Group Blog
 
All Blogs
 

วิธีปลูกเลี้ยงรองเท้านารีเหลืองกระบี่ ประสาลิง ภาค 3 ภาคปลูกหละ

จากการที่ดูเครื่องปลูกแต่ละตัวมาในภาค 1 และ 2
ผมได้บทสรุปใน 2 ประเด็น คือ

1. เครื่องปลูกที่เป็นอินทรีย์วัตถุ มีข้อดีตรงที่ให้สารอาหาร แต่มีข้อเสียคือ ทำให้เน่าง่าย หากงามก็งามไปเลย ทั้งต้นและดอก แต่หากพลาดซึ่งส่วนใหญ่พลาดก็เน่ายกกอหละ

2.เครื่องปลูกที่ไม่ใช่อินทรีย์วัตถุ มีข้อดี คือ ไม่ตาย ไม่เน่า หรือหากเกิดก็น้อยมาก แตกกอได้ดี โดยเฉพาะเมื่อหน้าเครื่องปลูกแห้ง แต่มีข้อเสีย คือ แม้หน่อแตกเร็วแต่หน่อเล็กไม่อวบใหญ่ ดอกที่ได้ขนาดเล็กลง แต่ฟรอม์และสีไม่เปลี่ยนไปมาก

สมมุติฐานก็ คือ เราจะทำยังไงให้ข้อดีทั้ง 2 อย่างมารวมกัน คือ แตกกอดี ไม่เน่าตาย ดอกโต สีและฟรอม์ขึ้นเต็มที่ตามสภาพของแต่ละต้นที่มันเป็น

ในประเด็นนี้ ผมขอแยกออกเป็น 3 แนวทาง ตามที่ไปพบเห็นบรรดาเซียน
ที่ผมยกย่องเป็นระดับเทพเลี้ยงกัน

1. เลี้ยงแบบ เอาต้นรอด ปลอดโรคเน่า เอาปุ๋ยใส่ ได้ความงาม

พี่ท่านนี้ ผมขออนุญาตไม่เอ่ยนาม เพราะไม่ได้ขออนุญาตท่านมาก่อน
แต่หากท่านได้อ่าน ผมก็ขอขอบคุณท่าน และหากท่านใดนำไปใช้ได้ผลดี ก็ขอให้เป็นบุญกุศลวิทยาทานตกได้กับพี่ท่านนี้

จริงๆที่พี่ท่านนี้เลี้ยงไม่ใช่เหลืองกระบี่นะครับ แต่เป็นพวกเหลืองตรัง พวกใบลายอะไรพวกนี้ แต่ผมเห็นว่า มันใช้ได้เลยหละ เพราะเลี้ยงแบบนี้ผมลองมาแล้วเหมือนกัน แต่ผมไม่มีวินัยพอในการให้ปุ๋ยเท่านั้นเอง

เครื่องปลูก ชั้นล่างสุด โฟมหัก ขนาดเท่าหัวแม่โป้งมือ ใส่ลงไปประมาณ 1ใน 3 ของกระถาง ส่วนที่เหลือ ไฮโดรตรอนล้วนๆ (จะประยุกษ์เอาตัวอื่นที่ไม่ใช้อินทรีย์วัตถุมาใช้ก็ได้นะ)

อย่างที่ได้ว่ามาหละครับ เครื่องปลูกแบบนี้ไม่มีสารอาหาร แต่มันปลอดเชื้อ มันแห้งเร็ว หน่อใหม่เกิดง่าย ไม่เน่า ไม่ตาย วัชพืชไม่มี

ส่วนเรื่องความงามของต้นและดอก ก็ใช้ปุ๋ยช่วยหละ ท่านใช้ปุ๋ยทุกอาทิตย์ไม่มีขาด แต่ให้ในอัตราส่วนอ่อนมากกกกกก ให้ปุ๋ยแบบรดน้ำ คือราดลงไปแบบรดน้ำเลยหละ

ผลดีเยื่อมเลยครับ งามมากกกกกกก

*** หลักสำคัญในการเลี้ยงตรงนี้ คือ อย่าขาดปุ๋ย จำไว้ว่า ทำอย่างนี้ตลอดการเลี้ยงดู ทุกอาทิตย์ (ยกเว้นวันนั้น ครึ้มๆ ฝนตกไม่ต้องให้ปุ๋ย) ทำตลอดไปทั้งเดือน ทั้งปี ทำไปตลอดการเลี้ยงดู นั้นหละ คือ ปัญหา ท่านทำได้หรือเปล่า ตอบตัวเองนะครับถ้าจะใช้วิธีนี้

