วันวานในสยาม...ยามนั้นและยามนี้

InSiam : From Time to Time



Group Blog
 
All blogs
 
แบบเรียนสยาม – แบบเรียนในวันเยาว์ (แบบเรียนจินดามณี -แบบเรียนหลวง)


แบบเรียนจินดามณี -แบบเรียนหลวง


                แบบเรียนของสยามบ้านเรานั้น มีใช้กันมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ถึง กรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ได้แก่แบบเรียน  จิดามณี ของ พระโหราธิบดี กวีในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช จินดามณีที่ตกทอดเป็นหลักฐานมาถึงปัจจุบัน จากต้นฉบับที่ค้นพบในหอสมุดแห่งชาติ ปรากฏว่ามีหลายฉบับด้วยกัน แต่มีข้อความแตกต่างกันไปบ้าง ซึ่งน่าจะสันนิษฐานได้ว่า สมัยอยุธยายังไม่มีการพิมพ์ ผู้เรียนในสมัยนั้นจึงต้องใช้วิธีการคัดลอก เมื่อคัดลอกต่อๆ กันเป็นทอด ๆ ก็ย่อมมีความคลาดเคลื่อนไปจากต้นฉบับเดิมอยู่บ้าง



การเรียนในสมัยก่อนจะอยู่ภายในพระบรมมหาราชวัง และ วัด


                ประเภทของหนังสือจิดนามณี เท่าที่ค้นได้ในหอสมุดแห่งชาติ แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ จินดามณีฉบับความแปลก จินดามณีฉบับความพ้อง จินดามณีฉบับพระนิพนธ์กรมหลวงวงษาธิราชสนิท  และจินดามณีฉบับหมอบรัดเล



original_Cintamani01-vert.jpg


                ชื่อของจินดามณี มีเขียนไว้หลากหลายชื่อด้วยกัน จินดามณี จินดามนี และจินดามุนี ซึ่งนายธนิต อยู่โพธิ์        ได้อธิบายที่มาของชื่อ จินดามณี  ไว้ดังนี้


                ที่เข้าใจว่าชื่อหนังสือนั้น ที่ถูกน่าจะเป็น จินดามณี อย่างเดียวก็เพราะคำว่า จินดามณี นั้น เป็นชื่อของแก้วสารพัดนึกอย่างหนึ่ง ซึ่งเชื่อกันว่าแต่โบราณ ถ้าใครมีอยู่แล้วอาจนึกอะไรได้ผลสำเร็จตามใจนึกของผู้เป็นเจ้าของฉันใด ท่านผู้แต่งตั้งนามของหนังสือนี้ก็ฉันนั้น คือน่าจะตั้งใจให้มีความหมายว่า ถ้ากุลบุตรผู้ใดได้เรียนได้ตามหนังสือนี้แล้วก็จะมีความรู้แตกฉานในอักษรศาสตร์ของสยามได้ เหมือนหนึ่งมีแก้วสารพัดนึกคือจินดามณี


                     การเรียบเรียงหนังสือจินดามณี เน้นหนักในทางฝึกฝนให้เป็นกวี เริ่มต้นเป็นบทร่ายบูชา พระรัตนตรัย เนื้อหาได้แก่ อักษรศัพท์ จำแนกอักษรเป็น ๓ หมู่ แจกลูก ผันอักษร อธิบายวิธีแต่ง กาพย์ กลอน โคลง ฉันท์ และแสดงตัวอย่างประกอบไว้ด้วย


                  หนังสือจินดามณี จึงนับเป็นแบบเรียนภาษาไทยเล่มแรก และเป็นแม่บทของแบบเรียนไทยสมัยต่อมา ใช้กันแพร่หลายมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงรัตนโกสินทร์ เพิ่งเลิกใช้เป็นแบบเรียนในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้แต่งหนังสือ แบบเรียนหลวง ขึ้นใช้ในโรงเรียนหลวง


                  แบบเรียนสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น นอกจากจะใช้หนังสือจินดามณีแล้ว ยังมีแบบเรียนอื่นที่สำคัญอีก ๒เล่ม คือ ประถม ก กา และ ปถมมาลา หนังสือประถม ก กา ไม่ปรากฏหลักฐานผู้แต่ง และแต่งในสมัยใด กรมศิลปากรได้อธิบายไว้ดังนี้


