วันวานในสยาม...ยามนั้นและยามนี้

InSiam : From Time to Time



Group Blog
 
All blogs
 

ลาวดวงเดือน .......เพลงรักแห่งการอาลัยลา

 

 

 

             เพลงลาวดวงเดือนเป็นเพลงไทยเดิมจังหวะ ๒ ชั้น เนื้อเพลงมีความซาบซึ้ง กับท่วงทำนองและถ้อยคำงดงามทางวรรณศิลป์  ที่มาของเพลง ๆ นี้ เป็นเรื่องจริงยิ่งกว่านิยาย รัก เศร้าเรื่องหนึ่ง เปิดฉากด้วยความรักซาบซึ้ง และจบด้วยการพลัดพรากจากกันชั่วชีวิต  ฝ่ายชายได้แต่ถ่ายทอดความรักอาลัยผ่านบทเพลงอมตะเพลงนี้

โอ้ละหนอดวงเดือนเอย
พี่มาเว้ารักเจ้าสาวคำดวง
โอ้ดึกแล้วหนอพี่ขอลาล่วง

อกพี่เป็นห่วงรักเจ้าดวงเดือนเอย
ขอลาแล้วเจ้าแก้วโกสุม

พี่นี้รักเจ้าหนอขวัญตาเรียม
จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย

จะหาไหนมาเทียมโอ้เจ้าดวงเดือนเอย (ซ้ำ
)
หอมกลิ่นเกสร เกสรดอกไม้

หอมกลิ่นคล้ายคล้ายเจ้าสูของเรียมเอย (ซ้ำ
)
หอมกลิ่นกรุ่นครันหอมนั้นยังบ่เลย

เนื้อหอมทรามเชยเอยเราละเหนอ

โอ้ละหนอนวลตาเอย

พี่นี้รักแสนรักดังดวงใจ
โอ้เป็นกรรมต้องจำจากไป

อกพี่อาลัยเจ้าดวงเดือนเอย
เห็นเดือนแรมเริศร้างเวหา

เฝ้าแต่เบิ่งดูฟ้า(ละหนอ)เห็นมืดมน
พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย

พี่ทนทุกข์ทุกข์ทนโอ้เจ้าดวงเดือนเอย
เสียงไก่ขันขานเสียงหวานเจื้อยแจ้ว

หวานสุดแล้วหวานแจ้วเจื้อยเอย (ซ้ำ
)
ถึงจะหวานเสนาะหวานเพราะกระไรเลย

บ่แม้นทรามเชยเราละเหนอ (ซ้ำ)
 

 

       เรื่องราวความรัก เริ่มตนเมื่อพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์  พระราชโอรสองค์ที่ ๓๘ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับ เจ้าจอมมารดามรกฎ เมื่อพระชนมายุ ๑๗ พรรษา เสด็จไปทรงศึกษา ณ วิทยาลัยเกษตรกรรมเวลลิงตัน ฮอล์ ประเทศอังกฤษ ทรงใช้เวลาศึกษาอยู่สามปีครึ่ง แล้วเสด็จกลับกรุงสยาม ขณะมีพระชนมายุ ๒๑ พรรษา  เพื่อทรงเตรียมพระองค์เข้ารับราชการในกระทรวงเกษตร เสด็จไปยังนครเชียงใหม่

 photo 6346667730605700001_zps489c630a.jpg

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์

      เจ้าหลวงอินทวโรรสสุริยวงศ์ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ได้จัดงานต้อนรับเจ้าชายหนุ่มรูปงาม ด้วยพิธียิ่งใหญ่ และจัดให้มีละครคุ้มหลวงเมืองเชียงใหม่ให้ทอดพระเนตร ในการแสดงครั้งนี้มีเจ้านายเมืองเหนือและแขกชาวต่างชาติมาชมอย่างหนาแน่น ระหว่างการแสดงพระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์แทนที่จะทรงพระสำราญกับละคร แต่สายพระเนตรจับจ้องไปยังสาวน้อยวัยแรกรุ่นนางหนึ่ง คือ เจ้านางชมชื่น ณ เชียงใหม่ ธิดาคนโตวัย ๑๖ ปี ของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ (ธรรมลังกา) เมืองเชียงใหม่ กับ เจ้านางคำย่น

 photo E400E080E490E320E190E320E070E0A0E210E0A0E370E480E190_zpsae2b99df.jpg

เจ้านางชื่นชื่น ณ เชียงใหม่

       รักแรกพบของเจ้าชายหนุ่ม พระองค์แทบจะทนให้ผ่านพ้นค่ำคืนนี้ไม่ได้ เช้าวันรุ่งขึ้นมีพระดำรัสให้พระยานริศราชกิจ ข้าหลวงต่างพระเนตรพระกรรณประจำเมืองเชียงใหม่ให้นำพระองค์ไปยังคุ้มของเจ้าราชสัมพันธวงศ์ เพื่อผูกไมตรีกับท่านเจ้าของคุ้ม ซึ่งแท้ที่จริงแล้วพระองค์ทรงปรารถนาที่จะทอดพระเนตรเจ้านางชมชื่น ผู้เลอโฉม และนับแต่นั้นพระองค์ทรงเสด็จไปคุ้มเจ้าราชสัมพันธวงศ์ทั้งเช้าเย็น โดยมีเจ้านางชมชื่นถวายการต้อนรับ

 

        เวลาผ่านไปไม่นาน พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ทรงบังคับให้พระยานริศราชกิจไปสู่ขอเจ้านางชมชื่นให้พระองค์ แต่เจ้าราชสัมพันธวงศ์ขอผัดผ่อนด้วยขอให้จ้านางชมชื่นมีอายุ ๑๗ พรรษาก่อน แล้วจะนำตัวมาถวาย หรือถ้าพระบาทสมเด็จเจ้าอยู่ทรงทราบและทรงพระราชทานพระอนุญาตก็ไม่ขัดข้อง แต่ที่จริงแล้วการที่เจ้าราชสัมพันธวงศ์ปฏิเสธการสู่ขอนั้น เพราะได้ทราบว่าพระเจ้าองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์มีสะใภ้หลวงอยู่ที่เมืองหลวงแล้ว

ในเวลาต่อมาอีกไม่นานก็มีหมายรับสั่งจากเมืองหลวงให้พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเพ็ญพัฒนพงศ์ เร่งเสด็จกลับแต่พระองค์ทรงบิดพลิ้ว และก็มีพระราชโทรเลขจากพระราชบิดามากำชับอีก จึงจำต้องเสด็จกลับพระเกรงพระราชอาญาและไม่ได้เสด็จกลับมายังนครเชียงใหม่อีกเลย ตราบจนสิ้นพระชนม์ขณะมี พระชนมายุ ๒๘ พรรษา ขณะทรงกรมเป็นกรมหมื่นพิไชยมหินทโรดมได้เพียงปีเศษ

หลังจากพระองค์เสด็จกลับมายงพระนครแล้ว ทรงอาลัยรักต่อเจ้านางชมชื่นอย่างสุดซึ้ง ได้เป็นแรงบันดาลใจให้พระองค์ทรงนิพนธ์เพลง “ลาวดวงเดือน” ขึ้นและได้กลายเป็นเพลงรักอมตะเพลงหนึ่งจวบจนถึงทุกวันนี้

 ส่วนเจ้านางชมชื่น ณ เชียงใหม่ เมื่อมีอายุ ๑๗ – ๑๘ ปี เจ้านายญาติวงศ์ได้จัดให้เข้าพิธีเสกสมรสกับเจ้าเมืองคำ ณ ลำพูน ซึ่งเป็นเจ้านายบุตรหลานของเจ้าดาราดิเริกรัตนไพโรจน์ เจ้าเมืองลำพูน แต่ชีวิตสมรสก็ไม่ราบรื่นงดงามนัก หลังจากมีบุตรชายด้วยกันคนหนึ่งก็เป็นอันต้องแยกทางกัน  เป็นอันจบตำนานรัก เพลงลาวดวงเดือน

 

 




 

Create Date : 22 กันยายน 2556    
Last Update : 22 กันยายน 2556 1:40:47 น.
Counter : 5667 Pageviews.  

อำแดงเหมือนกับนายริด ตอนที่2 /1 ...สิทธิและความเสมอภาคของสตรี ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงหรือ

ก่อน พ.ศ. ๒๔๐๘

สตรีไทยถูกประเมินค่าต่ำมากในสังคม

บิดามารดาหรือสามี

มีสิทธิตามกฎหมาย

ที่จะยกหรือขายบุตร, ภรรยา

ของตนให้แก่ผู้อื่นได้

โดยมิพักต้องถามควาสมัครใจ

ดุจขายวัวขายควาย

จนมีคำกล่าวถึงสิทธิในความเป็นคนของสตรีไทยว่า

“ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน”

สภาพบ้านเมืองสยามในสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นยุคเดียวกับอำแดงเหมือน

 5-1.jpg

เรือนแพพักอาศัยของชาวสยามสมัยก่อนตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

 012.jpg

ในภาพเป็นภาพแม่น้ำเจ้าพระยามองจากมุมวัดอรุณราชวราราม

จากบทความตอนที่แล้ว เรื่องเกี่ยวกับอำแดงเหมือน สตรีผู้หาญกล้า ที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกัน เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ในช่วงรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพาที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เนื่องจากมีผู้อ่านหลายท่านให้ความสนใจอยากจะรู้เรื่องราวความเป็นมา ของเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้เขียนจึงได้ค้นคว้าหาข้อมูลต่าง ๆ เท่าที่พบได้ในขณะนี้ จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟังดังนี้ เรื่องราวของอำแดงเหมือน กลายเป็นเรื่องที่ผู้คนในยุคนั้นต่างให้ความสนใจและเห็นใจคนทั้งสอง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้ความสนพระทัย โปรดให้นำคดีมาชำระความขึ้นใหม่อย่างเป็นธรรม

 06.jpg

พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ สถานที่อำแดงเหมือนถวายฏีกา

มีพระบรมราชโอการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาทให้ประกาศแก่ลูกขุนตุลาการโรงศาล และราษฏรในกรุงและหัวเมืองให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีฉลู สัปตศก เสด็จออกหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ มีหญิงสาวคนหนึ่งทำเรื่องราวฏีกามาทูลเกล้าฯ ถวายความในฏีกา......................................................