2. เลี้ยงแบบ ผสมผสาน ของท่านอ้น

จริงๆผมก็ไม่ได้ขออนุญาตท่านอ้นมาก่อนว่า จะนำเทคนิคที่ท่านได้กรุณาแนะนำมาเผยแพร่ แต่ผมเห็นว่าท่านเป็นพระ และคงมีเมตตาให้ผมเผยแพร่เป็นวิทยาทาน ท่านอ้นก็ไม่ได้ทำในเชิงธุระกิจ ก็คงไม่เป็นไร (ส่วนที่ท่านบอกราคา ไตรมารคกระถางละ 140,000 บาท 7 หน่อ ก็ด้วยคนไปถามซื้อท่านเอง ไม่ใช่ท่านไปเสนอขายใคร)

เครื่องปลูก ชั้นล่างสุด โฟมหัก อัตราส่วน 1 ใน 3 ของกระถางเหมือนกัน ชั้นต่อมา เปลือกสน หรือ ใบก้ามปู อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ใส่ลงไป 2 ข้อนิ้วชี้ แล้วโรยทับด้วยหินทุบ หรือเครื่องปลูกที่ไม่ใช่อินทรีย์วัตถุ

การให้ปุ๋ย ถ้าให้ได้แบบวิธีแรกก็คงดีเยื่อมหละครับ แต่ท่านให้แบบปกติที่ทั่วๆไปทำกันหละ คือ ลืมบ้าง ให้บ้าง ไม่ให้บ้าง

ผลดีเยื่อม การันตีด้วย เหลืองกระบี่ AM.ทั้ง 2 กระถาง ในการขอครั้งเดียว ครั้งแรก และเป็นการขอแบบไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนด้วย

ปล. ผมไปเห็นต้นอื่นๆของท่านงามกว่า 2 ต้นนั้นอีก คิดว่าในอนาคต AM. เหลืองกระบี่ของท่านอ้นคงมีร่วม 10 กระถางหละ ถ้าท่านคิดจะขออีก

***หลักสำคัญในการเลี้ยงวิธีนี้ คือ ระมัดระวังเรื่องเน่าให้ดี เพราะแม้ท่านอ้นเองที่เฝ้าเวียนดูแล ก็โดนต้นดีๆมาแล้ว 2 กระถาง เล่นซะเกือบยกกอไป ที่ช่วยทันก็เหลือแค่ 2 หน่อ

3. เลี้ยงแบบลิงเล
ผมแยกออกเป็น 2 แบบตามวัตถุประสงค์ของการเลี้ยงนะครับ

แบบที่ 1 เลี้ยงเอาหน่อ

วัตถุประสงค์บอกชัดครับ เอาหน่ออย่างเดียว ไม่คิดจะไปประกวด ไม่คิดจะไปขอ AM. แต่จะเอาหน่อให้มากที่สุด เรื่องดอก เรื่องก้านไม่สนใจ ไม่ใช่วัตถุประสงค์

เหลืองกระบี่ที่ผมเลี้ยงด้วยวิธีนี้ จะเป็นเหลืองกระบี่ที่ไม่จำเป็นต้องไปประกวดหรือขอ AM.แล้ว เพราะ ชนะการประกวดมาก่อน หรือได้ AM. มาแล้ว (การซื้อเหลืองกระบี่ที่ชนะการประกวด ก็ต้องดูให้ดีนะครับ ไม่ใช่ว่า
ต้นที่ได้ที่ 1 หรือยอดเยื่อมจะสวยเสมอไป มันมีปัจจัยหลายอย่างในการพิจารณาเลือกซื้อ ไว้ว่างๆจะเขียนนะครับ)

คราวนี้เมื่อมันเป็นไม้ AM. หรือไม้ชนะประกวด หรือไม้ขอแบ่งซื้อหน่อ ปัญหาก็คือ พวกนี้ มักได้หน่อมาน้อย บางทีก็ 2 หน่อ บางทีก็หน่อเดียว
ก็มันแพงหงะ เราก็ต้องทำหน่อให้เยอะ เผื่อแบ่งขายขอทุนคืนบ้าง เผื่อแยกกระถางกันตายบ้าง ผมใช้วิธีนี้ครับ

