...คิดว่ายังมีความหวัง ตราบที่ยังมีลมหายใจ...
Group Blog
 
All blogs
 

เรารักษ์ชุมพร

เรื่องโดย คุณครูสุนีย์ จุนเจือ
ภาพโดย ครูกิตติพงศ์ พันธ์เมือง (อาจารย์พิเศษ)

(ช่วงนี้ลุงบูลย์ขอพักชั่วคราว เพื่อไปหัดวาดภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ครับ แต่ยังคุยกันได้เสมอ)

เรื่องย่อ

เด็กหญิงโสภี ย้ายติดตามพ่อและแม่ มาจากอำเภอหนึ่งทางใต้ มาอยู่ที่ตำบลหาดพันไกร อำเภอเมืองชุมพร โดยพ่อและแม่ของโสภี อยากจะทำสวนผลไม้ หรือปลูกกาแฟ พอดีมีชาวบ้านในตำบลหาดพันไกร บอกขายบ้านพร้อมสวนผลไม้ เพื่อย้ายไปอยู่กับลูกสาวที่จังหวัดเชียงใหม่



ที่ตำบลหาดพันไกร โสภีได้รู้จัก ครอบครัวของคุณตาคุณยายที่มีหลานเป็นผู้หญิงชื่อสีมา ทั้งสองรู้สึกถูกคอกันจนกลายเป็นเพื่อนที่สนิท นับแต่สัปดาห์แรกที่ครอบครัวของโสภีย้ายมาอยู่




ระหว่างโรงเรียนยังไม่เปิดเทอม สีมาได้ขี่จักรยานมาชวนโสภีให้ไปเที่ยวที่บ้านของเธอ เพื่อจะให้ได้รู้จักกับคุณตาเกื้อบุญคุณตาของสีมา เพราะสีมารู้ว่าโสภีกำลังอยากจะรู้เรื่องราวเกี่ยวตำบล อำเภอ และจังหวัด ที่ตนเพิ่งมาอยู่




คุณตามีอายุ ๘๐ ปี คุณยายมีอายุ ๗๕ ปี แต่ทั้งสองยังมีสุขภาพดี ไม่ขี้หลงขี้ลืม และในอดีตคุณตาเกื้อบุญเคยเป็นกำนันตำบลหาดพันไกร จึงรู้เรื่องความเป็นมาของตำบล หาดพันไกรและเรื่องต่าง ๆ ของจังหวัดชุมพร มากกว่าใคร ๆ ในตำบลนี้



โสภีเขาอยากฟังเรื่องราวต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในจังหวัดชุมพร เช่น เรื่องที่ว่าเมื่อก่อน เมืองชุมพรเคยมีน้ำท่วมทุกปี เรื่องพายุเกย์ เรื่องที่ในหลวงมาขุดคลองให้ชาวบ้าน กับเรื่องตำนานเก่า ๆ เช่น ตำนานบ้านหูรอและพนังตัก เรื่องชุมชนโบราณบ้านสามแก้ว เรื่องวีรกรรมท่านางสังข์ ประวัติวัดพระขวาง เรื่องพ่อหลวงสงฆ์ ตำนานตำบลสลุยและบ้านวังครก ตำนานเรื่องเกาะมัตโพน เรื่องถ้ำตาชี บ้านทุ่งวัวแล่นฯลฯ


ทำไมตำบลนี้จึงมีชื่อว่าหาดพันไกร? ที่มามันเป็นอย่างไร? สีมาถาม
คุณตาเกื้อบุญจึงเล่าว่า “เมื่อประมาณ ๗๐ ปีที่แล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลนี้มีป่าไม้หนาแน่น ทำให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า ทั้งช้าง เสือ หมี หมูป่า สิงโต เก้ง กวาง... พอค่ำ ๆ สัตว์เหล่านี้จะออกมาจากป่ามากินพืชไร่ที่ชาวบ้านปลูกไว้ หลังจากนั้นจึงตรงไปที่แม่น้ำท่าตะเภา ทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเดิมเป็นหาดทรายที่กว้างใหญ่ติดต่อกับแนวเขตป่า ทำให้มีเรื่องเล่าหรือข้อสันนิษฐานต่างกัน


