วันวานในสยาม...ยามนั้นและยามนี้

InSiam : From Time to Time



Group Blog
 
All blogs
 
ผู้ชนะสิบทิศ เพชรน้ำเอก แห่งวงการวรรณกรรมสยาม

ผู้ชนะสิบทิศ เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ งานประพันธ์ชิ้นเอกของ ยาขอบ กล่าวถึงเรื่องราวของนักรบผู้หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น "ผู้ชนะสิบทิศ"         นั่นคือ พระเจ้าบุเรงนองแห่งกรุงหงสาวดี นวนิยายได้รับความนิยมมากและถูกนำไปดัดแปลงเป็นละครเวที ละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ หลายครั้ง รวมถึงมีการประพันธ์เพลง ผู้ชนะสิบทิศ ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายด้วย



                    ผู้ชนะสิบทิศ เป็นนิยายที่ยาขอบ หรือโชติ แพร่พันธุ์ ผู้เขียนเรียกว่า "นิยายปลอมพงศาวดาร"  โดยหยิบพงศาวดารพม่าเพียงแค่ 8  บรรทัด ในครั้งแรกใช้ชื่อว่า "ยอดขุนพล" เริ่มเขียนใน พ.ศ. 2474 จบลงใน พ.ศ. 2475  ในหนังสือพิมพ์ "สุริยา" และเริ่มเขียน "ผู้ชนะสิบทิศ" ในหนังสือพิมพ์ "ประชาชาติ" เมื่อ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  จบภาคหนึ่งเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2476  รวมเล่มพิมพ์เมื่อ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482 เขียนรวมทั้งหมด 3 ภาค เมื่อ พ.ศ. 2482  แต่ยังไม่จบ เนื่องจากขาดข้อมูลบางอย่างที่จะต้องใช้ประกอบการเขียน


                    เนื้อเรื่องกล่าวถึงราชวงศ์ตองอูตอนต้น เริ่มตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าเมงจีโย ไปจนถึงพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ หรือ มังตราราชบุตร โดยคำว่าผู้ชนะสิบทิศนั้น มาจากคำที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึง พระเจ้าบุเรงนองว่าเป็น The Conqueror of Ten Direction แต่สำหรับชื่อนิยาย จากหนังสือประวัติยาขอบ อ้างอิงว่า คุณมาลัย ชูพินิจ เป็นผู้ตั้งให้ ผู้ชนะสิบทิศตีพิมพ์ครั้งแรกลงใน นสพ.ประชาชาติ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475  ในตอน "ความรักครั้งแรก" ฉบับพิมพ์รวมเล่มใช้ชื่อ "ลูกร่วมนม" สร้างชื่อเสียงให้ยาขอบได้แจ้งเกิด จนกลายเป็นกระแสไปทั่วทุกเพศทุกวัย ว่ากันว่าแม้แต่บรรพชิตก็ยังอ่านอย่างไม่กลัวอาบัติ


                    ผลงานของ “ยาขอบ” แม้จะมีอยู่ในเกณฑ์ไม่มากนัก หากแต่กลับมีความดีเด่นแทบทุกเรื่อง ทั้งนี้อาจเป็นด้วยอายุไขของท่านค่อนข้างสั้น กล่าวคือ เกิดเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2450  และถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2499  สิริอายุเพียง 49  ปีเท่านั้น แต่ที่โดดเด่นจัดเป็นเพชรน้ำเอกแห่งวรรณกรรมก็คือเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ซึ่งเป็นนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตการประพันธ์ของท่าน และเป็นเรื่องยาวเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น