เครื่องปลูก ชั้นล่างสุดโฟมหักขนาดหัวแม่โป้งมือ 1 ใน 3 ของกระถาง เครื่องปลูกชั้นถัดมา ลุยเลยครับ บรรดาเครื่องปลูกที่ไม่ใช่อินทรีวัตถุทั้งหลาย จะผสมหรืออย่างเดียวก็ตามใจอะไรใกล้มือก็ใส่ลงไป ไม่ใส่ถ่านนะ และไม่ใส่อินทรีย์วัตถุเด็ดขาด ชั้นบนสุดสำคัญมาก หินกรวดแม่น้ำเม็ดกลมๆ หรือหินเกร็ด โรยทับให้มิดเครื่องปลูกชั้นกลาง แต่อย่าให้โคนจมนะเอาแค่เสมอหรือลอยขึ้นมานิดพอ

การให้ปุ๋ย นานๆที บางทีเดือนนึง แล้วแต่อารมย์ความพอใจหรือว่าง
แต่การให้น้ำห้ามขาดเด็ดขาด ให้ทุกเช้ารดจนชุ่มและให้ครั้งเดียว ยกเว้น
วันฝนตกจะไม่ให้น้ำ

อ่านมาถึงตรงนี้หลายท่านคงด่าว่า ไอ้นี้บ้า ให้ปุ๋ยตามความพอใจหรือว่าง ผมไม่ว่าท่านหรอกครับ เพราะผมไม่บังคับให้ท่านทำ แต่ผมทำของผมอย่างนี้หละ ก็แค่เล่าให้ฟังเฉยๆ

ผลตอบรับ การแตกกอแตกแหลกราญเลยหละ หนึ่งหน่อเดิมปกติได้ 2 หน่อใหม่ซ้ายขวา อันนี้มันแตกหน่อแทรกเข้ามาในกาบใบอีก แทงหน่อจากไหลเปล่าๆก็มี เรียกว่าแทงหน่อจนไม่รู้จะไปออกตรงไหนแล้วหละมันก็จะหยุดแทงหน่อ

ผมเลี้ยงกฤชโกศล AM. ด้วยวิธีนี้ จาก 2-3 หน่อ ได้มาพร้อมๆเพื่อน ของผมไป 13 หน่อแยกเป็น 2 กระถางแล้ว ของเพื่อน ประมาณ 5-6 หน่อเป็นอย่างมาก

ทำไมมันแตกหน่อขนาดนั้นหรือครับ อันนี้คือ ข้อสันนิษฐานของผมนะ ผิดถูกก็ไม่ว่ากันนะ

1. ท่านเคยสังเกต รองเท้านารีที่ระบบรากเสีย แล้วหาอาหารทางรากไม่ได้หรือเปล่าครับ มันแตกหน่อแหลกราญเลย เพื่อความอยู่รอดของมัน มันต้องแตกหน่อให้มากที่สุด เพื่อออกใบมาช่วยหาอาหารจับไนโตรเจนในอากาศให้มากที่สุด ทดแทนการหาอาหารจากราก นั้นหละครับหลักการเดียวกัน

เราเอาวิกฤตที่เคยเห็นมาเป็นโอกาศนำมาประยุกษ์ใช้
แต่ของเรา มันแตกหน่อมากแบบนั้น ไม่ใช่เพราะระบบรากเสียแล้วหาอาหารจากรากไม่ได้ ของเราระบบรากยังเดินอยู่ แต่มันหาไม่เจออาหาร มันก็เดินไปเรื่อยๆ มันก็ไม่มีอาหาร เพราะเครื่องปลูกมันไม่มีอินทรียวัตถุปุ๋ยก็ไม่ค่อยให้มันกิน แต่มันไม่ตาย เพราะมันได้กินน้ำตลอด มันหาอาหารจากรากไม่ได้ มันก็เร่งแตกหน่อหาอาหารจากปากใบจากหน่อใหม่