 02.jpg

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉลองพระองค์อย่างยุโรป ทรงพระภูษาโจง
พระมาลาแบบสก๊อต พระราชหัตถเลขาที่ปรากฏในภาพตรงกับวันที่ ๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๐๔

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรรับฏีกาแล้ว ทรงให้ความสนพระทัยมาก ทั้งพระราชดำริวินิจฉัยความด้วยพระองค์เอง โดยโปรดให้อำแดงเหมือน หญิงที่ถวายฏีกานั้นตกเป็นภรรยาของชายชู้ (นายริด) ตามที่สมัครใจ

ความตอนนี้ มีบันทึกให้ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ นั้นบันทึกไว้ความว่า “ฏีกานี้ทรงแล้วจึงทรงพระราชหัตถเลขาสลักหลักฏีกาลง ถ้าความเรื่องที่กล่าวในฏีกานี้ไม่ผิดไกลจากการที่เป็นจริงนัก ให้จมื่นราชามาตย์กับนายรอดมอญมหาดเล็กขึ้นไปจัดการตัดสินให้หญิงผู้ร้องฏีกาตกเป็นภรรยาชายชู้เดิมตามสมัคร เพราะหญิงนั้นอายุก็มากถึง 20 ปีเศษแล้ว ควรจะเลือกหาผัวตามชอบใจได้ แต่ให้ชายผู้เดิมเสียเบี้ยละเมิดให้บิดามารดาหญิงชั่งหนึ่งให้ชายผู้ที่ได้หญิงนั้นด้วยบิดามารดายอมยกให้สิบตำลึง รวมเป็นเงินสามสิบตำลึง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ชายชู้เดิมเสียแทนบิดามารดาหญิง แลชายที่เป็นเจ้าของหญิงนั้นด้วย ให้ความเป็นเลิกแล้วต่อกันทั้งเรื่อง”

เรื่องราวของอำแดงเหมือนกับนายภูและนายริดนั้น เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมากสำหรับผู้ในยุคสมัยนั้น นับว่าเป็นเรื่องยากยิ่งที่สตรีในยุคสมัยเมื่อร้อยกว่าปี กล้าที่จะถวายฏีการ้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์ผู้เป็นเจ้าชีวิต ประกอบกับบ้านเมืองในยุคสมัยนั้นอยู่ภายใต้ระบบทาส การซื้อขายบุตรหลานให้ไปอยู่กับบรรดาผู้ที่มีทรัพย์สิน ศักดินามาก และไม่เป็นการผิดตามตัวบทกฎหมายแต่อย่างใด อย่างกรณีของอำแดงเหมือน ที่บิดามารดาบังคับขู่เข็ญจะให้ไปอยู่กับนายภู ซึ่งเธอไม่ยินยอม แล้วตระลาการ พิพากษาว่าให้เธอไปอยู่กับนายริดชู้รักได้ จึงเป็นเรื่องราวที่น่าแปลกและยากที่คนในยุคนั้นจะเข้าใจได้

ขอหยิบยกบางส่วนที่น่าสนใจ จากหนังสือ บทภาพยนต์ “อำแดงเหมือนกับนายริด” กำกับการแสดงโดย เชิด ทรงศรี เขียนบทโดย ธม ธาตรี และ จันนิภา ซึ่งในครั้งนั้นผู้แสดงเป็นอำแดงเหมือน รับบทโดย จินตหรา สุขพัฒน์ สำหรับ นายริด รับบทโดย สันติสุข พรหมศิริ ผู้เขียนยังทันได้ดูภาพยนต์เรื่องนี้ และยังประทับใจกับบทบาท ของนักแสดง ตลอดจนฝีมือการกำกับ โดยเชิด ทรงศรี หากสนใจในภาพยนต์เรื่องนี้ก็ยังพอที่จะหาได้ตามร้านจำหน่ายซีดีทั่วไป สิ่งที่น่าสนใจและท้าท้ายมากสำหรับการนำเสนอเรื่องนี้ ด้วยเหตุที่เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง มีที่มาจากบันทึกคดีอำแดงเหมือนทูลเกล้าฯ ถวายฏีการัชกาลที่ ๔ ซึ่งมีเนื้อความสั้นเสียยิ่งกว่าเรื่องสั้น การแต่งเติมเรื่อง จึงต้องกระทำตามแบบอย่างของการเขียนบทจากเรื่องสั้น แต่คิดจะแต่งเติมตามจินตนาการอย่างเดียวนั้นไม่ได้ ต้องคำนึงถึงความจริงเป็นหลักอยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ การอ่านจากบันทึกคดีอำแดงเหมือน ทูลเกล้าถวายฏีกาให้เข้าใจอย่างทะลุปรุโปร่งทุกตัวอักษร ถึงแม้จะมีเนื้อความอยู่น้อย แต่หากพินิจพิเคราะห์ ก็จะได้อะไรเพิ่มเติมขึ้นอีกหลาย ๆ อย่าง ดังเช่น ความตอนหนึ่งในฏีกาไม่มีข้อความตอนไหนเลยที่บ่งบอกว่าอำแดงเหมือนหรือครอบครัวประกอบอาชีพอะไร แต่จากประโยคในฏีกาที่ว่า “ตั้งบ้านเรือนอยู่บางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี” ก็พอที่จะช่วยให้คิดต่อไปว่า บางม่วงนั้น อยู่ส่วนไหนของนนทบุรี เมื่อไปเสาะหาก็ทราบได้ว่า บางม่วง เป็นตำบลหนึ่งอยู่ในอำเภอบางใหญ่ และทำให้นึกถึงสภาพภูมิประเทศ บางม่วง ซึ่งเป็นถิ่นที่เป็นสวนทุเรียนมาเนิ่นนานกว่าร้อย ๆ ปีมาแล้ว จึงน่าจะอนุมานได้ว่า อำแดงเหมือนกับครอบครัวน่าจะเป็นสาวชาวสวนผลไม้ที่มีทุเรียนเป็นหลัก

 03.jpg

บ้านเรือนชาวสยาม นิยมสร้างเป็นเรือนทรงไทยฝาสำรวด หลังคามุงจาก

จากความตอนหนึ่งในฏีกาฯ พอที่จะรู้ได้ว่าอำแดงเหมือนนั้น อายุ ๒๑ ปี สำหรับหญิงสาวชาวสยามในยุค พ.ศ. ๒๔๐๘ อายุ ๒๑ ปี แต่ยังไม่แต่งงานซึ่งถือว่า “อายุมากแล้ว” นี่คืออีกประเด็นที่น่าสนใจ เพราะเหตุใด อำแดงเหมือนถึงยังไม่แต่งงาน ความตอนหนึ่งว่า “เดิมข้าพระพุทธเจ้ากับนายริดรักใคร่เป็นชู้กัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าหารู้ไม่” นี่เป็นคำตอบที่ได้รับจากฏีกาฯ และทำไมอำแดงเหมือน “รักใคร่เป็นชู้กัน” กับนายริด แล้วพ่อแม่ไม่รู้ มีประเด็นที่พอจะเป็นไปได้ คือ เพราะนายริดเป็นบุคคลที่พ่อแม่อำแดงเหมือนรังเกียจ อำแดงเหมือนจึงปิดบัง หรืออีกประเด็นหนึ่งคือ นายริดอาจจะเป็นบุคคล “ต้องห้าม” ที่อำแดงเหมือน “รักใคร่เป็นชู้” ด้วยแล้วไม่อาจจะเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ จะเห็นได้ว่าผู้จัดทำบทภาพยนต์เรื่องนี้ เลือกที่จะนำประเด็นหลังมาเผยแพร่

 4.jpg

การแต่งกายของหญิงสาวชาวสยามสามัญชน บริเวณวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม

 โปรดอ่านต่อในตอนที่ 2 / 2

*ถ้าชอบบทความนี้ คุณสามารถให้กำลังใจ ด้วยการแสดงความคิดเห็น หรือร่วม Vote กันได้นะครับ




 

Create Date : 28 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 3 ธันวาคม 2555 0:05:56 น.
Counter : 6020 Pageviews.  

