กูรูหุ้นพันล้าน 9-17

ตอนที่ 9 อย่ารีบซื้อความสุข

คนเราต้องตั้งเป้าหมายให้สูงๆเข้าไว้ และในระหว่างที่ต้นไม้กำลังโต คุณอย่ารีบไปเด็ดยอดทิ้ง อย่าด่วนเอาเงินมาซื้อความสุข ใจเย็นๆ ไว้ก่อน "คนฟุ่มเฟือย แม้จะรวยก็มักขัดสน คนประหยัด แม้จะจนก็มักมีเหลือเก็บ" วิชัย วชิรพงศ์ ฝากถึงนักลงทุนรุ่นใหม่ว่า ช่วงที่พอร์ตหุ้นของเรายังไม่โตมาก อย่าด่วนเอากำไรไปซื้อความสุข เพราะนั่นคุณยังไม่ประสบความสำเร็จเลย คุณต้องใจเย็นๆ พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เก็บเอากำไรไปลงทุนต่อ ซึ่งภาษาการลงทุนเรียกว่า.."Reinvestment" "ผมเห็นมาเยอะ พอได้กำไรหุ้นมา 5-6 ล้านบาท บางคนซื้อนาฬิกาเรือนละ 7-8 แสนมาใส่ มองดูแล้วคนอย่างนี้โอกาสที่จะชนะในระยะยาว "ยาก" แค่เริ่มต้นก็เห็นจุดอ่อนแล้ว" วิชัยบอกว่า วันที่ตัวเองมีเงินถึง 100 ล้านบาท ถึงได้ให้รางวัลชีวิต ไปซื้อรถยนต์ Mercedes-Benz รุ่น S 280 มาขับ สมัยนั้นรถรุ่นนี้ราคาคันละกว่า 4 ล้านบาท "ชีวิตผมแม้จะสำเร็จ..ได้กำไรหุ้นมาตลอด แต่ก็ยังทนใช้รถยนต์คันเก่าไม่ยอมเปลี่ยน บ้านที่อยู่ก็ไม่ใช่บ้านของตัวเอง อาศัยบ้านพ่อตา-แม่ยายอยู่ จำได้ว่าช่วงก่อนหน้าที่ดัชนี SET จะขึ้นมา 1,700 จุด ก่อนหน้านั้น ผมไปขออนุญาตภรรยาว่า..ถ้าวันไหนผมมีเงินถึง 100 ล้านบาทนะ..ขอซื้อรถ Benz มาขับสักคัน" ...แฟนก็บอกว่าเอาเลย ถ้าเธอแน่จริงก็ทำให้ได้ซิ! แล้ววันที่ผมมีเงินถึง 100 ล้านบาท (ช่วงดัชนี 1,700 จุด) ก็ไปซื้อ S 280 มาขับ แต่ก่อนจะซื้อ ช่วงนั้นก็ยังอยู่บ้านพ่อตา-แม่ยาย อยู่ตึกแถวย่านประตูน้ำ ก็ให้แฟนไปบอกพ่อแม่เขาว่า ผมขออนุญาตซื้อรถ Benz นะ เดี๋ยวเขาจะหาว่าเราเป็นคน "โอเวอร์" กลัวเขาจะมองว่าเป็นพวกอวดร่ำอวดรวย" เมื่อพอร์ตโตขึ้น..มีเงินระดับ 300-400 ล้านบาท วิชัยถึงได้เปลี่ยนมาใช้รถเบนซ์สปอร์ต และเมื่อมีเงินถึงระดับ "พันล้าน" ถึงได้สัมผัสรถยนต์ในฝัน "เฟอร์รารี่" ราคาคันละ 22 ล้านบาท ซึ่งเหมาะสมกับฐานะที่พึงมี

ชีวิตคนเราจะก้าวหน้าต่อไปได้ วิชัยให้แง่คิดว่า คนเราต้องตั้งเป้าหมายให้สูงๆเข้าไว้ ในระหว่างที่ต้นไม้กำลังโต คุณอย่ารีบไปเด็ดยอดทิ้ง คุณกำไรมา 10-20 ล้านบาท อย่ารีบเอามาใช้จ่าย ใจเย็นๆ ไว้ก่อน "ผมอยากให้คนเล่นหุ้น ไม่ใช่ว่าได้กำไรมาแล้วคุณเอาเงินไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ผมทนใช้รถคันเก่า โดยตั้งเป้าหมายให้กับตัวเอง เราต้องรู้จักอดทนเพื่อรอวันที่ประสบความสำเร็จก่อน" ประสบการณ์ตลอด 20 ปีในตลาดหุ้น..ย้ำสอนกูรูหุ้นท่านนี้ว่า ความสำเร็จในตลาดหุ้นเพียงชั่วขณะใดขณะหนึ่ง เราต้องไม่หลงระเริง เพราะนั่นยังไม่ใช่ความสำเร็จที่แท้จริง..คุณต้องพิสูจน์เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ ต้องทำให้ได้เสียก่อน "...เพราะ "เงิน" จะเติบโตก็เฉพาะกับคนที่รู้จักใช้มัน ในเวลาที่เหมาะสม" เขาเชื่อเช่นนั้น วิชัยเล่าว่า การตัดสินใจหันเหชีวิตมาเอาดีด้านการเล่นหุ้นเป็นอาชีพ ช่วงแรกโดนดูถูกมาก สุดท้ายถึงได้ล้มล้างภาพให้เห็นว่าคนเล่นหุ้น ก็สำเร็จได้ "ภรรยาผมเป็นหลานอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ครอบครัวเขามีหน้ามีตา มีฐานะ คุณพ่อ-คุณแม่ภรรยาก็เป็นหมอ (อยู่โรงพยาบาลราชวิถี และโรงพยาบาลเด็ก) เขามีพี่น้อง 4 คน อนาคตดีๆกันทั้งนั้นเลย มีแต่ผมเป็นคนจีนต่างด้าว ไม่มีอะไรเลย ห่วยที่สุด ไม่น่าไว้วางใจที่สุด แล้วไปอาศัยอยู่บ้านเขาอีกต่างหาก"
ก่อนจะมาเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างทุกวันนี้ วิชัยบอกว่า ก่อนหน้านั้นสิ่งที่รู้สึกมากก็คือ ไม่รู้ว่าคนรอบข้างจะมองตัวเองอย่างไร ซึ่งก็คิดไปในแง่ร้ายว่า เขาคงมองเราว่าไอ้คนนี้ท่าทางมันจะแย่ที่สุด ปัจจัยที่จะทำให้เรามีเครดิตจากสังคมรอบข้าง ดีที่สุดเราต้องพิสูจน์ตัวเอง วิชัยมีคติประจำใจว่า หนึ่ง..เราต้องเป็นคนดี สอง..ถ้าเราทำอะไรไว้ต้องได้สิ่งนั้น และสาม..เครดิตสำคัญที่สุด ต้องรักษาไว้ นอกจากนี้เขายังชักจูงคนใกล้ชิด นำเงินมาฝากเพื่อบริหารพอร์ตให้ ถ้าไม่มั่นใจก็รับประกันการขาดทุนให้ด้วย เล่นไม่นานก็ได้กำไรเป็นเท่าตัว วิชัยบอกว่า บางคนอยากจะเข้ามาเล่นหุ้นเอง แต่ต้องบอกกลับไปว่า.."อย่าเล่นเลย ให้ผมบริหารพอร์ตให้ดีกว่า" ตามปกติการบริหารพอร์ตให้คนอื่น สมมติเอาเงินมาฝาก 100 บาท ถ้าเล่นหุ้นได้กำไรจะต้องได้ส่วนแบ่ง 30% ถ้าขาดทุนต้องช่วยออกด้วย 20% ในวงการทำกันอย่างนี้ แต่สำหรับวิชัย ถ้ากำไรให้คืนไปหมดเลย ถ้าพอร์ตเล็กๆ 1-2 ล้านบาท ก็จะรับประกันการขาดทุนให้ด้วย "ผมมีความเชื่อว่า การช่วยเหลือคนอื่นมันเป็นตัวส่งเสริมให้เราเล่นหุ้นได้กำไรมาตลอด...คือเราไม่ได้ไปเอาเล็กๆ น้อยๆ จากเขา มันเป็นบุญคุณที่ส่งเสริมให้เราสำเร็จ เพราะใครรู้ข่าวอะไรก็มาบอกเรา มีคนฝากผมตอนนี้ไม่ต่ำกว่า 50-60 ล้านบาท" เขากล่าว วิชัยสรุปตอนท้ายว่า คนเรานั้น การรักษาเครดิตสำคัญมากๆ อย่าให้เสีย อีกอย่าง เราอย่าไปเอาเปรียบคนอื่น อยู่ในวงการนี้ถึงจะมีพรรคพวกมีคนนับถือ 2 ข้อนี้ จะส่งเสริมให้เราประสบความสำเร็จ..จำไว้!