2. ที่ผมเน้นย้ำว่า เครื่องปลูกชั้นบนสุดต้องเป็นหินเกร็ด หรือหินกรวด เท่านั้นและต้องโรยจนทับเครื่องปลูกชั้นกลาง โคนต้องไม่จมมากเกินไป ก็เพราะว่า
หินเกร็ดหรือหินกรวด มันไม่อุ้มน้ำ มันให้ความเย็นเฉยๆ มันแห้งเร็ว มันไม่มีสารอาหารให้วัชพืชขึ้น ไม่มีพื้นที่มากๆให้เชื้อโรคเกาะ เวลารดน้ำมันสีกันเอง นั้นหละครับ ถึงต้องใช้มัน

*เมื่อมันไม่อุ้มน้ำ มันแห้งเร็วเมื่อรดน้ำ มันให้ความเย็นเฉยๆ หน้าเครื่องปลูกท่านก็จะแห้งเร็ว หน่อใหม่เล็กๆที่เกิดจะไม่ชื้นเกินไปจนเน่าเสีย เป็นการอนุบาลหน่อใหม่ที่ดี

**โคนต้น ไม่ปลูกให้จมมาก ลอยขึ้นมานิดหนึ่ง เพื่อเปิดทางให้หน่อใหม่เพราะถ้าจมมากหน่อใหม่มันจะแทงออกมาก็ลำบาก บางทีมันก็เน่าไปซะ

***โรยกรวดทับชั้นกลางให้มิด เพราะ ชั้นกลางของท่านแม้จะไม่ใช่อินทรีย์วัตถุ แต่บางทีมันก็มีวัชพืช ตะไคร่ขึ้นมาจับพวกอิฐมอญทุบหรืออะไรพวกนั้นได้ และนั้นคือที่สะสมเชื้อโรคเชื้อราทำให้หน่อใหม่เน่าได้

ข้อสังเกต

1.การปลูกเลี้ยงด้วยวิธีนี้ ท่านจะได้หน่อใหม่มากก็จริง แต่หน่อที่ได้จะเล็กกว่าหน่อเดิมครึ่งหนึ่ง เพราะมันไม่มีสารอาหารมากพอที่จะให้หน่อใหม่ใหญ่เท่าหน่อเดิม และพอมันโตได้ระยะนั้น มันจะแตกหน่อใหม่ขึ้นมาอีก

วิธีนี้ เมื่อท่านได้หน่อพอสมควรให้แยกเอาไปปลูกด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งข้างต้น
หรือวิธีที่ผมจะเล่าให้ฟังในข้อถัดไป เพื่อโด๊ปใบ โด๊ปต้นหละ อย่าไปทรมานมันนานเดี๋ยวมันแคระแล้วจะหาว่าไม่เตือน

2.หากช่วงที่เลี้ยงทำหน่อมันออกดอก ท่านทำใจได้เลย ว่าดอกไม่ถึงระดับที่ท่านต้องการแน่นอน

3.การที่ท่านเลี้ยงแบบนี้ ท่านต้องให้บี 1 ช่วยในช่วงแรกนะครับ ใส่น้อยๆนะแต่ให้บ่อยๆ ช่วยเพื่อให้มันมีราก ให้รากมันเดินเยอะๆ เดินจนมันรู้ตัวว่า มันเดินไปก็หาอาหารกินไม่ได้ สู้แตกหน่อดีกว่า ไม่งั้นเหลืองกระบี่ท่านจะตายตอนแรกๆเลยนะครับ ก็รากไม่เดินอาหารหาไม่ได้ หน่อช่วยหาอาหารทางใบก็เกิดไม่ทันหงะ จะเอาที่ไหนมารอด

4.เมื่อแยกกระถางเอากระถางหนึ่งไปปลูกเพื่อโด๊ปแล้ว อีกกระถางก็ควรจะถึงเวลาบำรุงต้นด้วยปุ๋ยบ้าง แต่เครื่องปลูกเหมือนเดิม เพื่อเอาความปลอดภัยเป็นกระถางสำรองต่อไป

แบบที่ 2 เลี้ยงเอางาม เลี้ยงเอาประกวด

อันนี้ หลังจากเรามีกระถางสำรองที่ทำตามวิธีเลี้ยงเอาหน่อแล้วนะ ไว้ผมจะมาเล่าให้ฟังตอนว่างๆอีกทีนะครับ ตอนนี้เมื่อยมือแล้ว






 

Create Date : 01 เมษายน 2552    
Last Update : 1 เมษายน 2552 14:00:51 น.
Counter : 8352 Pageviews.  