อำแดงเหมือนกับนายริด ตอนที่2 /2...สิทธิและความเสมอภาคของสตรี ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงหรือ

 อำแดงเหมือน หญิงสาวชาวสยาม กล้าที่จะทูลเกล้าถวายฏีกา นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ ด้วยมูลเหตุใดกันที่ทำให้เธอกล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยมีหญิงสาวคนไหนกระทำมาก่อน อำแดงเหมือนหญิงสาวชาวสวนอายุ ๒๑ ปี ร่างกายแข็งแรงที่ทำงานหนัก และมีความรู้สึกที่เก็บกด มาแต่เล็กแต่น้อย เช่น เห็นแผลที่ด้านหลังของย่าจัน ซึ่งเกิดจากการที่เคยเป็นเมียทาส ย่าเป็นคนที่อำแดงเหมือนใกล้ชิดและรักมาก อำแดงเหมือนจึงรู้สึกโกรธและเจ็บแค้นแทน ยิ่งมาได้เห็นพ่อลงมือลงตีน กดขี่ข่มเหงแม่อำแดงเหมือนยิ่งชิงชังการกดขี่ทางเพศยิ่งขึ้น หรือ ในฉากที่อำแดงเหมือนชี้รุ้งกินน้ำ เป็นการแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ใช่จะยอมเชื่อและทำตามอย่างที่ “ใคร ๆ เข้าก็เชื่อและทำกัน” ฉากเถียงกับหลวงปู่วัดขนุนจนหลวงปู่ว่า “ มึงจะตายเพราะปาก” นั่นเป็นการแสดงถึงความรู้สึกต้องการความเสมอภาคทางเพศ จะเห็นได้ว่า บุคลิกลักษณะของอำแดงเหมือน ดังนี้

 Photograph259.jpg

อำแดงเหมือน (จินตหรา สุขพัฒน์) กับ ย่าจัน (บรรเจิดศรี ยมาภัย)

อำแดงเหมือน (นางสาว) เหมือน

เป็นลูกสาวชาวสวนบางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี เป็นคนผิวขาวแต่คล้ำเพราะลมแดด สวยแบบคนทำงานหนัก แข็งแรง ปราดเปรียว อำแดงเหมือนเป็นลูกสาวคนเดียวของอำแดงนุ่ม กับนายเกต แต่คนที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่นอนแบเบาะคือย่าจัน ยากับหลานจึงสนิทสนมรักใคร่กันมากเป็นพิเศษ โดยย่าจันเคยเป็นเมียทาส ถูกกดขี่อย่างหนักมาก่อนมีรอยแผลเป็นปรากฏอยู่ด้านหลัง เป็นสักขีพยาน ความเจ็บแค้นแทนตัวย่าจันถูกซึมซับไปไว้นความรู้สึกนึกคิดของอำแดงเหมือน ประกอบกับได้เห็นพ่อลงมือลงตีน เอารัดเอาเปรียบแม่อยู่บ่อย ๆ เธอก็ยิ่งเคืองแค้น “การกดขี่ทางเพศ” จนเกิดความคิดต่อต้านทางจิตใจและแสดงออกแบบกร้าวร้าวทางวาจา

เมื่อสมทบกับได้เรียนรู้หนังสือซึ่งหมายถึงว่า “ฉลาดขึ้น รู้คิดขึ้น” ความคิดต่อต้านการกดขี่ทางเพศก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ พอเกิดความรักกับพระริด เธอจึงไม่ยอมให้พ่อแม่ขายตนกับนายภูและสู้แบบถวายชีวิต เพราะเป็นคนที่มีความเป็นตัวของตัวเองและไม่ย่อมเป็นทาสประเพณี หรือทาสทางสังคม เธอจึงมีลักษณะเป็นผู้นำ กล้าพูด กล้าเสี่ยง ผู้หญิงอย่างอำแดงเหมือนจึงไม่ใช่ช้างเท้าหลัง

ความรักของอำแดงเหมือนที่มีต่อพระริดนั้น เพราะเธอไม่เคยต้องมือชายมาก่อน พระริดเป็นชายคนแรกที่ได้เห็นรูปกายส่วนที่ผู้หญิงปิดมิดชิด มิหนำซ้ำยังได้จับต้องโอบกอดเธอด้วย เธอมีความคิด.....จากความอับอาย เป็นความรู้สึก....และรักในที่สุด เป็นรักแรกและรักเดียว เสน่ห์ของอำแดงเหมือนอยู่ที่เป็นผู้หญิงทำงาน หนักเอาเบาสู้ ไม่บ่นและยิ้มแย้มแจ่มใส พูดจาปากกับใจตรงกัน ไม่ดัดจริต เมื่อใครอยู่ใกล้แล้วมีความสุข ดังนี้นถึงแม้หล่อนจะมีเหงื่อโทรมหน้าโดยไม่มีเครื่องสำอางเลย เธอก็สวย......ธรรมชาติคือความสวยอย่างยิ่ง อำแดงเหมือนมีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์

 Photograph258.jpg

อำแดงเหมือน (จินตหรา สุขพัฒน์) กับ นายริด (สันติสุข พรหมศิริ)

นายริด

เมื่อเป็นเด็ก เจ็บไข้ได้ป่วยอยู่เสมอ ตอนอายุ ๖ ขวบ เจ็บหนักมากชีปะขาวทำนายว่าชะตาชีวิตขาดแล้ว ต้องบวชจึงจะรอดชีวิตอยู่ต่อไปได้และต้องสึกด้วย สึกเมื่อไหร่จะตายภายใน วัน ๗ วัน เด็กชายริดจึงต้องบวชเป็นเณรและเป็นพระอยู่ตลอดมา บ้านพ่อแม่ของพระริดอยู่ปากเตร็จ (ปากเกร็ด) มีอาชีพทำเครื่องปั้นดินเผาขาย โดยที่ต้องบวชตั้งแต่เด็ก อุปนิสัยใจคอจึงสุภาพเรียบร้อยและอยู่ในธรรมวิจัยอย่างเคร่งครัด เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๔ ขณะมีอายุได้ ๒๕ ปี เบญจเพศ ความรู้สึกนึกคิดของพระริดที่มีต่ออำแดงเหมือน แบ่งเป็นขั้นตอนได้ ดังนี้

๑. แรกเริ่มที่ช่วยชีวิตอำแดงเหมือนให้รอดพ้นจากการจาน้ำตายภาพ “เปลือยอก” เป็นกิเลสหรือมารที่คอยทำลายตบะของความเป็นพระที่เที่ยงตรงอยู่ในธรรมวินัย พระริดต้องเอาธรรมะต่อสู้กับกิเลส มารนี้จนชนะได้ในฉากปลงที่ป่าช้าวัดขนุน

๒. เมื่ออำแดงเหมือนแสดงทีท่ารัก หรือกระทั่งถึงฉากบอกรักพระริดแล้ว พระริดก็คงยึดเอาธรรมะเป็นที่พึ่งทางใจ ให้มั่นคงต่อไปได้ (ประกอบกับตนรู้อยู่ว่าตนสึกไม่ได้ ถ้าสึกต้องตาย)

๓. เมื่อรู้ข่าวว่า อำแดงเหมือนจมน้ำตาย จิตใจพระริดหวั่นไหวเนื่องด้วยความสำนึกในคุณธรรม ตำหนิตนเองว่าเป็นต้นเหตุให้อำแดงเหมือนตาย ยิ่งคิดยิ่งวุ่นวาย จนใช้ธรรมะดับไม่ไหว ความกลัวตายตามคำทำนายของชีปะขาวไม่กลัวแล้ว เป็นคนหมดอาลัยตายอยากในชีวิต ตายก็ตาย ถ้าไม่ตายขอไปช่วยพ่อแม่ทำงาน

๔. ความรักของนายริด ค่อย ๆ เกิดขึ้นเมื่อไปอยู่บ้านเดิมของตนและได้เห็นการทำงานหนัก ยิ้มแย้มแจ่มใสและช่างปรนนิบัติของอำแดงเหมือน ประกอบกับความใกล้ชิดสนิทสนมเพราะไม่เคยรักใครมาก่อน เมื่อรักจึงรักมากและรักเดียว

 

ความที่เคยบวชเรียนมาช้านาน และถูกปรนนิบัติเสมอมา อีกทั้งอยู่ในกรอบแห่งธรรมวินัย นายริดจึงมีความเป็นผู้นำน้อยกว่าอำแดงเหมือนและดูออกจะเป็นคนเนือย ๆ ด้วย เมื่ออำแดงเหมือนติดตะราง เป็นช่วงตอนที่นายริดอยู่ในฐานผัว เขางุ่นง่านมาก พล่านไปหมด พยายามวิ่งเต้นช่วยเมีย เมื่อช่วยไม่ได้ก็เฝ้าแบบจงรักภักดี เปรียบได้กับสุนัขเฝ้านายที่รักของมัน การแสดงอารมณ์ของพระริดหรือนายริดนั้น สื่อนัยน์ตา สีหน้า มากกว่ากริยาอาการกระโดดโลดเต้น หรือพูดจาร้าวรุนแรง เสียงดัง.....ซึ่งจะผิดกับอำแดงเหมือน นายริดเป็นบุคคลที่มีตัวตนจริงอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ร่วมสมัยเดียวกันกับอำแดงเหมือน

 

