ความรู้คือ วัคซีนของชีวิต เพลินอ่านนิยายดี
Group Blog
 
All Blogs
 

สมาชิกรัฐที่ดี

เฉพาะการอ่านออนไลน์



เขียนโดย มณีอักษร


ผู้มีส่วนร่วมให้เกิดการปกครองที่ดีในฐานะสมาชิกรัฐของสังคมประชาธิปไตย ควรมีหลักปฏิบัติ ดังนี้
1. หลักธรรมมาธิปไตย โดยถือธรรมเป็นใหญ่ ซึ่งหมายถึงถือหลักการ ความจริง ความถูกต้อง ความดีงาม เหตุผลเป็นใหญ่ กระทำการด้วยตรวจสอบตามข้อเท็จจริง รับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางและพิจารณาอย่างดีที่สุดเต็มขีดแห่งปัญญา จะมองเห็นได้ด้วยบริสุทธิ์ใจว่า เป็นไปโดยชอบธรรมและเพื่อความดีงาม ดังนั้น สมาชิกรัฐที่ดีต้องเคารพหลักการ กฎ ระเบียบ กติกา อย่างเคร่งครัด
2. หลักร่วมรับผิดชอบที่จะป้องกันความเสื่อมของสังคมประชาธิปไตย อันทำให้มีส่วนในการปกครองของรัฐด้วย โดย
2.1 หมั่นปรึกษาหารือการงานโดยสม่ำเสมอตามระดับความรับผิดชอบของตน
2.2 ไม่ทำตามอำเภอใจหรือละเมิดข้อตกลงที่ทำไว้ร่วมกัน ถือปฏิบัติมั่นอยู่ในบทบัญญัติใหญ่ที่วางไว้เป็นธรรมนูญ
2.3 ประชุมกันอย่างพร้อมเพรียงทุกครั้ง
2.4 ให้เกียรติเคารพนับถือผู้ใหญ่ซึ่งมีประสบการณ์ยาวนาน ถ้อยคำของเขาพึงรับฟังไว้พิจารณา
2.5 ให้เกียรติและคุ้มครองกุลสตรี
2.6 เคารพบูชาปูชนียสถาน อนุสาวรีย์ประจำชาติตามประเพณี
2.7 ให้ความคุ้มครอง บำรุงอันชอบธรรม แก่ผู้ทรงศีลธรรมอันบริสุทธิ์ ซึ่งเป็นหลักใจทางศีลธรรมของประชาชน
2.8 ประพฤติตนเป็นผู้ครองเรือนและหัวหน้าครอบครัวที่ดี โดยเฉพาะการเป็นพลเมืองที่ดีและสร้างสรรค์สังคม


(ข้อมูลอ้างอิงจากหนังสือ ธรรมนูญชีวิต ของ พระธรรมปิฎก)
สงวนสิทธิ์ตามกฎหมายลิขสิทธิ์




 

Create Date : 19 พฤษภาคม 2549    
Last Update : 19 พฤษภาคม 2549 15:14:23 น.
Counter : 456 Pageviews.  

เครื่องจับเท็จ


เขียนโดย มณีอักษร



เราต้องเคยได้ยินหรือเห็นทางโทรทัศน์กรณีตำรวจให้คนร้ายเข้าเครื่องจับเท็จเพื่อพิสูจน์คำพูดของผู้ต้องสงสัย หลายครั้งสามารถจับคนร้ายได้ อันที่จริงแล้วอุปกรณ์นี้มีที่มาน่าสนใจมาก คือ เมื่อปี ค.ศ. 1921 นายจอห์น ลาร์สัน (John Larson) มีความเชื่อว่า ปฏิกิริยาผันแปรของร่างกายมนุษย์จักบอกสิ่งผิดปกติอย่างหนึ่งได้ คือ การโกหก การพูดเท็จย่อมปรากฏให้เห็นได้ที่ความดันโลหิต จังหวะการเต้นและลมหายใจกระชั้นขึ้นขณะตอบคำถาม เขาจึงประดิษฐ์ เครื่องจับเท็จ (Polygraph Lie Detector) เครื่องแรกของโลก ต่อมานาย ลีโอนาร์ด คีเลอร์ (Leonard Keeler) นักอาชญวิทยานำเครื่องดังกล่าวไปพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้วจดทะเบียนสิทธิบัตรในปี ค.ศ. 1931 แล้วนำออกจำหน่ายในท้องตลาดด้วย
แม้ศาลจะไม่ยอมรับผลจากเครื่องจับเท็จเป็นหลักฐานเพื่อลงโทษผู้ต้องหา แต่มันช่วยให้ตำรวจมองเห็นความผิดปกติของผู้กระทำผิดง่ายขึ้นและค้นหาหลักฐานอื่นมาประกอบให้ศาลลงโทษผู้กระทำผิดในเวลาต่อไปได้

**************************




 

Create Date : 16 มีนาคม 2549    
Last Update : 16 มีนาคม 2549 23:37:09 น.
Counter : 551 Pageviews.  