               ....ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าผู้ใดแต่ง และแต่งสมัยใด แต่พิจารณาดูข้อความเห็นไม่เก่าไปกว่าหนังสือปฐมมาลาซึ่งพระเทพโฆฬี วัดราชบูรณะแต่ง และเรื่องกาพย์พระไชยสุริยา ซึ่งสุนทรภู่แต่ง หนังสือ ๒ เล่มที่กล่าวมานี้ เป็นหนังสือเรียนในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งเป็นสมัยที่การกวีรุ่งเรืองมาก คงจะได้มีการนำแบบแผนในหนังสือจินดามณีครั้งกรุงเก่ามาแต่งปรังปรุงแก้ไขใหม่ให้ง่ายเข้า และแต่งบทประพันธ์ประกอบเรื่อง เพื่อช่วยให้การอ่านแตกฉาน หนังสือประถม ก กา ก็คงจะแต่งขึ้นในสมัยนี้ด้วย..............


                   ลักษณะการแต่งประถม ก กา เริ่มต้นพยัญชนะไทยทั้ง ๔๔ ตัว การผันพยัญชนะว่าด้วยเรื่องแม่ ก กา แม่กกแม่กง แม่กด แม่กน แม่กบ ไปจนถึงแม่เกย มีกาพย์ สรุปเนื้อความในแต่ละตอน นอกจากนั้นยังมีวิธีการเขียน อ่าน อักษรควบกล้ำ และเครื่องหมายต่าง ๆ เรียกว่า เครื่องประดับสำรับอักษร ซึ่งจำแนกออกเป็นเครื่องหมายที่เขียนบนสระและเครื่องหมายวรรคตอน


                    ตอนที่ว่าด้วย ประถม  ก กา หัดอ่าน แต่งเป็ฯคำประพันธ์แบบกาพย์ ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง เริ่มต้นด้วยร่ายบูชาพระรัตนตรัย บูชาคุณบิดามารดา และบูชาครู ต่อจากนั้นจึงเป็นกาพย์ มีเนื้อความว่าด้วย วิธีการศึกษาหาความรู้ และว่าด้วยจริยศึกษา กิจวัตรของศิษย์วัดตั้งแต่เริ่มตื่นนอนจนถึงเข้านอน สิ่งที่ควรปฏิบัติ สิ่งที่ควรละเว้น ในตอนท้ายเป็นความรู้เกี่ยวกับการนับเลข และนับวัน เดือน ปี



                  หนังสือประถม ก กา ในภายหลังมีปรากฏว่ามีผู้แต่งขึ้นหลายฉบับ หลากหลายสำนวน เป็นต้นว่าฉบับของเจ้าหมื่นศรีสรรักษ์ (ม.ร.ว.จิตร สุทัศน์ ณ อยุธยา) แต่งเมื่อ ร.ศ. ๑๒๕ ปกผ้าราคาเล่มละ ๑๙ อัฐ พิมพ์ที่โรงพิมพ์นุกูลกิจ


                 แบบเรียนในตอนต้นสมัยรัตนโกสินทร์ อีกเล่มหนึ่ง คือ ปถมมาลา ของ พระเทพโมลี (ผึ้ง) วัดราชบูรณะ กรมศิลปากร ได้ให้คำวินิจฉัย ถึงแบบเรียนดังกล่าวไว้ดังนี้


            .....ผู้แต่งหนังสือปฐมมาลานี้ กล่าวกันว่า เป็นพระภิกษุที่มีนามเดิมว่า ผึ้ง หรือ พึ่ง ดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่พระเทพโมฬี สถิต ณ วัดราชบูรณะ จึงเข้าใจว่าคงแต่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ เพราะปรากฏชื่อพระเทพโมฬี ในบรรดากวีฝ่ายสมณะ ๑๑ รูป ผู้แต่จารึกวัดพระเชตุพนฯ คราวทรงปฏิสังขรณ์วัดนั้นเป็นการใหญ่........