ตอนที่ 11 ปตท.หุ้น The Winner1

เส้นทางการเติบโต..พอร์ตหุ้นของวิชัย วชิรพงศ์ ไม่ได้เกิดขึ้นแบบรวดเร็ว เขาเพียรพยายามนำกำไรมาลงทุนต่อ (Reinvestment) โดยไม่เด็ดยอดความสำเร็จ เอาไปซื้อหาความสุข ก่อนถึงเวลาอันควร นานนับสิบปีพอร์ตของวิชัยก็เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆอย่างน่าอัศจรรย์ เขาไม่ใช่ "พ่อมด" ที่เสกเงินได้เอง แต่เขาเชื่อในหลักการของ "พลังแห่งการทบต้นของเงิน" วิชัยเชื่อว่า พอร์ตหุ้นของนักลงทุนที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น ในระหว่างทางคุณจำเป็นต้องเจอหุ้น "แจ๊คพอต" (หุ้นในดวงใจ) ที่ทำกำไรครั้งละมากๆ ต้องมีผ่านเข้ามาเป็นระยะ พอร์ตจึงจะเติบโตได้ "...การเล่นหุ้นเพื่อหวังกำไร 3-5% เป็นการลงทุนที่มีโอกาส "ร่ำรวย" ได้ยาก!!! เพราะการตัดสินใจ(ซื้อ-ขาย)บ่อย โอกาสผิดพลาดจะมีสูง" กูรูหุ้นรายนี้ แนะนำว่า ระหว่างที่ "จังหวะ" และ "โอกาส" ยังมาไม่ถึง นักลงทุนอาจจะแบ่งเงินลงทุนบางส่วน มาเล่นหุ้นเก็งกำไร แต่ไม่ควรทุ่มเทเงินทั้งหมด มาเสี่ยงในสถานการณ์ที่เราไม่มั่นใจเต็มร้อย ขณะเดียวกัน..ในระหว่างที่เรากำลังจับ "ปลาเล็ก" (หุ้นเก็งกำไร) คุณต้องพยายามค้นหา "หุ้นในดวงใจ" (ของรอบ) และควรเตรียมแหอวน สำหรับการจับ "ปลาใหญ่" ไว้ให้พร้อม เขาเชื่อว่าในทุกๆปี จะมีฤดูกาล "จับปลาใหญ่" อย่างน้อย 1 คลื่นใหญ่ คุณต้องหาหุ้นที่ "แจ๊คพอตแตก" ให้เจอ และต้องกล้าที่จะ "ทุ่ม" ลงไปกับมัน สำหรับหุ้นที่เป็น "จุดหักเห" ของพอร์ตวิชัย ตัวหนึ่งก็คือ หุ้นปตท.(PTT) เขาบอกว่าหุ้นตัวนี้ทำกำไรให้มากที่สุด ประมาณ 700 ล้านบาท เสี่ยยักษ์ เล่าว่า ก่อนที่หุ้นปตท.จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ช่วงปลายปี 2544 ก่อนหน้านั้นรู้อยู่แล้วว่าหุ้นตัวนี้ต้องดีแน่ เป็นหุ้นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดด้านพลังงานของประเทศ ทุกคนมองหุ้นตัวนี้ดีหมด "ผมจ้างคนไปเข้าคิวจองหุ้นปตท. ตั้งแต่ตี 5 ใช้ชื่อญาติพี่น้องเป็นสิบๆคน กระจายกันไปจอง จำได้ว่าคนหนึ่งจองได้ 20,000 หุ้นราคาไอพีโอ 35 บาท ก่อนหน้านั้นผมกลับไปที่จังหวัดอยุธยา ไปเขียนใบจองล่วงหน้า 2-3 วัน โดยขอออเดอร์แรกทุกสาขา ทุกธนาคารที่เปิดจอง เพราะในต่างจังหวัดไม่ค่อยมีคนนิยมเล่นหุ้น ผมก็ไปเตรียมการไว้ก่อน ...สรุปว่า ได้หุ้นมารวมกัน 7 แสนหุ้น ผมไม่มีเส้นสาย ไม่มีพวก จำนวนหุ้นขนาดนี้ถือว่าเยอะมาก ได้มา 35 ใบจอง ลงทุนไป 24.50 ล้านบาท" วิชัย จำได้ว่า ความคิดตอนนั้น จะฝากชีวิตไว้กับหุ้นปตท. นี่แหละ!! แต่ที่ไหนได้..หลังจากหุ้นปตท.เข้ามาเทรดในตลาดวันที่ 6 ธันวาคม 2544 ขึ้นไป High ที่ราคา 38.25 บาท แล้วถูกกดลงมาปิดที่ราคา 35.75 บาท "ชั้นเชิงของรายใหญ่ (พวกกองทุน) เขาจะต้องขยายหุ้นหรือเพิ่มจำนวนหุ้นในพอร์ต ก่อนลากราคาขึ้นไป พอเปิดมา 35.75 บาท เขาบี้อยู่อย่างนั้นตั้งนาน จนผมทนไม่ไหว ต้องขายออกไปที่ราคา 35.50 บาท การที่เราโฟกัสหุ้นตัวนี้ตัวเดียว เวลาที่หุ้นลง ความรู้สึกมันอึดอัดมาก"

วิชัย บอกความรู้สึกว่า รายใหญ่เขาจะจับเรา(นักลงทุน)เข้าเครื่องเขย่าหุ้น ให้คนที่ใจไม่ถึงต้องออกไป กลยุทธ์ของเขาคือ ทำให้พวกที่ใจไม่ถึงต้อง "คืนของ" หรือ "ขายคืน" ประจวบกับช่วงนั้นดัชนี SET อยู่แถว 300 จุดต้นๆ หุ้นตัวเล็กตัวน้อยขึ้นตลอด จนวิชัยทนไม่ไหว ต้องขายหุ้นปตท.ที่เป็นหุ้นในดวงใจในขณะนั้น ทิ้งไปทั้งก้อน "ช่วงนั้น ผมซื้อหุ้นปตท.เพิ่มเป็น 1 ล้านหุ้น ลงทุนไปประมาณ 35 ล้านบาท กู้เครดิตบาลานซ์ซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านหุ้น รวมเป็น 2 ล้านหุ้น แต่ไม่สำเร็จก็ต้องออก เอาเงินไปเล่นเก็งกำไรหุ้นตัวอื่น" หลังจากนั้นดัชนี SET ก็ขยับขึ้นมาเรื่อยๆ แม้พอร์ตของวิชัยจะเพิ่มขึ้นจาก 35 ล้านบาท (ช่วงหุ้นปตท.เข้าตลาด) เพิ่มขึ้นมาเป็น 70 ล้านบาท จากการเล่นหุ้นเก็งกำไร พอร์ตหุ้นโตขึ้นมา 1 เท่าตัว แต่เขาก็รู้สึกว่าชีวิตเสี่ยงมาตลอดทาง ขณะเดียวกันหุ้นปตท. ก็ค่อยๆ แอบขึ้นมาเงียบๆ แต่ก่อนจะขึ้นใหญ่ ราคาหุ้นปตท.วิ่งในลักษณะ "ไซด์เวย์" อยู่นานเป็นปี (2545-กลางปี 2546) จากราคาจอง 35 บาท ราคาหุ้นลงไปต่ำสุด 28.75 บาท ในวันที่ 30 เมษายน 2545 แล้วไล่ขึ้นไป 38 บาทในวันที่ 12 มิถุนายน 2545 จากนั้นก็กดราคาลงมาอีกทีเหลือ 34 บาทในวันที่ 2 สิงหาคม 2545 ต่อจากนั้นราคาก็เคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 38 - 45 บาทนานอีกหลายเดือน จนถึงกลางเดือนเมษายน 2546 ราคาหุ้นปตท.ทะยานขึ้นไปเร็วมาก ขึ้นไป 78 บาทในวันที่ 8 กรกฎาคม 2546
วิชัย อธิบายว่า จากช่วงเดือนธันวาคม 2544 ถึงกรกฎาคม 2546 พอร์ตหุ้นของตัวเองเพิ่มขึ้นมา 1 เท่าตัวจากการเล่นหุ้นปั่น ขณะที่หุ้นปตท. ก็ขึ้นมา 1 เท่าตัวเหมือนกัน "ถ้ามองย้อนกลับไป มันก็ดีที่คุณมีเงิน 35 ล้านบาทเพิ่มเป็น 70 ล้านบาท แต่ผมฉุกคิดได้ว่า เวลาที่เราเล่นหุ้นปั่นกำไร 100% ก็จริง แต่มันเสี่ยงตลอดทาง เข้าถูกตัวบ้าง เข้าผิดบ้าง ที่บอกว่ามันเสี่ยงก็เพราะว่าหุ้นหลายตัวที่เล่น พี/อี 30-40 เท่า แล้วบางตัวขาดทุน เพราะหุ้นปั่นส่วนใหญ่ปัจจัยพื้นฐานไม่ดี ยิ่งถือนานยิ่งเสี่ยง" ช่วงปี 2545 ในก๊วนตีกอล์ฟ วิชัยยังจำได้ว่า เคยบอกให้เพื่อนๆ เก็บหุ้นปตท. เดี๋ยวมีรถเฟอร์รารี่ขับ "เชื่อผมซิ!" แต่ไม่มีใครซื้อ เพราะมันไม่สนุก เขาไปเล่นหุ้นปั่นกันหมด "...ช่วงที่หุ้นปตท.อยู่แถวๆ 35 บาท ผมเชียร์ให้ทุกคนซื้อเก็บยาวเลย แล้วไม่ต้องมอง เพราะผมมองว่ารายใหญ่ รายย่อย มีต้นทุนเท่ากัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ แต่ผมดันทนไม่ไหวเอง ขายหุ้นทิ้งออกไปก่อน" เสี่ยยักษ์ กล่าวถึง การตัดสินใจที่ผิดพลาดในครั้งนั้น

