย่างมาก ถึงแม้ว่าเราจะชื่นชอบเทคโนโลยีการค้นหาตัวล่าสุดของ Yahoo แต่เราก็เชื่อมั่นว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ลงโฆษณา ผู้ใช้เว็บ และผู้ถือหุ้น" Eric เสริมอีกว่า "ด้วยการผนวกเอาแพลตฟอร์มมือถือยุคที่สามเข้ามา ช่วยให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาประสบการณ์การใช้เว็บ และยังเป็นประโยชน์อย่างมากต่อนักลงทุนและผู้ใช้คอมพิวเตอร์ - การเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยเสริมกำลังให้กับ Web 6.0 ในระดับองค์กร"

มีสิ่งที่ตามมาหลังการเข้าซื้อถูกเปิดเผยขึ้น กลุ่มสิทธิส่วนบุคคลได้ออกเอกสารต่อต้านการตัดสินใจนี้ อย่างไรก็ตาม Larry Page โต้แย้งว่าสิทธิส่วนบุคคลจะถูกพัฒนาขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการของ Google โดยอธิบายว่า "ปัญหาหลักของการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้ใช้เว็บในทุกวันนี้ เกิดจากการที่ข้อมูลรั่วไหลไปยังบุคคลที่สาม แต่การตัดบุคคลที่สามออกทำให้เราสามารถปิดรูรั่วนั้นได้" Eric Schmidt เสริมว่า Google มุ่งมั่นที่จะแทนที่นโยบายสิทธิส่วนบุคคลด้วย "บรรทัดฐานสิทธิส่วนบุคคล" ซึ่งจะสร้างสมดุลได้ดีกว่า "เมื่อคุณพัฒนาสิทธิส่วนบุคคลของประชาชนส่วนใหญ่ ด้วยการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคนกลุ่มเล็กๆ ผลสุดท้ายก็คือเราสามารถพัฒนาสิทธิส่วนบุคคลในภาพรวมทั้งหมด"

รัฐบาลจีนได้ออกมาแสดงความยินดีกับ Google ในการซื้อกิจการครั้งนี้ เนื่องจากได้พิจารณาถึงความสามารถในการเซ็นเซอร์ที่ดีขึ้น Sergey Brin กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า Google จะเลิกใช้ตัวกรองผลการค้นหา และแทนที่มันด้วย "การระบุต้นเหตุของปัญหาที่เกิดจากฝ่ายผู้สร้างข้อมูล" ด้วยการบล็อกคีย์เวิร์ดเวลาที่ผู้ใช้ส่งข้อมูลเข้าเว็บที่ Google เป็นเจ้าของอยู่ เช่น Blogger, Gmail, Page Creator, Yahoo 360 และ MSN Spaces เครือข่ายนิรโทษกรรมสากลและผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังไม่สามารถให้ความเห็นในตอนนี้ได้ เนื่องจากมีปัญหาขัดข้องทางเทคนิคที่เกิดขึ้นกับโปรแกรม email บนเว็บ

แปลมั่วๆ จาก //blog.outer-court.com/archive/2007-04-14-n32.html




 

Create Date : 16 เมษายน 2550    
Last Update : 16 เมษายน 2550 4:18:22 น.
Counter : 560 Pageviews.  

เมื่อ Google จดทะเบียนสมรสกับ DoubleClick แล้ว จะเกิดอะไรขึ้นกับโลกนี้บ้าง?

หลังจากที่ได้เขียนเรื่อง <Google ซื้อ DoubleClick ด้วยเงินสดมูลค่า 3.1 พันล้านเหรียญ นี่คือราคาที่สมเหตุสมผล หรือเป็นราคาที่ต้องการเอาชนะ Microsoft กันแน่?> ซึ่งจะช่วยให้ทุกท่านเห็นภาพของการเคาะราคาอย่างมีที่มาที่ไป ได้เข้าใจว่าทำไม Microsoft ถึงแพ้ ทั้งที่ตัวเองก็มีเงินสดอยู่ในมือสูงถึง 30 พันล้านเหรียญ

บทความนี้จะเล่าต่อว่าเมื่อ Google ได้ DoubleClick มาแล้ว จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นกับโลกออนไลน์ใบใหญ่แต่แบนราบนี้บ้าง?



DoubleClick มีดีอะไร?

