วันวานในสยาม...ยามนั้นและยามนี้

InSiam : From Time to Time



Group Blog
 
All blogs
 
การเก็บรักษาพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ในราชวงศ์จักรี ตอนที่ 2 หอพระนาก

หอพระนาก 

 

           เป็นอีกสถานที่หนึ่งในการเก็บรักษาพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์จักรี ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพระอุโบสถ ตรงมุมระเบียบวัดด้านตะวันตก และด้านเหนือบรรจบกัน  ชื่อหอพระนาก มาจากแต่เดิมสถานที่แห่งนี้ก่อนที่จะใช้เป็นสถานที่เก็บพระอัฐิของเจ้านายในราชวงศ์ นั้น แต่เดิมเคยเป็นที่ประดิษฐานพระนาก ซึ่งอัญเชิญมาจากกรุงศรีอยุธยาเลยเรียกกันว่า “หอพระนาก”  มาจนถึงปัจจุบัน

 

ประตูทางเข้าสู่"หอพระนาก"

          การดูแลรักษาพระอัฐิเจ้านายชั้น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล กรมพระราชวังบวรสถานพิมุขและพระราชวงศ์ฝ่ายหน้าที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานวังให้เสด็จออกวังไปแล้ว เมื่อทรงสิ้นพระชนม์ลงและได้รับพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ก็จะเก็บพระอัฐิอัญเชิญไว้ ณ วังของเจ้านายแต่ละพระองค์  พระอัฐิที่จะอัญเชิญเข้าไปเก็บไว้ในพระบรมมหาราชวังก็เฉพาะแต่เจ้านายฝ่ายใน สำหรับเจ้านายฝ่ายหน้าที่มีวังเป็นที่หลวง ทายาทที่ยังมีอยู่หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นว่ายังไม่สมควรที่จะได้ครอบครองวังนั้น อาจจะพระราชทานวังนั้นให้กับเจ้านายพระองค์อื่น หรือราชสกุลอื่น ในกรณีนี้ ถ้าพระทายาทไม่สามารถจะเชิญพระอัฐิไปไว้ในที่อันควรแก่พระเกียรติได้ จะขอถวายพระอัฐิไว้ภายใต้พระบารมีพระมหากษัตริย์ ก็จะทรงรับไว้และโปรดให้เก็บรักษาไว้ในหอพระนาก ถึงคราวเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศพระราชทานก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานไปเชิญพระโกศทรงพระอัฐิตามวังเจ้านายต่าง ๆ เข้ามาบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอพระนากนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระสงฆ์สดัปกรณ์ผ้าคู่อุทิศส่วนกุศลพระราชทานทำนองเดียวกับที่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายสมเด็จพระบรมราชบุพการีและเจ้านายชั้นสูงในพระราชมณเฑียร  บางครั้งเมื่ออัญเชิญพระอัฐิของเจ้านายจากวังต่าง ๆ มาเพื่อบำเพ็ญพระราชกุศลแล้ว ทายาทหรือพระประยูรญาติก็ไม่ขอรับกลับ โดยขอถวายไว้ภายในพระบารมีพระมหากษัตริย์ก็มี พระอัฐิในหอพระนากจึงมากขึ้นมากขึ้น พระทายาทบางพระองค์น้อมถวายแต่พระอัฐิไว้ภายใต้พระบารมี แต่ขอรับพระราชทานโกศไว้ไม่ถวายพร้อมพระอัฐิก็มี

หมู่พระโกศมองจากประตูทางเข้าด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

             สำหรับเรื่องโกศทรงพระอัฐินั้น ตามธรรมเนียมพระมหากษัตริย์จะไม่ได้พระราชทาน เมื่อทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและพระราชทานเพลิงให้เป็นงานหลวงเท่านั้น พระอัฐิเป็นเรื่องที่พระทายาทหรือพระประยูรญาติจะต้องจัดเตรียมโกศทรงพระอัฐิเอง จะทำด้วยทองคำหรือโลหะอื่นใดสุดแล้วแต่ฐานะ ประกอบกับความภักดีของทายาท หากเป็นตามราชประเพณีกำหนดไว้เพียงว่า เจ้านายพระยศชั้นพระองค์เจ้าลูกหลวง ทรงโกศทองคำได้ พระองค์เจ้าต่างกรมชั้นสมเด็จกรมพระยาขึ้นไป ทรงพระโกศทองคำลงยาได้ ดังนั้นถ้าเจ้านายพระองค์ที่สิ้นพระชนม์ทรงมีพระมรดกตกทอดมาก หรือพระเกียรติยศสูงก็มักจะไม่มีปัญหาในการเก็บรักษาพระอัฐิ แต่หากเจ้านายที่ยากจนก็มีมาก ในการเก็บรักษาพระอัฐิทายาทไม่มีพระโกศถวายทรงพระอัฐิเจ้าพนักงานภูษามาลาก็จะไม่ทราบว่าจะทำอย่างไร ก็ต้องถวายผ้าห่อหุ้มไว้ เวลาเชิญเข้าสู่ที่ประดิษฐานในหอพระนาก ก็ต้องประดิษฐานไว้ในลักษณะเป็นห่อจารึกอักษรพระนามลงในใบลานผูกไว้ พระอัฐิในหอพระนากที่ไม่มีโกศมีเป็นจำนวนมาก