ตอนที่ 11 ปตท.หุ้น The Winner2

วิชัย วชิรพงศ์ กล่าวว่า บทเรียนที่ผ่านมามันทำให้ตนเองมีคติประจำใจว่า ถ้าจะกำไรเยอะๆ ต้องถือหุ้นยาวๆให้ได้ เมื่อรู้ว่า "เดินทางผิด" ไปทุ่มลงทุน "หุ้นปั่น" แทนที่จะเป็นหุ้น ปตท.ที่ตั้งใจเอาไว้ตั้งแต่แรก กำไรที่ได้มาจากหุ้นปั่น 100% เท่าๆ กับการขึ้นของหุ้น ปตท.จาก 35 บาทขึ้นมา 70 บาท แต่ตลอดทางที่ทำกำไรจาก "หุ้นปั่น" วิชัยกลับรู้สึกกระวนกระวายใจ ชีวิตไม่มีความสุข เพราะรู้สึกว่าตัวเองเสี่ยงทุกวัน จิตใต้สำนึกบอกว่าถ้าขืนเล่นหุ้นแบบนี้ไปเรื่อยๆ จะต้องมีวันพลาดท่า "เจ๊ง" ไม่วันใดก็วันหนึ่งแน่ๆ "จำได้ว่า ก่อนที่จะกลับมาเข้าหุ้น ปตท.(ครั้งที่ 2) ผมไปเข้าหุ้น HEMRAJ เกือบ 30 ล้านหุ้น วันนั้นราคาขึ้นไปทำนิวไฮที่ 2.70-2.80 บาท ลงทุนไปประมาณ 70 ล้านบาท ซื้อหุ้นตัวเดียวเต็มพอร์ต ...พอซื้อเสร็จ มันก็ขึ้นไปทำนิวไฮ พอกลับไปบ้าน ทั้งคืนนอนไม่หลับ เพราะหุ้นตัวนี้ (ตอนนั้น) พี/อี มันสูงมาก ได้แต่รำพึงกับตัวเองว่า..กูหาเรื่องแท้ๆ ไม่น่าซื้อเลย" ย้อนถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น เสี่ยยักษ์มานั่งคิดว่า โอ้โห! ทำไมเราถึงกล้ามาก รู้เลยว่าที่ผ่านมาเราตัดสินใจผิดพลาดแล้วนะ เพราะพอร์ตเราใหญ่ ลูกเรายังเล็กอยู่ ถ้าพลาดท่าเราตายแน่ เขาอธิบายคำศัพท์ของนักเล่นหุ้นที่บอกว่า "ลูกยังเล็กอยู่" ความหมายคือ ลูกเรายังเล็ก..จะพลาดไม่ได้ หมายความว่าหุ้นตัวนี้ "อันตราย" เราต้อง Cut Loss ทิ้ง เมื่อรู้ตัวว่า "ซื้อแพง" ถลำลึกกับหุ้นเก็งกำไรจนหมดตัว เช้าวันรุ่งขึ้น วิชัยจึงตัดสินใจขายหุ้น HEMRAJ ทิ้งทั้งหมด จากเดิมที่มีกำไรหลายล้านบาท กลับเป็นว่าไม่เหลือกำไรเลย แต่เขาไม่เสียใจ ...เพราะการซื้อหุ้นแล้วเราไม่สบายใจ การขายหุ้นออกไปให้หมด จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด จากนั้นวิชัยก็เอาเงินทั้งหมดประมาณ 70 ล้านบาทมาซื้อหุ้น ปตท. "ตัวเดียว" โดยเข้าลงทุนประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน ปี 2546 ซึ่งขณะนั้นราคาหุ้นได้แอบขึ้นจาก 35 บาท ไป 70 บาทแล้ว สาเหตุอะไรที่ทำให้วิชัยฉุกคิดได้ว่าต้องทิ้งหุ้น HEMRAJ แล้วมาซื้อหุ้น ปตท.?

เหตุผลอยู่ที่ความเชื่อมั่นใน "ผลประกอบการ" ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง และเป็นการเติบโตมาจากฐานที่ต่ำ หุ้น ปตท.ในขณะนั้นจึงเป็น Super Growth Company หมายความว่า หุ้นจะมี "อัตราเร่ง" ของราคาที่มากกว่าภาวะปกติ อีกมิติทางการเมือง..รัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้น ก็มีความเข้มแข็งถึงขีดสุด อีกทั้งมีนโยบายเกื้อหนุนให้ ปตท.เติบโตอย่างชัดเจน ช่วงที่ ปตท.ประกาศผลการดำนินงานปี 2545 (ปีแรกที่เข้าตลาดหุ้น) มีกำไรสุทธิ 24,506 ล้านบาท พอปี 2546 กำไรเพิ่มขึ้นเป็น 39,400 ล้านบาท พอปี 2547 กำไรก้าวกระโดดเป็น 62,666 ล้านบาท "5 ปีย้อนหลัง ในยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (2545-2549) หุ้น ปตท.มันขึ้นมาตลอด" วิชัยยังจำได้อีกว่า ช่วงที่ราคาหุ้น ปตท.ขยับขึ้นจาก 35 บาทมาถึง 70 บาท จากนั้นก็ประกาศงบการเงินงวดครึ่งปี 2546 กำไรออกมาดีมาก 17,623 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 6.30 บาท ถ้าจำไม่ผิด พี/อี แค่ 5 เท่านิดๆ เท่านั้นเอง (ทั้งปีกำไรต่อหุ้น 14.09 บาท) "ช่วงที่หุ้น ปตท.ขึ้นมาถึง 70 บาท ดัชนี SET ขยับขึ้นมาจาก 340 จุด ขึ้นมาเกือบๆ 500 จุด ผมเข้าไปซื้อหุ้น ปตท.แถวๆนี้ ช่วงประกาศงบการเงินงวดครึ่งปี 2546" ระหว่างที่เข้าไปซื้อหุ้น ปตท. วิชัยถือที่ต้นทุน 70 บาท เกมเขย่าราคาก็เกิดขึ้นอีกครั้ง รายใหญ่ใช้วิธี "โยนหุ้น" ในกรอบราคา 69-75 บาท ย่ำฐานอยู่แถวนี้ ทำให้คนที่ซื้อเยอะๆ รู้สึกอึดอัด ถ้าใครทนไม่ไหวก็ต้อง "คายหุ้น" กลับคืนไป "มันบี้ผมช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2546 ผมก็ทนถือเอาไว้ เพราะรู้ว่ามันต้องประกาศงบทั้งปีออกมาดีแน่ๆ ขณะที่หุ้นปั่นตัวอื่นๆตกกันหมด ถ้าใครใจไม่อยู่ก็ต้องคืนของเขาไป..แต่ผมปักหลักสู้" ช่วงที่ตลาดหุ้นถูกเขย่าไปพร้อมๆกับหุ้น ปตท. วิชัยบอกว่า ช่วงนั้นดัชนี SET ขึ้นไป 500 ต้นๆ แล้วก็ถูกทุบลงมา กราฟตอนนั้นมีคน "เจ๊งหุ้น" (ปั่น) เยอะมาก ใครที่เล่นหุ้นปั่นตายหมด ตรงกันข้ามกับหุ้น ปตท.ที่ยืนกับขึ้น การที่หุ้น ปตท. "ยืน" กับ "ขึ้น" ในภาวะขาลง เขารู้ทันทีว่า การตัดสินใจเปลี่ยนจากหุ้นเก็งกำไรมาซื้อ ปตท. เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง มิฉะนั้นก็คงจะไม่มีชื่อ "วิชัย วชิรพงศ์" อย่างทุกวันนี้

ตอนที่ 12 รวย

ถ้าเราไม่รู้ว่าหุ้นจะขึ้นต่อไปอีกหรือไม่ เราต้อง Let the Profit Run ปล่อยให้กำไรวิ่งเต็มสตีม เมื่อไรที่ราคาเริ่มปรับฐานลงมา "พร้อมวอลุ่ม" เราก็ล้างพอร์ตออกไปให้หมด การที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เลือกลงทุน "หุ้นปั่น" ในช่วงแรก แทนที่จะเป็นหุ้น ปตท. "หุ้นในดวงใจ" เนื่องจากมองว่า "เชื่องช้า" ให้ผลตอบแทนไม่ทันใจ แต่หุ้น ปตท.ระหว่างรอยต่อของ Business Cycle จาก "ยุคขยายตัว" (Expansion) ไปสู่ "ยุครุ่งเรือง" (Boom) ของราคาน้ำมัน หุ้นปตท.กลับเป็น "ช้างที่ปราดเปรียว" กำไรโตพรวดพราดอย่างน่าทึ่ง "...ใครหาหุ้นอย่างนี้เจอ "แจ๊คพอตแตก" แน่นอน!!!" เสี่ยยักษ์สรุปสั้นๆ

