วันวานในสยาม...ยามนั้นและยามนี้

InSiam : From Time to Time



Group Blog
 
All blogs
 
The Kingdom and People of Siam:พระราชอาณาจักรและราษฎรสยาม – สนธิสัญญาเบาว์ริง ตอนที่ 1

ด้วยร้านรักสยาม หนังสือเก่า ได้รับหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “The Kingdom and People of Siam” Volume 2 ซึ่งผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ “เซอร์ จอห์น บาว์ริง” เป็นบุคคลผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงช่วงต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกทั้งยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอัครราชทูตไทยประจำลอนดอนและยุโรป ถือได้ว่าเป็นตัวแทนคนแรกของไทย ก็ว่าได้มีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสยามมานุกูลกิจ สยามมิตรมหายศ”



พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว


“Kingdom and People of Siam” แปลเป็นไทยในชื่อ “พระราชอาณาจักรและราษฎรสยาม” หนังสือ 2 เล่ม ของบาว์ริง เมื่อประสบความสำเร็จในการทำสัญญากับสยามแล้ว เบาว์ริงกลับไปฮ่องกง และก็เขียนหนังสือขึ้นมาหนึ่งเรื่อง คือ The Kingdom and People of Siam ท่านเขียน “คำนำ” เสร็จเมื่อ เดือนสิงหาคม 2399 (1856) ประมาณ 1 ปีครึ่งหลังจากกลับออกไปจากเมืองไทย และตีพิมพ์เป็นครั้งแรกที่กรุงลอนดอน เมื่อปี 2400 (1857) หรือสองปีภายหลังการลงนามสนธิสัญญา นับเป็นหนังสือสำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง เกี่ยวกับสยามประเทศ หนังสือชุดนี้มี 2 เล่ม หนาถึงเกือบ 1 พันหน้า มีทั้งหมด 16 บทพร้อมทั้งภาคผนวก อีก 7 ตอนด้วยกัน

หนังสือชุดนี้ เต็มไปด้วยเรื่องราวต่างๆของสยาม ตั้งแต่เรื่องสภาพภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ประชากร ผลิตผลธรรมชาติ ประเทศราชของสยาม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไปจนถึง “บันทึกประจำวัน 1 เดือนเต็ม” ของเบาว์ริงเอง ที่จดไว้อย่างละเอียดตั้งแต่เรือมาถึงสันดอน ปากน้ำเจ้าพระยาเมื่อ 24 มีนาคม จนถึงวันลงนามสนธิสัญญา 18 เมษายน และออกเรือจากสยาม ไปเมื่อ 24 เมษายน รวมแล้ว 1 เดือนเต็ม



 เซอร์จอห์น เบาว์ริง


เซอร์จอห์น เบาว์ริง เป็นคนละเอียดละออ (รู้เรื่องระบบบัญชี) ดังนั้น จึงเก็บรายละเอียด ข้อมูลสยามมากมายเหลือจะคณานับ นอกเหนือ เนื้อหาที่น่าสนใจแล้ว เบาร์ริงยังมีรูปประกอบ คับคั่งอีกด้วย ทั้งหมด 19 รายการ มีรูปงามๆ ของแม่น้ำเจ้าพระยา วัง วัด พระแก้วมรกต ช้างเผือก และพระฉายาทิศลักษณ์ ของ “พระเจ้ากรุงสยาม” รวมทั้ง “แผนที่สยามประเทศ” สมัยนั้น


ดังที่กล่าวแล้วว่า หนังสือชุดนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1857 (พ.ศ. 2400) ที่กรุงลอนดอน และกลายเป็นหนังสือหายาก มีคนเล่นกันแบบเก็บ “ของเก่า” ทำให้ไม่สะดวกสำหรับการศึกษา ค้นคว้า แต่น่าดีใจที่ว่าในปี พ.ศ. 2512 (1969) สำนักพิมพ์อ๊อกซฟอร์ดได้นำมาตีพิมพ์ซ้ำ และให้ “ศ. เดวิต วัยอาจ” เขียนคำนำให้ แต่ในการพิมพ์ครั้งหลังนี้ได้ตัดบางอย่างที่สำคัญทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย นั่นคือพระราชลัญจกรตัวหนังสือขอมเขมร และจีนของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประทับตีตรา ไปใน “พระราชสาสน (จดหมาย)” ถึงเบาว์ริง





