In the last analysis, our only freedom is the freedom to discipline ourselves. - Bernard Baruch
Group Blog
 
All Blogs
 

ความรู้ คือ ปราการ

ก่อนอื่น ผมมีรูปให้ทุกคนดูก่อนนะครับ ดูซิว่าเราเห็นอะไรในรูปนี้ครับ




เป็นไงกันมั่งครับเห็นอะไรกันเอ่ย ผมเคยนำไปให้น้องๆดู เค้าเห็น
- ทะเล
- ต้นไม้
- ก้อนหิน
- คนสองคน(ออกแนวหวานแหววด้วยนะเนี่ย)
- เห็นท้องฟ้า

ว่าแต่มีใครเห็นเด็กกันมั่งไหมครับ ถ้ายังไม่เห็นผมทำแบบนี้จะชัดขึ้นไหมเอ่ย



เอาล่ะครับ ก่อนจะไปต่อด้วยกัน ผมอยากให้ทุกคนเห็นเด็กให้ได้ก่อนเน้อ
เพราะเด็กน้อยๆคนนี้ คือส่วนที่สำคัญที่สุดที่ผมจะพูดถึงต่อไป
เอาละถ้าดูเด็กน้อยกันจนอิ่มอกอิ่มใจแล้วล่ะก็ ไปต่อกันเล้ย
.
.
.
.
.
.
.
.
ก็ไม่มีอะไรมากหรอกครับ ก่อนอื่น ลองกลับไปดูรูปแรกอีกที(รูปที่ไม่มีเส้นสีแดง)
จากนั้น...มองภาพให้เป็นธรรมชาติ ต้นไม้ และทะเลตามเดิมได้ไหมเอ่ย

ใครทำได้ยกมือขึ้น เย้ๆๆ

ส่วนคนที่ทำไม่ได้ หรือยากมากที่จะทำได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยครับ
ตอนที่ผมเจอรูปนี้หนแรก ผมคิดถึงการเขียนบล็อกนี้ขึ้นมาทันที
นั่นคือ ความรู้ คือ ปราการ(กว่าจะเข้าเรื่องได้ เกริ่นซะยาวเยียดเลยแฮะ)
แต่ไม่ใช่ปราการป้องกันอันตายจากภายนอกนะครับ
หากแต่เป็นปราการในการมองโลกอย่างที่โลกควรจะเป็นต่างหาก

ทุกวันนี้เราเน้นกันมากเรื่องเรียนให้สูงๆเข้าไว้(หมายถึงปริญญานะครับ ไม่ใช่อาคารเรียน)
วิชาเฉพาะด้านเกิดขึ้นมากมาย ที่จะเจาะลึกไปในรายละเอียดปลีกย่อยของสาขาวิชา
ซึ่งเมื่อเรามีความรู้มากขึ้นๆ เราก็จะเริ่มมองโลกไปในมุมมองของวิชานั้นๆมากขึ้น

จนเราลืม ที่จะมองโลกตามความเป็นจริง
เหมือนที่เมื่อเราเห็นเด็กแล้ว ก็ยากที่จะมองรูปให้กลายเป็นต้นไม้และทะเล

ผมยกตัวอย่างนะครับ
สมัยผมเรียนมหาวิทยาลัย มีเมนูเด็ดอย่างนึง คือเกี๊ยวผัดซอส(พูดแล้วน้ำลายสอเลยแฮะ)
นั่นคือ การเอาเกี๊ยวมาผัดกับซอสมะเขือเทศแล้วใส่ เนื้อหมู ใส่ผักเข้าไป
วันเกิดเรื่อง เข้าใจว่าเกี๊ยวที่ห่อไว้คงหมด เค้าเลยเอาใบเกี๊ยวเปล่าๆมาผัดให้เพื่อนผม
หลังจากที่เขี่ยๆดูแล้ว เราก็อุทานออกมาพร้อมๆกัน
ผมให้ทายนะครับ ว่าเราอุทานออกมาวาอะไร ใบ้ให้นิดหนึ่งว่า
ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ ส่วนเพื่อนอีกสามคนเรียนนิติศาสตร์
.
.
.
ครับ ผมอุทานว่า "ไม่คุ้มเลย"
ส่วนเพื่อนผม "ไม่ยุติธรมเลย"

บางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ แต่ผมมองว่า"วิชา"ที่เราร่ำเรียนมานั้น
ได้ซึมทราบเข้าไปในส่วนลึกขององค์ความรู้เราแล้ว กระทั่งอุทานยังออกมาในลักษณะของ"วิชา"
ซึ่งน่าตกใจที่ทั้งสามคนดันอุทานออกมาแบบเดียวกันหมด

ทีนี้ลองมาดูกันว่าทำไม เราถึงมีปัญหากับคนอื่น ทำไมสังคมถึงมีปัญหาขัดแย้งกัน
เคยไหมครับ ที่พูดกับใครแล้วเราหรือคนที่เราพูดด้วย อึดอัด ไม่พอใจ
เพราะว่าดูเหมือนความคิดจะไม่ได้ตรงกันเลย
ผมเองเคยทะเลาะกับเพื่อน เพราะผมพูดแต่เรื่อง ต้นทุน-กำไร
"ร้านนี้ทำแบบนี้คุ้มหรอ ถึงจะดูมีกำไรก็เถอะ แต่ต่อไปใครจะมาอุดหนุน"
เพื่อนผมก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ที่พูดกี่ครั้งๆก็พูดแต่เรื่องเงินๆทองๆ มองทุกอย่างเป็นตัวเลขไปหมด

ลองคิดสภาพสิครับ เมื่อมีข่าวฆาตกรรมเกิดขึ้น คนที่ดูข่าวเดียวกันจะคิดอย่างไร
สมมติว่ามีคนโดนแทงปอดทะลุ แล้วเสียชีวิต(ตัวอย่างextremeไปไหมเนี่ย)

หมอ - น่าสงสารมากนะ ปอดทะลุหายใจไม่ได้ เป็นการเสียชีวิตที่ทรมานมาก
ทนาย - ฆาตกรรมแบบนี้มีโอกาสได้รับโทษอะไรบ้าง
นักข่าว - ข่าวแบบนี้ทำไมไม่ทำภาพเบลอ แล้วไปเบลอนมชิซูกะทำไม
นักค้าหุ้น - ทำไมไม่มีข่าวตลาดเลยนะวันนี้

ผมอาจจะยกตัวอย่างไม่เก่งนะครับ แต่กำลังสื่อว่า
"สิ่งที่เกิดขึ้นสิ่งเดียวกัน แต่คนเราให้ความสำคัญบนพื้นฐานความคิด และความรู้ของเรา"

แล้วคิดดูสิครับ ว่าในสังคมมีคนกี่ประเภท มีความรู้กี่แขนง
แล้วความรู้แต่ละอย่างยังแตกแยกย่อยไปได้อีกหลากหลายสาขา
แค่เศรษฐศาสตร์วิชาเดียวก็ปาเข้าไปเป็นสิบๆทฤษฏีแล้ว
แล้วเมื่อความรู้มาปะทะกัน สังคมจะไม่ยุ่งเหยิงได้หรือครับ

นอกจากเรื่องของความขัดแย้งบนพื้นฐานความคิด และวามรู้แล้ว
ความรู้ ยังทำให้เราไม่สามารถมองทะลุถึงสิ่งที่แท้จริงที่เกิดขึ้นอีกด้วย
สิ่งนี้ทำให้ผมเกิดอาการทุรนทุรายเวลาเห็นผู้รู้ออกมาจ้อบนหน้าทีวี
หากพิธีกรถามว่า "ทำอย่างไรประเทศไทยจึงจะดีขึ้น"
นักเศรษฐศาสตร์ ต้องแก้ที่ปัญหาปากท้องก่อนครับ
นักกฏหมาย เราต้องออกกฏหมายให้บังคับใช้ได้ผลมากขึ้น
นักสังคมศาสตร์ เราต้องช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลนก่อนครับ
นักไสยศาสตร์ เราต้องทำพิธีอโหสิกรรมเจ้ากรรมนายเวรในชาติก่อนครับแล้วจะได้กลับมาเป็นนายกครับ(ฮา)

