In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

ความเห็นต่อจริยศาสตร์

งานส่งอีกนั่นแหละ เราเป็นคนขี้เกียจน่ะ ไม่รู้เมื่อไหร่จะเขียนเพื่อลงบล็อกจริงๆจังสีกทีนะอันนี้ก็เขียนแบบว่า ห่วยมากๆ เพราะเขียนตอนดึก ส่งตอนเช้า คือเราเองเห็นด้วยกับพี่มิลล์อยู่แล้ว ต่างกันในบางจุดเท่านั้น เลยย่อของแกมาซะเลย

อันว่าประวัติพี่แกก็ใช่ย่อย วันก่อนไปเจอมาว่าแกอ่านหนังสือหลักเหตุผลของเพลโตตั้งกะตอน7ขวบ(แสดงว่าผิดปกติมาตั้งแต่เด็ก:)) พออายุได้13-14ก็อ่าน the wealth of nationของสมิท กะอ่านหนังสือของฟรีดแมน (คือไม่ใช่วาช่วง8-12ขวบไม่อ่านนะ) อยากจะบอกว่าเราเรียนเศรษฐศาสตร์ยังไม่อ่านของสองคนนี่เลย และคณะเรานะ คนสามสี่ร้อย ที่จะหาคนเคยอ่านยากมาก แปลว่าถ้าไม่ใช่เพราะพวกเราขี้เกียจก็ตานี่ผิดปกติแล้วล่ะ

ที่เอามาลงเขียนไม่ดีเอามากๆนะ(ปกติก็ห่วยอยู่แล้ว) แต่ว่าสรุปอย่างเดียว(หัวข้อคือคิดยังไง ดังนั้นถ้าเราตรวจของตัวเองคงได้สี่เต็มสิบ) ใครมาอ่านเอาไปอ้างอิงว่าเป็นของมิลล์ได้ เพราะมีข้อมูลเราเองน้อยมาก เพราะอย่างที่บอกเราเห็นด้วยกับเค้าซะเยอะอยู่แล้ว เลยไม่ค่อยได้เพิ่มอะไร เริ่มเลยละกัน

ในการศึกษาทฤษฎีทางจริยศาสตร์ที่ผ่านมานั้น เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับเกณฑ์การตัดสินคุณค่าทางศีลธรรม ตามแต่ละแนวคิดที่แตกต่างกัน อันมีที่มาจากพื้นฐานความเชื่อที่แตกต่างกัน เช่น สำหรับโสเครติสนั้นเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีเหตุผลจึงต้องการทำความดี แต่ที่เขาทำชั่วนั้นไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนไม่ดี เพียงแต่เขาไม่รู้เท่านั้นว่าอะไร คือความดี หรือการที่อริสโตเติลเชื่อว่าคุณธรรมคือการปฏิบัติซ้ำๆจนกลายเป็นนิสัย เพราะอริสโตเติลเชื่อว่าคุณธรรมไม่ใช่สิ่งที่ติดตัวมนุษย์มาแต่กำเนิด แต่มนุษย์มีคุณธรรมเพราะมนุษย์กระทำดีต่างหาก

เมื่อมีความเชื่อที่แตกต่างกัน ดังนั้นในแต่ละแนวคิดจึงมีการให้คุณค่าของการกระทำของมนุษย์ เกณฑ์การตัดสินในเรื่องคุณธรรม และเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์ที่แตกต่างกัน ตามแต่ว่านักปราชญ์ท่านนั้นๆมีพื้นฐานแนวคิด และความเป็นมาอย่างไร

เนื่องจากการศึกษาในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ผ่านมานั้น ได้ปูพื้นฐานให้มองทุกอย่างด้วยมาตรฐานที่วัดได้ มีบรรทัดฐานที่แน่นอน ใส่ใจที่ผล(output)ที่ออกมาว่าเป็นเช่นไร และหลักการที่สำคัญ คือ ต้องเกิดประโยชน์สูงสุดในระยะยาว