เสี่ยยักษ์ย้อนเล่าว่า ช่วงนั้นตนเองมีเงินอยู่ 70 ล้านบาท ตัดสินใจซื้อหุ้น ปตท.ตัวเดียวเลย 1 ล้านหุ้น ซึ่งราคามันวิ่งขึ้นมาจาก 35 บาทมาที่ 70 บาท (ขึ้นมา 100% แล้ว) แต่ความมั่นใจของเรา ทำให้ "กู้เครดิตบาลานซ์" ซื้อเพิ่มอีก 1 ล้านหุ้นรวมเป็น 2 ล้านหุ้นมูลค่า 140 ล้านบาท ช่วงเดือนกันยายน 2546 หุ้นปตท.ขยับขึ้นไป 83 บาท นั่นคือจุดผกผันของชีวิตครั้งใหญ่ "ผมจะชอบอ้างคำพูดของ "แซม สนีด" อดีตนักกอล์ฟมือหนึ่งของโลก ที่เคยบอกว่า การตีกอล์ฟระยะไกลๆลงหลุมแบบ "โฮลอินวัน" มันเป็นเรื่องของโชคชะตา แต่ตีกอล์ฟให้ห่างธงระยะ 1-2 ฟุต ได้ทุกครั้งนี่คือฝีมือล้วนๆ" วิชัยเปรียบเทียบการเล่นหุ้นกับการตีกอล์ฟว่า คุณซื้อหุ้นให้ถูกตัว..ถูกเวลา เหมือนกับการตีกอล์ฟให้ใกล้หลุม "มันเป็นฝีมือ" แต่ผลสำเร็จสุดท้ายโชคชะตา "ฟ้า" จะเป็นผู้ลิขิต "ใครจะไปรู้ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมันจะวิ่งจาก 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขึ้นไป 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตอนซื้อหุ้นปตท.ใหม่ๆ ผมก็ไม่รู้ มันทำให้หุ้น ปตท.พุ่งขึ้นจาก 70 บาทไป 190 กว่าบาท ภายในเวลาแค่ 5-6 เดือนเท่านั้น" ถ้าย้อนหลังกลับไปในเดือนมิถุนายน 2546 ราคาหุ้น ปตท.ปิดตลาดที่ 66.50 บาท อีก 6 เดือนต่อมาในเดือนธันวาคม 2546 ราคาหุ้น ปตท.ทะยานขึ้นไปสูงสุดที่ 193 บาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 190% ในรอบ 6 เดือน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ (ดูไบ) ค่อยๆขยับขึ้นจาก 25-27 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงเดือนมิถุนายน 2546 ทะยานพุ่งขึ้นไปสูงสุด 72-73 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงเดือนกรกฎาคม 2549 เป็นทิศทางขาขึ้นนานถึง 3 ปีเต็ม ระหว่างที่ราคาหุ้น ปตท.กำลังปรับขึ้นเพื่อสร้างสถิติใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า ด้วยสัญชาตญาณของ "นายพราน" เสี่ยยักษ์ ขณะนั้นมีหุ้นปตท.อยู่แล้ว 2 ล้านหุ้น (กู้เครดิตบาลานซ์ 1 ล้านหุ้น เงินตัวเอง 1 ล้านหุ้น) พอหุ้น ปตท.ปรับขึ้น "อำนาจซื้อ" ก็เพิ่มขึ้น หมายความว่า วงเงินกู้เครดิตบาลานซ์ ก็เพิ่มขึ้นตาม เขาก็ใช้วิธีกู้เงินซื้อหุ้น ปตท.เพิ่มเข้าพอร์ตไปเรื่อยๆ ราคาหุ้นยิ่งปรับขึ้น อำนาจในการ (กู้) ซื้อก็ยิ่งเพิ่มขึ้น "...จาก 2 ล้านหุ้น ผมก็มีหุ้นเพิ่มเป็น 4 ล้านหุ้น" ทั้งๆ ที่เสี่ยยักษ์มีทุนซื้อหุ้นครั้งแรกเพียง 70 ล้านบาทหรือ 1 ล้านหุ้นเท่านั้น "ข้อดีของการเล่นหุ้นด้วย "เครดิตบาลานซ์" เมื่อมูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันเพิ่มขึ้น (ราคาหุ้นสูงขึ้น) ผมก็กู้เงินซื้อหุ้น ปตท.เพิ่มเข้าพอร์ตตลอดเวลา ที่มั่นใจก็เพราะว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกมันขึ้นไปเรื่อยๆยิ่งขึ้น ผมก็ยิ่งซื้อหุ้น ปตท.เก็บ" เขาบอกว่า ขณะนั้นมีต้นทุนถัวเฉลี่ยในพอร์ต (จำนวน 4 ล้านหุ้น) อยู่ที่หุ้นละ 90 บาท จนถึงต้นปี 2547 หุ้น ปตท.ขึ้นไป 193 บาทก็ยังไม่ขาย มาขายที่ราคา 170 กว่าบาท "สาเหตุที่ยังไม่ขาย ก็เพราะว่าเราไม่รู้ว่าหุ้นจะขึ้นต่อไปอีกหรือไม่ เราต้อง Let the Profit Run ปล่อยให้กำไรวิ่งเต็มสตีม เมื่อไรที่ราคาเริ่มปรับฐานลงมาพร้อมวอลุ่ม เราก็ล้างพอร์ตออกไปให้หมด" วิชัยสรุปว่า หุ้นปตท.ถือเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต เพราะหุ้นปตท.ตัวเดียวทำกำไรให้รวมกันมากที่สุด ประมาณ 700 ล้านบาทจากเงินลงทุนเพียงแค่ 70 ล้านบาท

"พอผมไปซื้อหุ้น ปตท.ใช้เครดิตบาลานซ์ ซื้อเพิ่ม เผอิญราคาน้ำมันมันขึ้น ขึ้นอย่างมากๆนั่นคือลิขิตโชคชะตา แต่ตอนแรกที่เราตีกอล์ฟไปใกล้ธงระดับ 2 ฟุตนั่นคือฝีมือ" ...แล้วเราจะค้นหาหุ้น "แจ๊คพอตแตก" อย่างนี้ได้อย่างไร? เสี่ยยักษ์สรุปไว้สั้นๆว่า คุณต้องฝึกซ้อม..คุณต้องฝึกซ้อม..คุณต้องฝึกซ้อม..คุณต้องสู้ตาย..คุณต้องทุ่มเท พร้อมทั้งบอกว่า คนเราถ้ามันจะรวย มันมีส่วนของ "ฟ้าลิขิต" มาช่วยด้วย 5 เดือนเองนะครับที่หุ้นปตท.ขึ้นจาก 70 บาทไปเป็น 190 บาท นี่คือส่วนของฟ้า ส่วนของเราคือ ต้องเลือกหุ้นให้ถูกตัว แล้วต้องซื้อให้ถูกเวลา "..นี่ไม่ง่ายนะครับ!!!" ทั้งหมดนี้คือบทพิสูจน์ว่าหุ้น ปตท.ช่วงที่กำลังเติบโต (รวมทั้งหุ้น Super Growth Company ตัวอื่นๆ) ไม่ใช่ "ช้างที่เชื่องช้า" แต่เป็น "ช้างที่ปราดเปรียว" ในบางขณะ อยู่ที่ว่า คุณ..จะหาจังหวะนั้นเจอหรือไม่ ???

ตอนที่ 13 "วอลุ่มพีค" คือ "ราคาพีค"

กฎเหล็กข้อหนึ่งที่ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ยึดถือในการลงทุน นั่นคือ "วอลุ่มพีค" เท่ากับ "ราคาพีค" และอีกข้อ ถ้าหุ้นปรับฐาน "รีบาวนด์" แล้วแต่ไม่ทำ "นิวไฮ" ใหม่..."มันต้องลง" "ถามว่าแน่จริงยังไง ถึงไม่ขายหุ้น ปตท.ทั้งๆ ที่ราคาขึ้นมากว่า 190 บาท ทำไมต้องไปขายถูกที่ราคากว่า 170 บาท เพราะเราคิดว่ามันจะต้องขึ้นต่อ ขณะที่หุ้น ปตท.มันมีการปรับตัวลงมา 10-15% ผมอดใจรอ...ไม่ขาย นี่เคล็ดลับของผมคนเดียว"

วิชัยบอกว่า หุ้นมันต้องมีการปรับตัว ถูก "Profit Taking" หรือ ตัดเอากำไร ถ้าราคาปรับลงแล้ว "รีบาวนด์" ขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่ (นิวไฮ) ได้ มันจะ "รัน" (วิ่งไกล) เราต้องเสี่ยง "วัดดวง" นี่มันเป็นพฤติกรรมของหุ้นขาขึ้น แทบทุกตัว แต่เมื่อไรก็ตาม ถ้าหุ้น "รีบาวนด์" แล้ว ไม่ทำ "นิวไฮ" ใหม่ ก็ต้องขายทิ้งออกไป หลักการของมันคือ ถ้าหุ้นตัวไหนก็ตาม ที่รีบาวนด์แล้ว แต่ไม่ทำนิวไฮใหม่ "มันต้องลง" แต่จุดมั่นใจ เราต้องดู "วอลุ่ม" ประกอบ "เวฟแรก" ที่หุ้น ปตท.ขึ้นไปกว่า 190 บาท มีวอลุ่มหนุน "สูงปรี๊ด" ช่วงปรับตัวลงมาวอลุ่มต่ำ "ไม่แปลก" ขณะที่หุ้นรีบาวนด์ขึ้นไป "เวฟสอง" วอลุ่มไม่สูงเท่าเวฟแรก หรือ วอลุ่มไม่ทำนิวไฮ "...ความหมาย คือ เวฟแรกถ้า "วอลุ่มพีค" แสดงว่า "ราคาพีค" ไปแล้ว ผมเป็นคนใช้เคล็ดลับนี้เป็นลำดับต้นๆ ของวงการ (เซียนหุ้น) กล้าพูดได้เลย" เสี่ยยักษ์ย้ำว่า คุณจำเอาไว้เลยนะ "วอลุ่มพีค" คือ "ราคาพีค" ท่องไว้เลย!!! แปลความหมายให้เข้าใจง่ายๆได้ว่า ถ้าวันไหนวอลุ่มการซื้อขายสามารถทำ "จุดสูงสุด" (วอลุ่มสูงมากๆจนผิดปกติ) ราคาหุ้นวันนั้นก็จะเป็น "จุดสูงสุด" ของรอบนั้นด้วย หรือถ้าหุ้นขึ้นต่อได้ ก็ไปได้อีกไม่ไกล...นี่ไม่ใช่ทุกกรณี แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น ส่วน "เทคนิคการขายหุ้น" วิชัย อธิบายเคล็ดลับส่วนตัวไว้ว่า... "...เวลาที่จะขายหุ้นเกือบทุกครั้ง ผมจะต้องรอให้มันปรับตัว พอมันปรับตัวแล้วมีรีบาวนด์ ถ้ารีบาวนด์แล้วมีนิวไฮ ผม "รัน" (Let The Profit Run) ถือต่อ...ตอนหุ้นปตท.ขึ้นมาจากกว่า 70 บาท ราคามันขึ้นไป 110 บาทปรับตัวลงมาที่ 100 บาท แต่หลังจากนั้นมันก็ทำนิวไฮขึ้นไปต่อได้อีก แทนที่จะรีบขาย...ผมก็ถือต่อ" วิชัย อธิบายสูตรการเล่นหุ้นว่า คุณไม่มีทางรู้จุดสูงสุด และจุดต่ำสุดของมัน ขายเร็วเกินไปก็เสียโอกาส เพราะฉะนั้น "จุดขาย" คือ จุดกลับตัว เราจะรู้จุดกลับตัวก็ต้องรู้ว่ารีบาวนด์แล้วไม่ทำนิวไฮ ราคามันต้องปรับลง "ถ้าไปดูกราฟราคาหุ้นทุกตัว มันไม่มีหุ้นตัวไหนขึ้นไปตลอดทาง (ยกเว้นหุ้นปั่นแบบม้วนเดียวจบ) ระหว่างทางมันต้องปรับตัวลง เพื่อลดความร้อนแรงและสะสมพละกำลังใหม่ ถึงจะไปต่อได้ เราต้องคิดทุกอย่างให้เป็นวิทยาศาสตร์ แล้วเราจะเข้าใจ"
เสี่ยยักษ์ อธิบายสไตล์การลงทุนของตัวเองต่อว่า "ผมจะล็อกล่าง" (กำหนดจุด Stop Loss) ไว้ตลอดเวลา ถ้าหุ้นตัวไหนซื้อเข้าพอร์ตไปปุ๊บ! แล้วมันเกิดลง ผมให้มันลงได้มากที่สุด 15% เกินจากนี้ "ผมทิ้ง" อาจจะต่างจากของเซียนหุ้นคนอื่น ถ้าซื้อไปแล้วหุ้นลง 2-5% เขาขาย หลักการตรงนี้จะต่างกัน "วิธีการเล่นหุ้นต่อ 1 รอบ จำไว้เลยนะว่า คุณต้องเตรียม "ขาดทุน" ไว้ 10% ของพอร์ตของคุณเสมอ...ผมกล้าพูดได้เลยว่า ต่อให้เป็นเซียน เป็นโคตรเซียนแค่ไหนก็ตาม คุณมี 100 ล้านคุณต้องเตรียมขาดทุนไว้ 10 ล้าน ไว้สำหรับ Cut Loss (ยอมขาดทุน) แน่นอนที่สุด...เชื่อผม!! "...ไม่งั้นคุณไม่สามารถไปรอขายถึงยอด (พีค) ของรอบได้หรอก เพราะในแต่ละยอดของหุ้นมันจะต้อง "ปรับตัว" นี่มันเป็นกฎธรรมชาติ" ด้วยกลยุทธ์ดังกล่าว วิชัยบอกว่า ขายหุ้น ปตท. ล็อตนี้ออกไปที่ราคาเฉลี่ยกว่า 170 บาท ช่วงที่หุ้นรีบาวนด์ขึ้นมา 182 บาทแล้วไม่ทำนิวไฮ "รอบนี้รอบเดียว ผมได้กำไร ปตท.กว่า 400 ล้านบาท...นี่ผมเล่าชีวิตจริงๆ ให้ฟังเลย ขายราคาเฉลี่ยกว่า 170 บาท แล้วมาซื้อกลับอีกทีที่ราคากว่า 140 บาท เชื่อผมเถอะ! จริงๆ ไม่มีเซียนหุ้นคนไหน ซื้อหุ้นต่ำสุด แล้วไปขายที่ราคาสุดยอดได้หรอก ถ้าผมทำได้ก็ต้องเปลี่ยนชื่อจาก "วิชัย" เป็น (เก่ง) "ปานเทพ" แล้ว ใครจะไปรู้ ไม่มีใครรู้หรอก พอรีบาวนด์แล้วไม่นิวไฮ...ผมก็ขาย นี่คือหลักการ" กรณีที่ราคาหุ้นถูกขายทำกำไรออกมา แล้วราคาปรับฐานลงมา โดยเฉพาะกรณีของหุ้น ปตท. สาเหตุที่วิชัยมาซื้อกลับที่ราคากว่า 140 บาท เขาให้เหตุผลว่า ที่กล้าซื้อเพราะพื้นฐานของ ปตท.ไม่ได้เปลี่ยนเลย ถึงราคาลงมาแต่ "กราฟรายเดือน" มันยังดีอยู่ "คนที่เล่นกราฟ เขาใช้ระดับ 15 นาที 20 นาที หรือ Day แต่จริงๆ ผมชอบใช้กราฟระดับ Month (อาทิเช่น MACD) คือ ผมจะเล่นรวย ผมไม่เล่นเอามัน ถ้ากราฟ MACD มันตัดลงมา เรารอให้มันบีบพร้อมที่จะตัดขึ้น ถึงวันนั้นเราค่อยมานั่งดูหุ้น นั่นคือการเล่นหุ้นเป็นรอบๆใหญ่" วิชัย กล่าวสรุป