“สันนิษฐานแรกว่า มีช้างเพศเมียหรือช้างพัง ชื่อ “ไกร” มาตายอยู่บนหาดริมแม่น้ำ
“สันนิษฐานที่ ๒ ว่า มาจากที่คนจำนวนมาก มาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย มีการปลูกผัก ทำนา ทำไร่ ทำสวน ซึ่งมีเครื่องมือในการตัดไม้ ใบหญ้า ที่เรียกว่า “ไกร” เมื่อทำงานเสร็จในแต่ละวัน ก็นำมาที่ชายหาดเพื่อล้างหรือลับให้คม พร้อมอาบน้ำชำระกายไปด้วย ไกร(คือมีดด้ามยาว ๆ)มีจำนวนเป็นพันๆ เล่ม เป็นเหตุให้พูดติดปากกันมาว่า หาดพันไกร


สันนิษฐานที่ ๓ ว่ามีสามีภรรยาคู่หนึ่ง ซึ่งเป็นที่รู้จักและนับถือของทุก ๆ คนในชุมชน สามีชื่อ “นายพัน” ภรรยาชื่อ “นางไกร” นายพันและนางไกรตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณหาดทราย ชาวบ้านจึงตั้งชื่อบริเวณนั้นว่า “หาดนายพันและนางไกร” กาลเวลาผ่านคำที่เรียกถูกตัดทอนให้สั้นลงเหลือเพียง หาดพันไกร”



“ปัจจุบันตำบลหาดพันไกร อยู่ในเขตอำเภอเมืองชุมพร ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ ๘ กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ ๒๐,๐๘๖ ไร่ หรือประมาณ ๔๙.๒๒ ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับตำบล ต่าง ๆ คือ
ทิศเหนือ ติดต่อกับตำบลท่าข้าม อำเภอท่าแซะ
ทิศใต้ ติดต่อกับตำบลวังไผ่ อำเภอเมืองชุมพร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับตำบลบางลึก อำเภอเมืองชุมพร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับตำบลหินแก้ว อำเภอท่าแซะ




“ภูมิประเทศของตำบลหาดพันไกร มีแม่น้ำท่าตะเภาไหลผ่าน พื้นที่ทางทิศตะวันตกมีแนวเทือกเขาตะนาวศรีกั้นเป็นเขตแดน ระหว่างประเทศไทยกับประเทศพม่า พื้นที่ส่วนมากของตำบลเป็นที่ราบเชิงภูเขา มีลักษณะเป็นลูกคลื่นลาดและลูกคลื่นลอน สลับกันไป บางแห่งเป็นที่ราบลุ่ม มีน้ำท่วมขังทุกปี

เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ น้ำท่วมในตลาดชุมพรสูงมาก พ่อกับแม่ของสีมาพาเรือไปจากบ้านหาดพันไกร พายเข้าไปในเมืองชุมพร เพื่อจะไปช่วยญาติ ๆ ที่ติดอยู่ในตัวเมืองชุมพร ที่ถูกน้ำท่วม เรือที่พายไปชนกับเสาสะพานรถไฟ เรือพลิกคว่ำ พ่อแม่ของสีมาจมหายไปกับสายน้ำ ทำให้สีมาต้องกำพร้าพ่อแม่ และอยู่กับตาและยายมาโดยตลอด



แต่หลังจากในหลวงมาแก้ปัญหา โดยขุดคลองระบายน้ำสายหัววัง-พนังตักให้ ในเมืองชุมพรก็ไม่มีใครตาย หรือมีทรัพย์สินเสียหายเพราะน้ำท่วมอีก
ในหลวงทรงรับสั่งให้ขุดคลองหัววัง-พนังตัก ระบายน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาสูง ในอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อำเภอท่าแซะ และสร้างแก้มลิงที่หนองใหญ่ ทำให้น้ำที่เคยท่วมชุมพรไม่ท่วมอีกเลย”



"พอหลังจากในหลวงมาแก้ปัญหา โดยขุดคลองระบายน้ำสายหัววัง-พนังตักให้ ในเมืองชุมพรก็ไม่มีใครเสียชีวิตหรือทรัพย์สินเสียหายเพราะน้ำท่วมอีกเลย" คุณตาเล่า
"แล้วทำไมก่อนหน้านั้น ตอนที่ในหลวงยังไม่มาขุดคลองให้ ทำไมจึงไม่มีใครในชุมพรคิดแก้ปัญหาเรื่องนี้?” สีมาถาม



“เคยมีคนคิด แก้มาก่อนแล้ว คือกรมชลประทาน โดยขุดคลองลัดขึ้นที่บ้านสามแก้ว ตำบลนาชะอัง เพื่อแบ่งน้ำที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำท่าตะเภา ให้ไปออกบ้านพนังตักแทน ซึ่งตอนแรก ๆ มันแก้ได้ แต่ความที่ว่า ตัวเมืองชุมพรตั้งอยู่ในที่ลุ่ม มีภูเขาสูงด้านทิศตะวันตก เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร ไหลมาจากอำเภอท่าแซะ และส่วนหนึ่งมาจากเทือกเขาในอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกแหล่งมาจากป่าเขารอยต่อจังหวัดชุมพรกับจังหวัดระนองไหลผ่านเขตชุมชนในเมืองชุมพร ทำให้ต้องผ่านตัวเมืองตามแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำท่าตะเภา


“ประกอบกับหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา เมืองชุมพรยังไม่ขยายกว้างขึ้นมากเท่าปัจจุบัน แม่น้ำลำธารเท่าที่มีก็ยังไหลคล่อง กับอีกเรื่องคือ การตัดไม้ทำลายป่า การทำลายธรรมชาติ การถมดินก่อสร้างถนนและบ้านเรือนขึ้นมาขวางทางน้ำ มีมากขึ้น จนมาถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ในเขตเทศบาลเมืองชุมพร มีระดับน้ำท่วมสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของชุมพร บางที่น้ำท่วมสูงถึง ๓ เมตร ทำให้ทรัพย์สินของราชการประชาชน ห้างร้านของคนที่ทำมาค้าขาย รถยนต์จมน้ำ เกิดความเสียหายหนักมากกว่าครั้งไหน ๆ

ในหลวงจึงทรงมาช่วยแก้โดยให้รีบขุดคลองหัววัง-พนังตัก ให้เสร็จโดยเร็วที่สุด แต่จังหวัดทำไม่ได้เพราะไม่มีเงินงบประมาณ ในหลวงจึงต้องช่วย”

“คลองหัววังพนังตัก ถึอเป็นคลองพระราชทาน เป็นน้ำพระทัยจากในหลวง ที่ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อพศกนิกรชาวชุมพร ในการระบายน้ำ จากคลองท่าตะเภาลงสู่ทะเลอ่าวพนังตักไม่ให้เข้าเมืองชุมพร กับสร้างแก้มลิงหนองใหญ่ สามารถรับน้ำในฤดูฝน ที่ลงมาจากคลองละมุ คลองขี้นาค และคลองกรูด มาเก็บกักไว้ประมาณ ๓,๐๐๐,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตร ในเนื้อที่ประมาณ ๒,๐๐๐ไร่ ทำให้สามารถแบ่งน้ำที่จะไหลไปสู่ตัวเมืองชุมพร ไม่ให้น้ำท่วมเมืองชุมพร

ส่วนคลองหัววัง-พนังตัก ปัจจุบันใช้เป็นที่พายเรือแข่งในทุก ๆ ปี

ส่วนที่แก้มลิง หนองใหญ่ จังหวัดกำลังปรับปรุงเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีสินค้าโอท็อปจำหน่ายด้วย และจะใช้เป็นสถานที่จัดงานกาชาดด้วย

ภาพ (เป็นลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย) ของคุณครูกิตติพงศ์ พันธุ์เมือง

เรื่อง (เป็นลิขสิทธิ์ตามกฎหมายของ) คุณครูสุนีย์ จุนเจือ โรงเรียนวัดหาดพันไกร ชุมพร




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2553    
Last Update : 19 ธันวาคม 2553 15:53:51 น.
Counter : 30255 Pageviews.  

จากนางสาวลีลาวดีถึงนายกาบหมาก

ความจริงก่อนจะมาถึงเรื่องนี้ยังมีเรื่องของการกำจัดขยะ ถ้วยน้ำพาสติกโดยการนำมารีไซเคิ้ลอยู่อีกเรื่อง แต่เนื้อหาที่ได้รับมาเขียน (ผู้รับจ้างเขียนภาพ) คือข้าพเจ้ากลับพบว่า

จริง ๆ แล้วกลายเป็นการเพิ่มขยะ คือว่าพอครูให้นักเรียนนำเศษสิ่งพวกวัสดุเหลือทิ้งมาทำงานประดิษฐ์ มันกลับกลายเป็นว่า

ทั้งครูผู้สอนและเด็ก กลับไปซื้อของใหม่มาทำงานซะนี่


ก็คงเป็นที่ทราบกันดีนะครับว่า ทุก ๆ วงการในประเทศนี้มักมีการจัดฉากแหกตา กันทุกเรื่อง

จัดฉากว่าทำเพื่ออนุรักษ์ ทำเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ทำเพื่อนั่นเพื่อนี่สุดท้ายก็มักทำเพื่อ ง เงิน (แม้แต่วัด)

