Group Blog
 
All Blogs
 



ดี.เอช.ลอว์เรนซ์ ...“ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์”(Lady Chatterley’s Lover) ผู้บุกเบิกนวนิยายแนว“อีโรติค”

จำไม่ได้ว่าเคยเห็นหนังสือนวนิยายแปลที่ชื่อ “ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์”  (หรือ Lady Chatterley’s Lover) ในปีไหน หรือว่าตอนที่ยังเป็นเด็กตัวเล็กๆ ตอนนั้นอายุสักกี่ขวบกันแน่ จนกระทั่งโตขึ้นมาหน่อยก็ยังเห็นหนังสือชื่อเรื่องนี้เป็นนวนิยายเล่มหนาๆ ที่เราในสมัยที่ยังเด็กอยู่นั้นไม่กล้าจับขึ้นมาอ่าน ด้วยเหตุผลสองสามประการ

อันที่หนึ่ง เพียงเห็นแค่หน้าปกของหนังสือนวนิยายเล่มนี้ที่ถูกบรรจงวาดด้วยภาพหญิงสาวสวยโพสต์ท่าทางแบบ “อีโรติค”  กลัวว่าจะมีเรื่องราวที่ไม่เหมาะสมกับวัยเด็กอย่างเราๆ ในสมัยนั้น 

แต่ก็เห็น “ผู้ใหญ่”ในสมัยนั้นต่างก็ต่อคิวกันอ่านกันไม่ขาดสาย...

แม้กระทั่งเป็นภาพยนตร์ในเรื่องเดียวกันนี้ถูกนำมาฉายในเมืองไทยในสมัยนั้นก็เหมือนจะจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่า“เคยไปดูกับผู้ใหญ่” อยู่หนหนึ่ง (มีหลายประเทศนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์มีหลายเวอร์ชั่น)

แท้จริงแล้วเป็นเรื่องราวของสามีภรรยาคู่หนึ่ง ไม่สามารถมีความสุขในชีวิตครอบครัวได้ เนื่องจากร่างกายของสามีไม่สามารถสนองตอบความต้องการ(ทางเพศ)ให้แก่ภรรยาตนเองได้ ขณะที่มี “คนสวน”ซึ่งเป็นพระเอกที่สามารถเข้ามาเติมเต็มทดแทนส่วนที่ขาดหายไปนั้นได้

นวนิยายเรื่องราวจบลงตรงที่ คู่รักทั้งสองตั้งครรภ์ขึ้นมา กลายเป็น “ทางตัน”ที่ต้องหาทางออกให้แก่คู่สามีภรรยา

ประเด็นที่สังคมก็จับตามอง ก็คือ เมื่อทั้งภาพยนตร์และนวนิยายเรื่องนี้ออกสู่สายตาชาวโลกต่างก็ได้รับการกล่าวขวัญถึงในแง่ของศีลธรรม ความเหมาะสมของเนื้อหา ไม่นับรวมภาพนำเสนอผ่านสายตาผู้ชมทั่วโลกในแนว “อีโรติค” หรือบางประเทศเข้าขั้นก็เรียกว่า “นู้ด หรือ โป๊”

ในอดีตเรื่องแบบนี้นั้น  มนุษยชาติทุกชนชาติศาสนาล้วนมีความรู้สึกที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างมาก กล่าวกันว่า “ศีลธรรม” หรือระดับของความหยาบคายทางเพศที่สะท้อนออกมาในรูปของวรรณกรรมหรือภาพยนตร์

ซึ่งแตกต่างจากสมัยนี้ ที่อาจมีความหยาบคายสูงกว่ามาก แต่มนุษยชาติกลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติ

 ................................................................................

ผู้เขียนมีเจตนานำเสนอเรื่อง “ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์” ( Lady Chatterley’s Lover) นี้เพื่อให้ผู้อ่านเกิดการเปรียบเทียบย้อนหลังไปทบทวนหาความแตกต่างของศีลธรรมในอดีต เพื่อให้เห็นถึงความเปลี่ยนไปของสังคมไทยและสังคมโลก

รวมทั้ง ทิศทางแนวโน้มของภาพยนตร์ไทยที่กำลังสะท้อนให้เห็นถึง “ศิลปะ” ที่กำลังเปลี่ยนแปลงตามกระแสโลกเช่นเดียวกันนั้น

ผู้ที่สนใจวรรณกรรมเรื่องนี้น่าจะยังสามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือเก่าแถวตลาดหนังสือจตุจักร

ส่วนผลงานที่เป็นภาพยนตร์นั้น ยังสามารถหาชมได้ทาง www.youtube.com  ยกเว้นเวอร์ชั่นปี ค.ศ. 1981 (ซึ่งเก่ากว่า)ที่ไม่สามารถดาวน์โหลดมาชมได้ เนื่องจากเป็นงานที่มีเจ้าของดูแลลิขสิทธิ์นั้นอยู่

นอกจากนี้เพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องนี้ก็เป็นเพลงที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก คุ้นหู้ผู้อ่านเลยทีเดียว 

...........................................................

ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์ ( Lady Chatterley’s Lover) นั้น เป็นงานเขียนของ  เดวิด เฮอร์เบิร์ต ( ดี.เอช.ลอว์เรนซ์ )   ผู้แปล แอนด์ เป็นนามปากกาที่ใช้ในด้านงานแปล  ของ “สด กูรมะโรหิต” ท่านเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงในอันดับต้นๆ ของบ้านเราอยู่หลายเรื่อง เช่น "ปักกิ่งนครแห่งความหลัง" "คนดีที่โลกไม่ต้องการ" "เมื่อหิมะละลาย"

ประวัติของ เดวิด เฮอร์เบิร์ต์ (ดี.เอช.) ลอว์เรนซ์ เกิดเมื่อวันที่ 11 กันยายน ค.ศ. 1885 ในหมู่บ้านทำเหมืองแร่ เมืองนอตติ้งแฮมไชร์ ประเทศอังกฤษ บิดาของเขาเป็นคนงานเหมืองถ่านหินที่ไม่รู้หนังสือ ส่วนแม่เป็นผู้ดี แต่มีความตั้งใจอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะยกระดับลูกๆให้พ้นจากชนชั้นแรงงาน ชีวิตแต่งงานของพ่อแม่ไม่มีความสุขนัก และการเรียกร้องทางอารมณ์ของแม่ที่มีต่อลูกชาย ได้กลายเป็นพื้นฐานความคิดในด้านลึกที่สำคัญสำหรับลอว์เรนซ์ในการเขียนเรื่อง “Sons and Lover” (1913) นวนิยายแนวอัตชีวประวัติที่มีความสำคัญมากที่สุดเล่มหนึ่งของศตวรรษที่ 20  

ลอว์เรนซ์ จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซิตี้คอลเลจ เมืองนอตติ้งแฮม ในปี 1908 และเป็นครูสอนหนังสือที่โรงเรียนชายอยู่สองสามปี ในปี 1912 เขาลาออกจากอาชีพครูเมื่อนวนิยายเรื่อง The White Peacock เป็นนวนิยายเรื่องแรกของเขาได้รับการตีพิมพ์

เพื่อเป็นการอุทิศตัวเองให้กับการเขียน และเพื่อหนีตามผู้หญิงที่เคยแต่งงานแล้วและมีลูกติดมาด้วยถึง 3 คน เธอชื่อ ฟรีเอดา วอน ริชโธเฟน ซึ่งเป็นน้องสาวของ  บารอนนิช โธเฟน เขาเป็นนักบินชาวเยอรมันที่มีชื่อเสียงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และเป็นภรรยาของศาสตราจารย์ที่สอนภาษาฝรั่งเศสให้แก่ลอว์เรนซ์ที่นอตติ้งแฮมอีกด้วย

การหนีตามกันของชายหญิงคู่นี้ เป็นจุดเริ่มต้นชีวิตของความขัดแย้งทางความคิดของลอว์เรนซ์ตลอดชีวิต ทั้งต้องต่อสู้กับศีลธรรมในใจตัวเอง และชาวบ้านที่ทราบข่าวก็ไม่ยอมรับสถานะของพวกเขาทั้งสอง   

                เมื่ออ่านชีวประวัติของ ลอว์เรนซ์ มาถึงบรรทัดนี้แล้ว ...คาดเดาได้คำตอบไม่ยากนักต่อเนื้อหาเรื่องราวใน ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์  ที่ ลอว์เรนซ์ สะท้อนถึงการหาทางออกให้แก่ตัวละครในเรื่อง แน่นอนว่าเนื้อหาเรื่องราวทั้งหมดย่อมกระทบต่อศีลธรรมจรรยาของผู้คนทั่วไปก็ตาม  เช่นเดียวกับวิถีชีวิตของเขาที่ประสบในตอนนั้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า เรื่องราวของ ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์  นั้นเป้น หน่อของความคิดที่ผิดศีลธรรมจรรยาที่ถ่ายทอดและกระทบกระเทือนจิตใจมนุษย์ที่อ่อนไหวนั้นเรื่อยมา จนถูกถามหาในยุคสมัยปัจจุบัน.....?