ตอนที่ 14 หุ้นขึ้น วอลุ่มหาย

ระหว่างที่ "หุ้นขึ้น" อยู่ดีๆ แล้วมีแรงขาย "ทุบฮวบ" กดหุ้น "หล่น" ลงมา พร้อม "วอลุ่ม" ที่หนาแน่น เป็นการยืนยันว่าหุ้นตัวนั้น "หมดรอบ" แล้ว การทำศึกในตลาดหุ้น เรื่องของ "วอลุ่ม" ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการรบ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ แนะนำเคล็ดลับในการดู "วอลุ่ม" เพิ่มเติมว่า ถ้า "หุ้นขึ้น" แล้ว "วอลุ่มหาย" ให้สงสัยไว้ก่อนว่า "มันกำลังจะวิ่ง" แต่ถ้าหุ้นเป็น "ขาลง" แล้ว "วอลุ่มหาย" นี่เป็นตามธรรมชาติ แต่ถ้าหุ้นเป็น "ขาขึ้น" แล้ว "วอลุ่มหาย" นี่มันผิดกฎธรรมชาติ "แสดงว่ามีรายใหญ่เก็บหุ้นตัวนี้อยู่ จำนวนหุ้นหมุนเวียนในตลาดมันหายไป อย่างนี้สัญญาณดี ต้องเข้าไปดูแล้วว่า หุ้นตัวนี้มันมีดีอะไร" เสี่ยยักษ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความสัมพันธ์ของ "วอลุ่ม" กับ "ราคา" จะต้องดูควบคู่ไปพร้อมกับการอ่าน "แนวโน้ม" ของดัชนี SET ว่าจะเคลื่อนตัวไปในทิศทางไหน

"ผมจะบอกสูตรสุดยอดของหุ้นให้ฟังนะ ถ้าเราอ่านว่าหุ้นตัวนี้กำลังเป็น "ขาขึ้น" แต่วอลุ่มมัน "หาย" (วอลุ่มเทรดลดลง) หมายความว่ารายใหญ่กำลัง "เก็บของ" ไม่ปล่อยหุ้นออกมาหมุนเวียนในตลาด สภาพคล่องของหุ้นตัวนั้นจะค่อยๆลดลง" ...ลองคิดต่อให้เป็นหลักการวิทยาศาสตร์ ถ้าคน "ดูดหุ้น" เข้าไปในกระเป๋าหมด นักเก็งกำไรไม่ได้เข้ามาเล่น (รอบ) ไม่ได้เอาหุ้นมาหมุนวนในตลาด ทุกคนดูดเก็บ!! ทุกคนดูดเก็บ!! ปริมาณหุ้นในตลาดก็จะหายไป "...เพราะฉะนั้น ถ้าเราไปเจอ "หุ้นขึ้น วอลุ่มหาย" นี่คือสุดยอดหุ้น ใครหาพบคนนั้นรวย" วิชัยเน้นว่า เวลาเราอ่านกราฟและวอลุ่มประกอบกัน เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ให้มันเป็นหลักคิดทางวิทยาศาสตร์ให้ได้ จะทำให้เราเข้าใจว่า ฝ่ายตรงข้ามเขากำลังคิดอะไรอยู่ มันจะทำให้เรารู้เท่าทัน ยกตัวอย่างเช่น หุ้นปตท.ขึ้นจาก 70 กว่าบาทขึ้นไปใกล้ๆ 100 บาท ทำไม! "นายวิชัย" ถึงไม่ยอมขาย ทั้งๆที่ได้กำไรเยอะแล้ว "ผมฟลุ้ครึเปล่า! ที่ไปขาย 170 กว่าบาท เพราะผมมองว่า "ซัพพลาย" (ปริมาณหุ้นหมุนเวียน) ในตลาดมันลดลง แต่ "ดีมานด์" (ความต้องการ) มันเพิ่มขึ้น เราอ่านออกว่า "รายใหญ่" กำลังเก็บของอยู่ ที่รู้ก็เพราะ "วอลุ่มมันหาย" ในระหว่างทางที่หุ้นกำลังวิ่งขึ้น" พูดภาษาชาวบ้านให้เข้าใจง่ายๆคำว่า "วอลุ่มหาย" หมายความว่า รายใหญ่อยู่ในช่วงสะสมหุ้น เก็บหุ้น "ใส่ปี๊บ" ไม่เอาหุ้นมาหมุนในตลาด แต่ถ้าเป็นกรณี "ตรงกันข้าม" สมมติว่า "หุ้นขึ้น" อยู่ดีๆ แล้วมีแรงขาย "ทุบฮวบ" กดให้ราคาหุ้น "หล่น" ลงมาพร้อม "วอลุ่ม" ที่หนาแน่น เป็นการยืนยันว่าหุ้นตัวนั้น "หมดรอบ" แล้ว คุณต้องขายทิ้ง ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนว่าหุ้นตัวนั้นกำลังจะเปลี่ยนแนวโน้มเป็น "ขาลง"
นอกจากนี้วิชัยยังแนะนำด้วยว่า การเล่นหุ้นให้ได้กำไรก้อนใหญ่ ปีหนึ่งเราควรเล่นหุ้นแค่ 2 เดือน ก็รวยมหาศาลแล้ว ไม่จำเป็นต้องเล่น (เทรด) หุ้นทั้งปี แต่ถ้าอยากเล่นเป็นรายวัน ก็ให้คิดว่าเล่นเป็นค่ากับข้าว ไม่ใช่ทุ่มสุดตัว เพราะถ้าอยากจะรวยจริงๆ บอกได้เลยครับว่า...คุณต้องเล่นรอบใหญ่ เท่านั้น เชื่อผมเถอะ!!! "ในช่วงที่ภาวะตลาดหุ้นไม่ดี เป็น Bearlish Trend สำหรับตัวผมจะเหลือหุ้นอยู่ในพอร์ตน้อยมาก จะเล่นแค่สนุก เล่นเพื่อให้เราอยู่ในกระแส ระหว่างนี้ก็จะกลับมาศึกษาเยอะๆ แล้วพยายามหาหุ้นในดวงใจให้เจอ" เพราะถ้าอยากจะเล่นเกมให้ชนะ เราต้องศึกษา เราต้องรอบรู้ เราต้องมีเพื่อน เราต้องคอยอ่านความคิดคนอื่นว่าเขามองยังไง จะเชื่อหรือไม่เชื่อก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ส่วนวิธีการ "จับปลาใหญ่" เสี่ยยักษ์ชี้แนะว่า คุณต้องนิ่งๆ รอให้หุ้นลงต่ำๆ ค่อยเข้าไปเล่น ไม่ต้องกลัวว่าจะซื้อหุ้นไม่ได้ ถ้าคุณมีเงินเย็นอยู่ในกระเป๋าจะมีหุ้นดีๆ วิ่งมา "ชน" คุณเอง ส่วนใหญ่ของคนที่ "ติดหุ้น" เพราะถูกอารมณ์ของตลาดหุ้นพาไป (ขาดทุน) ชอบไปซื้อหุ้นตอนที่ตลาดใกล้วาย ลองกลับไปทบทวนดูว่าจริงมั้ย!