วิธีปลูกเลี้ยงรองเท้านารีเหลืองกระบี่ ประสาลิง ภาค 2

1.4 หินภูเขาไฟ

แม้การทดลองเลี้ยงเหลืองกระบี่ด้วยกะลาปาลม์เผา ช่วยลดปัญหาการเน่าตายลงได้มากแล้วก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งซึ่งยังขาดอยู่ คือ สารอาหารในเครื่องปลูกที่จะให้กับเหลืองกระบี่ เพื่อลดปัญหาการให้ปุ๋ยทางใบที่ไม่สม่ำเสมอ
ด้วยความไม่มีเวลา ขี้เกียจ และไม่ได้ดูแลเอง ประกอบกับตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ผมไป กทม.พอดี จึงได้ซื้อหินภูเขาไฟ และไฮโดรตรอนเอามาทดลองใช้ (เริ่มหาเรื่องเสียงตังค์ซื้อวัสดุปลูกไฮโซแล้วตรู)

ด้วยสมมุติฐานประสาลิง ว่า หินภูเขาไฟ มีคุณสมบัติ ที่รักษาความชื้นดี ไม่แฉะ ให้ความเย็น และที่สำคัญน่าจะมีธาตุอาหารบางชนิดในตัวหินเอง และแน่นอนสูตรเดิมใช้โพมหักรองก้นกระถางเพื่อประหยัดเครื่องปลูกด้วย
และช่วยระบายน้ำด้วย

ผลการทดลอง ได้ผลที่ไม่แตกต่างกันมากนักกับการปลูกด้วยกะลาปาลม์เผา ไม่เกิดปัญหาการเน่าตาย แต่ดีกว่าตรงที่ไม่ต้องเสียเวลาล้างน้ำและแช่น้ำทิ้งไว้นานเหมือนกะลาปาลม์เผา ที่จะต้องล้างเอาคราบดำๆของขี้เถ้าและผงถ่านออก

อย่างไรก็ตามการใช้หินภูเขาไฟก็ควรแช่น้ำทิ้งไว้ซักพักเพื่อให้ได้ดูความชื้นสะสมไว้ก่อน มิฉะนั้น เมื่อเรารดน้ำหินจะดูดความชื้นก่อนรากและหากรดน้ำไม่พอรากก็จะได้รับน้ำน้อยลงไปกว่าที่ควรได้

ข้อสังเกต

* หินภูเขาไฟ เมื่อใช้ไประยะหนึ่งซึ่งนานเป็นปีๆหละ จะเกิดตะไคร่จับ ก็ควรเขี่ยๆเอาออกมาเปลี่ยนก้อนใหม่บ้าง มิฉะนั้นมันจะสะสมเชื้อโรค และหินภูเขาไฟมีลักษณะที่เป็นรูพรุนดูดซับน้ำและปุ๋ยยา จึงต้องเปลี่ยนมันบ้าง ก้อนเก่าๆก็อย่าไปทิ้งเสียดายมันแพง เอาไปแช่น้ำทิ้งไว้นานๆหลายวันหน่อยแล้วผึ่งแดดให้แดดเผาเล่นก็เอามาใช้ใหม่ได้

ปัญหาตรงนี้เอง ที่ทำให้เซียนรองเท้ารุ่นเก่าท่านหนึ่งที่ผมนับถือ ไม่ยอมใช้หินภูเขาไฟ เพราะเซียนท่านนี้ขยันฉีดปุ๋ยทุกอาทิตย์สม่ำเสมอตะไคร่และปุ๋ยยาก็สะสมเร็วทำให้ต้องเปลี่ยนบ่อยๆ ก็คงกลัวจะกระทบราก

** ระบบรากที่เลี้ยงด้วยหินภูเขาไฟถือว่า ได้ผลในระดับที่ดี อวบใหญ่มีขน
รากบางเส้นเจาะทะลุหินภูเขาไฟ

1.5 ไฮโดรตรอน

ไฮโดรตรอน เป็นประมาณเม็ดดินเผา ที่ช่วยรักษาความชื้น ไม่อุ้มน้ำจนทำให้แฉะ เบา และสะอาดกว่าเครื่องปลูกตัวอื่นๆ ไม่เกิดปัญหาวัชพืชแย่งอาหารแต่แพง และใช้ปริมาณมากเมื่อนำมาปลูกเหลืองกระบี่