            ลักษณะการแต่ง ปถมมาลา แต่งเป็นกาพย์ตั้งแต่ต้นจนจบ เริ่มต้นด้วย “คำกลอนในแม่ ก กา” จนถึงแม่เกย ต่อมาว่าด้วย “อักษรที่ใช้ในบาลี” แนะนำสั่งสอนกุลบุตรในการเรียน พระคัมภีร์ พระไตรปิฎก และตอนท้ายว่าด้วยวิธีการแต่งโคลง


                หนังสือปถมมาลา หรือ ปฐมมาลา ซึ่งพระเทพโมลี (ผึ้ง) แต่ง เคยใช้เป็นแบบเรียนหนังสือไทยตั้งแต่รัชกาลที่ 3 จนถึงตอนต้นรัชกาลที่ ๕


                พระเทพโมลี เป็นกวีที่มีภูมิรู้สูง แต่โคลงกลอนไพเราะ แบบเรียนในสมัยหลังมักนำบทกลอนจากปถมมาลา มากล่าวถึงอยู่เสมอ เพราะผู้แต่งสามารถสรรหาถ้อยคำมาใช้ได้อย่างเหมาะสมทั้ง ๆ ที่เป็นบทเรียน


                อักษรนิติ เป็นแบบเรียนหนังสือไทย ของ พระอมราภิรักขิต (เกิด อมโร) เจ้าอาวาสวัดบรมนิวาส ในรัชกาลที่ ๔ วัตถุประสงค์ในการเรียบเรียง “อักษรนิติ” เพื่อให้สานุศิษย์ของท่านใช้เป็นแบบเรียน


                ลักษณะการแต่ง ขึ้นต้นด้วยคำนมัสการ จำแนกพนัญชนะ จำแนกสระ จำแนกอักษร การผันอักษร โคลงตัวอย่างการใช้ไม้ม้วน ไม้มลาย ตัวอย่างคำใช้ ศ. ษ. ส. และว่าด้วยตัวสะกดในแม่ กก กง กด กน กน กบ กม เกย



หนังสือแบบเรียนหลวง พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) แต่ง


                แบบเรียนของไทยดังกล่าวมาแล้วทั้งหมดข้างตน เลิกใช้ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้แต่งโรงเรียนหลวงขึ้นในพระบรมมหาราชวัง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๔ แล้วโปรดให้หลวงสารประเสริฐ (ภายหลังเป็นพระยาศรีสุนทรโวหาร) เป็นอาจารย์ใหญ่ หลวงสารประเสริฐ ได้แต่ง แบบเรียนหลวง สำหรับใช้ในโรงเรียนหลวง ๖ เล่ม คือ มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังคโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ และ พิศาลการันต์ แบบเรียนหลวงชุดนี้ได้ใช้สอนกุลบุตรธิดา มาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๑  จึงเลิกใช้มาใช้แบบเรียนเร็ว ซึ่ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแต่ง มีทั้งหมด ๓ เล่มคือ แบบเรียนเร็วเล่ม ๑ แบบเรียนเร็วเล่ม ๒ และแบบเรียนเร็วเล่ม ๓ แบบเรียนเร็วทั้ง ๓ เล่มนี้ ใช้เป็นแบบเรียนมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗



                 หนังสือแบบเรียนเร็ว ๑-๓  สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงแต่ง


                    ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕ ได้ยกฐานกรมธรรมการขึ้นเป็นกระทรวงธรรมการ และมีการจัดการศึกษาเป็น ๓ ชั้น เรียกประโยค ๑ ประโยค ๒ และ ประโยค ๓ จึงมีแบบเรียนวิชาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นเป็นอันมากและมีวิวัฒนาการเป็นลำดับสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้  โดยจะกล่าวในบทความตอนต่อไป


เอกสารอ้างอิง


กฤษณา สินไชย และ รัตนา ฦาชาฤทธิ์. ความเป็นมาของแบบเรียนไทย.กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๒๐.


จินดามณี เล่ม ๒-๓ กับบันทึกเรื่องหนังสือจินดามณี และจินดามณีฉบับพระเจ้าบรมโกศ.พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร,๒๕๑๒.


นิพนธ์ สุขสวัสดิ์.ว่าด้วยเรื่องแบบเรียนไทย. โครงการตำรามหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ : พิษณุโลก, ๒๕๒๑


ประถม ก กา ประถม ก กา หัดอ่าน ปฐมมาลา อักษรนิติ แบบเรียน หนังสือไทย.พระนคร : ศิลปาบรรณาคาร, ๒๕๑๓.


นวลจันทร์ รัตนากร และคณะ.ปกิณกะ เรื่องหนังสือในสมัยรัตนโกสินทร์.กรุงเทพฯ : รุ่งเรืองสาส์น์, ๒๕๒๔






Free TextEditor


Create Date : 18 มิถุนายน 2554
Last Update : 18 มิถุนายน 2554 14:00:17 น. 9 comments
Counter : 9374 Pageviews.