ตอนที่ 15 หยั่งกำลังหุ้น

การลงทุนแบบ "ทุ่มสุดตัว" ด้วยเงินทุนก้อนใหญ่ "ครั้งเดียว" ซึ่งหมายถึงการรบแบบ "แตกหัก" ในสถานการณ์ที่เชื่อมั่นมากเกินไป เป็นวิธีการลงทุนที่ผิดพลาดได้ง่าย อย่ารบในสงครามที่รู้ว่าเราต้องเป็น "ฝ่ายแพ้" อะไรก็ตามถ้ารู้ว่า "พลาด" ต้องถอยก่อน แสดงว่า..หนึ่ง สติปัญญาเราสู้เขาไม่ได้ สอง..แสดงว่าเราตาถั่ว

"เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ อธิบายว่า ถึงแม้ตัวเองจะมั่นใจมากกับหุ้น ปตท. แต่ใช่ว่าในสถานการณ์ที่เรามั่นใจ จะปลอดภัยเสมอไป "นิสัยผมถ้าอะไรที่ไม่แน่ใจเต็มร้อย ผมจะระมัดระวังตัว จะเข้าไปลงทุนด้วยเงินก้อนน้อยๆก่อน ยิ่งถ้าเป็นหุ้นเก็งกำไร จะเล่นเป็นรอบ จะไม่ทุ่มและจะไม่ถือยาว" สูตรที่เสี่ยยักษ์บอกว่าใช้เป็นประจำ ถ้ามั่นใจหุ้นตัวไหนมากๆ ก็ซื้อหุ้นตัวนั้นเก็บเอาไว้ครึ่งหนึ่งก่อน และเมื่อไรที่เห็นปริมาณการซื้อขายเข้ามามากๆ ก็จะรีบซื้อหุ้นอีกครึ่งหนึ่งทันที กลยุทธ์นี้ หมายถึงการ "หยั่งกำลังหุ้น" หรือการ "โยนหินถามทาง" การลงทุนครั้งแรก เราต้องเริ่มจากเงินก้อนเล็กก่อน ถ้าชนะค่อยสู้ต่อ ถ้าแพ้ก็ "เลิก" ถ้าเข้าไปแล้วมีกำไรส่วนหนึ่ง ก็จะเอากองหลังมาสู้เพิ่ม ถ้าพลาดท่าก็จะ Cut Loss ทิ้ง ยังเหลือกองหลังไว้พยุงตัว "ผมคิดอย่างนี้"

ส่วนวิธีการลงทุนที่ใช้กับหุ้นทั่วไป เสี่ยยักษ์อธิบายเพิ่มเติมว่า จะใช้วิธีการหยั่งเชิง (แย็บ) ดูก่อน..ก้อนแรกที่ส่งเข้าไปลุย อาจจะเข้าไปก่อน 20-30% ของเงินที่เราเตรียมเอาไว้ ถ้า "เจ็บ" ก็ถอยออกมาตั้งหลัก และสำหรับการลงทุนใหญ่ๆ จะเลือกหุ้นเล่น แค่ครั้งละ 1 ตัว เท่านั้น หรือแม้แต่หุ้น ปตท.ที่ตั้งใจจะเล่น "รอบใหญ่" แต่เสี่ยยักษ์จะมีการ "แบ่งหุ้น" ออกมาเล่นรอบด้วยเหมือนกัน "ผมก็เหมือนนักลงทุนทั่วไป คือ เอาส่วนหนึ่งของหุ้น ปตท.จากก้อนใหญ่ แบ่งออกมาเล่นรอบ ประมาณ 1-2 แสนหุ้น ไหนๆ ราคามันมาแล้ว เราก็เล่นสักหน่อย" "การเล่นรอบ" ด้วยการแบ่งหุ้นจำนวนน้อยออกมาเล่น มีข้อดีตรงที่ว่า ช่วยให้เราต้อง "เกาะติด" หุ้นตัวนั้น ไม่ให้ห่างสายตา "ทำให้ผมต้องมองมันตลอดเวลา..คิดมันทุกเวลา การที่เราเอา 1-2 แสนหุ้น แบ่งมาเทรด (ซื้อๆขายๆ) บอกได้เลยว่ามันยาก เพราะเวลาเราขาย เราก็อยากให้มันลงมาก่อน พอมันลง ก็อยากให้ลงไปอีก พอราคาขึ้นมาใกล้ๆทุนเดิม ตอนนั้นยังไม่ซื้อ พฤติกรรมของนักเล่นหุ้นจะมาซื้อคืนตอนเฉี่ยวๆ ทุน บางทีขายเสร็จ ต้องไปซื้อแพงเป็นประจำ" บทเรียนตรงนี้ สุดท้ายคนที่เล่นหุ้นแล้วได้กำไรเยอะๆ เล่นแล้วรวยต้อง "ถือยาว" ในระยะเดือน (ไม่ใช่การซื้อๆ ขายๆ ด้วยหวังกำไรเพียงเล็กน้อย) และวิธีการซื้อจะต้องใช้วิธี "หยั่งกำลังหุ้น" ลงทุนด้วยเงินจำนวนที่ไม่มากก่อน "วิธีการซื้อหุ้นที่ดี เราอย่าเพิ่งทุ่มก้อนใหญ่ ค่อยๆ หย่อนลงไป ลงแล้วชนะ (ทัพหลวง) ค่อยตามลงไป" เสี่ยยักษ์ย้ำว่ากลยุทธ์นี้ใช้ได้ผลดีมาตลอด
ถ้าขาดทุนจะทำอย่างไร ..เสี่ยยักษ์บอกว่า โดยปกติการลงทุนของตนเอง จะไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องลงทุนครั้งละเท่าไร หรือแบ่งเงินยังไง การลงทุนที่ดีจะต้อง "ยืดหยุ่น" ตามสถานการณ์ "แต่ถ้าเริ่มต้นเข้าไปปั๊บ!..ผมโดนเลย (หุ้นตกฮวบ) ก็เลิก" เซียนหุ้นพันล้านเน้นย้ำว่า อย่ารบในสงครามที่รู้ว่าเราต้องเป็น "ฝ่ายแพ้" อะไรก็ตามถ้ารู้ว่า "พลาด" ต้องถอยก่อน แสดงว่า..หนึ่ง สติปัญญาเราสู้เขาไม่ได้ สอง..แสดงว่าเราตาถั่ว มองอะไรไม่เห็น หรือมองไม่ชัด เสี่ยยักษ์บอกว่า ในภาวะที่เราอ่านตลาด (ทิศทาง SET) ไม่ออก หลักการสำคัญต้องดูเรื่อง "สภาพคล่อง" ในกระเป๋าของเราเป็นอันดับแรก "บางช่วงผมอาจจะมีหุ้นอยู่ในพอร์ต 3-4 ตัว ถ้าสภาพคล่องเริ่มต่ำลง ถึงจุดที่เราตั้งไว้ผมจะล้างพอร์ต เหมาขายหุ้นทิ้งทั้งหมด จะไม่มีแบบว่าเก็บตัวที่ขาดทุนเอาไว้ ขายออกเฉพาะตัวที่มีกำไร ภาวะนั้น..ผมจะถือเงินสดอย่างเดียว"

นั่นหมายความว่า..เมื่อไรก็ตามที่เราประเมินไม่ออกว่าทางข้างหน้าจะดีหรือร้าย เราต้องออกมาตั้งหลักใหม่.."อย่าฝืนสู้" เพราะเราจะตาถั่ว เพราะบางช่วงของคนเรา คุณชนะไม่ได้ทุกครั้ง ถ้าเราพลาดก็ต้องยอมรับว่าพลาด ต้องถอยก่อน แสดงว่าช่วงนั้นเราสู้เขาไม่ได้จริงๆ ต้องออกมาดูอยู่วงนอก ส่วนการ "ถอย" ในจังหวะที่เราอยู่ในสถานการณ์ "เพลี่ยงพล้ำ" เขาบอกว่า ประโยชน์ของมันก็คือ เพื่อทำให้ตัวเรา "สด" ก่อนกลับเข้าไปสู้ใหม่ ไม่ใช่ว่าจะต้องสู้จนตายกันไปข้างหนึ่ง วิธีการเล่นหุ้นอย่างงั้น "มันผิด" "มีคนมาถามผมว่าติดหุ้นอยู่ตั้งหลายตัวจะทำอย่างไรดี ผมแนะนำเขาไปว่า หุ้นตัวไหนที่ไม่มีอนาคต คุณต้องตัดทิ้งไปให้หมด แล้วคุณต้องเหลือ "เงินสด" เอาไว้สู้ต่อ ช่วงไหนที่ตลาดบวก (Bullish Trend) เราค่อยสู้ใหม่ อัดเข้าไปให้เต็มพอร์ตเลย เป็นทางเดียวที่คุณมีโอกาสจะได้ทุนคืน"
ทั้งนี้ ในยุทธศาสตร์การรบ "การติดหุ้น" เท่ากับเป็นการสลายกำลัง คุณติดหุ้น 60% เหลือเงิน 40% ถึงตลาดดีก็ไม่มีเงินมาสู้ใหม่..เมื่อไรถึงจะได้ทุนคืน มันเป็นไปได้ยาก คนที่พอร์ตจะขยายใหญ่ได้.."ช่วงที่หุ้นขึ้น คุณต้องมีเงินซื้อหุ้น" "เพราะฉะนั้น ถ้าช่วงไหนที่ตลาดไม่ดี หลักการคือคุณต้องถือเงินสดไว้ให้มากที่สุด" เสี่ยยักษ์ กล่าวสรุปปิดท้าย