 

 

 

 

หมู่พระโกศซึ่งประดิษฐานอยู่ในซุ้มคู่หา ด้านทิศตะวันตกในหอพระนาก

 

               เมื่อคราวที่ฉลองพระนครครบ 100 ปี พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จัดโกศทรงพระอัฐิถวาย เป็นโกศที่ทำด้วยโลหะชนิดใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดแต่ว่ามีพระโกศทรงครบแล้วทุกพระองค์ที่สิ้นพระชนม์แต่เจ้านายชั้นพระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าในแต่ละรัชกาลมีเป็นจำนวนมาก เมื่อถึงคราวใกล้ฉลองพระนครครบ 150 ปี ในรัชกาลที่ 7 ก็มีพระอัฐิเป็นจำนวนมากที่ไม่มีโกศ  ทั้งเจ้านายฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง และเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวร (คือพระราชโอรส พระราชธิดาในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และกรมราชวังบวรสถานพิมุข ) ซึ่งแต่เดิมจะถูกเก็บรักษาไว้ ณ ท้ายจรนำในพระอุโบสถวัดชนะสงคราม มีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นพระอัฐิเจ้านาย ณ วัดชนะสงครามและหอพระนาก ด้วยพระเองว่าพระอัฐิเจ้านายจำนวนมากไม่มีพระโกศทรงอยู่มากก็ทรงสลดพระราชหฤทัย จึงมีพระบรมราชโองการสั่งประมาณ พ.ศ. 2473 หรือ 2474 ซึ่งใกล้เวลางานฉลองพระนครครบ 150 ปี ให้จัดทำโกศของหลวงถวายทรงพระอัฐิให้ครบถ้วนทั้งเจ้านายฝ่ายพระบรมมหาราชวังและฝ่ายพระราชวังบวร และครั้งนั้นโปรดให้บูรณะปฎิสังขรณ์หอพระนาก โดยให้สร้างวิมานประดิษฐานพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ 1 – 3 ข้างหน้าพระวิมานมีพระเบญจาแบบย่อเก็จด้านหน้า ด้านหลังติดผนัง อยู่ภายใต้พระวิมาน สำหรับเป็นที่ประดิษฐานพระอัฐิพระราชวงศ์ ครั้งนั้นทรงเป็นห่วงเกรงว่าจะไม่เรียบร้อยสมดังพระราชหฤทัย จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิ์วัดนวิศิษฏ์ เป็นพระธุระอำนวยการทั้งการสร้างที่ประดิษฐาน และการเชิญพระบรมอัฐิ พระอัฐิ ขึ้นจัดตั้งบนพระวิมานและพระเบญจา

              ขอย้อนไปเรื่องสร้างพระโกศถวายพระอัฐิที่ยังไม่มีพระโกศทรง ตามกระแสพระบรมราชโองการล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 นั้น กระทรวงวังในครั้งนั้น ขอพระราชทานสร้างเป็นพระโกศดีบุกปิดทอง โดยให้เหตุผลว่า ถ้าสร้างด้วยทองคำทั้งองค์นั้น พระโกศองค์หนึ่ง ๆ ใช้ทองคำหลายกิโล และไม่ใช่สร้างขึ้นเพียงองค์หรือสององค์ ต้องสร้างขึ้นทั้งสำหรับเจ้านายในพระบรมมหาราชวัง และเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวร เป็นจำนวนมากกว่า 100 โกศ เป็นการสิ้นเปลืองพระราชทรัพย์มากนัก จะใช้โลหะที่ราคาถูกลงบ้าง เช่น เงิน กาไหล่ทอง ก็ไม่เหมาะสมอีกเพราะเมื่อเวลาล่วงเลยไปแล้วผิวเงินก็จะออกสีดำ ทำให้ทองที่ชุบไว้หมดสีทองกลายเป็นดำดูแล้วไม่งาม ถ้าใช้ดีบุกปิดทองจะยั่งยืนอยู่ได้นานปี ทำนองเดียวการทำช่อฟ้าใบระกาที่ปิดทอง อนึ่งในครั้งนั้นแร่ดีบุกนำมาใช้ทำหลังคาพระมหาปราสาทราชมณเฑียรมาแต่โบราณฉะนั้น หากนำมาทำพระโกศบุกย่อมไม่ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติแต่อย่างใด พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นชอบ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้กระทรวงวังจัดทำพระโกศดีบุกปิดทองถวาย  พระบรมอัฐิ พระอัฐิ ที่ประดิษฐานอยู่ ณ หอพระนาก ในปัจจุบัน มี 261 พระโกศ ดังมีพระนามาภิไธยและพระนามดังต่อไปนี้