ดังนั้นเมื่อได้ศึกษาจริยศาสตร์ของมิลล์ จึงรู้สึกว่านี่เป็นจริยศาสตร์ที่มีคุณค่า อาจเป็นเพราะมิลล์เองก็เป็นนักเศรษฐศาสตร์ ดังนั้นวิธีคิด และความเชื่อของมิลล์จึงออกมาในรูปแบบที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้ ผมจึงรู้สึกว่านี่เป็นหลักการที่ใช้ได้จริง ไม่เลื่อนลอย และสามารถ “วัดได้” ง่ายกว่าเกณฑทางจริยศาสตร์ของบุคคลอื่นๆ

หลักการแรกเลยของมิลล์ คือ หลักมหสุข หรือประโยชน์ นี่เป็นหลักการพื้นฐานของ ศีลธรรมของมิลล์ มิลล์ถือว่าการกระทำที่ถูกได้แก่ การกระทำที่จะทำให้เกิดความสุข และการกระทำที่ผิด คือการกระทำที่จะทำให้เกิดสิ่งที่สวนทางกับความสุข จะถูกผิดมากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับแนวโน้มว่าจะเกิดความสุขหรือไม่สุขมากน้อยแค่ไหน คำว่าสุขในที่นี้หมายถึงความรื่นรมย์ ลัทธินี้ถือว่าความรื่นรมย์ และการหลุดพ้นจากความเจ็บปวดเป็นสิ่งพึงปราถนา เพราะฉะนั้นสิ่งใดที่ทำให้เกิดความรื่นรมยื หรือหลุดพ้นจากความเจ็บปวดเป็นสิ่งพึงปราถนา

แต่การรื่นรมย์นี้ไม่เหมือนกับความสุขแบบสัตว์ทั่วๆไป เพราะมนุษย์มีอายตนะที่สูงกว่าสัตว์ และหากเขารู้ตัวเขาจะไม่คิดว่าสิ่งอื่นเป็นความสุขนอกจากจะทำให้อายตนะนี้พอใจ นั่นคือ ความรื่นรมย์ที่เกิดจากปัญญา ความรู้สึก จินตนาการ และสำนึกทางศีลธรรม ไม่ใช่ความรื่นรมย์ทางกาย เพราะว่าความรื่นรมย์ทางใจนั้นถาวรกว่า ปลอดภัยกว่า และสิ้นเปลืองน้อยกว่าความรื่นรมย์ทางกาย

หากเราบอกว่าความรื่นรมย์ทางใจมีมากกว่าทางกายแล้ว หมายความว่าความรื่นรมย์แต่ละแบบมีคุณภาพแตกต่างกัน ดังนั้นเราไม่สามารถคำนึงถึงความรื่นรมย์เฉพาะจากปริมาณได้ หากเรามีความสุขสองอันและเรารู้จักความสุขทั้งสองเป็นอย่างดี การที่เราเลือกความสุขอันใดอันหนึ่ง โดยไม่คำนึงถึงพันธะทางศีลธรรมหรือความทุกข์ที่ตามมา แม้ว่าปกติแล้วความสุขของอันหลังนั้นจะมีมากกว่า แต่เราก็ยังเลือกอันแรก นั่นหมายความความสุขอันแรกมีคุณภาพมากกว่าอันหลัง ดังนั้นผู้ที่สามารถเลือกได้ก็จะเลือกที่จะมีความสุขในแบบแรก เพราะคงไม่อยากมีใครใช้ชีวิตแบบสัตว์ หรือทำตัวเป็นคนโง่ คือเขาจะไม่ยอมลดตัวมาใช้ชีวิตในสภาพที่ต่ำกว่าเดิม เหมือนเป็น"โสเครติสที่ไม่เป็นสุข ดีกว่าเป็นเจ้างั่งที่เปรมปรีด์"