ผมได้ทดลองกับไฮโดรตรอนเช่นเดียวกัน ก้นกระถางก็รองโฟมหัก แต่เนื่องจากไฮโดรตรอนเบาจึงพยุงลำต้นได้ไม่ดี โดยเฉพาะกับเหลืองกระบี่ที่ใบยาวและโตกว่าพวกเหลืองตรังจึงต้องทำ "เสากระโดงค้ำต้น" "รากเทียม"หรือโรยทับไฮโดรตรอนด้วยกรวดหิน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต้นล้ม

ผลการทดลอง อัตราการเน่าตายน้อยมากเรียกได้ว่าน่าจะถือเป็น 0% เชียวหละ แตกกอได้ตามธรรมชาติ แต่ต้องเน้นการให้ปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกัน เพราะไฮโดรตรอนไม่มีสารอาหารอะไรเลย

ข้อสังเกตุ

*ไฮโดรตรอน มีราคาค่อนข้างสูงแม้จะดีในแง่ที่ไม่เกิดปัญหาการเน่าตาย ก็ตาม แต่การจะทำให้เหลืองกระบี่แตกกอได้ดีมีดอกสวยงาม ท่านต้องมีความเข้มงวดในตัวท่านเองในการให้ปุ๋ยสม่ำเสมอ ซึ่งในทางปฎิบัติน้อยคนนักจะทำได้ ซึ่งไม่ถือว่า บรรลุวัตถุประสงค์ของผม เพราะเป็นคนขี้เกียจเป็นการส่วนตัว จนลามไปถึงคนสวนก็ขี้เกียจตามไปด้วย

**ในความคิดผม หากท่านไม่ใช้ไฮโดรตรอน ก็อาจใช้ขี้ตากระถางหรืออิฐมอญทุบทดแทนกันได้ ผลลัพธ์ก็ไม่แตกต่างกันมากนัก แม้จะดูไม่ไฮโซเท่าไฮโดรตรอน และอาจเกิดปัญหาตะไคร่จับ วัชพืชขึ้นบ้าง และน้ำหนักมากกว่าไฮโดรตรอน เวลาอุ้มกระถางไปประกวด อิอิ แต่น้ำหนักมากก็ดีไม่ต้องหาหินมาโรยทับบน

อย่างไรก็ตาม หากใช้อิฐมอญทุบหรือขี้ตากระถางก็ควรจะทำความสะอาดให้ดีเสียก่อน เพราะมันไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อมาแบบไฮโดรตรอน

1.6 หินปูนทุบ หรือ หินน้ำย้อย(ภาษาใต้)

วันหนึ่ง หลังจากการทดลองด้วยวัสดุต่างๆที่ว่ามา มีพี่คนหนึ่งที่ผมนับถือเป็นเซียนรองเท้ารุ่นเก่าเลยหละ (แต่ไม่ขอเอ่ยนามในที่นี้ ด้วยว่ายังไม่ได้ขออนุญาตกัน) ได้แวะเวียนลงมาเที่ยวกระบี่ และชวนผมลงเรือไปดูรองเท้านารีในธรรมชาติ เพื่อศึกษาว่าเค้าอยู่กันอย่างไรก็นำมาประยุกษ์ใช้กับการปลูกเลี้ยงต่อไป ขากลับพี่ท่านนี้ก็ชวนผมเก็บเศษดินสีแดงๆลักษณะคล้ายๆดินเหนียวเวลาโดนน้ำก็เหนียวมากๆหละ ที่อยู่บริเวณโคนหินปูน ใส่ขวดกลับมา
หลายๆท่านที่เคยซื้อรองเท้าสานภาคใต้ที่เป็นไม้กำ อาจเคยเห็นดินพวกนี้ติดบริเวณโคนต้นมาแล้ว(ผมไม่ได้ยุให้ซื้อไม้กำนะ)

พี่ท่านนี้ก็กรุณาให้ความรู้ว่า ดินพวกนี้ไม่ใช่ดินเหนียว แต่เป็นดินที่เกิดจากการย่อยสลายของหินปูน พี่เค้าเชื่อว่า มันมีธาตุอาหารบางอย่างที่รองเท้านารีต้องการ ซึ่งบางตัวปุ๋ยวิทยาศาสตร์ยังไม่มี เรียกง่ายๆว่าเอามาโรยบางๆเป็นอาหารเสริมหละ