 
เป็นการเป็นงาน ..ได้สาระมากเลยค่ะ
ขอบคุณที่ย่อยเรื่องราวให้
เราเคยเขึยนถึงหนังสือเหล่านี้ แต่ต่างจากที่คุณเขียน
ไม่ค่อยได้สาระเลยอ่ะ


โดย: นัทธ์ วันที่: 18 มิถุนายน 2554 เวลา:21:58:21 น.  

 
เมื่อก่อนเรียนกันน้อยเรื่องจังนะคะ ไม่เหมือนสมัยนี้เยอะแยะจำกันไม่หวาดไม่ไหว
แต่ถึงเรียนน้อยก็คงจะต้องรู้ลึกรู้จริงๆ แน่ๆ ทีเดียว


โดย: ดูดีในที่มืด วันที่: 19 มิถุนายน 2554 เวลา:16:30:47 น.  

 
อยากสั่งวื้อหนังสือพวกนี้มาศึกษาครับ


โดย: อ.เสถียร IP: 182.93.193.136 วันที่: 5 กรกฎาคม 2554 เวลา:21:32:49 น.  

 
"สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 'ทรงแต่ง' มีทั้งหมด ๓ เล่มคือ แบบเรียนเร็วเล่ม ๑ แบบเรียนเร็วเล่ม ๒ และแบบเรียนเร็วเล่ม ๓ แบบเรียนเร็วทั้ง ๓ เล่มนี้ ใช้เป็นแบบเรียนมาจนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ "

ต้องใช้คำว่า ทรงนิพนธ์ นะคะ ช่วยแก้ด้วยค่ะ

ขอบคุณค่ะ


โดย: ภาสินี IP: 202.139.223.18 วันที่: 21 กรกฎาคม 2554 เวลา:9:49:51 น.  

 
อ่านแล้วสนุกจังอยากเห็นเล่มจริงจังเลย


โดย: น้องครีม IP: 111.92.182.136 วันที่: 11 มกราคม 2555 เวลา:17:11:44 น.  

 
ตอนนี้หลานอยู่ ป.2 อ่านหนังสือไม่ค่อยคล่องทำไงดี คุณครูสอนให้เด็กจำเป็นคำคำอย่างกับภาษาจีน


โดย: ตั้มตั้ม IP: 10.3.54.31, 10.1.5.12, 223.27.233.126 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:21:51:00 น.  

 
like


โดย: จันทรมาศ IP: 182.232.80.194 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2555 เวลา:20:09:02 น.  

 
like


โดย: จันทรมาศ IP: 182.232.80.194 วันที่: 20 พฤศจิกายน 2555 เวลา:20:09:07 น.  

 
ขอได้รับความชื่นชม


โดย: จันืทโรทัย IP: 27.55.139.208 วันที่: 6 กรกฎาคม 2556 เวลา:10:49:14 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nuttavong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Blog รักสยาม : เกิดขึ้นจากผู้เขียนเป็นนักอ่านและมีความหลงไหลในเสน่ห์ของหนังสือเก่า ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีตตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษของเรา ที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร และทุก ๆ ตัวอักษรได้บอกเล่าเรื่องราวของสยามบ้านเมืองของเราเมื่อครั้งอดีต และมีความเชื่อว่า "อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน" หนังสือเก่าจึงเต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายแตกต่างกันไป เมื่อเกิดชำรุดเสียหายมีหลายคนไม่เห็นคุณค่าปล่อยให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ลูกหลานของเราในวันข้างหน้าอาจลืมเลือนความเป็นชาติของเรา และอาจหลงลืมความดีงามของบรรพบุรุษที่ได้สร้างรากฐานที่มั่นคงไว้

ผู้เขียนยอมรับว่าการเขียนบทความ ณ ที่นี้ได้เรียบเรียงจากหนังสือเก่าอันทรงคุณค่าหลายเล่ม ด้วยภูมิรู้ของตนเองเท่าที่มีอยู่น้อยนิด หากผิดพลาดประการใด
ผู้เขียนขอน้อมรับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วยความยินดี และหากท่านจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความรู้ก็จะเป็นประโยชน์สืบต่อไปในภายหน้า
Friends' blogs
[Add nuttavong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.