ปัญหาต่อมาคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่าความสุขอันไหนมีมากกว่ามิลล์บอกว่า ความสุขนั้นไม่ใช่ของบุคคล แต่ต้องเป็นความสุขที่มากที่สุดของทุกคน คือเราควรปลูกฝังให้คนมีบุคลิกภาพที่สูงส่ง ให้สามารถนำความสุขมาสู่ผู้อื่นได้ทั้งทางคุณภาพและปริมาณ ไม่ใช่ความสุขในแบบที่เห็นแก่ตัว

องค์ประกอบในความพอใจของชีวิตนั้นมีสองสิ่ง แต่หากมีเพียวอย่างเดียวก็สามารถสนองความมุ่งหมายได้ คือ ความสงบและความระทึกใจ เมื่อสงบมากเราก็สามารถพอใจกับความรื่นรมย์นิดเดียว หรือหากระทึกมากเราก็ปรับตัวกับความเจ็บปวดได้ทั้งสองประการนี้สัมพันธ์กัน จะมีก็แต่บุคคลที่เฉื่ยชาและผู้ที่อยากระทึกใจมากเกินไปเท่านั้นที่ไม่เกิดความรื่นรมย์ คนที่ไม่เคยใส่ใจใครจะไม่มีความระทึกใจที่ว่าและจะน้อยลงจนตายไปกับความเห็นแก่ตัว ถัดมาปัยหาที่เราไม่สมหวังในชีวิตก้เนื่องมาจากการขาดพัฒนาการทางจิต ในที่นี้ไม่ต้องพัฒนาจนเป็นปราชญ์หากแต่ต้องได้รับการขัดเกลามาบ้าง จะสามารถพบความรื่นรมย์จากสิ่งรอบกายได้ไม่มีที่สิ้นสุด

นอกจากนั้นแนวคิดนี้เห็นว่าการอุทิศตนนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่การถูกต้องนั้นไม่ใช่เพราะการอุทิศนั้นดีในตนเองเหมือนดั่งคานท์ หากแต่มองว่าดีเพราะการอุทิศตนนั้นจะนำมาซึ่งความสุขแบบมหสุข แต่ประโยชน์นิยม ก็ไม่ได้บอกให้เราละเลยความสุขส่วนตัว คือเราต้องให้ความสำคัญกับความสุขของทุกคนที่เกี่ยวข้อง คือทั้งของผู้อื่นและของเราเอง

เราสามารถประเมินความดี ชั่ว ถูก ผิดได้จากความเข้าใจ ศิลปะแห่งชีวิตของมิลล์ที่มีสามสาขาดังนี้
กฏศีลธรรม เป็นเรื่องของความถูกต้อง เรื่องของเหตุผลและมโนธรรม คือเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความสุขของผู้อื่น
กฏความรอบคอบ ไม่เกี่ยวกับศีลธรรม เป็นเรื่องของความรู้สึก เป็นกฏที่มีเงื่อนไข

สุนทรียศาสตร์ เป็นเรื่องของความงามและจินตนาการ
สิ่งที่เราใช้ตัดสินดีชั่วก้คือกฏศีลธรรม เป็นกฏที่เด็ดขาดเพราะเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อบุคคลภายนอก กฏนี้มีที่มาจากความเห็นโดยส่วนรวม และมโนธรรมของผู้กระทำ กฏความรอบคอบนั้นเป็นสิ่งที่กระทบเพียงตัวผู้กระทำ ส่วนสุนทรียศาสตร์นั้น ก็สามารถแสดง ถึงความแตกต่างระหว่างมนุษย์และสิ่งอื่นที่ไม่มีจินตนาการ