อย่างไรก็ตาม ผมเองก็ไม่ได้ว่างไปเก็บดินพวกนี้มาใช้ แต่ก็เชื่อว่าที่พี่เค้าพูดคงจริง เพราะประสบการณ์พี่เค้าไม่น้อย รองเท้าดีๆก็อยู่ในรังมาก คงไม่คิด
พิเรนเอาไปใช้ถ้าไม่ดีจริง เกิดตายขึ้นมาหน่อหนึ่งก็ไม่ใช่ถูกๆ

เมื่อไม่มีเวลาอย่างที่ว่า ประกอบกับ ที่กระบี่มีการสัมปทานระเบิดภูเขากัน ส่วนที่เป็นหินปูนเค้าไม่ใช้ ทิ้งไปเปล่าๆ ผมก็ให้คนทุบให้และเอามาขายผม
เอามาทดลองปลูกเหลืองกระบี่ ด้วยความคิดว่า เหลืองกระบี่อยู่บนเขาหินปูน หากใช้เป็นส่วนผสมก็คงดี เศษหินปูนที่ถูกทุบบางส่วนก็เป็นผง ถึงไม่ย่อยสลายกลายเป็นดินแดงก็น่าจะแทนกันได้ อย่างน้อยๆก็มีความเป็นเบสอ่อนๆที่รองเท้าสายใต้ชอบหละนา

ผลการทดลอง
ได้ผลเช่นเดียวกับ ใช้อิฐมอญทุบ หรือวัสดุต่างๆที่ไม่ใช่อินทรีวัตถุข้างต้น มีรากบางเส้นมันฝังตัวลงไปในเนื้อหิน เหลืองกระบี่ไม่เน่า ส่วนธาตุอาหารเสริมตามข้อสันนิษฐานข้างบน มันก็คงได้หละ แต่ด้วยว่าเป็นธาตุอาหารเสริม ไม่ใช่อาหารหลักมันก็ต้องดูกันไปนานหน่อย ซึ่งเมื่อนำมาใช้ไม่เกิดปัญหาอะไรก็ใช้มันไปเท่านั้นเอง อย่างน้อยก็เป็นการรีไซเคิลวัสดุเหลือใช้ให้เกิดประโยชน์หละ

การใช้หินปูนภูเขาทุบ อย่านำส่วนผงหรือส่วนหินมาวางบนสุดของกระถางเด็ดขาด หากไม่อยากเปลี่ยนเครื่องปลูกบ่อยๆ เพราะตะไคร่จับง่ายมาก และเมื่อตะไคร่จับก็อย่างที่ว่าเชื้อโรคเชื้อราก็เกาะง่ายและก็เน่าตายได้
หากจะใช้ก็ใช้เป็นส่วนผสมในชั้นล่างตรงกลางๆ คือใช้ในส่วนที่แสงแดดลงไม่ถึงจะไม่มีตะไคร่ขึ้นหรือขึ้นก็น้อย


ข้อสังเกตุ

*จากการที่ได้ไปขอความรู้ท่านอ้น (เจ้าของเหลืองกระบี่ต้นไตรมารค AM. และต้นพังงา AM.) ท่านก็มีความเชื่อเช่นเดียวกันว่า หินปูนภูเขาพวกนี้มีสารอาหารเสริมบางอย่างที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตาม ท่านอ้นก็เชื่อของท่านว่า หินปูนภูเขานี้มีราบางอย่างที่ทำให้กระบี่เน่าตายได้ ซึ่งตรงนี้ ผมค่อนข้างเห็นไม่ตรงกับท่านนัก ผมเชื่อว่าส่วนที่เกิดการเน่าตายน่าจะเป็น เพราะ

1.จุดที่วางเหลืองกระบี่กระถางนั้นไม่กันฝน
2.ท่านใช้อินทรีย์วัตถุมากเกินไป
3.ท่านนำมันมาใช้ส่วนบนสุดของกระถางตะไคร่มันยึดจับได้ง่าย เชื้อโรคเชื้อราก็ตามมา

ประเด็นนี้เมื่อมีการเห็นไม่ตรงกัน ผมปล่อยให้เป็นวิจารณญาณของท่านๆที่เข้ามาอ่านเอานะครับ ผมเพียงนำเสนอ คห.ของท่านอ้น (กูรูเหลืองกระบี่)อีกมุมมองหนึ่งเท่านั้น