ตอนที่ 16 Sell on Fact

ในชีวิตการลงทุนของ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ ผ่านประสบการณ์ "เจ็บๆ" มานับครั้งไม่ถ้วน ก่อนจะค้นพบหนทางแห่งความสำเร็จด้วยตัวเอง ทำให้เสี่ยยักษ์เชื่อว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยเหลือคุณไม่ได้หรอก ตัวคุณเท่านั้นที่ต้องช่วยตัวเอง คำว่า "ข่าวลือ" คุณต้องแอบพูดในที่ "ลับ" ถ้ามากระจายให้มหาชนรับรู้...มาบอกนักข่าว แสดงว่า "จบรอบ" แล้ว...คุณต้องทิ้ง

"...โชคชะตาจะเลือกช่วยเหลือเฉพาะคนที่มีความพยายาม(มากกว่า)เท่านั้น" เสี่ยยักษ์ เชื่อเช่นนั้น

"ผมจำได้ว่า ตอนที่หุ้นกำลังเริ่มขึ้น ช่วงปี 2536 ก่อนดัชนี SET จะขึ้นไป 1,789 จุด (ต้นปี 2537) ตอนนั้นผมมีเงินอยู่ 15 ล้านบาท ช่วงนั้นขับรถผ่านวัดหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ตำบลบางนมโค อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ก็อธิษฐานว่าถ้าหากผมหาเงินได้ 35 ล้านบาท จะถวายเงินให้วัด 3 แสนห้า ไม่ถึงปีผมมีเงิน 35 ล้านบาท จริงๆ" แต่ช้าก่อน นี่ไม่ใช่ปาฏิหาริย์ เพราะตอนอธิษฐานเสี่ยยักษ์ ไม่ได้บอกให้หลวงพ่อปานช่วยเหลือ (แบบทางลัด) แต่เขาบอกท่านว่า "...ถ้าผมชนะก็ให้ชนะด้วยฝีมือของตัวเอง ผมปวารณาตัวเองว่า ถ้าทำได้ ผมจะถวายเงินวัด" เสี่ยยักษ์มีทัศนคติว่า คนที่ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อขอนั่นขอนี่ นั่นคือ การฝึกให้เราเป็นคอร์รัปชัน การที่คุณเอาหัวหมูไปไหว้แล้วขอให้มีเงินร้อยล้าน พันล้าน คิดว่าไม่ใช่วิธีที่จะทำให้ใครร่ำรวยได้ "นักลงทุนรายใหญ่ เท่าที่รู้จักหลายคน เขาไม่เชื่อเรื่องพวกนี้"
จากนั้นเสี่ยยักษ์ก็เล่าหนังถึงเรื่องหนึ่งที่ตัวเองชอบมากที่สุดคือ เรื่อง "Bruce AL MIGHTY" (นำแสดงโดยดาราตลก "จิม แคร์รี่" ในบท "บรูซ โนแลน" นักข่าวโทรทัศน์ ที่ถูกไล่ออกจากงานและท้าทายต่อพระเจ้า จนพระองค์มอบพลังอำนาจพิเศษให้เป็นเวลา 7 วัน) เขาได้เป็นเทวดา 7 วัน เพราะเขาโทษเทวดาว่าเทวดาไม่ช่วยเขา เทวดาก็เลยให้เขาเป็นเทวดาเสียเลย แต่เมื่อคนเรายิ่งมีอำนาจมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งจะคิดถึงแต่เรื่องของตัวเอง และเมื่อได้พบปาฏิหาริย์ก็หลงละเลิง แท้จริงแล้วปาฏิหาริย์ที่แท้จริงก็คือ การทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้ดีที่สุดต่างหาก บทสรุปของเรื่องนี้ คนเราจะประสบความสำเร็จ คุณต้องช่วยเหลือตัวเองและในที่สุด "บรูซ โนแลน" ก็ค้นพบสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเขานั่นคือ "ทำสิ่งที่มีอยู่แล้ว ให้ดีที่สุด" เสี่ยยักษ์เชื่อว่า คนที่เล่นหุ้นแล้วได้กำไร เพราะเขาคิดด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่การปักใจเชื่อแบบงมงาย แต่ไม่ปฏิเสธว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นมีจริง แต่ไม่สามารถดลบันดาลให้คุณดีขึ้นได้ ถ้าคุณไม่ค้นหาด้วยตัวคุณเอง

เซียนหุ้นรายนี้ ยังย้ำความคิดเดิมว่า ถ้าจะเล่นหุ้นให้รวยจริงๆแล้ว ต้องเล่น "รอบใหญ่" อย่างเดียว ถ้าเล่นเอาค่ากับข้าว ก็ซื้อๆ ขายๆ เชื่อผมเถอะ! "ไม่รวยหรอก"

"จากประสบการณ์ของผม คนที่รวยหุ้นมากๆ ต้องมีหุ้นเด็ด ถือยาวและกำไรหนัก ต้องหาหุ้นอย่างนี้ให้เจอ" เมื่อเป็นต้นไม้ใหญ่ในวงการ ก็มักจะมี "เจ้าของหุ้น" เข้ามาหา เสี่ยยักษ์ ยอมรับว่าเคยมีมาขอให้ช่วยดูแลหุ้นให้ แต่จะบอกเจ้าของหุ้นไปว่า ถ้าคุณทำผลงานของคุณให้ดีๆแล้ว คนทั้งตลาดก็จะช่วยคุณเอง ...การที่เราจะไปจัดการหุ้นให้กับใคร หรือเป็น "มาร์เก็ตเมคเกอร์" ให้ใคร คุณต้องขายหุ้นให้คนอื่น คุณถึงจะรวย แล้วขายให้ใคร...ในเมื่อวงที่เล่นกันมันไม่ใหญ่ สุดท้ายคุณก็ต้องขายหุ้นให้คนรอบๆข้าง (ก๊วน)คุณเอง ภาษาเหนือ เขาบอกว่า "จูงหมาน้อยขึ้นดอย" คุณรวยเพื่อนคุณตาย คุณจะมีความสุขได้ยังไง "ในมุมมองของผม เล่นหุ้นมีปัจจัยพื้นฐานดีกว่า เราเล่นหุ้นมวลชน ได้-เสียไม่ต่อว่ากัน" ก่อนจะบอกว่า ที่ผ่านมาเห็นมาเยอะ ที่จับมือเป็นพันธมิตรกัน สุดท้ายก็ทะเลาะกัน หุ้นหลายตัวในชีวิต เสียเพื่อนกันไปก็เยอะ "...เวลาขายหุ้น ผมจะขายหนัก สมมติว่ามี Bid (เสนอซื้อ) 3 ช่อง ถ้าผมอยากจะออก ผมทิ้งช่อง Bid หมด 3 ช่องเลย ยกตัวอย่างหุ้น TPI (ปัจจุบัน คือ IRPC) ผมเคยขายทีเดียว 60-70 ล้านหุ้น จนคนในวงการบอกว่า ผมเล่นหนัก ทุกคนจะรู้ว่าถ้ามี Bid เยอะๆ แล้วผมไม่สบายใจ ผมออกไปเลย 3 ช่อง หลบกันแทบไม่ทัน"
นอกจากนี้ เสี่ยยักษ์ก็เคยโดนเจ้าของหุ้น "หลอก" มาแล้ว ประมาณว่า "แง้มข่าวดี" ให้เข้าไปซื้อ แต่ตัวเองแอบเทขายหุ้นออกมาให้ก็มี ซึ่งในวงการนี้จะมีการ "ขี่กัน" เล็กๆน้อยๆ

"เรื่องข่าวลือ หรือ ข่าวอินไซด์ ผมฟัง...แต่ไม่ได้เชื่อ คนที่อยู่ในวงการระดับ 10-20 ปี คิดว่าไม่มีใครเชื่อ ถ้ามีหุ้นตัวนั้นอยู่จะขายออกไปด้วยซ้ำ เพราะคำว่า "ข่าวลือ" คุณต้องแอบพูดในที่ลับ ถ้ามากระจายให้มหาชนรับรู้...มาบอกนักข่าว แสดงว่า "จบรอบ" แล้ว...คุณต้องทิ้ง" เสี่ยยักษ์ สรุปหลักการ "ขายหุ้น" กรณีที่มี "ข่าวลือ" หลุดออกมาก่อนว่า เราต้อง "Sell on Fact" (ขายเมื่อมีข่าวจริง) หรือ "Sell on Good News" (ขายเมื่อมีข่าวดีกระจายไปทั่ว) กฎข้อนี้ยังใช้ได้ดีในตลาดหุ้น เพราะพวกที่ปล่อยข่าว กำหนดราคาเป้าหมายได้ พวกนี้ต้อง "เสือ" เท่านั้นถึงจะทำได้

ตอนที่ 17 หุ้นเรียกแขก

เชิญครับ! เชิญ..เชิญมารวย!!! ด้วยกันคร้าบบ..พี่น้อง ในตลาดหุ้นมักจะมี "หุ้นปั่น" สลับกันขึ้นมาหวือหวา ซึ่งหุ้นประเภทนี้ "เสี่ยยักษ์" วิชัย วชิรพงศ์ เตือนว่า หุ้นพวกนี้อันตรายที่สุด เวลาเจ้ามือ "ทิ้ง" มันลงไปถึงก้นเหวได้ง่ายๆ "จะเล่นหุ้นปั่นจะต้องซื้อน้อยๆ เกาะตู้เย็น หาค่ากับข้าวได้ แต่อย่าไปเล่นแรง อย่าไปทุ่ม เดี๋ยวเจ้ามือมันจะโยนหุ้นให้เรา" ...ในวงการหุ้น เขาจะเรียกหุ้นประเภทนี้ว่า “หุ้นเรียกแขก” เซียนหุ้นรายนี้อธิบายว่า โดยส่วนตัวไม่ชอบเล่น แต่ก็พอรู้ว่าหุ้นตัวไหนมีเจ้ามือดูแลอยู่ ถ้าเราไปขวางทางเขา เขาก็ต้องสะบัดเราหลุด พร้อมทั้งบอกเกร็ดความรู้ให้ฟังด้วยว่า...