ประโยชน์นิยมและแรงจูงใจ ในที่นี้มิลล์มีความเห็นที่นับได้ว่าตรงกันข้ามกับคานทืเลยทีเดียว โดยมิลล์สนใจแต่ผลของการกระทำ แต่ไม่ใส่ใจว่าอะไรคือแรงจูงใจ คืแม้จะทำไปเพื่อหวังประโยชน์แต่หากผลอกมามีความสุขแก่คนส่วนใหญ่ก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ดี จริงที่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่ได้ทำเพื่อส่วนรวม แต่เมื่อทุกคนทำเพื่อประโยชน์ของแต่ละคนก็กลายเป็นผลประโยชน์ของโลก การจูงใจนั้นไม่เหมือนการจงใจ การจูงใจคือแรงกระตุ้นที่จะให้ทำ แต่การจงใจคือการตั้งใจทำ เพราะการกระทำนั้นมีความตั้งใจประกอบอยู่ การประเมินที่แรงจูงใจนั้นแม้จะสำคัญต่อการประเมินค่าของมนุษย์ แต่ไม่มีผลต่อการประเมินค่าทางศีลธรรมเพราะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการกระทำ

เหตุที่ผมเชื่อตามแนวคิดนี้เกือบทั้งหมดเป็นเพราะว่าเป็นแนวคิดที่สามารถวัด “เกณฑ์ทางศีลธรรม” ได้อย่างชัดเจนที่สุด การจะวัดและตัดสินใจกันที่ความตั้งใจดีนั้นเป็นไปได้ยาก ดังนั้นสิ่งที่สามารถแสดงออกมาให้เห็นเป็นผลได้นับเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะเกิดผลดีกับคนอื่นๆด้วยเมื่อทุกคนต้องการทำให้ตัวเองมีความสุขแล้วก็ย่อมยังเป็นประยชน์แก่ส่วนรวมในระยะยาวด้วย อีกประการรูปแบบการใช้ชีวิตที่มีศีลธรรมของแนวคิดนี้สามารถมีความสุขกับชีวิตและสุนทรีย เป็นรูปแบบที่ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่เหมือนโลกในจินตนาการแบบอื่นๆ ดังนั้นผมจึงคิดว่าเป็นโลกที่สามารถสัมผัสได้จริง และคนส่วนใหญ่สามารถเข้าใจและทำตามได้น่าจะมีคุณค่ามากกว่าโลกแห่งความฝัน ที่ไม่สามารถทำให้คนส่วนใหญ่ทำตามได้ หรือไม่รู้ว่ามีใครเข้าถึงบ้าง




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2549 5:50:17 น.
Counter : 2177 Pageviews.  

การใช้พุทธปรัชญาในชีวิตประจำวัน

ในการดำเนินชีวิตนั้น ไม่ว่าจะรู้หรือไม่รู้ตัว เราทั้งหลายย่อมมีหลักอะไรบางอย่างในการคิด กระทำ หรือเป็นหลักอันใช้เป็นแนวทางในการดำรงชีวิต โดยหลักการที่กล่าวถึงนี้มีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล อันเป็นผลมาจาก ศาสนา ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี และประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมาของแต่ละคน

โดยที่ผมเองนั้นก็มีหลักอย่างหนึ่งที่เชื่อและใช้อยู่เป็นปกติ โดยที่ในตอนแรกเองนั้นก็ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า มีที่มาจากอะไร ทำไมจึงคิด และมีหลักยึดเช่นนี้ รู้แต่เพียงว่า อะไรหลายๆอย่างที่เกิดขึ้นโดยที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เราก็ควรจะปล่อยวาง เนื่องด้วยมันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้นั้นมันก็เป็นธรรมดามิใช่หรือ ที่เราจะควบคุมมิได้ ต่อให้เราไปพยายามเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็ไม่มีผล มาวันหนึ่ง ผมก็ค้นพบคุณความดีของท่านนายกที่ท่านมิได้ตั้งใจทำ นั่นก็คือทำให้ผมรู้ว่า สิ่งที่เราคิดอยู่นั้นทางพุทธศาสนาเรียกว่า ตถตา (เช่นนั้นเอง)