เหตุการณ์เมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ อำแดงเหมือนยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปว่า “ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี” หมายความว่าอะไร แต่สิ่งที่เธอได้กระทำลงไปนั้น เธอรู้อยู่อย่างเดียวว่าเธอต้องต่อสู้เพื่อจะไม่สูญเสียคนรักของเธอ โดยยึดมั่นว่ายอมตาย ไม่ยอมเสียผัว ความอดทน หรือดิ้นรนทำโน่นทำนี่ ก็เพื่อจะรักษาผัวให้คงอยู่กับตน นี่เป็นความรู้สึกตามธรรมชาติของลูกผู้หญิงในยามที่มีความรักมาก ๆ กรณีอำแดงเหมือนสะท้อนให้เห็นสภาพของสังคมไทยในยุคนั้น และสิทธิ์ความเท่าเทียมของชายหญิง อำแดงเหมือนจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของสตรี ที่เรียกร้องให้มีการแก้กฎหมายที่พันธนาการผู้หญิงในยุคนั้น ให้มีค่าความเป็นคนน้อยกว่าเพศชาย เมื่อ “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน” คำกล่าวตอกย้ำความเหลื่อมล้ำสถานภาพทางเพศของหญิงไทยในอดีต แต่ท่ามกลางหมอกควันแห่งกฏหมาย และจารีตแห่งการกดขี่สตรีนางหนึ่งได้ลุกขึ้นเรียกร้องหาความเป็นธรรมประวัติศาสตร์แห่ง "ความรัก" "ความเท่าเทียม" และ "การต่อสู้" จึงได้เริ่มต้นขึ้นและได้ถูกจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์สยาม

 

***** สิทธิ และ ความเสมอภาคของสตรี ปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงไปแล้วจริงหรือ *****

 

*ถ้าชอบบทความนี้ คุณสามารถให้กำลังใจ ด้วยการแสดงความคิดเห็น หรือร่วม Vote กันได้นะครับ

เอกสารอ้างอิง

เกริกฤทธี ไทคูนธนภพ.2555.เรื่องอื้อฉาวและคดีความในอดีต.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สยามความรู้

ธน ธาตรี – จันนิภา.2537.บทภาพยนตร์อำแดงเหมือนกับนายริด.กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สนุกอ่าน

ประชุมภาพประวัติศาสตร์ แผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.2547.กรุงเทพฯ :

กรมศิลปากร  

 

 

 

 




 

Create Date : 28 พฤศจิกายน 2555    
Last Update : 3 ธันวาคม 2555 0:03:41 น.
Counter : 2623 Pageviews.  

อำแดงเหมือนกับนายริด......ต่อวลีที่ว่า "ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน"

"ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน”

“อำแดงเหมือนกับนายริด” กำลังเข้ามาโลดแล่นบนจอแก้วให้ท่านผู้ชมได้รับชมความเป็นมาของชาวสยามนามว่า “อำแดงเหมือน” ซึ่งลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิในการเลือกคู่ เพื่อคนที่ตนรัก "อำแดงเหมือน" มีตัวตนอยู่จริงในหน้าประวัติศาสตร์ขณะนี้ช่องสาระคุณภาพอย่าง Thai PBS ได้นำกลับมาจัดทำใหม่ทำให้ชวนติดตามมิน้อย ต่อด้วยคำกล่าวที่ว่า “ผู้หญิงเป็นควาย ผู้ชายเป็นคน”

บริบทวลีนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเปิดกระแสภาพยนตร์ “อำแดงเหมือนกับนายริด” โดยเชิดทรงศรี บางท่านฟังแล้วรู้สึกว่าแรงไปหรือไม่กับคำพูดดังกล่าว ว่าทำไมกล่าวว่า ผู้หญิงเป็นควาย และมีผู้หญิงหลาย ๆ ท่านต่างก็เรียกร้องสิทธิเสรีให้ทัดเทียมว่าสมัยปัจจุบันมีความล้ำหน้าไปมากแล้ว บทบาทสตรีและชาย ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน หรืออาจจะเหนือกว่าด้วยซ้ำไป

มาดูความหมายที่แท้จริงของวลี

การว่าผู้หญิงเป็นควาย ไม่ได้หมายถึงว่า เป็นเรื่องกล่าวหาที่สังคมในปัจจุบันมักจะเปรียบเทียบและเข้าใจกัน หากแต่ว่าเนื้อแท้ของวลีนี้มาจาก กฎหมายลักษณะพระอัยการสมัยรัชกาลที่ ๑

“กิริยาที่บิดามารดายอมยกให้บุตรหญิงของตัวไปแก่ชายนั้นกระมัง จึงต้องยอมให้เขาฉุด ก็ถ้าการเป็นดังนี้ให้ตัดสินว่าบิดามารดาไม่ได้เป็นเจ้าของบุตรชายบุตรหญิง ดังหนึ่งคนเป็นเจ้าของโคกระบือช้างม้า จะตั้งราคาขายตามชอบใจได้หรือ ดังนายเงินเป็นเจ้าของทาสที่มีค่าตัว จนจะขายทาสนั้นตามค่าตัวเดิมได้ เมื่อบิดามารดาจนจะขายบุตร ต่อบุตรยอมให้ขายจึงขายได้ ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ หรือยอมให้ขาย ถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงเท่าไร ก็ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไรผิดไปจากนี้อย่าเอา เพราะฉะนั้นในความเรื่องนี้ ถ้าบิดามารดาเอาชื่อหญิงนั้นไปขายให้แก่ชายที่มาฉุดเท่าไร ก็ให้บิดามารดาใช้เงินเขาเอง อย่าให้ชานชู้เดิมแลตัวหญิงต้องใช้ เพราะเห็นชัดว่าตัวหญิงไม่ยอมให้ขาย”

หมายความว่า พ่อแม่นั้นมีลูกสาวเพื่อต้องการที่จะขายตั้งราคา เหมือนอย่างวัว ควาย จะเรียกสินสอดเท่าไรก็ได้ตามใจพ่อแม่ ประหนึ่งขายลูกสาวกิน ซึ่งต่างกับผู้ชาย ไม่ต้องเรียกสินสอด จึงไม่ต้องเปรียบเทียบบกับสัตว์ทั้งหลาย ทั้งหมดนี้เลยเป็นที่มา แห่งวลีดังกล่าว ไม่ใช่หมายถึงควาย ในบริบทของคนสมัยปัจจุบัน 

 

ประกาศพระราชบัญญัติลักษณะลักพา

ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก

มีพระบรมราชโองการมานพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ลูกขุนตุลาการโรงศาล แลราษฎรในกรุงหัวเมืองให้ทราบทั่วกันว่า เมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย แรม ๗ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก๑๕ เสด็จออกหน้าพระที่นั่งสุทไธศวรรย์ มีหญิงสาวคนหนึ่ง ทำเรื่องราวฎีกามาทูลเกล้า ฯ ถวาย ความในฎีกาดังนี้

ข้าพระพุทธเจ้าอำแดงเหมือนเป็นบุตรนายเกต อำแดงนุ่น อายุข้าพระพุทธเจ้าได้ ๒๑ ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บางม่วง แขวงเมืองนนทบุรี มีความทุกข์ร้อนขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายเรื่องราวให้ทราบใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท พระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ เดิมข้าพระพุทธเจ้ากับนายริดรักใคร่เป็นชู้กัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าหารู้ไม่ ครั้นอยู่มา ณ เดือน ๔ ปีชวดฉศก๑๔ นายภูให้เถ้าแก่มาขอข้าพระพุทธเจ้าต่อบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ยอมจะให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้ารู้ความว่า บิดามารดาจะยกข้าพระพุทธเจ้าให้เป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า

ครั้น ณ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ ปีชวดฉศก๑๔ เวลาพลบค่ำ บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภู นายภูให้ข้าพเจ้าเข้าไปในห้องเรือน ข้าพระพุทธเจ้าไม่ไป ข้าพระพุทธเจ้าก็นั่งอยู่ที่ชานเรือนนายภูจนรุ่งขึ้นเวลาเช้า ชายหญิงชาวบ้านรู้เห็นเป็นอันมาก แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาก็ด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้าอีก จะให้ข้าพระพุทธเจ้าเป็นภรรยานายภูให้จงได้ แล้วบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าให้นายภูฉุดตัวข้าพระพุทธเจ้าไปที่บ้านเรือนนายภูอีกครั้งหนึ่ง ข้าพระพุทธเจ้าก็หาขึ้นไปบนเรือนนายภูไม่ แล้วข้าพระพุทธเจ้าก็กลับมาบ้านเรือนบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาโกรธด่าว่าทุบตีข้าพระพุทธเจ้า แล้วว่าถ้าข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู จะเอาปืนยิงข้าพระพุทธเจ้าให้ตาย ข้าพระพุทธเจ้ากลัวก็หนีไปหานายริดชู้เดิมข้าพระพุทธเจ้า ได้สองสามวัน บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าสั่งผู้มีชื่อให้บอกนายริด ให้เอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ให้ผู้มีชื่อเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนมาสมาบิดามารดาข้าพระพุทธเจ้า บิดามารดาข้าพระพุทธเจ้าจึงพาเถ้าแก่เอาดอกไม้ธูปเทียนไปที่บ้านกำนัน ในเวลานั้นนายภูไปคอยอยู่ที่บ้านกำนัน นายภูจึงอายัดตัวเถ้าแก่ไว้แก่กำนัน

ครั้น ณ เดือน ๗ ปีฉลูสัปตศก๑๕ มีหมายหลวงสยามนนทเขตรขยัน ปลัดไปเกาะข้าพระพุทธเจ้ากับนายริด กับบิดามารดานายริด มาที่ศาลากลางเมืองนนทบุรี หลวงปลัดแลกรมการถามข้าพระพุทธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าให้การว่า ข้าพระพุทธเจ้าหาได้รักใคร่ยอมเป็นภรรยานายภูไม่ พระนนทบุรีและกรมการเปรียบเทียบตัดสินว่า ถ้านายภูสาบานตัวได้ว่าข้าพระพุทธเจ้าได้ยอมเป็นภรรยานายภู ให้นายริดแพ้ความนายภู นายภูไม่ยอมสาบาน แล้วกรมการเปรียบเทียบว่า ถ้าข้าพระพุทธเจ้าสาบานตัวได้ว่าไม่ได้ยอมเป็นภรรยานายภู ให้นายภูยอมแล้วความแก่กัน นายภูก็หาให้ข้าพระพุทธเจ้าสาบานไม่