คำถาม คือ แล้วมันทำได้จริงๆไหม
ยากครับ หากนักเศรษฐศาสตร์จะแก้ปัญหาปากท้องได้ยงไง ถ้าคุณไม่รู้เครื่องมือ หรือสภาพปัญหา
คือ ต้องรู้นิติศาสตร์ เพื่อจะได้ออกกฏหมายที่เอื้อต่อการพัฒนา
ต้องรู้จิตวิทยา เพื่อคำนวณได้ว่าเมื่อออกนโยบายอะไร จะเกิดอะไรขึ้น
ประวัติศาสตร์ เพื่อรู้ว่าคนไทยมีความเป็นมาอย่างไร มีแนวคิดแบบไหน
ต้องรู้ ศาสนา ปรัชญา การสื่อสารมวลชน การบริหาร ฯลฯ
นี่ผมไม่ได้พูดเล่นนะครับ!!!!!!!!!!!!!!!

ไม่ว่าจะเป็นนักอะไร เราต้องรู้ความรู้อื่นๆด้วย แต่ไม่ต้องลงลึกเท่ากับความรู้หลักของเรา
การรู้ภาพในมุมเดียวทำให้เราละเลยที่จะมองภาพกว้างของสรรพสิ่งไป
เหมือนที่พอเรามองเห็นเด็ก(เริ่มมีความรู้) เราก็ยากที่จะมองภาพตามเดิมได้แล้ว

การจะมองภาพให้ได้กว้างขึ้น ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่ยอมเรียนรู้อะไรทั้งสิ้นนะครับ
แต่หลายคน ก็เลือกที่จะศึกษาวิชาอื่นๆควบคู่กันไปด้วย เพื่อที่ว่าจะได้มีมุมมองที่มากขึ้น
ผมลองปรียบกับ ความรู้ก็คือแว่นตาที่มีเลนส์เป็นสีต่างๆ
หากเราไม่ใส่แว่นตาเลย เราก็จะมองเห็นโลกตามความเป็นจริง
แต่หากเราใส่แว่นตาสีแดง เราก็มีแนวโน้มที่จะมองโลกเป็นสีแดง
หากเราใส่แว่นตาสีเขียว เราก็มีแนวโน้มที่จะมองโลกเป็นสีเขียว
ดังนั้นหากเราถูกบังคับให้ต้องใส่แว่นตลอดเวลา (เพราะการดำรงอยู่บนโลกโดยปราศจากความรู้ก็อันตรายเช่นกัน)
จะดีกว่าไหม หากเรามีแว่นตาหลายๆอัน หลายๆสี
เพื่อว่าหากเรามองของสิ่งหนึ่งด้วยแว่นตาอันหนึ่งไม่ชัด เราก้จะได้เปลี่ยนมาเป็นแว่นตาอีกอันหนึ่งได้

แต่หากว่าเรารู้ จนเราละความรู้นั้นได้ นั่นคือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดครับ
ลองสังเกตดูว่า มืออาชีพในสาขาต่างๆนั้น ไม่ได้มีกรอบที่ชัดเจน
แต่มันกลมกลืนไปกับธรรมชาติของตัวบุคคลนั้นๆแล้วครับ
ผมว่าเบคแฮมคงไม่ต้องกังวลกับการเตะฟรีคิกแล้ว เพราะเค้าฝึกจนมันเป็นส่วนหนึ่งของเค้าไปแล้ว
หรือไทเกอร์ วูด ก้ไม่ต้องมาพะวงกับวงสวิงอีก เพราะเค้าก็ฝึกจนมันเป็นธรรมชาติไปแล้วเช่นกัน

พูดแล้วก็นึกถึงคำพูดในเซ็นที่ว่า

"ก่อนมาศึกษาเซ็น ภูเขาคือภูเขา ต้นไม้คือต้นไม้
ขณะกำลังศึกษาเซ็น ภูเขาไม่ใช่ภูเขา ต้นไม้ไม่ใช่ต้นไม้
หลังจากที่สำเร็จเซ็น ภูเขาคือภูเขา ต้นไม้คือต้นไม้"


อาจจะยืดยาว เยิ่นเย้อ และงงงวยไปหน่อยนะครับ




 

Create Date : 11 กุมภาพันธ์ 2552    
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2552 18:07:42 น.
Counter : 676 Pageviews.  