การที่เราจะบอกว่า เช่นนั้นเอง เราต้องเข้าใจจริงๆว่าทุกอย่างเป็นธรรมดา คนเรามีทุกข์เป็นธรรมดา เราก็ควรจะรู้จักและเข้าใจ ว่านี่คือทุกข์ คือความไม่พอใจในสภาพที่เป็นอยู่ โยงไปถึงอะไรคือสาเหตุที่ทำให้เราเกิดทุกข์นั้นๆได้ เราก็คิดว่าสิ่งที่ทำให้เราทุกข์นั้นมันเป็นธรรมดา มันไม่ได้แปลก หรือวิเศษวิโสอะไรเลย อีกทั้งเรายังไปบังคับมันไม่ได้ แล้วเราจะไปวิตกทุกข์ร้อนเพิ่มไปทำไมกับสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เอาเฉพาะสิ่งที่เราควบคุมได้ คือตัวเราก่อนมิดีกว่าหรือ

ตามปกติแล้วผมจะนึกว่า ตถตา อยู่เสมอๆเพราะสิ่งที่เจอรอบตัวเรานั้นรังแต่ทำให้เกิดทุกข์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมปัจจุบันที่มีเรื่องการเมืองร้อนแรง สังคมธรรมศาสตร์เองก็มีข้อคำถามหลายอย่างในตัวท่านผู้นำ ก่อนหน้านี้ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ทั้งหลาย กระทั่งเข้าไปร่วมประท้วงกับเขาด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆคือ เครียด ทุกข์ เพราะจะเจอแต่คนที่เอาสิ่งที่ไม่ดีของท่านผู้นำมาพูด เราก็อยากให้ท่านออก เลยเป็นทุกข์ เพราะท่านจะออกไม่ออกเป็นเรื่องที่เราไปบังคับไม่ได้ เครียดอยู่นานจนคิดได้ว่า เช่นนั้นเอง คนเรามีโลภ มีหลง เป็นธรรมดาของปุถุชน เราจะไปกะเกณฑ์ให้เป็นอย่างนั้น อย่างนี้ไม่ได้ เพราะมันเป็นไปตามธรรมดาของชีวิตแล้ว หรือในกรณีที่ผมโดนนินทาว่าร้าย อันนี้เป็นมานาน และแน่นอนก็ยังจะเป็นต่อไป ผมก็มานั่งคิดว่า จริงนะที่ว่าคนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ ขนาดพระพุทธเจ้าเองก็ยังมีคนที่ไม่ชอบมาใส่ร้ายป้ายสีต่างๆนาๆ ถึงกับปองร้ายก็มี แล้วเราล่ะ เราก็เป็นแค่คนธรรมดาคนนึง ไม่สัพพัญญู ไม่พหูสูตร แล้วทำไมจะมีคนว่าเราไม่ได้ มันเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องโดนว่า โดนนินทา เมื่อมันเป็นเช่นนี้เอง เราจะไปเครียด ไปกังวล ไปวิตกกับสิ่งที่เกิดขึ้นทำไม เราไปห้ามไม่ให้คนอื่นพูดไม่ได้ เราทำได้อย่างเดียวคือ เข้าใจว่านี่คือชีวิต คือธรรมดา เช่นนั้นเอง เราก็จะสบายใจว่า อ๋อนี่คือนิสัย คือธรรมชาติของคน ถ้าไม่ได้พูด ไม่ได้นินทาก็เป็นวิญญูชนไปแล้วสิ เราต้องเข้าใจเขา เพื่อเราจะได้ไม่ทุกข์ด้วย

