วันวานในสยาม...ยามนั้นและยามนี้

InSiam : From Time to Time



Group Blog
 
All blogs
 
จากโรงละครหลวง - สูจิบัตรโขนละคร

ในอดีตที่ผ่านมาเวลาเราไปดูการแสดง หรือ คอนเสิร์ต ผู้ชมมักจะซื้อหรือได้รับแจกสูจิบัตรที่จัดทำเป็นรูปเล่มสวยงามบอกเล่าถึงเรื่องราวประวัติศิลปิน ตัวอย่างผลงานการแสดง ตลอดจนโปรแกรมการแสดงในครั้งนั้น ปัจจุบันน้อยครั้งนักจะพบสูจิบัตรที่แจกฟรี สูจิบัตรนับเป็นของสะสมอย่างหนึ่งเพื่อใช้เตือนความทรงจำในอดีตเมื่อคราวที่ได้รับชมการแสดงในครั้งนั้น

ในอดีตแต่เดิมมานั้นผู้เข้าชมไม่ต้องซื้อบัตรหรือตั๋วเข้าชมการแสดง เพราะการแสดงมหรสพในอดีตผู้ชมมักหาชมได้ทั่วไปในงานต่าง ๆ ส่วนมากจะเป็นงานฉลองสมโภช หรืองานศพซึ่งจัดได้ทุกระดับในงานพระเมรุมาศใหญ่ ๆ ก็เคยมีมหรสพให้ประชาชนสามัญเข้าดูกันโดยไม่เก็บค่าเข้าชม ถ้าเป็นงานของหลวงก็จะยิ่งใหญ่และมีการแสดงต่าง ๆ หลากหลายกว่างานของสามัญชนทั่วไป จากหลักฐานที่พอจะสืบค้นได้ ในปี พ.ศ. 2425 ได้เริ่มมีการเก็บค่าเข้าชมละครเป็นครั้งแรกขึ้น มีหลักฐานปรากฏในหนังสือพิมพ์สยามไสมย ปีที่ 2 พ.ศ. 2426 ในสมัยรัชกาลที่ 5 พอสรุปได้ว่า ระหว่างงานฉลองพระนครครบ 100 ปี ที่ท้องสนามหลวง พ.ศ. 2425 เจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง (เพ็ง เพ็ญกุล) ได้จัดละครคณะ"ปริ้นส์เทียเตอร์" การแสดงในครั้งนั้นผู้ชมจะต้องเสียค่าผ่านประตูปรากฏว่าเป็นที่นิยมมาก ต่อมาภายหลังเจ้าพระยามหินทรฯ จึงได้จัดแสดงละครที่บ้านของท่านและเก็บค่าดูและตั้งชื่อโรงละคร"ปริ้นส์เทียเตอร์" ที่วังท่าเตียน การแสดงในครั้งนั้นมีสูจิบัตรแจกให้กับผู้ชมหรือไม่นั้นไม่มีหลักฐานปรากฏ  

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิประพันธ์พงศ์

ม.ล.ต่วน วรวรรณ

สูจิบัตรรุ่นเก่าแก่ ที่พอจะสืบค้นได้เป็นสูจิบัตรประกอบการแสดงละครหลวงนฤมิต สำหรับละครหลวงนฤมิต นั้น ผู้ก่อตั้งคือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ เดิมชื่อ โรงละคร ปรีดาลัย มีคณะละครหลวงฤมิต มักแสดงเรื่องราวที่เป็นบทพระนิพนธ์ของกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ซึ่งหลายเรื่องดัดแปลงมาจากภาษาต่างประเทศ ตัวอย่างเช่น มาดามบัตเตอร์ฟลาย ก็ดัดแปลงมาเป็นเรื่องสาวเครือฟ้า เป็นต้น กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ทรงได้รับการยกย่องว่าเป็น "บรมครูแห่งการละคร" ท่านมีเจ้าจอมมารดาเขียน กับ ม.ล ต่วนศรี วรวรรณ เป็นบุคคลสำคัญในการรถก่อตั้งโรงละครแห่งนี้ ต่อมาภายหลัง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระเกียรติให้เป็นละครหลวงโดยเติมคำว่า "หลวง" เป็นคณะละครหลวงนฤมิตร สำหรับสูจิบัตรที่ค้นพบได้ในขณะนี้ ก็มาจากโรงละครหลวงนฤมิตนั้นเอง คราวนั้นแสดง ณ พระราชวังดุสิต คราวสงกรานต์ พ.ศ. 2453