นัสรูดิน

พอดีไปอ่านบล็อกพี่คนนึงมา ชอบมากเลยแฮะ
บางทีคนเรามักจะมองข้ามเรื่องใกล้ตัว
"ปลาอยู่ในน้ำ แต่ไม่รู้ว่ารอบตัวนั้นมีน้ำ
คนนั้นอยู่ด้วยอากาศ แต่มักไม่รู้ถึงการมีของอากาศ"
เราต้องรอจนมันหายไปแหละ ถึงจะรู้สึกถึงคุณค่าการดำรงอยู่ของมัน

เช่นเดียวกันกับสิ่งต่างๆรอบตัวเรา ครอบครัว คนรัก
แม้เมื่อมีอยู่เราก็เห็นเป็นเรื่องปกติ จึง"กระทำ"กับคนเหล่านี้อย่างไม่ถนอม
หากแม้เมื่อขาดพวกเขาไป เมื่อนั้นแหละ"จึงรู้สึกถึงความสูญเสีย"
การสูญเสียส่วนมากเอาคืนมาไม่ได้เหมือนนิทานเรื่องนี้
และการสูญเสียหลายอย่างเราก็ไม่สามารถไปห้ามได้
ดังนั้น ใช้ชีวิตให้ดีที่สุด หาคุณค่าของสิ่งรอบตัวให้มากที่สุด
จะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดหรือ???

นัสรูดินกับมุสตาฟา
นัสรูดินมีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อมุสตาฟา
มุสตาฟาเป็นคนที่ไม่ฉลาด นัสรูดินเป็นคนเฉลียวฉลาด
แต่ชอบทำเป็นคนโง่ และชอบล้อเลียนเพื่อนบ้าน

วันหนึ่ง มุสตาฟาตื่นแต่เช้ามืด
ด้วยความท้อแท้ก็ไปหานัสรูดินบอกว่า
เพื่อนเอ๋ย บ้านที่ผมอยู่มันคับแคบ กลิ่นอับ
ไม่คล่องตัวเลย ผมไม่มีความสุข
กลัดกลุ้มมาหลายปีแล้ว ช่วยผมหน่อยได้ไหม
เงินที่จะขยายห้องก็ไม่มี

นัสรูดินบอกกว่า
เอาล่ะแกต้องเชื่อข้านะ
เชื่อทุกอย่างนะ แล้วจะช่วยให้สบายขึ้น
มุสตาฟาบอกว่าผมจะเชื่อทุกอย่างที่นายบอก
นัสรูดินได้ทีก็บอกว่า
คืนนี้นะ เอาเพาะเข้าไปล่ามในห้องนอนของแก
มุสตาฟางง แต่ก็เชื่อฟังนัสรูดิน

รุ่งเช้าตื่นมาตาแดงมาหานัสรูดิน
ผมนอนหลับๆตื่นๆ เจ้าแพะวายร้าย
มันร้องทั้งคืน ไหนว่าจะช่วยให้ผมมีความสุข
นัสรูดินบอกว่า เอาน่าเชื่อฉัน
คืนนี้เอาลาเข้าไปอีกตัวหนึ่งไปล่ามด้วยกัน
มุสตาฟาคนโง่ก็ทำตาม เอาลาเข้าไปล่าม

รุ่งเช้าก็โผเผมาบอกว่า
เจ้าเพาะกับลามันทะเลาะกันทั้งคืน
ร้องและเตะกันและถ่ายมูลออกมา ห้องผมเล็กอยู่แล้ว
เหม็นคลุ้งไปหมดไหนว่าจะช่วยผมให้สบายขึ้นไงล่ะ
นัสรูดินบอกว่า เอาน่า คืนนี้ได้เรื่องเอาม้าเข้าไปอีกตัวหนึ่ง

พอรุ่งเช้ามุสตาฟาไม่มีแรง
เพราะไม่ได้นอนทั้งคืน บอกนัสรูดินช่วยผมด้วย
ช่วยผมให้มีความสุขหน่อย นัสรูดินบอกว่า
เอาละได้ที่แล้ว คืนนี้เอาเพาะออกจากห้องไป