เคยไหมที่เราเจอเหตุการณ์ หรือคนที่น่าสังเวช น่าสลดใจแล้วรู้สึกเป็นทุกข์ เมื่อก่อนผมก็เป็นอย่างที่ว่า จนเดี๋ยวนี้ก็ยังเป็นอยู่ แต่มีอาการน้อยลงกว่าเมื่อก่อน ทำไมล่ะ ก็ในเมื่อเหตุการณ์หรือผู้คนเหล่านั้น เราไม่ได้เป็นผู้กระทำขึ้น เราไม่ได้ไปควบคุมบังคับให้เกิดขึ้น อันที่จริงเราไม่สามารถไปควบคุมอะไรได้ด้วย แล้วเราจะไปเป็นทุกข์กับสิ่งที่เกิดขึ้นทำไม เมื่อก่อนตอนเห็นขอทานก็จะเกิดความรู้สึกสงสารว่าทำไมคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน คนพวกนี้ทำไมจนกว่าเรามากๆ ทำไมไม่มีอย่างน้อยก็ปัจจัยที่สามารถดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ เป็นทุกข์ในใจ แต่ในที่สุดก็คิดได้ว่า ตถตา เช่นนั้นเอง เรื่องของการไม่มีเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าทุกคนมีเหมือนกันหมดสิ เป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดา ธรรมชาติอันไม่อาจกล่าวถึงได้เป็นผู้ที่สร้างความแตกต่าง แต่ในการเห็นว่ามันเป็นเช่นนั้นเองก็ใช่ว่าจะปล่อยเลยตามเลย ต้องเข้าใจด้วยว่าเราก็สามรถช่วยเหลือคนเหล่านั้นได้ หากมีเวลาและโอกาสเหมาะสม แต่ไม่จำเป็นต้องไปวิตกทุกข์ร้อนอะไร เพราะอย่างไรเสียเราก็แก้ความจนให้หมดไปไม่ได้ มีแต่ใจเราเท่านั้นเองที่พยายามจะไปบังคับแข็งขืน แล้วเราเองที่จะเกิดทุกข์

หลายครั้งที่เห็นคนอื่นดูทีวี โดยเฉพาะในยุคปัจจุบัน รายการเรียลลิตี้โชว์ แล้วต้องการที่จะให้คนที่ตนชมชอบเข้ารอบไป พอไม่ได้ก็มานั่งเศร้าเสียใจ ผมเองก็นึกขำในใจ ก็การแข่งขันแบบนี้เราไปควบคุมอะไรได้ที่ไหนกันเล่า เราเองแม้จะมีส่วนร่วมกับการแข่งขันได้ แต่ก็เป็นหนึ่งในหมื่น หนึ่งในแสนแสนคนเท่านั้นเอง จะไปบังคับกะเกณฑ์ให้มันเป็นอย่างที่เราต้องดาร ให้เป็นทุกข์ไปทำไมกัน มันเป็นธรรมดาที่การแข่งขันย่อมมี แพ้มีชนะมันเป็นของมันอย่างนั้นมาแต่ก่อน และก็จะเป็นไปเสมอ เป็นธรรมดาของการแข่งขัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีอารมณ์ร่วมเลย แต่ขอให้เข้าใจว่ามันเป็นไปตามธรรมดา เสียใจได้แต่อย่าไปวิตกจริต มีอารมณ์กับเหตุการณ์ได้แต่อย่างมีขอบเขต