ครั้นเดือน ๙ ขึ้น ๒ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก๑๕ นายภูกลับฟ้องกล่าวโทษนายริดกับบิดามารดานายริด กับผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คน มีความแจ้งอยู่ในฟ้องนายภูนั้นแล้ว พระนนทบุรีแลกรมการ เกาะได้ตัวนายริดกับบิดามารดากับผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คนมาแล้ว บังคับให้นายริดส่งตัวข้าพระพุทธเจ้า นายริดก็ส่งตัวข้าพระพุทธเจ้าให้ตุลาการ นายริดกับบิดามารดานายริด แลผู้มีชื่อเถ้าแก่ ๒ คนก็เป็นคู้สู้ความกับนายภู แต่ตัวข้าพระพุทธเจ้าได้ให้การไว้ต่อตุลาการเป็นความสัตย์จริง ข้าพระพุทธเจ้าหาได้เป็นภรรยานายภูไม่ แจ้งอยู่ในคำให้การนั้นแล้ว นายเปี่ยม พะทำรงคุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ที่ตะราง แล้วมารดาข้าพระพุทธเจ้าก็มาขู่เข็ญจะให้ข้าพระพุทธเจ้ายอมเป็นภรรยานายภูให้จงได้ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอม ข้าพระพุทธเจ้าเตือนตุลาการให้ชำระความต่อไป ก็ไม่ชำระให้ นายเปี่ยม พะทำรงก็คุมตัวข้าพระพุทธเจ้ากักขังไว้ แกล้งใช้แรงงานต่างๆ เหลือทนได้ความทุกข์ร้อนนัก ข้าพระพุทธเจ้าจึงได้หนีมาทำฎีกาทูลเกล้าฯ ถวายพระราชอาญาเป็นล้นเกล้าฯ ข้าพระพุทธเจ้าไม่ยอมเป็นภรรยานายภู ข้าพระพุทธเจ้าสมัครเป็นภรรยานายริดชู้เดิมของข้าพระพุทธเจ้าต่อไป ขอพระบารมีปกเกล้าฯ เป็นที่พึ่ง ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ขอเดชะ

ฎีกานี้ทรงแล้วจึงทรงพระราชหัตถเลขาสลักหลังฎีกาลง ถ้าความเรื่องที่กล่าวในฎีกานี้ไม่ผิดไกลจากการที่เป็นจริงนัก ให้จมื่นราชามาตย์ กับนายรอดมอญ มหาดเล็ก ขึ้นไปจัดการตัดสินให้หญิงผู้ร้องฎีกาตกเป็นภรรยาชายชู้เดิมตามสมัคร เพราะหญิงนั้นอายุก็มากถึง ๒๐ ปีเศษแล้ว ควรจะเลือกหาผัวตามชอบใจได้ แต่ให้ชายชู้เดิมเสียเบี้ยละเมิดให้บิดามารดาหญิงชั่งหนึ่ง ให้ชายผู้ที่ได้หญิงนั้นด้วยบิดามารดายอมยกให้สิบตำลึง รวมเป็นเงินสามสิบตำลึง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ชายชู้เดิมเสียแทนบิดามารดาหญิง แลชายที่ว่าเป็นเจ้าของหญิงนั้นด้วย ให้ความเป็นเลิกแล้วต่อกันทั้งเรื่อง

แต่ถ้าความแปลกจะมีนอกจากที่ว่าในฎีกานี้ จะต้องตัดสินตามสักสองอย่าง คือ กิริยาที่บิดามารดายอมยกให้บุตรหญิงของตัวไปแก่ชายนั้นกระมัง จึงต้องยอมให้เขาฉุด ก็ถ้าการเป็นดังนี้ให้ตัดสินว่าบิดามารดาไม่ได้เป็นเจ้าของบุตรชายบุตรหญิง ดังหนึ่งคนเป็นเจ้าของโคกระบือช้างม้า จะตั้งราคาขายตามชอบใจได้หรือ ดังนายเงินเป็นเจ้าของทาสที่มีค่าตัว จนจะขายทาสนั้นตามค่าตัวเดิมได้ เมื่อบิดามารดาจนจะขายบุตร ต่อบุตรยอมให้ขายจึงขายได้ ถ้าไม่ยอมให้ขายก็ขายไม่ได้ หรือยอมให้ขาย ถ้าบุตรยอมรับหนี้ค่าตัวเพียงเท่าไร ก็ขายได้เพียงเท่านั้น กฎหมายเก่าอย่างไรผิดไปจากนี้อย่าเอา เพราะฉะนั้นในความเรื่องนี้ ถ้าบิดามารดาเอาชื่อหญิงนั้นไปขายให้แก่ชายที่มาฉุดเท่าไร ก็ให้บิดามารดาใช้เงินเขาเอง อย่าให้ชานชู้เดิมแลตัวหญิงต้องใช้ เพราะเห็นชัดว่าตัวหญิงไม่ยอมให้ขาย

แลหญิงนั้นเมื่อหนีบิดามารดาตามชู้ไป ถ้าเอาเงินทองสิ่งของของบิดามารดาติดตัวไปด้วย ถ้าบิดามารดาไม่ยอมให้ก็เร่งคืนให้ เว้นไว้แต่ผ้านุ่งห่มแลเบี้ยเงินหรือสิ่งของราคาสักสามตำลึง ให้บิดามารดาลดให้หญิง เพื่อจะเป็นเสบียงเลี้ยงตัวอยู่สักเดือนหนึ่งสองเดือน กว่าจะมีที่ทำมาหากินกับชายที่ตัวหญิงนั้นยอมเป็นเมียเขา

ความวิวาทอายัดแลฟ้องเถ้าแกให้เลิกเสีย

ตามลัทธิผู้ชายในบ้านเมืองทุกวันนี้ พอใจถือว่าหญิงคนใด ชายได้พาเข้าไปในที่ลับจับต้องถึงตัวแล้ว ก็พอใจถือตัวว่าเป็นเจ้าผัว ความก็ว่าอย่างนั้น ผู้ตัดสินก็ว่าอย่างนั้น แล้วตัดสินให้ผัวเป็นเจ้าของ แลให้เมียเป็นดังสัตว์เดียรัจฉาน เพราะลัทธิอย่างนั้น แลจึงได้ตัดสินในเวลาหนึ่ง ให้เลิกกฎหมายเก่าว่าหญิงหย่าชายหย่าได้นั้นให้ยกกฎหมายนั้นต้องยุติธรรมอยู่ให้เอาเป็นประมาณ ความเรื่องนี้ที่เปรียบเทียบพิจารณาว่าเป็นเมียว่าไม่ได้เป็นเมียให้ยกเสีย เอาแต่ตามใจหญิงที่สมัครไม่สมัครเป็นประมาณ หญิงใดมีชายมาขอ บิดามารดายกให้ ตัวยอมไปอยู่ด้วยกัน มีผู้รู้เห็นด้วยกันมากกว่าสองคน เป็นผัวเมียกัน ร่วมสุขทุกข์รุนรอนเดียวกันอยู่นานหลายวันหลายเดือนประจักษ์แจ้งแก่คนรอบบ้านรอบเมือง ไม่มีใครขัดใครเถียง จึงควรตัดสินว่าเป็นผัวเมียกัน ในความเรื่องนี้จะให้เป็นถึงอย่างนั้นจะไม่ได้ จึงต้องให้เป็นไปตามใจหญิงสมัคร

ความคล้ายกับเรื่องนี้แต่ก่อนก็เคยตัดสินมา แต่ก่อนมีผู้มีชื่อพาบุตรหญิงไปขายไว้แก่พระยาสิงหราชฤทธิไกร ผู้บิดาหลวงเสนาภักดี แต่หญิงนั้นยังเป็นเด็ก ครั้นหญิงนั้นเจริญเป็นสาว หลวงเสนาภักดีสมคบเป็นภรรยา ครั้นภายหลังบิดามารดาของหญิงมายุยงหญิง ให้ถอนตัวจากหลวงเสนาภักดี ไม่ยอมเป็นภรรยา จะสมัครคืนไปกับบิดามารดา หลวงเสนาภักดีก็ยอมปล่อย บิดามารดาจึงเอาเงินค่าตัวมาส่งหลวงเสนาภักดี แล้วรับตัวหญิงไปไว้ ไม่ช้าก็ไปบอกขายให้ผู้อื่นยอมยกหญิงนั้นให้เป็นภรรยาผู้อื่น หญิงนั้นไม่สมัครมาร้องทุกข์ จะขอกลับคืนมาเป็นภรรยาหลวงเสนาภักดี หลวงเสนาภักดีก็ยอมใช้เงินแรงกว่าค่าตัวเดิม แต่ยังน้อยกว่าจำนวนเงินที่บิดามารดาขืนใจบุตรไปขายให้ผู้อื่น ความเรื่องนี้ก็ได้โปรดตัดสินให้ตามใจหญิงแลหลวงเสนาภักดี ไม่ยอมให้ตามใจบิดามารดา แลชายซึ่งจะเข้ามาเป็นเจ้าของใหม่