 

บนพระวิมาน จำนวน 4 พระโกศ

 

1.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท

2.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์

3.สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพ

4.พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระเบญจาชั้นที่ 1 จำนวน 15 พระโกศ

 

กรมพระราชวังบวรประดิษฐานบนกี๋

 

1.กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข (เจ้าฟ้าทองอิน)

2.กรมพระราชวังบวรวิชัยชาญ (พระองค์เจ้าชายยอดยิ่งยศ)

พระราชวงศ์ชั้นปฐมวงศ์

3.พระชนก ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

4.พระชนนี ในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี

(อาจแบ่งจากพระอัฐิที่ประดิษฐานในหอพระธาตุมณเฑียร มาไว้คู่กับพระสวามีในหอพระนากนี้)

5.กรมหลวงนรินทรเทวี (พระองค์เจ้าหญิงกุ ต้นราชสกุล นรินทรกุล)

6.เจ้าฟ้ากรมหลวงจักรเจษฏา (ต้นราชสกุลเจษฏางกูร)

7.เจ้าฟ้ากรมขุนอนัคฆนารี  (พระราชธิดาสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์)

8.กรมขุนรามินทรสุดา (พระธิดาในพระเจ้ารามณรงค์)

9.เจ้าฟ้ากรมกรมหลวงเทพหริรักษ์ (เจ้าฟ้าต้น ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ต้นราชสกุลเทพหัสดิน)

10.เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี (เจ้าฟ้าชายจุ้ย ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ต้นราชสกุล มนตรีกุล)

11.เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ (เจ้าฟ้าชายเกศ ในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ ต้นราชสกุล อิศรางกูร)

12.เจ้าฟ้ากุลฑลทิพยวดี (พระราชธิดาในรัชกาลที่ 1 พระมารดาเป็นนัดดาเจ้านครเวียงจันทร์)

13.เจ้าฟ้าอาภรณ์ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 2 และเจ้าฟ้ากุลฑล ต้นราชสกุล อาภรณกุล)

14.สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 2 และเจ้าฟ้ากุลฑล ต้นราชสกุล มาลากุล)

15.เจ้าฟ้าชายปิ๋ว (พระราชโอรสรัชกาลที่ 2 และเจ้าฟ้ากุลฑล )

 

 

 

พระเบญจาชั้นที่ 2 จำนวน 23 พระโกศ พระราชโอรส-ธิดา

 

ในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช)

 

 1.กรมหมื่นอินทรพิพิธ (พระองค์เจ้าชายทับทิม ต้นราชสกุล อินทรางกูร)

 2.พระองค์เจ้าหญิงเกสร

 3.พระองค์เจ้าหญิงดวงสุดา

 4.กรมหมื่นณรงคหิริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายดวงจักร ต้นราชสกุล ดวงจักร)

5.พระองค์เจ้าหญิงสุด

6.กรมหมื่นศรีสุเทพ (พระองค์เจ้าชายดารากร ต้นราชสกุล ดารากร)

7.พระองค์เจ้าหญิงนุ่ม

8.กรมหลวงเทพพลภักดิ์ (พระองค์เจ้าชายอภัยทัต)

9.สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส (พระองค์เจ้าชายวาสุกรี)

10.สมเด็จกรมพระยาเดชาดิศร  (พระองค์เจ้าชายมั่ง พระราชโอรสในรัชกาลที่ 2 ต้นราชสกุล เดชาติวงศ์)

11.สมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ (พระองค์เจ้าชายฤกษ์ พระราชโอรสสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหา

     เสนานุรักษ์)

12.กรมพระรามอิศเรศ (พระองค์เจ้าชายสุริยา ต้นราชสกุล สุริยกุล)

13.พระองค์เจ้าหญิงมณี

14.พระองค์เจ้าหญิงอุบล

15.กรมหมื่นนเรนทร์บริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายเจ่ง พระโอรสกรมหลวงนรินทรเทวี)