พอรุ่งเช้ามุสตาฟามาหา
นัสรูดินก็ถามว่าเป็นไงบ้าง
มุสตาฟาจึงบอกว่าค่อยยังชั่วนิดหนึ่งแล้ว
นัสรูดินบอกว่า งั้นคืนนี้เอาลาออกไป

รุ่งเช้ามุสตาฟาบอกว่า ผมรู้สึกว่าห้องผมกว้างขึ้น
นัสรูดินบอกว่า เอ้าคืนนี้แกเอาม้าออกไปจากห้อง
รุ่งเช้ามุสตาฟาเดินยิ้มเผล่มาบอกว่า แหม ผมรู้สึก
เป็นสุขเหลือเกิน ห้องผมรู้สึกมันกว้างขวางดี

คงมีหลายคนเป็นแบบมุสตาฟานี่แหละ
ไม่รู้จักพอใจตนเอง เที่ยวคิดฟุ้งซ่านไป
ครั้นสูญเสียไปทีละน้อยพอได้คืนมาจึงเห็นคุณค่า
ของสิ่งที่ตนมีอยู่ ถ้ารู้จักคิดดี คิดถูก
เสียตั้งแต่ต้น ก็จะสุขใจ สบายใจ
ไม่ต้องกระวนกระวายใจให้เป็นทุกข์

จากหนังสือ สันโดษ เคล็ดลับของความสุข
พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก




 

Create Date : 22 ธันวาคม 2549    
Last Update : 22 ธันวาคม 2549 5:08:41 น.
Counter : 586 Pageviews.  

ประสบการณ์นิยม(ส่วนวิจัย)

การทำวิจัยเกี่ยวกับคุณค่าของประสบการณ์นิยม
เนื่องจากว่าประสบการณ์นิยมไม่ยอมรับเพียงแค่ความคิดเห็น แต่ความคิดนั้นต้องได้รับการพิสูจน์เสียก่อนว่าสามารถนำไปใช้ได้จริง ดังนั้นตัวแนวคิดเองก็ต้องได้รับการพิสูจน์ตัวเองด้วย จึงได้มีการทำวิจัยขึ้นมาในคลาสเรียนการลงทุนแห่งหนึ่ง ซึ่งค่อนข้างเหมาะสม เพราะ
1) มีการกระจายของประชากรจากหลากหลายอาชีพ และอายุ
2) แต่ละคนมีความรู้ก่อนเข้าคลาสไม่แตกต่างกันมากนัก ทำให้ไม่ส่งผลต่อการวัดผลมากนัก
3) ส่วนใหญ่เป็นผู้จบการศึกษาระดับปริญญา ดังนั้นเราสามารถอนุโลมได้ว่าระดับสติปัญญาของแต่ละบุคคลไม่ต่างกันมากนัก จึงเบี่ยงเบนมากในการวัดผล
ทั้งนี้ในการเลือกคลาสเรียนการลงทุนนี้มาทำวิจัยเพราะว่าการเก็บข้อมูลทำได้สะดวก และการเรียนการลงทุนนั้น แม้จุดหมายทุกคนจะเหมือนกัน แต่มีวิธีการมากมายที่จะไปถึงเป้าหมายและในการลงทุน1+1ไม่เท่ากับเสมอไป จึงเป็นข้อทดสอบได้อย่างดีว่า การเรียนในแบบใดที่จะให้ผลสัมฤทธิ์ที่มากกว่ากัน โดยในการสอบถามมีวิธีการศึกษาสามแบบคือการเรียนแบบปกติคือมีอาจารย์สอน การเรียนรู้ผ่านการทดสอบ(เล่นเกมส์) และการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง(ลงทุนจริง)
แต่ผลการทำวิจัยนี้อาจคลาดเคลื่อนได้เพราะเราไม่สามารถวัดปริมาณหรือระดับความเข้าใจออกมาเป็นสัดส่วนที่แน่นอนได้ ทั้งนี้ความเข้าใจมากต่อเนื้อหาของคนหนึ่งอาจน้อยกว่าความเข้าใจปานกลางของอีกบุคคลหนึ่งก็เป็นได้ แต่เราก็ต้องถือว่าความคิดของกลุ่มวิจัยนั้นเป็นเกณฑ์
ผลการสำรวจได้สรุปออกมาแล้วว่า การสอนโดยการพูดและแสดงให้ดูตามแบบการสอนทั่วๆไปนั้นให้ผลสัมฤทธิ์ออกมาต่ำที่สุด และผลการสอนที่ดีที่สุด เพราะได้สร้างความเข้าใจให้ผู้เรียนมากที่สุดคือการสอนแบบประสบการณ์นิยม เพราะการสอนแบบอื่นๆนั้นไม่สามารถชดเชยสิ่งที่ขาดหายไปจากความเป็นจริงได้ อีกทั้งการสอนแบบอื่นๆไม่สามารถสอนเกี่ยวกับความคลาดเคลื่อนอันเกิดจากการใช้งานจริงได้ ดังรายงานประกอบ




