Group Blog
 
All Blogs
 



ปูนปั้นรูปเทวดา...ผนังวิหารเจ็ดยอด



งานปูนปั้น หมายถึง ลวดลายหรือภาพที่เกิดจากการปั้นปูน ให้เป็นลวดลาย รูปภาพ และรูปทรง เพื่อใช้ในการประดับตกแต่ง ตลอดจนทำเป็นส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม ถือเป็นงานทางศิลปกรรมของช่างไทยที่สำคัญอย่างหนึ่ง และปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ

ปรากฎหลักฐานว่า มีมาแล้วตั้งแต่สมัยทวาราวดี ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ โดยได้พบงานปูนปั้นประดับศาสนสถานในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งที่เป็นลวดลายประติมากรรมรูปพระพุทธรูป เทวดา และบุคคล ในบริเวณเมืองโบราณสำคัญ ๆ ของภาคกลาง เช่น เมืองนครปฐม เมืองลพบุรี เมืองคูบัว จ.ราชบุรี เมืองอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี และเมืองมโหสถ จ.ปราจีนบุรี

นอกจากนี้ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ปรากฎที่เมืองฟ้าแดดสูงยาง จ.กาฬสินธุ์ และภาคเหนือที่เมืองหริภุณชัย หรือ ลำพูน เป็นต้น สันนิษฐานว่า ศิลปะการปั้นปูนดังกล่าวนี้ คงได้รับการถ่ายทอดมาจากช่างชาวอินเดีย ที่เดินทางเข้ามาสู่ดินแดนแถบนี้ พร้อม ๆ กับการเผยแพร่เข้ามาของศาสนาพุทธและฮินดู



งานปูนปั้นที่ปรากฎอยู่ในศิลปะสกุลช่างหนึ่ง ซึ่งมีอายุร่วมสมัยกับอยุธยา คือ ศิลปะล้านนา งานปูนปั้นที่งดงาม และมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี คือ งานปูนปั้นรูปเทวดาประดับวิหารเจ็ดยอด วัดมหาโพธาราม หรือวัดเจ็ดยอด และปูนปั้นประดับ หอไตรวัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่

รูปเทวดา หรือ รูปบุคคลชั้นสูงในศิลปะล้านนา หลักฐานที่มีอยู่ส่วนใหญ่ สร้างตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ ๒๐ หรือพุทธศตวรรษที่ ๒๑ ลงมา พระพักตร์รูปเทวดา ของหน้าวิหารเจ็ดยอด แสดงถึงเค้าความนิยมในศิลปะสุโขทัย ที่ยังหลงเหลืออยู่

เครื่องทรงมงกุฎ ภูษาผ้านุ่ง มีแบบมากมายหลายแบบ มีความวิจิตรพิสดาร อันสะท้อนการสืบทอดจากศิลปะที่มีอยู่ก่อน เช่น จากเมืองเชียงแสน และคงมาจากศิลปะจีน รวมทั้งศิลปะพม่าด้วย นอกเหนือจากแบบอย่างที่มีอยู่ก่อนในศิลปะสุโขทัยอีกเช่นกัน
 

งานประดับผนังด้านนอกของวิหารนี้แบ่งไว้ ๒ แถว แต่ละแถวแบ่งช่องสำหรับรูปเทวดานั่ง ที่ยืนพนมมือประดับในส่วนของพื้นที่อันเหมาะสม ตรงหลืบที่เป็นมุมจากการยกเก็จ พื้นหลังของรูปเทวดาเหล่านี้ประดับลายโปร่งประเภทพันธุ์พฤกษา 

รูปเทวดาทุกองค์ มีพระพักตร์และพระวรกายที่ได้สัดส่วนสมบูรณ์ วงพระพักตร์ยาวรีคล้ายรูปไข่ จึงยังเกี่ยวข้องกับอิทธิพลของศิลปะสุโขทัย ที่แพร่หลายขึ้นมาตั้งแต่เมื่อต้นพุทธศตวรรษที่แล้ว 

เครื่องประดับมากมาย หลากหลายด้วยรูปแบบ เช่น มงกุฏ กรองศอ สังวาล และภูษา เป็นต้น คงจำลองหรือดัดแปลงจากเครื่องทรงในราชสำนักของสมัยนั้น รูปแบบของเครื่องทรงเครื่องประดับเหล่านี้ ชวนให้คิดว่าอาจเกี่ยวข้องกับที่มีอยู่ในศิลปะสุโขทัย พม่า และจีน ด้วย 

ผนังหรือพื้นหลังของรูปเทวดา มีลายรูปดอกไม้ ใบไม้เป็นกลุ่ม พร้อมทั้งลายประดิษฐ์เป็นแถบพลิ้วประกอบอยู่ด้วย แสดงถึงอิทธิพลของลวดลายประดับแบบจีน ซึ่งไม่เพียงแพร่หลายอยู่ในศิลปะล้านนาเท่านั้น แต่ยังปะปนอยู่ในงานประดับของศิลปะสุโขทัย และศิลปะพม่าด้วยเช่นกัน 

งานปูนปั้นดังกล่าว นอกจากประดับผนังให้งดงามแล้ว ยังมีความหมายคือ เล่าเรื่องราวในเรื่องพุทธประวัติ ที่กล่าวถึงเหล่าเทวดาพากันมาชุมนุม ท่ามกลางดอกไม้สวรรค์ที่โปรยปรายลงมา เพื่อแสดงความชื่นชมยินดี คราวที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ ตรงกับความประสงค์ในการสร้างเพื่อระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์ 

การประดับรูปเทวดา ยังสืบต่อกันมาโดยประดับที่ผนังเรือนธาตุเจดีย์ทรงปราสาท แต่ด้วยความหมายที่แตกต่าง จากรูปเหล่าเทวดาที่วัดเจดีย์เจ็ดยอด เพราะคงความถึงเทวดาผู้รักษาเท่านั้น มิใช่หมายถึงเทพชุมนุมในพุทธประวัติ เช่น ที่เจดีย์วัดโลกโมลี กู่พระแก่นจันทร์

รวมทั้งงานประดับรุ่นหลัง ซึ่งประดับรูปเทวดายืนไว้เสากรอบประตูทางเข้าอุโบสถ เช่น ที่วัดพระสิงห์ เมืองเชียงใหม่...



































































































































ขอบคุณครับ...

Create Date : 07 สิงหาคม 2553
Last Update : 7 สิงหาคม 2553 8:56:22 น. 0 comments
Counter : 982 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

boyberm
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




boyberm
Friends' blogs
[Add boyberm's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.