DoubleClick เป็นบริษัทที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีการตลาดออนไลน์ทั้งแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของเว็บไซต์ที่ต้องการขายพื้นที่โฆษณาบนเว็บของตัวเอง (ผู้ขาย) และเอเจนซี่โฆษณาซึ่งเป็นผู้ที่ต้องการซื้อพื้นที่โฆษณาเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการต่างๆ (ผู้ซื้อ)

สิ่งที่ DoubleClick ทำก็คือการเป็นตัวกลางที่เชื่อมผู้ขายกับผู้ซื้อเข้าด้วยกัน DoubleClick ได้สร้างเครือข่ายของเจ้าของเว็บไซต์ซึ่งมีพื้นที่โฆษณาจำนวนมากเอาไว้ และได้นำพื้นที่นี้ไปขายต่อให้กับเอเจนซี่ ซึ่ง DoubleClick มีหน้าที่บริหารพื้นที่โฆษณาให้ดีที่สุดทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ



ในด้านปริมาณก็คือจะต้องลดจำนวนพื้นที่ว่างให้เหลือน้อยที่สุด ให้ลองนึกภาพว่าคุณเป็นเจ้าของหอพักที่มีจำนวนห้องให้บริการได้ 100 ห้อง ถ้ามีคนใช้บริการเพียง 50 ห้อง คุณก็อาจจะขาดทุน แต่ถ้ามีคนใช้บริการสัก 95 ห้อง แบบนี้เยี่ยมครับ ถึงแม้ว่า DoubleClick จะไม่ได้เป็นเจ้าของพื้นที่โฆษณาเอง ไม่ได้ลงทุนสร้างและบริหารเว็บไซต์เอง แต่ทำตัวเป็นนายหน้าขายพื้นที่ให้ (นึกภาพว่าคุณเป็นเจ้าของหอพักที่ไม่ได้ขายห้องเอง แต่มีคนมารับอาสาช่วยขายให้คุณ และเขาจะได้รับคอมมิสชั่นจากคุณ) ถ้า DoubleClick ปล่อยให้มีพื้นที่ว่างเหลือเยอะๆ เจ้าของเว็บไซต์ก็อาจจะไม่พอใจและเปลี่ยนไปให้บริษัทอื่นขายโฆษณาให้ หรือไม่ก็ขายเองซะเลย

ในด้านคุณภาพ DoubleClick จะต้องบริหารโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากที่สุดทั้งฝั่งผู้ขายและฝั่งผู้ซื้อ สิ่งที่ผู้ซื้อโฆษณาต้องการก็คือได้เห็นโฆษณาของตัวเองไปปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ที่มีผู้ชมเป็นกลุ่มเป้าหมายตามที่ต้องการ เช่น ถ้าผมเป็นเจ้าของโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาจจะเป็นเจ้าของรีสอร์ทก็ได้ สิ่งที่ผมอยากเห็นก็คือโฆษณารีสอร์ทของผมไปปรากฎอยู่บนเว็บไซต์ด้านท่องเที่ยว แต่ไม่อยากเห็นมันไปปรากฎบนเว็บไซต์สอนเขียนโปรแกรม PHP ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้ขายโฆษณาต้องการก็คือได้เห็นโฆษณาที่เหมาะกับผู้ใช้เว็บมาปรากฎบนเว็บของตัวเอง เช่น ถ้าผมเป็นเจ้าของเว็บไซต์ที่ฐานคนเล่นเป็นเด็ก ผมคงไม่อยากเห็นโฆษณาขายซีดีโป๊มาโผล่บนเว็บผม

บางคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ มันก็ไม่ต่างอะไรกับ Google AdSense เลยสิ ที่ให้เจ้าของเว็บเอาพื้นที่โฆษณามาขายให้กับผู้ที่ซื้อโฆษณาผ่าน Google AdWords ใช่เลยครับ ทั้ง Google และ DoubleClick ต่างก็เป็นตัวกลางเชื่อมผู้ขายและผู้ซื้อเหมือนกัน จะต่างกันก็ที่ Google ให้บริการแบบ Pay-Per-Click Text Ads เป็นหลัก ผู้ซื้อโฆษณาจะซื้อคีย์เวิร์ดจาก Google AdWords จากนั้น Google จะนำข้อความโฆษณาของผู้ซื้อไปแสดงบนเว็บไซต์ที่มีคีย์เวิร์ดนั้นๆ อยู่ ถ้าผู้เล่นเว็บไซต์นั้นเห็นโฆษณาแล้วคลิกที่โฆษณา ผู้ซื้อคีย์เวิร์ดก็จะต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าของเว็บไซต์ โดย Google จะเป็นตัวกลางและเรียกเก็บค่าต๋งไป

ขณะที่ DoubleClick จะต่างออกไปตรงที่ไม่ได้มีเทคโนโลยี Search Engine แบบ Google จึงไม่สามารถให้บริการ Text Ads ได้ดีนัก แต่ DoubleClick ก็มี Image Ads ที่แข็งแกร่ง มีเครือข่ายเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาเน้นรูปภาพและมัลติมีเดีย