เรื่องนี้ครูที่ทำผลงานเกิดอาการตัน คือมัวไปหาแต่ไปหาวัสดุเหลือทิ้งมาประดิษฐ์ คิดต่อไปไม่ออก ข้าพเจ้าจึงชี้แนะกาบหมากให้อีกอย่าง เพราะว่ามันเคยเป็นทั้งของเล่นและของใช้ที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ที่ข้าพเจ้ายังเด็ก ปัจจุบันต้นหมากก็ยังมีอยู่ตามชนบททุกบ้าน น่าจะเอามาส่งเสริมให้เล่นกันอีก เรื่องนี้จึงเกิดขึ้น

อ่านจากซ้ายไปขวานะครับ(ป้องกันการบ่นว่ายาว)

หน้า ๑-๒



หน้า ๓-๔


หน้า ๕-๖


หน้า ๗-๘


หน้า ๙-๑๐


หน้า ๑๑-๑๒


หน้า ๑๓-๑๔


หน้า ๑๕-๑๖



หน้า ๑๗-๑๘



หน้า ๑๙-๒๐


หน้า ๒๑-๒๒


หน้า ๒๓-๒๔



ข้างล่างเป็นวิธีการตัดกาบหมากทำเครื่องแต่งกาย เพื่อให้เด็กใช้แสดงละคร ไม่สงวนลิขสิทธิ์ลองเอาไปทำดูครับ ภาพขาว-ดำ ดีอย่างไม่ต้องย่อก็ผ่านบล็อกได้ แต่ภาพสี โอ้โห จาก 100 เหลือแค่ 60 จึงผ่านอ่านยากหน่อยนะครับ




บล็อกนี้ได้เปรียบหน่อย เพราะขณะที่บล็อกอื่น ๆ หลับไปประมาณครึ่ง บล็อกลุงบูลย์ถือโอกาสอัพเฉยเลย ฮ่า ๆ ๆ เอิ๊ก




 

Create Date : 13 ธันวาคม 2553    
Last Update : 16 ธันวาคม 2553 16:37:34 น.
Counter : 2715 Pageviews.  

หมวกจากกองขยะ

ไม่พูดพล่ามทำเพลง วันนี้อ่านตอนต่อไปกันเลยครับ
ถ้าตัวหนังสือไม่ชัดขยายจอได้ใช่ไหมครับ (คอนโทรลบวก)












































ถึงอย่างไรตัวหนังสือก็ไม่ชัดอยู่ดี (ขอบ่นหน่อยนะครับ) แบบว่าไม่ได้ทำในโฟโต้ช็อพแล้วมาโพสต์ และอันว่าวิชาโฟโต้ช็อพหรือวิชารีทัชแต่งภาพ วาดภาพ ด้วยเครื่องมือคอมฯทั้งมวลนั้น ถ้าลุงศึกษามันก็พอจะได้หรอก แต่แหมมันกลับเหนื่อยเสียยิ่งกว่าทำด้วยมือสด ๆ เสียอีก เคยลองแล้วเหนื่อยมาก แต่เนี้ยบ...หนังสือชุดนี้มี ๖ เล่ม ที่ทำให้ครูตัวหนังสือชัดเจนดีเพราะทำในเวิร์ด แต่พอเป็นไฟล์เวิร์ดจะเอามาโพสต์ก็ดันโพสต์ไม่ได้อีกเพราะมันไม่ใช่ไฟล์เจเพ็กใช่มั้ยครับ เอาเป็นว่าไม่มีเวลาศึกษามากกว่านี้ ก็เลยเผยแพร่ได้แค่นี้

ความจริงอยากศึกษาต่อจะเอาอย่างคุณคุณสีทนบ้าง แต่ทว่า แฮ่ ๆ ตอนนี้ไม่มีครายมาจ้างเลย ถ้ามี ถือว่าจำเป็นจะต้องทำให้ได้

โอ้เช้านี้ต้องไปทำธุระนอกบ้านครึ่งวัน เดี๋ยวเที่ยงบ่าย ๆ กลับมานะครับ




 

Create Date : 10 ธันวาคม 2553    
Last Update : 10 ธันวาคม 2553 8:11:01 น.
Counter : 2329 Pageviews.  