ภาพบรรยากาศการแสดงโขน-ละตร ในอดีต

หนังสือบทละครร้อง เรื่องพระลอ แสดง ณ โรงละครหลวงนฤมิต

นอกจากนั้นจะเป็นสูจิบัตรรุ่นเก่า พ.ศ. 2460 และรุ่นหลัง ๆ พ.ศ. 2480 ซึ่งเป็นช่วงที่พลตรีหลวงวิจิตรวาทการได้แต่งบทละครแนวปลุกใจให้รักชาติหลายเรื่อง เช่น เลือดสุพรรณ ศึกถลาง มหาเทวี พ่อขุนผาเมือง ละครเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีสูจิบัตรที่มีเพลงประกอบไพเราะหลาย ๆ เพลง  

หนังสือสูจิบัตรภายในบรรจุบทละครแนวปลุกใจให้รักชาติ เรื่อง อานุภาพพ่อขุนรามคำแหง

บทประพันธ์หลวงวิจิตรวาทการ

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2491 เป็นต้นมานั้น กรมศิลปากรได้จัดแสดงโขนละครให้ประชาชนชม ณ โรงละครกรมศิลปากร (โรงละครแห่งชาติ) และรายการแสดงสังคีตศาลา (เวทีกลางแจ้ง) และได้มีการจำหน่าย และแจกสูจิบัตรในการแสดงครั้งนั้นเป็นต้นมา และในปี พ.ศ. 2495 กรมศิลปากรได้นำสูจิบัตรในการแสดงดังกล่าวมารวมเล่มจำหน่ายให้กับผู้ชมทั่วไปไว้เป็นของสะสมอีกด้วย

การแสดงโขนในยุคแรก ๆ ของ โรงละครกรมศิลปากร  

 

 

ปกสูจิบัตรในยุคนั้น ใช้ทั้งการวาด และภาพถ่ายผสมกัน มีบรรยากาศในแบบไทย ๆ ข้างในมีประวัติความเป็นมา เนื้อเรื่องย่อ โปรแกรมการแสดง ฉากต่าง ๆ ตลอดจนรายชื่อผู้แสดง ผู้ออกแบบฉาก คณะทำงาน และโฆษณาของบริษัทห้างร้านต่าง ๆ บางเล่มมีการบรรยายทั้งภาษาไทย และอังฤษควบคู่กัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมประจำชาติตลอดระยะกว่า 60 ปี

หนังสือสูจิบัตรบทละครร้อง เรื่องพ่อโต้ง กะยาสารท สำหรับแสดง

ณ โรงละครปรีดาลัย เมื่อ ร.ศ. 131 (พ.ศ. 2456) หน้าปกจะเรียบ ๆ กระดาษธรรมดา

หนังสือสูจิบัตรในยุคของโรงละครกรมศิลปากร เรื่องพระลอ หน้าปกมีความสวยงาม ผสมผสานกัน

ระหว่างภาพถ่ายและภาพวาด แสดงเมื่อปี พ.ศ. 2491 ภายในมีโฆษณา และบทละคร เนื้อเรื่องย่อ

ตลอดจนรายนามผู้แสดง

หนังสือสูจิบัตรบทละครนอก เรื่องคาวี แสดง ณ โรงละครแห่งชาติ แสดงเมื่อปี พ.ศ. 2513 หน้าปกเป็นภาพถ่ายขาวดำ ภายในมีเนื้อเรื่องย่อ ภาษาไทยและอังกฤษ รายนามผู้แสดง นักดนตรี และนักร้องรายนามนักแสดงและนักดนตรีหลายท่านภายในสูจิบัตรล้วนแล้วแต่มีชื่อเสียงในปัจจุบันและเป็นผู้วางรากฐานให้กับนาฏศิลป์และดนตรีไทยในยุคปัจจุบัน อาทิเช่น ครูศิริวัฒน์ ดิษยนันท์ (ศิลปินแห่งชาติสาขานาฏศิลป์ไทย)แสดงเป็น "หลวิชัย" ครูนพรัตน์ หวังในธรรม (ภรรยาครูเสรี หวังในธรรม) แสดงเป็น "นางคันธมาลี" สำหรับนักดนตรี ครูศีลปี ตราโมท และหลวงไพเราะเสียงซอ บรรเลงซออู้ ครูท้วม ประสิทธิกุล ครูแช่มช้อย ดุริยพันธุ์ ขับร้อง