                                                ต้นฉบับ The Kingdom and People of Siam Volume 2

สำหรับตราตัวหนังสือจีนนั้นอาจจะเป็นตราเดียวกับที่ทรงประทับเวลาไป “จิ้มก้อง” กรุงปักกิ่ง ซึ่งมีการส่งเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2396 (1853) ก่อนหน้าการทำสัญญาเบาว์ริง 2 ปี และใช้พระปรมาภิไธยเป็นภาษาและตัวหนังสือจีนว่า “แต้ปิ๋ง” คือพระแซ่ “แต้” พระนาม “ปิ๋ง” ตามเสียงแต้จิ๋ว (หรือ “เจิ้ง” ในเสียงจีนกลาง) พระนามว่า “ปิ๋ง” หรือ “หมิง” แปลว่า “สว่าง”


นี่เป็นธรรมเนียมมาแต่สมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) จนกระทั่งรัชกาลที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่กษัตริย์ทุกองค์จะส่ง “จิ้มก้อง” ไปเมืองจีนและใช้ “พระแซ่แต้” ในการติด ต่อกับกรุงปักกิ่ง สำหรับจักรพรรดิจีนที่พระจอมเกล้าฯ ทรงติดต่อด้วย คือ "พระเจ้าฮำฮอง" (Xianfeng 1851-1861) ซึ่งมีสนมเอกลือชื่อ "ซูสีไทเฮา" จีนกำลังอ่อนแอมาก และในที่สุดเมื่อสยาม คบฝรั่ง ไทยก็เลิกส่ง "จิ้มก้อง" แถมรัชกาลที่ 4 "ทรงสวด" ด้วยว่าถูกจีนหลอกมาหลายร้อยปี



เบาว์ริงได้เอกสารหลักฐานของไทยสมัยนั้นไปมากมาย ไม่ว่าสำเนาศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง (แถมพระจอมเกล้าฯ ทรงแปลเป็นภาษาอังกฤษให้เป็นตัวอย่างไป 1 บรรทัดด้วยว่า My father named Surindradity, my mother, Lady Suang, my elder brother…) เบาว์ริงได้ บทความประวัติศาสตร์สยาม ที่รัชกาลที่ 4 ทรงแต่งเองเป็นภาษาอังกฤษ ส่งไปตีพิมพ์มาก่อนแล้วที่เมืองจีน เบาว์ริงนำพระราชสาส์นส่วนพระองค์มารวมตีพิมพ์ไว้ด้วย เช่น ในบทที่ 2 (หน้า 65-66) ของเล่มแรก ที่รัชกาลที่ 4 ทรงเล่าไปว่า “ต้นตระกูล” ของพระองค์ท่านเป็น “มอญปนจีน” อย่างไร โยงกลับไปมอญหงสาวดี (พะโค) ที่อพยพมาในสมัยพระนเรศวร สืบลูกหลานมาสมัยโกษาปาน แล้วก็ไป ตั้งหลัก แหล่งที่ “สะแกกรัง” (อุทัยธานี) เมืองชายแดน โดยทรงกล่าวถึงพระปฐมบรมมหาชนกนาถ (บิดาของรัชกาลที่ 1) ไว้ว่า

“...
ท่านผู้เป็นอภิชาตบุตร คนดังกล่าวได้ถือกำเนิดขึ้นที่นั่น และได้กลายเป็นผู้มีความชำนาญ และมีความรู้ความสามารถในทางราชการ ท่านได้ออกจาก ‘สะเกตรัง’ ไปยังอยุธยา ที่ซึ่งได้รับ คำแนะนำ ให้เข้ารับราชการ และได้สมรสกับธิดารูปงามของครอบครัวคหบดีจีน ที่ร่ำรวย ที่สุด ในย่านที่อยู่อาศัยของชาวจีนภายในกำแพงเมือง ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ของอยุธยา...”

นี่เป็นข้อมูลที่มีเสน่ห์และน่าสนใจมากจากหนังสือสองเล่มของเบาว์ริง เราจะไม่พบข้อมูลเช่นนี้ ในเอกสารประวัติศาสตร์ของไทย ที่ให้ภาพ “ผู้นำใหม่” รุ่นหลังการเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 ที่ลงมาตั้งกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์นั้นเป็นมี “ความหลากหลาย” ทางชาติพันธุ์ เป็น “จีนปนไทย” อย่างในกรณีของพระเจ้ากรุงธนบุรี (ตากสิน) ที่มีบิดาเป็นจีนแต่มารดาเป็นไทย ในขณะที่พระพุทธยอดฟ้า (รัชกาลที่ 1) มีบิดาเป็นไทย (มอญ) แต่มารดาเป็นจีน