ท่อนจันทน์ : เครื่องมือประหารเจ้านายชั้นสูง

เฉพาะเพื่อการอ่านออนไลน์

เขียนโดย มณีอักษร

สมัยโบราณนั้นการประหารชีวิตเจ้านายชั้นสูงต้องมีรูปแบบพิเศษแตกต่างจากสามัญชนทั่วไป โดยกำหนดแบบแผนไว้ในกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสำเร็จโทษ ซึ่งน่าจะมีขึ้นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเจ้าอู่ทอง ปีจุลศักราช 722 แล้วมีการปรับปรุงและกำหนดชัดขึ้นไว้ในกฎหมายตราสามดวง หมวดกฎมนเทียรบาล มาตรา 176

ผู้พิพากษาโทษ คือ กษัตริย์

ผู้กระทำความผิด คือ เชื้อพระวงศ์ พระมเหสี พระสนม

ลักษณะความผิด กฎมนเทียรบาลจักกำหนดข้อปฏิบัติ ข้อห้าม และบทลงโทษหนักเบาตามพฤติกรรม หากเป็นบทหนักถึงประหารชีวิต ต้องได้รับคำสั่งจากกษัตริย์ซึ่งทรงพิจารณาว่าจะใช้โทษนั้นหรือไม่ กับใคร และเมื่อไร

ทีมงานประหารชีวิต ประกอบด้วย
นายแวง ผู้คุม กำกับดูแลนักโทษสู่แดนประหาร ระวังภัยมิให้มีการชิงนักโทษ
ขุนผู้ใหญ่ ตัวแทนกษัตริย์ในการเป็นประธานพิธีสำเร็จโทษ
หมื่นทลวงฟัน เพชฌฆาต มีสองคนในการประหารแต่ละครั้ง

แดนประหาร โคกพญา ปัจจุบันน่าจะเป็นพื้นที่รวมของกลุ่มโบราณสถานคลองสระบัว จังหวัดอยุธยา อันได้แก่ วัดหน้าพระเมรุ วัดหัสดาวาส วัดตะไกร โดยมีวัดหน้าพระเมรุหรือวัดพระเมรุโคกพญา เป็นหลัก

ลักษณะท่อนจันทน์ ไม้ค้อนขนาดใหญ่ที่มีปลายด้านหนึ่งใหญ่กว่าอีกด้านหนึ่ง รูปร่างคล้ายสากตำข้าว ทำจากไม้จันทน์หอม หลังจากพิธีประหารชีวิตเสร็จสิ้น จักใส่ไปในหลุมศพด้วย

ขั้นตอนการสำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์
- ต้องพันธนาการร่างแล้วสวมถุงแดงตั้งแต่พระเศียรลงไปตลอดปลายพระบาท เอาเชือกรัดถุงให้แน่น เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดจับต้องพระวรกายและมิให้ผู้ใดเห็นพระศพ แม้แต่เพชฌฆาต
- หมื่นทลวงฟันทำการไหว้ครู และขอขมาต่อนักโทษ
- ทุบท่อนจันทน์บนพระนาภี (ท้อง) หรือ พระเศียร (หัว) คล้ายท่าตำข้าว
- นำพระศพฝังในหลุมซึ่งจัดเตรียมไว้ที่ โคกพญา แล้วจัดเจ้าพนักงานเฝ้ารักษาหลุม 7 วัน เพื่อมั่นใจว่าสิ้นพระชนม์ หรือ ป้องกันการชิงพระศพ

ข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือ “สำเร็จโทษด้วยท่อนจันทน์” เขียนโดย ปรามินทร์ เครือทอง

***************************




 

Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2549    
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2549 16:06:13 น.
Counter : 9701 Pageviews.  

1  2  3  4  

arbel
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add arbel's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.