Text Ads กับ Image Ads มีวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกัน Text Ads จะถูกใช้เพื่อสื่อสารข้อความออกไปตรงๆ เพื่อให้ผู้มองเห็นตัดสินใจคลิกเพื่อดูรายละเอียดเพิ่มเติมทันที ขณะที่ Image Ads จะไม่เน้นการถูกคลิกมากนัก แต่ถูกใช้เพื่อสร้าง Brand Awareness ให้ภาพของโฆษณาฝังเข้าไปในหัวของผู้มองเห็น

เจ้า Image Ads เนี่ยแหละครับ ที่ Google สู้ไม่ได้

นอกจากนี้ DoubleClick ยังมีบริษัทลูกที่ชื่อ Performics ซึ่งเป็นเครือข่าย Affiliate Marketing ใหญ่เป็นอันดับสามของอเมริกา และเป็นเอเจนซี่ด้าน Search Engine Marketing อันดับหนึ่งของอเมริกา

ใครที่เคยอ่านหนังสือ Google Make Me Rich ก็คงรู้จักคำว่า Affiliate Marketing ดี เจ้า Performics ที่เป็นเบอร์สามของตลาดนี้ก็ทำตัวเป็นตัวกลางเช่นกัน ด้วยการสร้างเครือข่ายบริษัทผู้ผลิตสินค้าหรือบริการที่มีเว็บไซต์สำหรับขายออนไลน์ และเปิดให้คนที่อยากเป็นนายหน้าช่วยบริษัทเหล่านี้ขายของได้เข้ามาสมัครสมาชิก และเลือกสินค้าที่มีเพื่อนำไปโฆษณาประชาสัมพันธ์ตามเว็บต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่ก็หนีไม่พ้น Google AdWords ถ้ามีคนคลิกเข้ามาที่เว็บไซต์ของบริษัทขายสินค้าผ่านการแนะนำของนายหน้า และคนนั้นตัดสินใจเป็นลูกค้าของบริษัท คนที่เป็นนายหน้าก็จะได้รับค่าต๋งไป

แต่เมื่อ Google เข้ามาขอแต่งงานกับ DoubleClick และได้ Performics เป็นเรือพ่วงติดไปด้วย ต้นทุนของ Affiliate Marketing จะลดลงทันที จากเดิมที่บริษัทผู้ผลิตสินค้าจะต้องจ่ายเงินให้ Performics และ Performics จะแบ่งเงินออกเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งให้นายหน้า อีกส่วนให้ตัวเอง และนายหน้าที่ทำ Affiliate Marketing ที่จ่ายเงินซื้อคีย์เวิร์ดให้กับ Google เงินที่จ่ายก็ถูกแบ่งเป็นสองส่วนเช่นกัน ส่วนหนึ่งให้เจ้าของเว็บไซต์ที่มีพื้นที่โฆษณา อีกส่วนให้ Google เอง


Before


ต่อจากนี้ไป Google จะเป็นผู้รับคนเดียวครับ คือรับเงินจากบริษัทผู้ผลิตสินค้า และรับเงินจากผู้ซื้อโฆษณา ซึ่ง Google สามารถที่จะลดเปอร์เซ็นต์ของเงินสองก้อนนี้ลงได้เพื่อให้ตลาดของ Affiliate Marketing โตมากขึ้น กระตุ้นให้เจ้าของสินค้าเอาสินค้ามาฝากให้ Google ช่วยขายมากขึ้นเนื่องจากค่าต๋งถูกลง ซึ่งจะทำให้นายหน้ามีสินค้าให้เลือกขายได้มากขึ้น และลงโฆษณากับ Google AdWords มากขึ้นเช่นกัน


After


เว็บไซต์ Affiliate Marketing รายอื่นอย่าง Commission Junction (CJ) หรือ Linkshare ก็เตรียมนับถอยหลังวันตายได้เลยครับ แข่งต้นทุนกับ Google ไม่ได้แน่นอน นอกจากว่าเว็บเหล่านี้จะถูก Microsoft หรือ Yahoo! ซื้อไป (โก่งค่าตัวไม่ได้ด้วยนะ ใครๆ ก็รู้ว่าถ้าไม่ยอมขายก็มีแต่ตายลูกเดียว)