                     ยาขอบ ได้เล่าถึงการเขียน ผู้ชนะสิบทิศ ไว้ดังนี้  “เรื่อง “ยอดขุนพล” นี้ข้าพเจ้าเขียนจากข้อความซึ่งปรากฎในพระราชพงศาวดารพม่าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์ หน้า 107 ระหว่างบรรทัดที่ 4  ถึงบรรทัดที่ 11  เหตุที่เสนอโดยละเอียดดังนี้ ก็เพื่อที่จะมอบให้ท่านผู้อ่านทราบว่า เมื่อตัวจริงในพงศาวดารมีอยู่ 8  บรรทัด แต่เรื่อง “ยอดขุนพล” มี 7224 บรรทัด ฉะนั้นส่วนที่แตกต่างออกไปจากต้นเรื่องเดิมนั้น ย่อมเป็นส่วนที่ข้าพเจ้าจะต้องรับผิดชอบ ถ้าได้สร้างความสนุกสนานเพลิดเพลินขึ้นไม่สมใจของท่านผู้อ่านด้วยประการใดก็ดี เรื่องนี้ ข้าพเจ้าเขียนอย่างจะให้เป็นชีวิตของบุเรงนอง ซึ่งในพงศาวดารยกให้เป็นมหาราชองค์หนึ่งของจำนวนมหาราชมีอยู่ 3 องค์ บุเรงนองจริงๆ ก็มีชีวิตอันพิสดารมากอยู่แล้ว ดังนั้นยิ่งบุเรงนองในห้วงนึกของนักเขียนอย่างข้าพเจ้า ซึ่งมั่นหมายจะเสนอบำเรอความสนุกและเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านเป็นส่วนใหญ่ด้วยแล้ว เรื่องของวีรบุรุษผู้นี้ในห้วงนึกก็ยิ่งวิจิตรพิสดารขึ้นไปอีก ในเรื่องนี้ข้าพเจ้าขมวดชีวิตวีรบุรุษของข้าพเจ้าให้จบลงในตอนปฐมวัยและไปเปิดฉากใหม่เป็นชีวิตของบุเรงนองคนทำการใหญ่ขึ้นในเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ” ซึ่งนักอ่านของประชาชาติก็รู้จักกันดี...”


                        จะเห็นได้ว่า “ยาขอบ” อาศัยเพียงหยิบเม็ดกรวดในพงศาวดารมาเพียงเม็ดเดียวแล้วแปรรูปได้ยิงใหญ่ราวกับขุนเขาทีเดียวปี 2475  “ ศรีบูรพา” กับพรรคพวกซึ่งเป็นตัวหลัก คือ “แม่อนงค์” หรือ มาลัย ชูพินิจ และ “ยาขอบ” เป็นเพียงตัวประกอบก็ได้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ขึ้น โดยระดมนวนิยายลงในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้เป็นการใหญ่ เข้าสู่แนวนิยมของผู้อ่านเป็นอย่างมาก “ยาขอบ” ก็ถูกกำหนดตัวให้เขียนนิยายปลอมพงศาวดารต่อ และเรื่องนั้นก้คือเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ”  โดยสานต่อจากเรื่อง “ยอดขุนพล” ดังกล่าวแล้วในคำนำของ “ยาขอบ” ดังนั้นเรื่อง “ยอดขุนพล” จึงผนวกเข้าเป็นเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ”  ในภาคปฐมวัยไปโดยปริยายและในเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ”นี้ “ยาขอบ” ก็กล้าเปิดใจการเขียนไว้ในคำนำการจัดพิมพ์ “ผู้ชนะสิบทิศ” ภาคแรกในการพิมพ์เป็นครั้งแรกตอนหนึ่งว่า


 "ในที่นี้และโดยหนังสือนี้ ข้าพเจ้าขอชี้แจงต่อท่านผู้อ่านด้วยความคารวะว่า ไม่มีอะไรที่ข้าพเจ้ากล้ารับรองว่าเป็นพงศาวดารที่ถูกต้องอยุ่ใน “        ผู้ชนะสิบทิศ” ข้าพเจ้าเขียนขึ้นด้วยอารมร์ฝัน “ผู้ชนะสิบทิศ” ถูกปลอมขึ้นจนดูประหนึ่งเป็นพงศาวดารด้วยอารมณ์ฝันเท่านั้น"


นอกเหนืองานศิลปด้านวรรณกรรมของผู้ชนะสิบทิศแล้ว หากขยายผลสู่งานด้านศิลปะแขนงอื่นๆ นับตั้งแต่ด้านจิตรกรรม ภาพประกอบเรื่องโดยฝีมือนักวาดชั้นครูอย่างครูเหม เวชกร และ พนม สวุรรณบุณย์ สู่การเป็นละครเวที และ ละครวิทยุกระจายเสียง ละครวิทยุโทรทัศน์ ลิเกและภาพยนต์ครั้งแล้วครั้งเล่า รวมทั้งละครพันทางของกรมศิลปากร จวบจนบันดาลใจต่อศิลปินเพลง เกิดเพลงไทยสากลจากเรื่องผู้ชนะสิบทิศถึง 17 เพลง  อีกทั้งยังถูกหยิบมาอีกอิงในการจัดทำวิทยานิพนธ์ด้านวรรณกรรมอีกด้วย