ขยะกำลังจะล้นโลก

วันพ่อผ่านไปแล้ว มาดูกิจกรรมที่น่าสนใจกันต่อครับ

ภาพชุดนี้เป็นของคุณครูอีกท่านหนึ่งที่มาปรึกษาลุงบูลย์ ว่าจะทำหนังสือเรื่องการรีไซเคิ้ลขยะได้อย่างไร โดยท่านได้นำผลงานที่ท่านทำมาให้ลุงดู

ลุงก็จัดการทำสื่อให้ท่านนำไปใช้ในโรงเรียน แต่เนื่องจากในช่วงดังกล่าวมีงานที่จะต้องรีบทำมากมาย คือมีงานของครูกว่า ๑๕ ท่านที่จะต้องทำให้ทันก่อนปิดเทอมปลาย งานวาดภาพจึงหนักและไม่มีเวลาที่จะมานั่งบรรจงวาด งานที่ออกมาจึงดูแข็ง ๆ และไม่ค่อยประณีต

ก็อย่างว่าแหละครับพอมีงานเข้ามาก็มากัน ๒๐-๓๐ คน พอไม่มาก็ไม่มีเลย อย่างเช่นตอนนี้เป็นต้น

อ้อ เรื่องนี้มีการสอดแทรก "คุณธรรม ๘ ประการ ข้อ ๑ ความขยันและความประหยัด" ด้วยครับ การอ่านอ่านจากซ้ายไปขวาเป็นคู่ ๆ นะครับ

(หน้า ๑-๒)



(หน้า ๓-๔)



(หน้า ๕-๖)




(หน้่า ๗-๘)




(หน้า ๙-๑๐)




(หน้า ๑๑-๑๒)




(หน้า ๑๓-๑๔)




(หน้า ๑๕-๑๖)




(หน้า ๑๗-๑๘)




(หน้า ๑๙-๒๐)




(หน้า ๒๑-๒๒)




(หน้า ๒๓-๒๔)




(หน้า ๒๕-๒๖)




(หน้า ๒๗-๒๘)




(ถ้าท่านชอบเรื่องนี้หรือไม่ชอบขอคอมเมนท์ด้วยครับ เผื่อจะได้มีกำลังใจนำสิ่งดี ๆ มาเสนอท่านอีก




 

Create Date : 06 ธันวาคม 2553    
Last Update : 7 ธันวาคม 2553 19:34:36 น.
Counter : 2875 Pageviews.  

โลกไม่มีขยะ ๕-๖ (จบนะครับ)

เพื่อเอาใจท่านผู้ชมที่เข้ามาอ่านแบบไม่เคาะประตู ดูแล้วมีตั้ง ๑๕๐ กว่าท่าน แสดงว่าสารชิ้นนี้ที่ผมทำมีผู้สนใจ


ไม่เป็นไรครับผมถือว่าของ ๆ ผมดี และที่ผมนำมาเสนอนี้ก็คือเสนอสิ่งดี ไม่ใช่สิ่งมอมเมา และที่นี่ไม่มีภาษาใหม่วัยมันส์ เพราะฉะนั้นเชิญท่านสดับต่อไปครับ
เอ๊ะ! ใช้ภาษาผิดอีกหรือเปล่า เพื่อความถูกต้องก็ ขอเชิญ "ทัศนา" ต่อไปครับ และถ้าไม่ใจจืดใจดำละก็ ขอได้โปรดทิ้งรอยไว้บ้าง ว่าท่านมาชมจะเป็นเกียรติแก่ผู้เขียนอย่างมากขอรับ.................


วันต่อมา
“คุณครูคะ พวกเราอยากไปเยี่ยมบ้านหนูแก้ว พวกเราอยากช่วยกันเก็บขยะ ในโรงเรียน ถนนและบ้าน เอาไปขายพ่อแม่หนูแก้ว แล้วเอาเงินไปซื้อหนังสือการ์ตูนเข้าห้องสมุดโรงเรียน”


“ดี ๆ ค่ะ ครูขอสนับสนุน งั้นออกมาเข้าแถว เราจะเดินกันไป”
“หนูเดินนำไปก็ได้หนูเคยไป” หนูตุ้มพูด
“ให้หนูแก้วนำไปดีกว่านะจ๊ะเพราะเขาเป็นเจ้าของบ้าน” คุณครูสิริพรพูด
“ผมขอไปด้วย” หนูตุ้มพี่ชายหนูโต้ง มาขอร่วมขบวน


สายวันนั้น คุณครูศิริพร จึงพานักเรียนที้งห้อง เดินแถวไปที่บ้านของหนูแก้ว และมีนักเรียนชั้นอื่น ๆ ขอไปด้วยหลายคน ในจำนวนนั้น มีหนูโต้งพี่ชายของหนูตุ้ม ที่สนใจเรื่องการกำจัดขยะลดภาวะโลกร้อนคนหนึ่งไปด้วย