16.กรมหมื่นไกรสรวิชิต (พระองค์เจ้าชายสุทัศน์ ต้นราชสกุล สุทัศน์)

17.พระองค์เจ้าหญิงมณฑา

18.พระองค์เจ้าหญิงธิดา

19.กรมหมื่นนรินทรเทพ (พระองค์เจ้าชายฉิม พระโอรสกรมหลวงนรินทรเทวี)

20.กรมหมื่นสุรินทรรักษ์ (พระองค์เจ้าชายฉัตร์ ต้นราชสกุล ฉัตรกุล)

21.พระองค์เจ้าหญิงพลับ (พระราชธิดาลำดับที่ 15 ในรัชกาลที่ 1)

22.กรมหลวงพิเศษศรีสวัสดิสุขวัฒนวิไชย (พระองค์เจ้าชายสุริยวงศ์)

23.พระองค์เจ้าหญิงฉิม

 

 

 

พระเบญจาชั้นที่ 3 จำนวน 43 พระโกศ

 

พระราชโอรส-ธิดา ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

 

1.พระองค์เจ้าหญิงสายสมร

2.กรมหลวงสรรพศิลป์ปรีชา (พระองค์เจ้าชายชุมแสง ต้นราชสกุล ชุมแสง)

3.กรมขุนสถิตย์สถาพร (พระองค์เจ้าชายมรกฎ ต้นราชสกุลมรกฎ)

4.กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ (พระองค์เจ้าชายกปิตถา ต้นราชกุล กปิตถา)

5.พระองค์เจ้าหญิงนิ่มนวล

6.กรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์  (พระองค์เจ้าชายทินกร ต้นราชสกุล ทินกร)

7.กรมหมื่นถาวรยศ (พระองค์เจ้าชายขัตติยา)

8.พระองค์เจ้าหญิงประภา

9.พระองค์เจ้าหญิงหรุ่น

10.กรมหมื่นสุรินทรธิบดี (พระองค์เจ้าชายกล้วยไม้ ต้นราชสกุล กล้วยไม้)

11. พระองค์เจ้าหญิงน้อย

12. พระองค์เจ้าหญิงรสคนธ์

13. กรมพระพิพิธโภคภูเบนทร์ (พระองค์เจ้าชายพนมวัน ต้นราชสกุล พนมวัน)

14. กรมพระพิทักษ์เทเวศร (พระองค์เจ้าชายกุญชร ต้นราชสกุล กุญชร)

15. กรมหลวงวงศาธิราชสนิท (พระองค์เจ้าชายนวม ต้นราชสกุล สนิทวงศ์)

16. กรมขุนกัลยาสุนทร (พระองค์เจ้าหญิงลำภู)

17. กรมหลวงวรศักดาพิศาล (พระองค์เจ้าชายอรุณวงศ์ ต้นราชสกุล อรุณวงศ์)

18. พระองค์เจ้าหญิงแม้นเขียน

19.พระองค์เจ้าหญิงส้มจีน

ฯลฯ




Create Date : 27 พฤษภาคม 2555
Last Update : 27 พฤษภาคม 2555 17:32:24 น. 0 comments
Counter : 6009 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nuttavong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Blog รักสยาม : เกิดขึ้นจากผู้เขียนเป็นนักอ่านและมีความหลงไหลในเสน่ห์ของหนังสือเก่า ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีตตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษของเรา ที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร และทุก ๆ ตัวอักษรได้บอกเล่าเรื่องราวของสยามบ้านเมืองของเราเมื่อครั้งอดีต และมีความเชื่อว่า "อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน" หนังสือเก่าจึงเต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายแตกต่างกันไป เมื่อเกิดชำรุดเสียหายมีหลายคนไม่เห็นคุณค่าปล่อยให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ลูกหลานของเราในวันข้างหน้าอาจลืมเลือนความเป็นชาติของเรา และอาจหลงลืมความดีงามของบรรพบุรุษที่ได้สร้างรากฐานที่มั่นคงไว้

ผู้เขียนยอมรับว่าการเขียนบทความ ณ ที่นี้ได้เรียบเรียงจากหนังสือเก่าอันทรงคุณค่าหลายเล่ม ด้วยภูมิรู้ของตนเองเท่าที่มีอยู่น้อยนิด หากผิดพลาดประการใด
ผู้เขียนขอน้อมรับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วยความยินดี และหากท่านจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความรู้ก็จะเป็นประโยชน์สืบต่อไปในภายหน้า
Friends' blogs
[Add nuttavong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.