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2549    
Last Update : 11 ธันวาคม 2549 23:56:13 น.
Counter : 577 Pageviews.  

ประสบการณ์นิยม(7)

Neuro Linguistic Programming (NLP)

ผมได้ทดลองให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาคนหนึ่งคิดเรื่องเรื่องหนึ่ง
แล้วให้อีกคน”ทำ”ตามคนแรกทุกอย่าง
ผลออกมาว่าคนที่ทำเลียนแบบบอกได้ถึงความคิดคร่าวๆของคนคนแรก
-แอนโทนี รอบบินส์-

ทุกวันนี้ธุรกิจเครือข่ายกำลังเติบโตแบบก้าวกระโดด และแน่นอน บริษัทที่ถือว่าแข็งแกร่งที่สุดในธุรกิจนี้ทุกคนคงรู้จักดี Amway ทำไมธุรกิจนี้ถึงมียอดขายระดับแสนล้านได้ ทำไมบริษัทนี้สามารถสร้างบุคคลที่ประสบความสำเร็จได้ นั่นเพราะ การเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่น
ในธุรกิจนี้ผู้ที่ประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับ จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ได้จากการทดลองทำผิดทำถูกมาก่อน จนกระทั่งในที่สุดเหลือทางที่ถูกต้องสำหรับตนเอง เมื่อมีผู้ประสบความสำเร็จหลายคน ก็มีหลายวิธีที่จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่นำไปทดลอง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น แต่ละวิธีก็เป็นวิธีที่หลายคนประสบความสำเร็จมาแล้ว ธุรกิจนี้จึงขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจที่สามารถลอกเลียนแบบความสำเร็จกันได้ คือสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ของบางคนเพื่อนำไปใช้จริงในชีวิต อันเป็นการลดข้อสมมุติฐาน ทำให้เลือกวิธีได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
และเมื่อไม่กี่ปีมานี้ได้มีการค้นพบวิธีการที่เรียกว่า Neuro Linguistic Programming (NLP) โดยสองอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่แนวคิดนี้ได้รับการสานต่อและโด่งดังไปทั่วโลกโดยแอนโทนี่ ร้อบบินส์
อะไรคือ Neuro Linguistic Programming (NLP)?
แนวคิดนี้เชื่อว่านอกจากความคิดและอารมณ์จะส่งผลต่อร่างกาย เช่นความไม่สบายใจเป็นต้นเหตุแห่งความเจ็บป่วยแล้ว การกระทำของร่างกายก็ส่งผลไปถึงอารมณ์และความคิดด้วย เช่น หากเราอารมณ์ไม่ดี มีความทุกข์ ก็ให้เรายิ้มไว้ และทำให้เหมือนมีความรู้สึกว่าเรามีความสุข เช่นเดินอย่างกระฉับกระเฉง ร่าเริง จะทำให้เราอารมณ์ดีแบบที่ร่างกายได้เป็นอยู๋
นอกจากนี้ยังเชื่ออีกว่าการโปรแกรมร่างกายหรือจิตใจที่เหมือนกันแล้ว ผลที่ออกมาก็จะเหมือนๆกันด้วย ดังที่ยกคำพูดมาข้างต้น คือหากคนหนึ่งคืดอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้นมา ก็จะมีการแสดงออกโดยอัตโนมัติ หากมีคนทำท่าทางเลียนแบบทุกประการไม่ว่าจะเป็นท่าทาง อาการหรือแววตา คนที่ทำเลียนแบบก้พอจะรู้คร่าวๆได้ว่า คนแรกนั้นคิดอะไรอยู่บ้าง
แล้วNLPจะช่วยในการศึกษาอย่างไร?