โลกนี้จะดีขึ้นอย่างไรเมื่อ Google สมหวังกับ DoubleClick แล้ว

มาดูกันทีละฝ่ายเลยนะครับ ฝ่ายแรกคือเจ้าของเว็บไซต์ที่ติดโฆษณาของ Google AdSense คุณจะมีตัวเลือกมากขึ้นแล้วครับ คุณจะมีโอกาสได้ติดโฆษณาแบบรูปภาพมากขึ้น คนที่มาลงโฆษณากับคุณก็มากขึ้นเนื่องจาก DoubleClick มีฐานลูกค้ารายใหญ่อยู่ถึง 1,500 ราย โอกาสทำเงินก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

ฝ่ายที่สองคือผู้ที่ซื้อโฆษณา จากเดิมที่ต้องไปคุยกับ Google AdWords เมื่อต้องการซื้อโฆษณาแบบตัวอักษร และต้องไปคุยกับ DoubleClick เมื่อต้องการซื้อโฆษณาแบบรูปภาพ ต่อไปนี้ก็คุยกับ Google แค่คนเดียวพอครับ และ Google จะบริหารโฆษณาของคุณให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด จาก FAQ ของการซื้อกิจการครั้งนี้ระบุว่า จะช่วยให้ผู้ซื้อโฆษณานำโฆษณาที่ถูกต้อง (right ad) ไปสู่ผู้ชมที่ถูกต้อง (right user) ในเวลาที่ถูกต้อง (right time)

ฝ่ายที่สามคือบริษัทที่ขายสินค้าบนเว็บไซต์ ต้นทุนค่าคอมมิสชั่นของบริษัทที่ต้องจ่ายให้ตัวกลางอย่าง Performics จะถูกลง หรือบริษัทอาจจะคงจำนวนเงินสำหรับคนกลางไว้เท่าเดิม แต่เมื่อจ่ายให้ Performics ถูกลงแล้ว เงินก็จะถูกแบ่งให้แก่นายหน้ามากขึ้น

ฝ่ายที่สี่คือนายหน้าที่ทำ Affiliate Marketing จะได้รับผลประโยชน์จากฝ่ายที่สาม คือได้ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น และยังได้มีสินค้าให้เลือกมากขึ้น รวมทั้งได้ประโยชน์จากฝ่ายที่หนึ่ง คือมีเว็บไซต์ให้โปรโมทสินค้าได้มากขึ้น ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

ฝ่ายที่ห้าก็คือคนเล่นเว็บธรรมดาๆ อย่างพวกเราที่จะได้เห็นโฆษณาแบบรูปภาพที่ตรงกับความสนใจของเรามากขึ้น หรือถึงแม้ว่าบางคนอาจจะไม่ได้สนใจเรื่องโฆษณา แต่อย่างน้อยเว็บที่คุณเปิดดูก็อาจจะโหลดเร็วขึ้น ถ้าเว็บนั้นใช้โฆษณาจาก Google เนื่องจาก Google มี infrastructure ที่ดีเยี่ยม ทำให้โหลดข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว คุณจะใช้เวลาน้อยลงในการนั่งรอให้เว็บโหลดให้จบ



อะไรคือความเสี่ยงที่จะทำให้ Google ล่มปากอ่าว

ในเว็บไซต์ของ Google ได้ระบุว่ามีปัจจัย 5 ข้อที่จะทำให้ Google ไม่ประสบความสำเร็จตามที่ฝันไว้

  1. การเปลี่ยนแปลงของสภาวะเศรษฐกิจ ธุรกิจ การแข่งขัน เทคโนโลยี หรือการเข้ามามีส่วนของภาครัฐ... อันนี้เป็นความเสี่ยงแบบกว้างๆ ครับ ไม่ว่าธุรกิจไหนก็เจอความเสี่ยงพวกนี้ทั้งนั้น

  2. การซื้อกิจการอาจไม่ได้รับการรับรองจากภาครัฐ... เรื่องนี้เป็นเรื่องของกฎหมาย ทำให้ถูกกฎหมายเข้าไว้ก็พอ
    ความล้มเหลวในการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่แข่งขันกันอย่างรุนแรง และมีการเปลี่ยนแปลงสภาวะการแข่งขันอย่างรวดเร็ว... ปัจจัยข้อนี้สำคัญนะครับ คงต้องหาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในรายงานประจำปี

  3. ไม่สามารถรักษาพนักงานที่สำคัญเอาไว้ได้... มันเป็นไปได้ที่พนักงานของ DoubleClick จะลาออก เพราะไม่อยากอยู่ร่วมบริษัทกับ Google แต่ยุคที่ใครๆ ก็อยากจะทำงานกับ Google แบบนี้ ปัจจัยข้อนี้ก็คงมีความเสี่ยงไม่มากนัก