ที่ลานหน้าบ้าน แม่ของหนูแก้วกำลังจัด คัดแยกของเก่า หรือขยะออกเป็นพวก ๆ พอเห็นคุณครูสิริพรกับเด็ก ๆ ก็รีบเดินมาต้อนรับ และพูดว่า
“เชิญนั่งก่อนค่ะคุณครู พาเด็ก ๆ ไปไหนกันคะ วันนี้”
“เด็ก ๆ เขาสนใจอยากจะหาของเก่ามาขายค่ะ เลยต้องพามาดู” คุณครูตอบ

“อ๋อ! จะหาขยะมาขายหรือคะ ขยะที่ขายได้ก็มี พวกขวดน้ำพลาสติกใสพลาสติกขุ่น ขวดแก้ว กระป๋อง กระดาษ ทุก อย่าง และเศษเหล็กค่ะ ส่วนขยะที่ขายไม่ได้ คือถุงหูหิ้ว ถุงพลาสติกใส่อาหาร เศษโฟม”

“ราคาของขยะแตกต่างกันค่ะ เช่น กระป๋องเบียร์และน้ำอัดลม ราคาใบละ ๕๐ สตางค์ กระป๋องปลากระป๋อง กิโลละ ๓๐ สตางค์ ค่ะ”

“ขวดใส่น้ำขวดใสกิโลละ ๑๒ บาท ขวดขุ่น กิโลละ ๔ บาท” แม่ของหนูแก้วพูด
“กระดาษแข็ง เช่น กล่อง ลัง กิโลละ ๔ บาท เศษกระดาษกิโลละ ๒ บาท ขวดน้ำปลากิโลละ ๑ บาท ขวดซีอิ๊วกิโลละ ๑๐ สตางค์”


“การนำมาขายต้องแยกนะคะ ถ้าไม่แยกราคาจะถูก เพราะต้องมาเสียเวลาแยกอีกค่ะ”

“คุณน้าครับ คุณน้ารับซื้อแต่ขยะที่ขายได้ ทำให้ขยะถูกนำกลับไปใช้ใหม่ ช่วยแก้ปัญหาขยะ แต่ขยะที่ขายไม่ได้ก็ยังอยู่เหมือนเดิม เราจะทำอย่างไรครับ ขยะจึงจะไม่ล้นเมือง” หนูโต้งถามความเห็นแม่ของหนูแก้ว


“น้าขอตอบว่า พวกหนู ๆ นี่แหละ ที่สามารถจะแก้ปัญหาเรื่องขยะ ส่วนที่เหลือได้”


“น้าเองมีแนวคิดอยู่ ๗ ข้อ ลองเข้าไปดูในบ้านน้าซีคะ”

“ข้อ ๑ ไม่ใช้ ถุงพลาสติก กล่องโฟม หรือกล่องบรรจุที่จะเป็นขยะ รวมทั้งจะเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
“ข้อ ๒ ใช้แต่สินค้าชนิดเติมใส่ภาชนะบรรจุเดิม ไม่ต้องซื้อภาชนะใหม่


“ข้อ ๓ ซื้อแต่สินค้าที่สามารถ ส่งคืนภาชนะบรรจุกลับสู่ผู้ผลิตได้ เช่น ขวดพวกนี้”
“ข้อ ๔ ซ่อมแซมเครื่องใช้ ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะ

“ข้อ ๕ นำถุงผ้าหรือตะกร้าไปจ่ายของ แทนการให้แม่ค้าใส่ถุงก๊อบแก๊บ
“ข้อ ๖ แยกขยะ เช่น ขวดพลาสติก ถ้วยไอศกรีม กระป๋องเครื่องดื่มเอาไปขาย”

“ข้อ ๗ ถนอมเครื่องคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ และโทรศัพท์มือถือ ให้ใช้งานได้นาน ๆ เพื่อลดการซื้อของใหม่”
“เพราะของพวกนี้เมื่อหมดอายุใช้งาน เป็นขยะอันตรายนะจ๊ะ”
“โอ้โฮ! โทรทัศน์ และโทรศัพท์รุ่นโบราณ รุ่นแรก ๆ น้าก็ยังใช้”


“จ้ะ นี่คือ วิธีที่จะทำให้ลดขยะลงได้ อีกวิธีหนึ่งของน้า”
นักเรียนทุกคนจึงต่างได้ข้อคิด จากคนรับซื้อขยะ มาจัดการกับปัญหาขยะ ที่บ้านและโรงเรียนของตน