"จะเล่นหุ้นพวกนี้ (หุ้นปั่น) จะต้องซื้อน้อยๆ เกาะตู้เย็น หาค่ากับข้าวได้ แต่อย่าไปเล่นแรง อย่าไปทุ่ม เดี๋ยวเจ้ามือมันจะโยนหุ้นให้เรา" ข้อสังเกตของหุ้นปั่น หนึ่ง..ต้องมี "เจ้ามือ" (กลุ่มก๊วนคอยทำราคา) สอง..ผู้ถือหุ้นใหญ่ มักจะรู้เห็นเป็นใจด้วย ในลักษณะช่วยกันออกข่าวดี (ในหลายกรณี ผู้ถือหุ้นใหญ่มักจะโอนหุ้นบางส่วนไปไว้ในพอร์ต "นอมินี" หรือให้ตัวแทนเข้าไปเก็บหุ้น ก่อนจะมีการทำราคา)
เสี่ยยักษ์ให้ความกระจ่างว่า เขาจะดูด "ซัพพลาย" (ปริมาณหุ้นหมุนเวียน) ออกไปให้มากที่สุด จากนั้นหุ้นจะวิ่ง..พักนิดหนึ่ง..แล้วก็วิ่งต่อ ระหว่างที่หุ้นวิ่งแรงๆ เจ้ามือจะรอกินเราอยู่ ถ้าราคายังไม่ถึงเป้าหมาย เขาก็ประคองราคาเอาไว้ จนมี "เหยื่อ" กลุ่มใหญ่เข้ามา แต่หุ้นพวกนี้ สุดท้ายแล้ว "เสือ" จะกิน "เนื้อเสือ" คือ กินพวกเดียวกันเองด้วย นอกจากนี้ เสี่ยยักษ์ยังตอบข้อสังเกตด้วยว่า ทำไม! หุ้นไอพีโอ (IPO) หลายตัว พอเข้าตลาดมาใหม่ๆ หุ้นมักจะถูก "ทุบ" ลงไปก่อน แล้วค่อย "ลาก" ขึ้นมาทีหลัง "ผมคิดว่าเจ้าของหุ้น (ผู้ถือหุ้นใหญ่) เป็นคนปล่อยหุ้นออกมาเอง แล้วค่อยไปรอเก็บราคาต่ำ "เพื่อลดต้นทุน" แล้วเล่นรอบขึ้นมาใหม่ ผิดกับสมัยก่อน ซื้อหุ้นไอพีโอจะได้กำไรมหาศาล เพราะเจ้าของหุ้นไม่เอาหุ้นมาหมุนในตลาดเยอะเหมือนสมัยนี้" เสี่ยยักษ์ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทไหนที่เจ้าของหุ้นลงมาเล่นหุ้นตัวเอง (โดยปกติมักจะเล่นหุ้นผ่านนอมินี) สุดท้ายมักจะ "เจ๊ง" เพราะหุ้นตัวนั้นจะขาดความน่าเชื่อถือ นอกเหนือจาก "หุ้นเรียกแขก" ที่ไม่ควรเข้าไปแตะต้องแล้ว ยังมีหุ้นอีกประเภทหนึ่งที่ไม่ควรเล่น คือ หุ้นที่เจ้าของบริษัทมี "ไอคิว" (Intelligence Quotient) เหนือกว่าเรามาก ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกลุ่มซีพี (เครือเจริญโภคภัณฑ์) "ผมเคยอ่านจากข่าวว่า ท่านเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ เคยพูดออกมาคำหนึ่งว่า...สิ่งที่ทำผิดพลาดที่สุดในชีวิต คือ ไม่ยอมขายหุ้นเทเลคอมเอเซีย (ปัจจุบันคือ TRUE) ที่ราคา 70 กว่าบาท ถามหน่อยว่า มีใครรวยหุ้นซีพีบ้าง! เพราะไอคิวเราสู้เขาไม่ได้ พอท่านเผยความคิดนี้ออกมา จะเล่นหุ้นกลุ่มนี้ก็ต้องระวังตัว" เสี่ยยักษ์ย้ำว่า ถ้าเราไปเจอบริษัทไหนก็ตามที่เรารู้สึกว่า ไอคิวเราสู้เจ้าของบริษัทไม่ได้ ถ้าใครเจอหุ้นแบบนี้ ชีวิตนี้อย่าไปแตะต้อง เพราะคุณจะไม่มีทางรวย แล้วลักษณะของหุ้นแบบไหนที่ซื้อแล้ว มีโอกาส "ฟลุ้ค" แจ๊คพอตแตก “หุ้นที่จะฟลุ้ค ต้องเป็นหุ้นประเภท "คอมมูนิตี้" (สินค้าโภคภัณฑ์) เช่น น้ำมัน ปิโตรเคมี เดินเรือ ฯลฯ ซึ่งหุ้นประเภทนี้จะมีไซเคิลของมัน วันหนึ่งที่ถึงไซเคิลของมัน (ช่วงเทิร์นอะราวด์) มีโอกาสรวยได้ง่ายๆ แต่คุณต้องรู้ว่าไซเคิลของธุรกิจอะไรที่กำลังจะมา" ...และจังหวะซื้อ จะต้องเป็นรอยต่อของช่วง "ตกต่ำ" (Depression) มาสู่ช่วง "ฟื้นตัวใหม่" (Revival) ซื้อแล้ว "ถือ" ทั้งนี้วัฏจักรธุรกิจจะแบ่งออกเป็น 5 ช่วง คือ 1.ขยายตัว (Expansion) 2.รุ่งเรือง (Boom) 3.ถดถอย (Recession) 4.ตกต่ำ (Depression) และ 5.ฟื้นตัวใหม่ (Revival) หลังจากหุ้น ปตท.ที่เสี่ยยักษ์ได้กำไรจำนวนมากแล้ว หุ้นอีกตัวที่น่าจดจำคือ หุ้น TPI (ปัจจุบัน คือ IRPC) "หลังจากหุ้น ปตท.ผมก็มาเจอหุ้นในดวงใจอีกตัว คือหุ้น TPI ประมาณปลายปี 2548 ตอนนั้นราคา 10 บาทกว่า ยังไม่เพิ่มทุน 1 ต่อ 2 ที่ราคา 3.30 บาท ก่อนหน้านั้น กลุ่มนักลงทุนรายใหญ่ไปคุยกับอดีตผู้บริหาร แน่ใจว่า ปตท.จะเป็นแกนดึงพันธมิตร (กบข.-วายุภักษ์-ธ.ออมสิน) เข้ามาเพิ่มทุน ที่ราคา 3.30 บาท ...ผมก็บอกว่า โอ้ย! หุ้นอย่างนี้ดีซิ! มันกำลังจะเปลี่ยนโครงสร้าง ทำอะไรใหม่ เราไม่ต้องกลัว เพราะหลังเพิ่มทุนเสร็จ ต้นทุนเราเฉลี่ยประมาณ 5 บาทกว่า เขา (กลุ่มปตท.) ลงทุนตั้งหลายหมื่นล้านบาท ของเราลงทุนแค่นิดเดียว จะไปกลัวมันทำไม!" ช่วงที่ราคาหุ้น TPI แถวๆ 10 บาทกว่า เสี่ยยักษ์ก็ทยอยซื้อเข้าพอร์ต หลังจากนั้นราคามันวิ่งขึ้นไป 18 บาท พอกลุ่มปตท.กำลังจะเข้ามา (ขึ้น XR วันที่ 14 พ.ย.2548) กลุ่มประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ก็ฟ้องศาลคัดค้าน ราคาก็หล่นลงมาเหลือ 15-16 บาท "ช่วงราคาทรุดลง..ผมก็จะแย่ แต่พอศาลตัดสินว่าคุณประชัยแพ้ กลุ่มปตท.เพิ่มทุนได้ ช่วงต้นปี 2549 ราคาหลังเพิ่มทุนขึ้นไปสูงสุด 8.95 บาท ตอนนั้นผมถือหุ้น TPI อยู่กว่า 100 ล้านหุ้น มูลค่าลงทุนตัวเดียว 1,000 ล้านบาท ชอตนี้..ผมก็ได้กำไรเยอะ" เสี่ยยักษ์สรุปปิดท้ายว่า โดยส่วนตัว เวลาที่จะลงทุนหุ้นตัวไหนหนักๆ จะต้องทำการบ้านอย่างละเอียด โดยเฉพาะข้อมูลสำคัญของหุ้น ต้องรู้ให้ลึก รู้ให้จริง "ยกตัวอย่าง ตอนที่ผมจะซื้อหุ้น TPI ผมจะเก็บข้อมูลทุกอย่างของหุ้นตัวนี้ให้หมด ตั้งแต่ลูกหุ้นเข้าวันไหน ขาดทุนน้ำมันเท่าไร กำไรอัตราแลกเปลี่ยนเท่าไร ราคาเม็ดพลาสติกตอนนี้เป็นอย่างไร พื้นฐานพวกนี้ผมจะตัดข้อมูลเก็บเอาไว้หมด" นี่ไง! เคล็ดไม่ลับแห่งความสำเร็จของ "เซียน" ที่ชื่อ "วิชัย วชิรพงศ


Create Date : 14 กันยายน 2552
Last Update : 14 กันยายน 2552 11:32:25 น. 0 comments
Counter : 292 Pageviews.  
 
Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

Low2Higher
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add Low2Higher's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com