ความสองเรื่องนี้โปรดตัดสินให้ตามหญิงแลชายที่รักใคร่กัน ไม่ตามใจบิดามารดา ชะรอยคนบางจำพวกที่มีคดีของตัว ที่ตัวสำคัญว่าคล้ายกับเรื่องสองเรื่องนี้ แต่ได้ถูกตัดสินไปอย่างอื่นแต่ก่อนแล้ว จะมาบ่นหรือคิดว่าทรงตัดสินความต่างๆ ครั้งก่อนไม่เหมือนกัน การนั้นทรงพระราชดำริทราบแล้วว่า จะมีผู้ว่าอย่างนั้นจะคิดอย่างนั้น ขอให้ผู้สังเกตคดีถ้อยความพิจารณาดูให้ละเอียด ซึ่งทรงตัดสินต่างๆ ไปนั้น ตามบรรดาศักดิ์ชาติตระกูลของหญิงแลชาย แลเกี่ยวข้องในที่สูงที่ต่ำ มีที่กำหนดผิดกันอยู่จึงทรงตัดสินยักเยื้องไป

ชักเรื่องเทียบให้เห็นว่า แต่ก่อนนี้ไป นายไทยมหาดเล็ก ซึ่งแต่ก่อนเป็นนายรองชิด บัดนี้เป็นขุนนครเกษมศรี รองปลัดกรมกองตระเวนขวา แต่เถ้าแก่ไปขอทรัพย์บุตรพระยาเทพอรชุน เป็นภรรยา ได้ปลูกหอปลูกเรือนอยู่ด้วยกัน แล้วได้ให้ท้าวสมศักดิ์นก พาทรัพย์เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทข้างใน ได้พระราชทานเงินตราให้ทรัพย์เมื่อเวลาเข้าไปเฝ้าบ้าง ครั้นภายหลังทรัพย์กับนายรองชิดโกรธขึ้งขุ่นเคืองกัน นายรองชิดมาอยู่บ้านเดิมไปมาหาสู่ทรัพย์แต่ห่างๆ ภายหลังทรัพย์มีชู้กับพันสรสิทธิ์ปั่น ในกรมพระตำรวจ

แลเมื่อพระยาเทพอรชุนไม่ได้อยู่บ้าน ไปราชการมณฑลนครศรีธรรมราช นายรองชิดไปหาทรัพย์ จับได้พันสรสิทธิ์ปั่นชายชู้ในที่นอน เถียงไม่ได้ นายรองชิดเห็นว่าทรัพย์เคยได้เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทรงรู้จักอยู่ จึงนำความนั้นกราบทูบพระกรุณา จึงมีพระบรมราชโองการให้ลูกขุนปรับชายชู้ตามศักดินานายรองชิด เสร็จแล้วหญิงสมัครจะไปอยู่กับชายชู้ ชายชู้ก็สมัครจะรับไป เพราะได้เสียเบี้ยปรับมากแล้ว มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ทรัพย์เป็นบุตรขุนนางมีบรรดาศักดิ์ ไม่เป็นหญิงบุตรบิดามารดาสามัญเสมอราษฎร จะโปรดให้เป็นไปตามใจสมัครทรัพย์และชายชู้ของทรัพย์ไม่ได้ พระยาเทพอรชุนบิดาของทรัพย์ก็ไปราชการอยู่ไกล ภายหลังเกิดความเรื่องนี้ขึ้น พระยาเทพอรชุนจะว่าอย่างไรก็ยังไม่ทราบ

จึงโปรดให้หาตัวนายพิศาลหุ้มแพรในพระบวรราชวัง แลบุตรพระยาเทพอรชุนที่เป็นมหาดเล็กหลายนายมาแล้ว มีพระบรมราชโองการดำรัสถามว่า ทรัพย์บุตรพระยาเทพอรชุนนอกใจนายรองชิดผู้ผัว ยอมให้พันสรสิทธิ์ทำชู้จนนายรองชิดผู้ผัวจับได้ บัดนี้ชายชู้ก็เสียงเบี้ยปรับเสร็จแล้ว ตัวทรัพย์จะสมัครไปอยู่กับชายชู้ ญาติพี่น้องจะยอมให้หรือไม่ คาดเห็นว่า พระยาเทพอรชุนจะยอมยกให้ชายชู้หรือไม่ บุตรพระยาเทพอรชุนทุกนายกราบทูลพระกรุณาว่าไม่ยอม คาดใจพระยาเทพอรชุนว่าเห็นจะไม่ยอมให้ไปคบกับชายชู้ จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้มอบตัวทรัพย์ให้นายพิศาลพี่ชายของทรัพย์รับตัวทรัพย์ไปจำไว้คอยท่าพระยาเทพอรชุน การต่อไปข้างหน้าสุดแต่พระยาเทพอรชุนผู้บิดา

         อนึ่งกฎหมายเก่าว่าผัวเมียหย่าร้างกันแยกย้ายกันไป บุตรชายให้ได้แก่มารดา บุตรหญิงให้ได้แก่บิดา กฎหมายบทนี้มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า ให้ใช้ได้แต่ในบุตรของบิดามารดาที่เป็นศักดิ์ต่ำ ก็ถ้าว่าบุตรของบิดามารดาที่เป็นศักดิ์สูงศักดินากว่า ๔๐๐ ขึ้นไปให้ตามใจบิดา ถ้าบิดาไม่รับเลี้ยงขับไล่บุตรเสียด้วย บุตรจึงตกเป็นของมารดา ถ้าบิดารักชาติตระกูลยศศักดิ์อยู่ ไม่ยอมให้ไปกับมารดา บุตรก็ต้องเป็นของบิดาหมด ด้วยนัยนี้ ถ้าในบางที่บางคราว หญิงที่มีศักดิ์สูงจะไปได้ผัวไพร่มีบุตรเกิดด้วยกัน บุตรนั้นก็ต้องเป็นของมารดา หรือของตาแลญาติข้างมารดาหมดตามบรรดาศักดิ์ เมื่อตัดสินดังนี้ จะว่าเข้าข้างผู้ดีข่มขี่ไพร่เกินไปก็ตาม แต่เห็นว่าผู้ดีมีบรรดาศักดิ์เป็นอันมากจะเห็นชอบด้วย ถ้าจะไม่ตัดสินอย่างนั้น จะว่าไปตามกฎหมายเก่าก็จะเป็นที่เสียใจแก่ผู้มีบรรดาศักดิ์มากนัก ชักเรื่องว่ามาทั้งนี้จะให้เห็นหลักความที่ทรงพระราชดำริแล้วตัดสิน อย่างความบางเรื่องคล้ายๆ กับความที่ร้องฎีกาสองเรื่องนี้ คือผู้หญิงสมัครจะไปอยู่กับผู้ชาย ผู้ชายก็สมัครจะรับ แต่ญาติพี่น้องของหญิงเป็นผู้มีบรรดาศักดิ์สูงเขาไม่ยอมเลย ก็ในความเรื่องนั้นตามรูปความก็ควรจะทรงตัดสินให้ตามใจหญิงสมัคร เหมือนกับความฎีกาสองเรื่องนี้

ท่านทั้งหลายเป็นอันมาก ที่ไม่ได้มาพิจารณาการให้ละเอียด ก็ดูเหมือนจะเห็นไปอย่างนั้นด้วย แต่เมื่อพิเคราะห์ให้ละเอียดไป ระลึกดูการแต่หลังมา เห็นว่าหญิงในตระกูลนั้นไม่เคยตกไปเป็นภรรยาผัวที่ต่ำศักดิ์เสมอกับชายที่หญิงนั้นรักนั้นเลย ชายคนนั้นมักใหญ่ใฝ่สูงเอื้อมเข้าไปสมคบกับหญิงในตระกูลสูงเช่นนั้น เป็นที่แปลกใจคนในตระกูลนั้นทั้งสิ้น ถ้าจะตัดสินให้ตามใจหญิงแล้ว คนในตระกูลนั้นทั้งสิ้นเขาคงคิดว่าผู้ครองแผ่นดินลดศักดิ์ตระกูลเขาให้ต่ำไป ตัวอย่างจะเป็นที่เขาเสียใจไม่รู้หาย ถึงจะบังคับชายให้เสียเบี้ยละเมิดให้แก่เขาตามกฎหมาย อย่าว่าเลย ถึงจะเสียให้เขาสัก ๑๐๐ ชั่งเป็นเบี้ยปรับ เขาก็ลั่นวาจาว่าไม่ยอมยินดีรับเป็นอันขาดทีเดียว

อนึ่งถ้าจะตัดสินให้ชายหญิงคู่นั้นได้อยู่ด้วยกันตามสมัครรักใคร่กันแล้ว ผู้ตัดสินก็ดูเป็นโง่งมนักไม่รู้เท่ารู้ทันคนเสียคมเสียคาย ถูกหลอกถูกลวงกล้ำกรายเข้ามาในพระราชวัง โทษเสมอขบถแต่แผ่นดินเก่ามาจนแผ่นดินใหม่ ก็จะเป็นอันไม่รู้เท่าอ้ายขบถเสียการที่ปรากฏว่าไม่รู้เท่านั้น จะเป็นที่จะให้คนลามๆ ต่างๆ เดินทางนั้นมาลูยลายพระราชฐานต่อไปในภายหน้า จึงประกาศมาขอให้ผู้มีปัญญาตริตรองดู

แต่ความสามัญในโรงศาลในกรุงแลหัวเมืองทั้งปวง ให้ตุลาการพิจารณาสังเกตตระกูลหญิงตระกูลชาย แลเปรียบเทียบให้คล้ายกับกระแสพระราชดำริ ก็ซึ่งถือลัทธิว่าชายถูกต้องหญิงแล้ว ก็เชื่อว่าเป็นเมียนั้นใช้ไม่ได้ ให้บังคับตามใจสมัครในตระกูลหญิงที่ต่ำ แลตามใจบิดามารดาพี่น้องหญิงในตระกูลที่สูงศักดิ์ ตามบังคับนี้เถิด