  4. ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานทางธุรกิจของ Google และ DoubleClick... กว้างจริงๆ แต่สำคัญครับ

  5. ผมมองว่าความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดก็คือการสูญเสีย "ข้อดี" ของ DoubleClick ไป อย่างการสูญเสียพนักงานที่สำคัญก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมีอย่างอื่นอีก เช่น ถ้าเดิมที DoubleClick มีเครือข่ายพื้นที่โฆษณาอยู่ แต่เจ้าของพื้นที่โฆษณาดันเป็นบริษัทในเครือของคู่แข่งของ Google พอคู่แข่งเห็นแบบนี้ก็อาจจะยกเลิกพื้นที่โฆษณาที่ให้ DoubleClick ขายให้ก็ได้ หรือในอีกฟากหนึ่งคือฟากของผู้ซื้อโฆษณา ถ้าผู้ซื้อโฆษณาเป็นบริษัทคู่แข่งกับ Google ก็คงจะยกเลิกการซื้อได้เหมือนกัน เรื่องอะไรจะเอาเงินไปให้คู่แข่งง่ายๆ ล่ะ จริงไหม?


ผมเองไม่รู้รายละเอียดเชิงลึกของสภาพอุตสาหกรรมโฆษณาออนไลน์มากนัก แต่ก็เชื่อว่าความเสี่ยงต่างๆ ที่มีอยู่เกิดขึ้นจริงได้ยาก ถึงแม้จะเกิดขึ้นแต่ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบรุนแรงนัก ผมเชื่อว่า Google น่าจะทำให้ธุรกิจโฆษณาออนไลน์ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น

อย่าให้เป็นเหมือนการซื้อกิจการโทรศัพท์มือถือในบางประเทศล่ะ ความเสี่ยงที่วิเคราะห์ออกมาหลายสิบข้อ ผู้ซื้อโดนเข้าไปทุกข้อเลย




 

Create Date : 15 เมษายน 2550    
Last Update : 15 เมษายน 2550 23:20:11 น.
Counter : 973 Pageviews.  

Google ซื้อ DoubleClick ด้วยเงินสดมูลค่า 3.1 พันล้านเหรียญ นี่คือราคาที่สมเหตุสมผลหรือเปล่า?

ข่าวออกมาสดๆ ร้อนๆ ว่า Google เป็นป๋าอีกแล้ว คราวนี้ทุ่มเงินซื้อตัวหนู DoubleClick ไปด้วย "เงินสด" มูลค่า 3.1 พันล้านเหรียญ เอาชนะเสี่ย Microsoft ไปแบบขาดลอย ราคานี้สูงกว่าที่ Google ให้หนู YouTube ที่ 1.76 พันล้านเหรียญเสียอีก



หลายคนอาจสงสัยว่าราคา 3.1 พันล้านเหรียญ (เอากำไรสุทธิของปี 2006 ทั้งปีไปซื้อเว็บเพียงเว็บเดียว) เป็นราคาที่สมเหตุสมผลจริงหรือเปล่า หรือเป็นเพียงแค่เสี่ยหนุ่มอย่าง Google อยากเอาชนะอาแปะพุงพลุ้ยอย่าง Microsoft กันแน่?

เราลองมาดูกันครับว่าเสี่ย Google อยู่ในอารมณ์อยากประมูลให้ชนะเพื่อความสะใจเฉยๆ หรือว่าเบื้องหลังมีวิธีการคำนวณราคาซื้อที่เหมาะสมกันแน่



เวลาไปซื้อของตามตลาดนัด เคยต่อราคากับแม่ค้าไหมครับ? สมมุติว่าจะซื้อเสื้อยืดตัวละ 199 บาท คุณจะต่อราคาเหลือกี่บาท?

บางคนใช้เกณฑ์ว่าเคยซื้อเสื้อคล้ายๆ แบบนี้ได้ที่ราคา 180 บาท ก็ต่อไปที่ 180 บาท

บางคนใช้เกณฑ์ว่าแม่ค้าเรียกมาเท่าไหร่ ต้องต่อลงไปซัก 10% ก็บอกไปที่ 180 บาท (แต่ถ้าไปซื้อของที่ประเทศจีน ห้ามต่อลงไป 10% นะครับ แต่ต้องต่อให้เหลือ 10% เช่น สินค้า 100 หยวน ต่อไปเลย 10 หยวน)

บางคนใช้ความรู้สึกเป็นหลัก คือรู้สึกว่าเสื้อตัวนี้มันน่าจะถูกกว่านี้ ตัวเองอาจจะใช้ประโยชน์จากเสื้อได้ไม่ถึง 199 บาท ก็เลยเรียกไปที่ 180 บาท

บางคนขี้เกียจต่อครับ 199 ก็ 199 เลย รู้สึกว่าส่วนลด 20 บาทมันไม่คุ้มที่จะเสียเวลายืนต่อราคากับแม่ค้า (ผมก็เป็นคนประเภทนี้)

แล้วการที่ Google ซื้อ DoubleClick ล่ะ? DoubleClick ตั้งราคามาสูงๆ แล้วให้ Google ต่อราคาหรือเปล่า?