ประวัติด้านการพิมพ์ "ผู้ชนะสิบทิศ"




            การจัดพิมพ์ผู้ชนะสิบทิศ รวมเล่มมีหลายลักษณะ และทั้งเคยพยายามกระจายให้แก่สำนักพิมพ์ต่างกัน มิได้จัดพิมพ์ติดต่อกัน ด้วยรักษาสัจวาจามอบลิขสิทธิ์บูชาคุณแก่นางวรกิจบรรหาร ไปแล้ว แต่มอบให้ผู้อื่นพิมพ์ก็ขออนุญาตแม่อุปถัมภ์ เพราะต้องการใช้เงิน ตามวิสัยคนใจกว้างราวแม่น้ำของยาขอบ


          “ยอดขุนพล” หรือ “ผู้ชนะสิบทิศ”  (ซึ่งเป็นชื่อที่คุณมาลัย ชูพินิจ เจ้าของนามปากกา “เรียมเองและน้อย อินทนนท์ ตั้งให้) ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นตอนๆ ต่อเนื่องกันบ้าง ขาดช่วงไปบ้าง แต่ผู้ชนะสิบทิศก็ได้รับการตอบรับจากมหาชนคนไทยอย่างกว้างขวางเป็นปรากฎการณ์ สมัยหนึ่งมีผู้อ่านติดตามเรื่องผู้ชนะสิบทิศที่ตีพิมพ์เป็นตอนๆลงในหนังสือพิมพ์รายวันเป็นจำนวนมาก เป็นที่นิยมของคนไทยทั่วประเทศตั้งแต่เชื้อพระวงศ์ผู้สูงศักดิ์ ข้าราชการ พ่อค้าแม่ค้า ชาวไร่ชาวนา ไปจนถึงนักเรียน นักศึกษา ว่ากันว่าแม้แต่บรรพชิตก็ยังอ่านอย่างไม่เกรงอาบัติ และบางคราวเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงตอนสำคัญ จะมีผู้อ่านจำนวนหนึ่งมารออ่านเฉพาะหน้าที่ตีพิมพ์เรื่องผู้ชนะสิบทิศถึงที่หน้าแท่นพิมพ์อยู่เป็นประจำ


             งานพิมพ์รวมเล่มผู้ขนะสิบเทศจึงเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2476 ที่พิมพ์ยอดขุนพลจากนั้นก็จะทยอยพิมพ์เป็นภาค ๆ รวม 6 ครั้ง ระหว่างปี 2476 - 2489     ผู้ชนะสิบทิศ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 รวม 3 ภาค ภาคแรกมี 13 เล่ม, ภาคสองมี 12 เล่ม และภาคสามมี 12 เล่ม รวมจำนวน 37 เล่ม หน้าปกแต่ละภาคจะแตกต่างกัน แต่ในภาคเดียวกันหน้าปกจะเหมือนกัน ต่างกันที่สีภายในเล่มมีภาพประกอบฝีมือบรมครู เหม เวชกร มีแทรกอยู่ระหว่างเล่ม ซึ่งสวยงามปราณีต จัดเป็นหนึ่งในผลงานคลาสสิคของครูเหมฯ


              การจัดพิมพ์ครั้งที่นับว่าสมบูรณ์ที่สุดนั้น คือการพิมพ์สามภาคกับสรุปเรื่องจบ รวมนวนิยายทั้งเป็นหนังสือปกแข็งจำนวน 8  เล่ม พิมพ์ครั้งแรก 2489 และการพิมพ์ซ้ำชุดสมบูรณ์นี้ พิมพ์ต่อมาอีกในปี 2506 2509 2514 และ 2520  รวมการพิมพ์ทั้งสิ้น 11 ครั้ง 


               การจัดพิมพ์ชุด 8 เล่ม มีสำนักพิมพ์ผดุงศึกษาเป็นผู้จัดพิมพ์มาโดยตลอด ขนาดรูปเล่มของการพิมพ์ชุด 8 เล่ม คือ 13.5x19 ซม. รวมหน้าการพิมพ์ทั้งสิ้น  5,120  หน้า