ในการดำรงชีวิตนั้น มีหลายเรื่องที่ผ่านมาทำให้เราเป็นทุกข์ ถ้าเรารับเอาทุกเรื่องมาเป็นทุกข์เราคงไม่สามารถมีรอยยิ้มได้แม้เพียงเสี้ยววินาที ดีกว่าไหมถ้าเราพิจารณาก่อนว่าที่ทำให้เราเป็นทุกข์เกิดจากอะไร จากเพื่อน จากสังคม หรือจากเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดทุกข์ ปล่าวเลยทุกข์เกิดจากเราเท่านั้นเอง ใจเราก็เหมือนกระจกที่สะท้อนสิ่งต่างๆรอบตัว แต่ถามว่าจริงไหม ไม่เลย มันก็เป็นเพียงภาพสะท้อนเท่านั้น จับต้องไม่ได้ อย่างไรเสียมันก็เป็นกระจกวันยังค่ำ แต่ที่เราไปทุกข์เพราะเราไปคิดว่าภาพนั้นจริง ภาพนั้นเที่ยง เพราะฉะนั้นกล่าวไปแล้วเราไม่สามารถบังคับ หรือทำอะไรได้เลย อย่างที่กล่าวไว้ในตอนต้น ว่าอะไรที่เราไม่สามารถบังคับ ควบคุมได้ก็คิดซะว่ามันเป็นธรรมดา เป็นเช่นนั้นเอง เพราะฉะนั้นแล้วทุกอย่างมันเป็นเช่นนั้นเอง เราไปควบคุมไม่ได้ ควบคุมได้อย่างเดียวว่า ให้คิดว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2549 5:25:26 น.
Counter : 3226 Pageviews.  

จริยศาสตร์

จริยศาสตร์ เป็นการศึกษาถึงเป้าหมายสูงสุดของมนุษย์เราว่าคืออะไร ศึกษาถึงความดีสูงสุดของมนุษย์ อะไรควรทำหรือไม่ควรทำเพื่อจะได้ไปถึงเป้าหมายสูงสุดนั้น และจะใช้เกณฑ์อะไรมาตัดสินว่า สิ่งนี้ดี สิ่งนี้ไม่ดี สิ่งไหนถูก สิ่งไหนผิด ดังนั้น เป้าหมายของชีวิต คือ ตัวที่จะกำหนดการกระทำของมนุษย์ว่าจะเป็นไปในแนวทางใด และเป้าหมายชีวิตของมนุษย์แต่ละคนนั้นก็แตกต่างกันออกไปตามแต่แนวคิดแต่ตามหลักแล้วจริยศาสตร์มุ่งค้นหาคำตอบใน 3 เรื่องด้วยกัน คือ
1. คุณค่าการกระทำของมนุษย์ เป็นการศึกษาความหมายของค่าทางจริยธรรม อันได้แก่ ดี ชั่ว ถูก ผิด ควร ไม่ควร ศึกษาว่าคุณค่ามาจากไหนคุณค่าการกระทำ, ความประพฤติ, พฤติกรรมของมนุษย์ที่ดีชั่ว ถูกผิด ควรไม่ควรเป็นแบบใด อะไรคือ ดี ชั่ว ถูก ผิด และสิ่งเหล่านี้มีอยู่จริงหรือเป็นกฎที่มนุษย์สร้างขึ้น และถ้ามันมีอยู่จริงมันเป็นยังไง
2. เกณฑ์ตัดสินคุณค่าการกระทำของมนุษย์์ การศึกษาหลักหรือมาตรการที่ใช้ตัดสินพฤติกรรม หรือการกระทำอย่างหนึ่งว่าดีชั่ว ถูกผิด คือ เป็นการศึกษาว่า เมื่อคน ๆ หนึ่งกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว จะใช้หลักหรือมาตรการอะไรมาตัดสินว่าการกระทำนั้นถูกหรือผิด และมีเหตุผลอย่างไรที่ใช้หลัก หรือมาตรการนั้นมาตัดสิน อีกทั้ง มนุษย์นำสิ่งใดมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินความถูก ความผิด หากมิได้เอาความรู้สึกส่วนตัว กฎหมาย จารีต ประเพณี หรือความเชื่อมาตัดสิน แล้วมีเหตุผลอะไรมาเป็นมาตรฐานรองรับในการตัดสินในเรื่องนั้น ๆ ว่าดีชั่ว ถูกผิด และมีเกณฑ์ตัดสินคุณค่าที่แน่นอนตายตัวหรือไม่
3. อุดมคติหรือเป้าหมายสูงสุดของชีวิต คือการศึกษาว่า ชีวิตมนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร ชีวิตที่ดีหรือชีวิตที่ประเสริฐที่มนุษย์ควรแสวงหาควรเป็นชีวิตแบบใด มนุษย์ควรใช้ชีวิตอย่างไรจึงคุ้มค่าของการเกิดมาเป็นมนุษย์ อะไรคือความดีสูงสุดซึ่งมนุษย์ควรประพฤติปฏิบัติ หรืออุดมคติอันสูงสุดของมนุษย์ควรเป็นเช่นไร และมนุษย์ควรจะประพฤติปฏิบัติตนอย่างไรจึงจะบรรลุถึงอุดมการณ์นั้นได้