คำตอบก็คือตรงกันข้ามครับ เนื่องจาก DoubleClick เป็นสาวสวยที่มีเพียงหนึ่งเดียว แต่มีเสี่ยสองคนมารอสู่ขอ ทั้งสองเสี่ยก็เลยต้องประมูลแข่งกัน ราคาประมูลก็จะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เสี่ยคนไหนให้ราคาสูงสุดได้ คนนั้นก็ได้ตัวสาวไป

แล้วทั้งสองเสี่ยเอาราคาประมูลสูงสุดที่คิดว่าตัวเองจ่ายไหวมาจากไหนล่ะ? ทำไมเสี่ย Microsoft ไม่ประมูลแข่งต่อไปอีกให้ราคาสูงกว่า 3.1 พันล้านเหรียญ แล้วให้เสี่ย Google มาเกทับอีกครั้ง?

คำตอบก็คือไพ่ในมือของทั้งสองเสี่ยไม่เท่ากันครับ ไพ่ของเสี่ย Microsoft เป็น Straight Flush ขณะที่ไพ่ของเสี่ย Google คือ Royal Straight Flush ราคา 3.1 พันล้านเหรียญมันเกินไพ่ Straight Flush ของเสี่ย Microsoft ไปแล้ว

ทีนี้เราลองมาดูกันดีกว่าครับว่าทำไมเสี่ย Google ถึงให้ราคา 3.1 พันล้านเหรียญได้ ราคานี้มีที่มาอย่างไร?

สูตรการคำนวณราคาซื้อกิจการมีอยู่ว่า...

ราคาซื้อ = กำไรที่ผู้ถูกซื้อสามารถสร้างได้ในอนาคตโดยคิดกลับมาเป็นมูลค่าปัจจุบัน (Net Present Value) + มูลค่าเพิ่มที่ได้จากการรวมกิจการกัน (Synergy Value) + มูลค่าเพิ่มที่ได้จากการที่คู่แข่งไม่สามารถซื้อกิจการนี้ไปได้ (ผมไม่รู้ว่าภาษาอังกฤษเรียกว่าอะไร แต่ผมขอเรียกว่า Competition Value ละกันนะครับ)



Net Present Value

ศัพท์คำนี้เด็กการเงินคงรู้จักดี แต่ผู้อ่านบล็อกนี้ส่วนใหญ่คงไม่ใช่เด็กการเงิน ผมก็จะอธิบายในแบบที่ไม่ใช่ Net Present Value นะครับ จะไม่พูดถึง Time Value of Money หรือ Weighted Average Cost of Capital แต่จะอธิบายเรื่องของจุดคุ้มทุนแทนเพื่อให้เข้าใจได้ง่าย

เนื่องจากบริษัทธุรกิจคือเครื่องจักรปั๊มเงิน (หรือทำลายเงินก็ได้) มันสามารถปั๊มเงินออกมาได้ทุกปี การเข้าซื้อกิจการก็คือการซื้อเครื่องปั๊มเงิน คือการลงทุนรูปแบบหนึ่งที่ต้องการผลตอบแทนที่ดี

ให้คุณลองนึกว่าถ้าคุณมีเงินก้อน แล้วเอาเงินไปฝากประจำ หรือเอาไปซื้อพันธบัตร ซื้อกองทุน ซื้อหุ้น หรืออะไรก็ตาม คุณต้องการผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นๆ ซึ่งผลตอบแทนมักจะถูกพูดถึงในรูปแบบของอัตราดอกเบี้ย แต่มันก็สามารถพูดได้อีกแบบว่าคุณต้องการให้เงินก้อนนี้เพิ่มเป็นสองเท่าภายในกี่ปี หรือแปลอีกอย่างก็คือคุณต้องการถอนทุนคืนกลับมาภายในกี่ปี

สมมุติว่าคุณมีเงินหนึ่งล้านบาท เอาไปลงทุนอะไรสักอย่างที่ให้ผลตอบแทนปีละ 7% ผลตอบแทนที่ได้ คุณทบต้นเข้าไปอีก จะต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปี เพื่อให้เงินหนึ่งล้านกลายเป็นสองล้านบาท