1.7 เครื่องปลูก กลุ่ม เปลือกมะพร้าวสับ เปลือกสน ใบก้ามปู เปลือกถั่วลิสง
ขี้วัวแห้ง พีชนัคเก็ท ฯลฯ

เครื่องปลูกพวกนี้ ผมขออนุญาตรวมเป็นชุดเดียวกันทั้งหมด เพราะมันเป็นอินทรีวัตถุ ที่มีสารอาหาร แต่ก็ทำให้เน่าได้ง่าย

ใครก็ตามที่ปลูกด้วยเครื่องปลูกพวกนี้ล้วนๆ นับว่าท่านเป็นนักเสี่ยงโชคตัวยงเชียว เพราะถ้ามันไม่เน่าตายมันงามมากกกกกกก แต่ส่วนใหญ่ไม่ทันได้ 2 ปีตายเกลี้ยง

อันนี้ไม่บรรยายอะไรมากนะครับ บทสรุปชัดๆกันอยู่แล้ว

หมดเรื่องเครื่องปลูกแต่ละตัวแล้ว ต่อไปก็การใช้เครื่องปลูกและวิธีปลูกประสาลิงนะครับ




 

Create Date : 14 มีนาคม 2552    
Last Update : 1 เมษายน 2552 11:39:15 น.
Counter : 2674 Pageviews.  

วิธีปลูกเลี้ยงรองเท้านารีเหลืองกระบี่ ประสาลิง

อารัมภบท

ช่วงนี้กระแส รองเท้านารีเหลืองกระบี่มาแรงมาก อาจเป็นเพราะช่วงฤดูออกดอก ประกอบกับมีเหตุปัจจัยอื่นเข้ามาเสริม โดยเฉพาะเมื่อรังใหญ่กรุแตก กระบี่ต้นสวยๆดีๆออกมาสู่ตลาดอินเตอร์เนตกันหลายต้น

หลายๆต้นที่ว่ามาก็ตกอยู่ในมือผู้ที่สามารถปลูกเลี้ยงได้อยู่แล้ว ตรงนี้ผมสบายใจ แต่บางครั้งผมอดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ต้นสวยๆนั้นจะตกอยู่กับมือของผู้ที่มีเงินแต่ยังขาดประสบการณ์การปลูกเลี้ยงและทำให้มันตายไป สูญเสียทรัพยากรพ่อแม่พันธุ์ที่จะใช้ในการพัฒนารองเท้านารีเหลืองกระบี่ในอนาคต

ท่านที่อ่านบทความในย่อหน้าก่อน ก็อย่าเพิ่งด่าหรือหมั่นไส้ผม
หากท่านมีความรู้ในการปลูกเลี้ยงอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านบทความต่อไป
ผมเองก็ใช่จะเก่งอะไร ผมไม่ใช่เซียน หรือ ผู้รู้ กูรู เป็นแต่เพียงคนคนหนึ่งซึ่งสนใจเหลืองกระบี่และตามล่าสะสมเท่านั้น สิ่งที่ผมจะบอกกล่าวก็เป็นเพียง ประสบการณ์เล็กๆน้อยๆ ที่สะสมมา บ้างจากพบเห็นเอง บ้างก็สอบถามจากผู้รู้เพื่อนฝูง และผู้อาวุโสทั้งหลาย นำมาเรียบเรียงให้อ่านกัน พอเป็นแนวทาง

หากผิดพลาดผมรับผิดชอบด่าผมคนเดียว หากใช้ได้ผล ก็ให้ประโยชน์เกิดแก่ท่านและบรรดา ผู้รู้ เพื่อนฝูง และผู้อาวุโสทั้งหลายที่ชี้แนะแนวทางให้ผม




 

Create Date : 13 มีนาคม 2552    
Last Update : 13 มีนาคม 2552 10:21:49 น.
Counter : 11564 Pageviews.  

ไหนๆก็หลงเข้ามาแล้วใจคอจะไม่ทักทายกันหน่อยรึครับ

นั้นหละลงชื่อหน่อยฉิ ฮิๆ




 

Create Date : 20 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 20 กรกฎาคม 2548 10:00:27 น.
Counter : 1056 Pageviews.  


ลิงเล
Location :
กระบี่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add ลิงเล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.