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2549    
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2549 3:18:17 น.
Counter : 1177 Pageviews.  

งานส่งปรัชญาตะวันออก



“แนวคิดของสังกราจารย์ ตามที่พบในอุปนิษัท
1 พรหมมันมีจริง โกลนี้เป็นเพียงภาพปรากฏ.
2. พรหมมันมีคุณสมบัติสร้างโลกจริง คุณสมบัตินั้นคือมายา และมายาเป็นตัวทำให้ผู้ไม่มีปัญญาคิดว่านี่คือความจริง”


จากภาพที่เห็น เป็นภาพโลกที่ถูกทำให้เบลอ เพราะว่าตามแนวคิดของท่านศังกราจารย์ โลกนี้ไม่มีสิ่งใดเลยที่เป็นความจริง ความจริงมีอย่างเดียวเท่านั้น คือ พรหมมัน ดังนั้นสิ่งต่างๆที่เราพบ เห็น สัมผัสล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่เป็นความจริงทั้งสิ้น การที่เราเห็น และเข้าใจว่าโลกที่เป็นอยู่ “จริง” นั้นก็เพราะว่าเราไม่มีปัญญา แต่หากเราเป็นผู้รู้แจ้งในสัจธรรมแล้ว โลกก็จะเป็นเพียงมายาที่ถูกสร้างขึ้นเท่านั้น ดังนั้นแล้วโลกในแบบของผู้มีปัญญาที่บรรลุธรรมจึงอาจเป็นแบบรูปนี้(สัญลักษณ์) ว่าไม่เป็นจริง ไม่ชัดแจ้ง เป็นเพียงภาพที่พรหมมันสร้างขึ้นเท่านั้น





“ภ้าปลาช่อนอยู่บนต้นไม้ ปลาช่อนจะหวาดกลัวตัวสั่นไม่หยุด แต่ถ้าเป็นลิงล่ะ ลิงจะกลัวต้นไม้กระนั้นหรือ”

แม้ไม่ใช่ปลาช่อน แต่ภาพนี้คงเป็นแบบเดียวที่ปลาจะอยู่บนต้นไม้ได้ สิ่งมีชีวิตแต่ละอย่างล้วนมีสภาพตามธรรมชาติที่ต่างกัน แล้วเราจะเอาเกณฑ์อะไรมาตัดสินความถูกต้อง ดีงามของสิ่งต่างๆ สิ่งที่ว่าสวยของมนุษย์นั้นสามารถใช้กับสัตว์ได้หรือ แล้วทำไมมนุษย์จึงตั้งตนพิเคราะห์ความผิดถูกในการดำเนินไปของสิ่งต่างๆได้ ในแต่ละคนย่อมมีมุมมองที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง เราบอกได้หรือว่าสิ่งที่ผู้อื่นกระทำนั้นถูก หรือ ผิด ดังนั้นการแก้ปัญหาก็คือ เราควรถอนตัวออกจากการตัดสินสิ่งต่างๆต้องไม่ทำตัวเป็นศูนย์กลางของโลก เพราะทุกอย่างย่อมมีธรรมชาติของตน




 

Create Date : 07 ตุลาคม 2549    
Last Update : 7 ตุลาคม 2549 3:03:43 น.
Counter : 929 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.