                สรุปแล้ว ผู้ชนะสิบทิศ  วรรณกรรมประเภทนิยายที่ได้รับยกย่องให้เป็นหนังสือดี 100 เล่ม ที่คนไทยควรอ่านนั้น แบ่งออกเป็น 3 ภาค แต่เรื่องไม่จบ แต่ทั้ง ๆ ที่เรื่องไม่จบนี้เอง ก็มีการพิมพ์ขายกันไม่รู้ต่อกี่ครั้ง ในรูปแบบการพิมพ์ต่าง ๆ กัน ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ผลงานอันยิ่งใหญ่ของ ยาขอบ


                 “มีผู้กล่าวกันว่า ถ้าไม่มีอุบัติเหตุทางการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 เมืองสยามคงไม่มีนักประพันธ์ที่สร้างสรรค์วรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่อย่างเรื่อง “ผู้ชนะสิบทิศ”


ภาค 2 ตอนที่ 1, 2, 4, 5, 6, 7, 8, 10, 11, 12 พิมพ์ปี 2482


วาดภาพประกอบโดยครูเหม เวชกร 



                                                                            


ภาค 3 ตอนที่ 1, 2, 3, 6 พิมพ์ปี 2482


วาดภาพประกอบโดยครูเหม เวชกร



บรรณานุกรม


ส.พลายน้อย.ยาขอบชีวิตและผลงานผู้แต่อมตะนิยาย ผู้ชนะสิบทิศ.กรุงเทพฯ:ศรีปัญญา.2547                                                                        


วิทยากร เชียงกูลและคณะ.สารานุกรมแนะนำหนังสือดี100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน.กรุงเทพฯ:สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.2542



Free TextEditor


Create Date : 13 กรกฎาคม 2553
Last Update : 14 กรกฎาคม 2553 0:03:58 น. 4 comments
Counter : 3222 Pageviews.

 
ในฐานะคนชอบ "ผู้ชนะสิบทิศ" ขอบคุณที่ช่วยย่อเรื่องราวของบทประพันธ์นี้ให้อ่านค่ะ
เคยคิดจะเขียนถึงอยู่หลายครั้ง แต่ไม่รู้จะเริ่มจากอะไรก่อนดี
เพราะ "ผู้ชนะสิบทิศ" สำหรับเราแล้ว มีทั้งวรรณกรรมและนาฎกรรมเลยทีเีดียวล่ะ


โดย: นัทธ์ วันที่: 13 กรกฎาคม 2553 เวลา:20:57:47 น.  

 
เคยอ่านแค่บางเรื่องบางตอน ตอนสมัยเรียนค่ะ

แต่จำได้ว่าไม่ชอบพระเอก เหอๆ เราไม่ชอบพระเอกเจ้าชู้ง่ะ


แต่สักวันจะลองหามาอ่านดูค่ะ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:10:33:28 น.  

 
ไม่เคยอ่านสักตอนเลยค่ะ


โดย: หวานเย็นผสมโซดา วันที่: 14 กรกฎาคม 2553 เวลา:13:52:00 น.  

 
เห็นหนังสือในห้องสมุดหนามากกกกกกกกค่ะ
ใจไม่กล้าพอจะอ่านจริงๆ


โดย: พวงพะยอม (D-novel ) วันที่: 12 พฤศจิกายน 2553 เวลา:12:21:03 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

nuttavong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Blog รักสยาม : เกิดขึ้นจากผู้เขียนเป็นนักอ่านและมีความหลงไหลในเสน่ห์ของหนังสือเก่า ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีตตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษของเรา ที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร และทุก ๆ ตัวอักษรได้บอกเล่าเรื่องราวของสยามบ้านเมืองของเราเมื่อครั้งอดีต และมีความเชื่อว่า "อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน" หนังสือเก่าจึงเต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายแตกต่างกันไป เมื่อเกิดชำรุดเสียหายมีหลายคนไม่เห็นคุณค่าปล่อยให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ลูกหลานของเราในวันข้างหน้าอาจลืมเลือนความเป็นชาติของเรา และอาจหลงลืมความดีงามของบรรพบุรุษที่ได้สร้างรากฐานที่มั่นคงไว้

ผู้เขียนยอมรับว่าการเขียนบทความ ณ ที่นี้ได้เรียบเรียงจากหนังสือเก่าอันทรงคุณค่าหลายเล่ม ด้วยภูมิรู้ของตนเองเท่าที่มีอยู่น้อยนิด หากผิดพลาดประการใด
ผู้เขียนขอน้อมรับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วยความยินดี และหากท่านจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความรู้ก็จะเป็นประโยชน์สืบต่อไปในภายหน้า
Friends' blogs
[Add nuttavong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.