หนังสือสูจิบัตรบทละครชาตรี เรื่องรถเสน แสดงเมื่อปี พ.ศ. 2500 ณ โรงละครกรมศิลปากร

หน้าปกออกแบบเป็นภาพถ่ายและระบายศรี สวยงามไปอีกแบบ

หนังสือสูจิบัตรบทโขน ชุดไมยราพณ์สะกดทัพ แสดงเมื่อปี พ.ศ. 2503 ณ โรงละครกรมศิลปากร

ควบคุมการฝึกหัดนาฏศิลป์โดย หม่อมแผ้ว สนิทวงศ์เสนี (ศิลปินแห่งชาติ) ควบคุมการบรรเลง

และขับร้องโดย ครูมนตรี ตราโมท (ศิลปินแห่งชาติ) ราคาค่าผ่านประตู เริ่มต้นที่ 8 บาท 15 บาท

20 บาท 25 บาท และสูงสุด 30 บาท

หนังสือสูจิบัตรบทโขน ชุด ศึกสุริยาภพ แสดงเมื่อปี พ.ศ. 2509 ณ โรงละครกรมศิลปากร

หนังสือสูจิบัตรบทโขน เรื่องรามเกียรติ์ แสดงเมื่อปี พ.ศ. 2501 ณ โรงละครกรมศิลปากร

หน้าปกเป็นภาพถ่ายและระบายสีอีกครั้ง สีฉูดฉาดสดใส เป็นลักษณะเด่นของสิ่งพิมพ์ในยุคนั้น

หนังสือสูจิบัตรบทละครนอก เรื่องสุวรรณหงส์ แสดงเมื่อปี พ.ศ. 2494 ณ โรงละครกรมศิลปากร

รายชื่อนักแสดงที่น่าสนใจ 3 ศิลปินแห่งชาติ ครูส่องชาติ ชื่นสิริ และ ครูจำเรียง พุธประดับ แสดงเป็น

พราหมณ์เกศสุริยงครูสุวรรณี ชลานุเคราะห์ แสดงเป็นสุวรรณหงส์

หนังสือสูจิบัตรบทโขน ชุด มัยราพณ์สะกดทัพ แสดงเมื่อปี พ.ศ. 2544 ณ โรงละครแห่งชาติ

เป็นปกสูจิบัตรในยุคปัจจุบัน นิยมใช้ภาพถ่ายจากกล่องถ่ายรูป

หนังสือสูจิบัตรบทโขน ศึกสัทธาสูร - วิรุญจำบัง แสดงเมื่อปี พ.ศ. 2535 ณ โรงละครกรมศิลปากร

ข้อมูลอ้างอิง

ทัศนา ทัศนมิตร.จากงิ้ววังหน้า..ถึงโขนละครไทย.กรุงเทพฯ,2554

เอนก นาวิกมูล.สิ่งพิมพ์สยาม.กรุงเทพฯ,2542

National Geogaphic.สยามและเพื่อนบ้านภาพและรายงานพิเศษจากอดีต.กรุงเทพฯ,




Create Date : 16 สิงหาคม 2555
Last Update : 17 สิงหาคม 2555 22:15:06 น. 0 comments
Counter : 7653 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nuttavong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Blog รักสยาม : เกิดขึ้นจากผู้เขียนเป็นนักอ่านและมีความหลงไหลในเสน่ห์ของหนังสือเก่า ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีตตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษของเรา ที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร และทุก ๆ ตัวอักษรได้บอกเล่าเรื่องราวของสยามบ้านเมืองของเราเมื่อครั้งอดีต และมีความเชื่อว่า "อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน" หนังสือเก่าจึงเต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายแตกต่างกันไป เมื่อเกิดชำรุดเสียหายมีหลายคนไม่เห็นคุณค่าปล่อยให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ลูกหลานของเราในวันข้างหน้าอาจลืมเลือนความเป็นชาติของเรา และอาจหลงลืมความดีงามของบรรพบุรุษที่ได้สร้างรากฐานที่มั่นคงไว้

ผู้เขียนยอมรับว่าการเขียนบทความ ณ ที่นี้ได้เรียบเรียงจากหนังสือเก่าอันทรงคุณค่าหลายเล่ม ด้วยภูมิรู้ของตนเองเท่าที่มีอยู่น้อยนิด หากผิดพลาดประการใด
ผู้เขียนขอน้อมรับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วยความยินดี และหากท่านจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความรู้ก็จะเป็นประโยชน์สืบต่อไปในภายหน้า
Friends' blogs
[Add nuttavong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.