วิสัยตระกูลต่ำมีแต่คิดจะหาเงินหาทอง ย่อมข่มขืนบุตรหลานของตัวแล้วเอาไปขายไปให้ ให้ไปต้องทนยากอยู่ในที่ที่ตัวจะได้เงินได้ทองมาก แต่บุตรไม่ควรที่จะต้องยากเพราะบิดามารดา จึงต้องตัดสินให้ตามใจบุตรสมัคร ประการหนึ่ง หญิงก็ไม่ควรจะสึกหรอมากไปหลายแห่ง ในตระกูลต่ำ ถ้าตัดสินให้เป็นของบิดามารดาแล้ว ก็จะทำให้สึกหรอมากไปดังเช่นเป็นในความฎีกาสองเรื่องนี้ ก็ในตระกูลสูงโดยว่าหญิงพลัดไปสึกหรอในสถานที่ต่ำ เป็นที่อับอายขายหน้าแก่ญาติพี่น้อง ก็เมื่อคืนมาให้ญาติพี่น้องถึงต้องสึกหรอเป็นสองซ้ำสามซ้ำ ญาติพี่น้องทั้งปวงคงจะไม่ยอมให้ไปสึกหรอในตระกูลต่ำ โดยจะต้องสึกหรอเขาคงจะให้ไปสึกหรอในที่มีศักดิ์สูงเป็นที่ยำเยงกลัวของคนเป็นอันมาก คนทั้งปวงเกรงใจไม่ออกปากพูดถึงความเรื่องนั้นได้ ก็เป็นอันแก้อายให้หายไปโดยลำดับ เพราะจะทำคนทั้งหลายให้ลืมความนั้นเสีย

ประกาศมา ณ วันจันทร์ เดือนยี่ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีฉลูสัปตศก ศักราช ๑๒๒๗ หรือเป็นวันที่ ๕๓๓๒ ในรัชกาลปัตยุบันนี้

 โปรดติดตามอ่านต่อได้ใน........ตอนที่ 2

*ถ้าชอบบทความนี้ คุณสามารถให้กำลังใจ ด้วยการแสดงความคิดเห็น หรือร่วม Vote กันได้นะครับ




 

Create Date : 28 ตุลาคม 2555    
Last Update : 3 ธันวาคม 2555 0:03:05 น.
Counter : 4354 Pageviews.  

ปางเมื่อพระองค์ ปะระมะพุทธ ชัยชนะของพระพุทธเจ้า ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้

     

          เมื่อหลายวันก่อน มีลูกค้าท่านหนึ่งชื่อคุณเจ ได้ Post VDO จาก  Facebook   ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุทธ เป็นบทสรภัญญะประกอบดนตรี ซึ่งจัดทำโดยวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร ภายใต้โครงการชนะตนให้พ้นพรรษา ร่วมเจริญภาวนา บทสรภัญญะแห่งแผ่นดิน และซึ่งถ่ายทอดน้ำเสียงโดย ปาน (ธนพร แวกประยูร)  ในความรู้สึกของผู้เขียนนั้น เธอช่างถ่ายทอดได้ไพเราะจับใจ เมื่อฟังแล้วเกิดความสงบเย็น ท่านทั้งหลายเมื่อได้ฟังแล้วคงมีความรู้สึก เช่นเดียวกับผู้เขียน เหมาะสมกับที่เธอเป็นนักร้องแนวหน้าของเมืองไทยและเป็นบุคคลตัวอย่างที่ควรยกย่องเป็นแบบอย่างและทำให้ผู้เขียนเกิดแรงบันดาลใจในการเผยแพร่

                การตรัสรู้ธรรมของพุทธเจ้า ครบ ๒,๖๐๐ ปี หรือ เป็น ปี พุทธชยันตรี  ซึ่งมีความหมายว่า การเฉลิมฉลองของชาวพุทธ ในชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีเหนือกิเลสและมารทั้งปวงด้วยพระองค์เองจนบรรลุเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น และ ผู้เบิกบานด้วยธรรม โดยมีความหมายจากคำ คำ คือคำว่า ชยันตรี ซึ่งแปลว่า การเฉลิมฉลองชัยชนะ และคำว่าพุทธะ แปลว่า การรู้ ตื่น และเบิกบาน นั้นเอง

                พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ขณะที่พระชนมายุ ๓๕ พรรษา แล้วเมตตาสั่งสอนเผยแผ่จนเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อพระชนมายุ ๘๐  พรรษา แล้วจึงนับ พ.ศ. บัดนี้ พ.ศ. ๒๕๕๕  บวก ๔๕ ปี ที่ทรงสั่งสอนเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังตรัสรู้จึงครบ ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ เกิดพระพุทธศาสนามีพระรัตนตรัยครบองค์ทั้ง พระพุทธ พระธรรมและ พระสงฆ์  นั่นก็คือความหมายของ พุทธชยันตรี

                 สำหรับบทสรภัญญะ ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุทธ  หรือ บทพุทธชัยมงคลคาถา  ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึง ชัยชนะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เขียนเชื่อว่ามีหลายท่านคงไม่ทราบว่าแท้ที่จริงแล้ว บทสรภัญญะที่เราเคยสวดมาช้านานตั้งแต่สมัยเป็นเด็กประถมนั้น  เป็น บทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่ รัชกาลที่ ๖   

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖

ด้านหน้าธงชัยเฉลิมพล

ด้านหลังธงชัยเฉลิมพล

                พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแปลพระคาถาพาหุง บทที่ ๑ เป็นภาษาไทยในรูปแบบฉันท์ ไว้ให้กองทัพไทยสวดก่อนร่วมรบกับฝ่ายสัมพันธมิตรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๑ ในการนี้ ได้ทรงดัดแปลงท้ายพระคาถาจากที่ว่า "ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ เป็น ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะสิทธิ นิจจัง"  ทั้งนี้ยังได้โปรดให้จารึกพระคาถาที่ทรงดัดแปลงนี้ลงหน้าและหลังธงชัยเฉลิมพลของกองทหารอาสาในสงครามครั้งนี้ด้วย  ท่านทั้งหลายคงได้เห็นพระอัจฉริยภาพของพระองค์ และความงดงามทางภาษา จากบทสรภัญญะ ดังนี้

paramapot.jpg v

ถอดความสรภัญญะพระราชนิพนธ์

“........เมื่อพระบรมโพธิสัตว์ ทรงมีพระหทัยแน่วแน่อธิษฐานแลกด้วยชีวิต เพื่อปรารถนาบรรลุปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสดาเอกของโลกทรงประทับนั่งอยู่ในสมาธิบัลลังก์ ณ ควงต้นพระศรีมหาโพธิ์......”

“..........ครั้งนั้นพญามาราธิราชซึ่งคอยติดตามขัดขวางพระมหาบุรุษจึงประชุมโยธามาร พญามารเนรมิตองค์ให้มีแขนนับพันพร้อมด้วยอาวุธนานาชนิดท้าวเธอทรงประทับช้างคีรีเมขล์อันเหี้ยมโหดเป็นพาหนะ มีบัญชีให้กองทัพมารกรีทาทัพเข้าล้อมทั่วมหาโพธิมณฑลสถานที่พระมหาบุรุษทรงประทับอยู่....”

“.....กองทัพมารพยายามคุกคามพระมหาบุรุษด้วยประการต่าง ๆ ทั้งบันดาลห่าอาวุธ ห่าฝนเพลิง ห่าฝนขี้เถา ห่าฝนทราย ห่าฝนศิลา ปานประหนึ่งพระหมาสุมทรไหลบ่าถาโถมราวีพระองค์ แต่อาวุธเหล่านั้นมิอาจทำอันตรายองค์องค์ได้เลย...”

“....ด้วยทรงระลึกถึงพระบารมี ๑๐ ประการที่พระองค์สั่งสมมาทรงตั้งพระปณิธานขอให้มีชัยชนะแก่กองทัพมารเหล่านั้น พร้อมทั้งอธิษฐานขอให้ผืนปฐพีเป็นสักขีพยานในพระบารมี เทพนารีได้ทูลขอแสดงประจักษ์พยานบารมี ด้วยการหลั่งน้ำทักษิโณทกแห่งพระมหาบุรุษราช ที่เคยสั่งสมมาออกจากมวยเกศาพลันกระแสชลก็หลั่งไหลออกมา ดั่งท่อธารามหรรณพมากประมาณมิได้ มหาวารีเข้าท่วมท้นทำลายกองทัพเสนาพญามาร ให้พ่ายแพ้สิ้นไปด้วยพระบารมี....”

“......ด้วยเดชะบารมีทั้งสิบประการแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่สั่งสมอบรมบ่มพระโพธิญาณจนเต็มบริบูรณ์ พระจอมมุนีทรงเอาชนะเหล่าพญามารได้ด้วยธรรมวิธี อันมีทานบารมี เป็นต้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมนจิตระลึกถึงพระบารมีแห่งพระองค์ในชัยชนะครั้งนั้น....”

“...ด้วยสัจจะกิริยา ที่ข้าพเจ้าได้นอบน้อมและระลึกถึงพระรัตนตรัยทั้งสามประการ อันได้แก่พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ขอจงบันดาลให้พสกนิกรชาวสยามทุกหมู่เหล่า จงประสบสุขสวัสดี มีชัยชนะต่ออริราชศัตรูในทุกเมื่อ...”