ผมไม่รู้ว่าตัวเลขกำไรของ DoubleClick อยู่ที่ปีละเท่าไหร่ แต่สมมุติว่าถ้า DoubleClick ทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอปีละ 310 ล้านเหรียญ ขณะที่ Google จ่ายเงินซื้อไป 3.1 พันล้านเหรียญ แปลว่าต้องใช้เวลา 10 ปี Google ถึงจะได้ทุนคืน (ไม่สนใจเรื่อง Time Value of Money นะครับ)

ถ้า 10 ปีคืนทุน Google เอาเงินไปฝากธนาคารที่ให้ดอกเบี้ย 7% ดีกว่าครับ

แปลว่ากำไรของ DoubleClick น่าจะสูงกว่าปีละ 310 ล้านเหรียญ หรือ Google ได้อะไรจากการซื้อ DoubleClick ที่มากกว่ากำไรที่ตัวมันเองทำได้อยู่แล้ว

โดยส่วนตัวผมแล้ว ผมเชื่อว่ากำไรของ DoubleClick ไม่น่าจะสูงกว่านี้มากนัก แต่ Google ได้อย่างอื่นพ่วงมาด้วย ซึ่งอยู่ในหัวข้อถัดไป



Synergy Value

การที่บริษัทหนึ่งเข้าไปซื้อกิจการของอีกบริษัท สิ่งที่ผู้ซื้อจะได้รับมากกว่ากำไรตามปกติก็คือมูลค่าเพิ่มจากการร่วมรัก เอ้ย ร่วมกิจการกัน เมื่อสองบริษัทได้แนบชิดรวมตัวเข้าด้วยกันเป็นทองแผ่นเดียวกันแล้ว จะเกิดสิ่งที่เรียกสวยหรูว่า Synergy ขึ้น ซึ่งก็คือการได้ลดต้นทุนบางอย่างลงไป หรือได้ผลประโยชน์บางอย่างเพิ่มขึ้นมา ประมาณว่าอยู่เป็นโสดแล้วเปลืองค่าใช้จ่าย พอแต่งงานแล้วจะได้มีคนมาช่วยแชร์ค่าใช้จ่าย แถมได้อย่างอื่นแถมมาด้วย บางคนอาจบอกว่า Synergy คือ 1 + 1 = 3 หรือบางคนก็ 1 + 1 = 11 ไปเลย (พวกนักนิยมเลขฐานสองเค้าว่าแบบนี้น่ะครับ)

Synergy Value ที่ว่านี้มีอะไรบ้าง?

ลดพนักงานลง - แน่ซะยิ่งกว่าแช่แป้ง (ทำไมต้องแช่แป้ง?) พนักงานของบริษัทที่ถูกซื้อกิจการไปย่อมรู้ตัวดีครับว่าต้องมีคนถูกปลดออก โดยเฉพาะพนักงานที่อยู่ในแผนกสนับสนุนที่ไม่ใช่หัวใจสำคัญของบริษัท อย่างเช่น บัญชี ทรัพยากรบุคคล ฝ่ายกฎหมาย ฯลฯ ก็ในเมื่อบริษัทผู้ซื้อมีแผนกเหล่านี้อยู่แล้ว บริษัทผู้ถูกซื้อจะมีไปอีกทำไมล่ะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำแหน่ง CEO และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทผู้ถูกซื้อ มีโอกาสตกงานสูงครับ

การประหยัดต่อขนาด - ภาษาอังกฤษเรียกว่า Economies of Scale คือซื้อของจำนวนน้อยจะต้องจ่ายแพง แต่ถ้าซื้อของจำนวนมาก ราคาต่อชิ้นจะถูกลง Google กับ DoubleClick อาจจะรวมฝ่ายจัดซื้อเข้าด้วยกัน เวลาที่จะสั่งซื้อคอมพิวเตอร์ ก็สามารถซื้อในล็อตใหญ่มากขึ้น และได้ส่วนลดจากผู้ขายมากขึ้นด้วย อย่างวันนี้ผมซื้อไอศกรีมของ Nestle แบบที่เป็นโคน คล้ายๆ กับ Cornetto ของ Wall's น่ะครับ ผมซื้ออันเดียว ราคา 23 บาท แต่แคชเชียร์บอกว่าถ้าซื้อสองอัน จะได้รับส่วนลด 14 บาท แปลว่าราคาต่อหน่วยเหลือเพียง 16 บาทเท่านั้น พอดีมีเพื่อนอยู่ด้วยอีกคน ก็เลยซื้อสองอันมาแบ่งกันกินคนละอันเลย (แล้วเธอก็บ่นว่ากินแล้วอ้วน)