ในปี 1915 ผลงานยอดเยี่ยมของเขาเรื่อง “The Rainbow” (เรื่องในลำดับที่ 4) ก็ถูกแบนเช่นเดียวกับนิยายแนวเดียวกันอีกเล่มคือ “Women in love” (1920)ที่พูดถึงอารมณ์เพศอย่างตรงไปตรงมา เรื่องนี้ถูกประเทศอังกฤษแบนและสั่งห้ามเผยแพร่ในฐานะหนังสืออนาจาร หลังจากตีพิมพ์ออกมาได้เพียงหนึ่งเดือน เพราะมีการแสดงออกในทางเพศมาก จนถูกกล่าวหาว่า “เป็นเรื่องลามก”  ทำให้ลอว์เรนซ์ ต้องเดินทางออกจากอังกฤษไปอยู่อีกครั้งในปี 1919 เพื่อแสวงหาสังคมที่มีแนวคิดอิสระ ลดความวุ่นวายทางการเมืองและจิตใจแก่ตัวเขา รวมทั้งต้องการอากาศบริสุทธิ์เพื่อการรักษาสุขภาพ  

ในปี 1926 เขาอพยพไปอยู่ที่เมือง วิลลามิเรนด้า ใกล้กับเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี และเริ่มต้นเขียนนวนิยายเรื่อง “ Lady Chatterley’s Lover” พิมพ์ออกจำหน่ายเองเป็นครั้งแรกในปี 1929 ซึ่งเขาได้แรงบันดาลใจมาจากความสัมพันธ์ระหว่างเขากับฟรีด้า( Frieda Lawrence ) นวนิยายเรื่องนี้ถูกห้ามเผยแพร่ในฐานะหนังสือ “โป๊” ต้นฉบับที่สมบูรณ์ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายของอังกฤษ จนกระทั่งปี 1960 บริษัทเพนกวินได้นำไปพิมพ์จำหน่ายเป็นครั้งแรก แล้วโดนดำเนินคดีสิ่งพิมพ์อนาจาร ศาลโอลด์ไบเลย์ กรุงลอนดอน พิจารณาคดีตัดสินในปีเดียวกัน โดยคณะลูกขุนพิจารณาว่า “ไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหานั้น”  จึงได้รับการยอมรับให้มีการเผยแพร่ในที่สุด

เขาถึงแก่กรรมที่เมือง ว็องซ์ ตอนใต้ฝรั่งเศส จบชีวิตลงด้วยการเป็นวัณโรค เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1930 มีอายุได้เพียง 44 ปี ส่วนฟรีด้า ภรรยาของเขาก็ไปแต่งงานใหม่

ข้อมูลใน //th.wikipedia.org  ระบุว่า “งานเขียนของลอว์เรนซ์สะท้อนให้เห็นถึงการลดความสำคัญของมนุษย์จากความก้าวหน้าของสมัยใหม่ และ การพัฒนาทางอุตสาหกรรม ในงานเขียนลอว์เรนซ์เผชิญหน้าหัวข้อต่างๆ ที่รวมทั้งสุขภาพทางอารมณ์ และความมีชีวิตจิตใจ, การตอบสนองอย่างธรรมชาติ (spontaneity), เรื่องเพศ และ สัญชาตญาณ   

ความเห็นของลอว์เรนซ์สร้างศัตรูหลายคน และการเผชิญหน้ากับการถูกกล่าวหา, การถูกเซ็นเซอร์ และการถูกตีความหมายอย่างผิดๆ ของงานเขียนอันเต็มไปด้วยความสร้างสรรค์ในครึ่งหลังของชีวิต ที่ส่วนใหญ่เป็นช่วงที่ลอว์เรนซ์เลือกที่จะหันหลังให้แก่สังคม ที่เรียกว่า "savage pilgrimage" เมื่อลอว์เรนซ์เสียชีวิต ภาพพจน์ของสาธารณชนต่อลอว์เรนซ์เป็นภาพของผู้สูญเสียความมีพรสวรรค์ไปกับการเขียนงานลามก (pornographer)

แต่ อี. เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ ได้แก้ตัวแทนลอว์เรนซ์ในงานศพว่าเป็น นักประพันธ์ผู้เต็มไปด้วยจินตนาการผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในบรรดานักเขียนร่วมสมัย ต่อมานักวิพากษ์วรรณกรรมผู้มีอิทธิพลเคมบริดจ์ เอฟ. อาร์. เลวิส ได้สนับสนุนลอว์เรนซ์อย่างแข็งขัน และสรรเสริญคุณค่าของงานของเขาในด้านความมีศิลปะ และความจริงจังทางจริยธรรรม และถือว่าระดับงานเขียนเทียมเท่างานเขียนระดับคลาสสิคของนวนิยายอังกฤษ

ในปัจจุบันงานเขียนของลอว์เรนซ์โดยทั่วไปเห็นกันว่าเป็นงานเขียนของผู้เห็นการณ์ไกล และเป็นงานตัวอย่างของการเขียนแบบสมัยใหม่นิยม แม้ว่าผู้สนับสนุนสิทธิสตรีบางคนจะประท้วงทัศนคติของลอว์เรนซ์เกี่ยวกับสตรี และ เรื่องเพศในงานบางชิ้น”

....................................................................................

อ่านตอนต่อไป เรื่องย่อ “ชู้รักเลดี้แชตเตอร์เลย์” (Lady Chatterley’s Lover)



Create Date : 01 สิงหาคม 2553
Last Update : 1 สิงหาคม 2553 11:45:11 น. 0 comments
Counter : 2083 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

boyberm
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




boyberm
Friends' blogs
[Add boyberm's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.