“...และถึงแม้ว่าศัตรูผู้รุกรานนั้น จะมีแสนยานุภาพ มีพลังดังกองทัพของพญามาร ประเทศไทยก็จักมีชัยชนะเหนือศัตรูและเหตุการณ์อันเลวร้านได้ ดุจดังองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีชัยชนะเหนือพญามารสืบไป....”

                ในเรื่องของชัยชนะของพระพุทธเจ้านั้น  ผู้เขียนเห็นว่าควรจะกล่าวถึง หนังสือ ปฐมสมโพธิ ฉบับที่พิมพ์แจกในงานปลงศพนางจันทร์ ฉิมไพบูลย์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘  ซึ่งเป็นบทพระนิพนธ์ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโสรส  ในบทมารวิชัยปริวัตต์ ปริจเฉทที่ ๙  ดังนี้

 

                พระยามารตนนี้เคยผจญพระมหาบุรุษมาครั้งหนึ่งแล้ว คือ เมื่อคราวเสด็จออกจากเมือง แต่คราวนี้เป็นการผจญชิงชัยกับพระมหาบุรุษยิ่งใหญ่กว่าทุกคราว กำลังพลที่พระยามารยกมาครั้งนี้มืดฟ้ามัวดิน ทั้งบนเวหา บนดิน และใต้บาดาลขนาดเหล่าเทพยดา และท้าวมหาพรหมก็ยังกลัวพระยามาร  

                ปฐมสมโพธิได้พรรณาภาพเหล่าพลมารตอนนี้ไว้ว่า ".........บางจำพวกก็หน้าแดงกายเขียว บางจำพวกก็หน้าเขียวกายแดง ลางเหล่าจำแลงกายขาวหน้าเหลือง.......บางหมู่กายลายพร้อยหน้าดำ......ลางพวกกายท่อนล่างเป็นนาค กายท่อนต่ำหลากเป็นมนุษย์..."

                ส่วนตัวพระยามารเนรมิตพาหาคือแขนซ้ายและขวาข้างละหนึ่งพันแขน แต่ละแขนถืออาวุธต่าง ๆ เช่น ดาบ หอก ธนู ศร โตมร (หอกซัด) จักรสังข์ อังกัส (ของ้าวเหล็ก) คทา ก้อนศิลา หลาว เหล็ก ครกเหล็ก ขวานถาก ขวานผ่า ตรีศูล (หลาวสามง่าม) ฯลฯ

              เหตุที่พระยามารมาผจญพระมหาบุรุษทุกครั้ง เพราะพระยามารมีนิสัยไม่อยากเห็นใครดีเกินหน้าตน เมื่อพระมหาบุรุษจะทรงพยายามเพื่อเป็นคนดีที่สุดในโลก จึงขัดขวางไว้ แต่ก็พ่ายแพ้พระมหาบุรุษทุกครั้ง ครั้งนี้เมื่อเริ่มยกแรกก็แพ้ แพ้แล้วใช้เล่ห์ คือ กล่าวตู่พระมหาบุรุษว่ามายึดเอาโพธิบัลลังก์ คือ ตรงที่พระมหาบุรุษประทับนั่ง ซึ่งพระยามารตู่เป็นที่ของตน พระยามารอ้างพยานบุคคลคือพวกพ้องของตน ฝ่ายพระมหาบุรุษทรงมองหาใครเป็นพยายไม่ได้ เทพยดาเหล่าก็หนีกันหมด จึงทรงเหยียดพระหัตถ์ขวาออกจากชายจีวร แล้วทรงชี้พระดัชนีลงยังพื้นพระธรณีพระนางธรณีผุดขึ้นตอนนี้เพื่อเป็นพยาน

 

 

ปฐมสมโพธิกล่าวไว้ว่า "พระธรณีก็มิอาจดำรงกายอยู่ได้...ก็อุบัติบันดาลเป็นรูปนารี ผุดขึ้นจากพื้นดินปฐพี...." แล้วกล่าวเป็นพยานมหาบุรุษ พร้อมกับบีบน้ำออกจากมวยผม น้ำนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า "ทักษิโณทก" อันได้แก่ น้ำที่พระมหาบุรุษทรงกรวดทุกครั้งที่ทรงบำเพ็ญบุญบารมีแต่ชาติปางก่อนเป็นลำดับมา ซึ่งแม่พระธรณีเก็บไว้ที่มวยผม เมื่อบางบีบก็หลั่งไหลออกมา

ปฐมสมโพธิกล่าวว่า "เป็นท่อธารมหามหรรณพ นองท่วมไปในประเทศทั้งปวง ประดุจห้วงมหาสาครสมุทร....หมู่มารเสนาทั้งหลายมิอาจดำรงกายอยู่ได้ ก็ลอยตามกระแสน้ำ ปลาสนาการไปสิ้นส่วนคิรีเมขลคชินทร ที่นั่งทรงองค์พระยาวัสสวดี ก็มีบาทาอันพลาด มิอาจตั้งกายอยู่ได้ก็ลอยตามชลธารไปตราบเท่าถึงมหาสาคร ....พระยามารก็แพ้ไปในที่สุด

            บารมีนั้นคือความดี ที่พระมหาบุรุษท่านทรงรำพึงว่า ชีวิต ดวงหทัย นัยน์เนตรที่ท่านทรงบริจาคให้เป็นกุศลผลทานมาก่อนนั้น ถ้าจะเก็บรวมไว้ก็จะมากกว่าผลาผลไม้ในป่า มากกว่าดวงดาราในท้องฟ้า  ความดีที่ทำไว้นั้นไม่หนีไปไหน ถึงใครไม่เห็น ฟ้าดินก็เห็น ดินคือแม่พระธรณี

         ทั้งหมดที่กล่าวมา คือชัยชนะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงต่อสู้เพียงลำพังพระองค์เดียว  ทรงอ้างถึงพระบารมี ที่บำเพ็ญมาแล้วหาประมาณมิได้  และในวาระมหามงคลแห่งการเฉลิมฉลอง การตรัสรู้ธรรมครั้งยิ่งใหญ่ครบ ๒,๖๐๐ ปี ได้เวียนมาบรรจบ พุทธชยันตรีนี้ จึงเหมือนดั่งการปลุกตื่น ให้เราเหล่าชาวพุทธ น้อมระลึกบูชาชัยชนะแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการปฏิบัติบูชาเพื่อมีชัยชนะต่อกิเลสมารทั้งปวง สมดังคำอธิษฐานที่ได้จารึกไว้ในบทสรภัญญะอันไพเราะล้ำค่ายิ่งว่า

                    “ถึงแม้จะมีอริวิเศษ         พละเดชะเทียมมาร

                     ขอไทยผจญพิชิตตะผลาญ  อริแม้นมุนินทร......”   สาธุ

 

***** ถ้าชอบบทความนี้ คุณสามารถให้กำลังใจด้วยการร่วม  Vote นะครับ****

เอกสารอ้างอิง

-      แผ่นพับโครงการชนะตนให้พ้นพรรษา ร่วมเจริญภาวนา บทสรภัญญะแห่งแผ่นดิน

-      ซีดี บทสรภัญญะ ปางเมื่อพระองค์ปะระมะพุทธ เรียบเรียงโดย วงศ์วริศ อาริยวัฒน์  CLIMAXSOUND

    ศิลปิน ธนพร แวกประยูร (จำหน่ายในราคา ๑๔๙ บาท ณ ร้านค้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร)

-     สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโสรส  (2478) .ปฐมสมโพธิ .กรุงเทพฯ :  โสภณพิพรรฒธนากร

-     ประวัติและบทสวดทำนองสรภัญญะ สืบค้นเมื่อ 29 กันยายน 2555 จาก วิกิพีเดีย

-     เหม เวชกร  (2539) .สมุดภาพพุทธประวัติ.กรุงเทพฯ : ธรรมสภา

  




 

Create Date : 29 กันยายน 2555    
Last Update : 30 กันยายน 2555 20:44:11 น.
Counter : 5996 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

nuttavong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Blog รักสยาม : เกิดขึ้นจากผู้เขียนเป็นนักอ่านและมีความหลงไหลในเสน่ห์ของหนังสือเก่า ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีตตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษของเรา ที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร และทุก ๆ ตัวอักษรได้บอกเล่าเรื่องราวของสยามบ้านเมืองของเราเมื่อครั้งอดีต และมีความเชื่อว่า "อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน" หนังสือเก่าจึงเต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายแตกต่างกันไป เมื่อเกิดชำรุดเสียหายมีหลายคนไม่เห็นคุณค่าปล่อยให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ลูกหลานของเราในวันข้างหน้าอาจลืมเลือนความเป็นชาติของเรา และอาจหลงลืมความดีงามของบรรพบุรุษที่ได้สร้างรากฐานที่มั่นคงไว้

ผู้เขียนยอมรับว่าการเขียนบทความ ณ ที่นี้ได้เรียบเรียงจากหนังสือเก่าอันทรงคุณค่าหลายเล่ม ด้วยภูมิรู้ของตนเองเท่าที่มีอยู่น้อยนิด หากผิดพลาดประการใด
ผู้เขียนขอน้อมรับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วยความยินดี และหากท่านจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความรู้ก็จะเป็นประโยชน์สืบต่อไปในภายหน้า
Friends' blogs
[Add nuttavong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.