ตอนที่ ๖
ถึงวาระต้องกำจัด


วันนี้ ในชั้นเรียนของหนูตุ้ม นักเรียนต่างร่วมกันเก็บและแยกขยะ ทั้งขยะในโรงเรียน และในบริเวณที่พบเห็น มารวมไว้เป็นถุง ๆ



“เราจะจัดการอย่างไรกับขยะพวกนี้”
คุณครูสิริพรถาม เพื่อให้นักเรียนคิดหาคำตอบ
“ขยะที่ขายได้ พวกเราพาไปขายได้เงินมา ซื้อหนังสือเข้าห้องสมุดได้แล้วหลายเล่ม ปัญหาต่อไปก็คือ ขยะที่ขายไม่ได้จะทำอย่างไร” เด็กชายคนหนึ่งพูด ให้เพื่อน ๆ ช่วยกันคิด


“ขยะเปียก เศษพืช เศษอาหาร ขยะที่ย่อยสลายง่าย เอาไปหมักทำปุ๋ยค่ะ” หนูตุ้มตอบ
“ขยะที่ขายไม่ได้เราต้องหาที่กำจัด โรงเรียนเรามีเตาเผาขยะ” หนูโต้งพี่ชายหนูตุ้มตอบอีกคน


“งั้น ไปดูการเผาขยะกัน”
คุณครูสิริพรพูดและจะพาเด็กๆ ไปดูวิธีกำจัดขยะ


เด็ก ๆ ต่างพากันยินดี ที่จะได้ออกไปเรียนนอกสถานที่
คุณครูสิริพรจึงพานักเรียนไปดูเตาเผาขยะ และไปเจอคุณลุงแป้น ภารโรงกำลังเผาขยะอยู่พอดี

“การเผา สามารถทำลายขยะมูลฝอย ได้เกือบทุกชนิด ยิ่งถ้าเป็นขยะ ประเภทที่ติดไฟง่าย เราสามารถเผาแบบ ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง”
คุณลุงแป้นภารโรงอธิบาย


“การฝังกลบละคะ เราต้องทำอย่างไรบ้าง” เด็กหญิงแก้วถาม
“นำขยะมูลฝอยมาเทลงใน หลุมลึกที่ขุดเตรียมไว้ กลบดินแล้วบดให้แน่น” คุณลุงแป้นตอบ


“การฝังกลบ ถ้าทำอย่างถูกวิธี จะไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม อย่างเช่นที่ตรงนี้ เมื่อก่อนเป็นที่ลุ่ม ท่านผู้อำนวยการฯ ให้ขุดเป็นหลุมใหญ่ แล้วนำขยะมาฝังกลบ ทำให้ได้สนามฟุตบอล อีก ๑ สนาม”


“ลุงรู้เรื่องการใช้ขยะมูลฝอย เป็นพลังงานไฟฟ้าไหมคะ เขาทำได้ด้วยใช่ไหม” คุณครูสิริพรถาม
“แฮ่ ๆ ผมรู้ว่าทำได้ครับ แต่แหม เรื่องนี้ผมว่าคุณครูศึกษามามากกว่าผมนะครับ แฮ่ ๆ”
นายแป้นออกตัวหัวเราะอาย ๆ เพราะคิดว่าตน มีความรู้น้อยกว่าคุณครู
“บางที่เขานำขยะมูลฝอยไปทำเป็นเชื้อเพลิงต้มน้ำ ให้ไอน้ำไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า” คุณครูสิริพรพูด


“ครับ แฮะ ๆ ผมก็เคยได้ยินว่าอย่างนั้น”
นายแป้นภารโรงตอบและว่า
“น่าจะมาสร้างไว้แถวบ้านเราสักโรงนะครับ ขยะจะได้หมดไปเสียที”

“แต่ถ้าเอาขยะมาหมักทำปุ๋ยละก็ ผมชำนาญ แค่ใช้ขยะที่ย่อยสลายได้ มาหมักไว้ ๔๕ วัน จากนั้นผึ่งแดดไว้ อีก ๖๐ วัน ก็นำไปใช้เป็นปุ๋ยได้เลย แบบนี้ครับ”
นายแป้นชี้ให้ดูกองปุ๋ยหมัก

เมื่อกลับมาสู่ห้องเรียน คุณครูศิริพร พูดว่า
“ขยะมีมากขึ้นทุกวัน ถ้าเราไม่ทิ้งขยะ ให้เป็นที่เป็นทาง
จะเป็นปัญหาต่อสภาพแวดล้อม เช่นทำให้น้ำเน่าดินเสีย
ปลูกพืชผักไม่ได้ และเป็นอันตราย ต่อสุขภาพของเรา”