การได้ครอบครองเทคโนโลยี - บางทีบริษัทใหญ่ๆ อาจจะพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ สู้กับบริษัทขนาดเล็กไม่ได้ ก็เลยใช้วิธีเข้าซื้อกิจการซะเลย จะได้เอาเทคโนโลยีมาเป็นของตัวเองด้วย แต่กรณีนี้คงไม่เกิดกับ Google เพราะเขาเป็นยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่แล้ว

การขยายตลาด - อันนี้เกี่ยวกับ Google แน่นอนครับ บางบริษัทมีเทคโนโลยีที่ดีอยู่แล้ว แต่ตลาดยังไม่กว้าง ก็ใช้วิธีเข้าซื้อกิจการของบริษัทที่มีลูกค้าอยู่ในมือเยอะๆ อย่างการที่ Google ซื้อ YouTube ทั้งที่ตัวเองก็มีเทคโนโลยี Video Sharing ที่ดีกว่า YouTube เสียอีก ก็เพื่อจะได้ฐานผู้ใช้ของ YouTube มาเป็นของตัวเอง ส่วนการซื้อ DoubleClick นั้น เชื่อว่าเป็นเพราะ DoubleClick มีฐานลูกค้ารายใหญ่ถึง 1,500 ราย Google คงอยากจะเอาเครือข่ายโฆษณาออนไลน์ที่ตัวเองมีอยู่ไปขายให้กับลูกค้าเหล่านี้



Competition Value

นอกจากมูลค่าเพิ่มที่ได้รับจากการ Synergy แล้ว Google ยังได้มูลค่าเพิ่มจากการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างการแข่งขันด้วย อย่างแรกที่ได้ก็คือคู่แข่งลดลง คู่แข่งที่ว่านี้ก็คือ DoubleClick นั่นเอง เมื่อถูกซื้อมาแล้วก็ไม่ต้องแข่งกันอีก แต่จับมือกันรวยดีกว่า

แต่ยังมีมูลค่าเพิ่มอีกแบบก็คือการที่คู่แข่งของ Google ไม่ได้กิจการของ DoubleClick ไป ให้ลองนึกดูว่าถ้าคู่แข่งอย่าง Microsoft หรือ Yahoo! ได้ DoubleClick ไป จะทำให้ส่วนแบ่งการตลาดของ Google ลดลงแค่ไหน แต่พอ Google ได้ DoubleClick มา ทำให้ส่วนแบ่งของ Microsoft และ Yahoo! ลดลงแค่ไหน และส่วนแบ่งของ Google สูงขึ้นแค่ไหน ผลต่างระหว่างความเสียหายของคู่แข่งและความได้เปรียบของ Google ก็คือมูลค่าเพิ่มที่ Google ได้มาครับ



มูลค่าในส่วนที่เป็น Net Present Value ทั้ง Google และ Microsoft คงคำนวณออกมาได้ไม่ต่างกันมากนัก แต่ที่ต่างกันก็คือ Synergy Value และ Competition Value โดยที่ Google ให้ราคาของมูลค่าเพิ่มสองแบบนี้สูงกว่าที่ Microsoft ให้ อาจจะด้วยความสามารถของ Google ที่จะทำให้มูลค่าเพิ่มทั้งสองแบบเกิดขึ้นได้เหนือกว่าที่ Microsoft จะทำได้ และนี่คือไพ่ที่เหนือกว่าของ Google ครับ

ต่อจากนี้ไป สิ่งที่ Google ต้องพยายามทำก็คือการ maximize ทั้ง Synergy Value และ Competition Value ให้เป็นไปตามราคาที่ได้คำนวณเอาไว้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย บางครั้งการ Synergy อาจจะไม่ประสบความสำเร็จและทำให้ต้นทุนสูงขึ้นอีก หรือการคุกคามจากคู่แข่งก็อาจจะไม่ได้ลดลงอย่างที่ต้องการก็ได้

เราก็ต้องติดตามดูกันต่อไปว่าเสี่ย Google กับหนู DoubleClick จะเข้าขากันได้ดีแค่ไหน จะเป็นคู่ที่ถือไม้เท้ายอดทองกระบองยอดเพชรไปจนแก่เฒ่า หรือจะกลายเป็นคู่นกกระจอกไม่ทันกินน้ำกันแน่ (เสี่ยอย่าล่มปากอ่าวละกัน)




 

Create Date : 15 เมษายน 2550    
Last Update : 15 เมษายน 2550 3:22:56 น.
Counter : 612 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

MacroArt
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add MacroArt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.