แอนโทนี่ได้นำเอาศาสตร์นี้มาประยุกต์ใช้กับบุคคลที่ต้องการประสบความสำเร็จได้ ด้วยการชี้แนะว่า หากเราต้องการประสบความสำเร็จเหมือนใครแล้ว ให้เราทำตาม หรือเลียนแบบแบบของเราให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นกรเดิน การพูด การกินอาหารและกิจวัตรต่างๆ
เมื่อปฎิบัติได้แล้ว เชื่อว่าเราจะมีความสามารถในการทำสิ่งต่างๆได้ใกล้เคียงกับตัวแบบ เพราะเมื่อวัตถุดิบเดียวกัน ผสมตามขั้นตอนเหมือนกัน ย่อมจะได้อาหารออกมาเหมือนๆกัน คือเป็นการรับรู้เอาความรู้(ประสบการณ์)จากตัวแบบ โดยที่เราไม่ต้องไปค้นคว้าเองว่าการกระทำใด จะส่งให้เกิดผลอะไร แต่เราสนใจว่าเราต้องการผลเช่นไร แล้วเราก็ไปเริ่มต้นที่การกระทำนั้นๆ
อย่างนี้ทุกคนก็สามารถเป็นนักกีฬาหรือนักร้องระดับโลกได้?
ใช่ถ้าทุกคนสามารถเลียนแบบต้นแบบได้อย่างเสมือนจริง แต่ก็เป็นไปได้ยากในทางปฎิบัติ เพราะว่าผู้ที่ประสบความสำเร็จบางคนเป็นเพราะประสบการณ์บางอย่างในอดีต ที่เราไม่สามารถไปทำตามได้ หรือบางคนฝึกฝนในสาขาตั้งแต่ยังเล็กเป็นเวลายาวนาน ซึ่งเราไม่สามารถย้อนเวลาได้ ดีที่สุดคือการพัฒนาความสามารถในศาสตร์นั้นๆขึ้นมาให้เร็วกว่าปกติที่จะลองผิดลองถูกเอง




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2549    
Last Update : 11 ธันวาคม 2549 23:55:24 น.
Counter : 617 Pageviews.  

ประสบการณ์นิยม(6)

ทฤษฎีคุณค่าตามแนวคิดประสบการณ์นิยม
หลักทางจริยศาสตร์
แนวคิดประสบการณ์นิยมปฎิเสธความคิดที่ว่าหลักจริยธรรมมีค่าแห่งความดีสูงสุดนั้นไม่เปลี่ยนแปลง ทั้งตายตัว ไม่อาจโต้แย้งหรือควบคุมได้ ทั้งนี้เพราะเราไม่สามารถมีประสบการณ์นั่นเอง
แนวคิดนิยมบอกเราว่า มนุษย์เองเป็นผู้สร้างสิ่งที่มีคุณค่าทั้งหลายให้ตัวเอง เหตุผลที่เชื่อได้ว่าสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นมานั้นดีและเชื่อถือได้ ก็ด้วยการทดสอบคุณค่าจากประสบการณ์นั้นๆ หลักการใดนำไปกระทำแล้วเกิดประโยชน์สูงสุดนับได้ว่าหลักการนั้นมีคุณค่า ดังนั้นสิ่งที่ดีและมีคุณค่าต้องได้รับการตรวจสอบเสียก่อน เพราะฉะนั้นแล้วหลักแห่งคุณค่าของประสบการณ์นิยมจึงเป็นส่วนหนึ่งของประสบการณ์ ไม่ถาวร เปลี่ยนแปลงได้เสมอ
ดังนั้นเมื่อมีคำถามทางด้านจริยศาสตร์ คำตอบของแนวคิดนี้จะเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แล้วแต่ความเหมาะสม และสภาพความจริงที่เกิดขึ้น คือยึดหลักที่ว่า การกระทำใดที่เกิดผลดีมากที่สุด การกระทำนั้นดี แนวคิดนี้วัดคุณค่ากันที่ ผลของการกระทำ แต่ผลที่ว่านี้ต้องเป็นผลของสังคมส่วนรวมมิใช่ส่วนตน
สรุปได้ว่า การตัดสินคุณค่าทางจริยศาสตร์ของแนวคิดประสบการณ์นิยม ยึดเอาหลักประโยชน์สูงสุดของสังคมเป็นเกณฑ์ กล่าวคือ จริยนั้นเป็นไตามแนวทางที่สังคมได้ทดสอบ และพิสูจน์แล้วว่าเป็นการกระทำที่บังเกิดผล มีประโยชน์มากที่สุดต่อสังคมส่วนรวม