“กองขยะเป็นแหล่งสะสมสิ่งสกปรก ส่งกลิ่นเหม็น ทำให้อากาศเป็นพิษ เป็นที่อาศัยของสัตว์นำโรค ยุง แมลงวัน หนูและเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เราจึงควรช่วยกันทิ้งขยะมูลฝอยให้เป็นระเบียบ บ้านเมืองของเราจะได้สวยงาม”


“ความจริงโลกไม่มีขยะ ที่โลกมีขยะเพราะว่ามนุษย์ มนุษย์ที่อยู่บนโลก ทำให้เกิดขยะ”
คุณครูศิริพรพูดแปลก ๆ หนูตุ้มหันไปมองเพื่อน ๆ เห็น เพื่อน ๆ นั่งเงียบ



คุณครูศิริพร จึงพูดต่อไปคล้ายรำพึงว่า
“ขยะมาจากคน มีคนจึงมีขยะ ถ้าไม่มีคนขยะจะไม่มี”

“พวกเศษกระดาษ ถุงพลาสติก สิ่งต่าง ๆ ที่คนผลิต ถูกทิ้งลงมาจากบ้านเรือน โรงงาน จากรถยนต์ จากคนเดินถนน บริเวณที่มีการก่อสร้าง โรงเรียน ตลาด ร้านค้า และทุกหนแห่งที่มีคนอาศัยอยู่ นี่แหละที่ทำให้เกิดขยะ”

“เอ๊ะ! แล้วพวกต้นไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ใบหญ้าละครับ ถึงไม่มีคนมันก็เป็นขยะได้เหมือนกันนี่ครับ”
หนูโต้ง กับหนูตุ้มแย้งคุณครู


“โลกมีวิธีจัดการกับใบไม้ ผลไม้ ซากพืช ซากสัตว์ ซึ่งจะเน่าเปื่อยย่อยสลายกลายเป็นดิน เป็นปุ๋ยให้กับพืช ในธรรมชาติจึงถือว่า “ไม่มีขยะ”
“ขยะมาจากสิ่งที่คนคิดประดิษฐ์ขึ้นแล้วธรรมชาติ ไม่สามารถจะย่อยสลายได้”
คุณครูศิริพรสรุป ก่อนพาเด็ก ๆ ไปเดินดูว่าในป่าไม่มีขยะ มีแต่สิ่งที่จะค่อย ๆ ผุพัง ย่อยสลายกลายเป็นดินต่อไป

(ภาพซ้ำกันบ้างคงไม่ว่านะครับ คือขอสารภาพว่าคนแก่ทำบล็อกนี่ทำยากครับ ไม่ใช่มืออาชีพด้วย บีจี บีเจอ อะไรก็ไม่มี ยิ่งเพลงยิ่งลืมได้เลย แรก ๆ เคยทำเป็นตอนหลังเห็นว่ายุ่งยากก็เลยตัดไป)

แต่ที่นำเสนอนี่ก็ยังไม่ใช่ฉบับจริงนะครับ ฉบับจริงยังมีอีเวอร์ชั่นแต่ลุงก็อบมาลงไม่ได้ ต้องไปพรินท์ออกมาก่อนแล้วสแกนมาครับ นี่ ๆ ครับ









เวอร์ชั่น ๒ นี่สแกนจากหนังสือที่ทำเสร็จแล้วมาให้ชม แต่ภาพไม่ชัดใช่มั้ยครับ แต่ของจริงรับรองว่าชัดแจ๋ว แบบว่าป้องกันการก็อบด้วยไงครับ ฮ่า ๆ ๆ ในที่สุดก็มีขยักไว้จนได้สิ อิ ๆ




 

Create Date : 24 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 24 พฤศจิกายน 2553 12:14:38 น.
Counter : 54886 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

pantamuang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 22 คน [?]




ไม่อยู่อย่างอยาก แต่ยังอยากจะอยู่
อยู่อย่างไม่ลำบาก เวลาที่เหลือน้อยรีบสอยรีบคว้า
ก่อนจะหมดเวลาให้สอย

ดวงดาวบนฟ้าก็สอยได้ ถ้ารู้จักต่อด้ามฝันให้ยาวพอ

ฝันถึงไหนก็ได้ มีสิทธิ์ฝัน แต่จะเป็นจริงหรือไม่ช่างฝัน
เพราะสิ่งที่ฝันคือนวนิยาย..

ชีวิตก็คือนวนิยายเรื่องหนึ่ง ที่เราเป็นผู้เขียนและกำกับ.

เริ่ม 9 กันยายน 2550

Friends' blogs
[Add pantamuang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.