นอกเหนือจากเรื่องประวัติศาสตร์อันละเอียดอ่อน และหาไม่ได้ในฉบับภาษาไทยเองแล้ว ยังมีทั้งเรื่องกฎหมาย เรื่องการพิพากษาคดีความ เรื่องทาส เรื่องประเพณี อะไรต่อมิอะไร ที่เบาว์ริงนำเอาไปจากบางกอกหรือหารวบรวมได้เองในเมืองจีน (ฮ่องกงของท่านในสมัยนั้น มีทั้ง นักปราชญ์ราชบัณฑิตฝรั่ง มิชชันนารี การตีพิมพ์ หนังสือพิมพ์และวารสาร อยู่คับคั่ง นับว่าเป็นโลกของ “ความรู้สมัยใหม่”) สิ่งเหล่านี้ เบาว์ริงทั้งรวบรวมทั้งให้ทำการแปล เป็นภาษาอังกฤษ แล้วก็ตีพิมพ์ไว้ในหนังสือ 2 เล่มของท่านอย่างละเอียด นี่ทำให้หนังสือของท่านน่าสนใจอย่างยิ่ง



เบาว์ริง “ตัด ต่อ และแปะ” กลายเป็นเสมือน “คู่มือประเทศสยาม” อย่างดี ผงาดขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กับหนังสือคลาสิกอย่างของลาลูแบร์สมัยอยุธยา (Loubere, Simon de la, Du Royaume de Siam. Amsterdam, 1691, Description du Royaume de Siam, Amsterdam, 1700, 1713, ซึ่ง สันต์ ท. โกมลบุตร. แปลไว้ใน จดหมายเหตุลาลูแบร์ฉบับสมบูรณ์. กทม. สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, 2510





หรืออีกเล่มหนึ่งของสังฆราชปัลเลอกัวซ์ (Bishop Pallegoix: Description du Royuame Thai ou Siam, 1852) ที่แปลเป็นไทยแล้ว คือ “เล่าเรื่องกรุงสยาม” ท่านสังฆราชใช้ทั้งชีวิตในกรุงสยาม แต่เบาว์ริงอยู่ในเมืองหลวงของเราเพียง 1 เดือนเท่านั้นเอง หนังสือของฝรั่งเศสทั้ง สองเล่มนี้ เบาว์ริงใช้ทั้งอ้าง ทั้งอิง และทั้งยกข้อความมาใส่ไว้ในหนังสือใหม่ของท่านอย่างมากมาย






Free TextEditor


Create Date : 06 ธันวาคม 2553
Last Update : 6 ธันวาคม 2553 1:42:15 น. 1 comments
Counter : 5677 Pageviews.

 


โดย: MaFiaVza วันที่: 6 ธันวาคม 2553 เวลา:3:39:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

nuttavong
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]




Blog รักสยาม : เกิดขึ้นจากผู้เขียนเป็นนักอ่านและมีความหลงไหลในเสน่ห์ของหนังสือเก่า ที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาในอดีตตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษของเรา ที่ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ผ่านตัวอักษร และทุก ๆ ตัวอักษรได้บอกเล่าเรื่องราวของสยามบ้านเมืองของเราเมื่อครั้งอดีต และมีความเชื่อว่า "อดีตคือรากฐานของปัจจุบัน" หนังสือเก่าจึงเต็มไปด้วยคุณค่าและความหมายแตกต่างกันไป เมื่อเกิดชำรุดเสียหายมีหลายคนไม่เห็นคุณค่าปล่อยให้เสื่อมสลายไปตามกาลเวลาเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากปล่อยให้เป็นอย่างนั้น ลูกหลานของเราในวันข้างหน้าอาจลืมเลือนความเป็นชาติของเรา และอาจหลงลืมความดีงามของบรรพบุรุษที่ได้สร้างรากฐานที่มั่นคงไว้

ผู้เขียนยอมรับว่าการเขียนบทความ ณ ที่นี้ได้เรียบเรียงจากหนังสือเก่าอันทรงคุณค่าหลายเล่ม ด้วยภูมิรู้ของตนเองเท่าที่มีอยู่น้อยนิด หากผิดพลาดประการใด
ผู้เขียนขอน้อมรับคำแนะนำจากท่านผู้รู้ทั้งหลายด้วยความยินดี และหากท่านจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความรู้ก็จะเป็นประโยชน์สืบต่อไปในภายหน้า
Friends' blogs
[Add nuttavong's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.