การปลูกฝังจริยธรรมในแบบประสบการณ์นิยม
1) การเรียนรู้จากชีวิตจริง คือการทำให้ผู้เรียนเกิดประสบการณ์จากการกระทำของตนเองกระทั่งเรียนรู้การกระทำที่เกิดผลดีมากที่สุดต่อส่วนรวม ประสบการณ์นิยมเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้ผู้เรียน เรียนรู้ด้วยตัวเองว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ง่ายกว่าการท่องจำ หรือสอนด้วยเหตุผล
2) สัมพัทธภาพแห่งคุณค่า คือการสอนให้รู้จักค่านิยมทางความประพฤติหลายๆแบบแล้วเลือกว่าวธีใดใช้ได้ผลที่สุด สร้างความพึงใจสูงสุดแก่คนส่วนใหญ่ แล้วทำตามนั้น
หลักทางสุนทรียศาสตร์
ในแนวคิดประสบการณ์นิยม วัดคุณค่าทางสุนทรียศาสตร์ว่าศิลปะก่อให้เกิดผลอะไรขึ้นในประสบการณ์ของมนุษย์ คือวัดกันในด้านที่ทำให้มีประโยชน์ในด้านการปฎิบัติและผลทางประสบการณ์ หน้าที่ของศิลปะ คือการเป็นสื่อในการติดต่อ ศิลปะย่อมแสดงออกถึงบางอย่างแก่ผู้ชมเกี่ยวกับประสบการณ์ของศิลปินต่อโลก และศิลปะจะเป็นตัวนำมนุษย์ไปสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ

แล้วจากทฤษฎีต่างๆที่ว่ามา คนเรามีความแตกต่างในสติปัญญาและการเรียนรู้อาจจะไม่เท่ากัน จะทำอย่างไรที่จะสอนให้คนมีความสามารถเหมือนกับผู้ท่ประสบความสำเร็จที่เขาชื่นชอบหากเขาต้องการ จะมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้คนธรรมดาอย่างเราประสบความสำเร็จในแบบที่คนอื่นเป็น จะมีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้เราไปถึงจุดที่เราต้องการจะยืน แม้ว่าเราจะเป็นคนที่”ไม่เก่ง” หรือไม่มีความสามารถเป็นที่เด่นชัดเลย หรือมีแต่ไม่ตรงตามความต้องการของเรา




 

Create Date : 11 ธันวาคม 2549    
Last Update : 11 ธันวาคม 2549 23:54:22 น.
Counter : 1337 Pageviews.  

1  2  3  4  5  

ขอบฟ้าบูรพา
Location :
สมุทรปราการ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 19 คน [?]




ผู้ประกาศกรุงเทพธุรกิจทีวี พิธีกรรายการแกะรอยหยักสมองและ World Class Smart Thai
สนใจประวัติศาสตร์ ศาสนา ปรัชญา ต่างประเทศ เทคโนโลยี สังคม และชนชั้น

ติดตามทวิตเตอร์ได้ที่ @atis_kttv นะครับ
New Comments
Friends' blogs
[Add ขอบฟ้าบูรพา's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.